Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

เอ็นแอลพี

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
Neuro-linguistic programming
การแทรกแซง
MeSH D020557

เอ็นแอลพี (อังกฤษ: Neuro-linguistic programming ตัวย่อ NLP) เป็นวิธีการอันเป็นวิทยาศาสตร์เทียมเพื่อการสื่อสาร การพัฒนาตน และจิตบำบัด ที่สร้างขึ้นโดยชาวอเมริกันริชาร์ด แบนด์เลอร์ (Richard Bandler) และจอห์น กรินเดอร์ (John Grinder) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยอ้างว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทางประสาท (neuro-) ภาษา (linguistic) กับรูปแบบพฤติกรรมที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (programming) ซึ่งสามารถเปลี่ยนให้ไปถึงเป้าหมายในชีวิตต่าง ๆ ได้ ผู้สร้างยังอ้างด้วยว่า วิธีนี้สามารถจำลองแบบ (model) ทักษะของคนพิเศษ ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นได้ อ้างว่า บ่อยครั้ง การฝึกวิธีเช่นนี้เพียงรอบเดียวสามารถรักษาหรือแก้ปัญหา เช่น โรคกลัว, โรคซึมเศร้า, อาการกล้ามเนื้อกระตุก (tic), โรคกายเหตุจิต (psychosomatic illness), สายตาสั้น, ภูมิแพ้, โรคหวัด และปัญหาการเรียนรู้ (learning disorder) นักบำบัดโดยสะกดจิตบางพวกได้นำวิธีนี้ไปใช้ และบริษัทต่าง ๆ ก็ได้วางตลาดขายสัมมนาการฝึกความเป็นผู้นำให้แก่บริษัทและองค์กรของรัฐ

ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับข้ออ้างของผู้สนับสนุนวิธีนี้ อนี่ง วิธีนี้ยังถูกดิสเครดิตด้วยว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียมงานทบทวนทางวิทยาศาสตร์ยังระบุว่า วิธีนี้อาศัยข้ออุปมาการทำงานของสมองที่ล้าสมัยโดยไม่เข้ากับทฤษฎีทางประสาทวิทยาในปัจจุบัน และมีข้อผิดพลาดจากความจริงเป็นจำนวนมาก ยังพบด้วยว่า งานวิจัยทั้งหมดที่สนับสนุนวิธีนี้มีข้อบกพร่องทางระเบียบวิธีอย่างสำคัญ มีงานศึกษาที่มีคุณภาพดียิ่งกว่าเป็นจำนวนสามเท่าที่ไม่สามารถทำซ้ำ "ข้ออ้างเกินธรรมดา" ของแบนด์เลอร์ กรินเดอร์ และผู้ประกอบกิจด้วยวิธีนี้อื่น 

การพัฒนายุคต้น

ตามแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ เอ็นแอลพีประกอบด้วยวิธีซึ่งเรียกว่า modeling (การจำลองแบบ/การเลียนแบบ) บวกกับเทคนิคจำนวนหนึ่งซึ่งได้มาจากการประยุกต์ใช้วิธีนั้นในยุคต้น ๆ บรรดาวิธีอื่น ๆ ที่เป็นหลักได้มาจากผลงานของนักครอบครัวบำบัดชาวอเมริกันเวอร์จิเนีย แซเทียร์ (Virginia Satir), จิตแพทย์นักสะกดจิตและนักครอบครัวบำบัดชาวอเมริกันมิลตัน เอริกสัน (Milton Erickson) และจิตแพทย์นักจิตบำบัดชาวเยอรมันฟริตซ์ เพอร์ลส (Fritz Perls)

แบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ยังใช้ทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษเกร็กอรี เบตสัน (Gregory Bateson), นักอรรถศาสตร์ชายโปแลนด์-อเมริกัน Alfred Korzybski และนักภาษาศาสตร์โนม ชอมสกี (โดยเฉพาะทฤษฎี transformational grammar ที่เริ่มมาจากไอเดียของชอมสกี) ตลอดจนไอเดียและเทคนิคของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันคาร์โลส แคสทาเนดา (Carlos Castaneda)

แบนด์เลอร์กับกรินเดอร์อ้างว่า วิธีนี้สามารถจัดระเบียบ (codify) โครงสร้างวิธีการบำบัดของเพอร์ลส แซเทียร์ และเอริกสัน และจริง ๆ สามารถจัดระเบียบโครงสร้างกิจกรรมซับซ้อนของมนุษย์ทุกอย่าง เมื่อได้จัดระเบียบแล้ว บุคคลอื่นก็จะสามารถเรียนรู้โครงสร้างและกิจกรรมเหล่านั้นได้ หนังสือปี 1975 ของพวกเขาคือ The Structure of Magic I: A Book about Language and Therapy (โครงสร้างแมจิก 1 - หนังสือเกี่ยวกับภาษาและการบำบัด) มุ่งหมายจัดระเบียบเทคนิคบำบัดของเพอร์ลสและแซเทียร์

แบนด์เลอร์กับกรินเดอร์กล่าวว่า ได้ใช้วิธีการจำลองแบบ (modeling) ของตนเพื่อจำลองรูปแบบของเวอร์จิเนีย แซเทียร์ แล้วสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า เมตะโมเดล (Meta-Model) เป็นรูปแบบเพื่อใช้รวบรวมข้อมูลแล้วท้าทายการใช้ภาษาและกระบวนการความคิดของผู้รับฝึก พวกเขาอ้างว่า เมื่อท้าทายความบิดเบือนทางภาษา ระบุการกล่าวรวมพวกกันเกินไป และกู้ข้อมูลที่หายไปจากคำพูดของผู้รับฝึก แนวคิดของ transformational grammar เกี่ยวกับโครงสร้างตื้น (surface structure) ก็จะให้ผลลัพธ์เป็นแบบจำลองที่แสดงโครงสร้างลึก (deep structure) ซึ่งสมบูรณ์ยิ่งกว่า การบำบัดจึงได้ผล ไอเดียอื่น ๆ จากแซเทียร์รวมทั้ง anchoring, future pacing และ representational systems

