Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
(Gastroenteritis)
ชื่ออื่น Gastro, stomach bug, stomach virus, stomach flu, gastric flu, gastrointestinitis
Gastroenteritis viruses.jpg
ภาพไวรัสต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เป็นภาพถ่ายกำลังขยายเท่ากัน สามารถเปรียบเทียบขนาดของไวรัสแต่ละชนิดได้: A = ไวรัสโรต้า, B = ไวรัสอะดีโน, C = ไวรัสโนโร, และ D = ไวรัสแอสโตร
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ, วิทยาทางเดินอาหาร
อาการ อุจจาระร่วง, อาเจียน, ปวดท้อง, มีไข้
ภาวะแทรกซ้อน ภาวะขาดน้ำ
สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัส, แบคทีเรีย, ปรสิต, เชื้อรา
วิธีวินิจฉัย วินิจฉัยจากอาการ, อาจส่งอุจจาระเพาะเชื้อในบางกรณี
โรคอื่นที่คล้ายกัน โรคลำไส้อักเสบไอบีดี, กลุ่มอาการดูดซึมสารอาหารบกพร่อง, ภาวะไม่ทนต่อแลกโตส
การป้องกัน การล้างมือ, ดื่มน้ำสะอาด, ขับถ่ายของเสียให้ถูกสุขอนามัย, ให้ทารกกินนมแม่
การรักษา สารละลายชดเชยการขาดน้ำแบบกินทางปาก (ประกอบด้วยน้ำ เกลือแกง และน้ำตาล), การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
ความชุก 2.4 พันล้านคน (ค.ศ. 2015)
การเสียชีวิต 1.3 ล้านคน (ค.ศ. 2015)

กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (อังกฤษ: gastroenteritis) หรือ ท้องร่วงจากการติดเชื้อ (อังกฤษ: infectious diarrhea) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะในทางเดินอาหาร ได้แก่กระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอุจจาระร่วง อาเจียน และปวดท้องได้ บางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย และขาดน้ำร่วมด้วย ส่วนใหญ่เป็นอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เรียกว่ากระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute gastroenteritis)

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และมีบางส่วนเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา เด็กที่ป่วยภาวะนี้และมีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ส่วนในผู้ใหญ่ที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสโนโรและเชื้อแบคทีเรียแคมไพโลแบกเตอร์ พฤติกรรมที่ทำให้โรคแพร่กระจายได้แก่ กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย การรักษาส่วนใหญ่จะเหมือน ๆ กันไม่ว่าจะมีเชื้อใดเป็นสาเหตุ ดังนั้นโดยทั่วไปจะไม่นิยมส่งตรวจหาเชื้อ

การป้องกันทำได้โดยล้างมือด้วยสบู่ ดื่มน้ำสะอาด ให้ทารกกินนมแม่แทนนมชง และขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ ในเด็กแนะนำให้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าด้วยวัคซีน การรักษาที่สำคัญคือการชดเชยสารน้ำ ในรายที่ป่วยเล็กน้อยหรือปานกลางสามารถทำได้ด้วยวิธีกินสารละลายชดเชยสารน้ำที่ผสมจากน้ำสะอาด เกลือแกง และน้ำตาล ทารกที่กินนมแม่แนะนำให้กินนมแม่ต่อไป ในรายที่ป่วยรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับสารน้ำผ่านการให้ทางหลอดเลือดดำ หรืออาจให้ผ่านสายสวนกระเพาะอาหารทางจมูก ในเด็กแนะนำให้เสริมแร่ธาตุสังกะสี ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ในเด็กเล็กที่มีไข้และมีอุจจาระเป็นมูกเลือดแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมในการรักษาด้วย

