Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

สิทธิในชีวิต

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
การประท้วงในประเทศเวเนซุเอลา พ.ศ. 2557 (2014 Venezuelan protests) ป้ายเขียนว่า "สันติภาพ; เสรีภาพ; ยุติธรรม; สิทธิในชีวิต" ในภาษาสเปน

สิทธิในชีวิต เป็นความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตมีสิทธิในการมีชีวิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะไม่ถูกฆ่าโดยตนอื่น ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย แนวคิดของสิทธิในชีวิตเกิดขึ้นมาในการโต้วาทีเกี่ยวกับประเด็น อาทิ โทษประหารชีวิตซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าผิดศีลธรรม สงครามซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดและน่าสลดใจ การแท้งซึ่งคนบางกลุ่มคิดว่าชีวิตที่ยังไม่คลอดไม่ควรถูกปลิดไปก่อนกำหนด การุณยฆาตซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าการปลิดชีวิตของบุคคลสูงอายุนอกเหนือจากวิธีการทางธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความรุนแรงของตำรวจ (Police brutality) ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการมีขีวิตของบุคคล การฆ่าคนโดยไม่ผิดกฎหมาย (Justifiable homicide) ซึ่งคนบางกลุ่มเชื่อว่าไม่มีฆาตกรรมในกรณีใดที่สมเหตุสมผล และสิทธิของสัตว์ (Animal rights) ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าชีวิตสัตว์มีค่าที่จะต้องปกป้องพอกันกับของมนุษย์ บุคคลหลากหลายอาจไม่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นเหล่านี้ว่าเข้าข่ายหลักการสิทธิในชีวิตหรือไม่

การแท้ง

แผนภาพแสดงการทำแท้งด้วยศัลยกรรม

คำว่า "สิทธิในชีวิต" ถูกใช้ในการโต้แย้งเรื่องการแท้ง (abortion debate) โดยกลุ่มคนที่ต้องการยุติการทำแท้ง หรืออย่างน้อยก็ลดความถี่ของการกระทำนี้ และในบริบทของการตั้งครรภ์ คำว่า สิทธิในชีวิต ถูกผลักดันโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ในสารสันตะปาปา ค.ศ. 1951:

มนุษย์ทุกคน แม้แต่เด็กในครรภ์ ก็มีสิทธิในชีวิตโดยตรงจากพระเจ้า และไม่ใช่จากพ่อแม่ของเขา ไม่ใช่จากสังคมหรืออำนาจมนุษย์ใด ดังนั้น จึงไม่มีมนุษย์คนใด สังคมใด อำนาจมนุษย์ใด วิทยาศาสตร์ใด หรือ "สิ่งชี้บอก" ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ ทางสุพันธุกรรม ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ หรือทางศีลธรรม ที่จะสามารถมอบตำแหน่งทางกฎหมายที่สมเหตุสมผลให้กับการกำจัดซึ่งชีวิตของมนุษย์ไร้เดียงสาตนหนึ่งโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยตรง

— สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12, Address to Midwives on the Nature of Their Profession สารสันตะปาปา, 29 ตุลาคม ค.ศ. 1951
ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน พบกับตัวแทนของขบวนการสิทธิในชีวิต พ.ศ. 2524

คุณพ่อ เจมส์ ที. แม็กฮิว เป็นผู้นำการต่อต้านการทำแท้ง และเป็น "บิดาแห่งขบวนการเพื่อชีวิต" (pro-life) ในสหรัฐอเมริกาคณะกรรมการสิทธิในชีวิตแห่งชาติ (National Right to Life Committee, NRLC) ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1967 เป็นสันนิบาตสิทธิในชีวิต (Right to Life League) เพื่อประสานงานรณรงค์ระดับรัฐภายใต้การอุปถัมภ์ของ NRLC และในนช่วงต้น ค.ศ. 1973 NRLC ถูกแยกออกจากการดูแลโดยตรงของสภาประมุขบาทหลวงเพื่อเจาะฐานกลุ่มคนที่กว้างขึ้น และให้กลายเป็นขบวนการที่เป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

