Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
หลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุ
หลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุ | |
---|---|
Left anterior oblique angiographic image of Takayasu's arteritis showing areas of stenosis in multiple great vessels
| |
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | M31.4 |
ICD-9 | 446.7 |
OMIM | 207600 |
DiseasesDB | 12879 |
MedlinePlus | 001250 |
eMedicine | med/2232 ped/1956 neuro/361 radio/51 |
MeSH | D013625 |
หลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุ (อังกฤษ: Takayasu's arteritis) เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Takayasu's aortitis หรือ pulseless disease หรือ aortic arch syndrome โดยชื่อของโรคนี้ได้มาจากแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ค้นพบโรคนี้เมื่อปี พ.ศ. 2451 ชื่อนายแพทย์ มิกิโตะ ทากายาสุ (อังกฤษ: Mikito Takayasu; ญี่ปุ่น: 高安 右人) โดยเขาได้รายงานผู้ป่วยรายแรกในการประชุมประจำปีของสมาคมจักษุแพทย์ประเทศญี่ปุ่น ลักษณะความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตามีลักษณะจำเพาะที่ไม่เคยพบก่อนหน้านั้น ผู้ป่วยโรคทากายาสุส่วนใหญ่จะเกิดการอักเสบของเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา และแขนงต่าง ๆ ของเส้นเลือดเอออร์ตา รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงแขนขา เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไต นอกจากนี้ยังอาจพบการอักเสบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปอด และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
โรคนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกาย ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของโรคนี้คือทำให้ชีพจรเส้นเลือดที่แขนขาเบาลงหรือหายไป บางรายทำให้ระบบไหลเวียนล้มเหลว แขนขาเย็นเฉียบ ปวดกล้ามเนื้อเวลาที่ใช้งานหรือออกกำลัง ผู้ป่วยโรคทากายาสุอาจเกิดอัมพาตได้ถ้าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการอักเสบขึ้น โรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่อันตรายมากโรคหนึ่ง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และเมื่อเวลาผ่านไป โรคเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะเกิดการตีบแคบของหลอดเลือดจนเกิดแผลเป็นที่เยื่อบุผนังหลอดเลือด และเส้นเลือดเกิดการอักเสบชนิดโป่งพองเป็นบอลลูน ผู้ป่วยโรคทากายาสุร้อยละ 90 เป็นหญิงชาวเอเชีย โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 9:1 สามในสี่รายจะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่น เมื่อยังเป็นวัยรุ่นอยู่ อายุเฉลี่ยเมื่อได้รับการวินิจฉัยประมาณ 25 ปี ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากอาการในระยะแรกของโรคทากายาสุจะน้อยมาก และเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงแต่อย่างใด ประมาณร้อยละ 96 ของผู้ป่วยโรคทากายาสุจะไม่ได้รับการวินิจฉัย จนกว่าจะเริ่มมีอาการที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้น
โรคนี้เป็นโรคที่พบอุบัติการณ์ได้ทั่วโลก แต่พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สาเหตุ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกลไกทางระบบอิมมูน หรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สำหรับชนชาวเอเชีย และถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุน้อย เช่น ในกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น ส่วนในประเทศฝั่งตะวันตก เช่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป โรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 2-3 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน
อาการ
อาการของโรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุแตกต่างกันได้มาก ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค และเส้นเลือดที่เกิดการอักเสบ อาการในระยะแรกๆ ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่อออกกลางคืน ปวดข้อ เจ็บหน้าอก ส่วนอาการในระยะหลัง จะเกิดจากการตีบตันของเส้นเลือดที่เกิดการอักเสบ ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเหล่านั้นลดน้อยลง อาการเหล่านี้ได้แก่
