Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Inflammatory cardiomyopathy (infectious) |
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์แสดงให้เห็นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แสดงให้เห็นเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามาแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจ | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ, หทัยวิทยา |
อาการ | หายใจลำบาก, เจ็บหน้าอก, ออกแรงได้น้อยลง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ |
ภาวะแทรกซ้อน | หัวใจวายจากภาวะหัวใจโต, หัวใจวาย |
ระยะดำเนินโรค | มีตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงหลายเดือน |
สาเหตุ | ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส, อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย, ยาบางชนิด, สารพิษ, โรคภูมิต้านตนเอง |
วิธีวินิจฉัย | การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจระดับโทรโพนินในเลือด, การตรวจเอ็มอาร์ไอหัวใจ, การตรวจชันสูตรชิ้นเนื้อหัวใจ |
การรักษา | รักษาด้วยยา, ฝังอุปกรณ์กระตุกหัวใจไฟฟ้า, การปลูกถ่ายหัวใจ |
ยา | ยายับยั้งตัวรับเอซีอี, ยาต้านเบต้า, ยาขับปัสสาวะ, คอร์ติโคสเตอรอยด์, อิมมูโนกลอบูลิน |
พยากรณ์โรค | แตกต่างกันไปในแต่ละคน |
ความชุก | นับรวมกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจอื่น ๆ อยู่ที่ 2.5 ล้านคน (ค.ศ. 2015) |
การเสียชีวิต | นับรวมกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจอื่น ๆ อยู่ที่ 354,000 คน (ค.ศ. 2015) |
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (อังกฤษ: myocarditis, inflammatory cardiomyopathy) คือภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่ได้นานเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือเป็นต่อเนื่องหลายเดือนก็ได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้เช่น หัวใจวาย จากภาวะหัวใจโตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยาย หรือเกิดหัวใจหยุดเต้นได้
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยเช่น parvovirus B19 นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้ออื่นที่ไม่ใช่ไวรัสก็ได้แต่พบน้อยกว่า เชื้ออื่นเหล่านี้เช่น เชื้อแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi (โรคไลม์) หรือ เชื้อโปรโตซัว Trypanosoma cruzi สาเหตุอื่น ๆ เช่น เกิดจากผลข้างเคียงของยา การได้รับสารพิษ และโรคภูมิต้านตนเอง การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจระดับโทรโพนินในเลือดซึ่งจะมีระดับสูงกว่าปกติ การตรวจเอ็มอาร์ไอหัวใจ และบางครั้งก็อาจวินิจฉัยได้จากการตรวจชันสูตรชิ้นเนื้อหัวใจ การตรวจอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น การตรวจอุลตร้าซาวด์หัวใจ ช่วยแยกโรคอื่น ๆ ออกได้ เช่น โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
การรักษาขึ้นกับสาเหตุและระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยยา เช่น ยายับยั้งเอซีอี ยาต้านเบต้า และยาขับปัสสาวะ ร่วมกับการงดออกแรงระหว่างการรักษาตัว บางรายอาจต้องใช้ยาภูมิคุ้มกัน เช่น คอร์ติโคสเตอรอยด์ หรือการให้อิมมูโนกลอบูลินทางหลอดเลือดดำ (IVIG) ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบฝังในร่างกาย หรือการปลูกถ่ายหัวใจ
ปี ค.ศ. 2013 พบผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันประมาณ 1.5 ล้านคน โรคนี้พบได้ในคนทุกอายุ แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือในคนอายุน้อย พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ข้อมูลปี ค.ศ. 2015 พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนับรวมกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นแล้ว 354,000 คน เพิ่มจากข้อมูล ค.ศ. 1990 ที่พบผู้เสียชีวิต 294,000 คน โรคนี้ได้รับการบรรยายเอาไว้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1800
อาการและอาการแสดง
อาการและอาการแสดงที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะแตกต่างกันไป และเกี่ยวข้องกับทั้งการอักเสบที่แท้จริงของกล้ามเนื้อหัวใจหรือความอ่อนแอและความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่เป็นปัจจัยรองจากการอักเสบ แม้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายเดือน ผู้ป่วยมักมีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกับภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่:
อาการ | หมายเหตุ | อาการแสดง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
เจ็บหน้าอก | โดยปกติมักอธิบายว่าเหมือนถูกของมีคมแทง | ไข้ | โดยเฉพาะเมื่อติดเชื้อ เช่น จากเชื้อ parvovirus B19 |
หายใจลำบาก | อาการแย่ลงเมื่อนอนราบหรืออยู่ในท่าคว่ำ | เสียงหัวใจทึบ | เสียงทึบเกิดขึ้นพร้อมกับการอักเสบ โดยเฉพาะกับอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ |
ใจสั่น | รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรง | หัวใจเต้นผิดจังหวะ | ตรวจด้วยภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ |
วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม | สามารถสะท้อนถึงภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ | ความเสียหายต่อเซลล์หัวใจ | ระดับโทรโพนินสูงกว่าปกติและภาพถ่ายหัวใจแสดงการอักเสบ |
เนื่องจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักเกิดจากการป่วยจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจำนวนมากจึงมีอาการที่สอดคล้องกับการติดเชื้อไวรัสก่อนหน้านั้น เช่น ไข้ มีผื่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง ปวดในข้อ และเหนื่อยง่าย นอกจากนี้ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักเกี่ยวข้องกับเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และหลายคนที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะมีอาการและอาการแสดงที่บ่งบอกว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในเวลาเดียวกัน
เด็กส่วนใหญ่ที่แสดงอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส อาการป่วยระยะหลังอาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและทำให้การหายใจถี่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหอบหืด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถจำแนกได้ว่าเร็วร้ายหรือเฉียบพลันโดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ตลอดจนระยะเวลาที่อาการดำเนินและคงอยู่ การจัดจำแนกนี้สามารถช่วยการทำนายการรักษา ผลลัพธ์ และภาวะแทรกซ้อนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรง (fulminant myocarditis) จะสัมพันธ์กับอาการและอาการแสดงของภาวะหัวใจล้มเหลวขณะพัก มีลักษณะอาการที่เด่นชัดและการดำเนินของอาการหัวใจล้มเหลวรุนแรงที่รวดเร็ว เช่น อาการหายใจลำบากและเจ็บหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายชั่วโมงถึงหลายวัน ซึ่งการรักษาต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์เพื่อปรับปรุงการทำงานของหัวใจ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันชนิดไม่รุนแรง (acute non-fulminant myocarditis) มีอาการที่แตกต่างกันในผู้ป่วยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรง และมีการดำเนินของโรคในช่วงหลายวันถึงหลายเดือน แม้ว่าอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันชนิดไม่รุนแรงจะเหมือนกับอาการของโรคชนิดรุนแรง แต่มักไม่เกิดขึ้นในช่วงพัก และการรักษาไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนโลหิต
สาเหตุ
การติดเชื้อ
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมาจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเชื้อที่พบเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจได้บ่อยที่สุดคือการติดเชื้อโปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคชากาส
- ไวรัส เช่น อะดีโนไวรัส, พาร์โวไวรัส บี 19
- โปรโตซัว เช่น ทริพาโนโซมา
- แบคทีเรีย เช่น มัยโคพลาสมา
แหล่งข้อมูลอื่น
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Myocarditis |
- Myocarditis จาก eMedicine
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
โรคหัวใจ ขาดเลือด |
|
||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ชั้น |
|
||||||||||||||||||||||
การนำไฟฟ้าหัวใจ/ หัวใจเต้นผิดจังหวะ |
|
||||||||||||||||||||||
หัวใจโต | |||||||||||||||||||||||
อื่น ๆ | |||||||||||||||||||||||
|