Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
อาหารอินทรีย์
อาหารอินทรีย์ (อังกฤษ: organic food) เป็นผลผลิตจากการทำไร่นาอินทรีย์ ปัจจุบัน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศได้ออกกฎให้ผู้ผลิตต้องมีใบรับรองอาหารอินทรีย์หากต้องการทำตลาดอาหารอินทรีย์ในประเทศของตน โดยมีเงื่อนไขว่า อาหารอินทรีย์ต้องเป็นผลผลิตที่ได้มาตรฐานที่รัฐและองค์กรสากลตั้งขึ้น การผลิตอาหารอินทรีย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด และแตกต่างกับการซื้อขายโดยตรงระหว่างชาวสวนกับผู้บริโภค
แม้ว่ามาตรฐานของคำว่า "อินทรีย์" (organic) จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปแล้ว การทำไร่นาอินทรีย์หมายถึง การทำไร่นาในสถานที่ที่กำหนดและการเพาะปลูกที่มีเงื่อนไขสนับสนุนให้เกิดการผสมผสานกระบวนการทางวัฒนธรรม ชีวภาพ และกลภาพที่จะดูแลวัฏจักรการหมุนเวียนของทรัพยากรให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและรักษาความหลากหลายทางชีววิทยา โดยไม่อนุญาตให้มีการใช้ยาฆ่าแมลงแบบสังเคราะห์และปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตาม ยาฆ่าแมลงที่ผลิตจากผลผลิตทางธรรมชาติบางชนิดอาจยอมรับได้หากถูกนำมาใช้งานภายใต้ข้อยกเว้นแต่ในจำนวนไม่มากนัก โดยทั่วไป อาหารอินทรีย์ต้องเป็นอาหารที่ไม่มีการฉายรังสี ใช้สารเคมี หรือใช้วัตถุเจือปนอาหารทางเคมี
มีหลักฐานมากพอที่จะยืนยันได้ว่า อาหารอินทรีย์มีความปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าอาหารธรรมดาทั่วไป สำหรับคำอ้างว่า อาหารอินทรีย์มีรสชาติดีกว่านั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับ
ความหมายและที่มาของคำ
หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้ว สามารถกล่าวได้ว่า การทำเกษตรกรรมที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการตามธรรมชาติมาโดยตลอด โดยเริ่มจากคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาเท่านั้น ที่เริ่มมีการนำสารเคมีจำนวนมากมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การทำไร่นาตามธรรมชาติที่เรียกว่า ไร่นาอินทรีย์ได้รุ่งเรืองขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1940 เป็นต้นมา จากการตอบรับกับอุตสาหกรรมการเพาะปลูกที่รู้จักกันในนามว่า การปฏิวัติสีเขียว
ในปี 1939 ลอร์ดนอร์ทบอร์น บัญญัติคำว่า การทำไร่นาอินทรีย์ ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Look to the Land (1940) จากมุมมองที่ว่า "ไร่นาคือระบบของสิ่งมีชีวิต" เป็นการอธิบายถึงภาพรวมของการทำไร่นาแบบรักษาความสมดุลทางชีววิทยา—ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาเรียกว่า การทำไร่นาโดยใช้สารเคมี ซึ่งต้องพึ่งพา "การนำเข้าปุ๋ย" และ "ไม่สามารถสร้างความพอเพียงในตัวเองหรือองค์รวมของอินทรีย์" ซึ่งสิ่งนั้นทำให้เกิดความแตกต่างจากสิ่งที่วิทยาศาสตร์ใช้คำว่า "อินทรีย์" ที่หมายถึง กลุ่มโมเลกุลที่มีคาร์บอนโดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับสารเคมีพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ในกลุ่มโมเลกุลนี้รวมทุกอย่างที่เสมือนว่าจะกินได้ รวมถึงยาฆ่าแมลงและสารพิษส่วนใหญ่ด้วย ดังนั้น การใช้คำว่า "organic" (อินทรีย์) และคำว่า "inorganic" (อนินทรีย์ ซึ่งบางครั้งได้ถูกนำมาใช้อย่างผิด ๆ ว่าเป็นคำตรงกันข้ามของ อินทรีย์ ในสื่อทั่วไป) เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทางเทคนิคและไม่เหมาะสมโดยสิ้นเชิงในการกล่าวถึงการทำไร่นา การผลิตอาหาร และในเรื่องของอาหารเอง
ผู้บริโภคที่สนใจในอาหารอินทรีย์ในยุคแรกมองหาอาหารที่ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง อาหารที่สดหรือผ่านการกระบวนการแปรรูปแต่น้อย โดยส่วนใหญ่มักจะหาซื้อโดยตรงจากเกษตรกร ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 2009 "รู้จักผู้ปลูก รู้จักอาหารที่คุณบริโภค" (Know your farmer, know your food) กลายมาเป็นคำขวัญของแผนงานใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา คำนิยามของแต่ละคนสำหรับคำว่า "อินทรีย์" พัฒนามาจากประสบการณ์ตรง จากการพูดคุยกับชาวไร่ชาวนา การไปตรวจดูสภาพไร่นา และการทำสวนโดยตรง สวนขนาดเล็กปลูกผัก (และเลี้ยงสัตว์) โดยใช้การทำสวนอินทรีย์โดยมีผู้บริโภคเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ว่าจะมีหนังสือรับรองหรือไม่ก็ตาม
ร้านอาหารสุขภาพขนาดเล็กและร้านสหกรณ์มีบทบาทที่จะทำให้อาหารอินทรีย์เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดลักษณะการขายจำนวนมากผ่านร้านค้าขนาดใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต แทนที่การซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน ไม่ได้มีการจำกัดขนาดของไร่นาอินทรีย์ และในไร่นาขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทในหลายแห่งได้มีการจัดตั้งฝ่ายอินทรีย์ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารอินทรีย์ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตไม่สามารถที่จะได้เห็นกระบวนการผลิตโดยตรงได้โดยง่าน และป้ายสินค้า "รับประกันว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์" ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของรัฐบาลและผู้ตรวจสอบคุณภาพที่เป็นบุคคลที่สาม
ความหมายตามกฎหมาย
