Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

อิริโทรมัยซิน

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
อิริโทรมัยซิน
Erythromycin A.svg
Erythromycin 3d structure.png
ข้อมูลทางคลินิก
ชื่อทางการค้า E-mycin, Erythrocin
AHFS/Drugs.com โมโนกราฟ
MedlinePlus a682381
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
  • AU: A
  • US: B (ไม่มีความเสี่ยงในสัตว์)
ช่องทางการรับยา การรับประทาน, การฉัดเข้าหลอดเลือดดำ (IV), การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM), การทาบริเวณผิวหนัง, การหยอดตา ยาหยอดตา
รหัส ATC
กฏหมาย
สถานะตามกฏหมาย
  • AU: S4 (ต้องใช้ใบสั่งยา)
  • UK: POM (Prescription only)
  • US: ℞-only
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์
ชีวประสิทธิผล ขึ้นกับชนิดของเอสเทอร์ โดยมีค่าระหว่าง 30% - 65%
การจับกับโปรตีน 90%
การเปลี่ยนแปลงยา ตับ (น้อยกว่า 5% ในรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลง)
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ 1.5 ชั่วโมง
การขับออก น้ำดี
ตัวบ่งชี้
  • (3R,4S,5S,6R,7R,9R,11R,12R,13S,14R)-6-
    {[(2S,3R,4S,6R)-4-(dimethylamino)-3-hydroxy-6-methyloxan-2-yl]oxy}-
    14-ethyl-7,12,13-trihydroxy-4-{[(2R,4R,5S,6S)-
    5-hydroxy-4-methoxy-4,6-dimethyloxan-2-yl]oxy}-
    3,5,7,9,11,13-hexamethyl-1-oxacyclotetradecane-2,10-dione
เลขทะเบียน CAS
PubChem CID
IUPHAR/BPS
DrugBank
ChemSpider
UNII
KEGG
ChEBI
ChEMBL
ECHA InfoCard 100.003.673
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี
สูตร C37H67NO13
มวลต่อโมล 733.93 g/mol
แบบจำลอง 3D (JSmol)
  • CC[C@@H]1[C@@]([C@@H]([C@H](C(=O)[C@@H](C[C@@]([C@@H]([C@H]([C@@H]([C@H](C(=O)O1)C)O[C@H]2C[C@@]([C@H]([C@@H](O2)C)O)(C)OC)C)O[C@H]3[C@@H]([C@H](C[C@H](O3)C)N(C)C)O)(C)O)C)C)O)(C)O
  • InChI=1S/C37H67NO13/c1-14-25-37(10,45)30(41)20(4)27(39)18(2)16-35(8,44)32(51-34-28(40)24(38(11)12)15-19(3)47-34)21(5)29(22(6)33(43)49-25)50-26-17-36(9,46-13)31(42)23(7)48-26/h18-26,28-32,34,40-42,44-45H,14-17H2,1-13H3/t18-,19-,20+,21+,22-,23+,24+,25-,26+,28-,29+,30-,31+,32-,34+,35-,36-,37-/m1/s1 Yes check.svg 7
  • Key:ULGZDMOVFRHVEP-RWJQBGPGSA-N Yes check.svg 7
  (verify)
Pharmaklog.png สารานุกรมเภสัชกรรม

อีริโธรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งในกลุ่มแมคโครไลด์(Macrolides) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย ซึ่งยาในกลุ่มดังกล่าว รวมถึงอีริโธรมัยซินนั้นมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียได้คล้ายคลึงหรือกว้างกว่ายาในกลุ่มเพนนิซิลิน (Penicillins) เล็กน้อย โดยยาดังกล่าวมักถูกสั่งใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ต่อยากลุ่มเพนนิซิลิน สำหรับในกรณีที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจนั้น ยาดังกล่าวจะออกฤทธิ์ครอบคุลมเชื้อกลุ่ม Atypical pathogens ได้ดีกว่า ได้แก่ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) และ ลิจิโอเนลลา (Legionella) โดยบริษัทแรกที่ผลิตยาชนิดนี้ออกสู่ตลาดเป็นรายแรกคือ Eli Lilly and Company จนกระทั่งในปัจจุบัน ยาชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ erythromycin ethylsuccinate (EES) ซึ่งเป็นรูปแบบเกลือเอสเทอร์ที่ถูกใช้กันโดยส่วนใหญ่ และยาดังกล่าวมักถูกนำไปปรับประยุกต์เพื่อใช้ในการบริหารยาโดยการหยอดตาสำหรับเด็กแรกเกิดเพื่อป้องกันเยื่อตาอักเสบในทารกแรกเกิด (neonatal conjunctivitis) และถือเป็นยาทางเลือกรองสำหรับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmitted diseases; STDs) บางโรคอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้อีริโธรมัยซินเพื่อรักษาภาวะที่มีระยะเวลาที่ใช้ในการบีบตัวของกระเพาะอาหารเพื่อดันอาหารลงสู่ลำไส้เล็กนานกว่าปกติ (Delayed gastric emptying time) แต่การใช้ในข้อบ่งชี้ดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ยาจากประโยชน์นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในฉลาก (Off-label use basis) ในกรณีที่ต้องการผลทางเภสัชจลนศาตร์ที่ดีกว่าในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (hospitalized patients) อาจมีการพิจารณาใช้ยาอีริโธรมัยซินในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (IV) แทน อย่างไรก็ตาม การใช้ยาอีริโธรมัยซินในรูปแบบรับประทานเพื่อแก้ไขความผิดปกติของทางเดินอาหารข้างต้นนั้นยังมีข้อมูลจำกัดในเรื่องของประสิทธิภาพของยาในระยะยาว