เทียบกับโมเดลของมิลตัน ซึ่งพวกเขาจัดเป็นการใช้ภาษาแบบสะกดจิต และเรียกว่า เป็นภาษาคลุมเครืออย่างชาญฉลาด เป็นการใช้อุปมา โมเดลของมิลตันใช้ร่วมกับเมตะโมเดลเพื่อให้ใจให้อ่อนลง (softener) เพื่อก่อภาวะเคลิ้ม (trance) เพื่อให้คำแนะนำในการบำบัดอย่างอ้อม 

แต่นักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย-อเมริกันผู้มีวิมตินิยมแคเร็น สโตลส์นาว (Karen Stollznow) เรียกการอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญของแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ว่า เป็นเพียงแต่การอ้างชื่อ (ให้น่าเชื่อถือ) เพราะนอกจากแซเทียร์เองแล้ว บุคคลอื่น ๆ ที่พวกเขาอ้างว่ามีอิทธิพลต่อแนวคิดก็ไม่ได้ทำงานร่วมกับพวกเขา เช่น ชอมสกีไม่มีส่วนร่วมกับเอ็นแอลพีโดยสิ้นเชิง งานดั้งเดิมของชอมสกีก็มุ่งแสดงทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ ไม่ใช่การบำบัด สโตลส์นาวได้เขียนในวารสาร Skeptic (นักวิมตินิยม) ปี 2010 ไว้ว่า "นอกเหนือการยืมใช้คำ เอ็นแอลพีไม่มีความคล้ายคลึงกันที่น่าเชื่อถือกับทฤษฎีหรือปรัชญาของชอมสกี ไม่ว่าจะเป็นทางภาษา ทางประชาน หรือทางการเมือง"

ตามผู้เชี่ยวชาญเรื่องสะกดจิตชาวฝรั่งเศส-อเมริกันแอนเดร มิวล์เลอร์ ไวเซ็นฮ็อฟเฟอร์ (André Muller Weitzenhoffer) "จุดอ่อนหลักของการวิเคราะห์ภาษาของแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ ก็คือโดยมากมันอาศัยสมมติฐานที่ไม่ได้ตรวจสอบและสนับสนุนด้วยข้อมูลที่ไม่พอเพียงโดยสิ้นเชิง" เขายังเพิ่มด้วยว่า แบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ใช้หลักการของตรรกศาสตร์รูปนัย (formal logic) และของคณิตศาสตร์อย่างผิด ๆ, เปลี่ยนนิยามหรือเข้าใจผิดซึ่งคำที่มาจากคลังศัพท์ของภาษาศาสตร์ (เช่น nominalization), แต่งหน้าเป็นวิทยาศาสตร์โดยทำแนวคิดของเอริกสันให้ซับซ้อนอย่างไม่จำเป็นด้วยข้ออ้างที่ไม่มีหลักฐาน, แสดงสิ่งที่ผิดพลาดจากความจริง และไม่คำนึงถึงหรือทำให้สับสนซึ่งแนวคิดที่เป็นหลักของเอริกสัน

ต่อจากนั้นราวปี 1997 แบนด์เลอร์จึงได้อ้างว่า "เอ็นแอลพีมาจากการสืบหาว่าอะไรได้ผลแล้วทำให้เป็นระเบียบแบบแผน เพื่อทำรูปแบบ (pattern) ต่าง ๆ ให้เป็นแบบแผน ผมได้ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มตั้งแต่ภาษาศาสตร์ตลอดจนฮอโลกราฟี...แบบจำลอง (model) ที่เป็นส่วนของเอ็นแอลพีล้วนเป็นแบบจำลองทางรูปนัยอาศัยหลักคณิตศาสตร์และตรรกศาสตร์ เช่น แคลคูลัสภาคแสดง (predicate calculus) และสมการที่เป็นหลักของฮอโลกราฟี" แต่ประวัติการพัฒนาของเอ็นแอลพีที่นักเขียนอื่น ๆ ได้กล่าวถึงรวมทั้งกรินเดอร์เอง (รวมของ McClendon และ Spitzer) ก็ไม่กล่าวถึงหลักคณิตศาสตร์ของฮอโลกราฟี หรือแม้แต่ฮอโลกราฟีโดยทั่ว ๆ ไปเลย

ในเรื่องพัฒนาการของเอ็นแอลพี กรินเดอร์ระลึกถึงว่า

สิ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดเมื่อได้ค้นพบ (เกี่ยวกับการจัดระเบียบ [code] คลาสสิกที่เราได้พัฒนาขึ้น ซึ่งเกิดในระหว่างปี 1973-1978) ก็คือเรารู้อย่างชัดเจนว่า เรากำลังพยายามล้มล้างแบบแผน (paradigm) อย่างหนึ่ง และตัวผมเองก็พบว่ามันมีประโยชน์ที่จะวางแผนการรณรงค์นี้ส่วนหนึ่งโดยใช้ผลงานชิ้นเยี่ยมของโทมัส คูน (The Structure of Scientific Revolutions) เป็นแนวทาง ที่เขาได้ให้รายละเอียดปัจจัยบางอย่างที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญ (paradigm shift) เช่น ผมเชื่อว่ามันมีประโยชน์มากที่เราทั้งสองคนไม่มีคุณวุฒิในสาขาที่เราพยายามเปลี่ยน คือจิตวิทยา โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในการบำบัด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่คูนระบุในงานศึกษาการเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญอิงประวัติศาสตร์

นักปรัชญาชาวอเมริกันผู้มีวิมตินิยมรอเบิร์ต ท็อดด์ แคร์โรลได้แก้ว่า กรินเดอร์ไม่เข้าใจหนังสือของคูนในเรื่องประวัติและหลักปรัชญาของวิทยาศาสตร์ คือ The Structure of Scientific Revolutions คือแก้ว่า (1) นักวิทยาศาสตร์เดี่ยว ๆ ไม่เคยและไม่มีทางก่อ "การเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญ" (paradigm shift) อย่างตั้งใจ และคูนก็ไม่ได้แสดงนัยอะไรเหนือจากนี้ (2) หนังสือของคูณไม่ได้มีไอเดียว่า การไร้คุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีก่อนเพื่อให้ได้ผลที่ก่อ "การเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญ" อย่างเลี่ยงไม่ได้ในสาขานั้น ๆ และ (3) The Structure of Scientific Revolutions โดยหลักเป็นผลงานทาง "ประวัติศาสตร์" ไม่ใช่หนังสือสอน "สร้าง" การเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญและหนังสือเยี่ยงนี้ก็มีไม่ได้ เพราะการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่กระบวนการที่มีสูตร แคร์โรลอธิบายว่า การเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญไม่ใช่กิจกรรมที่วางแผน แต่เป็นผลลัพธ์ของงานทางวิทยาศาสตร์ในแบบแผนปัจจุบัน (ที่เป็นหลัก) แล้วสร้างข้อมูลที่แบบแผนปัจจุบันไม่สามารถอธิบายได้ดีพอ ดังนั้น จึงเกิด "การเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญ" คือการยอมรับแบบแผนใหม่

เมื่อพัฒนาเอ็นแอลพี แบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ไม่ได้ทำตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติทางแบบแผนของจิตวิทยา และก็ไม่ได้สร้างข้อมูลที่สร้างปัญหาวิกฤติ ไม่มีเหตุผลว่าพวกเขาเป็นเหตุหรือมีส่วนร่วมก่อการเปลี่ยนแบบแผนที่สำคัญ แคร์โรลแย้งว่า "กรินเดอร์กับแบนด์เลอร์ได้ทำอะไรที่ทำให้ดำเนินการทางจิตวิทยาต่อไปไม่ได้โดยไม่ใช้แนวความคิดของพวกเขาหรือไม่ ? ไม่ได้ทำอะไรเลย"

การทำเป็นธุรกิจและการตรวจสอบ

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ขบวนการศักยภาพมนุษย์ (human potential movement) ศูนย์หลักของขบวนการนี้ก็คือสถาบันเอซาเล็น (Esalen Institute) ในเมืองบิ๊กเซอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพอร์ลสได้ทำสัมมนาเกี่ยวกับ Gestalt therapy เป็นจำนวนมากที่สถาบัน แซเทียร์เป็นผู้นำตั้งแต่ยุคต้น ๆ และเบตสันเป็นครูพิเศษ แบนด์เลอร์กับกรินเดอร์อ้างว่า นอกจากเป็นวิธีบำบัด เอ็นแอลพียังเป็นการศึกษาการสื่อสาร แล้วเริ่มวางตลาดมันเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ โดยอ้างว่า "ถ้ามนุษย์แต่ละคนทำอะไรก็ได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน" หลังจากเริ่มได้นักเรียน 150 คนที่จ่ายค่าธรรมเนียมคนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับการสัมมนา 10 วันในเมืองซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย พวกเขาก็เลิกทำงานเขียนเชิงวิชาการแล้วเขียนหนังสือประชานิยมอาศัยข้อความจากงานสัมมนา เช่น หนังสือ Frogs into Princes (จากกบไปสู่เจ้าชาย) ซึ่งขายได้เกิน 270,000 เล่ม ตามเอกสารของศาลเรื่องข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ แบนด์เลอร์ได้รายได้เกินกว่า 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20 ล้านบาท) ในปี 1980 จากการจัดสัมมนาและขายหนังสือ

ชุมชนนักจิตบำบัดและลูกศิษย์ก็เริ่มเกาะเป็นกลุ่มเนื่องกับงานเบื้องต้นของแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ ทำให้เอ็นแอลพีขยายกระจายตัวทั้งโดยทฤษฎีและข้อปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น โทนี่ ร็อบบินส์ (โค้ชมหาเศรษฐีผู้หนึ่ง) ได้ฝึกกับกรินเดอร์แล้วใช้ไอเดียไม่กี่อย่างจากเอ็นแอลพีเป็นส่วนโปรแกรมการช่วยตนเองและปาฐกถาสร้างแรงจูงใจของตน แบนด์เลอร์ได้พยายามหลายครั้งไม่ให้พวกอื่น ๆ ใช้เอ็นแอลพี ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ประกอบกิจด้วยวิธีนี้และนักทฤษฎีที่เพิ่มขึ้นได้ทำให้เอ็นแอลพีเริ่มต่าง ๆ กันจากจุดเริ่มต้น ก่อนเอ็นแอลพีจะเสื่อมความนิยม นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มตรวจสอบทฤษฎีหลัก ๆ ของวิธีโดยใช้หลักฐานเชิงประสบการณ์ แล้วพบว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 จึงมีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบวิธีการของเอ็นแอลพีน้อยลงเทียบกับทศวรรษก่อน ๆ นักจิตวิทยาผู้มีวิมตินิยม โทมาสซ์ วิตคาวสกี้ ระบุว่าความสนใจในการอภิปรายได้น้อยลงเพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุนเอ็นแอลพีแม้จากผู้สนับสนุนวิธีเอง

องค์ประกอบและแนวคิดหลัก 

เอ็นแอลพีสามารถเข้าใจว่ามีองค์ประกอบกว้าง ๆ 3 อย่างและแนวคิดหลัก ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบเหล่านั้น

  • ความเป็นอัตวิสัย (Subjectivity) ตามแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์
    • เรารู้โลกโดยเป็นอัตวิสัย เราจึงสร้างแบบจำลองประสบการณ์ของเราอันเป็นอัตวิสัย แบบจำลองเช่นนี้มีองค์ประกอบเป็นประสาทสัมผัสทั้ง 5 และภาษา ซึ่งก็คือ ประสบการณ์ทางจิตอันเป็นอัตวิสัยอันประกอบด้วยประสาทสัมผัสที่รู้กันทั่วไปคือ การเห็น การได้ยิน สัมผัส การได้กลิ่น และการรู้รส จนกระทั่งว่า กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตของเรา เช่น การคิดถึงกิจกรรมหนึ่งในใจ การระลึกถึงเหตุการณ์หนึ่ง หรือการคาดหวังเหตุการณ์ล่วงหน้า เราก็จะ "เห็น"ภาพ "ได้ยิน"เสียง "รู้"กลิ่น "ลิ้ม"รส "กระทบ"สัมผัส และคิดเป็นภาษา (ธรรมชาติ) บางภาษา อนึ่งพวกเขาอ้างว่า แบบจำลองประสบการณ์ทางอัตวิสัยเช่นนี้มีโครงสร้างหรือหรือรูปแบบซึ่งแยกออกได้ เอ็นแอลพีบางครั้งจึงนิยามว่าเป็น "การศึกษาโครงสร้างของประสบการณ์ทางอัตวิสัย"
    • พฤติกรรมสามารถอธิบายและเข้าใจโดยใช้แบบจำลองทางอัตวิสัยที่อาศัยประสาทสัมผัสเช่นนั้น ๆ โดยพฤติกรรมกำหนดอย่างกว้าง ๆ ว่าเป็นการสื่อสารทั้งทางคำพูดและไม่ใช่คำพูด พฤติกรรมที่ไร้ผล การปรับตัวได้ไม่ดีหรือแบบเป็นโรค บวกกับพฤติกรรมที่ได้ผลและเชี่ยวชาญ
    • พฤติกรรม (ทั้งในตนและผู้อื่น) สามารถเปลี่ยนโดยจัดการแบบจำลองทางอัตวิสัยที่อาศัยประสาทสัมผัสเหล่านั้น 
  • จิตใจ (consciousness) เอ็นแอลพีมีมูลฐานที่ไอเดียว่า จิตใจแยกออกเป็นส่วนใต้ความสำนึก (คือรู้ได้) และส่วนเหนือความสำนึก (คือรู้ไม่ได้) แบบจำลองทางอัตวิสัยที่เกิดเหนือสำนึกของบุคคลจึงมีองค์ประกอบเป็น จิตเหนือสำนึก/จิตไร้สำนึก (unconscious mind)
  • การเรียนรู้ เอ็นแอลพีใช้การเลียนแบบเพื่อเรียนรู้ เรียกว่า การจำลองแบบ/การเลียนแบบ (modeling) ซึ่งอ้างว่าสามารถจัดระเบียบและเลียนความเชี่ยวชาญของบุคคลตัวอย่างในกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ ส่วนสำคัญในกระบวนการจัดระเบียบก็คือการแสดงลำดับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสและภาษาที่เกิดในบุคคลตัวอย่างเมื่อทำกิจกรรมนั้น ๆ อย่างเชี่ยวชาญ

เทคนิค

ช้าร์ตแสดงตาเมื่อกำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังที่พบในหนังสือต่าง ๆ ของแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์รวมทั้ง จากกบไปสู่เจ้าชาย (1979) ทิศทางทั้ง 6 ทิศแสดง "จินตนาการภาพ" (visual construct) "การระลึกถึงภาพ" (visual recall) "จินตนาการเสียง" (auditory construct) "การระลึกถึงเสียง" (auditory recall) "การเคลื่อนไหวร่างกาย" (kinesthetic) และ "เสียงพูดภายใน" (auditory internal dialogue)

ตามงานศึกษาในวารสารแพทย์ปี 1984 ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบกิจด้วยวิธีนี้กับผู้รับฝึกมีหลายขั้นเริ่มตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางใจและเป้าหมายที่ต้องการ การใช้อุปกรณ์และเทคนิคโดยเฉพาะ ๆ เพื่อแก้ปัญหา แล้วรวมการเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าในชีวิตของผู้รับฝึก ทุก ๆ ขั้นจะใช้การตอบสนองของผู้รับฝึกที่ไม่ใช้คำพูดเป็นแนวทาง ขั้นแรกเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบกิจกับผู้รับฝึกผ่านการเลียนแบบและแนะแนวพฤติกรรมของผู้รับฝึกทั้งที่เป็นคำพูด (เช่นข้อมูลทางประสาทสัมผัส [sensory predicate] และคำสำคัญ [keyword]) และที่ไม่ใช่คำพูด (เช่น เลียนและสะท้อนพฤติกรรมที่ไม่ใช่คำพูด หรือตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวตา)

