Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

สำหรับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ดูที่ ไวรัสโรคระบาด เอช 1 เอ็น 1/09
ระวังสับสนกับ ไข้หวัดใหญ่ในสุกร
การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
H1N1 map by confirmed cases.svg
  ยืนยันผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 ราย
  ยืนยันผู้ติดเชื้อ 5,000–49,999 ราย
  ยืนยันผู้ติดเชื้อ 500–4,999 ราย
  ยืนยันผู้ติดเชื้อ 50–499 ราย
  ยืนยันผู้ติดเชื้อ 5–49 ราย
  ยืนยันผู้ติดเชื้อ 1–4 ราย
  ไม่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อ
โรค ไข้หวัดใหญ่
สายพันธุ์ไวรัส ไวรัสโรคระบาด เอช 1 เอ็น 1/09
สถานที่ ทั่วโลก
การระบาดครั้งแรก ทวีปอเมริกาเหนือ
ผู้ป่วยต้นปัญหา เบรากรุซ, ประเทศเม็กซิโก
วันที่ มกราคม ค.ศ. 2009 – 10 สิงหาคม ค.ศ. 2010
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 491,382 คน (ยืนยันจากห้องปฏิบัติการ)
ผู้ต้องสงสัยป่วย 700 ล้านถึง 1.4 พันล้านคน (ประมาณ)
เสียชีวิต ยืนยันผู้เสียชีวิตจากห้องปฏิบัติการ: 18,449 คน (รายงานจากองค์การอนามัยโลก)
ยอดผู้เสียชีวิตโดยประมาณ: 284,000 คน

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นการระบาดทั่วโลกของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 สายพันธุ์ใหม่ หรือโดยทั่วไปมักเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" เริ่มพบการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา แม้ว่าไวรัสประกอบด้วยการรวมกันของพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ในสัตว์ปีก และในสุกร รวมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรยูเรเซีย ลักษณะที่แปลกประการหนึ่งของเชื้อเอช 1 เอ็น 1 คือ มักจะไม่ค่อยติดต่อสู่คนวัยชราอายุมากกว่า 60 ปี

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวมีการพบครั้งแรกในรัฐเบรากรุซ ประเทศเม็กซิโก และมีหลักฐานว่าโรคดังกล่าวได้มีการระบาดเป็นเวลานานนับเดือนก่อนจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่ารัฐบาลเม็กซิโกจะพยายามจะยับยั้งการระบาดของโรคด้วยการปิดสถานที่ราชการและเอกชนจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่เชื้อก็ได้ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก จนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) ได้ประกาศให้ระดับการระบาดของเชื้อเป็น "โรคระบาดทั่ว"

ผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีบางรายมีอาการรุนแรงได้ โดยอาการของโรคเล็กน้อยได้แก่มีไข้ เจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการท้องร่วง สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืด เบาหวานโรคอ้วน โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กซึ่งมีภาวะทางพัฒนาการทางประสาท และสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม กระทั่งผู้ซึ่งเคยมีสุขภาพดีก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นปอดบวมหรือกลุ่มอาการหายใจลำบากในผู้ใหญ่ได้ ซึ่งจะมีอาการหายใจลำบากขึ้นและมักจะเกิดขึ้น 3-6 วันภายหลังเริ่มมีอาการของไข้หวัด

โรคดังกล่าวไม่มีการระบาดจากการรับประทานเนื้อสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่อย่างใด การระบาดของเอช 1 เอ็น 1 สามารถติดต่อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ผ่านทางละอองของการหายใจ เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น อาการของโรคมักปรากฏเป็นเวลา 4-6 วัน จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอาการพักผ่อนอยู่ที่บ้านและอยู่ห่างจากโรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถานที่แออัด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรค สำหรับผู้ซึ่งมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์หรือซานามิเวียร์) ผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 14,286 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวเป็นผลรวมของรายงานจากหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า จำนวนที่แท้จริงนั้น "สูงกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย"

จำนวนผู้ป่วยที่พบโรคนี้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ และวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553 อธิบดีองค์การอนามัยโลก มาร์กาเร็ต แชน ได้ประกาศว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สิ้นสุดลงแล้ว ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากกว่า 18,000 คนทั่วโลก

การเรียกชื่อ

การระบาดในตอนเริ่มแรก สื่ออเมริกันเรียกโรคดังกล่าวว่า "ไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1" ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ไวรัสโรคระบาด เอช 1 เอ็น 1/09 ในขณะที่ CDC เรียกว่า "ไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1)" หรือ "ไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1 2009" ในเนเธอร์แลนด์ เดิมเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" แต่ในปัจจุบัน สถาบันสุขภาพแห่งชาติได้เรียกว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1)" ถึงแม้ว่าในสื่อและประชาชนโดยทั่วไปจะใช้ชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" ก็ตาม; เกาหลีใต้และอิสราเอล พิจารณาเรียกชื่ออย่างสั้น ๆ ว่า "ไวรัสเม็กซิโก" ในภายหลัง สื่อสัญชาติเกาหลีใต้ใช้ตัวย่อ "SI" ซึ่งย่อมาจาก "ไข้หวัดใหญ่ในสุกร" (Swine influrenza) ในไต้หวันใช้ชื่อว่า "ไข้หวัดเอช 1 เอ็น 1" หรือ "ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้กันในสื่อท้องถิ่นจำนวนมากองค์การสุขภาพสัตว์โลกเสนอชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่อเมริกาเหนือ"คณะกรรมาธิการยุโรปใช้คำว่า "ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่"

ส่วนในประเทศไทย ได้เคยมีการเรียกโรคดังกล่าวว่า "ไข้หวัดหมู" และ "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" ในภายหลัง แต่ในปัจจุบัน มักจะย่อเป็น "ไข้หวัด 2009" หรือ "หวัดใหญ่ 2009"

ประวัติ

ได้มีการประมาณว่า ประชากรโลกอย่างน้อย 5-15% ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่โรคระบาดดังกล่าวก็ยังก่อให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในประชากร 3-5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 250,000-500,000 รายทั่วโลกทุกปี โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตในสหรัฐราว 41,400 ราย ตามข้อมูลซึ่งเก็บรวบรวมระหว่าง พ.ศ. 2522-2544 ในประเทศอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงและการเสียชีวิตเกิดขึ้นกับเด็กทารก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอาการเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ถึงแม้ว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสุกร (เช่นเดียวกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี พ.ศ. 2461) มีความแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรมักจะติดต่อกับคนในวัยหนุ่มสาวและมีสุขภาพดี

