Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1
Elizabeth I in coronation robes.jpg
พระบรมสาทิศลักษณ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์
ครองราชย์ 17 พฤศจิกายน 1558 –
24 มีนาคม 1603
ราชาภิเษก 15 มกราคม 1559
ก่อนหน้า พระนางแมรีที่ 1 และ พระเจ้าเฟลีเป
ถัดไป พระเจ้าเจมส์ที่ 1
ราชวงศ์ ทิวดอร์
พระราชบิดา พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ
พระราชมารดา แอนน์ บุลิน
พระราชสมภพ 7 กันยายน ค.ศ. 1533
วังพลาเซ็นเทีย, กรีนิช, สหราชอาณาจักร
สวรรคต 24 มีนาคม ค.ศ. 1603(1603-03-24) (69 ปี)
พระราชวังริชมอนด์, เซอร์รีย์, สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ อัครวิหารเวสต์มินสเตอร์
ศาสนา ศาสนาคริสต์ นิกายแองกลิคัน
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (อังกฤษ: Elizabeth I; 7 กันยายน ค.ศ. 1533 — 24 มีนาคม ค.ศ. 1603) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ ตั้งแต่ วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558 จนเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1603 พระองค์ทรงได้รับพระฉายานามว่า "ราชินีพรหมจารี" (เนื่องจากการไม่อภิเษกสมรสเลยตลอดพระชนม์ชีพ) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงเป็นกษัตรีย์พระองค์ที่ 5 และนับเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทิวดอร์ และทรงเป็นประมุขสูงสุดของคริสตจักรแห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ประสูติที่พระราชวังกรีนิช เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับสมเด็จพระราชินีแอนน์ บุลิน พระมเหสีพระองค์ที่ 2 ซึ่งถูกประหารชีวิตโดยการบั่นพระเศียรเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 พระชนมายุได้เพียงเกือบ 3 พรรษา จากนั้นพระองค์ก็ทรงถูกประกาศว่าเป็นพระราชธิดานอกกฎหมาย

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 สวรรคตราชบัลลังก์อังกฤษก็ตกไปเป็นของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 พระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีและสมเด็จพระราชินีเจน ซีมอร์ พระมเหสีองค์ที่ 3 ต่อมาเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคต เนื่องด้วยการเมืองในรัชสมัยของพระองค์และการผลักดันของผู้สำเร็จราชการ(จอห์น ดัดลีย์)ทำให้พระองค์ยกราชบัลลังก์ตกแก่เลดีเจน เกรย์(หลายเอกสารไม่นับเลดีเจน เกรย์เป็นราชินีนาถแห่งอังกฤษ เนื่องจากการขึ้นครองราชย์ที่ไม่ได้มาจากการสืบสันติวงศ์และระยะเวลาครองบัลลังก์เพียง 9 วัน) ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดพระเชษฐภคินีต่างพระมารดาสองพระองค์ออกจากสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ แต่ในที่สุดเจ้าหญิงแมรีก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 (ทรงมีฉายาว่า Bloody Mary ราชินีแมรี่ ผู้กระหายเลือด) ผู้ทรงเป็นโรมันคาทอลิก ในรัชสมัยของราชินีนาถแมรีเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงถูกจำขังอยู่ปีหนึ่งในข้อสงสัยว่าทรงมีส่วนร่วมในการสนับสนุนฝ่ายก่อการโปรเตสแตนต์ในอังกฤษ

หลังจากเสด็จสวรรคตของพระเชษฐภคินีสมเด็จพระราชินีนาถแมรี เจ้าหญิงเอลิซาเบธก็เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะปกครองโดยมีที่ปรึกษาราชการผู้มีคุณธรรม พระองค์ทรงไว้วางพระทัยในกลุ่มที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางใจที่นำโดยวิลเลียม เซซิล บารอนแห่งเบอร์ลีย์ที่ 1 สิ่งแรกที่ทรงกระทำในฐานะพระราชินีนาถคือการสนับสนุนการก่อตั้งสถาบันโปรเตสแตนต์อังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งมีพระองค์เองเป็น “ประมุขสูงสุด” (Supreme Governor) นโยบายทางศาสนาของพระองค์เป็นนโยบายที่ดำเนินตลอดมาในช่วงรัชสมัยการปกครอง และต่อมาวิวัฒนาการมาเป็น “นิกายแองกลิกัน” หรือ “คริสตจักรแห่งอังกฤษ” ในปัจจุบัน

