Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
แล็กทูโลส
ข้อมูลทางคลินิก | |
---|---|
การอ่านออกเสียง | /ˈlæktjʊloʊs/ |
ชื่อทางการค้า | Cholac, Generlac, Consulose, Duphalac และอื่น ๆ |
ชื่ออื่น | 4-O-β-D-Galactosyl-D-fructose |
AHFS/Drugs.com | โมโนกราฟ |
MedlinePlus | a682338 |
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ |
|
ช่องทางการรับยา | ปาก (รับประทาน) |
รหัส ATC | |
กฏหมาย | |
สถานะตามกฏหมาย |
|
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์ | |
ชีวประสิทธิผล | ดูดซึมได้ไม่ดี |
การเปลี่ยนแปลงยา | 100% ในลำไส้ใหญ่โดยแบคทีเรียในลำไส้ |
ระยะเริ่มออกฤทธิ์ | 8 ถึง 48 ชั่วโมง |
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ | 1.7–2 ชั่วโมง |
การขับออก | อุจจาระ |
ตัวบ่งชี้ | |
| |
เลขทะเบียน CAS | |
PubChem CID | |
DrugBank |
|
ChemSpider |
|
UNII | |
KEGG |
|
ChEBI | |
ChEMBL | |
ECHA InfoCard | 100.022.752 |
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี | |
สูตร | C12H22O11 |
มวลต่อโมล | 342.30 g·mol−1 |
แบบจำลอง 3D (JSmol) | |
| |
(verify) | |
แล็กทูโลส (อังกฤษ: Lactulose) เป็นน้ำตาลที่ดูดซึมไม่ได้ สามารถใช้รักษาอาการท้องผูก โดยใช้รับประทาน ซึ่งปกติจะออกฤทธิ์ภายใน 8–12 ชั่วโมง แต่อาจใช้เวลาถึง 2 วันก่อนที่อาการท้องผูกจะดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้รักษาโรคสมองจากตับ (hepatic encephalopathy) โดยใช้รับประทาน หรือสอดในไส้ตรง
แล็กทูโลส อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทำให้มีลมในท้อง และปวดท้อง รวมถึงมีโอกาสสร้างความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งอาจุเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง ทั้งนี้ ไม่พบหลักฐานว่าแล็กทูโลสเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยทั่วไปจึงพิจารณาว่าแล็กทูโลสปลอดภัยต่อผู้ที่กำลังให้นมลูก แล็กทูโลสจัดอยู่ในยาระบายแบบออสโมซิส (osmotic laxative)
แล็กทูโลสถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1929 และได้ใช้เป็นยาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 อยู่ในบัญชียาหลักแห่งองค์การอนามัยโลก ซึ่งรวบรวมยาที่จำเป็น มีประสิทธิผล และปลอดภัยที่สุดในระบบสาธารณสุข แล็กทูโลสมีจำหน่ายทั้งในรูปแบบยาสามัญ และยาที่มีชื่อทางการค้า
แล็กทูโลสสามารถผลิตได้จากน้ำตาลแล็กโทสที่พบในนม ซึ่งเป็นไดแซ็กคาไรด์ (น้ำตาลโมเลกุลคู่) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของโมเลกุลของโมโนแซ็กคาไรด์ (น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) กาแล็กโทส และกลูโคส อย่างละ 1 โมเลกุล
การแพทย์
ท้องผูก (constipation)
แล็กทูโลสใช้เพื่อรักษาอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุและเรื้อรัง (chronic idiopathic constipation) ในคนไข้ทุกอายุ โดยเป็นการรักษาแบบระยะยาว นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แล็กทูโลสเพื่อแก้ท้องผูกที่เป็นผลของยาโอปิออยด์ และใช้รักษาอาการของโรคริดสีดวงทวารโดยทำอุจจาระให้อ่อนนุ่มลง