จริยศาสตร์กับสิทธิในชีวิต

ปีเตอร์ ซิงเงอร์ ที่เวทีประชุมครอฟอร์ด พ.ศ. 2560

นักจริยศาสตร์ (ethicist) ประโยชน์นิยมบางคนกล่าวว่า "สิทธิในชีวิต" ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแค่ว่าเป็นสมาชิกตนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์หรือไม่ นักปราชญ์ ปีเตอร์ ซิงเงอร์ (Peter Singer) เป็นผู้สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ที่โดดเด่นคนหนึ่ง สำหรับเขาแล้ว สิทธิในชีวิตอยู่บนฐานของความสามารถที่จะวางแผนและคาดหมายอนาคตของตนเอง นี่จะขยายแนวคิดนี้ไปครอบคลุมสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย เช่นเอปประเภทอื่น ๆ แต่ในเมื่อทารกในครรภ์ นอกครรภ์ และบุคคลพิการอย่างรุนแรงนั้นขาดสิ่งนี้ไป เขากล่าวว่าการแท้ง การฆ่าทารกอย่างไม่เจ็บปวด และการุณยฆาตสามารถเป็นสิ่งที่ "สมเหตุสมผล" (แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น) ในกรณีจำเพาะกรณีหนึ่ง เช่นในกรณีของทารกพิการที่จะมีชีวิตซึ่งทุกข์ทรมาน

นักชีวจริยศาสตร์ (Bioethics) ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมสิทธิคนพิการ (Disability Rights) และทุพลภาพศึกษา (Disability Studies) ได้โต้ว่าญาณวิทยาของซิงเงอร์นั้นอยู่บนฐานของแนวคิดเกี่ยวกับความพิการที่กีดกันในเรื่องสภาพร่างกาย (Ableism)

โทษประหารชีวิต

ข้อมูลเพิ่มเติม: โทษประหารชีวิต
การประท้วงแกล้งตายในปารีส วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ผู้ต่อต้านโทษประหารชีวิตกล่าวว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ในขณะที่ผู้สนับสนุนกล่าวว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่ใช่การละเมิดสิทธิในชีวิต เพราะสิทธิในชีวิตควรถูกนำมาใช้ในแง่ของความยุติธรรมทางอาญา (Criminal justice) ผู้ต่อต้านเชื่อว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุด เพราะสิทธิในชีวิตเป็นอันที่สำคัญที่สุด และโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดมันโดยไม่จำเป็น และเป็นการลงโทษผู้ถูกกล่าวโทษ (Death row) ด้วยการทรมานทางจิตวิทยา (Psychological torture) ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human rights activists) ต่อต้านโทษประหารชีวิตโดยเรียกมันว่าเป็น "การลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และเสื่อมทราม" และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่ามันเป็น "การปฏิเสธซึ่งสิทธิมนุษยชนที่ผันกลับไม่ได้ขั้นสูงสุด"

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติใน พ.ศ. 2550, 2551, 2553, 2555 2558 และ 2560 เป็นมติไม่ผูกพันเรียกร้องการหยุดพักการใช้โทษประหารชีวิตด้วยมุมมองที่จะยกเลิกไปในที่สุด

การฆ่าคนโดยการบังคับใช้กฎหมาย

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสำหรับการบังคับใช้กฎหมายได้สร้างระบบซึ่งยอมรับในผลผูกพันของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเหนือตัวแสดงที่เป็นรัฐทั้งหมด และซึ่งกล่าวว่าตัวแสดงที่เป็นรัฐทั้งหมดจะต้องรู้และสามารถนำมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไปใช้ได้ สิทธิในชีวิตนั้นในกรณีส่วนใหญ่เป็นสิทธิซึ่งแยกออกจากบุคคลมิได้ที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้มี ทว่าก็มีสถานการณ์บางประการซึ่งตัวแสดงที่เป็นรัฐจำต้องกระทำการที่รุนแรง ซึ่งสามารถส่งผลให้พลเมืองถูกฆ่า (Deadly force )โดยผู้บังคับใช้กฎหมาย (law enforcement)

การฆาตกรรมโดยการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาสมถูกวางกรอบไว้อย่างชัดเจนโดยมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย การกระทำการถึงตายใดก็ตามที่ทำโดยผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องกระทำตามกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่เขียนไว้ในส่วน 'Use of Force' (การใช้กำลัง) ในหนังสือฉบับกระเป๋าเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสำหรับตำรวจ หลักการสำคัญของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการใช้กำลังถึงตาย คือควรใช้วิธีการซึ่งไม่รุนแรงก่อนทุกวิธี ตามมาด้วยการใช้กำลังที่เหมาสมอย่างสมสัดส่วน การใช้กำลังที่เหมาะสมอย่างสมสัดส่วนนี้ ในบางพฤติการณ์ก็อาจหมายถึงการใช้กำลังถึงตายหากผู้บังคับใช้กฎหมายเชื่ออย่างแท้จริงว่าการจบชีวิตของพลเมืองคนหนึ่งจะเป็นการรักษาชีวิตของตัวเขาไว้ หรือชีวิตของเหล่าพลเมือง ตามที่ตีกรอบไว้ในส่วน 'Permissible Circumstances for the Use of Firearms' (พฤติการณ์ที่อนุญาติให้ใช้อาวุธปืน) ของหนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ยังได้ระบุไว้ในส่วน 'Accountability for the Use of Force and Firearms' (ภาระรับผิดชอบต่อการใช้กำลังและอาวุธปืน) ว่ามีมาตรการภาระรับผิดชอบที่เข้มงวดเพื่อรักษาบูรณภาพภายในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ เกี่ยวกับสิทธิของในการใช้กำลังถึงตายของมัน