ในระหว่างที่ครองราชย์ก็เป็นที่หวังกันว่าพระองค์จะทรงเสกสมรส แต่แม้ว่ารัฐบาลจะยื่นคำร้องหลายครั้ง และ การทรงทำความรู้จักกับกับคู่หมายหลายคนพระราชินีนาถเอลิซาเบธก็มิได้ทรงทำการเสกสมรสกับผู้ใด สาเหตุที่ไม่ทรงยอมเสกสมรสก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เมื่อมีพระชนมพรรษาสูงขึ้นพระองค์ก็ทรงมีชื่อเสียงจากการเป็น พระราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์ และเกิดลัทธินิยมของผู้ติดตามนโยบายดังว่าที่เฉลิมฉลองกันด้วยภาพเหมือน, เทศกาล และ วรรณกรรมร่วมสมัย

ในด้านการปกครองพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงดำเนินนโยบายที่เป็นสายกลางมากกว่าพระราชบิดา พระอนุชา และ พระเชษฐภคินี คำขวัญที่ทรงถืออยู่คำหนึ่งคือ “video et taceo” (ไทย: ข้าพเจ้ารู้แต่ข้าพเจ้าไม่พูด) นโยบายดังกล่าวสร้างความอึดอัดใจให้แก่บรรดาราชองคมนตรี แต่ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ทรงรอดจากการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางการมีคู่ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรมาหลายครั้ง แม้ว่าจะทรงดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างระมัดระวัง และทรงสนับสนุนการสงครามในเนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และ ไอร์แลนด์อย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ชัยชนะที่ทรงมีต่อกองเรืออาร์มาดาของสเปนในปี พ.ศ. 2131 ก็ทำให้ทรงมีชื่อว่าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับชัยชนะอันสำคัญที่ถือกันว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ ภายใน 20 ปีหลังจากการเสด็จสวรรคต พระองค์ก็ทรงได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตรีย์ยุคทองของอังกฤษ

รัชสมัยของพระองค์เป็นที่รู้จักกันว่า “สมัยเอลิซาเบธ” ที่มีชื่อเสียงเหนือสิ่งใดว่าเป็นยุคเรอเนสซองซ์อังกฤษ|ยุคเรอเนสซองซ์ของนาฏกรรมของอังกฤษ ที่นำโดยนักเขียนบทละครผู้มีชื่อเสียงเช่นวิลเลียม เชคสเปียร์ และ คริสต์โตเฟอร์ มาร์โลว์, และความเจริญทางการเดินเรือโดยผู้นำเช่นฟรานซิส เดรค นักประวัติศาสตร์บางท่านค่อนข้างจะไม่กระตือรือร้นต่อความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และกล่าวว่าทรงเป็นผู้มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น และบางครั้งก็ทรงเป็นผู้นำผู้ไม่มีความเด็ดขาด, ผู้ทรงได้รับผลประโยชน์จากโชคมากกว่าที่จะทรงใช้พระปรีชาสามารถ ในปลายรัชสมัยปัญหาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ และ ทางการทหารก็ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลง จนถึงกับกล่าวกันว่าการเสด็จสวรรคตนำมาซึ่งความโล่งใจของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

พระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำผู้มีเสน่ห์และเป็นผู้นำให้ประเทศรอดจากภัยพิบัติต่าง ๆ ในยุคที่รัฐบาลอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วนและสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศเพื่อนบ้านต้องเผชิญกับสถานะการณ์ภายในที่เป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ หลังจากรัชสมัยอันสั้นของพระอนุชาและพระเชษฐภคินีแล้วรัชสมัยอันยาวนานถึง 44 ปีก็เป็นรัชสมัยที่สร้างความมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักร และเป็นรัชสมัยที่วางรากฐานของความเป็นชาติของอังกฤษด้วย

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ไทย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงครองราชย์ในเวลาเดียวกันกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นช่วงที่อังกฤษเริ่มทำการค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