นอกเหนือจากโรคระบาดประจำปีเหล่านี้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอยังก่อให้เกิดโรคระบาดทั่วโลกสามครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20: ไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี พ.ศ. 2461 ไข้หวัดใหญ่เอเชีย ในปี พ.ศ. 2500 และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2511-2512 สายพันธุ์ไวรัสเหล่านี้ยังได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งประชากรโลกยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่จำเป็น การศึกษาพันธุกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เปิดเผยว่า ส่วนพันธุกรรมกว่าสามในสี่หรือหกในแปดของสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว พ.ศ. 2552 เกิดขึ้นมาจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรอเมริกาเหนือ ซึ่งได้เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เมื่อสายพันธุ์ใหม่ถูกระบุชนิดเป็นครั้งแรกในโรงงานฟาร์มในรัฐนอร์ทแคโรไลนา และยังเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่พันทางซึ่งรวมไวรัสกว่าสามสายพันธุ์

การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเริ่มต้นจากระลอกแรกซึ่งมักจะไม่แสดงอาการรุนแรงมากนักในฤดูใบไม้ผลิ ก่อนที่ในระลอกต่อมาจะเป็นอันตรายถึงชีวิตในฤดูใบไม้ร่วง และทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคนในสหรัฐ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นผลมาจากแบคทีเรียโรคปอดอักเสบ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ทำลายเยื่อบุกรองของถุงหลอดลมและปอดของเหยื่อ ทำให้แบคทีเรียโดยทั่วไปจากจมูกและลำคอแพร่เชื้อใส่ปอดของผู้ป่วย โรคระบาดทั่วในภายหลังมีอันตรายถึงตายน้อยลงเนื่องจากการพัฒนายาปฏิชีวนะซึ่งสามารถรับมือกับโรคปอดบวมได้

โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ชื่อ ปี (พ.ศ.) ประเภทของไวรัส ประมาณผู้ติดเชื้ออย่างต่ำ (คน) ประมาณผู้เสียชีวิตทั่วโลก (คน) อัตราการเสียชีวิต
ไข้หวัดใหญ่สเปน 2461–2462 A/H1N1 33% (500 ล้าน) 20–100 ล้าน >2.5%
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย 2499–2501 A/H2N2 ? 2 ล้าน <0.1%
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง 2511–2512 A/H3N2 ? 1 ล้าน <0.1%
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ทุกปี มักเป็น A/H3N2, A/H1N1, และ B 5–15% (340–1,000 ล้าน) 250,000–500,000 ต่อปี <0.1%
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 2552-2553 Pandemic H1N1/09 virus > 622,482 (รับรองจากห้องปฏิบัติการ) 14,286 (รับรองจากห้องปฏิบัติการ; ECDC)

~14,142 (รับรองจากห้องปฏิบัติการ; WHO)

0.026%
     ไม่ใช่โรคระบาดทั่ว แต่จัดรวมไว้ในตารางเพื่อการเปรียบเทียบ

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังได้ก่อให้เกิดภัยโรคระบาดทั่วหลายครั้งในศตวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งโรคระบาดทั่วแบบไม่แท้ในปี พ.ศ. 2490 (ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากแม้จะติดต่อกันไปทั่วโลก แต่ก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนน้อย) การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสุกร และไข้หวัดใหญ่รัสเซีย ในปี พ.ศ. 2520 ล้วนเกิดขึ้นจากไวรัสเอช 1 เอ็น 1 ทั่วโลกได้เพิ่มระดับการเฝ้าระวังนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคซาร์สในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เกิดจากโคโรนาไวรัส ซาร์ส) ระดับของการเตรียมพร้อมได้เพิ่มขึ้นอีกและรับมือกับการแพร่ระบาดของ "ไข้หวัดนก" หรือไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 5 เอ็น 1 เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่สายพันธุ์ดังกล่าวมีอัตราการติดต่อจากคนสู่คนหรืออัตราการแพร่ระบาดในระดับโลกต่ำ

ผู้ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 ดูเหมือนว่าจะมีภูมิคุ้มกันบางอย่างต่อไข้หวัดใหญ่ในสุกรได้ ดร. เดเนียล เจอร์นิแกนแห่ง CDC กล่าวว่า: "ผลการทดสอบบนเซรุ่มเลือดจากผู้สูงอายุแสดงว่าพวกเขามีแอนตีบอดีที่สามารถโจมตีไวรัสชนิดใหม่ได้ [...] แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยสมบูรณ์ นับตั้งแต่ผู้สูงอายุชาวอเมริกันและเม็กซิกันได้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่นี้"

อาการและอาการแสดง

อาการป่วยของผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะไม่แตกต่างจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจมีอาการไข้ขึ้นสูง ไอ ปวดศีรษะ เจ็บตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ หนาวสั่น ปวดเมื่อย และคัดจมูก ส่วนอาการท้องร่วง อาเจียนและอาการทางประสาทอาจมีการรายงานในผู้ป่วยบางกรณี ผู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากโรคแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กซึ่งมีอาการทางประสาท สตรีมีครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามเดือนก่อนคลอด) และผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคหืด โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตัวเลขจาก CDC ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในสหรัฐมากกว่าร้อยละ 70 คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 CDC รายงานว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 "ดูเหมือนจะติดต่อในเด็กซึ่งป่วยเรื้อรังมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยปกติ" และจากจำนวนเด็กซึ่งเสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน เกือบสองในสามเคยมีความผิดปกติทางระบบประสาท "เด็กซึ่งมีปัญหาทางประสาทและกล้ามเนื้ออาจเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนได้"

อาการในผู้ป่วยรุนแรง

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าลักษณะอาการของผู้ป่วยรุนแรงนั้นมีความแตกต่างจากลักษณะที่พบในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างมาก เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าผู้มีโรคประจำตัวจะเสี่ยงติดโรคติดต่อมากขึ้น แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กลับแสดงอาการรุนแรงในผู้ป่วยซึ่งเคยมีสุขภาพดีมากกว่าในผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งในปัจจุบัน ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของการแสดงอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงอยู่ในระหว่างการวิจัย ในกรณีที่แสดงอาการรุนแรง ผู้ป่วยมักจะเริ่มจากมีอาการทรุดลงราว 3-5 วัน หลังจากเริ่มสังเกตเห็นอาการของโรค สุขภาพของผู้ป่วยจะทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากมักจะประสบกับความล้มเหลวของระบบหายใจภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องการรักษาในห้องไอซียูอย่างเร่งด่วน และต้องการการช่วยหายใจเชิงกล