การประท้วงที่เฟอร์กูสันวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้ระบุว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจะใช้กำลังถึงตายได้เมื่อไหร่และที่ไหน สมาคมผู้บัญชาการตำรวจระหว่างประเทศ (International Association of Chiefs of Police) มี 'นโยบายแบบอย่าง' ซึ่งรวมเอาข้อมูลหลายชิ้นจากแหล่งชั้นนำต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หนึ่งในนโยบายดังกล่าวกล่าวว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจะใช้กำลังเท่าที่จำเป็นอย่างสมเหตุสมผลเพื่อยุติเหตุการณ์หนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนและพลเมืองคนอื่น ๆ โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะมีอำนาจพิเศษในการใช้วิธีการที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานเพื่อยุติเหตุการณ์หนึ่งอย่างปลอดภัย และสามารถใช้อุปกรณ์ที่ได้รับแจกจ่ายมาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องปกป้องตนเองหรือคนอื่น ๆ จากความเสียหาย เพื่อควบคุมบุคคลที่ขัดขืน หรือเพื่อยุติเหตุการณ์ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างปลอดภัย โดยไม่มีการกล่าวถึงว่าควรตีความคำว่า "ที่จำเป็นอย่างสมเหตุสมผล" (reasonably necessary) อย่างไร แต่มีการอ้างอิงถึงวิธีการวิญญูชน (Reasonable person) ซึ่งใช้ระบุว่าควรมีแนวทางอย่างไรต่อสถานการณ์หนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีการชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นเหตุยิงไมเคิล บราวน์ (Shooting of Michael Brown) โดย ดาร์เรน วิลสัน ในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี (Ferguson, Missouri) ซึ่งส่งผลให้เกิดการประท้วงในเฟอร์กูสัน (Ferguson unrest) ว่ามีความสับสนและการถกเถียงกันเกี่ยวกับการใช้กำลังถึงตายและอาวุธปืน ส่วน 'Procedure for the Use of Firearms' ของหนังสือระบุถึงกระบวนการซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องดำเนินการเมื่อใช้อาวุธปืน โดยกล่าวว่าจะต้องระบุตนเองว่าเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย กล่าวคำเตือนออกมาอย่างชัดเจน และให้เวลาเพื่อใช้ตอบที่นานเพียงพอ (หากว่าในเวลานั้นไม่น่าจะสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือพลเมืองคนอื่น ๆ ได้) ก่อนที่จะสามารถใช้กำลังถึงตายภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศได้

ในขณะที่หนังสือฉบับกระเป๋าเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสำหรับตำรวจได้วางกรอบพฤติการณ์ทางวิชาการต่าง ๆ ซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายอาจใช้กำลังถึงตายได้ เหตุการณ์จริงที่ฆาตกรรมโดยตำรวจเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ริชาร์ด โรเซนเฟลด์ กล่าวว่ามีงานวิชาการจำนวนมากพอสมควรที่เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าเงื่อนไขทางสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการที่การฆ่าคนผ่านการบังคับใช้กฎหมายสามารถเกิดขึ้นได้ และกล่าวว่ามีงานศึกษาจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงการใช้กำลังถึงตายของผู้บังคับใช้กฎหมายเข้ากับอัตราอาชญากรรมรุนแรงของบริเวณนั้น ขนาดของประชากรซึ่งไม่ใช่คนพื้นเมือง และตำแหน่งทางเศรษฐกิจสังคมของประชาคมที่กำลังพิจารณา การใช้คำอธิบายอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการที่ฆาตกรรมโดยตำรวจสามารถเกิดขึ้นได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างแต่ละรัฐ

จิตรกรรมฝาผนัง จอร์จ ฟลอยด์ ที่สวนสาธารณะเมาเออร์ เบอรลิน เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563

มีบทความวิชาการที่พูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา (Police brutality in the United States) ซึ่งสร้างปฏิกิริยาและถูกบันทึกไว้อย่างกว้างขวาง นั่นคือการใช้กำลังถึงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคนขาวต่อพลเมืองชายคนดำซึ่งไม่ติดอาวุธ ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีอำนาจพิเศษทางกฎหมายใดที่ทำให้สามารถใช้กำลังถึงตายได้เพียงเพราะเชื้อชาติของบุคคลที่เผชิญอยู่ มีเฉพาะอำนาจพิเศษทางกฎหมายที่จะใช้กำลังถึงตายได้ก็ต่อเมื่อมีความวิตกอย่างสมเหตุสมผลต่อชีวิตของตนหรือผู้อื่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีงานวิเคราะห์ข้อมูลระดับสหพันธรัฐเกี่ยวกับเหตุยิงถึงตายโดยตำรวจในสหรัฐ (List of killings by law enforcement officers in the United States) ระหว่าง ค.ศ. 2010 และ 2012 ซึ่งบ่งชี้ว่าพลเมืองสหรัฐเยาวชนชายคนดำนั้นมีโอกาสถูกฆ่าโดยตำรวจมากกว่าพลเมืองสหรัฐเยาวชนชายคนขาวถึง 21 เท่าตัว การใช้กำลังถึงตายโดยผู้บังคับใช้กฎหมายในสหรัฐก่อให้เกิดความรู้สึกท่ามกลางพลเมืองสหรัฐว่าตำรวจไม่ได้ปกป้องพวกเขา ระบบยุติธรรมพบว่าผู้กระทำเหล่านี้ได้กระทำการภายในขอบเขตของกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ เพราะการกระทำของผู้คนที่ถูกยิงนั้นถูกตัดสินว่ามีคุณลักษณะที่น่าสงสัยเพียงพอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลัวเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น ทนายความ จอร์จ คอปโปโล (George Coppolo) ได้ตรวจสอบกฎหมายรัฐคอนเนทิคัต (Law of Connecticut) และรายงานว่าการใช้กำลังถึงตายจะต้องตามมาด้วยรายงานที่พิจารณาว่ากำลังถึงตายของผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นมีความจำเป็นที่สมสัดส่วนในพฤติการณ์นั้นหรือไม่ เขายังกล่าวว่าการตอบโต้อย่างถึงตายที่สมเหตุสมผลนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเชื่อได้อย่างสมเหตุสมผลว่าข้อเท็จจริงที่อยู่ตรงหน้านั้นจะสามารถส่งผลให้มีโอกาสถึงตายหรือบาดเจ็บสาหัสที่สมจริงหรือไม่

ในคดีระหว่างแกรแฮมกับคอนเนอร์ (Graham v. Connor) ผู้เป็นเบาหวานซึ่งกำลังประสบกับภาวะน้ำตาลในเลือดอย่างหนึ่งถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งสังเกตเห็นเหตุการณ์นั้นและทำให้เกิดความสงสัยในตัวแกรแฮม การควบคุมตัวครั้งนี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อแกรแฮม ซึ่งได้ดำเนินการฟ้องร้องตำรวจข้อหาใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ศาลสูงสุดสหรัฐไม่ได้พบว่าภาวะเบาหวานนี้เป็นสิ่งที่อาจคุกคามต่อผู้บังคับใช้กฎหมายได้ด้วยตัวมันเอง หากแต่พบว่าพฤติการณ์โดยรวม ณ เวลาที่เกิดเหตุนั้นจะต้องถูกนำมาพิจารณาเมื่อตัดสินเจ้าหน้าที่ แทนที่จะพิจารณาเหตุการณ์นั้นด้วยการมองย้อนกลับไปอย่างรอบคอบ ซึ่งในกรณีของแกรแฮมนั้นถูกตัดสินว่าพฤติกรรมที่เกิดจากอาการเบาหวานนั้นเมื่อมองต่อหน้าอาจถูกถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือพลเมืองคนอื่น ๆ ได้ นี่ทำให้ยากที่จะแน่ใจว่าอะไรถือว่าเป็นคำอธิบายสภาวการณ์ที่การใช้กำลังถึงตายโดยผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล ในคดีระหว่างรัฐเทนเนสซีกับการ์เนอร์ (Tennessee v. Garner) เจ้าหน้าที่ตำรวจ เอลตัน ไฮมอน ได้ตอบสนองต่อสายแจ้งเหตุลักทรัพย์ เมื่อเขาเข้าไปที่สนามหลังบ้านดังกล่าว ไฮมอนพบกับบุคคลที่กำลังหนี และได้สั่งให้ผู้ต้องหาคนนั้นหยุด ซึ่งในภายหลังระบุตัวตนได้เป็นเด็กชายอายุ 15 ปีนามว่า เอ็ดเวิร์ด การ์เนอร์ การ์เนอร์เริ่มปีนข้ามรั้ว และไฮมอนได้ดำเนินการยิงเขาถึงตายที่ด้านหลังของศีรษะ ศาลสูงสุดสหรัฐยืนยันตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ของสหรัฐอเมริกา (Fourth Amendment to the United States Constitution) ว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งกำลังไล่ตามบุคคลหนึ่งนั้นจะไม่สามารถใช้กำลังถึงตายเพื่อยุติการไล่ตามได้เว้นแต่เจ้าหน้าที่มีความเชื่อที่สมเหตุสมผลพอว่าบุคคลนั้นมีภัยคุกคามอย่างมีนัยสำคัญต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้อื่น ในสหรัฐที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สอง (Second Amendment to the United States Constitution) ได้ให้สิทธิต่อพลเมืองที่จะพกพาอาวุธ (Right to keep and bear arms) บุคคลใด ๆ ล้วนสามารถเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจและของพลเมืองคนอื่นได้ เหตุเพราะว่าใครก็ตามอาจกำลังพกซ่อน (Concealed carry in the United States) อาวุธปืนไว้