สมัยยังทรงพระเยาว์

เจ้าหญิงอลิซาเบธ

ชีวิตในวัยเด็กของพระองค์ยากลำบากมากและล่อแหลมเต็มไปด้วยอันตราย ต้องทนทุกข์ระทมจากการที่พระมารดาถูกประหารชีวิตของและการไม่สนิทสนมกับพระราชบิดา แต่พระองค์ก็ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดียิ่งและได้รับการเลี้ยงดูท่ามกลางศรัทธาในนิกายโปรเตสแตนต์ ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แห่งอังกฤษ (พ.ศ. 2090 - 2096) แม้ว่าอลิซาเบทจะเล็กเกินกว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขาดแม่ แต่ชีวิตของเธอนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอีกครั้งเมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดได้ประกาศเพิกถอนการสมรสกับพระราชินีแอน บุลิน ซึ่งทำให้อลิซาเบทกลายเป็นลูกนอกสมรสไปในชั่วพริบตาด้วยอายุเพียงสามขวบ อลิซาเบธถึงกับเอ่ยปากถามพระพี่เลี้ยงว่า "เป็นไปได้อย่างไร เมื่อวานนี้เจ้ายังขานนามข้าว่าเจ้าหญิง แต่วันนี้ข้าเป็นเพียงเลดี้ อลิซาเบท" เมื่อเฮนรี่สมรสใหม่กับพระนางเจน ซีมัวร์ นั้นทำให้พระองค์ก็มิได้ใส่ใจกับอลิซาเบทอีกต่อไป ถึงขนาดที่พระพี่เลี้ยงต้องส่งหนังสือถึงเฮนรี่เพื่อขอให้จัดหาเสื้อผ้าใหม่ให้แก่อลิซาเบท เพราะเหตุว่าพระองค์เจริญพระชนมายุเกินกว่าที่จะสวมใส่เสื้อผ้าเก่านั้นได้ต่อไปอีกแล้ว

เมื่อพระนางเจน ซีมัวร์เสียชีวิตหลังจากที่ได้ให้กำเนิดแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พี่น้องต่างมารดาทั้งสามก็ถูกนำมาเลี้ยงดูร่วมกัน แต่เพราะแมรี่นั้นอายุห่างจากน้องทั้งสองมาก อีกทั้งยังต่างศาสนา อลิซาเบทจึงใกล้ชิดกับเอ็ดเวิร์ดมากกว่า ทั้งสองทรงได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศเช่นการทรงพระอักษรภาษาลาติน, กรีก, สเปน และฝรั่งเศส รวมทั้งประวัติศาสตร์, ปรัชญา และคณิตศาสตร์

ชีวิตยามเยาว์วัยของอลิซาเบธได้สัมผัสกับความสุขบ้าง เมื่อเฮนรี่สมรสกับแคทเธอรีน ฮาวเวิร์ด ซึ่งเป็นพระญาติกับพระราชินีแอน บุลิน แคทเธอรีนดูแลให้ความรักแก่เจ้าหญิงองค์น้อยนี้เป็นอย่างดี ทั้งยังได้ยกย่องพระองค์ให้สมกับตำแหน่งเจ้าหญิง แต่ความสุขความอบอุ่นก็มาเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ และจบลงเมื่อแคทเธอรีนต้องโทษประหารชีวิตอีกคน อลิซาเบธตกอยู่ในสภาพที่สับสนทางจิตใจมาก เมื่อเห็นผู้หญิงที่เธอรักสองคนต้องตายตกตามกันไปเพราะผู้ชายคนเดียวกัน ถึงขนาดที่เธอเอ่ยปากกล่าวกับโรเบิร์ต ดัดเลย์ เพื่อนเล่นเมื่อครั้งยังพระเยาว์จนเติบโตมาเป็นเพื่อนใจในยามหนุ่มสาวว่า ในชีวิตนี้พระองค์จะไม่อภิเษกกับใครทั้งสิ้น

แม้ว่าราชินีองค์ที่หกแห่งพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด - แคทเธอรีน พารร์ จะพยายามสร้างบรรยากาศให้เป็นเสมือนครอบครัวที่อบอุ่นเพียงใด แต่ในความสงบนั้น อลิซาเบธไม่ได้มีความสุขสักเท่าใด ในขณะที่แคทเธอรีนพยายามจะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกให้ดีขึ้น อลิซาเบธก็พยายามตัดรอนตอบโต้พระบิดาถึงขนาดว่าพระองค์ถูกสั่งให้ออกไปพ้นเขตวัง แคทเธอรีน ต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเป็นกาวใจให้สองพ่อลูกและขออนุญาตให้อลิซาเบธได้กลับเข้ามาอยู่ในวังตามเดิม ความสัมพันธ์ของเฮนรี่และอลิซาเบธเป็นดังราวคนแปลกหน้าสองคนมากกว่าที่จะเป็นพ่อลูกจวบจนพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1547 ในขณะที่อลิซาเบธมีพระชนมายุสิบสามชันษา และเอ็ดเวิร์ดได้กลายเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษเมื่ออายุได้เก้าปี

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษา ลอร์ดทอมัส ซีมัวร์ ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือได้วางแผนพยายามขออภิเษกสมรสด้วยเพื่อใช้พระองค์เป็นเครื่องมือหาทางล้มล้างรัฐบาล แต่ทรงหลบเลี่ยงได้อย่างนุ่มนวลและลอร์ดซีมัวร์ก็ได้ถูกประหารชีวิตในความผิดฐานกบฏ ในระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (พ.ศ. 2096 - 2101) การแสดงตนเป็นโปรแตสแตนท์ของพระองค์ทำให้สมเด็จพระราชินีแมรี พระเชษฐภคินีซึ่งเป็นโรมันคาทอลิกรู้สึกหวั่นไหว พระนางอลิซาเบธจึงทรงถูกจองจำไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน

การเสด็จขึ้นครองราชย์และการเริ่มมีความขัดแย้งทางศาสนา

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ในชื่อภาพว่า “พิธีราชาภิเษกของอลิซาเบธ” (The Coronation of Elizabeth)

การขึ้นเสวยราชย์ของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2101 อันเนื่องมาจากการสวรรคตของพระราชินีแมรีที่ 1 ได้รับการแซ่ซ้องและยอมรับเป็นอย่างมากจากผู้คนที่หวังจะได้มีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้นหลังจากที่ได้ถูกกดขี่มาโดยตลอดในรัชกาลก่อน ๆ ภายใต้การนำอย่างแข็งขันของวิลเลียม เซซิล บารอนแห่งเบอร์ลีย์ที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ (ต่อมาเลื่อนเป็นลอร์ดเบอร์ลีย์) กฎหมายสนับสนุนคาทอลิกของพระนางแมรีที่ 1 ได้ถูกยกเลิกและนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ก็ได้รับการสถาปนาขึ้น (ระหว่าง พ.ศ. 2102-2106) นอกจากนี้เซซิลยังได้ให้การสนับสนุนการปฏิรูปสกอตแลนด์ ซึ่งทำให้พระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์กลับคืนบัลลังก์ได้อีกในปี พ.ศ. 2104 ยังผลให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นกับพวกลัทธิคาลวิน โดย"จอห์น นอกซ์" หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งได้จับพระนางจองจำและบังคับให้สละราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2110 ทำให้พระองค์ต้องหลบหนีไปประทับในอังกฤษแต่ก็ถูกจับกักบริเวณอีก ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นจุดสนใจและเป็นศูนย์รวมชาวคาทอลิกที่รวมตัวกันต่อต้านนิกายโปรแตสแตนท์ ในปี พ.ศ. 2113 ได้มีการประกาศให้พวกคาทอลิกเลิกนับถือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธเป็นราชินี ซึ่งรัฐบาลเริ่มแก้เผ็ดชาวคาทอลิกอังกฤษด้วยการจำกัดสิทธิบางอย่างและค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นถึงขั้นปราบปรามในช่วงปี พ.ศ. 2123-พ.ศ. 2133

แผนการล้มล้างสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ถูกเปิดเผยบ่อยครั้งขึ้น และอีกครั้งหนึ่งโดยการสนับสนุนอย่างลับ ๆ ของพระนางแมรีใน พ.ศ. 2129 ที่เป็นผลให้พระนางทรงถูกประหารชีวิตในปีต่อมา นโยบายต่อต้านและเข้มงวดต่อผู้ถือนิกายโรมันคาทอลิกเพิ่มความรุนแรงขึ้น มีผลให้อังกฤษสนับสนุนฝ่ายกบฏชาวฮอลันดาที่ต่อต้านสเปน มีการ “แต่งตั้งโจรสลัด” อย่างเป็นงานเป็นการ ดังเช่น "จอห์น ฮอว์ลีน" และ "ฟรานซิส เดรก" เพื่อคอยดักปล้นทรัพย์สินของพวกสเปนในโลกใหม่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยั่วยุให้สเปนก่อสงครามรุกรานอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2101 กองเรืออาร์มาดาอันยิ่งใหญ่ของสเปนได้บุกเข้ามาปิดช่องแคบอังกฤษ แต่ก็ถูกทำลายจากทั้งพายุที่มีชื่อว่า ลมโปรแตสแตนท์และการตีโต้กลับจากฝ่ายอังกฤษจนสูญเสียเรือเป็นจำนวนมากพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจนต้องถอยกลับสเปน

ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 พระองค์ได้เพิ่มพันธมิตรและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่นิกายโปรเตสแตนต์มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็แบ่งแยกศัตรูฝ่ายคาทอลิกรุนแรงมากขึ้นด้วย พระนางแสร้งยอมให้เชื้อพระวงศ์ต่างประเทศหลายรายเจรจาขออภิเษกสมรสกับพระองค์ แต่พระองค์ก็มิได้จริงจังและมิได้ทรงกำหนดให้มีการสืบรัชทายาทไว้แต่อย่างใด และด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์ ทำให้พระนางได้ทรงทราบด้วยความพอพระทัยว่าองค์รัชทายาท คือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เป็นโปรแตสแตนท์ พระองค์ได้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับขุนนางสำคัญคือ "โรเบิร์ต ดัดเลย์" เอิร์ลแห่งลีเซสเตอร์ และต่อมากับ"โรเบิร์ต เดอเวโรซ์ เอิร์ล"แห่งเอสเซกซ์ จนกระทั่งเดอเวโรซ์ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฏในปี พ.ศ. 2144

ยุคสมัยของพระราชินีอลิซาเบธ ได้รับการเรียกว่า “สมัยอลิซาเบธ” หรือยุคทอง เนื่องจากเป็นยุคที่อังกฤษขยายแสนยานุภาพไปทั่วโลก ในยุคสมัยนี้ ได้มีชาวอังกฤษผู้โด่งดังในสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย เช่น กวีชื่อก้องโลก วิลเลียม เชกสเปียร์ "คริสโตเฟอร์ มาโลว์" และ "จอห์น เบ็นสัน" ก็ได้มีเริ่มมีชื่อเสียงในยุคนี้ ฟรานซิส เดรก ได้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เป็นนักเดินเรือสำรวจรอบโลก "ฟรานซิส เบคอน" ได้เสนอความคิดทางปรัญชาและทางการเมือง "เซอร์ วอลเตอร์ ราเลย์" และ "เซอร์ ฮัมเฟรย์ กิลเบิร์ต" ได้สร้างอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ

ภาพเขียนสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2131 เนื่องในวาระพิชิตกองเรีออามาดาของสเปน โปรดสังเกตพระหัตถ์ขวาที่กุมลูกโลกประดับกางเขนซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของอังกฤษในระดับโลก

การแผ่อำนาจในระดับนานาชาติ

นโยบายด้านการงบประมาณของพระองค์สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างแก่ประชาชน มีการขึ้นอัตราภาษีเพื่อระดมเงินให้เพียงพอกับการทำสงครามในต่างประเทศ การเกิดความอดอยากข้าวยากหมากแพงในช่วงประมาณ พ.ศ. 2135-40 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดความไม่สงบในสังคม รัฐบาลจึงพยายามแก้ด้วยการออก “กฎหมายคนจน” (Poor Law) เมื่อ พ.ศ. 2140 โดยเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากท้องถิ่นไปอุดหนุนคนยากไร้ การอวดอำนาจทางทะเลของอังกฤษก่อให้เกิดการเดินทางท่องทะเลเพื่อค้นหาอาณานิคมใหม่ เซอร์ฟรานซิส เดรกเดินทางโดยเรือรอบโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก เซอร์ วอลเตอร์ ราเลย์เดินทางสำรวจพบชายฝั่งอเมริกาเหนือและเดินทางไปมาอีกหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. 2125-32 แต่อาณานิคมที่แท้จริงเพียงแห่งเดียวของอังกฤษในสมัยของพระองค์คือ “ไอร์แลนด์” ซึ่งเป็นที่ซึ่งชาวอังกฤษเข้าไปหาผลประโยชน์ด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนพื้นถิ่นชาวไอร์แลนด์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเหตุให้การก่อกบฏที่รุนแรงภายใต้การนำของฮิวจ์ โอนีล เอิร์ลแห่งไทโรน เมื่อ พ.ศ. 2140

ราชินีอลิซาเบธมีพระอารมณ์ร้อน และบางครั้งทรงเป็นผู้นำที่ไม่เด็ดขาด บ่อยครั้งที่เหล่าที่ปรึกษาส่วนพระองค์ต้องช่วยพระองค์จากศัตรูทางการเมืองและเหล่าข้าศึก อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงมีความสุนทรีย์ทางบทกวีเป็นอย่างมาก ดังเช่น พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงเขียนวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง และพระองค์ยังทรงตั้ง Royal Charters คือ หน่วยงานหลวงมาดูแลกิจการของอังกฤษหลายแห่ง วิทยาลัยทรินิตี้ ณ กรุงดับบลิน (Trinity College, Dublin) ในปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) และบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600)

เวอร์จิเนีย หนึ่งในอาณานิคมอเมริกาเหนือของอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันคือรัฐหนึ่งของสหรัฐ ถูกตั้งชื่อขึ้นตามสมญานามของราชินีอลิซาเบธที่ 1 ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์

สวรรคต

จากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 ราชวงศ์ทิวดอร์ก็สิ้นสุดลงไปด้วย การสืบต่อราชบัลลังก์โดย พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจวตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ตรงกับช่วงที่อังกฤษเริ่มมีแสนยานุภาพทางทะเลของโลกและช่วงที่เรียกว่าเป็น "ยุคฟื้นฟูศิลปะของอังกฤษ" (English Renaissance) การเป็นตำนาน "พระราชินีพรหมจรรย์" ของพระองค์ที่พระองค์เองก็มีส่วนสนับสนุนให้เรียกพร้อมกับกวีและนักแต่งบทละครในราชสำนักเพื่อให้คนทั่วไปที่รู้จักไปในทางนั้น กลายเป็นสิ่งบดบังบทบาทของพระองค์ในฐานะเป็นผู้สร้างสำนึกแห่งความเป็นชาติของอังกฤษไปสิ้น และสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต เนื่องจากใช้สารตะกั่วทาใบหน้าจึงทำให้เกิดความเสียหายผิวหนังและระบบร่างกายและส่งผลกระทบอวัยวะต่างๆ

ภาพยนตร์

ดูบทความหลัก อลิซาเบธ ราชินีบัลลังก์เลือด

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมประเภทภาพยนตร์ หลายต่อหลายเรื่อง ที่โด่งดังที่สุด คือ ในเรื่อง Elizabeth ในชื่อภาษาไทยว่า "อลิซาเบธ ราชินีบัลลังก์เลือด" ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) (มีภาคต่อคือ Elizabeth : The Golden Age ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) เป็นชีวประวัติของพระองค์ตั้งแต่ก่อนขึ้นเสวยราชย์จนถึงจุดพลิกผันในชีวิต นำแสดงโดย เคต แบลนเชตต์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานอย่างมาก และได้ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ในปีนั้นถึง 7 รางวัล รวมทั้งรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดารานำหญิงยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และอีกเรื่อง คือ Shakespeare in Love ซึ่งฉายในปีเดียวกันนี้ เป็นเรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์ โดยกล่าวถึงเรื่องราวความรักของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ และความรุ่งเรืองของศิลปะละครเวทีภายใต้การอุปถัมภ์ของพระองค์ ซึ่งนักแสดงที่รับบทสมเด็จพระนาง เจ้าอลิซาเบธที่ 1 คือ จูดี้ เดนช์ ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ดาราประกอบหญิงในปีนั้นด้วย ทั้ง ๆ ที่ บทของพระองค์ปรากฏตัวในเรื่องเพียง 2 ครั้งเท่านั้นเอง อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย เท่ากับว่าในปี พ.ศ. 2541 (ประกาศผลในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999)) นั้น มีดาราหญิงที่ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ในบทของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 พร้อมกันถึง 2 คน

ดูเพิ่ม

ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ถัดไป
แมรีที่ 1 2leftarrow.png พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์
(ราชวงศ์ทิวดอร์)

(17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558 — 24 มีนาคม ค.ศ. 1603)
2rightarrow.png เจมส์ที่ 1

Новое сообщение