ขนาดของแล็กทูโลสเพื่อรักษาอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุและเรื้อรัง จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการท้องผูก และผลที่ต้องการ ตั้งแต่เป็นตัวทำอุจจาระให้อ่อนนุ่มลง ไปจนถึงทำให้ท้องร่วง โดยจะลดขนาดของแล็กทูโลสลงในผู้ป่วยภาวะมีกาแล็กโทสในเลือด (galactosemia) เนื่องจากการสังเคราะห์แล็กทูโลสจะใช้โมโนแซ็กคาไรด์ชนิดกาแล็กโทสในกระบวนการ
ภาวะแอมโมเนียเกินในเลือด (hyperammonemia)
แล็กทูโลสมีประโยชน์ในการรักษาภาวะแอมโมเนียเกินในเลือด (hyperammonemia) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสมองจากตับ (hepatic encephalopathy) คือ ยาจะช่วยดักจับแอมโมเนีย (NH3) ในลำไส้ใหญ่ โดยอาศัยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เพื่อทำลำไส้ใหญ่ให้เป็นกรด แล้วเปลี่ยนแอมโมเนียซึ่งสามารถแพร่อย่างเป็นอิสระให้เป็นแอมโมเนียม ไอออน (NH+
4) ซึ่งไม่สามารถแพร่กลับเข้าสู่เลือด
ยามีประโยชน์ป้องกันภาวะแอมโมเนียเกินในเลือดที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา valproic acid เพื่อรักษาโรคลมชัก โรคอารมณ์สองขั้ว และโรคไมเกรน
การรักษาโรคสมองจากตับโดยทั่วไปจำเป็นต้องรับประทานแล็กทูโลสค่อนข้างมากถึง 3–4 ครั้งต่อวัน จึงทำให้มีอาการท้องร่วงเป็นครั้งคราว และท้องอืดเรื่อย ๆ เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยที่รับประทานแล็กทูโลสในระดับนี้ โดยทั่วไปจะต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และกางเกงในพลาสติกสำหรับกิจกรรมนอกบ้าน หรือเมื่อนอน (โดยอาจต้องใช้เบาะป้องกันเตียงด้วย) เนื่องจากอาการท้องร่วงอาจเกิดได้อย่างรวดเร็วโดยไร้สัญญาณเตือน
ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากผิดปกติ (small intestine bacterial overgrowth; SIBO)
แล็กทูโลสสามารถใช้สำหรับทดสอบว่า มีภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากผิดปกติ (small intestine bacterial overgrowth; อักษรย่อ: SIBO) หรือไม่ แต่มีงานวิจัยหลายงานได้ตั้งข้อสงสัยอย่างหนักถึงความน่าเชื่อถือ ของการวินิจฉัย SIBO ด้วยวิธีนี้
การทดสอบจะให้ผู้รับการทดสอบรับประทานแล็กทูโลสเป็นจำนวนมาก แล้วตรวจสอบว่ามีแก๊สไฮโดรเจนในลมหายใจหรือไม่ การทดสอบจะมีผลเป็นบวกถ้าพบว่ามีไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นในลมหายใจ ก่อนถึงเวลาที่คาดว่าแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะย่อยสลายน้ำตาลได้ การทดสอบนี้มาจากผลงานวิจัยเบื้องต้นที่ได้เสนอสมมติฐานว่า การย่อยสลายที่เกิดก่อนมาจากลำไส้เล็ก อย่างไรก็ตาม ภายหลังก็มีการเสนอคำอธิบายอีกอย่างว่า เป็นค่าแปรปรวนของเวลาที่อาหารผ่านลำไส้เล็กในแต่ละบุคคล
การใช้ในผู้มีครรภ์ (pregnancy) และผู้ให้นมลูก (breastfeeding)
ไม่พบหลักฐานว่าแล็กทูโลสเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยทั่วไปจึงพิจารณาว่าแล็กทูโลสปลอดภัยต่อผู้ที่กำลังให้นมลูก
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงสามัญของแล็กทูโลส อาจทำให้ ปวดท้อง ท้องร้อง (borborygmus) และมีอาการท้องอืด (flatulence) ในบุคคลทั่วไป การรับประทานแล็กทูโลสที่มากเกินจะทำให้รู้สึกไม่สบาย แต่ก็ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ผลข้างเคียงที่ไม่สามัญ อาจทำให้ คลื่นไส้ และอาเจียน ในบุคคลที่ไวต่อแล็กทูโลส เช่น คนชรา หรือผู้ที่ไตทำงานได้ไม่เต็มที่
การรับประทานแล็กทูโลสเกินขนาด อาจทำให้มีภาวะขาดน้ำ และความปั่นป่วนของอิเล็กโทรไลต์ เช่น ระดับแมกนีเซียมต่ำเกิน
