Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
โรคพยาธิหอยโข่ง
โรคพยาธิหอยโข่ง | |
---|---|
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ |
โรคพยาธิหอยโข่งหรือโรคพยาธิปอดหนู (อังกฤษ: Angiostrongyliasis) เป็นโรคติดเชื้อพยาธิหอยโข่งหรือพยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) จากการทานหอยทาก ทากหรือมอลลัสกาที่ดิบหรือปรุงไม่สุก รวมถึงทานผักและผลไม้หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด การติดเชื้อพยาธิหอยโข่งในมนุษย์ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการร้ายแรง อาจมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางจนถึงขั้นเสียชีวิต
พยาธิหอยโข่งเป็นนีมาโทดาที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงในปอดของหนู จึงมีอีกชื่อคือพยาธิปอดหนู (rat lungworm) ตัวเต็มวัยมีลักษณะเรียว ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ไข่พยาธิจะอาศัยอยู่ในมูลของหนู ซึ่งเป็นอาหารของทากหรือมอลลัสกา เมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อเข้าไปจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน อาการแรกเริ่มได้แก่ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนและอ่อนแรง ก่อนจะมีไข้ ปวดคอและศีรษะ รวมถึงมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทและดวงตา
การตรวจหาพยาธิหอยโข่งเป็นไปได้ยาก แพทย์จึงใช้วิธีการตรวจอีโอซิโนฟิลในน้ำหล่อสมองไขสันหลังเพื่อวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการสแกนสมองและตรวจสารน้ำในร่างกาย การรักษานิยมใช้ยาฆ่าพยาธิ เช่น อัลเบนดาโซล (albendazole), มีเบนดาโซล (mebendazole) หรือไอเวอร์เมกติน (ivermectin) ร่วมกับยาแก้อักเสบ วิธีป้องกันมักมีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทานทากหรือมอลลัสกาดิบและการดื่มน้ำที่ปนเปื้อน
แหล่งข้อมูลอื่น
- "Angiostrongyliasis". World Health Organization.
- "Angiostrongyliasis". MSD Manual Professional Edition.
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |