Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ความคิดแทรกซ้อน
ความคิดแทรกซอน (Intrusive thought) | |
---|---|
สาขาวิชา | จิตเวชศาสตร์ |
ความคิดแทรกซ้อน (อังกฤษ: Intrusive thought) เป็นความคิดแบบไม่ได้ตั้งใจและไม่พึงประสงค์ เป็นความคิดที่ไม่น่าพอใจซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องย้ำคิด ทำให้ว้าวุ่นหรือทุกข์ใจ และรู้สึกว่าจัดการหรือหยุดได้ยาก เมื่อความคิดสัมพันธ์กับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคซึมเศร้า (MDD) โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ (BDD) และบางครั้ง โรคสมาธิสั้น (ADHD) ก็อาจทำให้ทำอะไรไม่ได้ วิตกกังวล หรืออาจคงยืน ความคิดอาจสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความจำอาศัยเหตุการณ์, ความวิตกกังวลหรือความจำที่ไม่ต้องการเพราะ OCD, ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD), โรควิตกกังวลอื่น ๆ, โรคเกี่ยวกับการรับประทาน (eating disorder), หรือโรคจิต (psychosis) อาการต่าง ๆ รวมทั้งความคิด แรงกระตุ้นให้ทำ และจินตภาพแทรกซอน จะเป็นไปในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เกิดในเวลาที่ไม่เหมาะสม และทั่วไปจะเป็นไปในทางก้าวร้าว เกี่ยวกับทางเพศ หรือดูหมิ่นศาสนา
ลักษณะ
คนจำนวนมากประสบกับความคิดไม่ดีหรือที่ไม่พึงประสงค์ คล้ายกับความคิดแทรกซอนที่สร้างปัญหา แต่โดยมากสามารถเลิกคิดได้ คือ สำหรับคนโดยมาก ความคิดเช่นนี้ เป็นเพียงเรื่องน่ารำคาญประเดี๋ยวเดียว นักจิตวิทยาชาวแคนาดาคนหนึ่ง (Stanley Rachman) ใช้แบบสอบถามกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ปกติแล้วพบว่า เกือบทุกคนกล่าวว่า คิดเช่นนี้เป็นครั้งคราว รวมทั้งความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ, การลงโทษทางเพศ, กิจกรรมทางเพศ "ที่ไม่เป็นธรรมชาติ", ปฏิบัติการทางเพศที่ทำให้เจ็บปวด, จินตภาพที่ดูหมิ่นศาสนาหรือลามก, ความคิดทำร้ายคนแก่หรือบุคคลใกล้ ๆ ตัว, ความรุนแรงต่อสัตว์หรือเด็ก ๆ, และการระเบิดพูดคำหยาบคายหรือคำมุทะลุ ความคิดไม่ดีเช่นนี้เป็นเรื่องทั่วไปในมนุษย์ และ "แทบแน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์มาตลอดกาล"
แต่เมื่อความคิดแทรกซอนเกิดร่วมกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) คนไข้สามารถไม่สนใจในความคิดที่ไม่น่าพอใจน้อยกว่า และอาจสนใจพวกมันอย่างไม่ควร เป็นเหตุให้เกิดความคิดบ่อยขึ้นและทำให้ทุกข์มากขึ้น ความคิดอาจจะเกิดย้ำ ๆ เป็นเหตุให้ทำอะไรไม่ได้ เกิดรุนแรง และมีอยู่ตลอด โดยอาจเป็นความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงหรือทางเพศ จนถึงความดูหมิ่นศาสนา สิ่งที่ไม่เหมือนกับคนปกติก็คือ ความคิดแทรกซอนพร้อมกับ OCD จะสร้างความวิตกกังวล ระงับไม่ได้ และคงยืน