การผลิตอาหารอินทรีย์เป็นภาคการผลิตที่มีการตั้งกฎดูแลตัวเองโดยมีรัฐบาลคอยควบคุมในบางประเทศแตกต่างจากการทำสวนส่วนตัว ปัจจุบัน ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศกำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีใบรับรองอาหารอินทรีย์ตามเงื่อนไขและมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดในการที่จะทำการตลาดอาหารอินทรีย์ในประเทศนั้น ๆ ในบริบทของกฎเหล่านั้น อาหารที่นำมาขายจะต้องผลิตตามมาตรฐานอาหารอินทรีย์ที่รัฐบาลและองค์กรการค้าอาหารอินทรีย์สากลเป็นผู้กำหนด
ในสหรัฐอเมริกา การผลิตอาหารอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่มีต้องมีการจัดการตามกฎหมายการผลิตอาหารอินทรีย์ (OFPA) และกฎข้อ 7 ส่วนที่ 205 ตามประมวลกฎหมายแห่งชาติที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเงื่อนไขเฉพาะ โดยการมองแบบบูรณาการทั้งทางวัฒนธรรม ชีวภาพ และกลภาพ เพื่อดูแลวงจรทรัพยากร เสริมสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ หากมีการเลี้ยงสัตว์ด้วย สัตว์ที่เลี้ยงต้องถูกเลี้ยงดูในทุ่งหญ้าและไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นกิจวัตร หรือมีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโต
อาหารอินทรีย์แปรรูปต้องประกอบด้วยวัตถุดิบอินทรีย์เท่านั้น หรือไม่ก็ต้องมีสัดส่วนตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ กำหนด เช่น ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลียมีการกำหนดว่า 95% ของส่วนประกอบต้องเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ อาหารอินทรีย์ต้องไม่มีสารสังเคราะห์สารเสริม, และมักจะผ่านการแปรรูปแต่น้อยทั้งทางด้านกระบวนการ วัตถุดิบ และสภาวการณ์ ตัวอย่างกระบวนการที่กล่าวถึง เช่น การใช้สารเคมีควบคุมการสุก การฉายรังสีอาหาร และการใช้วัตถุดิบที่มีการดัดแปรพันธุกรรม สามารถใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ไปเป็นสารสังเคราะห์ได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรฐานอาหารอินทรีย์ของสหรัฐ ถ้าแมลงศัตรูพืชและวัชพืชบางชนิดที่ไม่สามารถถูกจัดการได้จากกระบวนการผลิต หรือด้วยสารกำจัดศัตรูพืชจากวัตถุทางธรรมชาติหรือสมุนไพรได้ "สารสังเคราะห์ที่มีรายนามอยู่ในรายการแห่งชาติ ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารอินทรีย์ สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือควบคุมศัตรูพืช วัชพืช หรือโรคได้" มีหลายกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการกำหนดมาตรฐานอินทรีย์ในการห้ามการใช้นาโนเทคโนโลยีบนพื้นฐานหลักการระวังไว้ก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ยังไม่รู้ของนาโนเทคโนโลยี่ มีการกำหนดข้อห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอาหารอินทรีย์ในบางประเทศ เช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย แต่ไม่มีการกำหนดไว้ในประเทศอื่น ๆ
มีการแบ่งฉลากอาหารอินทรีย์เป็น 4 ระดับหรือหมวดหมู่
- "อินทรีย์ 100%" หมายถึง ส่วนประกอบทั้งหมดถูกผลิตจากธรรมชาติ บางครั้งอาจได้ตรารับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา
- "อินทรีย์: อย่างน้อย 95%" ของส่วนผสมมาจากธรรมชาติ
- "ผลิตจากส่วนผสมอินทรีย์" ประกอบด้วยส่วนผสมทางธรรมชาติอย่างน้อย 75%
- "ประกอบด้วยส่วนผสมอินทรีย์น้อยกว่า 70%" หมายถึง ต้องมีส่วนผสม 3 อย่างที่เป็นอินทรีย์แจ้งไว้ในส่วนที่แสดงส่วนผสมในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้น
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองว่าเป็นอินทรีย์จะต้องปลูกและผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศที่ผลิตภัณฑ์นั้นจะนำไปขายได้ตั้งไว้
- ออสเตรเลีย : NASAA Organic Standard
- แคนาดา :
- สหภาพยุโรป : EU-Eco-regulation
- สวีเดน : KRAV
- สหราชอาณาจักร : DEFRA
- โปแลนด์ : Association of Polish Ecology
- นอร์เวย์ : Debio Organic certification
- อินเดีย : NPOP, (National Program for Organic Production)
- อินโดนีเซีย : BIOCert, run by Agricultural Ministry of Indonesia.
- ญี่ปุ่น : JAS Standards
- สหรัฐอเมริกา : National Organic Program (NOP) Standards
กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกามีการตรวจไร่นาที่ผลิตอาหารที่มีการติดฉลากอินทรีย์ของกระทรวงเป็นประจำ ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 2010 กรมวิชาการเกษตรสหรัฐอเมริกาแจ้งว่า ได้มีการเริ่มบังคับใช้กฎการตรวจสอบอาหารอินทรีย์ที่พบเห็นอย่างไม่บอกล่วงหน้าเพื่อค้นหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างหลังจากที่ผู้ตรวจสอบพบว่า มีประเด็นเรื่องการควบคุมที่ต่ำกว่ามาตรฐานของภาครัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์
การรับรู้ของภาคประชาชน
ภาคอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ได้มีการทำประชาสัมพันธ์จนเกิดความเชื่อกันอย่างกว้างขวางในหมู่สาธารณชนว่า อาหารอินทรีย์มีความปลอดภัยกว่า มีคุณค่าทางอาหารมากกว่า และมีรสชาติมากกว่าอาหารทั่วไป ความเชื่อนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการอาหารอินทรีย์เพิ่มขึ้นแม้จะมีราคาสูงและขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ผลกระทบทางจิตวิทยา เช่น ผลราศี (halo effect) หรือกระบวนการคิดเชิงเทิดทูนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกและการบริโภคอาหารอินทรีย์ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญในการซื้ออาหารอินทรีย์ ตัวอย่างของกระบวนการคิดเชิงเทิดทูนถูกอธิบายด้วยการศึกษาของ Schuldt และ Schwarz รายงานผลแสดงว่านักศึกษามหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการสำรวจ มักจะเหมาเอาว่าคุกกี้อินทรีย์แคลอรีต่ำและสามารถรับประทานได้บ่อยกว่าคุกกี้ธรรมดา ผลการสำรวจนี้เป็นที่สังเกตได้แม้ฉลากโภชนาการแสดงแคลอรีที่เท่ากันก็ตาม ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นกับผู้ที่เข้าร่วมสำรวจที่ชื่นชมการผลิตอินทรีย์และมีความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สรุปคือ มีความเชื่อโดยทั่วไปว่า อาหารอินทรีย์มีแคลอรีต่ำและดีต่อสุขภาพ
ได้เกิดความต้องการอาหารอินทรีย์ทุกประเภทขึ้นในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์นม อาหารเด็ก และเด็กอ่อนที่ถูก "กระตุ้นโดยข่าวน่ากลัวเกี่ยวกับอาหารที่มีมาเป็นระยะ ๆ ที่เลวร้ายที่สุดคือการตายของเด็กหกคนที่ได้บริโภคสูตรอาหารทารกเจือด้วยเมลามีน" ใน ค.ศ. 2009 และเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนมสำหรับเด็กใน ค.ศ. 2008 ทำให้ตลาดนมอินทรีย์สำหรับเด็กในจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 2014 ผลการวิจัยใน ค.ศ. 2012 ของศูนย์วิจัย Pew ชี้ให้เห็นว่า 41% ของผู้บริโภคชาวจีนคิดว่า ความปลอดภัยของอาหารเป็นปัญหาใหญ่มาก โดยเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 12% ใน ค.ศ. 2008
รสชาติ
มีการวิจารณ์สรุปใน ค.ศ. 2002 ว่า จากการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์ "ถึงแม้จะมีหลายรายงานที่แสดงให้เห็นว่า ผักผลไม้อินทรีย์มีความแตกต่างกับผักผลไม้ทั่วไปโดยคุณภาพด้านการรับความรู้สึก (sensory qualities) แต่ผลของการศึกษายังไม่ชัดเจน" มีหลักฐานว่า ผลไม้อินทรีย์บางชนิดจะมีความแห้งมากกว่าผลไม้ที่ปลูกทั่วไป ซึ่งการที่ผลไม้แห้งกว่าอาจทำให้มีรสชาติขึ้นจากความเข้มข้นที่มากกว่าของสารที่ให้รสชาติที่อยู่ในผลไม้
อาหารบางอย่าง เช่น กล้วย จะถูกเก็บขณะที่ยังดิบอยู่ แล้วจึงถูกกระตุ้นให้สุกโดยใช้สารเคมี เช่น โพรพิลีนหรือเอทิลีน) ในระหว่างการขนส่ง จึงอยากทำให้เกิดรสชาติที่แตกต่างไป มีการโต้แย้งกันเรื่องการใช้เอทิลีนในการผลิตอาหารอินทรีย์ โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า การใช้เอทิลีนเพียงเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่ และจะทำให้มาตรฐานอาหารอินทรีย์อ่อนแอลง weaker organic standards.
ข้อแตกต่างในส่วนประกอบทางเคมีของอาหารอินทรีย์กับอาหารที่ปลูกทั่วไป
ในส่วนข้อแตกต่างในโครงสร้างทางเคมีของอาหารอินทรีย์กับอาหารที่ปลูกทั่วไป ได้มีการศึกษาหลายครั้งเพื่อตรวจสอบความแตกต่างทางสารอาหาร, สารต้านโภชนาการ และสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้าง การศึกษาเหล่านั้นมักจะพบกับความยากลำบากจากความซับซ้อนของตัวแปร และความยากที่จะลงความเห็นจากความแตกต่างในการทดสอบที่ทำ กรรมวิธีในการทดสอบ และความหลากหลายทางการเกษตรที่มีผลต่อส่วนประกอบทางเคมีของอาหาร ตัวแปรที่ว่านี้ รวมถึงความแตกต่างของสภาพอากาศในแต่ละฤดูและในที่แต่ละที่ การบำรุงรักษาพืชผล (ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น) ส่วนประกอบของดิน พันธุ์ที่ปลูก และในส่วนของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ตัวแปรที่เกิดขึ้นด้วยเสมอในช่วงการผลิตคือ กรรมวิธีการดูแลรักษาหลังจากการเก็บในช่วงแรกไม่ว่านมจะเป็นนมดิบหรือนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบปัสเตอร์ ช่วงเวลาระหว่างการเก็บเกี่ยวกับการทำการวิเคราะห์ รวมถึงวิธีการขนส่งและเก็บรักษา ย่อมมีผลต่อส่วนประกอบทางเคมีของอาหารนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่า อาหารอินทรีย์มีความแห้งกว่าผลิตภัณฑ์ที่ปลูกโดยวิธีการทั่วไป ส่วนประกอบทางเคมีที่สูงกว่าอาจจะสามารถอธิบายได้ในเชิงความเข้มข้นที่มากกว่า ไม่ใช่ด้วยปริมาณสุทธิ
สารอาหาร
การวิจัยในปี ค.ศ. 2012 ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณวิตามินในผลิตภัณฑ์พืชหรือสัตว์ระหว่างแบบอินทรีย์กับแบบทั่วไป และพบว่า มีความแตกต่างของผลในการศึกษาแต่ละครั้ง การศึกษาผลิตภัณฑ์มีรายงานเรื่องปริมาณกรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี) (การศึกษา 31 ครั้ง), บีตา-แคโรทีน (สารตั้งต้นของวิตามินเอ) (ในการศึกษา 12 ครั้ง), และอัลฟา-โทโคฟีรอล (รูปแบบหนึ่งของวิตามินอี) (ในการศึกษา 5 ครั้ง) การศึกษาเรื่องนมมีรายงานเรื่องบีตา-แคโรทีน (ในการศึกษา 4 ครั้ง) และระดับอัลฟา-โทโคฟีรอล (ในการศึกษา 4 ครั้ง) มีการศึกษา 2-3 ครั้งเพื่อตรวจสอบปริมาณวิตามินในเนื้อสัตว์ แต่ไม่พบความแตกต่างของบีตา-แคโรทีนในเนื้อวัว อัลฟา-โทโคฟีรอลในเนื้อหมูหรือเนื้อวัว หรือวิตามินเอ (เรตินอล) ในเนื้อวัว ในรายงานการศึกษาผลิตภัณฑ์ ผู้เขียนรายงานได้วิเคราะห์สารอาหารอื่น ๆ อีก 11 ชนิด มีสารอาหารแค่ 2 ชนิดที่มีมากกว่าอาหารผลิตทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด คือ ฟอสฟอรัส (ความแตกต่างจากมัธยฐาน 0.15 mg/kg [ความแตกต่างระดับล่าง −18 mg/kg; maximum ความแตกต่างระดับบน 530 mg/kg]) และฟีนอลส์รวม (ความแตกต่างจากมัธยฐาน 31.6 mg/kg [ความแตกต่างระดับล่าง −1700 mg/kg; ความแตกต่างระดับบน 10,480 mg/kg]) ผลของการทดสอบเกี่ยวกับฟอสฟอรัสถือว่าไม่แตกต่างกันในทางสถิติ แต่การไม่รวมการศึกษาหนึ่งฉบับจะลดขนาดผลกระทบโดยรวมและแสดงผลว่าขนาดผลกระทบไม่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติ สิ่งที่พบเกี่ยวกับพีนอลส์รวมยังไม่ความแตกต่างกันในทางสถิติ และไม่มีนัยสำคัญในทางสถิติเมื่อการศึกษา 2 ฉบับไม่ได้รายงานว่าขนาดตัวอย่างได้ถูกถอดออก ไม่มีการศึกษามากพอที่จะสรุปเกี่ยวกับสารอาหารอื่น ๆ ที่จะมีผลให้สามารถคำนวณได้ ผู้เขียนยังได้เจอว่า ในการศึกษาบางฉบับเกี่ยวกับนม หากมีการศึกษาเกี่ยวกับ น้ำนมดิบมีการกล่าวว่า น้ำนมดิบอินทรีย์อาจให้กรดไขมันโอเมกา-3 (ความแตกต่างจากมัธยฐาน 0.5 g/100 g [ความแตกต่างระดับล่าง 0.23 g/100 g; ความแตกต่างระดับบน 4.5 g/100 g]) และกรดแวกซีนิก (ความแตกต่างจากมัธยฐาน 0.26 g/100 g [ความแตกต่างระดับล่าง 0.11 g/100 g; ความแตกต่างระดับบน 3.1 g/100 g]) มากกว่าอย่างมีนัยยะเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำนมดิบทั่ว ๆ ไป
เช่นเดียวกับ เนื้อไก่อินทรีย์จะมีปริมาณกรดโอเมกา 3 มากกว่าเนื้อไก่ที่เลี้ยงทั่วไป (ความแตกต่างจากมัธยฐาน 1.99 g/100 g [ความแตกต่างระดับล่าง 0.94 g/100 g; ความแตกต่างระดับบน 17.9 g/100 g]) ผู้เขียนไม่พบความแตกต่างของปริมาณโปรตีนหรือไขมันระหว่างน้ำนมดิบอินทรีย์กับน้ำนมดิบทั่วไป มีการค้นพบความแตกต่างเล็กน้อยของกรดแอสคอร์บิก โปรตีนเข้มข้นและแร่ธาตุอาหารหลายอย่างระหว่างอาหารอินทรีย์กับอาหารทั่วไป
การศึกษาในปี ค.ศ. 2003 พบว่า ปริมาณฟีโนลิกรวมในแมเรียนเบอร์รี สตรอเบอร์รี และข้าวโพดที่ปลูกโดยวิธีอินทรีย์มีมากกว่าผลิตผลที่ปลูกโดยกรรมวิธีทั่ว ๆ ไปในชนิดเดียวกัน
สารต้านโภชนาการ
พบว่า ไนโตรเจนในผักบางชนิดโดยเฉพาะผักใบที่มีสีเขียวและพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดินทั้งหลายจะมีปริมาณน้อยกว่าหากปลูกแบบอินทรีย์โดยเปรียบเทียบกับผักที่ปลูกทั่วไป เมื่อมีการประเมินสารพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนัก กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้บันทึกไว้ว่าไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบอินทรีย์อาจจะมีระดับสารหนู ในขณะที่งานเขียนวิจารณ์ไม่พบหลักฐานบ่งบอกเด่นชัดว่าถึงความแตกต่างในระดับของสารหนู แคดเมี่ยมหรือโลหะหนักระหว่างผลิตภัณฑ์อินทรีย์กับผลิตภัณฑ์ทั่วไป
สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง
การวิเคราะห์อภิมานในปี ค.ศ. 2012 ได้มีข้อสรุปว่า พบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างใน 7% ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์อินทรีย์และ 38% ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั่วไป ผลสรุปยังมีความแตกต่างกันในทางสถิติอาจจะเป็นเพราะความแตกต่างในระดับการตรวจพบในการศึกษาเหล่านั้น มีเพียงการศึกษา 3 ฉบับที่รายงานผลการปนเปื้อนที่เกินค่าสูงสุดที่อนุญาต ทั้ง 3 มาจากสหภาพยุโรป สมาคมมะเร็งอเมริกาได้กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานแสดงว่า สารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง
สถาบันคุ้มครองสิ่งแวดล้อม : สถาบันคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ได้ออกแนวทางอย่างเข้มงวดเรื่องการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืช อีพีเอได้ออกกฎควบคุมปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิดโดยการตั้งค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ ค่านี้จะกำหนด ค่าสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ยอมรับได้ในอาหารแต่ละชนิด ค่าที่ตั้งนี้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและการเกินต้องน้อยกว่าร้อยละ 1 ของเวลานั้น
การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย
การวิเคราะห์อภิมานในปี ค.ศ. 2012 ได้มีข้อสรุปว่า การแพร่หลายของการปนเปื้อนของเชื้อ อี. โคไลไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ (7% ในผลผลิตอินทรีย์และ 6% ในผลผลิตทั่วไป) จาก 4 ใน 5 รายงานการศึกษาพบความเสี่ยงในการปนเปื้อนที่สูงกว่าในผลผลิตอินทรีย์ หากผู้เขียนไม่รวมการศึกษาฉบับหนึ่งเกี่ยวกับผักกาดหอมที่พบการปนเปื้อนมากกว่าในผลผลิตทั่วไปออก จะพบว่า ผลผลิตอินทรีย์มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนมากกว่าผลผลิตทั่วไปอยู่ 5% ในขนาดที่การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในผลิตผลจากสัตว์ทั้งที่เป็นอินทรีย์และผลผลิตทั่ว ๆ ไปถือเป็นเรื่องปกติ ในทางสถิติ ถือว่าไม่มีความแตกต่างอย่างเป็นนัยยะในเรื่องการปนเปื้อนระหว่างผลผลิตจากสัตว์ทั้งอินทรีย์และทั่วไป
ข้อบังคับในการผลิตเนื้อสัตว์อินทรีย์
การรับรองเนื้อสัตว์อินทรีย์ในสหรัฐอเมริกาเป็นการรับรองว่า สัตว์ในไร่นานั้นผ่านกฎเกณฑ์การผลิตอาหารอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา กฎเกณฑ์ควบคุมเหล่านี้รวมไปถึงการที่สัตว์เหล่านี้จะถูกเลี้ยงดูด้วยอาหารอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองและไม่มีของที่เหลือจากสัตว์ นอกจากนี้ สัตว์ที่ถูกเลี้ยงในไร่นาอินทรีย์ต้องไม่ได้รับฮอร์โมนเร่งการเติบโตหรือยาปฏิชีวนะ สัตว์เหล่านี้ยังต้องถูกเลี้ยงดูด้วยกระบวนการที่ปกป้องสายพันธุ์พื้นบ้านและทรัพยากรทางธรรมชาติอื่น ๆ ไม่อนุญาตให้มีการฉายรังสี การใช้กากตะกอนน้ำเสียของมนุษย์ และวิศวพันธุกรรมในกระบวนการปศุสัตว์อินทรีย์
สุขภาพและความปลอดภัย
ผลต่อสุขภาพของโภชนาการอาหารอินทรีย์
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องประโยชน์หรือโทษต่อสุขภาพของผู้บริโภคอาหารอินทรีย์เป็นหลัก และการที่จะจัดทำการทดลองอย่างจริงจังในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก การวิเคราะห์อนุมานในปี ค.ศ. 2012 ได้กล่าวไว้ว่า "ไม่มีการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับผลต่อสุขภาพของประชากรที่บริโภคอาหารอินทรีย์เป็นหลักเปรียบเทียบกับกับอาหารที่ผลิตทั่วไปควบคุมสำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาดังกล่าวจะมีราคาแพงในการจัดทำ" การวิเคราะห์อนุมานในปี ค.ศ. 2009 ได้กล่าวไว้ว่า "บทความส่วนใหญ่ไม่ได้มีการศึกษาถึงผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ ใน 10 บทความของการศึกษาที่รวมอยู่นี้ (83%) ผลเบื้องต้นกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสารต้านอนุมูลอิสระ สภาวะสารต้านอนุมูลอิสระและสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่มีประโยชน์แต่ไม่สามารถมาแปลค่าโดยตรงกับผลทางสุขภาพ อีกสองบทความที่เหลือ มีบทความหนึ่งได้วัดผลความเชื่อมโยงเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ว่าเป็นผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพที่พบขั้นต้น ในขณะที่อีกบทความได้วิจัยเกี่ยวกับกรดไขมันที่เป็นส่วนประกอบจากน้ำนมจากมารดาและ บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่ทารกที่ดื่มน้ำนมจากมารดาจะมีสุขภาพดีกว่าจากปริมาณการบริโภคกรดไลโนเลอิกจากนมมารดา" นอกจากนี้ ความยากในการวัดค่าความแตกต่างทางเคมีอย่างถูกต้องและเป็นนัยยะระหว่างอาหารอินทรีย์กับอาหารทั่วไปยังทำให้เป็นการยากที่จะสรุปการแนะนำเกี่ยวกับผลทางสุขภาพบนพื้นฐานจากการวิเคราะห์ทางเคมีเท่านั้น
ในปี ค.ศ. 2012 มีความเห็นทางวิทยาศาสตร์ไปในทางเดียวกันว่า ขณะที่ "ผู้บริโภคอาจจะเลือกที่จะซื้อผักผลไม้และเนื้อสัตว์อินทรีย์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสินค้านั้นมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารอย่างอื่น...แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความเชื่อนั้น" มีบทวิเคราะห์ 12 เดือนอย่างเป็นระบบสรุปโดย FSA ในปี ค.ศ. 2009 ที่ได้จัดทำขึ้นที่ London School of Hygiene & Tropical Medicine อ้างถึงการเก็บรวบรวมหลักฐานที่มีมากว่า 50 ปีได้สรุปว่า "ไม่มีการพบหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่า การบริโภคอาหารอินทรีย์มีประโยชน์กับสุขภาพในแง่ของปริมาณสารอาหาร " ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในบทความทางวิทยาศาสตร์ว่าระดับไนโตรเจนที่น้อยกว่าในผักอินทรีย์บางชนิดจะมีผลในการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ
ความปลอดภัยของผู้บริโภค
ความเสี่ยงจากการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช
การกล่าวอ้างในเรื่องความปลอดภัยที่ดีกว่าของอาหารอินทรีย์มักจะมุ่งเน้นในเรื่องสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ความกังวลในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความจริงที่ว่า " (1) การได้รับสารกำจัดศัตรูพืชในจำนวนมากอย่างเฉียบพลันสามารถทำให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างมากต่อสุขภาพ (2) ผลิตภัณฑ์อาหารมีโอกาสที่จะมีสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนได้ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเป็นพิษอย่างเฉียบพลัน และ (3) มักจะเจอสารกำจัดศัตรูพืชจากการเกษตรตกค้างในอาหารที่ขายอยู่ทั่วไปในเชิงพาณิชย์" อย่างไรก็ตาม มักจะมีการตั้งข้อสังเกตในเอกสารายงานทางวิทยาศาสตร์ว่า "สิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามนี้ คือ การติดต่อสัมผัสกับสารกำจัดศัตรูอย่างต่อเนื่องซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นพิษพบได้ในรายงานผลของอาหาร ในทางปฏิบัติถือว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาและแสดงผลที่วัดได้ในเชิงปริมาณ" ดังนั้น การสรุปอย่างแน่ชัดเกี่ยวดับเรื่องความปลอดภัยของอาหารอินทรีย์เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากความยากในการออกแบบการทดสอบศึกษาและจำนวนการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างอาหารอินทรีย์กับอาหารทั่วไปโดยตรงยังถือว่ามีน้อย
นอกจากนี้ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเกิดมะเร็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายฐานข้อมูลการแพร่กระจายความเป็นพิษที่มีโครงสร้างที่ค้นหาได้ (DSSTox) ของEPAในประเทศสหรัฐอเมริกา, ได้มีการทำการทดสอบอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งทั้งในธรรมชาติและที่สังเคราะห์ขึ้น และยังได้สร้างฐานข้อมูลผลการทะสอบเปิดเผยกับสาธารณชนมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว รายงานมีความพยายามที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาตร์เรื่อง สารเคมีทั้งหมดที่ทำให้เกิดมะเร็งทั้งในธรรมชาติและที่สังเคราะห์ขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินโครงการที่อธิบายไว้ในวารสาร วิทยาศาสตร์ในปี ค.ศ. 1992:
การตรวจสอบพิษวิทยาของสารเคมีสังเคราะห์โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเช่นเดียวกันกับสารเคมีในธรรมชาติไม่ได้ให้ผลที่เท่าเทียมกันในเชิงข้อมูลและการรับรู้เรื่องสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ในสามประเด็นที่ได้มีการพิจารณาชี้ให้เห็นว่า การเปรียบเทียบน่าจะมีการทดสอบกับสารเคมีในธรรมชาติเช่นเดียวกัน