จากสูตรโคงสร้างทางเคมีของอีริโธรมัยซินซึ่งเป็นสารประกอบแมคโครไซคลิค (macrocyclic compound) ที่ประกอบไปด้วยวงแหวนแลคโตน (Lactone ring) จำนวน 14 วง, มีศูนย์ไครัล (Chiral center หรือ asymmetric center) มากถึง 10 ตำแหน่ง และต่อกับน้ำตาลอีก 2 โมเลกุล คือ (L-cladinose และ D-desosamine) ทำให้สารประกอบชนิดนี้ยากต่อการสังเคราะห์เลียนแบบเป็นอย่างมาก ดังนั้น การผลิตยาอีริโธรมัยซินนี้จึงต้องผลิตจากการคัดแยกจากสารผสมที่ได้จากการสันดาปของเชื้อแอคติโนมัยสีท (Actinomycete) [ชื่อวิทยาศาสตร์ แซคคาโรโพลีสปอรา อีรีธราอี (Saccharopolyspora erythraea)]

อีริโธรมัยซินเป็นยาอีกหนึ่งชนิดในรายการจำเป็นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization's List of Essential Medicines) ซึ่งเป็นรายการยาที่มีความสำคัญมากที่สุดในระบบบริการสุขภาพพื้นฐาน (ฺBasic health system) ของแต่ละประเทศ

ประวัติการค้นพบ

ในปี ค.ศ. 1949 นักวิทยาศาสตร์ชาวฟิลิปปินส์ ชื่อ Dr. Abelardo B. Aguilar ได้ส่งตัวอย่างดินที่เก็บได้ไปให้บริษัทผู้ว่าจ้างของเขา ซึ่งก็คือบริษัท Eli Lilly ในขณะนั้น จากนั้นทีมนักวิจัยของบริษัท ซึ่งนำโดย J. M. McGuire ได้ทำการแยกอีริโธรมัยซินออกจากสารผสมที่ได้จากการสันดาป (metabolic products) ของเชื้อ Streptomyces erythreus] (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "Saccharopolyspora erythraea" ในภายหลัง) ที่พบในตัวอย่างดินดังกล่าวได้สำเร็จ

บริษัท Eli Lilly ได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรจากการค้นพบสารดังกล่าวในปี ค.ศ.1953 (US patent 2653899) ผลิตภัณฑ์ยาที่ได้ถูกนำออกสู่ตลาดในปี ค.ศ.1952 ภายใต้ชื่อการค้า Ilosone (ตามชื่อพื้นที่ที่ค้นพบตัวอย่าง ซึ่งก็คือจังหวัดอิโลอิโล่ (Iloilo) ในประเทศฟิลิปปินส์) และในสมัยก่อนมีการเรียกชื่ออีริโธรมัยซินในอีกชื่อหนึ่ง คือ Ilotycin

ในปี ค.ศ. 1981 Robert B. Woodward ศาสตร์ตราจาย์ด้านเคมี ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1965 (ได้รับรางวัลหลังจากเสียชีวิตแล้ว) ร่วมกับทีมนักวิจัยจำนวนหนึ่งได้ค้นพบ stereocontrolled asymmetric center ตำแหน่งแรกของการสังเคราะห์อีริโธรมัยซิน เอ (erythromycin A)

ยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า คลาริโธรมัยซิน (clarithromycin) ได้ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทยาสัญชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Taisho Pharmaceutical ซึ่งยาดังกล่าวมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าอีริโธรมัยซินคือ มีความคงทนต่อกรดได้มากกว่า จึงสามารถบริหารยาโดยการรับประทานหลังอาหารได้

นักวิทยาศาสตร์แห่ง Chugai Pharmaceuticals ได้ค้นพบว่าอนุพันธ์ของอีริโธรมัยซิน (Erythromycin-derivertives) ที่มีชื่อว่า Mitemcinal มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์โมทิลิน (Motilin) อย่างไรก็ตาม อนุพันธ์ดังกล่าวนั้นไม่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ด้วยเหตุนี้เอง อีริโธรมัยซินจึงถูกใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติดังกล่าวซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในฉลาก (Off-label use) กันอย่างแพร่หลายในการรักษาภาวะที่มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารที่ผิดปกติ อย่างเช่น ภาวะที่กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานน้อยลง (Gastroparesis) ซึ่งหาก mitemcinal มีประสิทธิภาพในการเป็นสารพวกโปรไคเนติกส์ (Prokinetic agents) ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารส่วนบน แสดงว่าสารดังกล่าวก็จะมีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญในการรักษาความผิดปกติที่มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารน้อย อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้อีริโธรมัยซินเพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติของทางเดินอาหารในประเด็นดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงหนึ่งต่อการทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้

อาการไม่พึงประสงค์

ปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบกลุ่มอาการสตีเฟนส์-จอห์นสัน (Stevens–Johnson syndrome)
ผื่นลมพิษ Urticaria) ที่เกิดจากการแพ้ยา

ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร อย่างเช่น ท้องเสีย, ปวดท้อง, และอาเจียน เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาอีริโธรมัยซิน เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์โมทิลิน (Motilin) ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ค่อยมีการสั่งจ่ายอีริโธรมัยซินเป็นยาทางเลือกแรกในการรักษามากเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวอาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารลดน้อยลง (Gastroparesis) เนื่องจากยาดังกล่าวมีคุณสมบัติกระตุ้นการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนบน (Prokinetic effect) นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติดังกล่าวในการเร่งการบีบตัวเพื่อไล่เศษอาหารออกจากกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่จะได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (esophagogastroduodenoscopy)

อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาอีริโธรมัยซิน ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ร่วมกับการมีช่วง QT segment ที่นานกว่าปกติ (Prolonged QT intervals) รวมไปถึงการเกิด torsades de pointes ซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะหูหนวกได้ชั่วคราว (reversible erythromycin-induced deafness) ซึ่งจะสามารถกลับเป็นปรกติได้เมื่อหยุดยา แต่ในบางรายอาจเกิดความผิดปกติดังกล่าวแบบถาวรได้ ยิ่งไปกว่านั้นยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาได้ ซึ่งอาจมีอาการได้ตั้งแต่การเกิดผื่นลมพิษ (Urticaria) ไปจนถึงการเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาที่รุนแรงอย่าง Anaphylaxis ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ภาวการณ์คั่งของน้ำดี (Cholestasis), ปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบกลุ่มอาการสตีเฟนส์-จอห์นสัน (Stevens–Johnson syndrome) และปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบท็อกซิก อีพิเดอร์มัล เนโครไลซิส (toxic epidermal necrolysis) เป็นอาการข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบอุบัติการณ์การเกิดได้ค่อนข้างน้อย แต่อาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

การศึกษาหลายการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ถึงความสัมพันธ์ของการได้รับยาอีริโธรมัยซินทั้งในเด็กก่อนคลอดและเด็กทารกหลังคลอดกับการเกิดการตีบตันช่องไพลอริค (pyloric stenosis) ซึ่งเป็นทางผ่านของอาหารจากกระเพาะอาหารลงสู่ลำไส้เล็ก การใช้ยาอีริโรมัยซิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ยาเป็นระยะเวลานานในขนาดที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงการได้รับผ่านทางน้ำนม) ในทารกแรกเกิดอาจนำไปสู่การเกิดการตีบตันช่องไพลอริคได้ การใช้ยาอีริโรมัยซินเพื่อรักษาภาวะ ที่มีกระแสเลือดไปเลี้ยงลำไส้ลดลงจนทำให้ทารกรับนมไม่ได้ (feeding intolerance) พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดการหนาตัวของกล้ามเนื้อหูรูดไพลอริคจนทำให้เกิดการตีบตันของช่องไพลอริค (hypertrophic pyloric stenosis ) นอกจากนี้ ยังพบว่าอีริโธรมัยซิน เอสไทเลทมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพิษต่อตับชนิดผันกลับได้ (reversible hepatotoxicity) ในหญิงตั้งครรภ์ โดยยาดังกล่าวจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ glutamic-oxaloacetic transaminase ในกระแสเลือด จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวในหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์บางแหล่งค้นพบว่ายาดังกล่าวอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้เช่นกันในกลุ่มประชากรทั่วไป ส่วนผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางนั้น พบว่าการได้รับอีริโธรมัยซินอาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิต (psychotic reaction), ฝันร้าย (nightmares) และเหงื่อออกตอนกลางคืน (night sweats) ได้ ทั้งนี้ การใช้ยาอีริโธรมัยซินรวมกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดลดลง เนื่องจากอีริโธรมัยซินมีผลต่อเชื้อประจำถิ่น (Normal flora) ในลำไส้ จึงมีผลต่อกระบวนการดูดซึมยาฮอร์โมนกลับ (enterohepatic circulation) ได้ นอกจากนี้แล้ว อีริโธรมัยซินยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบ cytochrome P450 ซึ่งทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงยาหลากหลายชนิด ดังนั้น เมื่อใช้ยาอีริโธรมัยซินร่วมกับยาชนิดอื่น อาจทำให้ระดับของยาอื่นที่ใช้ร่วมเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดอันตรายได้ เช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น

การสังเคราะห์

เป็นเวลามากกว่าสามทศวรรษแล้วหลังจากการค้นพบตัวยาและฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของอีริโรมัยซินเอ นักวิจัยที่เกี่ยวข้องต่างก็พยายามที่จะสังเคราะห์ยาชนิดดังกล่าวขึ้นให้ได้ภายในห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ยาชนิดดังกล่าวมี stereospecific carbon มากถึง 10 ตำแหน่ง และมีหมู่แทนที่ที่จำเพาะเจาะจงหลากหลายตำแหน่งทำให้เป็นการยากลำบากที่จะสังเคราะห์อีริโธรมัยซินเอขึ้นในห้องปฏิบัติการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนต้นแบบ การสังเคราะห์โครงสร้างที่มีความสัมพันธ์กับอีริโรมัยซินเอและสารตั้งต้น อย่าง 6-deoxyerythronolide B ได้สำเร็จ เป็นการค้นพบแนวทางใหม่ที่เป็นไปได้ที่จะการสังเคราะห์อีริโรมัยซิน และยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไลด์อื่นขึ้นมาได้ในห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีนักวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง อย่างเช่น Robert Burns Woodward นักเคมีอินทรีย์ชาวอเมริกันที่ได้พยายามที่จะสังเคราะห์ยาอีริโรมัยซินเอขึ้นมาจากห้องปฏิบัติ แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ประสบล้มเหลวในที่สุด โดยกระบวนการสังเคราะห์โดยสังเขปเริ่มจากการสังเคราะห์จากตำแหน่งที่ (7) และ (8) จากนั้นนำสารสังเคราะห์ทั้งสองที่ได้มาทำปฏิกิริยากัน สารที่ได้จากปฏิกิริยาจะเป็นสารตั้งต้นในการเกิดปฏิกิริยาในลำดับขั้นต่อๆไป ได้แก่ การเกิดปฏิกิริยาไฮโดรไลสิส (Hydrolysis) และปฏิกิริยาการสร้างสารกลุ่มอัลดอลเพื่อให้เป็น stereospecific centers ของโครงสร้าง (stereospecific aldolization) สารประกอบอีโนน (enone) บริสุทธ์ที่ได้ในขั้นตอนสุดท้ายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร dithiadecalin (9) โดยปฏิกิริยารีดักชัน (reduction) และออกซิเดชัน (oxidation) จากนั้น dithiadecalin ที่ได้จะถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบคีโตน (10) และอัลดีไฮด์ (11) ในที่สุด

รูปแบบยาที่มีจำหน่าย

ในปัจจุบัน อีริโธรมัยซินมีทั้งในรูปแบบยาเม็ดชนิดแตกตัวในลำไส้ (enteric-coated tablets), ยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์เนิ่น (slow-release capsules), ยาน้ำแขวนตะกอน (oral suspensions), ยาหยอดตา (ophthalmic solutions), ขี้ผึ้ง (ointments), เจล (gels), ยาแคปซูลชนิดแตกตัวในลำไส้ (Enteric-coated Capsules), ยาเม็ดธรรมดา (Non Enteric-coated tablets), ยาแคปซูลธรรมดา (Non Enteric-coated capsules) และในรูปแบบยาฉีด (injections)

