Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

เคลอจี

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
เคลอจี

เคลอจี (อังกฤษ: clergy ไทย: อ่านว่า เคลอ-จี) คือ ผู้ได้รับศีลบวช ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่านักบวช รูปเอกพจน์เรียกว่าเคลริก (cleric) ศาสนาคริสต์เริ่มใช้คำนี้เพื่อหมายถึงศาสนบุคคลที่ได้รับศีลบวช ได้แก่ ดีกัน บาทหลวง และบิชอป ในปัจจุบันหมายถึง บุคคลในศาสนาใด ๆ ที่ผ่านพิธีบวชเพื่อปฏิบัติหน้าที่รับใช้ศาสนา

ศาสนาคริสต์

นิกายโรมันคาทอลิก

เคลอจีในนิกายคาทอลิกได้แก่พันธบริกร บาทหลวง และมุขนายก (หรือทับศัพท์ว่าบิชอป) ในกลุ่มมุขนายกนี้รวมทั้งมุขนายกมหานคร อัครมุขนายก อัครบิดร ส่วนพระสันตะปาปาถือว่าเป็นบิชอปแห่งโรมด้วย พระคาร์ดินัลมักมีตำแหน่งเป็นมุขนายกเช่นกัน แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะในอดีตมีพระคาร์ดินัลบางองค์เป็นฆราวาส ทางสันตะสำนักจะสนับสนุนกิจกรรมของเคลอจีผ่านทางสมณกระทรวงเพื่อผู้ได้รับศีลบวช

กฎหมายศาสนจักรของคริสตจักรคาทอลิก (มาตรา 207) ระบุว่า "โดยการกำหนดของพระเป็นเจ้า ในคริสตจักรมีคริสตชนที่เป็นศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์ (sacred minister) ซึ่งตามนัยของกฎหมายเรียกว่าผู้ได้รับศีลบวช (cleric) ส่วนคริสตชนอื่นเรียกว่าฆราวาส" การจำแนกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก ดังเห็นได้จากงานเขียนหลายชั้นของนักบุญอิกเนเชียสแห่งแอนติออก คำว่าเคลริกแต่เดิมหมายถึงเฉพาะมุขนายก (ได้แก่อัครทูตทั้งสิบสองคน) และพันธบริกร (ผู้ช่วย 70 คนของอัครทูต) ส่วนขั้นบาทหลวงจริงๆ แล้วพัฒนามาเป็นประเภทกึ่งมุขนายก ในศาสนจักรคาทอลิกอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้นรับศีลบวชได้

องค์การของผู้ได้รับศีลบวชในนิกายคาทอลิกจะมีการแบ่งลำดับชั้นบังคับบัญชา ก่อนการปฏิรูปตามสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ผู้จะรับศีลบวชต้องเข้าพิธีโกน จากนั้นจึงรับอนุกรมน้อย (คือขั้นผู้เฝ้าประตู ผู้อ่านพระคัมภีร์ ผู้ขับไล่ปีศาจ และผู้ถือเทียน) และอนุกรมใหญ่ (คือขั้นอุปพันธบริกร พันธบริกร บาทหลวง และมุขนายก) ได้ ซึ่งฝ่ายคาทอลิกถือว่าขั้นมุขนายกเป็นขั้นสูงสุดและสมบูรณ์ของศีลอนุกรม (หรือศีลบวช) ปัจจุบันนี้อนุกรมน้อยและขั้นอุปพันธบริกรให้ฆราวาสทำหน้าที่แทนและยกเลิกพิธีโกนไปด้วย

ในคริสตจักรคาทอลิกและคาทอลิกตะวันออกมีข้อยกเว้นบ้างในกรณีที่พระสันตะปาปาทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ฝ่ายคริสตจักรตะวันออกถือว่าเคลอจีคือทุกคนที่รับอนุกรมไม่ว่าจะเป็นอนุกรมน้อย (ซึ่งสายนี้ยังรักษาไว้อยู่) รวมถึงนักศึกษาเซมินารี ดังนั้นในคริสตจักรตะวันออก ทั้งพันธบริกร บาทหลวง และมุขนายก จะถูกเรียกว่า "คุณพ่อ" กันทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับอนุกรมจะเรียกว่า "ภราดา" (ในคริสตจักรตะวันตกหรือละติน เฉพาะบาทหลวงจะเรียกว่า "คุณพ่อ" ส่วนพันธบริกรก็เรียกว่า "พันธบริกร" ส่วนมุขนายกเรียกว่า "ฯพณฯ" "ท่านบิชอป" หรือ "พระคุณเจ้า")