1) สารเคมีจำนวนมากที่คนเราสัมผัสมีอยู่ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักจะคิดถึงสารเคมีในกรณีเป็นสารสังเคราะห์ และคิดว่าสารเคมีสังเคราะห์เป็นพิษ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงสารเคมีในธรรมชาติก็เป็นพิษถ้าบริโภคในปริมาณที่ทำให้เกิดผล ค่าเฉลี่ยในการสัมผัสของคนอเมริกาที่จะเผาผลาญสสารในอาหารเท่ากับ ~2000 mg ต่อวัน และการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชธรรมชาติ (สารเคมีที่พืชผลิตเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู) เท่ากับ ~1500 mg ต่อวัน เปรียบเทียบกับ ค่ารวมเฉลี่ยต่อวันในการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชสงเคราะห์ตกค้างรวมกันเท่ากับ ~0.09 mg. ดังนั้น เราประมาณว่า 99.99% ของสารกำจัดศัตรูพืชที่เรารับประทานมาจากธรรมชาติ แม้ว่ามีการสัมผัสกับสารเคมีธรรมชาติมีจำนวนมากกว่าสารเคมีสังเคราะห์อย่างเห็นได้ชัด แต่ในการทดสอบสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในหนู ได้มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ (ที่ไม่ได้เป็นสารเคมีธรรมชาติ) ถึง 79% (378 จาก 479 ชนิด)
2) มักจะมีการสันนิษฐานอย่างผิด ๆ ว่า คนเรามีการพัฒนาการป้องกันพิษจากสารเคมีธรรมชาติในอาหาร แต่ไม่สามารถป้องกันสารเคมีสังเคราะห์ อย่างไรก็ตามการป้องกันตัวเองในสัตว์ที่ได้พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่กับสารเคมีโดยทั่วไป ไม่ใช่สารเฉพาะเจาะจง ยิ่งไปกว่านั้น การป้องกันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยทั่วไปและมีผลดีกับสารเคมีทั้งสังเคราะห์และธรรมชาติที่มีปริมาณน้อย3) สำหรับด้านพิษวิทยาแล้ว สารเคมีทั้งโดยธรรมชาติและที่สังเคราะห์ขึ้นออกฤทธิ์เหมือนกัน มีการคาดการณ์ (และพบว่า) อัตราบวกของสารก่อมะเร็งในสารเคมีจากธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์มีค่าไล่เลี่ยกัน อัตราบวกในสารเคมีที่ทดสอบในหนูมีค่าประมาณ 50% ดังนั้น จากการที่คนเราได้สัมผัสกับสารเคมีทางธรรมชาติมากมายกว่าสารเคมีสังเคราะห์ (ทั้งโดยน้ำหนักและจำนวน) สรุปได้ว่า คนได้สัมผัสสารก่อมะเร็งที่หนูมากมายมหาศาลเป็นพื้นเดิมจากที่พบได้จากการทดสอบบนหนูโดยใช้ปริมาณที่สูงในการทดสอบ ผลแสดงว่า ถึงแม้จะพบสารกำจัดศัตรูพืชธรรมชาติในจำนวนน้อยแค่ไหนก็ตาม มี 29 ที่เป็นสารก่อมะเร็งที่หนูในจำนวน 57 ที่ถูกตรวจสอบเกิดขึ้นในอาหารที่ปลูกแบบปกติมากกว่า 50 ชนิด สรุปว่า มีความเป็นไปได้ว่า ผักและผลไม้เกือบทุกชนิดในตลาดมีสารกำจัดศัตรูพืชธรรมชาติที่เป็นสารก่อมะเร็งที่หนู
ในขณะที่การศึกษาวิเคราะห์ทางเคมีได้แสดงผลที่กล่าวข้างบนว่า ผักและผลไม้ที่ปลูกแบบอินทรีย์มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในระดับที่น้อยกว่า ความสำคัญของการค้นพบเรื่อง ความเสี่ยงทางสุขภาพที่น้อยกว่าในอาหารอินทรีย์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เพราะ ทั้งอาหารทั่ว ๆ ไปและอาหารอินทรีย์โดยทั่วไปก็มีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางภาครัฐกำหนดไว้ว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย มุมมองนี้ได้รับเสียงสะท้อนมาจากกรมวิชาการเกษตรสหรัฐอเมริกา และสำนักงานมาตรฐานอาหารของสหราชอาณาจักร
การศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสภาการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1993 สรุปว่า แหล่งที่มาของการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชของทารกและเด็กส่วนใหญ่ผ่านทางอาหาร จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2006 โดยลูและคณะ มีการวัดระดับของการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช organophosphorus ในเด็กนักเรียนจำนวน 23 คน ก่อนและหลังการเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารอินทรีย์ ในการทดลองนี้พบว่าระดับของการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช organophosphorus ลดลงจากระดับเล็กน้อยเป็นระดับที่ไม่สามารถวัดค่าได้เมื่อได้เปลี่ยนให้เด็กมาทานอาหารอินทรีย์แทน ผู้เขียนได้กล่าวว่าการลดนี้เป็นการลดความเสี่ยงอย่างมีนัยยะ ข้อสรุปในข้อเขียนของลูและคณะถูกวิจารณ์ว่าเป็นกรณีศึกษาสำหรับการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่แย่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างถึงสารกำจัดศัตรูตกค้างว่าเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในภาวะมีบุตรยากหรือจำนวนสเปิร์มที่น้อยลงไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานเอกสารทางการแพทย์ใด ๆ เช่นเดียวกันสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ได้กล่าวว่า จุดยืนอย่างเป็นทางการของสมาคม คือ "ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า อาหารอินทรีย์มีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง สืบเนื่องมาจากอาหารเองมีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกปนเปื้อนโดยสารที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็ง" การประเมินได้กล่าวว่า ความเสี่ยงจากแหล่งที่มาทางจุลชีววิทยาหรือพิษโดยธรรมชาติมีความสำคัญมากกว่าความเสี่ยงจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระยะสั้นหรือเฉียบพลัน
การปนเปื้อนทางจุลชีววิทยา
จากการมองหาความเป็นไปได้ในการเพิ่มความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคอาหารอินทรีย์พบว่า ถึงแม้จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการปนเปื้อนทางจุลชีววิทยาจากการใช้ปุ๋ยคอกที่เป็นปุ๋ยจากสิ่งมีชีวิต เช่น จากเชื้อ E. coli O157:H7ในช่วงการผลิตแบบอินทรีย์ มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเรื่องการแพร่ระบาดของโรคที่สามารถกล่าวโทษว่า มาจากกระบวนการผลิตอาหารอินทรีย์ มีการโทษว่า การระบาดครั้งหนึ่งของอี.โคไลในเยอรมันมาจากการทำเกษตรอินทรีย์ของถั่วงอก