ในประเทศนิวซีแลนด์ รายงานการประพฤติของตำรวจประจำปีพบว่าภายในหนึ่งทศวรรษ ตำรวจนิวซีแลนด์ได้ยิงและฆ่าคนไปเจ็ดคน หนึ่งในนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และในทุกกรณีตำรวจได้ถูกตัดสินว่าได้กระทำการภายในขอบเขตสิทธิทางกฎหมายของพวกเขา ประเทศนิวซีแลนด์มีกระบวนการที่เคร่งครัดซึ่งพลเมืองคนใดที่ต้องการใช้อาวุธปืนอย่างถูกกฎหมายจะต้องผ่าน นี่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่พลเรือนทั่วไปไม่ได้มีภัยอันตรายอยู่โดยพื้นฐานต่อชีวิตของผู้บังคับใช้กฎหมายหรือของผู้อื่น

มาตรฐานซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศล้วนหวังให้รัฐกระทำตามนั้นคล้ายกัน นั่นคือกำลังถึงตายจะถูกนำมาใช้โดยผู้บังคับใช้กฎหมายได้นั้นก็ต่อเมื่อมีภัยอันตรายจริงต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือพลเมืองคนอื่น แต่ความเป็นจริงแล้ว แต่ละรัฐก็มีนิยามของสถานการณ์ที่ใช้กำลังถึงตายได้อย่างเหมาะสมสำหรับผู้ใช้กฎหมายในแบบของตัวเอง เนื่องมาจากสภาพแวดล้อม กฎหมาย วัฒนธรรม และประชากรที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละรัฐทั่วโลก

การุณยฆาต

เครื่องการุณยฆาต ประเทศออสเตรเลีย

ผู้ที่เชื่อว่าบุคคลสมควรที่จะสามารถตัดสินใจปลิดชีพตัวเองผ่านการุณยฆาตได้อ้างว่าบุคคลมี สิทธิที่จะเลือก ในขณะที่ผู้ที่ต่อต้านการทำให้การุณยฆาตถูกกฎหมายอ้างว่าบุคคลทั้งหมดล้วนมีสิทธิในชีวิต คนกลุ่มนี้มักถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า right-to-lifers (นักสิทธิในชีวิต)

แถลงการณ์ทางกฎหมาย

  • ใน ค.ศ. 1989 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
  • รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Basic Law for the Federal Republic of Germany) ยึดหลักการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้สูงสุด เหนือกว่าแม้แต่สิทธิในชีวิต
  • ศาสนจักรคาทอลิกได้ตรา กฎบัตรสิทธิของครอบครัว (Charter of the Rights of the Family) ขึ้นมา ซึ่งกล่าวว่าสิทธิในชีวิตนั้นเป็นผลโดยตรงจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • ข้อ 21 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย (Constitution of India) ค.ศ. 1950 รับประกันสิทธิในชีวิตให้แก่คนทุกคนภายในอาณาเขตของประเทศอินเดีย และกล่าวว่า "ไม่มีบุคคลใดจะถูกพรากไปจากสิทธิในชีวิตของเขา และเสรีภาพส่วนตัวของเขา เว้นแต่เป็นไปตามกระบวนการที่สถาปนาไว้ตามกฎหมาย" ข้อที่ 21 มอบสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตและเสรีภาพส่วนตัวให้แก่บุคคลทุกคน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งของสิทธิอื่น ๆ อีกมากมาย

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение