Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ประสบการณ์ผิดธรรมดา
Другие языки:

ประสบการณ์ผิดธรรมดา

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ประสบการณ์ผิดธรรมดา (อังกฤษ: anomalous experiences) หรือที่เรียก ประสาทหลอนไม่ร้าย เกิดขึ้นได้ในบุคคลที่มีสุขภาพกายและใจดี แม้ไม่มีปัจจัยภายนอกชั่วคราวอย่างอื่น ๆ เช่นความล้า การใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือภาวะขาดความรู้สึกจากประสาทสัมผัส

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกว้างขวางแล้วว่า ประสบการณ์ประสาทหลอนไม่ได้เกิดเฉพาะในคนไข้โรคจิตหรือบุคคลปกติที่มีภาวะผิดปกติเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นเองในคนปกติในอัตราส่วนที่สำคัญ ทั้ง ๆ ที่มีสุขภาพที่ดีและไม่ได้มีภาวะเครียดหรือความผิดปกติอย่างอื่น ๆ

มีการเพิ่มพูนหลักฐานของประสบการณ์แบบนี้ มามากว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว การศึกษาเรื่องประสาทหลอนที่ไม่มีผลร้ายเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886 งานยุคแรก ๆ ของสมาคมวิจัยพลังจิต (Society for Psychical Research) บอกเป็นนัยว่า อัตราร้อยละ 10 ของประชากรจะประสบกับประสาทหลอนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ส่วนงานวิจัยเร็ว ๆ นี้ก็ได้ยืนยันประเด็นนี้แล้ว แม้ว่า ความถี่ของอุบัติการณ์นี้แตกต่างกัน แล้วแต่ลักษณะของประสบการณ์และความหมายที่ใช้ของคำว่า "ประสาทหลอน" แต่โดยพื้นฐาน มีหลักฐานเกี่ยวกับอุบัติการณ์นี้ที่ชัดเจนแล้ว

ประเภท

อุบัติการณ์ที่น่าสนใจที่สุด (ซึ่งจะกล่าวถึงเหตุผลต่อไป) ก็คือประสบการณ์ผิดธรรมดาที่เหมือนจริงอย่างยิ่ง

การปรากฏของบุคคลหรือสิ่งของ

ประสบการณ์ผิดธรรมดาที่สามัญอย่างหนึ่งก็คือ การปรากฏของบุคคลหรือสิ่งของ (apparitional experience) ซึ่งจำกัดความได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มีการรับรู้ว่ามีบุคคลอื่นหรือว่ามีสิ่งของที่ไม่มีอยู่จริง ๆ ผู้ที่รายงานปรากฏการณ์นี้ด้วยตนเองมักจะรายงานถึงการรับรู้ถึงรูปคล้ายคน แต่ว่าการรับรู้ถึงสัตว์ และถึงวัตถุอื่น ๆ ก็ยังมีด้วย ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ปรากฏคล้ายคนโดยมากจะไม่ใช่บุคคลที่คนนั้นรู้จัก และสำหรับในบุคคลที่รู้จัก คนที่ปรากฏนั้นจะไม่ใช่คนที่ตายแล้ว

ประสบการณ์ออกนอกร่าง

คนโดยมากมักจะคิดถึงประสบการณ์ออกนอกร่าง (Out-of-body experiences) ว่ามีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ใกล้ตาย (near-death experience) แต่จริง ๆ แล้ว หลักฐานกลับชี้ว่า ประสบการณ์ออกนอกร่างโดยมากไม่ได้เกิดขึ้นตอนที่ใกล้ตาย แต่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความตื่นตัวระดับที่สูงมากหรือระดับที่ต่ำมาก

ดร. แม็คเคลียรี ได้เสนอว่า ระดับความตื่นตัวที่เหมือนจะขัดแย้งกันอย่างนี้สามารถอธิบายได้ว่า การนอนหลับไม่ใช่เกิดขึ้นในภาวะที่มีความตื่นตัวต่ำและมีความรู้สึกทางประสาทสัมผัสน้อยลงโดยทั่วไปเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดในภาวะที่มีความเครียดจัดและมีความตื่นตัวสูงด้วย ถ้าอธิบายโดยใช้แนวทางนี้ ก็จะอธิบายได้ว่า ประสบการณ์ออกนอกร่างเกิดขึ้นเพราะกระบวนการนอนหลับขั้นที่ 1 ได้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังตื่นอยู่

ประสบการณ์ออกนอกร่างสามารถพิจารณาว่าเป็นอาการประสาทหลอน เพราะเป็นประสบการณ์รับรู้หรือคล้ายการรับรู้ ซึ่งสิ่งที่รับรู้ไม่ได้มีอยู่จริง ๆ ทางกายภาพ ดังนั้น ข้อมูลประสาทสัมผัสจริง ๆ ที่บุคคลนั้นได้รับ (ถ้ามี) ในช่วงประสบการณ์ ก็จะไม่ตรงกลับกับการรับรู้ถึงโลกรอบตัวของบุคคลนั้น

เหมือนกับประสบการณ์เกี่ยวกับประสาทหลอนอย่างอื่น ๆ ผลสำรวจประชากรพบว่า ประสบการณ์นี้ค่อนข้างสามัญ โดยมีความชุกที่อัตราร้อยละ 15-20 ค่าที่แตกต่างกันเชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะความต่างของกลุ่มประชากรที่สุ่มตรวจสอบ และความแตกต่างของความหมายของคำว่า ประสบการณ์ออกนอกร่าง ที่ใช้ในการสำรวจ

ความฝันและความฝันรู้ตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม: ความฝัน

ความฝันได้รับคำนิยามจากชนบางพวก (เช่นสารานุกรมบริตานิกา) ว่าเป็นประสบการณ์คล้ายประสาทหลอนในช่วงที่นอน

ส่วน ความฝันรู้ตัว หรือ ความฝันชัดเจน (อังกฤษ: lucid dream) มีนิยามคือ เป็นความฝันที่ผู้ฝันรู้ตัวว่ากำลังหลับและฝันอยู่ นายแพทย์ชาวดัตช์ชื่อว่าเฟร็ดเดอริก แวน อีเด็นใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า lucid dream เป็นคนแรก เป็นผู้ได้ศึกษาความฝันประเภทนี้โดยศึกษาความฝันของตนเอง คำว่า lucid มุ่งหมายว่า ผู้ฝันมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะปัจจุบันของตน ไม่ใช่หมายถึงว่า ความฝันนั้นมีความชัดเจนขนาดไหน แม้เป็นเช่นนั้น ความฝันรู้ตัวก็มีลักษณะอย่างหนึ่งคือ มีระดับความชัดเจนสูงเหมือนกับกำลังประสบเหตุการณ์นั้นจริง ๆ จนกระทั่งว่าผู้ฝันอาจจะถึงกับใช้เวลาในการเช็คดู และชมสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบว่า เหมือนกันกับที่พบในชีวิตจริง ๆ

ความฝันรู้ตัวเกิดขึ้นเมื่อกำลังหลับอยู่ แต่บางครั้งพิจารณาว่าเป็นอาการประสาทหลอน เหมือนกับความฝันที่ไม่รู้ตัวแต่มีความชัดเจนสูงเหมือนกับเกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งพิจารณาได้ว่าเป็นอาการประสาทหลอน ซึ่งเป็นอาการที่มีนิยามว่า "ประสบการณ์เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นทางประสาทสัมผัสจริง ๆ แต่ความจริงไม่มีการกระตุ้นที่เหมาะสมที่ประสาทสัมผัส"

การตื่นนอนเทียม

ส่วน การตื่นนอนเทียม (อังกฤษ: False awakenings) หมายถึงบุคคลนั้นเหมือนกับจะตื่นขึ้น จากการฝันปกติหรือฝันแบบรู้ตัว แต่จริง ๆ แล้ว ยังหลับอยู่ บางครั้งประสบการณ์นี้จะเหมือนจริงมาก (เช่นเหมือนกับจะตื่นขึ้นในห้องนอนของตน) จนกระทั่งว่า ความรู้สึกตัวว่ากำลังฝันอยู่ จะไม่ปรากฏโดยทันที และบางครั้งจะไม่รู้ตัวจนกระทั่งตื่นขึ้นจริง ๆ แล้วจึงรู้ตัวว่า สิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นเป็นอาการประสาทหลอน ประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยในบุคคลที่ฝึกการฝันแบบรู้ตัว แต่ว่า ก็เกิดขึ้นเองด้วย และมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับอาการผีอำ (อังกฤษ: sleep paralysis)

ประสาทหลอนที่ทำให้เกิดขึ้นในห้องแล็บ

อาการประสาทหลอนหรือประสบการณ์ผิดธรรมดาที่เหมือนกับในคนโรคจิตเหล่านี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงของการรับรู้เหตุการณ์ตามความเป็นจริงในระดับสูง แต่จริง ๆ แล้ว การรับรู้โดยทั่ว ๆ ไปต้องอาศัยการตีความ คือสิ่งที่เรารับรู้นั้นมีอิทธิพลอย่างสูงจากประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน และจากความคาดหวังของเรา บุคคลที่มักจะมีอาการประสาทหลอน คือบุคคลที่ได้คะแนนสูงในการทดสอบทางจิตวิทยาที่วัดความบวกของ schizotypy ผู้มักจะแจ้งถึงตัวกระตุ้น ที่ไม่ได้มีจริง ๆ ภายใต้สภาพการทดลองที่มีการรับรู้ที่คลุมเครือ

ภายใต้การทดสอบเพื่อตรวจจับคำที่กำลังเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วทางตา นักศึกษาชั้นปริญญาตรีที่ได้คะแนนสูงจากการวัดความบวกของ schizotypy จะมีอัตราสูงในการรับรู้คำที่ไม่มี คือแจ้งว่า เห็นคำที่ไม่ได้ปรากฏในระหว่างการทดลอง การได้คะแนนสูงเมื่อวัดความบวกของ schizotypy ดูเหมือนจะเป็นตัวพยากรณ์การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความจริงในการทดลองในห้องแล็บ แต่ตัวแปรบางอย่างเช่น จำนวนตัวกระตุ้น (perceptual load) และความถี่ (คือความเร็ว) ของตัวกระตุ้นที่ปรากฏ ก็มีควาสำคัญระดับวิกฤติเพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ผิดไปจากความจริงด้วย คือ ถ้าการตรวจจับสิ่งที่ต้องการหาไม่ต้องใช้ความพยายามมาก หรือถ้าการรับรู้ถึงสิ่งนั้นต้องอาศัยการแปลผลในระบบต่าง ๆ ของสมองมาก ปรากฏการณ์นี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

เสียงหลอน

เสียงหลอน โดยเฉพาะที่เป็นเสียงพูด มักเข้าใจกันว่าเป็นอาการเฉพาะอย่างหนึ่งของคนไข้โรคจิตเภท แต่จริง ๆ แล้ว บุคคลปกติก็รายงานถึงการได้ยินเสียงหลอนในระดับที่น่าแปลกใจเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยเบ็นทอลล์และนักวิจัยสเลด พบว่า อัตราร้อยละ 15.4 ของนักศึกษาชายจำนวน 150 คน กล้าที่จะยืนยันความนี้ว่า "ในอดีต ผมได้ประสบการได้ยินเสียงของคน แต่กลับพบว่าไม่มีคนอื่นในที่นั้น" นักวิจัยทั้งสองยังกล่าวต่อไปอีกว่า

... ไม่น้อยกว่า 17.5% (ของนักศึกษา) พร้อมที่จะตอบคำถามนี้ว่า "ผมบ่อยครั้งได้ยินเสียงที่กล่าวความคิดของผมออกมาให้ได้ยิน" ด้วยคำตอบว่า "เป็นอย่างนี้จริง ๆ " (แต่ว่า จริง ๆ แล้ว) การได้ยินแบบสุดท้ายนี้ปกติจะได้รับการพิจารณาว่า เป็นอาการเบื้องต้นของโรคจิตเภท

นักวิจัยกรีนและ ดร. แม็คเครียรี พบว่า 14% ผู้ตอบคำถามอาสาสมัครแจ้งการได้ยินหลอนแบบล้วน ๆ และเกือบครึ่งหนึ่งของบุคคลเหล่านั้น ได้ยินเสียงพูดทั้งที่ชัดเจนและไม่ชัดเจน ตัวอย่างหนึ่งก็คือนายวิศวกรคนหนึ่งซึ่งต้องทำการตัดสินใจทางอาชีพที่ยากอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งเมื่อกำลังอยู่ในโรงหนังได้ยินเสียงพูดที่ "ดังและชัดเจน" ว่า "คุณรู้ไหมว่า คุณทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก" นายวิศวกรคนนั้นกล่าวเพิ่มอีกด้วยว่า

เสียงนั้นชัดเจนกังวานดีจนกระทั่งว่าผมต้องหันไปมองเพื่อนของผม ผู้ที่กำลังดูหนังอยู่อย่างเพลิดเพลิน ผมรู้สึกอัศจรรย์ใจแต่ก็สบายใจด้วยเมื่อมีความชัดเจนแล้วว่า มีผมคนเดียวเท่านั้นที่ได้ยินเสียงนั้น

กรณีนี้เป็นเหมือนตัวอย่างที่นักวิจัยโพซี่และลอสช์ เรียกว่า "ได้ยินเสียงปลอบโยนหรือให้คำแนะนำที่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความคิดของตนเอง" ซึ่งพวกเขาประมาณว่า ร้อยละ 10 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอเมริกันในกลุ่มการทดสอบของพวกเขาได้พบกับประสบการณ์เช่นนี้

ความรู้สึกว่ามีคนอื่นอยู่ด้วย

นี้เป็นประสบการณ์ที่ขัดแย้งกันที่บุคคลมีความรู้สึกที่ชัดเจนว่า มีคนอื่นอยู่ด้วย เป็นคนที่บางครั้ง รู้จัก บางครั้ง ไม่รู้จัก แต่ว่า ไม่ได้มีความรู้สึกอะไร ๆ จากประสาทสัมผัส

นักจิตวิทยาและนักปรัชญาชาวอเมริกันยุคศตวรรษที่ 19 ชื่อว่า วิลเลียม เจมส์ พรรณนาประสบการณ์เช่นนี้ไว้ว่า

จากคำของคนที่มีประสบการณ์นี้ ว่าเป็นความรู้สึกในใจที่แน่นอนและมั่นใจ ประกอบพร้อมกับความเชื่อว่ามีบุคคลนั้นอยู่ในที่นั้นจริง ๆ เป็นความเชื่อที่มีกำลังเท่าที่จะมีได้เหมือนได้รับข้อมูลทางประสาทสัมผัส แม้ว่า จริง ๆ แล้ว จะไม่มีข้อมูลจากประสาทสัมผัส ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากความคิดล้วน ๆ แต่ที่มาประกอบพร้อมกับกับความรู้สึกเร่งเร้าที่ปกติจะมากับความรู้สึกทางประสาทสัมผัส

คำอธิบายต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของประสบการณ์ประเภทนี้

สามีของดิฉันเสียชีวิตไปในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1945 ต่อมาวันหนึ่งหลังจากนั้นอีก 26 ปี ในขณะที่ดิฉันอยู่ที่โบสถ์ ดิฉันรู้สึกว่าเขากำลังยืนอยู่ข้าง ๆ ดิฉันเมื่อกำลังร้องเพลงสวดอยู่ ดิฉันรู้สึกว่า ถ้าหันหน้าไปทางนั้นก็จะเห็นเขา ความรู้สึกนี้มีกำลังมากจนดิฉันถึงกับร้องไห้ และดิฉันก็ไม่ได้คิดถึงเขาจนกระทั่งรู้สึกว่าเขามาอยู่ที่ข้าง ๆ ดิฉันไม่ได้เคยมีความรู้สึกแบบนี้ และความรู้สึกนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอีกตั้งแต่นั้น

ประสบการณ์เช่นนี้มีลักษณะเหมือนกับประสาทหลอนยกเว้นอยู่อย่างเดียว คือ นักวิจัยสเลดและเบ็นทอลล์ได้เสนอความหมายของคำว่า ประสาทหลอน (อังกฤษ: hallucination) ไว้ว่า

ประสบการณ์เหมือนกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่

  1. เกิดโดยไม่มีตัวกระตุ้นที่เหมาะสม
  2. มีกำลังหรือผลเหมือนกับมีการรับรู้ทางประสาทสัมผัสนั้นจริง ๆ
  3. ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจใต้การบังคับของคนที่ประสบความรู้สึกเช่นนั้น

ประสบการณ์ที่เพิ่งกล่าวถึงมีลักษณะที่ 2 และที่ 3 ของคำนิยามนั้น นอกจากนั้น อาจจะสามารถเพิ่มลักษณะอีกอย่างหนึ่งได้ด้วย คือบุคคลที่เหมือนกับจะมี จะอยู่ที่ตำแหน่งหนึ่ง ๆ ที่ชัดเจนภายในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว โดยนัยนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า ประสบการณ์นี้มีลักษณะหลอนมากกว่าประสบการณ์อย่างอื่น ๆ เช่น สิ่งที่เห็นก่อนจะหลับหรือก่อนจะตื่น ที่อาจจะรู้สึกโดยเป็นวัตถุภายนอก แต่เป็นวัตถุภายนอกที่อยู่ในจิตใจของตน

ความรู้สึกถึงคนตาย

ความรู้สึกถึงญาติที่พึ่งตาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกที่ชัดเจน หรืออาจจะเป็นความรู้สึกแบบคลุมเครือว่ามีอยู่ นักวิจัยรีซ ทำการสัมภาษณ์คนม่าย 293 คนผู้อาศัยอยู่ในภาคกลางของประเทศเวลส์ พบว่า 14% มีประสาทหลอนทางตาเกี่ยวกับคู่ครองที่จากไป 13.3% มีประสาทหลอนทางหู และ 2.7% มีประสาทหลอนทางสัมผัส แต่ว่า มีความเหลื่อมล้ำกันบ้างในระหว่างกลุ่มบุคคลเหล่านั้น เพราะว่าบางคนมีประสาทหลอนมากกว่าทางประสาทสัมผัสเดียว ที่น่าสนใจก็คือ ในหัวข้อก่อน (ความรู้สึกว่ามีคนอื่นอยู่ด้วย) มี 46.7% ของผู้ที่ได้รับการสำรวจทั้งหมด ที่แจ้งความรู้สึกถึงคู่ครองที่ตายไป และแม้งานศึกษาอื่น ๆ ที่ศึกษาความรู้สึกว่ามีคนอื่นอยู่ด้วย ก็พบว่าประมาณ 50% มีความรู้สึกถึงคู่ครองที่ตายไปแล้วเหมือนกัน

การมีความรู้สึกถึงคนที่ตายไปแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้ามเชื้อชาติ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีการถือเอาต่าง ๆ กันตามวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษายุคต้น ๆ ที่สุดงานหนึ่งที่พิมพ์ในวารสารชาวตะวันตกที่มีการตรวจสอบโดยผู้มีความชำนาญสาขาเดียวกัน ได้ทำการตรวจสอบประสบการณ์ของคนม่ายชาวญี่ปุ่น แล้วพบว่า 90% มีความรู้สึกถึงคู่ครองที่ตายไป แต่ว่า โดยเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของชาวตะวันตก คนม่ายเหล่านั้นไม่ได้วิตกกังวลถึงความผิดปกติทางจิตของตน แต่อธิบายปรากฏการณ์นั้นตามคำสอนศาสนาของตน