ยาอีริโธรมัยซิน ชนิดEnteric-coated capsule –ของบริษัท Abbott Labs

รายการดังต่อไปนี้เป็นรายการยาอีริโรมัยซินชนิดรับประทานที่มีจำหน่าย:

  • erythromycin base (ชนิดแคปซูล, ชนิดเม็ด)
  • erythromycin estolate (ชนิดแคปซูล, ยาน้ำแขวนตะกอน, ชนิดเม็ด), ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • erythromycin ethylsuccinate (ยาน้ำแขวนตะกอน, ชนิดเม็ด)
  • erythromycin stearate (ยาน้ำแขวนตะกอน, ชนิดเม็ด)

รายการดังต่อไปนี้เป็นรายการยาอีริโรมัยซินชนิดฉีดที่มีจำหน่ายในประเทศไทย:

  • erythromycin gluceptate
  • erythromycin lactobionate

ชื่อการค้าของอีริโธรมัยซิน ได้แก่ Robimycin, E-Mycin, E.E.S. Granules, E.E.S.-200, E.E.S.-400, E.E.S.-400 Filmtab, Erymax, Ery-Tab, Eryc, Ranbaxy, Erypar, EryPed, Eryped 200, Eryped 400, Erythrocin Stearate Filmtab, Erythrocot, E-Base, Erythroped, Ilosone, MY-E, Pediamycin, Zineryt, Abboticin, Abboticin-ES, Erycin, PCE Dispertab, Stiemycine, Acnasol, และ Tiloryth.

ส่วนประกอบ

อีริโธรมัยซินที่ได้มาตรฐานมักประกอบไปด้วยตัวยา 4 ชนิด คือ อีริโธรมัยซิน เอ, บี, ซี, และ ดี ซึ่งสัดส่วนของตัวยาสำคัญทั้ง 4 ชนิดนี้อาจแตกต่างกันไปตามรอบที่ผลิต และพบว่าในตัวยาสำคัญทั้ง 4 ชนิดนี้ อีริโรมัยซิน เอ เป็นชนิดที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแรงที่สุด ตามมาด้วยอีริโธรมัยซิน บี ส่วนอีริโธรมัยซิน ซี และ ดี นั้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียประมาณครึ่งหนึ่งของอีริโธรมัยซิน เอ ตัวยาสำคัญทั้ง 4 ชนิดนี้สามารถแยกออกมาเป็นสารบริสุทธิ์เพื่อจุดประสงค์ในการศึกษาวิจัยคุณสมบัติของตัวยาแต่ละชนิดได้

ชนิดของแบคทีเรียที่ไวต่อยา (Spectrum of susceptibility)

อีริโธรมัยซินสามารถใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ได้ เช่น การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เป็นต้น เชื้อเหล่านั้น ได้แก่ เชื้อในสกุล (genus) Streptococcus, Staphylococcus, และ Haemophilus เมื่อเปรียบเทียบการออกฤทธิ์ครอบคุลมเชื้อต่างๆกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน หรือกลุ่มอื่น ได้ผลดังตารางต่อไปนี้

เชื้อ Erythromycin Azithromycin Clarithromycin Clindamycin Chloramphenicol Doxycycline Minocycline Ciprofloxacin Ofloxacin
Strephylococcus Group A, B, C, G ± ± ± + + ± + ± ±
S. pneumoniae + + + + + + + ± ±
Enterococcus faecalis 0 0 0 0 ± 0 0 ** **
Enterococcus faecium 0 0 0 0 ± 0 0 0 0
S. aureus (MSSA) ± + + + ± ± + + +
S. aureus (MRSA) 0 0 0 0 0 ± ± 0 0
S. aureus (CA-MRSA) ± ± ± ± N/A + + ± N/A
S.epidermidis ± 0 0 0 0 0 0 + +
C. jeikeium 0 0 0 0 0 0 0 0 0
L. monocytogenes + + + N/A + + + + 0
N. gonorrhea ± ± ± 0 + ± ± +1 +1
N. meningitidis + + N/A 0 + + + + +
M. catharrhalis + + + 0 + + + + +
H. influenzae ± + + 0 + + + + +
Aeromonas N/A N/A N/A N/A + + + + +
E. coli 0 0 0 0 + + + + +
Klepsiella sp. 0 0 0 0 ± ± ± + +
E. coli/Kleps. sp. ESBL+ 0 0 0 0 ± ± ± + +
E. coli/Kleps. sp. KPC+ N/A N/A N/A N/A N/A N/A N/A N/A N/A
Enterobactor sp. 0 0 0 0 0 0 0 + +
Salmonella sp. 0 ± 0 0 + ± ± + +
Shigella sp. 0 ± 0 0 + ± ± + +
Serratia marcescens 0 0 0 0 0 0 0 + +
Proteus vulgaris 0 0 0 0 ± 0 0 + +
Acinetobacter sp. 0 0 0 0 0 0 0 ± ±
Ps. aeruginosa 0 0 0 0 0 0 0 + ±

1 ความชุกของ quinolones-resistant CG มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งพบความชุกอยู่ระหว่าง <1% ถึง 30.9% ในทวีปยุโรป, และพบมากกว่า 90% ในไต้หวัน และจากข้อมูลปี ค.ศ. 2006 พบว่าในสหรัฐอเมริการพบอุบัติการณ์ดังกล่าวประมาณ 6.7% CDC จึงไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนส์ (Fluoroquinolones) เป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อกลุ่ม Gonococcus

+ = มีประสิทธิภาพในการรักษา หรือเชื้อมีความไวต่อยามากกว่า 60%; ± = ยังขาดผลการศึกษาที่เด่นชัดในทางคลินิก หรือเชื้อมีความไวต่อยา 30%-60%; 0 = ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา หรือเชื้อมีความไวต่อยาน้อยกว่า 30%; N/A = ไม่มีข้อมูล

** เชื้อส่วนใหญ่มีความไวต่อยา 30%-60% หรือยังขาดผลการศึกษาทางคลินิกที่เด่นชัด แต่สามารถใช้ได้ในกรณีที่เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และไม่ใช้ในกรณีที่มีติดเชื้อในกระแสเลือด

กลไกการออกฤทธิ์

อีริโธรมัยซินมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriostatic activity) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระดับยามีความเข้มข้นสูง, แต่กลไกการออกฤทธิ์ของยาดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนัก คาดว่ายาดังกล่าวน่าจะออกฤทธิ์จับกับหน่วยย่อย 50s (50s subunit) บนไรโบโซมของแบคทีเรีย ทำให้การสังเคราะห์โปรตีนและโครงสร้างต่างๆของเซลล์ที่ต้องใช้โปรตีนเป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ที่สัมพันธ์กับโปรตีนซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของแบคทีเรียและการจำลองตัวของดีเอ็นเอ (DNA replication) หยุดชะงักลง นอกจากนี้ อีริโธรมัยซินยังมีผลรบกวนกระบวนการ aminoacyl translocation ซึ่งจะขัดขวางการส่งผ่าน tRNA จาก A site ของ rRNA complex ไปยัง P site ของ rRNA complex เมื่อเชื้อแบคทีเรียไม่สามารถเกิดกระบวนการ translocation ดังกล่าวได้ และ A site ยังคงถูกจับอยู่ด้วย tRNA โมเลกุลเดิม ทำให้ tRNA โมเลกุลที่จะนำกรดอะมิโนอีกโมเลกุลมาต่อเข้ากับสาย polypeptide หยุดชะงักลง ผลจากการรบกวนกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนของอีริโธรมัยซินทำให้แบคทีเรียขาดโปรตีนที่จำเป็นต่อการทำงานในกระบวนการต่างๆของเซลล์ และตายไปในที่สุด

คุณสมบัติทางเภสัชพลนศาสตร์และเภสัชจลนศาสตร์

อีริโธรมัยซินสามารถทำให้สูญเสียสภาพได้ง่ายในสภาวะที่เป็นกรด ซึ่งรวมถึงกรดในทางเดินอาหาร ดังนั้นอีริโธรมัยซินที่มีใช้ในปัจจุบันทุกรูปแบบจึงถูกทำให้อยู่ในรูปแบบยาเม็ดเคลือบ หรืออยู่ในรูปแบบเกลืองที่มีความคงทนต่อกรดมากขึ้น หรือในรูปของเอสเทอร์ (esters) เช่น erythromycin ethyl succinate เป็นต้น อีริโธรมัยซินสามารถถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากทางเดินอาหาร และกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึง phagocyte ได้ค่อนข้างดี การที่มีระดับความเข้มข้นของอีริโธรมัยซินใน phagocyte ในปริมาณที่สูง ทำให้ระหว่างเกิดกระบวนการกลืนกินเชื้อของ phagocyte (phagocytosis) ทำให้มีอีริโธรมัยซินปริมาณมากถูกปลดปล่อยออกมา