คำแนะนำ CDC รายงานว่าอาการแสดงต่อไปนี้คือ "อาการแสดงเตือนฉุกเฉิน" (emergency warning sign) และแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งตามรายชื่อนี้ไปรับการรักษากับแพทย์โดยด่วน:

อาการแทรกซ้อนอื่น

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขั้นรุนแรง (fulminant myocarditis) มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอช 1 เอ็น 1 โดยมีรายงานที่ได้รับการยืนยันแล้วอย่างน้อย 4 กรณี ในผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ผู้ป่วย 3 จาก 4 ราย ซึ่งมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอช 1 เอ็น 1 มีอาการถึงขั้นรุนแรง และหนึ่งในผู้ป่วยได้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 อย่างรุนแรงกับภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (pulmonary embolism) ในรายงานฉบับหนึ่ง มีการรับผู้ป่วย 5 ราย จาก 14 ราย เข้าสู่หน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤต ด้วยอาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 อย่างรุนแรง และมีภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยและยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเกิดจากไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1/09 ต้องการการตรวจเยื่อซับคอหอยส่วนจมูกหรือคอหอยส่วนปากจากผู้ป่วย การทดสอบแบบ Real-time RT-PCR เป็นการทดสอบที่ได้รับการแนะนำ เพราะเป็นการตรวจที่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่เอช 1 เอ็น 1/09 จากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอาการของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นจะต้องทดสอบโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยเฉพาะ เพราะโดยปกติแล้ว ผลการทดสอบมักจะไม่กระทบต่อแนวทางการรักษาที่แพทย์แนะนำแต่อย่างใด CDC แนะนำให้ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ ได้แก่ ผู้ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเนื่องจากต้องสงสัยว่าติดโรคไข้หวัด สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเท่านั้น สำหรับการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมของไข้หวัดใหญ่ นอกเหนือจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถพบได้ในวงกว้างกว่า ซึ่งรวมถึงการทดสอบวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็ว (RIDT) ซึ่งได้รับผลการทดสอบภายใน 30 นาที และการสอบด้วยวิธีการอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงและโดยอ้อม (DFA และ IFA) ซึ่งใช้เวลาราว 2-4 ชั่วโมง เนื่องจากอัตราการผิดพลาดของการทดสอบ RIDT อยู่ในระดับสูง CDC จึงแนะนำให้ผู้ป่วยซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับการติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่มีผลการทดสอบ RIDT เป็นลบ ควรจะได้รับการรักษาตามการสังเกต ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ โรคประจำตัว ความรุนแรงของอาการ และอัตราเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อน และถ้าหากต้องการตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ควรจะทดสอบด้วย rRT-PCR หรือการแยกเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส

ดร. รอนดา มีดอวส์แห่งกรมสาธารณสุขจอร์เจีย กล่าวว่า การทดสอบอย่างรวดเร็วมีโอกาสผิดพลาดระหว่าง 30-90% ไม่ว่าจะทำการทดสอบที่ใดก็ตาม เธอได้เตือนแพทย์ในประเทศมิให้ใช้การทดสอบไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ผลผิดพลาดออกมาบ่อยครั้ง นักวิจัย พอล เชร็คเคนเบอร์เกอร์ แห่งระบบสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโลโยลา ยังตั้งคำถามต่อการใช้ RIDT ด้วย เขาเป็นผู้เสนอว่า อันที่จริงแล้ว ตัวการทดสอบอย่างรวดเร็วนี้อาจเป็นความเสี่ยงที่อันตรายต่อสาธารณสุขโดยรวมด้วยซ้ำไป ดร. นิคคิ ชินโดแห่งองค์การอนามัยโลกได้แสดงความเสียใจที่มีรายงานว่ามีการรักษาซึ่งล่าช้าเนื่องจากรอผลการทดสอบ เอช 1 เอ็น 1 และเสนอว่า "แพทย์ไม่ควรรอการยืนยันจากห้องปฏิบัติการ แต่ควรใช้การวินิจฉัยโรคโดยใช้อาการทางคลินิกและข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาการระบาด และเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็ว"

ลักษณะเฉพาะของไวรัส

ภาพแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงภายนอกของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีในปัจจุบันช่วยเพิ่มการป้องกันโรคได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากการศึกษาของ CDC เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ค้นพบว่า เด็กไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าวเลย แต่ในผู้ใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พอจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอยู่บ้าง ไม่มีการสร้างแอนติบอดีที่แสดงปฏิกิริยาข้ามกันมามีผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ในเด็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี มีการสร้าง 6-9% และผู้ที่อายุมากกว่านั้นมีการสร้าง 33% จึงมีการพิจารณาว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มียีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ห้าชนิดประกอบกัน: ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรทวีปอเมริกาเหนือ ไข้หวัดนกทวีปอเมริกาเหนือ ไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ และไข้หวัดใหญ่ในสุกรทวีปเอเชียและทวีปยุโรป การวิเคราะห์ยังได้แสดงให้เห็นถึงโปรตีนของไวรัสมีความคล้ายคลึงกับโปรตีนในสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอาการไม่รุนแรงในมนุษย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 นักวิทยาไวรัส เวนดี บาร์เคลย์ กล่าวว่า จากการแสดงอาการในช่วงแรกของไวรัสพบว่ามีลักษณะที่ไม่น่าจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในมนุษย์ส่วนมากได้เลย

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 CDC หมายเหตุว่า การติดเชื้อส่วนใหญ่ก่อให้เกิดอาการไม่รุนแรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล การฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็วและการเสียชีวิตจนถึงปัจจุบันเป็นเพียงตัวเลขน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ซึ่งเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ไวรัสได้ติดต่อ 1 ใน 6 ของชาวอเมริกัน โดยมี 200,000 คน ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน แม้จะมีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยทั่วไป แต่ในหลายครั้งที่ผู้มีอายุน้อยกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงมากกว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้ผสมไข้หวัดใหญ่ในสุกรกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และสรุปว่า ไข้หวัดใหญ่ในสุกรไม่น่าจะมีอันตรายไปกว่านี้แล้ว