การรับประทานแล็กทูโลสไม่ได้ทำให้น้ำหนักเพิ่ม เพราะร่างกายไม่สามารถย่อยแล็กทูโลสได้ และแล็กทูโลสไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งนี้ แม้แล็กทูโลสจะมีโอกาสทำให้ฟันผุน้อยกว่าซูโครส แต่น้ำตาลทุกชนิดก็อาจทำให้ฟันผุ จึงเป็นปัจจัยที่ควรพิจารณาสำหรับบุคคลที่ไว หรือเสี่ยงต่อสถานการณ์นี้
กลไกการทำงาน
แล็กทูโลส เป็นไดแซ็กคาไรด์ ที่เกิดจากโมโนแซ็กคาไรด์ 2 โมเลกุลประกอบกัน คือ ฟรักโทส และกาแล็กโทส อย่างละ 1 โมเลกุล ปกติจะไม่พบแล็กทูโลสในน้ำนมดิบ แต่จะสามารถพบได้เมื่อนำน้ำนมดิบไปผ่านกระบวนการให้ความร้อน โดยความร้อนยิ่งสูงเท่าใด ปริมาณก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น (จาก 3.5 mg/L ในนมพาสเจอร์ไรซ์ที่ผ่านความร้อนต่ำ เป็น 744 mg/L ในนมสเตอริไลซ์ในบรรจุภัณฑ์) แล็กทูโลสที่ผลิตเพื่อการค้า ผลิตโดยกระบวนการเปลี่ยนไอโซเมอร์ (isomerization) ของแล็กโทส
แล็กทูโลส ไม่ได้ถูกดูดซึมเข้าลำไส้เล็ก และไม่ได้ย่อยสลายโดยเอนไซม์ของมนุษย์ ดังนั้น แล็กทูโลสจึงดำรงอยู่ในอาหารที่เคี้ยวแล้วตลอดทางเดินอาหาร โดยเป็นตัวกักน้ำไว้ผ่านกระบวนการออสโมซิส ซึ่งทำอุจจาระให้อ่อนนุ่มลง และขับถ่ายออกมาได้ง่ายขึ้น
แล็กทูโลส ยังมีฤทธิ์ทุติยภูมิในลำไส้ใหญ่ เพราะแบคทีเรียในลำไส้จะใช้แล็กทูโลสในการหมักดอง และสร้างเมแทบอไลต์เช่น แอซิเตต ซึ่งมีทั้งฤทธิ์ดูดน้ำ (ออสโมซิส) และกระตุ้นการบีบรูดของลำไส้ แต่ก็ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ด้วย เช่น มีเทน ที่เป็นสาเหตุของการผายลม
แบคทีเรียในโคลอน (ลำไส้ใหญ่) จะย่อยสลายแล็กทูโลส ให้กลายเป็นกรดไขมันห่วงโซ่สั้น ซึ่งรวมถึงกรดแล็กติกและกรดน้ำส้ม โดยกรดไขมันห่วงโซ่สั้นส่วนหนึ่งจะแยกตัวออก แล้วทำสิ่งที่อยู่ในโคลอนให้เป็นกรด ด้วยการเพิ่มความหนาแน่นของไฮโดรเจน ไอออน (H+) ในลำไส้ นอกจากนี้ยังช่วยเปลี่ยนแอมโมเนีย (NH3) ให้กลายเป็นแอมโมเนียม ไอออน (NH+
4) ซึ่งดูดซึมไม่ได้ จึงเท่ากับดักแอมโมเนียไว้ในลำไส้ และลดความเข้มข้นของแอมโมเนียในเลือด ดังนั้น แล็กทูโลสจึงมีประสิทธิผลรักษาโรคสมองจากตับ โดยแล็กทูโลสเป็นยาป้องกันระดับทุติยภูมิ ของโรคสมองจากตับ สำหรับคนไข้ที่มีตับแข็ง นอกจากนี้ งานวิจัยในปี ค.ศ. 2007 ยังพบว่า มีการทำงานทางประชานที่ดีกว่า สำหรับบุคคลที่มีตับแข็งและเป็นโรคสมองจากตับในระดับน้อยซึ่งรักษาด้วยแล็กทูโลส
สังคมและวัฒนธรรม
ชื่อ
แล็กทูโลส เป็นชื่อระหว่างประเทศที่ไม่มีเจ้าของ (INN) แล็กทูโลสถูกขายภายใต้ชื่อการค้าต่าง ๆ หลายชื่อ เช่น Cholac, Chronulac, Constilac, Generlac, Consulose, Constulose, Enulose, Kristalose, Duphalac และ ชื่อทางการค้าอื่น ๆ
การวางจำหน่าย
แล็กทูโลสเป็นยาสามัญ สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาในหลายประเทศ แต่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์เพื่อซื้อในสหรัฐ ไนจีเรีย และออสเตรีย
การใช้เป็นสารเติมแต่งอาหาร
ในหลายประเทศที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยาสำหรับซื้อแล็กทูโลส อาจใช้แล็กทูโลสเป็นสารเติมแต่งอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติและทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
การใช้ในเชิงสัตวแพทยศาสตร์
มีงานวิจัยรองรับว่า แล็กทูโลส สามารถใช้เป็นยาระบายในสัตว์ได้