ข้อมูล ค.ศ. 2015 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบราว 2 พันล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1.3 ล้านคน กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กและคนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยข้อมูล ค.ศ. 2011 มีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ป่วยจากภาวะนี้ราว 1.7 พันล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 7 แสนคน เด็กอายุไม่เกิน 2 ปีในประเทศพัฒนาแล้วจะป่วยจากภาวะนี้ประมาณปีละ 6 ครั้ง หรือมากกว่า ในผู้ใหญ่จะพบภาวะนี้ได้น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะภูมิคุ้มกันพัฒนาแล้ว ชื่อภาษาอังกฤษของภาวะนี้ชื่อหนึ่งคือ stomach flu ("ไข้หวัดใหญ่ที่กระเพาะอาหาร") ซึ่งเป็นการเรียกชื่อที่ไม่ตรงกับสาเหตุของโรค ภาวะนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบส่วนใหญ่จะทั้งอาการอาเจียนและถ่ายเหลว แต่อาจมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อาจปวดท้องร่วมด้วยได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อมาเป็นเวลา 12–72 ชั่วโมง หากเป็นจากการติดเชื้อไวรัสจะหายได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ อาการอื่นที่อาจพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากอุจจาระมีเลือดปนอาจเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่าจะเป็นจากไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจทำให้มีอาการปวดท้องต่อเนื่องได้หลายสัปดาห์

เด็กที่ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโรต้ามักหายได้เองภายใน 3–8 วัน อย่างไรก็ดีเด็กในประเทศยากจนอาจมีความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาสำหรับกรณีที่เป็นรุนแรง ซึ่งอาจทำให้มีภาวะถ่ายเหลวเรื้อรังตามมาได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือการขาดน้ำ หากผู้ป่วยเด็กขาดน้ำรุนแรงอาจทำให้มีผิวหนังแข็งจับตั้งแล้วคืนตัวได้ช้า เรียกว่าภาวะสูญเสียความยืดหยุ่นของผิวหนัง (poor skin turgor) และอาจมีความเร็วเลือดไหลกลับคืนหลอดเลือดฝอยช้าลง (prolonged capillary refill) ได้ด้วย รายที่ขาดน้ำรุนแรงมากอาจมีอาการหายใจลำบากเพิ่มได้อีก ในพื้นที่ที่สุขลักษณะไม่ดีและขาดแคลนสารอาหารอาจทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำได้บ่อย ซึ่งทำให้เกิดภาวะไม่เจริญเติบโตและสติปัญญาบกพร่องตามมาได้

ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียแคมไพโลแบกเตอร์ประมาณ 1% จะมีข้ออักเสบแบบปฏิกิริยาตามมาในภายหลัง และ 0.1% จะเกิดกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร รายที่ติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษชิกา หรือติดเชื้อชิเกลลา อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย (HUS) ตามมาได้ ผู้ป่วยที่มี HUS จะมีเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และเลือดจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะนี้มีโอกาสเกิดในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ นอกจากนี้แล้วการติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคลมชักแบบไม่รุนแรงในทารกได้ด้วย

สาเหตุ

กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (โดยเฉพาะไวรัสโรต้า) และแบคทีเรีย เช่น อี. โคไล และ แคมไพโลแบกเตอร์ อย่างไรก็ดียังอาจเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ เช่น ปรสิต และเชื้อรา เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อได้ แต่พบได้น้อยกว่ามาก เด็กมีโอกาสป่วยมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และยังไม่สามารถปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัยได้ เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้จะมีโอกาสป่วยสูงขึ้นไปอีก

การติดเชื้อ

ไวรัส

เป็นที่ทราบกันว่าการติดเชื้อไวรัสโรตา, ไวรัสโนโร, ไวรัสอะดีโน และไวรัสแอสโตร เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากไวรัส ไวรัสโรตาเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก และมีอัตราใกล้เคียงกันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ไวรัสโรตาทำให้เกิดอาการท้องร่วงติดเชื้อประมาณ 70% ในกลุ่มอายุเด็ก แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่จากการมีภูมิคุ้มกันแบบรับมา ไวรัสโนโรเป็นสาเหตุประมาณ 18% ของผู้ป่วยทุกกรณี กล่าวโดยทั่วไป โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุถึง 21–40% ของกรณีผู้ป่วยโรคท้องร่วงติดเชื้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ไวรัสโนโรเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบในผู้ใหญ่ในสหรัฐซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของการระบาดของไวรัสก่อโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบโรคระบาดเฉพาะถิ่นเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเช่น บนเรือสำราญ ในโรงพยาบาล หรือในร้านอาหาร ผู้คนอาจยังคงติดเชื้อแม้หลังจากอาการท้องร่วงสิ้นสุดลงแล้ว และไวรัสโนโรเป็นสาเหตุประมาณ 10% ในผู้ป่วยเด็ก

แบคทีเรีย

Salmonella enterica serovar Typhimurium (ATCC 14028) ภาพจากกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 1,000 เท่าหลังจากการย้อมสีแกรม

ในบางประเทศ Campylobacter jejuni เป็นสาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากแบคทีเรีย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกรณีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับสัตว์ปีกแบคทีเรียเป็นสาเหตุประมาณ 15% ของกรณีผู้ป่วยเด็กทั้งหมด โดยชนิดของแบคทีเรียที่พบมากที่สุดคือสายพันธุ์ของ Escherichia coli, Salmonella, Shigella และ Campylobacter หากอาหารปนเปื้อนแบคทีเรียและยังคงอยู่ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายชั่วโมง แบคทีเรียจะทวีคูณจำนวนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ที่รับประทานอาหารนั้น อาหารที่มักเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่ดิบหรือปรุงไม่สุก, ถั่วงอกดิบ, นมไม่พาสเจอร์ไรส์และชีสเนื้ออ่อน, น้ำผักและผลไม้ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราและเอเชีย การติดเชื้ออหิวาตกโรคเป็นสาเหตุทั่วไปของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โดยมักติดต่อจากน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน

แบคทีเรียก่อชีวพิษ Clostridium difficile เป็นสาเหตุสำคัญของอาการท้องร่วงที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุทารกสามารถเป็นพาหะของแบคทีเรียเหล่านี้ได้โดยไม่แสดงอาการใด ๆ โดยเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงในผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมักเกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะ โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อ Staphylococcus aureus อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ "อาการท้องร่วงของนักเดินทาง" ซึ่งเกิดเฉียบพลันมักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ในขณะที่อาการเรื้อรังมักเกิดจากการติดเชื้อปรสิตยายับยั้งการหลั่งกรดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญหลังจากได้รับเชื้อหลายชนิด รวมทั้งเชื้อ Clostridium difficile, Salmonella และ Campylobacter ความเสี่ยงในผู้ที่ใช้ยาชนิดยับยั้งการขับโปรตอนมีมากกว่าสารต้านตัวรับเอช 2

ปรสิต

มีปรสิตอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบได้หลายชนิด ที่พบบ่อยที่สุดคือจิอาร์เดีย แลมเบลีย ชนิดอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น อี. ฮิสโตไลติกา และคริปโตสปอริเดียม เป็นต้น นับรวม ๆ แล้วพบเป็นสาเหตุได้ถึง 10% ของผู้ป่วยเด็กที่มีกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ชนิดที่เกิดจากจิอาร์เดียพบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็สามารถพบได้เกือบทุกที่ โดยเฉพาะในคนที่เดินทางไปยังพื้นที่ระบาด เด็กในศูนย์เลี้ยงเด็ก ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และหลังเกิดภัยพิบัติ

