Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

อนุกรมวิธาน

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

อนุกรมวิธานวิทยา (อังกฤษ: taxonomy) ซึ่งมีรากศัพท์จากคำในภาษากรีกโบราณว่า τάξις, taxis (การจัดเรียง) และ νόμος, nomos (กฎ, ธรรมเนียม) เป็นการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ตามสายวิวัฒนาการ อนุกรมวิธานเป็นวิชาที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ

  1. การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต (classification) ออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ
  2. การกำหนดชื่อสากลของหมวดหมู่และชนิดของสิ่งมีชีวิต (nomenclature)
  3. การตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต (identification)

ในการศึกษาอนุกรมวิธานจะมีศัพท์ที่ใช้เรียกแตกต่างกันออกไป ถ้าหากการศึกษาเป็นไปในทางรวบรวมตัวอย่าง (specimen)

บิดาแห่งอนุกรมวิธานวิทยา คือ คาร์ล ลินเนียส นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน

ประวัติ

จุดเริ่มต้นของการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอนุกรมวิธาน เกิดขึ้นจากการศึกษาของนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ คาร์ล ลินเนียส และได้แก้ไขใหม่โดยการตรวจสอบและเรียบเรียงใหม่โดยนักชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ คาร์ล ริชาร์ด โวส (Carl Richard Woese) ในปี ค.ศ. 1990 โดยเพิ่มโดเมนหรือเขต (domain) เหนืออาณาจักร (kingdom)

การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต

การจัดสิ่งมีชีวิตให้เป็นหมวดหมู่ตามลำดับจากใหญ่ไปหาเล็กหรือจากเล็กไปหาใหญ่ ในที่นี้ขอแสดงตัวอย่างจากใหญ่ไปหาเล็ก เริ่มต้นจาก

  • แต่ละอาณาจักร จะแบ่งออกได้เป็นหลายไฟลัมในสัตว์ และหมวดหรือส่วนในพืช
  • แต่ละไฟลัม (ในสัตว์) หรือแต่ละหมวด (ในพืช) สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายชั้น
  • แต่ละชั้น สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายอันดับ
  • แต่ละอันดับ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายวงศ์
  • แต่ละวงศ์ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น หลายวงศ์ย่อย, หลายสกุล
  • แต่ละสกุล สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายสปีชีส์หรือชนิด

การจัดหมวดหมู่เริ่มตั้งแต่การแบ่งแบบคร่าว ๆ ในระดับอาณาจักร ซึ่งในระดับนี้จะแบ่งสิ่งมีชีวิตในโลกออกเป็น 5 อาณาจักร คือ

  1. อาณาจักรสัตว์
  2. อาณาจักรพืช ได้แก่ พืชทุกชนิด
  3. อาณาจักรโปรติสตา (กึ่งพืชกึ่งสัตว์) ได้แก่ สาหร่ายต่าง ๆ ราเมือก และโปรโตซัว
  4. อาณาจักรเห็ดรา ได้แก่ เห็ด รา และยีสต์
  5. อาณาจักรโมเนอรา ได้แก่ แบคทีเรียและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

ในความเป็นจริงแล้ว การแบ่งสิ่งมีชีวิตในโลกนั้น หนังสือบางเล่มบอกว่ามีมากกว่า 5 อาณาจักร เช่น มีอาณาจักรไวรอยส์ (ไวรัส ไวรอยด์ และสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นเซลล์) แต่อาณาจักรอื่น ๆ หรือการแบ่งอาณาจักรแบบอื่น ๆ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากวงการชีววิทยาเท่าที่ควร ในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงยังใช้การแบ่งแบบ 5 อาณาจักรอยู่

การแบ่งในระดับอาณาจักร จะแบ่งสิ่งมีชีวิตได้เพียง 5 ประเภท แต่เมื่อแบ่งในระดับที่ละเอียดขึ้น ก็จะแบ่งได้หลายประเภทมากขึ้น ซึ่งเมื่อแบ่งละเอียดถึงระดับสปีชีส์ แล้ว สิ่งมีชีวิตในโลกจะแบ่งได้เป็นล้าน ๆ ประเภท

การเรียกสิ่งมีชีวิตโดยใช้หลักอนุกรมวิธาน จะเรียกโดยเริ่มจากอาณาจักร ไปไฟลัม ไปชั้น ไปอันดับ ไปวงศ์ ไปสกุล ไปสปีชีส์ เช่น การจะเรียกมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบันโดยใช้หลักอนุกรมวิธาน จะเรียกได้ดังนี้

Domain Eukaryota
Kingdom Animalia (อาณาจักรสัตว์)
Phylum Chordata
Subphylum Vertebrata
Class Mammalia
Subclass Theria
Infraclass Eutheria
Order Primates
Family Hominidae
Genus Homo
Species Homo sapiens

ความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ นั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า การเรียกแบบอนุกรมวิธานนั้นจะแตกต่างในระดับใด เพราะถ้าหากสิ่งมีชีวิตสองชนิด มีความแตกต่างกันที่ระดับหนึ่ง ๆ แล้ว ระดับที่อยู่ต่ำลงไปก็จะแตกต่างไปด้วยเสมอ เช่น นำสิ่งมีชีวิตสองชนิดเปรียบเทียบกัน พบว่า ตั้งแต่อาณาจักรถึงวงศ์เหมือนกัน แต่สกุลไม่เหมือนกัน ก็จะพลอยทำให้สปีชีส์ไม่เหมือนกันไปด้วย เช่นนี้เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ จะผสมพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตที่มีชื่ออนุกรมวิธานเหมือนกันทั้ง 7 ระดับเท่านั้น การผสมข้ามสายพันธุ์จะถูกขัดขวางโดยกระบวนการธรรมชาติ เช่น ฤดูผสมพันธุ์ที่ไม่ตรงกัน, ลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน, การอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๆ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างกัน ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีบางกรณีที่สิ่งมีชีวิตเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งธรรมชาติก็จะหาทางให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ เช่น ให้อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมีย หากได้รับเชื้อจากเพศผู้ที่ต่างสปีชีส์กัน จะหลั่งสารยับยั้งและฆ่าเชื้อจากตัวผู้ตัวนั้น หรือถ้าสิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่มีสารเหล่านี้ จนเชื้อของเพศผู้สามารถเข้าไปได้ ก็จะไม่เกิดการถ่ายทอดยีน เพราะยีนของสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน

แต่ในบางกรณีที่เกิดการปฏิสนธิและออกลูกมาได้จริง ๆ จะเรียกว่า ลูกผสม ซึ่งลูกผสมจะมีชะตากรรมอย่างในอย่างหนึ่งใน 3 กรณีต่อไปนี้

  1. อายุสั้น
  2. เป็นหมัน (เช่น ตัวล่อ ที่เกิดจากม้า+ลา)
  3. ออกลูกได้อีกเป็นลูกผสมรุ่นที่ 2 แต่ลูกผสมรุ่นที่ 2 นี้ จะเป็นหมันแน่

จริง ๆ แล้ว ยังมีการแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นซับสปีชีส์หรือชนิดย่อยได้อีก แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงกันแค่ระดับสปีชีส์ เพราะซับสปีชีส์คือการแบ่งประเภทของสปีชีส์ต่ออีกรอบ แต่ก็ยังอยู่ใน สปีชีส์เดียวกัน สิ่งมีชีวิตสามารถผสมข้ามซับสปีชีส์ได้ตามปกติโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ ความแตกต่างระหว่างซับสปีชีส์น้อยมาก ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงพูดถึงกันละเอียดที่สุดที่ระดับสปีชีส์


หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อในทางวิทยาศาสตร์

  1. ใช้ชื่อภาษาละตินเสมอ เพราะภาษาละตินเป็นภาษาที่ไม่มีการใช้เป็นภาษาพูดแล้ว โอกาสที่ความหมายจะเพี้ยนไปเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ จึงมีน้อย
  2. ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของพืชและสัตว์จะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
  3. ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชและสัตว์แต่ละหมวดหมู่จะมีชื่อที่ถูกต้องที่สุดเพียงชื่อเดียว
  4. ชื่อหมวดหมู่ในลำดับขั้นวงศ์ลงไป ต้องมีตัวอย่างต้นแบบของสิ่งมีชีวิตนั้นประกอบการพิจารณา เช่น ชื่อวงศ์ในพืช จะลงท้ายด้วย -aceae แต่ในสัตว์ จะลงท้ายด้วย -idae
  5. ชื่อในลำดับขั้นสกุลจะใช้ตัวอักษรตัวใหญ่นำหน้า และตามด้วยอักษรตัวเล็ก
  6. ชื่อในลำดับขั้นสปีชีส์จะประกอบด้วย 2 คำ โดยคำแรกจะดึงเอาชื่อสกุลมา แล้วคำที่สองจึงเป็นคำระบุชนิด (specific epithet) ซึ่งจะขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเล็ก
  7. ชื่อในลำดับขั้นสปีชีส์จะเขียนตัวเอน หรือ ขีดเส้นใต้เสมอ

ตัวอย่างชื่อเรียกอนุกรมวิธาน

บรรพบุรุษของมนุษย์

เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่จัดเป็นมนุษย์ แต่ว่าได้เริ่มแยกเผ่าพันธุ์ออกมาจากบรรพบุรุษร่วมระหว่างลิงและมนุษย์แล้ว สามารถเดินสองขาได้ ใช้ชีวิตทั้งบนพื้นดินและบนต้นไม้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ มีชีวิตในช่วง 3,900,000 - :2,900,000 ปีก่อน มีชื่อเรียกแบบอนุกรมวิธานดังนี้

โดเมน (Domain): Eukarya
อาณาจักร (Kingdom): Animalia (อาณาจักรสัตว์)
ไฟลัม (Phylum): Chordata
ชั้น (Class): Mammalia
อันดับ (Order): Primates
วงศ์ (Family): Hominidae
สกุล (Genus) : Australopithecus
สปีชีส์ (Species): Australopithecus afarensis

จะสังเกตว่า ตั้งแต่ระดับอาณาจักรจนถึงระดับวงศ์รวม 5 ระดับ เหมือนมนุษย์ปัจจุบัน แต่สกุลต่าง ดังนั้นสปีชีส์จึงต่างไปด้วย

การศึกษาการอนุกรมวิธานในประเทศไทย

อาจจะถือได้ว่าในการศึกษาอนุกรมวิธานในประเทศไทย ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในชื่อ สัตวาภิธาน แต่งโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นคำโคลง เกี่ยวกับการจำแนกสัตว์ที่มีขาหลากหลาย (พหุบาท) ได้แก่ แมลง, แมง และครัสเตเชียน

ดูเพิ่ม


Новое сообщение