นักพรตและนักบวชอื่นๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเคลอจีเสมอไป ขึ้นอยู่ที่ว่าจะได้รับศีลอนุกรมหรือไม่ ดังนั้นนักพรตชาย นักพรตหญิง ไฟรเออร์ ภราดา และภคินี ซึ่งไม่ได้รับศีลบวชจึงไม่นับว่าเป็นเคลอจี เพราะศีลบวชเป็น 1 ใน 7 ศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตามข้อความเชื่อของชาวคาทอลิกถือว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงตั้งไว้

กฎหมายศาสนจักรฉบับปัจจุบันกำหนดว่า ในการบวชบาทหลวง ผู้สมัครต้องเรียนปรัชญาอัสมาจารย์ 2 ปี และเทววิทยาอีก 4 ปี นอกจากนี้ยังต้องเรียนเทววิทยาสิทธันต์และศีลธรรม คัมภีร์ไบเบิล และกฎหมายศาสนจักรที่เซมินารีหรือที่วิทยาลัยในมหาวิทยาลัยของคริสตจักร หลักเกณฑ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดวิชาการในคริสตจักรละติน

ผู้ที่จะบวชเป็นพันธบริกรและบาทหลวงในจารีตละตินยังต้องปฏิญาณถือการเป็นโสดและน้อมน้อมเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา แต่กรณีพันธบริกรถาวรที่แต่งงานไปแล้วก็ไม่ห้าม แต่ถ้าภรรยาเสียชีวิตแล้วจะแต่งงานใหม่ไม่ได้ กฎนี้เป็นเรื่องของการปกครองและระเบียบมากกว่าจะเป็นไปตามสิทธันต์และข้อความเชื่อ การอยู่โสดมีอยู่หลายรูปแบบตามยุคสมัยและสถานที่ สังคายนาตรุลโลในปี 692 ห้ามไม่ให้มุขนายกแต่งงาน แต่ก็ไม่กีดกันชายที่แต่งงานแล้วไม่ให้เป็นบาทหลวง และได้ขับพวกพันธบริกรที่หย่าคู่สมรสเพื่อมาบวชออกจากศาสนจักร วินัยนี้จารีตละตินและคริสตจักรคาทอลิกตะวันออกยังรักษากันอยู่จนทุกวันนี้ บุรุษที่สมรสแล้วในจารีตละตินจะบวชเป็นบาทหลวงไม่ได้ แต่บาทหลวงนิกายแองกลิคันที่แต่งงานแล้วหากเปลี่ยนมาเข้านิกายคาทอลิกก็ยังเป็นบาทหลวงได้ต่อ ส่วนจารีตตะวันออก เช่น คริสตจักรเมลไคต์กรีกคาทอลิก ปฏิบัติตามนิกายออร์ทอดอกซ์คือให้ชายที่สมรสแล้วบวชเป็นพันธบริกรและบาทหลวงได้

ผู้ได้รับศีลบวชยังได้รับสิทธิสำคัญดังนี้

  1. Right of Canon: ใครก็ตามที่กระทำความรุนแรงต่อผู้ได้รับศีลบวช เท่ากับละเมิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กฤษฎีกาฉบับนี้มาจากสังคายนาลาเตรันปี 1097 (ตามที่สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ร้องขอ) แล้วรื้อฟื้นอีกครั้งในสังคายนาลาเตรันครั้งที่สอง (1139)
  2. Right of Forum: ผู้ได้รับศีลบวชจะรับการพิพากษาจากศาลยุติธรรมของคริสตจักรเท่านั้น จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชให้สิทธิ์นี้แก่บิชอป ต่อมาจึงมีพระราชกฤษฎีกาให้ครอบคลุมถึงผู้รับศีลบวชทั้งหมดด้วย
  3. Right of Immunity: ผู้ได้รับศีลบวชจะไม่ถูกเกณฑ์ทหาร หรือทำหน้าที่อื่นๆ ที่ขัดกับบทบาทของท่าน
  4. Right of Competence: รายได้บางส่วนซึ่งเกี่ยวกับการบริโภคของผู้ได้รับศีลบวชจะถูกผู้ให้กู้ริบเอาไปไม่ได้