- ความดันโลหิตสูงและไตวาย เกิดจากเลือดไปเลี้ยงไตลดน้อยลง
- ตรวจวัดชีพจรที่แขน คอ และขา ไม่ได้
- ค่าความดันโลหิตที่วัดจากแขนซ้ายและขวาแตกต่างกัน
- ค่าความดันโลหิตที่วัดบริเวณแขนและขาแตกต่างกัน
- อาการเจ็บแน่นหน้าอก
- เหนื่อยง่าย หายใจไม่ออก เกิดจากการทำงานของหัวใจบกพร่อง
- หน้ามืด เป็นลม มึนศีรษะ เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เกิดจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในช่องท้องไม่พอ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แขน และขา เมื่อเคลื่อนไหว
การวินิจฉัย
เนื่องจากโรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุเป็นโรคที่พบได้น้อย และอาการในระยะแรกไม่จำเพาะเจาะจง การวินิจฉัยจึงค่อนข้างยาก และอาจวินิจฉัยได้เมื่ออาการปราฏเด่นชัดมากขึ้น บางรายแพทย์ติดตามอาการผิดปกติอยู่นานเป็นเดือนๆ จึงให้การวินิจฉัยโรค
อาการที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุ ได้แก่
- ตรวจพบความดันโลหิตสูงที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
- ในรายที่ตรวจวัดความดันโลหิตที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง
- ค่าความดันโลหิตที่วัดจากแขนสองข้างแตกต่างกันและไม่เท่ากัน
- อาการของเลือดไหลเวียนลดน้อยลง ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ควรเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่อายุยังน้อย
แพทย์จะสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุ ถ้าตรวจพบสิ่งต่อไปนี้ ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป
- อาการเกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปี
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมื่อขยับแขน-ขา
- ตรวจพบชีพจรที่แขนเบาผิดปกติ
- เมื่อตรวจด้วยหูฟัง พบว่ามีเสียงผิดปกติชนิดที่เรียกว่า bruit ซึ่งเกิดจากเลือดไหลวน
- เอ็กซเรย์ตรวจหลอดเลือดทางรังสี พบลักษณะผิดปกติของหลอดเลือดเอออร์ตา
- ค่าความดันโลหิตตัวบน เมื่อวัดที่แขนทั้งสองข้าง ต่างกันมากกว่า 10 มิลลิเมตรปรอท
เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัย แพทย์จะทบทวนประวัติอาการโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจร่างกายระบหัวใจและหลอดเลือดอย่างละเอียด การวัดความดันโลหิตต้องวัดทุกตำแหน่ง ทั้งซ้ายและขวา พิจารณาความแรงของชีพจรที่แขนขา และที่คอ การตรวจเพื่อฟังเสียง bruit ในบริเวณของเส้นเลือดที่ตีบแคบ ตำแหน่งที่ตรวจพบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณหน้าอก คอ และ ผนังหน้าท้อง หลังจากตรวจร่างกายอย่างละเอียด อาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอ็กซเรย์หลอดเลือด อัลตราซาวน์ MRI หรือ CT scan
การรักษา
- การรักษาโรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุที่สำคัญที่สุดคือลดปฏิกิริยาอักเสบที่เกิดขึ้น การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์หรือกลูโคคอร์ติคอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน มักจะได้ผลดีในผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ ในบางรายอาจไม่ได้ผลหรือกลับเป็นซ้ำ
- ถ้ารักษาไประยะหนึ่งแล้วไม่ได้ผล อาจพิจารณาให้ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน ได้แก่ methotrexate (Rheumatrex, Trexall), cyclosporine, cyclophosphamide (Cytoxan), azathioprine (Imuran)
- ในกรณีที่ความดันโลหิตสูง ต้องใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิตด้วย
- ในรายที่ตรวจพบว่าเส้นเลือดเกิดการตีบตัน อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาเพื่อขยายเส้นเลือด หรือใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ตีบตัน
แหล่งข้อมูลอื่น
- Johns Hopkins Vasculitis Center Discusses Takayasu's Arteritis เก็บถาวร 2004-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- -362086386 ที่ GPnotebook