Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
โคโรนาแว็ก
ขวดวัคซีนโคโรนาแว็ก
| |
รายละเอียดวัคซีน | |
---|---|
โรคที่เป็นข้อบ่งชี้ | โควิด-19 |
ชนิด | ไวรัสโควิด-19 ที่ฆ่าแล้ว (inactivated) |
ข้อมูลทางคลินิก | |
ช่องทางการรับยา | ฉีดในกล้ามเนื้อ |
รหัส ATC |
|
กฏหมาย | |
สถานะตามกฏหมาย | |
ตัวบ่งชี้ | |
DrugBank | |
โคโรนาแว็ก (อังกฤษ: CoronaVac) หรือวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแว็ก (อังกฤษ: Sinovac COVID-19 vaccine) เป็นวัคซีนไวรัสโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่บริษัทยาจีนคือซิโนแว็กไบโอเทค (เรียกสั้น ๆ ว่า ซิโนแว็ก) เป็นผู้พัฒนาขึ้นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ได้ทำในประเทศบราซิลชิลีอินโดนีเซียฟิลิปปินส์ และตุรกี เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมแล้วเหมือนกับวัคซีนโควิด-19 เชื้อตายอื่น ๆ รวมทั้งวัคซีนของซิโนฟาร์มและโคแว็กซินของบริษัทภารัตไบโอเทค วัคซีนไม่ต้องแช่แข็ง คือทั้งวัคซีนและวัตถุดิบของวัคซีนสามารถส่งโดยแช่เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิเดียวกับที่ใช้เก็บวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ผลการศึกษาจริงกับชาวชิลีเกินกว่า 10 ล้านรายที่ได้รับโคโรนาแว็กที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพระงับการติดเชื้อแบบแสดงอาการในอัตราร้อยละ 66, ลดการเข้าโรงพยาบาล ร้อยละ 88, และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 86 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ผลการศึกษาจริงกับบุคลากรทางแพทย์เกิน 128,000 คนในอินโดนีเซียพบว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการร้อยละ 94 ป้องกันการติดเชื้อที่ต้องเข้า รพ. ได้ร้อยละ 96 และป้องกันการเสียชีวิตได้ร้อยละ 98 ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 ผลเบื้องต้นของการศึกษาจริงกับประชากรร้อยละ 75 (จากประมาณ 46,000 คน) ผู้ได้รับวัคซีนนี้ในเมืองเซอร์ฮานา (Serrana) รัฐเซาเปาลู บราซิล แสดงว่า อัตราการติดเชื้อแบบแสดงอาการลดลงร้อยละ 80 การเข้าโรงพยาบาล ลดลงร้อยละ 86 และการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 95
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ผลการทดลองระยะที่ 3 จากบราซิลแสดงประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการที่ร้อยละ 50.7 และป้องกันจากการติดเชื้อที่มีอาการเบาแต่ต้องรักษาที่ร้อยละ 83.7 การป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62.3 ถ้าฉีดโดสที่สอง 21 วันหรือยิ่งกว่าหลังจากโดสแรก ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ผลการทดลองระยะที่ 3 สุดท้ายจากตุรกีแสดงประสิทธิศักย์ที่ร้อยละ 83.5
วัคซีนกำลังใช้ในโปรแกรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งประเทศในเอเชียอเมริกาใต้อเมริกาเหนือ และยุโรป จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทมีสมรรถภาพการผลิตวัคซีนถึง 2,000 ล้านโดสต่อปี และได้จัดส่งวัคซีนแล้ว 600 ล้านโดสทั่วโลก วัคซีนปัจจุบันผลิตในประเทศจีน แต่มีแผนจะผลิตในบราซิล (กันยายน 2021)อียิปต์ และฮังการี
ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2021 องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติโคโรนาแว็กให้อยู่ในรายการให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน ซึ่งในเวลานั้น มีคนได้ฉีดวัคซีนนี้แล้วเกิน 430 ล้านโดสทั่วโลก
ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ประเทศไทยได้สั่งวัคซีน 2 ล้านโดสแรก และขึ้นทะเบียนให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ แล้วเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในเดือนเดียวกัน จนถึงวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกัน ประเทศไทยได้รับวัคซีนนี้แล้วทั้งหมด 7.5 ล้านโดส
ความขัดแย้งทางการเมือง ความโปร่งใส และการขาดรายละเอียดข้อมูลทางการทดลองอาจก่อความไม่เชื่อใจในวัคซีนนี้
เทคโนโลยี
โคโรนาแว็กเป็นวัคซีนเชื้อตาย (inactivated) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีผลิตวัคซีนเดิมที่มีอยู่แล้ว เหมือนกับที่ใช้ในวัคซีนโปลิโอเชื้อตาย การผลิตวัคซีนเริ่มต้นที่การเพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ SARS-CoV-2 ด้วยวีโรเซลล์เป็นจำนวนมาก ๆ จากนั้นจึงชุบไวรัสลงในสารประกอบอินทรีย์คือเบตาโพรพิโอแล็กโทน (β-Propiolactone) ซึ่งฆ่าเชื้อโดยเข้าเชื่อมกับยีนของไวรัสแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับอนุภาคไวรัส ผลิตภัณฑ์ไวรัสที่ได้ก็จะเติมตัวเสริม (adjuvant) ที่เป็นสารประกอบเชิงอะลูมิเนียม
วัคซีนไม่ต้องแช่แข็งเป็นพิเศษ ทั้งวัคซีนและวัตถุดิบของวัคซีนสามารถส่งโดยแช่เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิเดียวกับที่ใช้เก็บวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นแช่ยาธรรมดาได้ถึง 3 ปี ซึ่งอาจเป็นข้อดีสำหรับการแจกจำหน่ายวัคซีนในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ไร้โซ่เย็น คือ สมรรถภาพในการเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่ต่ำมาก
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ วัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019#โซ่เย็น และโซ่เย็น
ประสิทธิภาพและประสิทธิศักย์ของวัคซีน
สถานการณ์จริง
ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 มีการประกาศผลงานศึกษาในเมืองเซอร์ฮานา (Serrana) รัฐเซาเปาลู บราซิล ที่มีประชากรประมาณ 46,000 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามให้วัคซีนโคโรนาแว็กแก่ประชาชนผู้ใหญ่ทั้งหมด คือหลังจากที่ประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 75 ได้รับวัคซีน ผลเบื้องต้นแสดงว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 95, การเข้า โรงพยาบาลลดลงร้อยละ 86 และการติดเชื้อแบบแสดงอาการลดลงร้อยละ 80 ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยผลิตผลทางชีวภาพ (Instituto Butantan) กล่าวว่า "ผลสำคัญสุดที่ได้ก็คือความเข้าใจว่าเราสามารถคุมการระบาดทั่วได้โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรทั้งหมด"
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 มีรายงานสถานการณ์จริงจากอินโดนีเซียซึ่งแสดงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ดีกว่าผลการทดลองทางคลินิก ซึ่งพบว่า บุคลากรทางแพทย์ที่ได้วัคซีนร้อยละ 94 ไม่ติดโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ ในบรรดาบุคลากรทางแพทย์ 128,290 คนในนครจาการ์ตา ผู้ที่ได้วัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 1 ติดโรคที่แสดงอาการ เทียบกับร้อยละ 8 ในกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีน วัคซีนยังลดความเสี่ยงต้องเข้าโรงพยาบาลได้ร้อยละ 96 และลดความเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 98 อีกด้วย
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 อุรุกวัยตีพิมพ์ข้อมูลสถานการณ์จริงกับประชากร 795,684 คนที่ได้รับวัคซีนนี้ทั้งสองโดสเกิน 14 วันจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนนี้ 8,298 คนตรวจเจอเชื้อ 45 คนได้รับเข้าห้องผู้ป่วยหนัก และ 35 คนเสียชีวิตเนื่องกับโควิด-19 ซึ่งชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพลดการติดโรคสำหรับคนอายุ 18-49 ปีร้อยละ 65 และสำหรับคนอายุ 50 ปีหรือยิ่งกว่าร้อยละ 62 มีประสิทธิภาพลดการต้องเข้าห้องผู้ป่วยหนักร้อยละ 95 และ 92 ตามลำดับ และมีประสิทธิภาพป้องกันความตายร้อยละ 95 สำหรับทั้งสองกลุ่ม ในกลุ่มบุคลากรทางแพทย์ที่ได้รับวัคซีนทั้งสองโดส วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 66 ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค และเต็มร้อยในการต้องเข้าห้องผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต
ในเดือนกรฎาคม ค.ศ. 2021 วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาจริงกับชาวชิลีประมาณ 10.2 ล้านรายที่ได้รับโคโรนาแว็กระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 โดยพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพระงับการติดเชื้อแบบแสดงอาการในอัตราร้อยละ 65.9, ลดการเข้าโรงพยาบาล ร้อยละ 87.5, ลดการเข้าห้องไอซียูร้อยละ 90.3 และลดการตายร้อยละ 86.3 งานศึกษาสรุปว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดโดย "สมกับผลการทดลองวัคซีนระยะที่ 2" ในเดือนเมษายน องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า งานศึกษานี้ทำอยู่ในขณะที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และแกมมา (บราซิล) กำลังระบาด
การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3
ในวันที่ 11 เมษายน งานทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในบราซิลที่ส่งแก่วารสารการแพทย์เดอะแลนซิต (แต่ยังไม่ได้การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน) แสดงว่า วัคซีนมีประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการร้อยละ 50.7 ป้องกันการติดเชื้อแบบอาการเบาแต่ต้องต้องรักษาร้อยละ 83.7 การป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62.3 ถ้าฉีดโดสที่สอง 21 วันหรือยิ่งกว่าหลังจากโดสแรก มีอาสาสมัคร 12,396 คนในงานที่ทำระหว่าง 21 กรกฎาคมจนถึง 16 ธันวาคม ค.ศ. 2020 อาสาสมัครทุกท่านได้รับวัคซีนหรือยาหลอกอย่างน้อยหนึ่งโดส โดย 9,823 คนได้ทั้งสองโดส
รายละเอียดที่ตีพิมพ์เพิ่มแสดงประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการที่ 50.65% (95% CI, 35.66–62.15%), ป้องกันการติดเชื้อที่ต้องรักษาที่ 83.70% (57.99–93.67%) และป้องกันกรณีที่รุนแรง หรือต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิตที่ 100.00% (56.37–100.00%) ในกลุ่มที่ได้ยาหลอกจำนวน 4,870 คน มีคนติดโรค 168 คน ในคนที่ติดโรค 30 คนจำเป็นต้องรักษาโดย 10 คนมีอาการหนักรวมทั้งคนหนึ่งที่เสียชีวิต ส่วนในกลุ่มที่ได้วัคซีน 4,953 คน มีคนติดโรค 85 คน และ 5 คนต้องรักษาโดยไม่มีคนใดมีอาการหนักหรือเสียชีวิต
ผลการทดลองระยะที่ 3 สุดท้ายในตุรกีแสดงประสิทธิศักย์ที่ร้อยละ 83.5 ซึ่งคำนวณจากอาสาสมัครที่ติดเชื้อ 41 คน ในบรรดาคนติดเชื้อ 32 คนได้ยาหลอก วัคซีนป้องกันการเข้า รพ. และการป่วยที่มีอาการรุนแรงได้เต็มร้อย โดยมีคนในกลุ่มยาหลอก 6 คนที่เข้า รพ. งานศึกษานี้มีอาสาสมัคร 13,000 คน
ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2021 รายงานเบื้องต้น (preliminary) จากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในประเทศชิลี ระบุว่า วัคซีนปลอดภัยและก่อภูมิต้านทานทั้งในน้ำเหลืองและที่เซลล์อำนวย โดยเกิดทั้งในผู้ใหญ่ (อายุระหว่าง 18-59 ปี) และคนชรา (60 ปีหรือยิ่งกว่า) เป็นผลเหมือนกับการทดลองระยะที่ 2 ก่อนที่ทำในจีนซึ่งแบ่งกลุ่มคนเช่นเดียวกัน และฉีดยาเหมือน ๆ กันคือ 2 โดสห่างกัน 14 วัน ผลไม่พึงประสงค์มีอาการเบาและเป็นเฉพาะที่ โดยหลักเป็นการเจ็บจุดที่ฉีด ซึ่งสามัญกว่าในผู้ใหญ่
อัตราการเกิดสารภูมิต้านทาน (seroconversion) ในผู้ใหญ่หลังจากได้วัคซีนโดสที่สอง 14-28 วันอยู่ที่ร้อยละ 95.6 สำหรับอิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ที่ต้าน S1-RBD (เป็น receptor binding domain ของหน่วยย่อย S1 ของโปรตีนหนามของโควิด-19) โดยเฉพาะ และที่ร้อยละ 96 สำหรับ IgG ทำลายฤทธิ์ (neutralizing) ส่วนสำหรับคนชรา อัตราการเกิด IgG ต้าน S1-RBD เต็มร้อยหลังวันที่ 14 และอยู่ที่ร้อยละ 87.5 หลังวันที่ 28 จากการได้วัคซีนโดสที่สอง และอัตราการเกิด IgG ทำลายฤทธิ์อยู่ที่ร้อยละ 90 หลังวันที่ 14 และเต็มร้อยหลังวันที่ 28 จากการได้โดสที่สอง
แม้วัคซีนจะมีโปรตีนเอ็นมาก แต่สารภูมิต้านทานแบบ IgG ที่ต่อต้านโปรตีนเอ็น (nucleocapsid protein) โดยเฉพาะก็เกิดน้อย ซึ่งเหมือนกับที่พบในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ดี ก็ยังเกิดเซลล์ทีเฮลเปอร์ (CD4+) ที่หลั่ง Interferon gamma (IFNγ) จำนวนมากซึ่งตรวจพบ 14 วันหลังได้วัคซีนทั้งสองโดสโดยเป็นการตอบสนองต่อการได้เพปไทด์ของโปรตีนเอส (S protein) และอนุภาคไวรัสอื่น ๆ ในคนชรา การตอบสนองต่อเพปไทด์ของโปรตีนเอสมีน้อยกว่าเพราะมี CD4+ แบบออกฤทธิ์ที่น้อยกว่าในคนกลุ่มนี้ ซึ่งก็พบเช่นกันในการศึกษาวัคซีนอื่น ๆ
ส่วนการตอบสนองด้วย cytotoxic T cell (CD8+) ไม่ได้ดีเท่า อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาของ CD4+ T cell จัดเป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่สมดุลและสามารถกำจัดไวรัสได้ เหมือนกับที่พบในวัคซีนโควิด-19 อื่น ๆ เช่น วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคและของแคนซิโนไบโอลอจิกส์
ความต่าง ๆ ของประสิทธิศักย์
เจ้าหน้าที่ในบราซิลระบุว่า ค่าประสิทธิศักย์ของวัคซีนที่ร้อยละ 50.4 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประกาศรวมเอากรณีคนติดโรคที่มีอาการ "เบามาก" อันไม่ได้รวมเข้าในการวิเคราะห์ครั้งก่อน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของสถาบันการวิจัยผลิตผลทางชีวภาพ (Instituto Butantan) ระบุว่า ค่าต่ำกว่าเพราะใช้มาตรฐานที่เข้มกว่าในการนับคนติดเชื้อในการทดลอง โดยสถาบันได้แบ่งคนติดเชื้อออกเป็นหกกรณีคือ ไม่แสดงอาการ อาการเบามาก อาการปานกลาง 2 ระดับ และอาการรุนแรง สองพวกแรกไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์ คำอธิบายต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ว่าทำไมประสิทธิศักย์จึงต่ำกว่ารวมทั้ง
- อาสาสมัครเป็นบุคลากรทางแพทย์จึงเสี่ยงติดไวรัสมากกว่า (การทดลองในตุรกีและอินโดนีเซีย อาสาสมัครมีลักษณะคล้าย ๆ กับกลุ่มประชากรทั่วไป)
- วัคซีนฉีดสองโดสโดยห่างกันสั้นกว่าทั่ว ๆ ไป (แค่สองสัปดาห์)
- คนติดเชื้อที่มีอาการเบามากนับอยู่ในส่วนว่า กันโรคไม่ได้
- สายพันธุ์แกมมาซึ่งติดได้ง่ายกว่าและอาจหลบภูมิคุ้มกันได้ กำลังระบาดในประเทศ
สายพันธุ์อื่น ๆ
ในวันที่ 10 มีนาคม ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัย Instituto Butantan แห่งบราซิลกล่าวว่า วัคซีนนี้ใช้ได้ผลกับสายพันธุ์โควิด-19 3 สายพันธุ์ที่มีในประเทศ คือ อัลฟา (อังกฤษ) เดลตา (แอฟริกาใต้) และ P.1.1.28 อย่างสุดท้ายเป็นบรรพบุรุษของสายพันธุ์แกมมา (บราซิล) ที่พบในเมืองมาเนาส์ และสายพันธุ์ซีตา (P.2) ที่พบในกรุงรีโอเดจาเนโร
เพราะวัคซีนนี้และวัคซีนโควิด-19 เชื้อตายอื่น ๆ มีส่วนทุกส่วนของไวรัสโควิด-19 จึงอาจทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดีกว่าวัคซีนอื่น ๆ ซึ่งมีเพียงแค่ส่วนบางส่วนของโปรตีนหนามที่ไวรัสอาศัยทำเซลล์ให้ติดเชื้อ ผลเบื้องต้นจากงานศึกษาขนาดใหญ่กับแพทย์พยาบาลแสดงนัยว่า วัคซีนนี้โดสหนึ่งมีผลร้อยละ 50 ต่อต้านการติดเชื้อที่แสดงอาการในเมืองมาเนาส์ ซึ่งเป็นเมืองที่กรณีติดโรคใหม่ ๆ ร้อยละ 75 เกิดจากสายพันธุ์แกมมาอันติดต่อได้ง่ายกว่า
การทดลองทางคลินิก
ระยะที่ 1-2
ในการทดลองระยะที่ 2 ที่เสร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 แล้วตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษเดอะแลนซิต วัคซีนโคโรนาแว็กก่อสารภูมิต้านทานแบบกำจัดฤทธิ์ (seroconversion, neutralising antibodies) ร้อยละ 92 ในอาสาสมัคร 118 คนในกลุ่มที่ให้ยา 3 ไมโครกรัม และร้อยละ 98 ในกลุ่ม 119 คนที่ให้ยา 6 ไมโครกรัม โดยให้วัคซีนสองครั้งในวันที่ 0 และ 14 นี่เทียบกับการให้ยาในวันที่ 0 และ 28 ที่เกิดสารภูมิต้านทานกำจัดฤทธิ์ที่ร้อยละ 97 สำหรับกลุ่มแรก (117 คน) และเต็มร้อยสำหรับกลุ่มที่สอง (118 คน)
ในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้เริ่มทดลองวัคซีนระยะที่ 1-2 ในประเทศจีนกับอาสาสมัครอายุเกิน 60 ปี และในเดือนกันยายนกับเด็กอายุระหว่าง 3-17 ปี ผลการทดลองระยะที่สองกับผู้สูงอายุได้พิมพ์ในวารสารการแพทย์เดอะแลนซิตซึ่งแสดงว่า วัคซีนปลอดภัยและทนรับได้ดีในคนสูงอายุ โดยวัคซีนขนาด 3 ไมโครกรัมและขนาด 6 ไมโครกรัมก่อสารภูมิต้านทานแบบกำจัดฤทธิ์พอ ๆ กัน
ระยะที่ 2-3
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ซิโนแว็กเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2-3 กับผู้มีอายุระหว่าง 60-80 จำนวน 352 คนในประเทศฟิลิปปินส์
ระยะ 2
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ซิโนแว็กเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะ 2b ในประเทศจีนกับอาสาสมัครเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 3-17 ปี
ระยะที่ 3
ละตินอเมริกา
ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 บริษัทได้เริ่มทดลองวัคซีนระยะที่ 3 เพื่อประเมินประสิทธิศักย์และความปลอดภัยกับบุคลากรทางแพทย์ 9,000 คนในประเทศบราซิล โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยบราซิล คือ Instituto Butantan วันที่ 19 ตุลาคม ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูระบุว่า ผลเบื้องต้นของงานศึกษาทางคลินิกในบราซิลได้พิสูจน์แล้วว่า ในบรรดาวัคซีนต่าง ๆ ที่กำลังทดลองอยู่ในบราซิล โคโรนาแว็กปลอดภัยที่สุด และมีอัตราการป้องกันโรคที่ดีสุด ในวันที่ 23 ตุลาคม รัฐจึงประกาศเปิดศูนย์อีก 6 แห่งเพื่อทดลองวัคซีนในอาสาสมัครเพิ่มโดยรวมเป็นจำนวน 13,000 คน
บราซิลระงับการทดลองระยะที่ 3 อย่างสั้น ๆ ในวันที่ 10 พฤศจิกายนหลังจากอาสาสมัครคนหนึ่งได้ฆ่าตัวตายโดยไม่เกี่ยวกับวัคซีนก่อนจะดำเนินการต่อในวันที่ 11
อนึ่ง ในต้นเดือนสิงหาคม ชิลีก็ได้เริ่มการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งจะรับอาสาสมัคร 3,000 คนผู้มีอายุระหว่าง 18-65 ปี
ยุโรป
ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2020 ตุรกีได้เริ่มการทดลองระยะที่ 3 กับอาสาสมัคร 13,000 คนโดยให้วัคซีน 2 โดสห่างกัน 14 วัน และทำที่ศูนย์ 25 แห่งในเมือง 12 เมืองทั่วประเทศ
เอเชีย
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 บริษัทประกาศการทดลองในบังกลาเทศโดยรับอาสาสมัคร 4,200 คน แต่หลังจากนั้นก็ได้หยุดชะงักเพราะบริษัทขอให้รัฐร่วมลงทุนด้วย แต่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันว่า บังกลาเทศจะได้วัคซีนนี้แม้ไม่ได้ทำการทดลอง
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 บริษัทเริ่มการทดลองระยะที่ 3 ในอินโดนีเซียร่วมกับบริษัทยาของรัฐคือไบโอฟาร์มาในบันดุงโดยรับอาสาสมัคร 1,620 คน ในเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยการแพทย์ในจังหวัดชวาตะวันตกคือ Padjadjaran University Medical School ให้อัปเดตว่า การทดลองกำลังดำเนินไปด้วยดี โดยอาสามัคร "อย่างมากก็เป็นไข้เล็กน้อยซึ่งหายไปเองภายในสองวัน"
ในเดือนตุลาคม ซิโนแว็กตกลงให้ซาอุดีอาระเบียแจกจำหน่ายวัคซีนแก่บุคลากรทางแพทย์ 7,000 คนหลังจากได้ดำเนินการทดลองระยะที่ 3 กับกองกำลังแห่งชาติคือ Saudi Arabian National Guard
การผลิต
ในเดือนเมษายน บริษัทระบุว่า โรงงานที่สามของบริษัทได้เริ่มผลิตองค์ประกอบของวัคซีนได้มากแล้ว ซึ่งเพิ่มสมรรถภาพการผลิตของบริษัทเป็นทวีคูณ คือเพิ่มเป็น 2,000 ล้านโดสต่อปี ส่วนในอินโดนีเซีย บริษัทของรัฐคือไบโอฟาร์มาจะผลิตวัคซีนให้ได้ 250 ล้านโดสต่อปี
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน บราซิลเริ่มสร้างโรงงานเพื่อผลิตวัคซีน 100 ล้านโดสต่อปี โดยวางแผนสร้างให้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูจึงระบุว่า ในขณะที่กำลังสร้างโรงงานอยู่ สถาบันวิจัยเองมุ่งบรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์ให้ได้ 1 ล้านโดสต่อวัน
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ในอียิปต์ รัฐบาลอนุมัติข้อตกลงเพื่อผลิตวัคซีน 80 ล้านโดสต่อปีเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาต่าง ๆ ในเดือนเดียวกัน บริษัทไบโอฟาร์มาของอินโดนีเซียได้บรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์แล้ว 35 ล้านโดส แต่ก็กำลังผจญกับปัญหาการไม่ได้องค์ประกอบวัคซีนพอจากประเทศจีน
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 บริษัท Pharmaniaga ในมาเลเซียได้รับอนุมัติให้บรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์จากประเทศ ในเดือนเดียวกัน ตุรกีได้ใบอนุญาตให้ผลิตโคโรนาแว็ก ในปลายเดือนนี้ ฮังการีประกาศข้อตกลงในการบรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์ โดยมีแผนจะผลิตเองทั้งหมดในโรงงานใหม่ในเมืองแดแบร็ตแซ็น
การตลาดและการแจกจำหน่าย
อนุมัติเต็มตัว
อนุมัติเป็นการฉุกเฉิน
ประเทศที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากโคแวกซ์
สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) กำลังตรวจพิจารณาเพื่ออนุมัติ
|
จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 จีนได้ผลิตส่งโคโรนาแว็กไปแล้ว 600 ล้านโดสทั่วโลก โดยได้ฉีดแล้ว 430 ล้านโดส องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2021
เอเชีย
ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 จีนได้อนุมัติให้ใช้โคโรนาแว็กเป็นการฉุกเฉินกับกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางแพทย์ แล้วในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก็ได้อนุมัติให้ใช้อย่างทั่วไป ในต้นเดือนมิถุนายนต่อมา จีนก็อนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินกับเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 3-17 ปี
ในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 อาเซอร์ไบจานเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนด้วยโคโรนาแว็ก โดยมีแผนซื้อวัคซีน 4 ล้านโดสแล้วฉีดให้แก่ประชากรร้อยละ 40 ของประเทศที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 กัมพูชาอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน แล้วเริ่มฉีดวัคซีนในปลายเดือนมีนาคมเมื่อได้รับวัคซีน 1.5 ล้านโดสแรก (มีประชากรประมาณ 16 ล้าน) โดยมีแผนสั่งเพิ่มอีก 4 ล้านโดส
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ฮ่องกงได้สั่งวัคซีนโคโรนาแว็กจำนวน 7.5 ล้านโดส (ประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน) การฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปก็เริ่มในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 อินโดนีเซียตกลงกับบริษัทให้ส่งวัคซีน 140 ล้านโดส โดยจะมีราคา 200,000 รูปียะฮ์ (ประมาณ 425 บาท หรือ 13.57 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อโดสเมื่อได้ (แต่ละคนต้องได้สองโดส) และได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินในกลางเดือนมกราคม 2021ประธานาธิบดีอินโดนีเซียโจโก วีโดโดได้รับวัคซีนโดสแรกการทดลองทางคลินิกในประเทศพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 65 ป้องกันกรณีติดโรคที่แสดงอาการทั้งหมด จนถึงเดือนพฤษภาคม ประเทศได้รับวัคซีนแล้ว 92.9 ล้านโดส
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 บริษัทตกลงส่งวัคซีนให้มาเลเซีย 12 ล้านโดส โดยวัคซีนได้อนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินต่อมาในเดือนมีนาคม รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกในกลางเดือนมีนาคมโดยเป็นการเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ปากีสถานอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน และได้สั่งวัคซีน 5 ล้านโดส
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศว่าได้สั่งซื้อโคโรนาแว็ก 25 ล้านโดส วัคซีนได้รับอนุมัติในปลายเดือนกุมภาพันธ์แต่ก็ไม่ให้ใช้กับแพทย์พยาบาลเพราะไม่ได้ผลดีเท่า โดยให้ใช้กับคนสุขภาพดีทั่วไปอายุระหว่าง 18-59 ปี วัคซีน 600,000 โดสแรกมาถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และก็เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในต้นเดือนมีนาคม จนถึงกลางเดือนมิถุนายน ประเทศได้รับวัคซีนทั้งหมดแล้ว 7.5 ล้านโดส
สิงคโปร์ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโคโรนาแว็กล่วงหน้า แล้วได้วัคซีนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ต่อมาในเดือนมิถุนายน จึงขึ้นทะเบียนให้ใช้เป็นวัคซีนทางเลือก
ประเทศไทย
ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ประเทศไทยได้สั่งวัคซีน 2 ล้านโดสแรก และลงทะเบียนให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ แล้วเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในเดือนเดียวกัน
ในวันที่ 4 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 321.6 ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 500,000 โดสโดย 290.24 ล้านบาทจะเป็นค่าวัคซีน คิดเป็นประมาณโดสละ 580 บาท (ประมาณ 18.5 ดอลลาร์สหรัฐ) ในวันที่ 20 พฤษภาคม องค์การเภสัชกรรมระบุว่า ไทยได้รับวัคซีนในเดือนนี้แล้ว 3.5 ล้านโดส รวมทั้งที่จีนบริจาคครึ่งล้านโดสซึ่งได้รับในวันที่ 14 พฤษภาคม รวมเป็นวัคซีนของบริษัทที่ไทยได้รับแล้วทั้งหมด 6 ล้านโดส วัคซีนที่ได้จะจัดเก็บและขนส่งโดยควบคุมอุณหภูมิซึ่งเป็นบริการของบริษัทดีเคเอสเอช (ประเทศไทย)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุในต้นเดือนมิถุนายนว่าระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนอีกทั้งหมด 11 ล้านโดสโดยแต่ละเดือนจะได้ 2.5-3 ล้านโดส ส่วนในเดือนมิถุนายนจะได้ 2.5 ล้านโดส คือ 5 แสนโดสในต้นเดือน 1 ล้านโดสตอนกลางเดือนและที่เหลือเมื่อสิ้นเดือน จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน ประเทศไทยได้รับวัคซีนนี้แล้วทั้งหมด 7.5 ล้านโดส
แอฟริกา
ยุโรป
ในเดือนพฤศจิกายน ตุรกีได้เซ็นสัญญาให้ส่งวัคซีนโคโรนาแว็ก 50 ล้านโดส (ประชากรประมาณ 82 ล้านคน) ระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ แล้วอนุมัติให้ใช้โคโรนาแว็กเป็นการฉุกเฉินในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2021 โดยประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอันเองได้รับวัคซีนโดสแรกในวันเดียวกันที่ รพ. อังการาซิตี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ตุรกีสั่งวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดสรวมทั้งหมดเป็น 100 ล้านโดส จนถึงเดือนมีนาคม ประเทศได้ให้วัคซีนแก่คนเกินกว่า 10.7 ล้านคนโดยมีคน 852 คนจาก 1.3 ล้านคนที่ได้วัคซีนทั้งสองโดสแต่ก็เป็นโรค และ 53 คนต้องเข้า รพ. แต่ไม่มีใครต้องสอดท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิต
ในเดือนมีนาคม แอลเบเนียเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนด้วยวัคซีนนี้เป็นหลัก หลังจากที่ได้วัคซีนล้านโดสจากตุรกี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 บอสเนียก็ได้รับบริจาควัคซีนนี้ 30,000 โดสจากตุรกีด้วย ในเดือนเดียวกัน นอร์เทิร์นไซปรัสได้รับวัคซีน 80,000 โดสจากตุรกี โดยจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 ก็ได้รับบริจาควัคซีนนี้จากตุรกีแล้ว 190,000 โดส
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ประเทศจอร์เจียได้รับบริจาควัคซีนแสนโดสจากจีน แล้วเริ่มฉีดให้ประชาชนในเดือนพฤษภาคม
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ยูเครนอนุมัติให้ใช้วัคซีน โดยบริษัทยาในประเทศ (Lekhim) ตกลงจะผลิตและส่งวัคซีนให้ 5 ล้านโดส แล้วการให้วัคซีนแก่ประชาชนก็เริ่มเมื่อวันที่ 13 เมษายน
ในเดือนเมษายน มอลโดวาก็ได้สั่งซื้อวัคซีน 400,000 โดส
ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 สำนักงานการแพทย์ยุโรปได้เริ่มตรวจพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้อย่างต่อเนื่อง
ในเดือนมิถุนายน นอร์ทมาซิโดเนียได้รับบริจาควัคซีนนี้ 30,000 โดสจากตุรกี
อเมริกาใต้
ในบราซิล ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูได้เซ็นสัญญามีมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,819 ล้านบาท) กับบริษัทในเดือนกันยายนเพื่อให้ส่งวัคซีนในเบื้องต้น 46 ล้านโดส ราคาวัคซีนประกาศว่าอยู่ที่ 10.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส (ประมาณ 323 บาท) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 บราซิลประกาศว่าจะซื้อวัคซีนโคโรนาแว็กทั้งหมด 100 ล้านโดส ต่อมาวันที่ 17 มกราคม องค์กรควบคุมสุขภาพบราซิล (Anvisa) จึงอนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแว็กเป็นการฉุกเฉิน ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ บราซิลระบุว่า จะสั่งวัคซีนเพิ่มอีก 30 ล้านโดสรวมเป็นทั้งหมด 130 ล้านโดส จนถึงต้นเดือนเมษายน บราซิลได้รับวัคซีนนี้ทั้งหมด 39.7 ล้านโดสแล้ว
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 โบลิเวียอนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแว็ก
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ชิลีได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีน 20 ล้านโดส แล้วอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินในวันที่ 20 มกราคม จนถึงต้นเดือนมีนาคม ชิลีได้รับวัคซีน 10 ล้านโดสและได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 4.1 ล้านคนแล้ว
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 โคลัมเบียได้สั่งวัคซีน 5 ล้านโดส โดยกำลังเจรจาเพื่อซื้อเพิ่มอีก 5 ล้านโดส และอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เอกวาดอร์ได้สั่งซื้อวัคซีน 2 ล้านโดสและได้อนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน โดยวัคซีนล้านโดสแรกมาถึงต้นเดือนเมษายน
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ปารากวัยได้วัคซีน 20,000 โดสที่ชิลีบริจาคให้ แล้วเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวันที่ 10 มีนาคม
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 อุรุกวัยได้ซื้อวัคซีน 1.75 ล้านโดสจากบริษัท โดย 192,000 โดสแรกมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์แล้วก็เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวันที่ 1 มีนาคม
อเมริกาเหนือ
จนถึงวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2021 สาธารณรัฐโดมินิกันได้ฉีดวัคซีนนี้ให้ประชาชน 400,000 คน (ประชากรทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน) และได้สั่งเพิ่มอีก 10 ล้านโดส
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เอลซัลวาดอร์ได้รับวัคซีน 1 ล้านโดสจาก 2 ล้านโดสที่ได้สั่งไว้ ครูของโรงเรียนรัฐจะได้รับโดสแรกระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เม็กซิโกอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน และสั่งวัคซีน 20 ล้านโดส จนถึงเดือนพฤษภาคม ประเทศได้รับวัคซีนแล้ว 7 ล้านโดส
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ปานามาอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน
ข้อขัดแย้ง
ความขัดแย้งทางการเมือง
ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลู (João Doria) เป็นผู้เป็นหลักสนับสนุนโคโรนาแว็กในบราซิล เป็นผู้ที่หลายคนเชื่อว่าจะลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับฌาอีร์ โบลโซนารูในปี 2022 การเผชิญหน้าทางการเมืองได้เริ่มในเดือนตุลาคม 2020 เมื่อโบลโซนารูวีโต้ข้อตกลงระหว่างกระทรวงสุขภาพบราซิลร่วมกับรัฐบาลรัฐเซาเปาลูเพื่อซื้อวัคซีน 46 ล้านโดส ต่อมาเมื่อสถาบัน Instituto Butantan ได้ประกาศประสิทธิศักย์ของวัคซีน โบลโซนารูก็ได้เยาะเย้ยประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านโควิด-19
ผู้ต่อต้านการทำวัคซีนให้เป็นเรื่องทางการเมืองได้เตือนว่า การไม่ทำตามเกณฑ์วิธีการทดสอบและเกณฑ์ความปลอดภัยทางสากลจะทำให้ประชาชนลังเลในการฉีดวัคซีน ในปลายปี 2020 แพทย์ในรัฐเซาเปาลูกล่าวว่า มีปัญหาทำให้คนไข้เชื่อใจว่าว่าวัคซีนโคโรนาแว็กนั้นปลอดภัย
โพลในเดือนมีนาคม 2021 พบว่า คนบราซิลเลือกวัคซีนโคโรนาแว็กและวัคซีนของแอสตราเซเนกาในอัตราร้อยละ 23.6 และ 21.2 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 11.3 ที่เลือกวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค เมื่อวุฒิสภาบราซิลได้ไต่สวนปัญหาการระบาดทั่วในบราซิล สมาชิกวุฒิสภาพได้ออกความเห็นว่า คำพูดต่อต้านจีนทำให้บราซิลได้ฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า
ความโปร่งใส
ในวันที่ 14 ธันวาคม 2020 สำนักงานควบคุมสาธารณสุขบราซิลระบุว่า การให้อนุมัติเพื่อใช้ในประเทศจีนไม่ใช่เรื่องเปิดเผย คือไม่มีข้อมูลว่าใช้กฎเกณฑ์อะไรในการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินในประเทศจีนเดือนมิถุนายน 2020
การขาดรายละเอียดข้อมูลทางการทดลอง
ในวันที่ 23 ธันวาคม 2020 นักวิจัยบราซิลแจ้งว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพเกินร้อยละ 50 แต่ก็ไม่เปิดเผยผลเต็มโดยทำตามคำขอของบริษัท ซึ่งสร้างคำถามอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับความโปร่งใสเนื่องจากเป็นการเลื่อนการเปิดเผยผลการทดลองเป็นครั้งที่สาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การไร้ความโปร่งใสด้านข้อมูลเสี่ยงลดความน่าเชื่อถือของโคโรนาแว็ก โดยเฉพาะเมื่อคนบราซิลและคนอื่น ๆ ทั่วโลกก็ลังเลในการรับวัคซีนอยู่ก่อนแล้ว
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- Interim recommendations for use of the inactivated COVID-19 vaccine, CoronaVac, developed by Sinovac (PDF) (Report). World Health Organization (WHO). May 2021.
- "Evidence Assessment: Sinovac/CoronaVac COVID-19 vaccine" (PDF). World Health Organization (WHO). April 2021.
- "COVID-19 Vaccine (Vero cell), Inactivated" (PDF). Sinovac. March 2021.
- Clinical Research Protocol for CoronaVac Phase III Trials in Brazil
- การศึกษาทางคลินิกหมายเลข NCT04551547 เรื่อง "Safety and Immunogenicity Study of Inactivated Vaccine for Prevention of COVID-19" ที่ ClinicalTrials.gov
- การศึกษาทางคลินิกหมายเลข NCT04456595 เรื่อง "Clinical Trial of Efficacy and Safety of Sinovac's Adsorbed COVID-19 (Inactivated) Vaccine in Healthcare Professionals (PROFISCOV)" ที่ ClinicalTrials.gov
- การศึกษาทางคลินิกหมายเลข NCT04651790 เรื่อง "Efficacy, Safety, and Immunogenicity of Two Vaccination Schedules of an Inactivated Vaccine Against COVID-19 in Adults (CoronaVac3CL)" ที่ ClinicalTrials.gov
- "How the Sinovac Vaccine Works". The New York Times.
การพัฒนา | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
กลุ่ม | |||||||||||
การจัดการ |
|
||||||||||
วัคซีน |
|
||||||||||
เรื่องโต้แย้ง | |||||||||||
บทความที่สัมพันธ์กัน | |||||||||||