ในโลกตะวันตก งานศึกษาที่กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้รับอิทธิพลจากความคิดเชิงจิตวิเคราะห์ และมักจะพิจารณาปรากฏการณ์เหล่านั้นว่าเป็นพฤติกรรมเชิงปฏิเสธ ตามเชิงการวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ที่กล่าวไว้ในบทความ "Mourning and Melancholia (การไว้ทุกข์กับความหดหู่เศร้าใจ)" โดยเป็นการ "ยึดถือบุคคล (หรือวัตถุ) นั้นไว้ สื่อโดยอาการโรคจิตที่เป็นประสาทหลอน ที่เป็นไปตามความอยากจะให้เป็นอย่างนั้น"

ส่วนในช่วงทศวรรษที่พึ่งผ่าน ๆ มานี้ โดยต่อยอดหลักฐานสากลว่าประสบการณ์เช่นนี้เป็นการปรับตัว สมมุติฐานว่าเป็นความสัมพันธ์ทางใจที่ยังไม่ขาด ที่เสนอโดยคณะของนักวิจัยคลาส (1996) เสนอว่า ประสบการณ์เช่นนี้สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องปกติ และอาจเป็นตัวช่วยให้เกิดการปรับตัว แม้ในวัฒนธรรมของชาวตะวันตกได้ด้วย

ดังนั้น ตั้งแต่งานศึกษาของคลาสมา ได้มีงานศึกษาต่อ ๆ มา ที่ได้พรรณนาโดยมากถึงประโยชน์ที่ได้จากประสบการณ์อย่างนี้ โดยเฉพาะเมื่อสามารถสร้างความเข้าใจได้โดยใช้คำสอนของศาสนา แม้ว่า โดยมากประสบการณ์อย่างนี้มักจะทำให้ผู้ประสบเกิดความสบายใจ แต่ว่า ยังมีบุคคลจำนวนหนึ่งแม้จะน้อย ที่ได้ประสบการณ์ที่น่าพรั่นพรึง ดังนั้น ก็ยังมีงานวิจัยที่กำลังเป็นไปอยู่ เช่นของนักวิจัยฟิลด์และนักวิจัยอื่น ๆ เพื่อศึกษาว่า เมื่อไรความสัมพันธ์ทางใจที่ยังไม่ขาดอย่างนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบ และเมื่อไร อาจจะมีผลเสีย

ผลต่อทฤษฎีต่าง ๆ

ทฤษฎีทางจิตวิทยา

ความสำคัญของประสบการณ์ผิดธรรมดาเช่นประสาทหลอนที่ไม่มีผลร้ายที่มีต่อทฤษฎีทางจิตวิทยา อยู่ที่ความเกี่ยวข้องของมันต่อทฤษฎีที่วิเคราะห์ว่าเป็นอาการของโรค และทฤษฎีที่วิเคราะห์ว่ามีการเกิดขึ้นในระดับต่าง ๆ ในแต่ละบุคคล ในทฤษฎีว่าเป็นโรค ภาวะโรคจิตต่าง ๆ เช่นภาวะที่มีในโรคจิตเภทหรือในโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) เป็นอาการของโรค ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะแบ่งกลุ่มบุคคลออกเป็นสองส่วน คือเป็นพวกที่มีหรือไม่มีโรค เหมือนกับที่บุคคลมีหรือไม่มีโรคทางกายเช่นวัณโรคเป็นต้น

นัยตรงกันข้ามกัน ในทฤษฎีว่ามีการเกิดขึ้นในระดับต่าง ๆ ในแต่ละบุคคล ประชากรทั้งหมดมีประสบการณ์นี้ในระดับต่าง ๆ กัน ซึ่งมีคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า psychoticism (โดย H.J.Eysenck), schizotypy (โดย Gordon Claridge), หรือ psychosis-proneness

