Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

อาการกระสันสัตว์

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ภาพพิมพ์ไม้จากชุดหนังสือญี่ปุ่นของ อุตะงะวะ คุนิซะดะ (Utagawa Kunisada) เมื่อ ค.ศ. 1837 ชื่อภาพว่า "วีรบุรุษโฮ่งทั้งแปดแห่งตระกูลซะโตะมิ" (Eight Canine Heroes of the House of Satomi)

อาการกระสันสัตว์ (อังกฤษ: zoophillia) เป็นกามวิปริตที่ประกอบด้วยกิจกรรมทางเพศระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และสามารถหมายถึง ความนิยมชมชอบกิจกรรมดังกล่าว

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจัดว่า อาการกระสันสัตว์นั้นผิดกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สัตว์โดยมิชอบ (animal abuse) หรือกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อธรรมชาติ (crime against nature) แต่แม้อาการกระสันสัตว์จะไม่ผิดกฎหมายในบางท้องที่ ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับโดยแจ้งชัดในภูมิภาคใด

ขอบเขตของการปรากฏ

รายงานของคินซีย์ (Kinsey Reports) ระบุว่า ร้อยละ 8 ของมนุษย์เพศชาย และร้อยละ 3.6 ของมนุษย์เพศหญิง เคยประกอบกิจกรรมทางเพศกับสัตว์ ทั้งยังอ้างด้วยว่า ร้อยละสี่สิบถึงห้าสิบของคนเหล่านี้มีที่พำนักอยู่ใกล้ไร่ปศุสัตว์ แม้สถิตินี้ถูกคัดค้านในสมัยต่อมา เพราะไม่ได้สุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย และอาจก่อให้เกิดปัญหาอคติในตัวอย่าง แต่ก็มีผู้หักล้างการคัดค้าน เช่น มาร์ติน ดูเบอร์แมน (Martin Duberman) กล่าวว่า การสุ่มตัวอย่างเพื่อวิจัยเกี่ยวกับเพศนั้นไม่ง่าย และพอล เกบฮาร์ด (Paul Gebhard) ซึ่งสืบทอดโครงการวิจัยของคินซีย์ กล่าวว่า ในการวิจัยข้างต้น ได้ตัดกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่ม เช่น บุคคลในเรือนจำ ออก แต่เมื่อศึกษาแล้วพบว่า การตัดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด

ใน ค.ศ. 1974 ประชากรที่อยู่ใกล้ไร่ปศุสัตว์ลดลงถึงร้อยละแปดสิบ เทียบกับจำนวนใน ค.ศ. 1940 ทำให้คนมีโอกาสอยู่ใกล้สัตว์น้อยลง ในปีนั้น มีการศึกษาและสรุปเป็นข้อสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรนี้มีผลสำคัญต่อจำนวนการเกิดอาการกระสันสัตว์ เทียบกับสถิติเมื่อ ค.ศ. 1948 โดยใน ค.ศ. 1948 ร้อยละ 8.3 ของชาย และร้อยละ 3.6 ของหญิง เคยประกอบกามกิจกับสัตว์ ส่วนใน ค.ศ. 1974 สถิตินั้นลดลงเป็นร้อยละ 4.9 สำหรับชาย และ 1.9 สำหรับหญิง อย่างไรก็ดี ฮานี มีเลตสกี (Hani Miletski) นักเพศวิทยา เชื่อว่า ที่ลดลงนี้ไม่ได้หมายความว่า คนสนใจจะกระสันสัตว์น้อยลง เพียงแต่โอกาสที่จะทำนั้นน้อยลง

ก่อนหน้านี้ใน ค.ศ. 1973 แนนซี ฟรายเดย์ (Nancy Friday) ตีพิมพ์หนังสือสังวาสสำหรับสตรีเรื่อง มายซีเครตการ์เดน (My Secret Garden) หนังสือนั้นรวบรวมเรื่องชวนฝัน 190 เรื่องซึ่งสอบถามมาจากบรรดาสตรี ปรากฏว่า มี 23 เรื่องว่าด้วยกิจกรรมทางเพศกับสัตว์

