Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

โมเลคิวลาร์แกสโตรโนมี


ศาสตร์แห่งอาหารการกินเชิงโมเลกุล หรือบางครั้งนิยมเรียกทับศัพท์ โมเลคิวลาร์แกสโตรโนมี หรือ โมเลกูลาร์ แกสทรอโนมี (อังกฤษ: molecular gastronomy) เป็นสาขาย่อยของวิทยาศาสตร์การอาหารที่มุ่งค้นคว้าวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์และทางเคมีของส่วนผสมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำอาหาร แผนงานของศาสตร์นี้ประกอบไปด้วยสามด้านเนื่องจากการทำอาหารได้รับการยอมรับว่ามีองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่ สังคม ศิลปะ และเทคนิค อาหารเชิงโมเลกุลเป็นรูปแบบการทำอาหารสมัยใหม่อย่างหนึ่ง และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคนิคมากมายจากวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ
ศัพท์ Molecular and Physical Gastronomy ("ศาสตร์แห่งอาหารการกินเชิงโมเลกุลและเชิงฟิสิกส์") ได้รับการบัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2531 โดยนิโคลัส เคอร์ตี นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และแอร์เว ติส นักเคมีจากสถาบันวิจัยการเกษตรแห่งชาติฝรั่งเศส ศัพท์นี้แต่เดิมบัญญัติขึ้นเพื่อใช้หมายถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของการทำอาหารเท่านั้น แต่ต่อมาหลายคนได้นำไปใช้เรียกวิธีการปรุงอาหารหรืออธิบายรูปแบบของอาหารโดยตรง อย่างไรก็ตาม หัวหน้าคนครัวบางคนที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์นี้ก็ปฏิเสธการใช้ศัพท์ดังกล่าว เช่น ฟาร์รัน อาดริอา หัวหน้าคนครัวชาวกาตาลา ไม่ชอบศัพท์ molecular gastronomy และพอใจที่จะใช้ศัพท์ deconstructivist ("แยกส่วนแล้วประกอบขึ้นใหม่") เพื่ออธิบายรูปแบบการทำอาหารของเขามากกว่า