เมื่อตั้งความสัมพันธ์แล้ว ผู้ประกอบกิจอาจเก็บข้อมูล (เช่น ใช้คำถามจากเมตะโมเดล) เกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของผู้รักฝึกและช่วยให้ผู้รักฝึกระบุสภาวะหรือเป้าหมายที่ต้องการ ผู้ประกอบกิจจะใส่ใจเป็นพิเศษต่อการตอบสนองทั้งที่เป็นคำพูดและไม่ใช่คำพูดเมื่อผู้รับฝึกกำลังระบุสภาพปัจจุบันและสภาพที่ต้องการ และสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ได้สภาพนั้น ๆ ผู้ประกอบกิจจะสนับสนุนให้ผู้รับฝึกพิจารณาผลลัพธ์เนื่องกับสภาวะที่ต้องการ ว่าจะมีผลต่อชีวิตส่วนตัว การงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่นเช่นไร โดยกล่าวถึงความตั้งใจดีที่มีในปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิด (เป็น ecological check) ในขั้นที่ 4 ผู้ประกอบกิจจะช่วยผู้รับฝึกให้ได้ผลที่ต้องการโดยใช้วิธีและเทคนิคโดยเฉพาะ ๆ เพื่อเปลี่ยนแบบจำลองทางอัตวิสัยและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ในโลก ท้ายสุด สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็จะเลียนให้เกิดในอนาคต (future paced) โดยช่วยผู้รับฝึกให้จินตนาการถึงสิ่งที่ต้องเปลี่ยน (mentally rehearse) แล้วนำข้อเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไปใช้ในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อาจให้ผู้ฝึก "ก้าวเข้าไปสู่อนาคต" โดยให้จินตนาการเห็น ได้ยิน และรู้สึกเมื่อได้ถึงจุดหมายที่ต้องการแล้ว

ตามสโตลส์นาว (2010) เอ็นแอลพียังมีการวิเคราะห์การพูดที่ไม่ได้รับการยอมรับ มีแนวทาง "การปฏิบัติ" ให้สื่อสาร "ได้ดียิ่งขึ้น" เช่น หนังสือเล่มหนึ่งอ้างว่า "เมื่อคุณใช้คำว่า 'แต่' คนจะจำสิ่งที่คุณพูดต่อจากคำนั้น ถ้าใช้คำว่า 'และ' คนจะจำสิ่งที่พูดทั้งก่อนและหลังคำนั้น"

การประยุกต์ใช้

แพทย์ทางเลือก

เอ็นแอลพีได้โปรโมตว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคพาร์คินสัน เอชไอวี/เอดส์ และมะเร็ง ซึ่งไม่มีหลักทางการแพทย์สนับสนุนโดยประการทั้งปวง คนไข้ที่ใช้เอ็นแอลพีเพื่อรักษาเสี่ยงมีสุขภาพแย่ลงเพราะไปหาแพทย์ช้า

จิตบำบัด

หนังสือยุคต้น ๆ เกี่ยวกับเอ็นแอลพีเล็งไปในเรื่องจิตบำบัดเพราะผู้ที่เป็นแบบจำลอง (model) ยุคต้น ๆ เป็นนักจิตบำบัด ถ้าใช้เพื่อจิตบำบัด เอ็นแอลพีมีข้อสมมุติและมูลฐานที่คล้ายกับวิธีจิตบำบัดปัจจุบันที่ทำแบบสั้น ๆ (brief) หรือที่ทำเป็นระบบ (systemic) เช่น solution focused brief therapy โดยนักจิตบำบัดก็ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลมาจากเอ็นแอลพี เช่น เทคนิคการเปลี่ยนกรอบความคิด ซึ่งมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเปลี่ยนบริบทหรือความหมาย เช่น หาข้อคิดเชิงบวกสำหรับความคิดหรือพฤติกรรรมหนึ่ง ๆ ที่เกิด

การใช้เอ็นแอลพีเป็นจิตบำบัดหลัก ๆ มีสองอย่าง คือ (1) ใช้เป็นวิธีการเสริม (adjunct) ในจิตบำบัดวิธีอื่น ๆ ฺ(2) ใช้เป็นวิธีจิตบำบัดโดยเฉพาะที่เรียกว่า Neurolinguistic Psychotherapy ซึ่งสภาสหราชอาณาจักรเพื่อจิตบำบัด (United Kingdom Council for Psychotherapy) ซึ่งเป็นสมาคมทางอาชีพยอมรับ โดยเริ่มแรกอาศัยการรับรองจากสมาคม Association for Neuro Linguistic Programming แล้วต่อมาสมาคมที่สืบทอดมาคือ Neuro Linguistic Psychotherapy and Counselling Association แต่องค์กรกระทรวงสาธารณสุขของประเทศคือ National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ก็ไม่ได้อนุมัติให้ใช้ทั้งเอ็นแอลพีและ Neuro-Linguistic Psychotherapy เพื่อรักษาโรคใด 

ตามสโตลส์นาว (2010) "หนังสืออัปยศจากกบไปสู่เจ้าชาย และอื่น ๆ ของแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์อวดว่า เอ็นแอลพีเป็นยาสารพัดโรคที่รักษาอาการทางกายและใจจำนวนมากรวมทั้งปัญหาการเรียนรู้ โรคลมชัก สายตาสั้น และภาวะเสียการอ่านเข้าใจ เพราะสัญญาว่าสามารถรักษาโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ และเพราะดูถูกโรคทางจิตเวชว่าเป็นเพียงโรคกายเหตุจิต (psychosomatic) เอ็นแอลพีจึงคล้ายกับลัทธิ/ศาสนาคือ Scientology และ (องค์กรที่เกี่ยวข้องกันคือ) Citizens Commission on Human Rights (CCHR)"งานทบทวนงานทดลองอย่างเป็นระบบปี 2012 สรุปว่า มีหลักฐานน้อยมากกว่า การรักษาด้วยเอ็นแอลพีปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้นโดยประการใด 

นักจิตวิทยาทางคลินิก ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงคือสตีเฟน บรายเออร์ส (Stephen Briers) ได้เขียนไว้ว่า เอ็นแอลพีไม่ใช้วิธีบำบัดที่ปะติดปะต่อกัน แต่เป็นการรวบรวมเทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่มีมูลฐานทางทฤษฎีที่ชัดเจน... (และ) หลักฐานที่สนับสนุนวิธีก็เท่ากับไม่มี ส่วนนักเขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า เอ็นแอลพีดูเหมือนจะเป็นวิธีการผิว ๆ ที่เป็นเล่ห์กลเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพจิต โชคไม่ดีว่า เอ็นแอลพีเป็นสัมมนาแรกในบรรดาสัมมนาต่อ ๆ มาที่วางตลาดขายต่อมวลชนที่อ้างว่า สามารถรักษาความผิดปกติทางจิตทุกอย่าง...เพราะเอ็นแอลพีไม่มีหลักฐานเชิงประสบการณ์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนหลักทฤษฎีหรือประสิทธิผลในการรักษา สิ่งที่หลงเหลือก็คือ เรื่องเหลวไหลเกี่ยวกับจิตที่วางตลาดขายต่อมวลชน"

ตามผู้เชี่ยวชาญเรื่องสะกดจิตชาวฝรั่งเศส-อเมริกันแอนเดร มิวล์เลอร์ ไวเซ็นฮ็อฟเฟอร์ซึ่งเป็นเพื่อนและผู้เชี่ยวชาญเยี่ยงกันกับมิลตัน เอริกสัน ได้เขียนในปี 1989 ไว้ว่า "เอ็นแอลพีได้สรุปและดึงแก่นของวิธีบำบัดที่ได้ผลแล้วให้วิธีที่ใครก็ได้สามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเช่นวิตทิเกอร์ (Whittaker), เวอร์จิเนีย แซเทียร์ หรือเอริกสันหรือไม่... ความล้มเหลว (ของเอ็นแอลพี) ในกิจนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วเพราะปัจจุบันไม่มีคนเป็นจำนวนมากที่เก่งเท่ากับผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น ไม่มีใครสักคนเท่ากับวิตทิเกอร์, เวอร์จิเนีย แซเทียร์ หรือเอริกสัน เวลา 10 ปีควรจะพอให้เกิดผลเช่นนี้ เมื่อเห็นเช่นนี้ ผมจึงไม่สามารถถือเอาเอ็นแอลพีว่าเป็นจริงเป็นจังอะไรได้ สิ่งที่เอ็นแอลพีมอบให้แก่เราในเรื่องความเข้าใจและการใช้เทคนิคของเอริกสันก็น่าแคลงใจเช่นกัน Patterns I และ II เป็นผลงานที่เขียนได้แย่ มักใหญ่ใฝ่สูงเกินไป เป็นความพยายามอวดอ้างลดค่าการสะกดจิตให้เป็นเพียงวิทยาคมการใช้คำ"

นักจิตวิทยาทางคลินิกสตีเฟน บรายเออร์ส ตั้งความสงสัยในคุณค่าของหลักเอ็นแอลพี ที่เรียกตามศัพท์เฉพาะทางคือ "presupposition" ที่ว่า "ไม่มีความล้มเหลว มีแต่การให้ข้อมูลกลับ" เขาอ้างว่า การปฏิเสธการมีความล้มเหลวย่อมลดคุณค่าความเป็นบทเรียนของพวกมัน เขาให้ตัวอย่างความล้มเหลวที่บุคคลนั้นยอมรับเองที่ชัดเจนของวอลต์ ดิสนีย์, ไอแซก นิวตัน และเจ. เค. โรว์ลิง ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ได้ความสำเร็จอย่างยิ่งต่อ ๆ มา ตามบรายเออร์ส มันเป็น "ความล้มเหลวชนิดเหมือนกับละคร ไม่ใช่ความล้มเหลวที่ทำให้เบา ๆ แบบเอ็นแอลพี ไม่ใช่ความล้มเหลวที่เรียกว่าไม่ใช่ความล้มเหลว" ซึ่งผลักดันบุคคลเหล่านี้ให้ได้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เขายืนยันว่า การยึดหลักนี้นำไปสู่การดูถูกตนเอง ตามบรายเออร์ส ความอุตสาหะพยายามส่วนบุคคลเป็นผลของค่านิยมและปณิธานที่ดำรงไว้มั่น และดังนั้น การดูถูกความล้มเหลวส่วนตัวอันสำคัญว่าเป็นเพียงข้อมูลป้อนกลับ เท่ากับดูถูกสิ่งที่ตนให้คุณค่า เขาเขียนว่า "บางครั้งเราจำเป็นต้องยอมรับและเศร้าโศกไว้อาลัยกับความฝันของเรา ไม่ใช่เพียงปัดมันทิ้งง่าย ๆ ว่าไม่สำคัญอะไร" บรายเออร์สยังยืนยันด้วยว่า หลักของเอ็นแอลพีทำให้หลงตนเอง คิดถึงแต่ตนเอง และห่างจากความรับผิดชอบทางศีลธรรม

การประยุกต์ใช้อื่น 

แม้เทคนิคดั้งเดิมหลัก ๆ ของเอ็นแอลพีจะเป็นในแนวการบำบัด แต่ความทั่วไปของมันจึงทำให้ใช้ในการอื่น ๆ ได้ รวมทั้งการโน้มน้าวผู้อื่น การขายของการเจรจาต่อรอง การฝึกการจัดการกีฬา การสอน การโค้ช การสร้างทีม และการกล่าวปาฐกถา

ข้อวิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 มีการโฆษณาว่าเอ็นแอลพีเป็นความก้าวหน้าสำคัญในเรื่องจิตบำบัดและการให้คำปรึกษา (counseling) จึงได้สร้างความสนใจในสาขาการให้คำปรึกษาและจิตวิทยาทางคลินิก แต่เพราะการทดลองมีกลุ่มควบคุมล้มเหลวคือไม่สามารถแสดงประโยชน์อะไร ๆ ของเอ็นแอลพี และผู้สนับสนุนวิธีได้อ้างสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสงสัยยิ่งขึ้น ๆ ความสนใจทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องเอ็นแอลพีก็จึงเสื่อมไป