ส่วนในด้านโอกาสความเป็นไปได้หรือประวัติศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 บทความในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ได้กล่าวว่า "เอช 1 เอ็น 2 และแบบชนิดย่อยอื่นอาจสืบเชื้อสายมาจากไวรัสสุกร เอช 3 เอ็น 2 ซึ่งมีการผสมสายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ไวรัสดังกล่าวได้แพร่ไปสู่สุกรรอบโลก และพบว่ามีการติดต่อสู่มนุษย์ด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ประกอบขึ้นสำหรับ นิวรามินิเดสและโปรตีนเมตริกซ์ของไวรัสเอช 1 เอ็น 1 สายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรท้องถิ่นในทวีปยุโรป ซึ่งพบเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1990"

การติดต่อ

เป็นที่เชื่อกันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสเอช 1 เอ็น 1 เกิดขึ้นในวิธีเดียวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยส่วนใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดจากคนสู่คนผ่านทางการไอหรือการจามของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ในบางครั้ง ก็อาจรวมไปถึงการสัมผัสกับบางสิ่งซึ่งมีไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่บริเวณนั้น แล้วไปสัมผัสกับปากหรือจมูกของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วยค่าความเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส (ค่าตัวเลขซึ่งระบุว่ามีผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้มากเพียงใด ในประชากรซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค) ต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 พ.ศ. 2552 ถูกประเมินไว้ที่ 1.75

ไวรัสเอช 1 เอ็น 1 ยังสามารถติดต่อสู่สัตว์ รวมทั้งสุกร ไก่งวง เฟอร์เร็ต แมวเลี้ยงและเสือชีตาห์ได้

การป้องกัน

การระบาดทั่วของโรคนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะถึงจุดสูงสุดราวกลางฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ CDC ได้แนะนำว่า ขนาดยาวัคซีนในขั้นแรกควรจะนำไปฉีดให้กับกลุ่มที่ต้องการเป็นพิเศษ อย่างเช่น สตรีมีครรภ์ บุคคลผู้อาศัยหรือเลี้ยงดูทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เด็กซึ่งมีอายุระหว่าง 6 เดือน - 4 ปี และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ในสหราชอาณาจักร NHS ได้ให้คำแนะนำทำนองเดียวกัน โดยแนะนำให้ใช้กับบุคคลอายุมากกว่า 6 ปีซึ่งเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และคนในครอบครัวซึ่งมีภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์

ถึงแม้ว่าในตอนแรกจะมีการคาดการณ์ว่าการฉีดวัคซีนต้องการการฉีด 2 ครั้ง แต่กรณีในการรักษาแสดงออกมาว่าวัคซีนของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ป้องกันผู้ใหญ่เฉพาะ "ยาโดสเดียว แทนที่จะเป็นสองโดส" ดังนั้น ปริมาณวัคซีนที่จำกัดน่าจะกระจายไปได้ไกลเป็น 2 เท่าจากที่เคยทำนายไว้ ค่าใช้จ่ายจะลดลงโดยการมี "วัคซีนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" สำหรับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 10 ปี ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 21 วัน อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลยังต้องการวัคซีนแยกต่างหากจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกเป็นกังวลเช่นกัน เนื่องจากเชื้อเป็นไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งสามารถกลายพันธุ์และทวีความรุนแรงขึ้นได้ ถึงแม้ว่าอาการของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงนักและกินเวลาเพียงไม่กี่วันโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา หน่วยงานรัฐบาลยังกระตุ้นให้ประชาคม ธุรกิจและปัจเจกชนในการเตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจมีการปิดโรงเรียน กรณีลูกจ้างจำนวนมากลางานเพราะการเจ็บป่วย ปริมาณของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่คงที่ และผลกระทบอย่างอื่นของการระบาดในวงกว้างที่สามารถเป็นไปได้

ในการรับมือกับไวรัส องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลสหรัฐเร่งการรณรงค์วัคซีนขนานใหญ่เมื่อปลาย พ.ศ. 2552 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลังจากการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ เมื่อปี พ.ศ. 2498

เมโยคลินิกแนะนำมาตรการส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งสามารถปรับใช้กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ คือ ฉีดวัคซีนเมื่อสามารถหาได้ การล้างมือบ่อย ๆ และทั่วถึง การรับประทานอาหารซึ่งมีผลไม้และผักสด ธัญพืชทั้งเมล็ด และโปรตีนไขมันต่ำ รวมทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายเป็นกิจวัตร และการหลีกเลี่ยงฝูงชนขนาดใหญ่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผู้เข้ารับการรักษาของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ระบุได้เป็นผู้สูบบุหรี่

วัคซีน

ผู้คนกว่า 2,500 คน กำลังต่อแถวในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในเท็กซัสซิตี รัฐเท็กซัส เพื่อเข้ารับวัคซีนเอช 1 เอ็น 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ใน 16 ประเทศ ได้มีการผลิตวัคซีนมากกว่า 65 ล้านโดส; ซึ่งดูเหมือนว่าวัคซีนดังกล่าวจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงซึ่งควรจะสามารถตอบสนองการติดเชื้อได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงที่เกิดการระบาดไม่มีผลต่ออัตราการติดเชื้อ เอช 1 เอ็น 1 เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์ในวัคซีนดังกล่าว ในภาพรวม ความปลอดภัยของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เหมือนกับความปลอดภัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และจากข้อมูลจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ก็มีรายงานของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรหลังรับวัคซีนไม่ถึง 12 ราย มีเพียงกรณีจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับรายงานเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนเอช 1 เอ็น 1 และมีเพียงอาการเจ็บป่วยชั่วคราวเท่านั้นที่ตรวจพบ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสุกร ค.ศ. 1976 หลังจากการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ในสหรัฐก่อให้เกิดโรคที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายกว่า 500 กรณี และมีผู้เสียชีวิต 25 คน

อย่างไรก็ตาม ได้มีความกังวลทางด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ซึ่งเป็นภูมิแพ้ต่อไข่ เนื่องจากไวรัสสำหรับวัคซีนนั้นถูกเพาะเชื้อในไข่ไก่ บุคคลผู้เป็นภูมิแพ้ต่อไข่อาจสามารถได้รับวัคซีน หลังจากการปรึกษาระหว่างบรรดาแพทย์ โดยใช้ยาที่ได้รับการคัดเลือกในสภาพแวดล้อมซึ่งมีการควบคุมอย่างระมัดระวัง วัคซีนซึ่งผลิตโดยแบกซเตอร์ เป็นวัคซีนซึ่งไม่ใช้ไข่ในการผลิต แต่ต้องฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ในประเทศแคนาดา มีรายงานกรณีผู้ป่วย 24 กรณี ซึ่งมีภาวะช็อกจากการแพ้หลังจากได้รับวัคซีน รวมทั้งมีผู้เสียชีวิต 1 คน ในภายหลัง จึงประมาณว่าปฏิกิริยาแพ้ 1 คน ในผู้ได้รับวัคซีน 312,000 คน อย่างไรก็ตาม มีวัคซีนจำพวกหนึ่งซึ่งอัตราการแพ้อยู่ที่ 6 คน ต่อผู้ได้รับวัคซีน 157,000 คน ทำให้วัคซีนชนิดดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนที่ยังค้างคาอยู่ ดร.เดวิด บัทเลอร์-โจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแคนาดา ได้กล่าวว่า แม้ว่านี่จะเป็นวัคซีนตัวเสริมเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าจะเป็นสาเหตุของปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรงในผู้ป่วยทั้ง 6 กรณีนั้น

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ผู้ผลิต ซาโนฟี-อเวนติส ได้เรียกคืนวัคซีนสำหรับเด็กกว่า 800,000 โดส ในสหรัฐ เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำ วัคซีนดังกล่าวประกอบด้วยกระบอกฉีดก่อนบรรจุจำนวน 4 ล็อท สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี CDC กล่าวว่า เด็กซึ่งได้รับวัคซีนชนิดนี้ไม่ต้องได้รับวัคซีนอีกครั้ง ตรงกันข้ามกับคำแนะนำที่เคยให้ก่อนหน้าที่ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีควรจะได้รับวัคซีน 2 โดส ห่างกันเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่เหมาะที่สุด สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี วัคซีนสามารถหาได้จากมัลติโดสขวดเล็ก ซึ่งบรรจุสารกันเสียที่ใช้ในวัคซีน ทว่าสารดังกล่าวกำลังตกเป็นประเด็นการโต้เถียงกันของสื่อถึงความเชื่อมโยงกับโรคออทิซึม แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี สเปรย์จมูกสำหรับวัคซีนที่ใช้เชื้อฤทธิ์อ่อนที่มีชีวิตอยู่ก็สามารถหาได้เช่นกัน

มี 12 ประเทศ และผู้ผลิตวัคซีน 6 ราย ซึ่งรับประกันว่าจะบริจาควัคซีนจำนวน 180 ล้านโดสให้กับประเทศกำลังพัฒนา ในการประชุมหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ดร.เคอิจิ ฟุคุดะ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกหวังว่าการขนส่งวัคซีนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นอีกภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้

มาตรการรับมือในการเดินทาง

การตรวจโรคไข้หวัดใหญ่ในเที่ยวบินซึ่งเดินทางไปยังจีน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การจำกัดการเดินทางของประชากรนั้นไม่อาจกระทำได้ และแต่ละประเทศควรมุ่งความสนใจไปยังการบรรเทาผลกระทบของไวรัสแทน องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ปิดพรมแดนหรือควบคุมการขนส่ง เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลจีนประกาศว่าผู้ที่มาจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบของไข้หวัดใหญ่และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ภายในสองสัปดาห์จะต้องได้รับการกักกันโรค

สายการบินส่วนใหญ่ของสหรัฐยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อตอนต้นของเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 แต่ก็ได้ดำเนินมาตรการรับมือที่แน่นอนรวมทั้งการตรวจดูผู้โดยสารซึ่งมีอาการของไข้หวัดใหญ่ โรคหัด หรือโรคติดต่ออื่น ๆ และอาศัยเครื่องกรองอากาศภายในเครื่องบินเพื่อทำให้แน่ใจว่าปราศจากเชื้อโรคในเครื่องบิน หน้ากากยังมิได้มีการจัดหาให้ในสายการบินโดยทั่วไป และ CDC ก็ไม่ได้แนะนำเป็นพิเศษให้ลูกเรือบนเครื่องบินสวมใส่หน้ากากแต่อย่างใด สายการบินนอกสหรัฐบางแห่ง ส่วนใหญ่เป็นสายการบินในทวีปเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ไชนาอีสเติร์นแอร์ไลน์ คาเธย์แปซิฟิก และเมซิกานาแอร์ไลน์ ได้ใช้มาตรการ อย่างเช่น การทำความสะอาดห้องโดยสาร การติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่ทันสมัย และให้ลูกเรือสวมหน้ากากอนามัย

มาตรการรับมือในโรงเรียน

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นำไปสู่การปิดโรงเรียนหลายแห่งเพื่อป้องกันการระบาดในหลายประเทศ แต่ CDC มิได้แนะนำให้ปิดโรงเรียน เพียงแต่ออกมาแนะนำเมื่อเดือนสิงหาคมให้นักเรียนและลูกจ้างของโรงเรียนซึ่งมีอาการของไข้หวัดใหญ่ให้อาศัยอยู่ที่บ้านเป็นเวลาราว 7 วัน หรือหลังไม่มีอาการแล้ว 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น CDC ยังกระตุ้นให้โรงเรียนยกเลิกกฎบางข้อไปก่อน เช่น การทำโทษเมื่อส่งการบ้านหลังกำหนด หรือการขาดเรียน หรือการตรวจสอบใบรับรองแพทย์ เพื่อให้นักเรียนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อีกทางหนึ่ง โรงเรียนยังได้รับคำแนะนำให้ผู้มีอาการไข้หวัดใหญ่อยู่ในห้องต่างหากเพื่อรอกลับบ้านและให้ผู้ป่วยสวมใส่หน้ากากผ่าตัดเพื่อควบคุมโรค

มาตรการรับมือในสถานที่ทำงาน

ในสหรัฐ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) ได้พัฒนาคำแนะนำที่ทันสมัย และวิดีโอสำหรับพนักงานเพื่อใช้ดังที่พวกเขาพัฒนาหรือพิจารณาและปรับปรุงแผนการรับมือกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น คำแนะนำดังกล่าวมีใจความว่าพนักงานควรพิจารณาและติดต่อสื่อสารเป้าหมายของตน ซึ่งอาจส่งผลให้ลดการติดเชื้อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ รักษาการดำเนินการทางธุรกิจและลดผลกระทบกับสิ่งอื่นในห่วงโซ่อุปทาน

CDC ประมาณการว่ามีแรงงานกว่า 40% ในสหรัฐ อยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่สามารถทำงานได้เมื่อการระบาดของโรคขึ้นสู่จุดสูงสุด เนื่องจากมีความจำเป็นที่ผู้ใหญ่สุขภาพดีจำนวนมากจะต้องอาศัยอยู่กับบ้านและคอยดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว และแนะนำว่าแต่ละคนควรมีแผนการสำรองเมื่อที่ทำงานปิดทำการหรือสถานการณ์เลวร้ายลงจนต้องทำงานจากที่บ้าน CDC ยังได้แนะนำต่อไปว่าบุคคลในสถานที่ทำงานควรอาศัยอยู่บ้านเป็นเวลาเจ็ดวันหลังจากได้รับหวัด หรือ 24 ชั่วโมงหลังไม่ปรากฏอาการของโรคอีก ในสหราชอาณาจักร คณะกรรมการจัดการสุขภาพและความปลอดภัย (HSE) ก็ได้ออกคู่มือแนะนำการปฏิบัติตนเบื้องต้นสำหรับพนักงานด้วยเช่นกัน

หน้ากากอนามัย

CDC ไม่ได้แนะนำให้มีการใช้หน้ากากอนามัยหรือเครื่องช่วยหายใจในสถานที่ซึ่งไม่เกี่ยวกับสาธารณสุข อย่างเช่น โรงเรียน ที่ทำงาน หรือในที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นบางประการ: บุคคลที่ป่วยควรพิจารณาตนเองและใส่หน้ากากเมื่ออยู่ใกล้กับผู้อื่น และบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงขณะดูแลผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ก็มีความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับค่านิยมของการสวมใส่หน้ากากอนามัย ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่าหน้ากากอาจทำให้ประชาชนมีความเห็นที่ผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยและมองข้ามมาตรการป้องกันล่วงหน้าอื่น ๆ หน้ากากอนามัยอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในระยะใกล้ แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวสามารถป้องกันเชื้อได้จริง ยุกิฮิโร นิชิยามา ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาไวรัสของแผนกการแพทย์ของมหาวิทยาลัยนาโกยา แนะนำว่าหน้ากากอนามัย "สวมไว้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ก็เป็นการยากที่จะป้องกันไวรัสที่ติดต่อทางอากาศเช่นกัน เพราะมันสามารถแทรกตัวผ่านช่องว่างได้ง่าย ๆ" และตามคำอธิบายของผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 3M หน้ากากอนามัยจะกรองละอองธุลีในทางอุตสาหกรรม แต่จะ "ไม่ก่อให้เกิดการจำกัดการสัมผัสกับชีวสาร อย่างเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกร"

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะปราศจากหลักฐานสนับสนุนถึงประสิทธิภาพ การใช้หน้ากากอนามัยปรากฏทั่วไปในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น ที่ซึ่งนิยมความสะอาดและอนามัยอย่างสูง และเป็นมารยาทสำหรับผู้ที่ป่วยจะสวมหน้ากากเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เนื่องจากมีความต้องการในระดับสูง ทำให้หน้ากากอนามัยหมดไปจากห้างขายยาบางแห่งในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าในประเทศจะมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยกว่า 42 รายก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดกระแสนิยมการผลิตหน้ากากอนามัยจากวัตถุดิบอื่นในทันที จีนตอบสนอง โดยมีการบริจาคหน้ากากอนามัยจากเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และมณฑลกวางตุ้ง เพื่อส่งให้กับโอซากา โกเบ และจังหวัดเฮียวโงะตามลำดับ เช่นเดียวกับไต้หวัน ซึ่งบริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่โอซากาและเฮียวโงะ

การกักกันโรค

หลายประเทศได้ริเริ่มการกักกันโรคหรือขู่นักเดินทางจากต่างประเทศซึ่งสงสัยว่าจะมีหรือได้รับการติดต่อกับผู้อื่นซึ่งอาจติดเชื้อ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลจีนกักตัวนักเรียนอเมริกัน 21 คน และครู 3 คนในห้องโรงแรมของตน กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐจึงออกคำเตือนการเดินทางเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่ของจีน และเตือนนักเดินทางซึ่งเดินทางไปยังจีนให้หากมีอาการไข้หวัด ในฮ่องกง มีโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งถูกกักกันโรค โดยมีผู้อาศัยอยู่กว่า 240 คน ออสเตรเลียได้สั่งมิให้เรือสำราญ ซึ่งมีผู้โดยสารกว่า 2,000 คน ขึ้นฝั่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อไข้หวัดใหญ่ในสุกร ชาวมุสลิมอียิปต์ ผู้ซึ่งเดินทางไปแสวงบุญประจำปี ณ เมกกะ เสี่ยงต่อการถูกกักกันโรคเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศรัสเซียและไต้หวันแถลงว่าจะกักกันโรคผู้ที่มีอาการไข้ซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้กักกันโรคผู้โดยสารของสายการบิน 47 คนในโรงแรม เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จากนั้น เมื่อกลางเดือนมิถุนายน อินเดียได้เสนอให้มีการกรองผู้โดยสารขาออกจากประเทศซึ่งมีการระบาดในระดับสูง

สุกรและความปลอดภัยของอาหาร

ไวรัสโรคระบาดในปัจจุบันเป็นไข้หวัดใหญ่ในสุกรชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่ากำหนดมาจากสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่ในสุกร จากแหล่งที่มาดังกล่าว ทำให้มีการเรียกชื่อโดยทั่วไปว่า "ไข้หวัดหมู" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมาในการสื่อสารมวลชน ไวรัสดังกล่าวค้นพบในสุกรในสหรัฐ และแคนาดา เช่นเดียวกับสุกรในไอร์แลนด์เหนือ อาร์เจนตินา และนอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะถือกำเนิดในสุกร สายพันธุ์ดังกล่าวก็สามารถติดต่อจากคนสู่คน มิใช่จากสุกรสู่คน กระทรวงการเกษตรของสหรัฐอธิบายให้ชัดเจนว่า ถึงแม้ว่าชื่อโดยสามัญจะเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" ก็ตาม แต่ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรที่ปรุงสุกแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 อาร์เซอร์ไบจานได้สั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการเลี้ยงสัตว์จากทวีปอเมริกา รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้สั่งชะลอการนำเข้าสุกรและยังเริ่มการตรวจสอบสุกร 9 ล้านตัวในอินโดนีเซีย ส่วนรัฐบาลอียิปต์สั่งฆ่าสุกรทุกตัวในประเทศเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

การรักษา

มีหลายวิธีซึ่งได้แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติเพื่อบรรเทาอาการของโรค รวมทั้งการบริโภคน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ยาบรรเทาอาการปวดที่ซื้อมารับประทานเอง เช่น พาราเซตามอลและไอบูโปรเฟน ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม ยาบรรเทาอาการปวดดังกล่าวอาจช่วยลดอาการของโรคได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานแอสไพรินและผลิตภัณฑ์ซาลิไซเลตอื่น ๆ สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye syndrome) แต่สำหรับผู้ที่มีเพียงไข้ต่ำๆ และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ไม่ควรรับประทานยาบรรเทาไข้ คนส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวจากอาการไข้ได้เองโดยไม่ต้องใช้วิธีการทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์และซานามิเวียร์) โดยเร็วที่สุด เมื่อมีการแสดงอาการไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรก ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวรวมไปถึงสตรีมีครรภ์และสตรีหลังคลอดบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้สุขภาพไม่ดี เช่น มีปัญหาในระบบหายใจ สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่มีอาการคงที่หรือทรุดลงเรื่อย ๆ ควรได้รับยาต้านไวรัสเช่นกัน อาการดังกล่าวรวมไปถึงการหายใจลำบาก และมีไข้ขึ้นสูงซึ่งกินเวลานานกว่า 3 วัน ในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบควรได้รับทั้งยาต้านไวรัสและยาปฏิชีวนะ เช่นเดียวกับในผู้ป่วยรุนแรงซึ่งติดเชื้อไวรัส เอช 1 เอ็น 1 หลายกรณี การติดเชื้อแบคทีเรียจะพัฒนาขึ้น ยาต้านไวรัสจะเป็นประโยชน์มากที่สุดหากให้ผู้ป่วยภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังเริ่มแสดงอาการของโรค และอาจช่วยบรรเทาอาการได้ในผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีอาการปานกลางหรือร้ายแรง หากให้ภายหลัง 48 ชั่วโมง ยาต้านไวรัสอาจยังคงเป็นประโยชน์ได้ ถ้าไม่สามารถหาโอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) หรือไม่สามารถใช้ได้ มีการแนะนำให้ใช้ซานามิเวียร์ (รีเลนซา) แทน เพราะเพรามิเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่อยู่ระหว่างการทดลองจะได้รับอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในกรณีซึ่งการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถจัดให้ได้

เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนยาดังกล่าว CDC แนะนำว่า การรักษาโดยโอเซลทามิเวียร์ควรจะใช้สำหรับผู้รับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วเป็นหลัก; ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะไข้หวัดใหญ่แทรกซ้อนร้ายแรงเนื่องจากภาวะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ และผู้ป่วยซึ่งเสี่ยงต่อภาวะไข้หวัดใหญ่แทรกซ้อนร้ายแรง CDC เตือนว่า การใช้ยาต้านไวรัสโดยไม่แบ่งแยกว่าใช้เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคอาจทำให้เกิดสายพันธุ์ดื้อยา ซึ่งทำให้การรับมือกับการระบาดทั่วเป็นไปได้ยากขึ้น นอกเหนือจากนั้น รายงานของอังกฤษพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับยาตามกำหนดหรือได้รับการรักษาโดยไม่มีความจำเป็น

ผลข้างเคียง

ในการใช้ยาทั้งสองแบบอาจมีผลข้างเคียง รวมทั้งอาการหน้ามืด คลื่นเหียน อาเจียน เบื่ออาหาร และหายใจลำบาก มีรายงานว่าเด็กอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการบาดเจ็บและภาวะมึนงงหลังจากได้รับโอเซลทามิเวียร์ องค์การอนามัยโลกยังได้ออกมาเตือนมิให้ซื้อยาต้านไวรัสจากตลาดออนไลน์ และประมาณการว่าครึ่งหนึ่งของยาดังกล่าวจำหน่ายโดยร้านยาออนไลน์ ซึ่งไม่มีที่อยู่ปรากฏชัดเจนและเป็นร้านปลอม

ภูมิคุ้มกัน

จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกออกมารายงานจำนวนตัวอย่าง 190 ตัวอย่าง จากทั้งหมดมากกว่า 15,000 ตัวอย่าง ของการทดสอบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก ได้แสดงให้เห็นว่า เชื้อมีภูมิต้านทานต่อโอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 ตามฤดูกาล ซึ่งจากการทดสอบแล้วพบว่า ตัวอย่างเกือบทั้งหมดกว่า 99.6% ได้พัฒนาภูมิคุ้มกันต่อโอเซลทามิเวียร์ อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่แสดงภูมิคุ้มกันต่อซานามิเวียร์และยาต้านไวรัสอื่นที่หาได้ในปัจจุบัน

ข้อกังขาประสิทธิภาพของยาต้านไวรัส

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552 องค์กรความร่วมมือคอเครน (Cochrane Collaboration) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานทางการแพทย์ ประกาศว่าในการตรวจสอบซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษว่า จากการสำรวจใหม่พบว่าได้ผลตรงกันข้ามกับผลการสำรวจเดิมที่ว่า ยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) และซานามิเวียร์ (รีเลนซา) สามารถป้องกันอาการปอดอักเสบและอาการร้ายแรงอื่นซึ่งเชื่อมโยงกับไข้หวัดใหญ่ พวกเขาได้รายงานว่าผลจากการวิเคราะห์การศึกษากว่า 20 ชิ้น ได้แสดงว่า โอเซลทามิเวียร์อาจเป็นประโยชน์เล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งมีสุขภาพดี และได้รับภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังเริ่มแสดงอาการของโรค แต่ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่ามันจะสามารถป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้โอเซลทามิเวียร์ในผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่สุขภาพดี แต่ไม่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้โอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยซึ่งถูกพิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง (เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ซึ่งมีโรคประจำตัว) และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับบทบาทของมันในการช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ใหญ่สุขภาพดี ซึ่งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องคงการใช้ในฐานะยาที่มีประโยชน์ในการลดระยะเวลาในการแสดงอาการของโรค ในที่สุด ยาต้านไวรัสอาจแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่; โดยทั่วไปแล้วองค์กรความร่วมมือคอเครนได้สรุปในสิ่งที่ "ขาดแคลนข้อมูลที่ดี"