เศรษฐศาสตร์
ความต้องการอาหารอินทรีย์ได้รับแรงผลักดันจากความสนใจเรื่องสุขภาพส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ยอดขายทั่วโลกสำหรับอาหารอินทรีย์เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 170 ตั้งแต่ปี 2002 ถึงกว่า 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2011 ในขณะที่พื้นที่ไร่นาอินทรีย์ที่ได้หนังสือรับรองยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ที่น้อยกว่า 2% ของพื้นที่ไร่นาทั้งหมดที่ทำการผลิตอยู่ การเพิ่มขึ้นในประเทศ OECD และ EU (ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของการผลิตอินทรีย์) มีถึง 35% เปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ผลิตภัณฑ์อินทรีย์โดยทั่วไปจะมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันที่ผลิตโดยวิธีปกติ 10-40% หรือบางครั้งเป็นหลายเท่า อาหารอินทรีย์แปรรูปมีราคาที่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับอาหารชนิดเดียวกันที่ผลิตในกระบวนการทั่วไป
ในขณะที่อาหารอินทรีย์มีส่วนแบ่ง 1-2% ในปริมาณการผลิตอาหารรวมทั่วโลก สมาคมการค้าสินค้าอินทรีย์แจ้งว่า ตลาดการขายอาหารอินทรีย์ได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ในช่วงระหว่าง 5-10% ของส่วนแบ่งตลาดอาหารในสหรัฐอเมริกา แซงหน้าปริมาณการเติบโตของยอดขายในรูปสกุลดอลลาร์ของผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
- ยอดขายอาหารอินทรีย์ทั่วโลกกระโดดจาก 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2002 เป็น 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2011
ทวีปเอเชีย
การผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชีย โดยทั้งจีนและอินเดียกลายเป็นผู้ผลิตพืชผลอินทรีย์ระดับโลก และมีหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นก็กลายเป็นผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ที่สำคัญ ความไม่สมดุลระหว่างการผลิตกับความต้องการทำให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์สองขั้น ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์พื้นฐาน เช่น ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อสัตว์จากออสเตรเลีย ยุโรป นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา
ประเทศจีน
ตลาดอาหารอินทรีย์ในประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกศูนย์การพัฒนาอาหารอินทรีย์ของจีนได้ประมาณยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ว่า มีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี ค.ศ. 2013 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30-50% ในปี ค.ศ. 2014
ในขณะที่ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดเนื้ออินทรีย์ที่ใหญ่ด้วยยอดขายที่ 1,350 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2013 มีการคาดว่า ตลาดจีนจะแซงมาเป็นที่ 1 ในปี ค.ศ. 2016
ตลาดจีนเป็นตลาดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมียอดขายอยู่ที่ 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี; จากยอดข้างบนนี้ นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอินทรีย์และอาหารเด็กมียอดอยู่ประมาณ 5.5% ของยอดขายในปี ค.ศ. 2011 ผู้ผลิตนมผงดัดแปลงสำหรับทารกและอาหารทารกอินทรีย์ของออสเตรเลียเบลลามีส์อินทรีย์ได้รายงานยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 70% ทุกปีในช่วงปี ค.ศ. 2008-2013 ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรโคนมอินทรีย์ของออสเตรเลียได้รายงานยอดส่งออกน้ำนมอินทรีย์ไปยังจีนว่า เพิ่มขึ้น 20-30% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ทวีปอเมริกาเหนือ
-
สหรัฐอเมริกา
- ในปี ค.ศ. 2012 มูลค่าตลาดรวมของอาหารอินทรีย์ในสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากมูลค่าตลาดรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์และธรรมชาติที่ประมาณ 81,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- อาหารอินทรีย์เป็นภาคที่มีการเจริญเติบโตสุงที่สุดในอุตสาหกรรมอาหารของอเมริกา
- ยอดขายอาหารอินทรีย์เพิ่มขึ้นปีละ 17-20% ต่อปีในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในขณะที่ยอดขายของอาหารทั่วไปเติบโตแค่ปีละ 2–3% ตลาดอาหารอินทรีย์เติบโตที่ 9.5% ในปี ค.ศ. 2011 ทะลุหลัก 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก และยังคงมียอดขายที่เติบโตแซงหน้าอาหารที่ไม่ใช่อินทรีย์อื่น ๆ
- ในปี ค.ศ. 2003 มีอาหารอินทรีย์จำหน่ายอยู่ในร้านอาหารธรรมชาติจำนวนเกือบ 20,000 ที่ และคิดเป็น 73% ของร้านขายของชำทั่วไป
- ในปี ค.ศ. 2003 สองในสามของนมอินทรีย์และครีมและครึ่งหนึ่งของชีสอินทรีย์และโยเกิร์ตเป็นการขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
- ใน ปี ค.ศ. 2012 ผู้ผลิตอาหารอินทรีย์อิสระในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ได้ถูกเข้าซื้อโดยบริษัทข้ามชาติหลายบริษัท
-
แคนาดา
- ในปี ค.ศ. 2006 ยอดขายอาหารอินทรีย์มียอดมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.9% ของยอดขายอาหารในแคนาดา
- ยอดขายอาหารอินทรีย์ในร้านขายของชำเพิ่มขึ้น 28% ในปี ค.ศ. 2006 เมื่อเปรียนเทียบกับปี ค.ศ. 2005.
- รัฐบริติชโคลัมเบียมีประชากรอยู่ 13% ของประชากรแคนาดาทั้งหมด แต่มียอดซื้ออาหารอินทรีย์อยู่ 26% ของยอดขายทั้งหมดในประเทศในปี ค.ศ. 2006
ยุโรป
-
ออสเตรีย
- ในปี ค.ศ. 2011, 7.4% ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของออสเตรีย (รวมร้านขายสินค้าราคาถูก) เป็นอาหารอินทรีย์ ในปี ค.ศ. 2007 มีผลิตภัณฑ์อินทรีย์อยู่ 8,000 ชนิดวางขาย
-
อิตาลี
- เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 2000 มีการบังคับให้ใช้อาหารอินทรีย์บางชนิดในโรงเรียนและโรงพยาบาลบางแห่งในประเทศอิตาลี ในกฎหมายที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 2002 ของแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาที่ถูกบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2005 ได้เขียนอย่างชัดเจนว่า อาหารในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนระดับประถมศึกษา (จาก 3 เดือนถึง 10 ปี) จะต้องเป็นอาหารอินทรีย์ 100% และมื้ออาหารในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจะต้องประกอบด้วยผลิตภัณฑ์อินทรีย์อย่างน้อย 35%
-
โปแลนด์
- ในปี ค.ศ. 2005 ร้อยละ 7 ของผู้บริโภคชาวโปแลนด์ได้ซื้ออาหารที่ถูกผลิตตามระเบียบสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป มูลค่าของตลาดอินทรีย์โดยประมาณอยู่ที่ 50 ล้านเหรียญยูโรในปี ค.ศ. 2006
-
โรมาเนีย
- ในปี ค.ศ. 2010 โรมาเนียมีการส่งออก 70%–80% ของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในประเทศซึ่งมีมูลค่ารวม 100 ล้านเหรียญยูโร ตลาดผลิตภัณฑ์อินทรีย์ได้เติบโตเป็นมูลค่า 50 ล้านเหรียญยูโร ในปี ค.ศ. 2010.
-
ยูเครน
- ในปี ค.ศ. 2009 ยูเครนอยู่ในลำดับที่ 21 ของโลกหากวัดตามพื้นที่การเพาะปลูกอาหารอินทรีย์ โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะถูกส่งออก ทำให้ไม่มีอาหารอินทรีย์เพียงพอสำหรับความต้องการอาหารอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศ ขนาดความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในประเทศยูเครนประมาณแล้วมีมากกว่า 5 ล้านเหรียญยูโร ในปี ค.ศ. 2011 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ผลจากการทำแบบสำรวจหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า ประชากรส่วนใหญ่ในยูเครนยินดีที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้ออาหารอินทรีย์ ในทางตรงข้าม ชาวยูเครนจำนวนมากยังคงมีประเพณีนิยมที่จะทำแปลงสวนครัวของตัวเองซึ่งอาจจะเป็นผลให้การประเมินปริมาณการบริโภคอาหารอินทรีย์ของชาวยูเครนต่ำกว่าความเป็นจริง
- กฎหมายเรื่องการผลิตแบบอินทรีย์ได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาของยูเครนในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 นอกจากจะกล่าวถึงคุณสมบัติโดยทั่วไปสำหรับอาหารอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองแล้ว ยังได้เพิ่มเรื่องการห้ามการใช้กรรมวิธี GMO หรือผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยส่วนผสมที่เป็น GMO อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังไม่ได้รับการลงนามจากประธานาธิบดียูเครน และในเดือนกันยายนของปี ค.ศ. 2011 กฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกโดยสภาสูงสุดของประเทศยูเครน ต่อมา สภาได้ปรับปรุงและผ่านกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการผลิตอาหารอินทรีย์ โดยประธานาธิบดีปอรอแชนกอ ได้ลงนามเมือเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018
-
สหราชอาณาจักร
- ยอดขายอาหารอินทรีย์เพิ่มขึ้นจาก 100 กว่าล้านปอนด์สเตอร์ลิงในปี 1993/1994 เป็น 1,210 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงในปี ค.ศ. 2004 (เพิ่ม 11% ในปี ค.ศ. 2003) ในปี ค.ศ. 2010 ยอดขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตกลง 5.9% อยู่ที่มูลค่า 1.73 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง 86% ของครัวเรือนซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ผลผลิตจากนม (อยู่ที่ 30.5% ของยอดขาย) และผักผลไม้สด (23.2% ของยอดขาย) 4.2% ของพื้นที่ทำไร่นาในสหราชอาณาจักรเป็นไร่นาอินทรีย์
ลาตินอเมริกา
-
คิวบา
- หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ผลิตผลทางการเกษตรที่เคยถูกซื้อจากประเทศค่ายตะวันออกก็ไม่มีจำหน่ายอีกต่อไปในประเทศคิวบา ทำให้ไร่นาในคิวบาหลาย ๆ แห่งได้เป็นตัวเองเป็นการทำไร่นาอินทรีย์เพราะความจำเป็น เป็นผลให้เกษตรอินทรีย์เป็นแนวปฏิบัติหลักในประเทศคิวบา ทั้ง ๆ ที่ในประเทศอื่น ๆ ยังถือเป็นเกษตรทางเลือกอยู่ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดจะเรียกว่าอินทรีย์ในคิวบา แต่อาจจะไม่ผ่านมาตรฐานใบรับรองอาหารอินทรีย์ในประเทศอื่น ๆ (พืชผลบางชนิดอาจมีการดัดแปลงทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น) คิวบาส่งออกส้มและน้ำส้มอินทรีย์ไปยังตลาดสหภาพยุโรปและผ่านมาตรฐานอินทรีย์ของสหภาพยุโรป การที่มีการบังคับให้ผลิตแบบอินทรีย์ในคิวบาอาจเป็นผลให้ประเทศเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ระดับโลกประเทศหนึ่ง
ดูเพิ่ม
บรรณานุกรม
- Canavari, Maurizio; Olson, Kent D., บ.ก. (2007). Organic food: consumers' choices and farmers' opportunities. Springer. ISBN 978-0-387-39581-4.
- Duram, Leslie A. (2010). Encyclopedia of Organic, Sustainable, and Local Food. ABC-CLIO. ISBN 978-0-313-35963-7.
- Givens, D. Ian; และคณะ (2008). Health Benefits of Organic Food: Effects of the Environment. CABI. ISBN 978-1-84593-459-0.
- Nestle, Marion (2007). Food Politics: How the Food Industry Influences Nutrition and Health. University of California Press. ISBN 978-0-520-25403-9.
- PAN-UK (2008). Pesticides on a Plate. PAN-UK (UK). ISBN 978-0-9549542-6-0.
- Pollan, Michael (2006). The Omnivore's Dilemma: A Natural History of Four Meals. The Penguin Press. ISBN 978-1-59420-082-3.
- Pretty, J. N.; และคณะ (2006). "Resource-Conserving Agriculture Increases Yields in Developing Countries". Environmental Science and Technology. 40 (4): 1114–1119. Bibcode:2006EnST...40.1114P. doi:10.1021/es051670d. PMID 16572763.
แหล่งข้อมูลอื่น
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: อาหารอินทรีย์ |
- Organic Consumers Association
- Organic Information Center
- A World Map of Organic Agriculture
- USDA National Organic Program Responsible for administering organic food production & labeling standards in the United States
- "Organic Food", UK Food Standards Agency
- "Organics Olympiad 2011: Global Indices of Leadership in Organic Agriculture"—Journal of Social and Development Sciences