งานทบทวนวรรณกรรมและงานวิเคราะห์อภิมานจำนวนมากไม่พบหลักฐานสนับสนุนข้อสมมุติหรือประสิทธิผลในการบำบัดของเอ็นแอลพี

แม้ผู้ประกอบกิจด้วยวิธีนี้จะอ้างว่า การไร้หลักฐานเชิงประสบการณ์เป็นเพียงเพราะไม่มีงานวิจัยตรวจสอบเอ็นแอลพีที่เพียงพอ แต่ความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ก็คือ เอ็นแอลพีเป็นวิทยาศาสตร์เทียม และการแก้ต่างกล่าวว่าไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพียงพอก็ "เท่ากับเป็นการยอมรับว่า เอ็นแอลพีไม่มีฐานเป็นหลักฐาน"

งานสำรวจกลุ่มนักวิชาการพบว่า ในชุมชนนักวิทยาศาสตร์ เอ็นแอลพีถูกดิสเครติตอย่างกว้างขวางแล้ว

บรรดาเหตุผลที่ระบุว่าเอ็นแอลพีเป็นวิทยาศาสตร์เทียมก็คือหลักฐานสนับสนุนจำกัดอยู่แค่หลักฐานโดยเรื่องเล่า (anecdotal evidence) และว่า มันไม่ได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประสาทวิทยาศาสตร์และภาษาศาสตร์ และว่า ชื่อว่า "neuro-linguistic programming" ใช้คำเฉพาะทางทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความทึ่งใจและทำแนวคิดต่าง ๆ ให้สับสน เพราะเอ็นแอลพีไม่ได้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในเรื่องโครงสร้างทางประสาท (แย้งคำว่า neuro) และไม่มีอะไรเหมือนกับภาษาศาสตร์ (แย้งคำว่า linguistic) หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (แย้งคำว่า programming)

จริง ๆ แล้ว ในการศึกษา เอ็นแอลพีได้ถูกยกขึ้นเป็นตัวอย่างสำคัญของวิทยาศาสตร์เทียม

โดยเป็นกึ่งศาสนา

ข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญา

ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 การร่วมมือกันระหว่างแบนด์เลอร์กับกรินเดอร์ก็ยุติลง วันที่ 25 กันยายน 1981 แบนด์เลอร์ฟ้องศาลเป็นคดีแพ่งโดยมีกรินเดอร์และบริษัทของเขาเป็นจำเลย และร้องให้ศาลออกคำสั่งห้ามและเรียกร้องค่าเสียหายจากธุรกิจของกรินเดอร์ในเรื่องเอ็นแอลพี ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 1981 ศาลก็ตัดสินให้แบนด์เลอร์ชนะ โดยเป็นส่วนของข้อตกลงระงับคดี แบนด์เลอร์ได้อนุญาตแบบจำกัดให้กรินเดอร์ทำสัมมนาเอ็นแอลพี ออกใบรับรองเกี่ยวกับเอ็นแอลพี และใช้ชื่อเอ็นแอลพีโดยแลกเปลี่ยนกับค่าสิทธิจากรายได้ของสัมมนา ระหว่างเดือนกรกฎาคม 1996 กับมกราคม 1997 แบนด์เลอร์ได้ฟ้องกรินเดอร์และบริษัทอีกสองคดี ฟ้องผู้นำเอ็นแอลพีอื่น ๆ อีกหลายคน และคนที่เบื้องต้นไร้ชื่ออีก 200 คน เขาอ้างว่า กรินเดอร์ละเมิดข้อตกลงระงับคดีที่ทำกันในเบื้องต้น ตนจึงเสียหายเพราะจำเลยทำการค้าที่ไม่ถูกกฎหมาย และร้องให้ศาลปรับจำเลย "แต่ละราย" ไม่น้อยกว่าสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 31 ล้านบาท) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2000 ศาลตัดสินให้แบนด์เลอร์แพ้โดยระบุว่า "แบนด์เลอร์ได้แสดงต่อสาธารณชนอย่างผิด ๆ ผ่านข้อตกลงทางสิทธิและสื่อโปรโมชัน ว่าเขามีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับเอ็นแอลพีทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว และมีอำนาจเด็ดขาดในการระบุผู้เป็นสมาชิกและผู้ได้การรับรองในสมาคมของเอ็นแอลพี"

ในเรื่องนี้ สโตลส์นาว (2010) ให้ความเห็นว่า "ประหลาดดีว่า แบนด์เลอร์และกรินเดอร์ได้ทะเลาะวิวาทกันอย่างยาวนานในคริสต์ทศวรรษ 1980 ในข้อพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าและทฤษฎี ทำให้เห็นชัดเจนดีว่า แบบจำลอง แกน และหลักเอ็นแอลพีมากมายมหาศาลของพวกเขากลับไม่ช่วยผู้ก่อตั้งให้แก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งโดยส่วนตัวและโดยอาชีพ"

ในเดือนธันวาคม 1997 มีคดีแพ่งร้องให้ศาลเพิกถอนเครื่องหมายการค้าเอ็นแอลพีของแบนด์เลอร์ในสหราชอาณาจักร ศาลได้ติดสินให้แบนด์เลอร์แพ้ เครื่องหมายการค้าของเขาจึงมีผลถูกยกเลิก

ปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 แบนด์เลอร์และกรินเดอร์ได้ตกลงปลดเปลื้องข้อพิพาทต่าง ๆ รวมทั้งตกลงว่า "พวกเขาเป็นผู้ร่วมสร้างและผู้ร่วมจัดตั้งเทคโนโลยีเอ็นแอลพี" และ "ตกลงร่วมกันว่าจะระงับการเหยียดหยามกิจกรรมของกันและกันไม่ว่าจะโดยประการใด ๆ ในบทบาทของตน ๆ เกี่ยวกับเอ็นแอลพี"

ผลอย่างหนึ่งของข้อพิพาทและการตกลงร่วมกันเหล่านี้ก็คือ ชื่อว่า NLP และ Neuro-linguistic Programming จึงไม่มีเจ้าของและไม่มีข้อจำกัดให้ใคร ๆ ให้ใบรองรับเกี่ยวกับเอ็นแอลพี

สมาคม การให้การรับรอง และมาตรฐานผู้ประกอบกิจ

ชื่อ NLP และ Neuro-linguistic Programming ไม่มีบุคคลหรือองค์กรใดเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีเครื่องหมายการค้า ไม่มีองค์กรเป็นศูนย์กลางในการสอนหรือการให้ใบรับรองเกี่ยวกับเอ็นแอลพี ไม่มีข้อจำกัดว่า ใคระจะสามารถเรียกตนเองว่า ผู้ประกอบกิจชำนาญในเอ็นแอลพี (NLP Master Practitioner) หรือผู้ฝึกให้ชำนาญในเอ็นแอลพี (NLP Master Trainer) โดยมีสมาคมเป็นโหล ๆ ที่ออกใบรับรอง จึงทำให้จิตแพทย์ผู้หนึ่งกล่าวในปี 2005 ว่าสมาคมฝึกสอนและให้ใบรับรองเช่นนี้เป็น granfalloons คือสมาคมของบุคคลที่ทะนงตัวแต่ไร้ความหมาย

มีการฝึกสอนและมาตรฐานผู้ประกอบกิจที่ลึกซึ้งกว้างขวางไม่เท่ากัน มีความเห็นไม่ลงกันว่า รูปแบบ (pattern) อะไรที่ใช่หรือไม่ใช่เอ็นแอลพี เอ็นแอลพีเป็นสนามเปิดกว้างในเรื่องการฝึก ไม่มีแนวปฏิบัติดีสุดอันเป็นทางการ มีนักเขียน โค้ช และผู้ประกอบกิจรายบุคคล ๆ ที่ได้พัฒนาวิธี แนวคิด และชื่อเรียกของตนเอง ๆ แล้วจัดเองว่าเป็นเอ็นแอลพี โดยมีมาตรฐานและคุณภาพที่แตกต่างกันมาก ในปี 2009 ผู้ดำเนินรายการทีวีอังกฤษได้ลงทะเบียนแมวเลี้ยงของตนเป็นสมาชิกขององค์กร British Board of Neuro Linguistic Programming (BBNLP) ซึ่งต่อมาอ้างว่า สำนักงานมีอยู่ก็เพื่อให้ประโยชน์แก่สมาชิกเท่านั้น ไม่ได้เพื่อให้การรับรอง

เชิงอรรถ

บรรณานุกรม

  • Bandler, R., Grinder, J. (1981), Reframing: Neuro-Linguistic Programming and the Transformation of Meaning, Real People Press. ISBN 0-911226-25-7

อ่านเพิ่มเติม

บทความออนไลน์

หนังสือ

  • Andreas, Steve; Charles Faulkner, บ.ก. (1996). NLP: the new technology of achievement. New York, NY: HarperCollins. ISBN 978-0-688-14619-1.
  • Austin, A. (2007). The Rainbow Machine: Tales from a Neurolinguist's Journal. UK: Real People Press. ISBN 978-0-911226-44-7.
  • Bandler, R., Andreas, S. (ed.) and Andreas, C. (ed.) (1985), Using Your Brain-for a Change. ISBN 0-911226-27-3.
  • Bradbury, A (2008). "Neuro-Linguistic Programming: Time for an Informed Review". Skeptical Intelligencer. 11.
  • Burn, Gillian (2005). NLP Pocketbook. Alresford, United Kingdom: Management Pocketbooks Ltd. ISBN 978-1-903776-31-5.
  • Dilts, R., Hallbom, Tim, Smith, Suzi (1990), Beliefs: Pathways to Health & Well-being, Crown House Publishing, ISBN 978-1-84590-802-7.
  • Dilts, R. (1990), Changing Belief Systems with NLP, Meta Publications. ISBN 978-0-916990-24-4.
  • Ellerton, Roger (2005). Live Your Dreams, Let Reality Catch Up: NLP and Common Sense for Coaches, Managers and You. Ottawa, Canada: Trafford Publishing. ISBN 978-1-4120-4709-8.
  • Grinder, J., Bandler, R. (1976), Patterns of the Hypnotic Techniques of Milton H. Erickson Volume I. ISBN 0-916990-01-X.
  • Grinder, M., Lori Stephens (ed.) (1991), Righting the Educational Conveyor Belt. ISBN 1-55552-036-7
  • Genie Z. Laborde, PhD (1987), Influencing with Integrity: Management Skills for Communication and Negotiation.
  • O'Connor, Joseph (2007), Not Pulling Strings: Application of Neuro-Linguistic Programming to Teaching and Learning Music. Kahn & Averill, London ISBN 1-871082-90-0
  • Satir, V., Grinder, J., Bandler, R. (1976), Changing with Families: A Book about Further Education for Being Human, Science and Behavior Books. ISBN 0-8314-0051-X

บทความวารสาร

  • Platt, Garry (2001). "NLP – Neuro Linguistic Programming or No Longer Plausible?". Training Journal. May. 2001: 10–15.
  • Morgan, Dylan A (1993). "Scientific Assessment of NLP". Journal of the National Council for Psychotherapy & Hypnotherapy Register. Spring. 1993.

Новое сообщение