ผลจำเพาะบางอย่างจากบทความวารสารการแพทย์อังกฤษรวมไปถึง "ประสิทธิภาพของโอเซลทามิเวียร์แบบรับประทานต่อการแสดงอาการในไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้รับการรับรองจากห้องปฏิบัติการอยู่ที่ 61% (อัตราความเสี่ยง 0.39, 95% ช่วงความเชื่อมั่น 0.18-0.85) ที่ 75 มิลลิกรัมต่อวัน [...] หลักฐานที่เหลือแนะว่าโอเซลทามิเวียร์มิได้ลดภาวะแทรกซ้อนในระบบหายใจ (อัตราความเสี่ยง 0.55, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.22-1.35)"

วิทยาการระบาด

███ คือ ประเทศที่มีการระบาดซึ่งมีการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว และมีผู้เสียชีวิต
███ คือ ประเทศที่มีการระบาดซึ่งมีการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว
โปรดดู: แผนที่ล่าสุดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, แผนที่ล่าสุดของเชื้อ H1N1

ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัดว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ไหนหรือเมื่อไหร่ การวิเคราะห์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ได้เสนอว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งเกิดการระบาดอยู่ในปัจจุบันนั้น มีการพัฒนามาจากสายพันธุ์ที่ค้นพบเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 และแพร่สู่มนุษย์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการรับรองอย่างเป็นทางการ และถูกระบุว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

มีรายงานการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวในเด็กชาวอเมริกันสองคนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 แต่หน่วยงานสาธารณสุขรายงานว่าปรากฏผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ในประเทศเม็กซิโก การระบาดสามารถตรวจพบได้เป็นครั้งแรกในกรุงเม็กซิโกซิตี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งรัฐบาลเม็กซิโกได้ทำการ "ปิดกรุงเม็กซิโกซิตีอย่างมีประสิทธิภาพ" โดยก่อนหน้านี้ เม็กซิโกมีผู้ป่วยกรณีที่ไม่รุนแรงก่อนหน้าการค้นพบอย่างเป็นทางการแล้วหลายร้อยคน และกำลังอยู่ในช่วง "โรคระบาดทั่วเงียบ" จึงส่งผลให้เม็กซิโกรายงานเพียงผู้ป่วยกรณีที่มีอาการรุนแรงซึ่งแสดงอาการของโรคหนักกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดาเท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การคำนวณอัตราการเสียชีวิตที่ผิดพลาด

การรายงานข้อมูลและความแม่นยำ

ข้อมูลการสอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่ "ตอบคำถามที่ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อะไรกำลังระบาด ระบาดที่ไหน และเมื่อไหร่ มันยังสามารถใช้แสดงผลกิจกรรมของไข้หวัดใหญ่ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ไม่สามารถใช้ระบุอย่างชัดเจนได้ว่ามีคนจำนวนเท่าใดที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่" ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 ข้อมูลการสอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐมีผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากห้องปฏิบัติการกว่า 28,000 คน โดย 3,065 คน เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 127 คน แต่จากการสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่ามีชาวอเมริกันติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 1 ล้านคน จากการศึกษาของลินน์ ฟิเนลลี เจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่กับ CDC ประมาณการผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ยังเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ในปี พ.ศ. 2548 มีผู้ที่อาศัยในสหรัฐเพียง 1,812 คน ที่มีไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต และระบุในใบมรณบัตร อย่างไรก็ตาม ประมาณการผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่กลับอยู่ที่ราว 36,000 คนต่อปี CDC อธิบายว่า "... ไม่บ่อยนักที่ไข้หวัดใหญ่จะถูกระบุไว้ในใบมรณบัตรของผู้ที่เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่" และนอกเหนือจากนั้น "การนับเฉพาะผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ตามที่ระบุในมรณบัตรจะเป็นการประมาณการที่ผิดพลาดอย่างมากในการศึกษาผลกระทบที่แท้จริงของไข้หวัดใหญ่"

ในการศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน มีข้อมูลการสอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่ที่สามารถเรียกดูได้ แต่ยังแทบจะไม่มีการศึกษาที่พยายามประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอันเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่ในสุกร มีการศึกษาสองชิ้นของ CDC อย่างไรก็ตาม ประมาณการผู้เสียชีวิตที่ใหม่ที่สุดระบุว่าอยู่ที่ 9,820 คน (พิสัยระหว่าง 7,070-13,930 คน) โดยนับจากเดือนเมษายนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ในขณะเดียวกัน ประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรอยู่ที่ 1,642 คน องค์การอนามัยโลกจึงกล่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรที่แท้จริงนั้น "สูงกว่าตัวเลขดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย"

การระบาดในช่วงแรกอยู่ภายใต้ความสนใจของสื่ออย่างใกล้ชิด นักวิทยาการระบาดเตือนว่าจำนวนผู้ป่วยที่รายงานในช่วงแรกของการระบาดมีความไม่แม่นยำอย่างมากและสามารถลวงได้ เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น อคติการเลือก อคติของสื่อ และการรายงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ความไม่แม่นยำดังกล่าวยังอาจเกิดจากหน่วยงานรัฐบาลในแต่ละประเทศอาจสังเกตกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันด้วย นอกเหนือจากนั้น ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพต่ำหรือมีห้องปฏิบัติการที่ไม่ทันสมัยอาจใช้เวลานานกว่าในการระบุและรายงานผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่ง "... แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว [จำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009] ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขมักไม่ค่อยพิสูจน์ผู้ที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างจริงจัง" ดร. โจเซฟ เอส. บรีซี และ ดร. มิเชล ที. ออสเตอร์โฮล์ม ชี้ว่ามีผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ในสุกรหลายล้านคน ส่วนใหญ่แสดงอาการอ่อน ๆ ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยที่รายงานจากห้องปฏิบัติการจึงหมดความหมาย และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกจึงหยุดนับจำนวนผู้ป่วยและหันไปให้ความสนใจกับการระบาดขนานใหญ่แทน

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น

ไทย
ทวีปยุโรป
ทวีปอเมริกา



Новое сообщение