บุคคลแม้ไม่ประสงค์จะกระสันสัตว์จริง ๆ ก็อาจเพ้อฝันถึงอาการกระสันสัตว์ได้ แนนซี ฟรายเดย์ ตั้งข้อสังเกตว่า การฝันเฟื่องเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศกับสัตว์นั้นอาจเป็นเครื่องช่วยให้พ้นจากกรอบ ความมุ่งหวัง หรือบรรทัดฐานของสังคมในเรื่องสังวาสก็ได้ ใน ค.ศ. 1962 มีรายงานการศึกษาว่า โรงโสเภณีมักจัดแสดงสัตว์สมจรกัน เพราะพบว่า ช่วยกระตุ้นกามารมณ์ของลูกค้าเป็นอย่างดี และอาจชักนำให้ลูกค้าใช้บริการสัตว์ในโรงนั้นด้วย ต่อมาใน ค.ศ. 1994 มีการศึกษาพบว่า บุคคลที่พอใจและเกิดกำหนัดจากการชมดูสัตว์ร่วมประเวณีกันเองนั้น ลึก ๆ แล้วนิยมการสมสู่ระหว่างมนุษย์กับสัตว์

การศึกษารายหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1991 พบว่า ผู้ป่วยทางจิตมีสถิตินิยมอาการกระสันสัตว์สูงมากกว่าผู้ป่วยในและบุคลากรทางจิตเวชอย่างยิ่ง โดยร้อยละ 45 ของผู้ป่วยทางจิตเคยกระสันสัตว์จริง ๆ และอีกร้อยละ 30 เพ้อฝันถึงกิจกรรมทางเพศกับสัตว์ ขณะที่ผู้ป่วยในมีร้อยละ 10 และบุคลากรทางจิตเวชมีร้อยละ 15 ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

การศึกษาอีกรายเมื่อ ค.ศ. 1980 ระบุว่า ร้อยละ 5.3 ของมนุษย์เพศชายที่สำรวจนั้นมักจินตนาการถึงอาการกระสันสัตว์ในระหว่างร่วมประเวณีกับบมนุษย์เพศหญิง และการศึกษาอีกรายซึ่งทำใน ค.ศ. 1982 ระบุว่า ได้สำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยหนึ่งร้อยแปดสิบหกแห่ง ร้อยละ 7.5 ของนักศึกษาเหล่านี้เคยกระสันสัตว์จริง ๆ

อนึ่ง การศึกษาหลายรายยังพบว่า ภาพยนตร์ชิมแปนซีสมสู่กันก่อให้มนุษย์เพศหญิงมีการตอบสนองในช่องคลอดมากกว่าภาพยนตร์ที่วานรเหล่านั้นไม่ได้กระทำทางเพศกัน

โทมัส ฟรานซิส (Thomas Francis) พรรณนาว่า อาการกระสันสัตว์นั้นครอบคลุมประชากรหลาย ๆ กลุ่มต่างกัน ไม่ว่าผิวขาว ผิวคล้ำ เอเชีย มอรมอน คาทอลิก ไม่เชื่อเจ้าเชื่อผี เดียรถีย์ ยิว ชาย หรือหญิง เขายังว่า บุคคลไม่ว่าเติบโตในท้องที่มีสัตว์มาก หรือท้องที่ไร้สัตว์ ก็นิยมอาการกระสันสัตว์ได้เสมอกัน

มุมมองทางศาสนา

ประติมากรรมที่วัดแห่งคาจูราโฮแสดงภาพการสังวาสระหว่างมนุษย์เพศชายกับม้า

สำหรับคริสต์ศาสนานั้น พระคริสตธรรม เลวีนิติ (Leviticus) บทที่ 18 วรรค 23 ว่า "เจ้าอย่ากระสันสัตว์เดียรัจฉาน กระทำตนให้ลามกอนาจาร หรืออย่าให้หญิงคนใดยอมตัวกระสันสัตว์เดียรัจฉาน ดังนี้ เป็นเรื่องกามวิปลาส" ("And you shall not lie with any beast and defile yourself with it, neither shall any woman give herself to a beast to lie with it: it is a perversion") ส่วนบทที่ 20 วรรค 15 ว่า "ถ้าชายใดกระสันสัตว์เดียรัจฉาน ต้องให้ชายคนนั้นมีโทษถึงตายเป็นแน่ และเจ้าจงฆ่าสัตว์เดียรัจฉานนั้นเสียให้ตาย" (If a man lies with a beast, he shall be put to death; and you shall kill the beast.) และวรรค 16 ว่า "ถ้าหญิงคนใดเข้าใกล้สัตว์เดียรัจฉาน และเข้านอนกับมัน เจ้าจงฆ่าหญิงนั้นและสัตว์เดียรัจฉานนั้นเสียให้ตาย ทั้งสองต้องมีโทษถึงตายเป็นแน่ ให้โลหิตของผู้นั้นตกอยู่บนผู้นั้นเอง" (If a woman approaches any beast and lies with it, you shall kill the woman and the beast; they shall be put to death, their blood is upon them.) ข้อความเหล่านี้ นักศาสนวิทยาชาวยิว คริสต์ และอิสลามมักมองว่าเป็นข้อห้ามกระสันสัตว์ แต่ก็มีผู้ตีความว่า พระคริสตธรรมมิได้ห้ามไว้อย่างแจ้งชัดแต่ประการใด

นอกจากนี้ ทอมัส อะไควนัส (Thomas Aquinas) ปรัชญาเมธีในมัชฌิมยุค เขียนไว้ในเรื่อง ซัมมาเทโอโลจิกา (Summa Theologica) ภาคที่ 2 ว่า ความเลวทรามผิดธรรมชาติ (unnatural vices) หลายประการย่อมเป็นบาปหนักเบาต่างกัน ในที่นี้ เขากล่าวว่า "มหันต์ที่สุดก็คือบาปแห่งอาการกระสันสัตว์"

ส่วนในศาสนาฮินดู ปรากฏรูปปั้นมากมายซึ่งแสดงกิจกรรมทางเพศระหว่างมนุษย์กับสัตว์อย่างเปิดเผย ที่มีชื่อที่สุดคือบรรดาที่ประดับอยู่รอบวัดฮินดูแห่งคาจูราโฮ (Khajuraho) และมีผู้ให้ความเห็นว่า รูปประดับเหล่านี้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ไม่พึงตีความตรงตัว ในประเพณีจิตกรรมและประติมากรรมฮินดูนั้น เชื่อกันว่า การร่วมประเวณีกับสัตว์เดรัจฉาน ก็เหมือนร่วมสังวาสกับเทพยดาซึ่งจำแลงมาในรูปสัตว์ แต่คัมภีร์ฮินดูบางฉบับ เช่น ภาควตปุราณะ (Bhagavata Purana) และ เทวีภาควตปุราณะ (Devi Bhagavata Purana) ระบุว่า บุคคลผู้ร่วมเพศกับสัตว์ โดยเฉพาะโค จะตกนรกหมกไหม้ ต้องถูกลงทัณฑ์ในนรกภูมิโดยจับตัวครูดกับต้นไม้ซึ่งมีหนามแหลมคม

กฎหมาย

หลาย ๆ เขตอำนาจห้ามกระสันสัตว์ทุกรูปแบบ ส่วนเขตอำนาจอื่น ๆ ห้ามปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไม่เหมาะสม แต่มิได้ระบุว่ารวมถึงกิจกรรมทางเพศหรือไม่ สำหรับสหราชอาณาจักร มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและคนเข้าเมือง ค.ศ. 2008 (Criminal Justice and Immigration Act 2008) หรือที่เรียกกันว่า พระราชบัญญัติงานลามกอย่างยิ่ง (Extreme Pornography Act) ห้ามแพร่ภาพบุคคลกระทำหรือปรากฏว่ากระทำทางเพศกับสัตว์ ไม่ว่าสัตว์นั้นเป็นหรือตาย ขณะที่ประเทศยุโรปหลายประเทศ เป็นต้นว่า เบลเยียม เยอรมนี และรัสเซีย ตรากฎหมายไว้กลาง ๆ คือ อนุญาตให้กระสันสัตว์ได้ แต่ห้ามส่งเสริมงานลามกเกี่ยวกับสัตว์ นอกจากนี้ กฎหมายบางฉบับก็ใช้คำในภาษาอังกฤษโดยแจ้งชัดเลยว่า "zoophillia" แต่บางฉบับก็เลือกใช้คำกำกวม เช่น "sodomy" (การชำเราแบบวิตถาร) หรือ "bestiality" (การชำเราสัตว์) ซึ่งก่อให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่าครอบคลุมการกระทำอย่างใดบ้าง

กฎหมายเกี่ยวกับอาการกระสันสัตว์นั้นมักมีปัจจัยมาจากพฤติการณ์เฉพาะบางพฤติการณ์ ที่ผ่านมา กฎหมายเกี่ยวกับการชำเราสัตว์ (bestiality) นั้นตราขึ้นเพราะเชื่อว่า มนุษย์ร่วมประเวณีกับสัตว์อาจก่อให้เกิดบุตรที่เป็นอสุรกาย อันจะนำพาความอับอายอดสูมาสู่ชุมชน แต่ปัจจุบัน กฎหมายป้องกันและปราบปรามการชำเราสัตว์นั้นมุ่งจำกัดการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานของชุมชนมากกว่า มุมมองที่โดดเด่นในการตรากฎหมายนั้นปรากฏในประเทศสวีเดนเมื่อ ค.ศ. 2005 เนื่องจากรัฐบาลเป็นกังวลเพราะปรากฏการทารุณม้า (horse-ripping) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานสวัสดิการสัตว์ (Animal Welfare Agency) จึงสอบสวนแล้วรายงานว่า สำนักงานเชื่อว่า กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทารุณสัตว์ในปัจจุบันนั้นยังไม่พอจะพิทักษ์สัตว์และจำต้องปรับปรุง แต่ก็เห็นว่า ยังไม่สมควรจะห้ามการกระทำใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์เมื่อ ค.ศ. 1898 นั้น มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติอาญาเพื่อยกเลิกความผิดฐานชำเราสัตว์ และให้ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตแทน แต่ร่างพระราชบัญญัตินี้ตกไป และตามกฎหมายปัจจุบัน คือ มาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติอาญา ค.ศ. 1961 (Crimes Act 1961) บุคคลอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ถ้าใช้สัตว์ในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ทางเพศ และความผิดนี้ถือว่าสำเร็จเมื่อมีการล่วงล้ำ (penetration) เข้าไปในอวัยวะเพศสัตว์

ในอดีต บางท้องที่มีกฎหมายห้ามมนุษย์เพศผู้ร่วมประเวณีกับสัตว์เดรัจฉานเพศเมีย เช่น อัลปากา (Alpaca) และการสังวาสกับอัลปากายังเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศเปรูอยู่ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น ปรากฏว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 2012 เป็นต้นว่า การร่วมประเวณีกับสัตว์นับเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐจำนวนสามสิบเจ็ดรัฐ กฎหมายระดับรัฐเหล่านี้ส่วนใหญ่ตราขึ้นในช่วง ค.ศ. 1999 ถึง ค.ศ. 2012 นี้เอง ในเมืองอีนัมคลอว์ (Enumclaw) รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ยังเคยมีไร่ปศุสัตว์หลายแห่งเปิดเป็น "โรงค้าประเวณีสัตว์" (animal brothel) แต่เมื่อเกิดคดีชำเราม้าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งชายคนหนึ่งไส้แตกตายในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลชมชนอีนัมคลอว์หลังจากร่วมประเวณีกับม้า สภานิติบัญญัติรัฐวอชิงตันซึ่งเป็นเพียงไม่กี่รัฐที่ยังไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการชำเราสัตว์ จึงตรากฎหมายเช่นนั้นขึ้นโดยไม่ชักช้า กระบวนการนิติบัญญัติใช้เวลาเพียงหกเดือน

ระเบียงภาพ


Новое сообщение