การตอบสนองอาจเป็นตัวกำหนดว่าเมื่อไรความคิดจะกลายเป็นเรื่องรุนแรง เกิดย้ำ ๆ หรือจำเป็นต้องรักษา ความคิดแทรกซอนสามารถเกิดพร้อมหรือไม่ กับการกระทำย้ำ ๆ แม้ว่าการทำย้ำ ๆ อาจช่วยลดความวิตกกังวล แต่ทุกครั้งที่เกิดก็จะทำให้รู้สึกว่าต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วยเสริมแรงความคิดแทรกซอน ตามนักวิชาการ การห้ามความคิดก็จะมีผลแค่ทำให้มันแรงขึ้น และการยอมรับอย่างเข้าใจว่า ความคิดไม่ดีไม่ได้หมายความว่าตนเป็นคนชั่วจริง ๆ เป็นขั้นตอนหนึ่งในการเอาชนะมัน
มีหลักฐานว่าการยอมรับมีผลช่วยระงับความคิดแทรกซอน คืองานศึกษาแสดงว่า คนที่บอกให้ห้ามความคิดแทรกซอนจะมีทุกข์มากกว่าหลังจากการห้าม ในขณะที่คนไข้ที่บอกให้ยอมรับความคิดไม่ดีจะอึดอัดไม่สบายน้อยลง ผลอาจสัมพันธ์กับกระบวนการทางประชานที่เป็นมูลของ OCD
การยอมรับความคิดอาจจะทำได้ยากกว่าสำหรับคนไข้ OCD ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 19 ว่า "โรคช่างสงสัย/ช่างระแวง (the doubting sickness)" เพราะ "ความสงสัยแบบเป็นโรค" ที่มาพร้อมกับ OCD สามารถทำให้คนไข้แยกความคิดแทรกซอน "ปกติ" ดังที่ประสบโดยคนส่วนมากได้ยาก ทำให้ตน "เป็นทุกข์เงียบ ๆ รู้สึกอายหรือกังวลเกินควรว่าคนอื่นจะคิดว่าตนบ้า"
คนไข้โดยมากที่เป็นทุกข์เพราะความคิดแทรกซอน มีโอกาสปฏิบัติตามความคิดนั้นน้อย คนไข้ที่รู้สึกผิด วิตกกังวล อาย และวุ่นวายใจอย่างรุนแรงเพราะความคิดเหล่านั้น ต่างจากคนปฏิบัติตามความคิดจริง ๆ เพราะว่า ตามประวัติแล้ว อาชญากรรมรุนแรงมักจะทำโดยบุคคลที่ไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจ ความจริงเองว่า คนนั้นรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับความคิดแทรกซอนและไม่เคยประพฤติตามความคิดมาก่อน เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าตนจะไม่ปฏิบัติตามความคิดในอนาคต คนไข้ที่ไม่เดือดร้อนหรืออายเพราะความคิด หรือไม่รังเกียจความคิด หรือเคยปฏิบัติตามความคิดจริง ๆ อาจจะต้องตรวจดูว่ามีโรครุนแรงกว่า เช่น โรคจิต (psychosis) หรือพฤติกรรมอาชญากรรม หรือเปล่า
ตามนักวิชาการ คนไข้ควรเป็นห่วงว่าความคิดแทรกซอนอาจเป็นอันตราย ถ้าไม่รู้สึกวุ่นวายเพราะความคิดเหล่านั้น แต่กลับรู้สึกดี หรือเคยปฏิบัติตามความคิดหรือแรงกระตุ้นให้ทำความรุนแรงหรือการทางเพศ หรือได้ยินเสียงหรือเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือโกรธอย่างควบคุมไม่ได้ อย่างอดกลั้นไม่ได้
ความคิดก้าวร้าว
ความคิดแทรกซอนอาจเป็นการย้ำคิดแบบรุนแรงเรื่องทำร้ายคนอื่นหรือตนเอง ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคย้ำคิดย้ำทำโดยย้ำคิดเป็นหลัก (primarily obsessional obsessive compulsive disorder) และอาจรวมการทำร้ายเด็กที่ไม่มีความผิดอะไร การกระโดดจากสะพาน จากภูเขา หรือจากตึกสูง อาจรวมแรงกระตุ้นให้กระโดดให้รถไฟหรือรถยนต์ชน หรือให้ผลักคนอื่นให้ถูกชน
งานสำรวจของนักจิตวิทยาชาวแคนาดา (Rachman) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ปกติ พบว่า นักศึกษาเกือบทั้งหมดมีความคิดแทรกซอนเป็นครั้งคราว ความคิดรวมทั้ง
- ทำร้ายคนชรา
- จินตนาการหรืออธิษฐานให้คนใกล้ตัวเป็นอันตราย
- ความรู้สึกพลันแล่นที่จะโจมตี ตี ทำร้าย หรือฆ่าคน เด็กเล็ก หรือสัตว์ อย่างรุนแรง
- ความรู้สึกพลันแล่นที่จะตะโกนใส่หรือด่าบางคน หรือโจมตีและทำโทษบางคนอย่างรุนแรง หรือกล่าวสิ่งที่หยาบ ไม่สมควร น่ารังเกียจ และรุนแรงต่อบางคน
ความคิดเช่นนี้เป็นส่วนของการเป็นมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องทำลายคุณภาพชีวิต ถ้าความคิดสัมพันธ์กับ OCD และเกิดอย่างคงยืน รุนแรง หรือเป็นทุกข์ ก็สามารถรักษาได้
ความคิดทางเพศ
การย้ำคิดทางเพศรวมทั้งความคิดแทรกซอนหรือจินตภาพเพื่อ "จูบ จับ ลูบไล้เคล้าคลึง การร่วมเพศทางปาก การร่วมเพศทางทวารหนัก และการข่มขืน" กับคนต่าง ๆ รวมทั้ง "คนแปลกหน้า คนคุ้นเคย พ่อแม่ เด็ก สมาชิกครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน สัตว์ และบุคคลในศาสนา" โดยเป็น "เรื่องรักต่างเพศ หรือรักร่วมเพศ" กับคนอายุเท่าไรก็ได้ เหมือนกับความคิดหรือจินตภาพแทรกซอนที่ไม่ต้องการอื่น ๆ ทุกคนมีความคิดทางเพศที่ไม่สมควรเป็นครั้งคราว แต่คนไข้ OCD อาจให้ความสำคัญต่อความคิดทางเพศที่ไม่ต้องการ แล้วเกิดวิตกกังวลและความทุกข์ ความกังขาที่มากับ OCD ทำให้รู้สึกไม่แน่ใจว่า ตนจะปฏิบัติตามความคิดแทรกซอนนั้นหรือไม่ ทำให้ตำหนิหรือเกลียดตัวเอง
ความคิดแทรกซอนทางเพศที่ค่อนข้างสามัญอย่างหนึ่งคือความสงสัยในเอกลักษณ์ทางเพศ (sexual identity) ของคนย้ำคิด ในกรณีการย้ำคิดทางเพศ คนไข้อาจรู้สึกอายแล้วจึงใช้ชีวิตตัวคนเดียว โดยพบว่ายากที่จะพูดถึงความกลัว ความสงสัย และความกังวลเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางเพศของตน คนที่มีความคิดแทรกซอนทางเพศอาจรู้สึกอาย "กระดากใจ รู้สึกผิด ทุกข์ทรมาน กลัวว่าจะปฏิบัติตามความคิดหรือแรงกระตุ้นที่มี และสงสัยว่า ตนได้ประพฤติเช่นนั้นแล้วหรือไม่" ความซึมเศร้าอาจเป็นผลของการเกลียดตนเอง โดยขึ้นอยู่ว่า OCD รบกวนชีวิตประจำวันหรือทำให้ทุกข์มากแค่ไหน
ความกังวลเกี่ยวกับความคิดเช่นนี้อาจทำให้ตรวจดูสรีระของตนเพื่อกำหนดว่าความคิดทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศหรือไม่ แต่ว่า แม้แต่การใส่ใจที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็อาจมีผลเป็นความรู้สึกที่ตรงนั้น ดังนั้น การทำเช่นนั้นสามารถลดความมั่นใจและเพิ่มความกลัวเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแรงกระตุ้น ส่วนหนึ่งของการรักษาความคิดแทรกซอนทางเพศก็คือช่วยคนไข้ให้ยอมรับความคิดและหยุดพยายามสร้างความมั่นใจโดยการเช็คสรีระร่างกาย
ความคิดทางศาสนา
ความคิดดูหมิ่นศาสนาเป็นองค์ประกอบสามัญของ OCD โดยปรากฏตลอดประวัติศาสตร์ คนสำคัญทางศาสนารวมทั้งมาร์ติน ลูเทอร์ และอิกเนเชียสแห่งโลโยลา รู้กันว่า ได้ทนทุกข์ทรมานกับความคิดแทรกซอนและแรงกระตุ้นให้ดูหมิ่นศาสนา เช่น ลูเทอร์รู้สึกแรงกระตุ้นให้สาปแช่งพระเป็นเจ้าและพระเยซู และหมกมุ่นในจินตภาพเกี่ยวกับ "ก้นของซาตาน" ส่วนอิกเนเชียสมีความหมกมุ่นหลายอย่าง รวมทั้งกลัวเหยียบฟางที่วางเป็นรูปกางเขนเพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระเยซู
งานศึกษาคนไข้ 50 คนที่วินิจฉัยว่ามี OCD พบว่า 40% มีความคิดทางศาสนาหรือดูหมิ่นศาสนาและความสงสัยในตัวเอง ซึ่งสูงกว่า 38% ที่หมกมุ่นกับความสกปรกและความเปื้อนที่สัมพันธ์กับ OCD อย่างสามัญกว่า แม้อัตราที่มากกว่าจะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ งานศึกษาหนึ่งแสดงว่า เรื่องที่คิดอาจต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และความคิดดูหมิ่นศาสนาอาจจะสามัญในชายมากกว่าหญิง
ตามนักจิตวิทยาชาวนิวยอร์กคนหนึ่ง (Fred Penzel) ความคิดหมกมุ่นหรือความคิดแทรกซอนสามัญเกี่ยวกับศาสนาก็คือ
- ความคิดทางเพศเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า นักบุญ และคนสำคัญทางศาสนาอื่น ๆ
- ความคิดหรือจินตภาพที่ไม่ดีเมื่อสวดมนต์หรือทำสมาธิ
- ความคิดว่าถูกซาตานเข้าสิง
- ความกลัวการทำบาป ทำลายกฎศาสนา หรือทำพิธีกรรมได้ไม่ถูกต้อง
- ความกลัวว่าจะข้ามบทสวด หรือท่องได้ไม่ถูกต้อง
- ความคิดดูหมิ่นศาสนาซ้ำ ๆ หรือแทรกซอน
- แรงกระตุ้นหรือความหุนหันพลันแล่นให้กล่าวคำดูหมิ่นศาสนา หรือประพฤติดูหมิ่นศาสนาในระหว่างพิธีศาสนา
คนไข้อาจทุกข์มากกว่า รักษายากกว่า เมื่อมีความคิดแทรกซอนเกี่ยวกับศาสนา เพราะอาจเชื่อว่า ความคิดมาจากซาตาน และอาจกลัวการลงโทษของพระเป็นเจ้า หรืออายเพิ่มขึ้นเพราะมองตัวเองว่าเป็นบาป คนไข้ที่มุ่งมั่นหรือมีความเชื่อทางศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม อาจทุกข์มากกว่า
นักวิชาการเชื่อว่า ความคิดดูหมิ่นศาสนาจะสามัญในคนคริสตังและคริสเตียนมากกว่า เทียบกับชาวยิวและชาวมุสลิมที่มักคิดหมกมุ่นเรื่องทำตามกฎและพิธีกรรมทางศาสนา และต้องทำพิธีกรรมให้สมบูรณ์ โดยมีสมมติฐานว่า สิ่งที่พิจารณาว่าไม่สมควรต่างกันระหว่างวัฒนธรรมและศาสนา และคนไข้จะเป็นทุกข์กับความคิดที่ไม่สมควรมากที่สุดในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ
โรคที่สัมพันธ์กัน
ความคิดแทรกซอนสัมพันธ์กับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive personality disorder) แต่ก็สามารถเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)โรคซึมเศร้า (MDD) ความซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) และความวิตกกังวล อาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง มักจะมีในบุคคลที่ความคิดแทรกซอนได้ถึงระดับรุนแรงที่ควรรักษา (clinical level)
งานศึกษาขนาดใหญ่ปี 2548 พบว่า ความหมกมุ่นที่ก้าวร้าว เรื่องทางเพศ หรือเรื่องศาสนา สัมพันธ์อย่างกว้าง ๆ กับ โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าที่เกิดร่วมกัน (comorbid) ส่วนความคิดแทรกซอนที่เกิดในคราวกำเริบของโรคจิตเภท จะต่างจากความคิดหมกมุ่นที่เกิดกับ OCD หรือโรคซึมเศร้า เพราะว่าความคิดของคนไข้โรคจิตเภทไม่ใช่เรื่องจริงหรือเป็นความเชื่อที่หลงผิด (คือ คนไข้คิดว่าเป็นเรื่องจริงโดยไม่สงสัย ซึ่งไม่เหมือนความคิดแทรกซอนทั่วไป)
ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ
ความแตกต่างสำคัญระหว่าง OCD และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) ก็คือความคิดแทรกซอนของ PTSD อาจเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดกับตนจริง ๆ เทียบกับคนไข้ OCD ที่เป็นเพียงแค่ความคิดแบบจินตนาการ โดยที่คนไข้ PTSD ต้องแยกความคิดแทรกซอนเรื่องความรุนแรง เรื่องทางเพศ และเรื่องดูหมิ่นศาสนาจากการระลึกถึงเหตุการ์ณสะเทือนใจจริง ๆ และถ้าคนไข้ที่คิดแทรกซอนไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจจะต้องพิจารณาว่า ได้มีทารุณกรรมทางกาย ทางอารมณ์ หรือทางเพศเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่
โรคซึมเศร้า
คนที่มีโรคซึมเศร้าอาจประสบกับความคิดแทรกซอนที่แรงกว่า และมองความคิดว่าเป็นหลักฐานแสดงว่าตนไม่มีค่าหรือเป็นบาป แต่ความคิดฆ่าตัวตายที่สามัญในโรคซึมเศร้าต้องแยกจากความคิดแทรกซอน เพราะว่าความคิดฆ่าตัวตาย โดยไม่เหมือนกับความคิดทางเพศ ก้าวร้าว หรือทางศาสนา อาจเป็นอันตราย
ความซึมเศร้าหลังคลอดและ OCD
ความคิดไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับการทำอันตรายต่อลูกที่เกิดใหม่ เป็นเรื่องสามัญในความซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) งานศึกษาปี 2542 ในหญิง 65 คนที่มีความซึมเศร้าหลังคลอดพบว่า ความคิดก้าวร้าวบ่อยที่สุดเป็นเรื่องทำอันตรายต่อทารกที่เกิดใหม่ของตน งานวิจัยในแม่ใหม่ 85 คนพบว่า 89% มีจินตภาพแทรกซอน เช่น เกี่ยวกับทารกหายใจไม่ออก มีอุบัติเหตุ ถูกทำอันตราย หรือถูกลักพาตัว
หญิงบางคนอาจมีอาการ OCD ระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอด OCD หลังคลอดโดยหลักเกิดในหญิงที่อาจมี OCD อยู่แล้ว น่าจะในรูปแบบเบา ๆ หรือที่ตรวจยังไม่พบ ความซึมเศร้าหลังคลอดและ OCD อาจเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกัน (comorbid) และแม้ว่า แพทย์อาจจะให้ความสำคัญต่ออาการซึมเศร้ามากกว่า แต่งานศึกษาหนึ่งก็พบว่า ความคิดแทรกซอนเกิดกับความซึมเศร้าหลังคลอดในแม่ใหม่ 57%
งานปี 2542 พบความย้ำคิดในเรื่องทำอันตรายต่อทารกเกิดใหม่ในแม่ที่ประสบกับความซึมเศร้าหลังคลอด รวมทั้งจินตภาพที่เห็นเด็กนอนตายอยู่ในโลงหรือกำลังถูกกินโดยปลาฉลาม การแทงเด็ก โยนเด็กลงจากบันได กดเด็กจมน้ำในอ่างอาบ โยนเด็กเข้ากองไฟ หรือใส่เด็กในเตาอบไมโครเวฟ นักวิชาการประเมินว่า แม่ใหม่ถึง 200,000 คนในสหรัฐอเมริกาที่ซึมเศร้าหลังคลอดแต่ละปี อาจคิดหมกมุ่นเช่นนี้เกี่ยวกับทารกของตน และเพราะว่าตนอาจจะไม่ค่อยอยากบอกความคิดเช่นนี้กับแพทย์หรือสมาชิกครอบครัว หรือเป็นทุกข์อย่างเงียบ ๆ โดยคิดว่าตน "บ้า" ความซึมเศร้าก็อาจแย่ลง
ความกลัวแทรกซอนเรื่องทำอันตรายต่อเด็กเกิดใหม่ อาจจะคงยืนไปจนถึงหลังพักคลอด การศึกษาในหญิงซึมเศร้า 100 คนพบว่า 41% หมกมุ่นกลัวว่าตนอาจทำร้ายลูกของตน โดยบางคนกลัวจนไม่กล้าเลี้ยงดูลูก ส่วนในหญิงปกติ แม่ 7% จะมีความคิดทำร้ายลูกของตน ซึ่งเพิ่มแม่ที่ไม่มีโรคซึมเศร้าอีก 280,000 คนในสหรัฐ ที่คิดแทรกซอนเรื่องทำร้ายลูกตนเอง
การรักษา
การรักษาความคิดแทรกซอนคล้ายกับการรักษา OCD เช่น การบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว (Exposure therapy) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ทำให้ชิน (habituation) หรือการทำให้ไม่ไว (desensitization) มีประโยชน์ในการรักษาความคิดแทรกซอน เค้สเบา ๆ ยังสามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งช่วยคนไข้ระบุและจัดการความคิดที่ไม่ต้องการ
การบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว (Exposure therapy)
การบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว (Exposure therapy) เป็นวิธีแรกในการรักษาความคิดแทรกซอน ตามนักจิตวิทยาผู้หนึ่ง (Deborah Osgood-Hynes) "เพื่อจะลดความกลัว คุณต้องเผชิญหน้ากับความกลัว ซึ่งเป็นจริงสำหรับความวิตกกังวลและปฏิกิริยาแบบกลัวทุกอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่ OCD"
เพราะว่าไม่สบายที่จะประสบกับความคิดหรือแรงกระตุ้นที่ไม่ดี กับความอับอาย กับความสงสัย หรือกับความกลัว ปฏิกิริยาแรกปกติก็คือการทำสิ่งที่ช่วยให้ความรู้สึกหายไป แม้ว่าพิธีกรรมหรือการทำตามความรู้สึกจะช่วยลดความวิตกกังวลหรือความรู้สึกที่ไม่ดี พฤติกรรมเช่นนี้จะมีกำลังขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเสริมแรงเชิงลบ (negative reinforcement) ที่เกิดจากการเรียนรู้ว่าวิธีหลบความรู้สึกไม่สบายก็คือการทำพิธีกรรมหรือทำตามความรู้สึก เมื่อ OCD หนักขึ้น นี่จะกวนการดำเนินชีวิตมากขึ้น ในขณะที่ความถี่และความรุนแรงของความคิดที่ไม่พึงประสงค์ก็ไม่ได้ลดลง
การบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว (หรือการเปิดรับสิ่งที่กลัวและป้องกันปฏิกิริยา) เป็นการให้อยู่ในสถานการณ์ที่สร้างความวิตกกังวลหรือความกลัว จนกระทั่งความทุกข์หรือความวิตกกังวลจะหายไป จุดประสงค์ก็เพื่อลดปฏิกิริยาแบบกลัว เรียนรู้การไม่ตอบสนองต่อความคิดที่ไม่ดี นี่เป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของความคิดแทรกซอน
เป้าหมายก็คือสามารถ "เปิดรับสิ่งที่จุดชนวนความกลัวหรือความไม่สบายใจมากที่สุดเป็นเวลา 1-2 ชม. แต่ละครั้ง โดยไม่หลีกออกจากสถานการณ์ หรือทำอะไรอย่างอื่นที่เปลี่ยนเรื่องสนใจหรือทำให้รู้สึกสบาย" การบำบัดนี้จะไม่ขจัดความคิดแทรกซอนทั้งหมด เพราะว่าทุกคนมีความคิดไม่ดี แต่คนไข้โดยมากจะพบว่า มันสามารถลดความคิดพอให้ไม่รบกวนชีวิต
การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT)
การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) เป็นการบำบัดที่ใหม่กว่าการบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว และใช้สำหรับคนที่ไม่สามารถทำตามหรือไม่ปรารถนาการบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว โดยมีหลักฐานว่า มีประโยชน์ในการลดความคิดแทรกซอน และคนไข้จำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องความหมกหมุ่น (obsession) และความรู้สึกว่าต้องทำ (compulsion)
ยา
ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาระงับอาการทางจิต สามารถใช้รักษากรณีที่รุนแรง ที่ความคิดแทรกซอนไม่ตอบสนองต่อ CBT หรือการบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัวเพียงเท่านั้น ไม่ว่าเหตุของความคิดจะมาจาก OCD โรคซึมเศร้า หรือ PTSD ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) ก็เป็นยาที่ใช้มากที่สุด ความคิดแทรกซอนอาจเกิดกับคนไข้ Tourette syndrome (TS) ที่มี OCD ด้วย และความหมกมุ่นเนื่องจาก OCD ที่สัมพันธ์กับ TS เชื่อว่า ตอบสนองต่อยา SSRI ได้ดี
ยาแก้ซึมเศร้าที่มีหลักฐานว่าได้ผลต่อ OCD รวมทั้ง fluvoxamine (Luvox เป็นชื่อการค้า),ฟลูอ๊อกซิติน (โปรแซ็ค), sertraline (Zoloft), paroxetine (Paxil), citalopram (Celexa), และ clomipramine (Anafranil) แม้ว่า SSRI จะได้ผลต่อ OCD โดยทั่วไป แต่ก็มีงานศึกษาน้อยกว่าว่ามีผลแค่ไหนต่อความคิดแทรกซอน
งานศึกษาโดยทบทวนประวัติคนไข้ย้อนหลังที่มีอาการต่าง ๆ ทางเพศแล้วรักษาด้วย SSRI พบว่า คนที่อาการดีขึ้นที่สุดก็คือคนที่คิดหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สามัญใน OCD งานศึกษากับคนไข้ 10 คนที่หมกมุ่นในเรื่องศาสนาหรือเรื่องดูหมิ่นศาสนาพบว่า คนไข้โดยมากตอบสนองต่อการรักษาด้วยฟลูอ๊อกซิตินและ clomipramine
หญิงที่ซึมเศร้าหลังคลอดบ่อยครั้งมีโรควิตกกังวลด้วย และอาจจำเป็นต้องได้ SSRI ในขนาดต่ำกว่าเมื่อเริ่มยา โดยอาจไม่ตอบสนองเต็มที่ต่อยา และอาจได้ประโยชน์ถ้าเพิ่มการบำบัดด้วย CBT และการบำบัดโดยเปิดรับสิ่งที่กลัว
คนไข้ที่มีความคิดแทรกซอนรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อ SSRI หรือยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ อาจจะต้องได้ยารักษาโรคจิตตรงแบบ (typical) หรือนอกแบบ (atypical) รวมทั้งริสเพอริโดน (ชื่อการค้า Risperdal), ziprasidone (Geodon), haloperidol (Haldol), และ pimozide (Orap)
งานศึกษาหลายงานแสดงว่า ยา inositol ในขนาดใช้รักษาอาจมีประโยชน์เพื่อบำบัดความคิดหมกมุ่น
วิทยาการระบาด
งานศึกษาปี 2550 พบว่า คนไข้ OCD 78% ที่เข้ารับการรักษามีจินตภาพแทรกซอน คนโดยมากที่มีปัญหาความคิดแทรกซอนไม่ได้ระบุตนเองว่ามี OCD เพราะว่า ตนอาจจะไม่มีอาการคลาสสิกของ OCD เช่นการล้างมือ อย่างไรก็ดี งานศึกษาทางวิทยาการระบาดหลายงานแสดงว่า ความคิดแทรกซ้อนเป็นรูปแบบ OCD ที่สามัญที่สุดในโลก ถ้าคนคิดแทรกซอนในสหรัฐอเมริการวมตัวกัน ก็จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดเป็นที่ 4 ในสหรัฐต่อจากเพียงแค่นครนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส และชิคาโก
ความชุกของโรค OCD ในทุกวัฒนธรรมที่ได้ศึกษาอยู่ที่อย่างน้อย 2% ของประชากรทั้งหมด และส่วนมากมีความคิดหมกมุ่นที่ไม่ดีเท่านั้น (คือไม่ย้ำทำ) ซึ่งในสหรัฐอเมริกานี่หมายถึงคนอย่างน้อยที่สุด 2 ล้านคน (โดยปี 2543) นักวิชาการท่านหนึ่งประเมินว่า ผู้ใหญ่ 1 ใน 50 มี OCD และ 10-20% ในบรรดาคนเหล่านี้หมกมุ่นในเรื่องเพศ งานวิจัยปี 2549 พบว่า 25% ของคนไข้ 293 คนที่วินิจฉัยว่ามี OCD เป็นหลัก มีประวัติเกี่ยวกับการหมกมุ่นทางเพศ
บรรณานุกรม
- Baer, Lee (2001). The Imp of the Mind: Exploring the Silent Epidemic of Obsessive Bad Thoughts. New York: Dutton. ISBN 978-0-525-94562-8.
อ่านเพิ่ม
- Abramowitz JS, Schwartz SA, Moore KM, Luenzmann KR (2003). "Obsessive-compulsive symptoms in pregnancy and the puerperium: a review of the literature". J Anxiety Disord. 17 (4): 461–78. doi:10.1016/s0887-6185(02)00206-2. PMID 12826092.
- Julien D, O'Connor KP, Aardema F (April 2007). "Intrusive thoughts, obsessions, and appraisals in obsessive-compulsive disorder: a critical review". Clin Psychol Rev. 27 (3): 366–83. doi:10.1016/j.cpr.2006.12.004. PMID 17240502.
- Marsh R, Maia TV, Peterson BS (June 2009). "Functional disturbances within frontostriatal circuits across multiple childhood psychopathologies". Am J Psychiatry. 166 (6): 664–74. doi:10.1176/appi.ajp.2009.08091354. PMC 2734479. PMID 19448188.
- Rachman S (December 2007). "Unwanted intrusive images in obsessive compulsive disorders". J Behav Ther Exp Psychiatry. 38 (4): 402–10. doi:10.1016/j.jbtep.2007.10.008. PMID 18054779.
- Yorulmaz O, Gençöz T, Woody S (April 2009). "OCD cognitions and symptoms in different religious contexts". J Anxiety Disord. 23 (3): 401–6. doi:10.1016/j.janxdis.2008.11.001. PMID 19108983.