ขอบเขตการยอมรับสิทธิ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่งซึ่งเปลี่ยนไปตามแต่ละประเทศ ถ้าเป็นประเทศคาทอลิกดั้งเดิมก็จะเคารพสิทธิ์เหล่านี้เป็นพิเศษ

ศาสนาพุทธ

ดูบทความหลักที่ พระสงฆ์

ในพุทธศาสนาเคลอจีจะหมายถึงพระสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ คณะสงฆ์นี้พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ตามที่คัมภีร์บันทึกไว้ ระบุว่าภิกษุและภิกษุณีในสมัยพุทธกาลจะต้องอยู่โสด ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย เน้นการเจริญสมาธิภาวนา ถือพรตจาริกไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 9 เดือน และอยู่จำพรรษาอีก 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา แต่ในปัจจุบันบทบาทของคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงไปในบางประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นและบางนิกายในเกาหลี อนุญาตให้นักบวชในพุทธศาสนาแต่งงานได้ นักบวชดังกล่าวจึงไม่ถือวัตรอย่างนักพรต (แต่ชีส่วนมากยังคงถือพรหมจรรย์) ส่วนนิกายเถรวาท เช่น พุทธศาสนาในประเทศไทย พม่า กัมพูชา และศรีลังกา ยังคงให้พระสงฆ์ใช้ชีวิตอย่างนักพรต (เรียกว่า ชีวิตอารามวาสี) โดยเฉพาะห้ามมิให้พระภิกษุแตะต้องกายสตรี หรือแม้แต่ทำงานอย่างทางโลก

ในหลาย ๆ ประเทศ ภิกษุณีสงฆ์ยังมีอยู่ แต่สายของเถรวาทนั้นสายภิกษุณีสงฆ์ซึ่งมีเฉพาะที่ลังกาได้ขาดช่วงสืบทอดไปตั้งแต่สมัยถูกโปรตุเกสยึดครอง ทางฝ่ายทิเบตก็ไม่เคยมีสายภิกษุณีไปเผยแพร่ ยกเว้นสามเณรี สถานะและอนาคตของภิกษุณีสงฆ์ในดินแดนเหล่านี้จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในประเทศที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์สตรีจึงเลือกบวชด้วยวิธีอื่น เช่น เป็นแม่ชี แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์และเอกสิทธิ์อย่างนักพรตหญิง

ความหลากหลายของนิกายในพุทธศาสนาทำให้การอธิบายเคลอจีทำได้ยาก ในสหรัฐ นักบวชญี่ปุ่นนิกายสุขาวดีจะมีลักษณะบทบาทคล้ายศาสนาจารย์ในนิกายโปรเตสแตนต์ ขณะเดียวกันพระป่าในประเทศไทยเน้นชีวิตด้านการเจริญจิตภาวนาและจำพรรษาในชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกลเมือง ต่างจากพระบ้านที่เน้นงานสอน ศึกษาพระธรรม และปกครองคณะสงฆ์ (ซึ่งอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของรัฐ เช่น มหาเถรสมาคม) ในนิกายเซนในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น การทำงานหัตถกิจถือเป็นระเบียบสำคัญของสำนัก ขณะที่นิกายเถรวาทไม่นิยมให้พระสงฆ์ทำงานอย่างผู้ใช้แรงงานหรือเกษตรกร

ปัจจุบันที่อเมริกาเหนือ มีทั้งพระสงฆ์ที่ถือและไม่ถือพรหมจรรย์จากนิกายต่าง ๆ จากทั่วโลก บางคณะเป็นพระป่าในนิกายเถรวาท บางคณะก็เป็นนักบวชมีคู่สมรสจากนิกายเซนจากญี่ปุ่นและอาจทำงานทางโลกด้วยนอกจากงานในพุทธศาสนา


Новое сообщение