การเกิดขึ้นเองของประสาทหลอนแม้ในบุคคลที่มีสุขภาพดี ไม่ได้เสพยา หรือมีสภาวะร่างกายที่ผิดปกติแบบชั่วคราวอย่างอื่น ๆ เช่นความล้า ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีว่าประสาทหลอนเกิดขึ้นในระดับต่าง ๆ ในแต่ละบุคคล ถ้าจะอธิบายเป็นอย่างอื่นจากทฤษฎีนี้ ก็จะต้องตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับกระบวนการแอบแฝงของโรค โดยที่ประสบการณ์เหล่านี้เป็นอาการของโรคหรือเป็นอาการก่อนโรคจะเกิดขึ้น แต่นี่เป็นสมมุติฐานที่ต้องอาศัยหลักฐานอื่นที่ยังไม่มี มาช่วยสนับสนุน

ทฤษฎีทางปรัชญา

หลักฐานจากประสบการณ์ประสาทหลอน เป็นข้อยืนยันที่มักจะใช้ในการสนับสนุนทฤษฎีสัจนิยมโดยตัวแทนเพื่อเปรียบเทียบกับทฤษฎีสัจนิยมโดยตรง ทฤษฎีสัจนิยมโดยตัวแทนเสนอว่า เมื่อมีการรับรู้คุณลักษณะของโลก เราไม่ได้รับรู้คุณลักษณะเหล่านั้นโดยตรง เหมือนกับที่สามัญสำนึกอาจจะบอกเรา, แต่เราสามารถรับรู้ตัวแทน (หรือแบบจำลอง) ของคุณลักษณะของโลกที่มีอยู่ในใจเพียงเท่านั้น ข้อมูลตัวแทนนั้นจะแม่นยำแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะนั้น กับสุขภาพ และกับองค์ประกอบอื่น ๆ

โดยนัยตรงกันข้าม ทฤษฎีสัจนิยมโดยตรงเสนอว่า ความรู้สึกการรับรู้ส่วนที่ไม่ประกอบด้วยความคิดตรงกับความจริงของโลก และเมื่อมีการรับรู้คุณลักษณะของโลก ให้พึงพิจารณาว่า เรามีการรับรู้โลกนั้นโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวแทนอะไร ๆ ที่อยู่ในใจ

แต่ว่า มีความชัดเจนแล้วว่า เหมือนกับประสบการณ์ที่กล่าวถึงในการปรากฏของบุคคลหรือสิ่งของ โลกที่บุคคลนั้นกำลังรับรู้ และโลกที่มีอยู่จริง ๆ ในขณะนั้น ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่สำหรับบุคคลนั้น ประสบการณ์ผิดธรรมดานั้นอาจจะไม่มีความแตกต่างจากการรับรู้แบบปกติธรรมดาอะไร ๆ เลย ดร. แม็คเคลียรี เสนอว่า ปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากประสบการณ์เช่นนี้ ยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัจนิยมโดยตัวแทนเหนือทฤษฎีสัจนิยมโดยตรง

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Aleman, A & Laroi, F. (2008) . Hallucinations: the science of idiosyncratic perception. Washington: American Psychological Association.
  • Birchwood, Max J., Chadwick, Paul, and Trower, Peter (1996) . Cognitive Therapy for Delusions, Voices and Paranoia. New York: John Wiley & Sons Inc.
  • Cardeña, E., Lynn, S.J., & Krippner, S. (2000) . Varieties of anomalous experience: Examining the scientific evidence. American Psychological Association.
  • Johnson, Fred H., (1978) . The Anatomy of Hallucinations. Chicago: Nelson-Hall.
  • Murray, C. (Ed.) (2012) . Mental health and anomalous experience. New York: Nova Science Publishers.
  • Pearson, R.S. (2005) The Experience of Hallucinations in Religious Practice. Seattle: Telical Books.
  • Aleman, A & Laroi, F. (2008) . Hallucinations: the science of idiosyncratic perception. Washington: American Psychological Association.

Новое сообщение