การแพร่เชื้อ

การแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นจากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนหรือเมื่อผู้คนแบ่งปันสิ่งของส่วนตัว คุณภาพน้ำโดยทั่วไปจะแย่ลงในฤดูฝนและมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้ ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นการติดเชื้อจะพบได้บ่อยในฤดูหนาว การป้อนนมทารกด้วยขวดที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุสำคัญทั่วโลก อัตราการแพร่เชื้อยังสัมพันธ์กับสุขอนามัยที่ไม่ดี (โดยเฉพาะในเด็ก) ในครัวเรือนที่มีสมาชิกจำนวนมาก และในผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี ผู้ใหญ่ที่พัฒนาภูมิคุ้มกันแล้วยังอาจเป็นพาหะของเชื้อบางชนิดโดยไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงอาจกลายเป็นรังโรคตามธรรมชาติ ในขณะที่เชื้อบางชนิด (เช่นแบคทีเรียสกุล Shigella) ก่อโรคในไพรเมตเท่านั้น เชื้ออื่น ๆ (เช่นปรสิตสกุล Giardia) อาจก่อให้เกิดโรคในสัตว์หลายชนิด

สาเหตุอื่น

มีสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหารได้โดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ที่พบบ่อย เช่น ยาบางชนิด (เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์), อาหารบางชนิด เช่น นมที่มีแลกโตส (ในผู้ที่มีความไม่ทนต่อแลกโตส), และ กลูเตน (ในผู้ป่วยโรคซีลีแอก) โรคโครห์นก็เป็นอีกโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีลำไส้อักเสบโดยไม่ต้องมีการติดเชื้อ และอาจเป็นได้รุนแรง บางครั้งอาจมีการอักเสบจากการได้รับสารพิษ ซึ่งพิษที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว โรคอื่น ๆ เช่น การเป็นพิษจากซิกัวเทอรา เกิดจากการกินปลาที่สะสมสารพิษเอาไว้, การเป็นพิษจากสครอมบอยด์ เกิดจากการกินปลาบางชนิดที่เน่าเสีย, การเป็นพิษจากเตโตรโดท็อกซิน จากการกินปลาปักเป้า และ การเป็นพิษจากโบทูลินัม จากการกินอาหารกระป๋องที่เก็บไม่ดี เป็นต้น

ในสหรัฐพบว่าอัตราการเข้าใช้บริหารที่ห้องฉุกเฉินจากภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใน ค.ศ. 2011 ลดลงจาก ค.ศ. 2006 ประมาณ 30% โดยในบรรดาโรคที่นำผู้ป่วยมารับบริการที่ห้องฉุกเฉินบ่อยที่สุด 20 อันดับแรก จำนวนผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด

การวินิจฉัย

ส่วนใหญ่แล้ววินิจฉัยโดยดูจากอาการและอาการแสดงทางคลินิก การตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะนี้มักไม่จำเป็น เนื่องจากไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา

กรณีที่ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจอุจจาระด้วยการเพาะเชื้อ ได้แก่ กรณีที่ถ่ายเป็นเลือด, กรณีที่อาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ และกรณีที่เดินทางกลับมาจากประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้อาจควรทำในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, ผู้สูงอายุ, และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ยังอาจตรวจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวังโรค ผู้ป่วยที่เป็นทารกและเด็กเล็กประมาณ 10% อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วย จึงแนะนำให้ตรวจระดับกลูโคสในเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในรายที่มีภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจต้องตรวจอีเล็กโตรลัยต์ในเลือดและตรวจการทำงานของไตร่วมด้วย

การรักษา

ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบส่วนใหญ่หายได้เองและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ การรักษาที่จะได้ประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งมีภาวะขาดน้ำระดับเล็กน้อยถึงปานกลางคือการชดเชยน้ำด้วยการกินสารละลายเกลือแร่ ในเด็กเล็กบางรายที่อาจขาดน้ำจากการอาเจียนอาจได้ประโยชน์จากการใช้ยาต้านการอาเจียนสักหนึ่งครั้ง เช่น เมโทโคลปราไมด์ หรือ ออนแดนซีตรอน เป็นต้นไฮออสซีนบิวทิลโบรไมด์อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้

แหล่งข้อมูลอื่น


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение