Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
โรคโปลิโอ
โรคโปลิโอ (Poliomyelitis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Poliomyelitis, infantile paralysis |
ผู้ป่วยโปลิโอมีขาขวาฝ่อลีบ | |
การออกเสียง | |
สาขาวิชา | ประสาทวิทยา, โรคติดเชื้อ |
อาการ | กล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้เป็นอัมพาต |
ภาวะแทรกซ้อน | กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ |
การตั้งต้น | ไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน |
สาเหตุ | ไวรัสโปลิโอ แพร่กระจายทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ |
วิธีวินิจฉัย | ตรวจหาไวรัสในอุจจาระ หรือตรวจหาแอนติบอดีในเลือด |
การป้องกัน | วัคซีนโรคโปลิโอ |
การรักษา | การรักษาตามอาการ |
ความชุก | 136 คน (ค.ศ. 2018) |
โรคโปลิโอ (อังกฤษ: poliomyelitis, polio, infantile paralysis) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลันซึ่งติดต่อจากคนสู่คนทางอุจจาระ-ปาก ชื่อนี้มาจากภาษากรีกว่า πολιός (poliós) หมายถึง สีเทา, µυελός (myelós) หมายถึงไขสันหลัง และคำอุปสรรค -itis หมายถึงการอักเสบ
การติดเชื้อโปลิโอกว่า 90% จะไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ โดยผู้ติดเชื้ออาจมีอาการได้หลายอย่างหากได้รับไวรัสเข้ากระแสเลือด ผู้ป่วย 1% จะมีการติดเชื้อไวรัสเข้าสู่ระบบประสาทกลาง ทำให้เซลล์ประสาทสั่งการถูกทำลาย ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอัมพาตอ่อนเปียก ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเส้นประสาทที่ถูกทำลาย รูปแบบที่พบบ่อยที่สุดคือโปลิโอไขสันหลัง ซึ่งทำให้มีอาการอ่อนแรงแบบไม่สมมาตรมักเป็นที่ขา โปลิโอก้านสมองส่วนท้ายทำให้เกิดการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทสมอง โปลิโอไขสันหลังและก้านสมองส่วนท้ายจะทำให้มีอาการร่วมกันทั้งการอัมพาตก้านสมองส่วนท้ายและไขสันหลัง
โรคโปลิโอค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1840 โดย Jakob Heine ส่วนไวรัสโปลิโอซึ่งเป็นสาเหตุของโรคถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1908 โดยคาร์ล ลันท์ชไตเนอร์ แม้จะไม่มีบันทึกว่ามีการระบาดของโปลิโอก่อนปลายศตวรรษที่ 19 แต่โปลิโอก็เป็นโรคในเด็กที่ก่อปัญหาสาธารณสุขมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การระบาดของโปลิโอทำให้มีผู้พิการหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และเป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการและการเสียชีวิตมากที่สุดโรคหนึ่งในประวัติศาสตร์ โปลิโอระบาดในพื้นที่เล็ก ๆ มานับพันปี ก่อนที่จะมีการระบาดครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 ในยุโรป และต่อมาจึงระบาดไปยังสหรัฐอเมริกา
ช่วง ค.ศ. 1910 จำนวนผู้ป่วยโปลิโอเพิ่มสูงขึ้นมาก มีการระบาดบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่ในเขตชุมชนช่วงอากาศร้อน การระบาดเหล่านี้ทำให้มีผู้ป่วยอัมพาตเพิ่มขึ้นหลายพันคน จึงมีการกระตุ้นให้เกิด "การแข่งขันครั้งใหญ่" (The Great Race) เพื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาให้ได้ จนสำเร็จในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 วัคซีนโปลิโอที่ผลิตขึ้นมานี้ทำให้จำนวนผู้ป่วยโปลิโอทั่วโลกลดลงจากหลายแสนคนต่อปีเหลือไม่ถึงหนึ่งพันคนต่อปีในปัจจุบันโรตารีสากล องค์การอนามัยโลก และ UNICEF กำลังดำเนินการเพื่อให้คนทั่วโลกได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือกำจัดโปลิโอให้หมดไปจากโลก
การจำแนกประเภท
"โรคโปลิโอ" (poliomyelitis) เป็นคำที่ใช้ระบุถึงโรคที่เกิดจากไวรัสโปลิโอชนิดใดชนิดหนึ่งจาก 3 ซีโรทัยป์ มีการบรรยายแบบแผนของการติดเชื้อโปลิโอแบบทั่วไปเอาไว้สองรูปแบบ ได้แก่ โรคที่เป็นเล็กน้อย ซึ่งไม่ลุกลามเข้าถึงระบบประสาทส่วนกลาง แบบนี้บางครั้งเรียกว่า abortive poliomyelitis และโรคที่เป็นมาก ลุกลามเข้าถึงระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยอาจมีอาการอัมพาตหรือไม่มีก็ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเป็นปกติส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อโปลิโอจะไม่แสดงอาการ หรืออาจทำให้เกิดอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น แสดงอาการเป็นการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนบน (เช่น มีไข้ เจ็บคอ) มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก หรืออาจพบเป็นท้องร่วงได้ แต่น้อย) หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
การระบาด
ประเทศ | ผู้ป่วยจากธรรมชาติ | ผู้ป่วยจากวัคซีน | สถานภาพการระบาด | ชนิด |
---|---|---|---|---|
อัฟกานิสถาน | 21 | 0 | ประจำถิ่น | WPV1 |
ปากีสถาน | 12 | 0 | ประจำถิ่น | WPV1 |
DRC | 0 | 20 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV2 |
อินโดนีเซีย | 0 | 1 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV1 |
โมซัมบิก | 0 | 1 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV2 |
ไนเจอร์ | 0 | 10 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV2 |
ไนจีเรีย | 0 | 34 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV2 |
ปาปัวนิวกินี | 0 | 26 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV1 |
โซมาเลีย | 0 | 12 | เฉพาะวัคซีน | cVDPV2/3 |
รวม | 33 | 104 |
แม้ว่าปัจจุบันโรคโปลิโอจะพบน้อยในโลกตะวันตก แต่โรคโปลิโอยังพบประจำถิ่นในเอเชียใต้และทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศปากีสถานและไนจีเรียตามลำดับ นับแต่มีการใช้วัคซีนโปลิโอไวรัสอย่างกว้างขวางในกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 อุบัติการณ์ของโรคโปลิโอลดลงอย่างมากในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ
ความพยายามในการกำจัดโปลิโอทั่วโลกเริ่มต้นใน ค.ศ. 1988 โดยมีองค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟและมูลนิธิโรตารีเป็นผู้นำ ความพยายามเหล่านี้ลดจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยต่อปีลง 99% จากผู้ป่วยที่ประเมิน 350,000 คนใน ค.ศ. 1988 เหลือเพียง 483 คนใน ค.ศ. 2001 ซึ่งหลังจากปีนั้น จำนวนผู้ป่วยยังคงที่อยู่ที่ระดับราว 1,000 คนต่อปี (1,606 คนใน ค.ศ. 2009) ใน ค.ศ. 2012 ผู้ป่วยลดลงเหลือ 223 คน โปลิโอเป็นหนึ่งในสองโรคที่เป็นหัวข้อโครงการกำจัดทั่วโลกในปัจจุบัน อีกโรคหนึ่งคือ โรคพยาธิกินี จวบจนปัจจุบัน โรคสองชนิดที่ถูกมนุษย์กำจัดไปอย่างสมบูรณ์คือ โรคฝีดาษ ซึ่งหมดไปใน ค.ศ. 1979 และโรครินเดอร์เปสต์ ใน ค.ศ. 2010
ปัจจุบันหลายภูมิภาคในโลกได้รับการประกาศแล้วว่าปลอดโรคโปลิโอ ทวีปอเมริกาได้รับการประกาศใน ค.ศ. 1994 ใน ค.ศ. 2000 มีการประกาศว่าโปลิโอถูกกำจัดอย่างเป็นทางการในประเทศแปซิฟิกตะวันตก 37 ประเทศ รวมถึงประเทศจีนและออสเตรเลีย ทวีปยุโรปได้รับการประกาศว่าปลอดโปลิโอใน ค.ศ. 2002 ใน ค.ศ. 2013 โปลิโอยังประจำถิ่นในสามประเทศเท่านั้น คือ ไนจีเรีย ปากีสถานและอัฟกานิสถาน แม้ว่าจะยังก่อโรคระบาดทั่วในประเทศใกล้เคียงอื่นได้เนื่องจากการแพร่เชื้อแบบซ่อนหรือกลับมามีอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น มีการยืนยันว่ามีการระบาดทั่วในประเทศจีนเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 แม้ว่าโรคโปลิโอในประเทศจีนจะถูกกำจัดหมดไปแล้วเมื่อสิบปีก่อน โดยสายพันธุ์โปลิโอที่ก่อโรคนั้นเป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีรายงานผู้ป่วยการติดเชื้อโรคโปลิโอจากธรรมชาติในประเทศอินเดียตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2011 และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ประเทศอินเดียถูกนำออกจากรายการประเทศซึ่งโปลิโอประจำถิ่นขององค์การอนามัยโลก
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2014 องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโรคโปลิโอถูกกำจัดหมดไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยสิบเอ็ดประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์-เลสเต
แหล่งข้อมูลอื่น
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: โรคโปลิโอ |
วิกิพจนานุกรม มีความหมายของคำว่า Polio |
- A History of Polio (Poliomyelitis) โครงการประวัติวัคซีนโปลิโอโดยวิทยาลัยแพทย์ฟิลาเดลเฟีย
- โรคโปลิโอ ที่เว็บไซต์ Curlie
- Jennie Vásquez-Solís (1996), "Fermín: Making Polio History", Perspectives in Health, Pan American Health Organization, 1 (2), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 – ผู้ป่วยโปลิโอคนสุดท้ายในสหรัฐอเมริกา
- "John Prestwich – 40 years a layabout". 2004 [เมษายน 1996]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กรกฎาคม 2011. – ผู้ป่วยโปลิโอชาวอังกฤษซึ่งรอดชีวิต
- "Polio: A Virus' Struggle" (PDF), The Science Creative Quarterly, The University of British Columbia – หนังสือการ์ตูนสั้น
- Polio-related photos จากนิตยสาร Life
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
Inflammation |
|
||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
Brain/ encephalopathy |
|
||||||||||||||||||||||||
Spinal cord/ myelopathy |
|||||||||||||||||||||||||
Both/either |
|
||||||||||||||||||||||||
|
หอสมุดแห่งชาติ | |
---|---|
อื่น ๆ |