รายละเอียดคุณสมบัติทางเภสัชพลนศาสตร์และเภสัชจลนศาสตร์อื่นๆของอีริโธรมัยซิน ดังแสดงต่อไปนี้

คุณสมบัติ รายละเอียด
การดูดซึม การดูดซึมค่อนข้างหลากหลายขึ้นกับรูปแบบของยาและชนิดของเกลือที่บริหาร โดยทั่วไปการให้ยาในรูปแบบเกลือ (salt form) จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าการให้ยาในรูปแบบพื้นฐาน (base form) โดยทั่วไปสัดส่วนการดูดซึมจะอยู่ที่ประมาณ 18% ถึง 45%; อีริโธรมัยซินในรูปแบบ ethylsuccinate จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานยาพร้อมกับอาหาร
การกระจายยา การแพร่จากกระแสเลือดเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid; CSF) ของอีริโธรมัยซินนั้นเกิดขึ้นได้น้อย ถึงแม้จะมีการอักเสบก็ตาม โดยในภาวะที่ไม่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง อีริโทรมัยซินจะสามารถแพร่ผ่านเข้าไปสู่ CSF ได้ประมาณ 2% ถึง 13% แต่ในกรณีภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองอาจเพิ่มขึ้นเป็น 7%-25%
การจับกับโปรตีนในกระแสเลือด อีริโธรมัยซินในรูปแบบ base form สามารถจับกับโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 73% ถึง 81%
การเปลี่ยนแปลงยา โดยทั่วไปเกิดการเปลี่ยนผ่านปฏิกิริยา Demethylation ที่ CYP3A4 ของตับ
ค่าครึ่งชีวิตการกำจัดยา ประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายอาจมากถึง 5-6 ชั่วโมง
ระยะเวลาที่ระดับยาในกระแสเลือดขึ้นถึงระดับสูงสุด สำหรับ base form ประมาณ 4 ชั่วโมง, เกลือ Ethylsuccinate ประมาณ 0.5-2.5 ชั่วโมง; อาหารมีผลรบกวนการดูดซึมยา อาจทำให้การดูดซึมยาแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล
การกำจัดยา โดยทั่วไปอีริโธรมัยซินจะถูกขับทางอุจจาระเป็นหลัก ส่วนการขับออกทางปัสสาวะในรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลง (unchanged drug) คิดเป็นร้อยละ 2-15 ของปริมาณยาทั้งหมด


การเปลี่ยนแปลงยาของร่างกาย

ส่วนใหญ่อีริโธรมัยซิยจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยปฏิกิริยา demethylation ในตับโดยเอนไซม์ CYP3A4 ช่องทางหลักของการขับอีริโธรมัยซินออกจากร่างกาย คือ การขับออกทางน้ำดี และมีบางส่วนถูกขับออกทางปัสสาวะ ประมาณร้อยละ 2-15 ของยาที่ถูกขับออกนี้จะอยู่ในรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยค่าครึ่งชีวิตการกำจัด (elimination half-life) ของอีริโธรมัยซินของคนที่มีการทำงานของไตปรกตินั้นมีค่าอยู่ระหว่าง 1.5 - 2.0 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีภาวะไตวายระยะสุดท้าย (End stage renal disease; ESRD) อาจมีค่าสูงถึง 5-6 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่แล้วระดับอีริโธรมัยซินในกระแสเลือดจะขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานยา แต่สำหรับอีริโธรมัยซินในรูปแบบ ethylsuccinate ระดับสูงสุดในกระแสเลือดจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 0.5-2.5 ชั่วโมงหลังการรับประทานยาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เวลาที่ระดับยาในเลือดขึ้นถึงจุดสูงสุดนั้นอาจช้ากว่าปรกติได้ในผู้ที่รับประทานยาร่วมกับอาหาร เนื่องจากอาหารมีผลรบกวนการดูดซึมยา

อีริโธรมัยซินสามารถแพร่ผ่านรกของขับออกทางน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Association of Pediatrics) ได้ลงความเห็นไว้ว่า การใช้ยาอีริโธรมัยซินในหญิงให้นมบุตรนั้นมีความปลอดภัย เนื่องจากไม่พบความผิดปกติของทารกที่ได้รับนมจากแม่ที่ได้รับยาอีริโธรมัยซิน การดูดซึมยาอีริโธรมัยซินในหญิงในครรภ์นั้นพบว่ามีความแตกต่างกันออกในแต่ละบุคคล ส่วนมากมักพบว่าหญิงตั้งครรภ์มักมีระดับยาอีริโธรมัยซินในเลือดต่ำกว่าคนทั่วไป

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

อีริโธรมัยซินถูกเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ในระบบไซโตโครม พี450 (cytochrome P450) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยไอโซเอนไซม์ตระกูล CYP3A ซึ่งการทำงานของไอโซเอนไซม์ดังกล่าวนั้นสามารถถูกเหนี่ยวนำหรือยับยั้งได้ด้วยยาชนิดอื่นหลายชนิด (เช่น เด็กซาเมธาโซน เป็นต้น) ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงยาหลายชนิด ซึ่งรวมถึงอีริโธรมัยซิน เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถ้าหากได้รับอีริโธรมัยซินร่วมกับสารหรือยาอื่นที่มีผลลดการทำงานของ CYP3A เช่น ยาลดไขมันในเลือด simvastatin, lovastatin, หรือ atorvastatin จะทำให้ระดับยาอีริโธรมัยซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างอีริโธรมัยซินกับซิมวาสเตติน (simvastatin) จะทำให้ระดับของซิมวาสเตตินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงของระบบกล้ามเนื้ออย่าง rhabdomyolysis ได้ ยาอีกกลุ่มที่อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงเมื่อใช้ร่วมกับอีริโธรมัยซิน คือ ยารักษาไมเกรน ได้แก่ ergotamine และ dihydroergotamine โดยยาดังกล่าวทั้งสองชนิดล้วนถูกเปลี่ยนแปลงที่ CYP3A4 เป็นหลัก เมื่อให้ร่วมกับอีริโธรมัยซินจะทำให้การเปลี่ยนยาดังกล่าวลดลง ส่งผลให้ระดับยาในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดอาการข้างเคียงจากยาในที่สุด ผลจากการศึกษาแบบ cohort study เมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีการเกิดอาการข้างเคียงที่สัมพันธ์กับการใช้ยาอีริโธรมัยซินที่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ในทันที ได้แก่ ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วกว่าปกติ (Ventricular tachycardia) และ การเสียชีวิตฉับพลันจากโณคหัวใจ (Sudden cardiac death) ซึ่งการเกิดความผิดปกติดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการใช้ยาอื่นที่มีผลรบกวนการทำงานของ CYP3A4 จนทำให้การเปลี่ยนแปลงยาอีริโธรมัยซินของร่างกายลดน้อย (เช่น verapamil, diltiazem) ดังนั้น จึงไม่ควรใช้อีริโธรมัยซินร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว หรือยาอื่นที่มีผลทำให้ช่วง QT segment ยาวนานขึ้น (prolnged QT interval) เช่น terfenadine (Seldane, Seldane-D), astemizole (Hismanal), cisapride (Propulsid, ถูกถอนทะเบียนยาในหลายประเทศ เนื่องจากทำให้เกิด prolong QT interval ได้มาก) และ pimozide (Orap) รวมไปถึง Theophylline, ซึ่งใช้กันเป็นอย่างมากในผู้ป่วยโรคหอบหืด (asthma) หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease; COPD)

อีริโธรมัยซินอาจมีผลต่อกระบวนการสื่อประสาทของระบบกล้ามเนื้อ (neuromuscular transmission) โดยออกฤทธิ์ที่ presynaptic neurons ดังนั้นอีริโธรมัยซินอาจมีผลทำให้อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis) กำเริบหรือรุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเดียวกันกับอีริโธรมัยซิน อย่างเทลิโธรมัยซิน (Telitromycin) และอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ก็พบรายงานว่าทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังไม่แนะนำให้ใช้อีริโธรมัยซินร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคลินดามัยซิน (Clindamycin) ถึงแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบทาบริเวณผิวหนัง เช่น Duac , Clinda M หรือ BenzaClin ก็ตาม รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับอนุพันธ์ของอีริโธรมัยซิน (เช่น ใช้คลินดามัยซินร่วมกับ mitecinal) เนื่องจากยาทั้งสองชนิดจะมีผลต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน (Antagonism) ก่อให้เกิดความล้มเหลวในการรักษาได้ในที่สุด

นอกจากนี้แล้วอีริโธรมัยซินและด็อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ยังสามารถออกฤทธิ์เสริมกัน (synergistic effects) ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (E. coli) ในอัตรามากเกินกว่าผลรวมของความแรงของยาทั้งสองชนิดรวมกัน อย่างไรก็ตาม การเสริมฤทธิ์กันของยาทั้งสองชนิดนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนั้นประมาณ 72 ชั่วโมง ยาทั้งสองจะออกฤทธิ์ต้านซึ่งกันและกันแทน (antagonistic effect) โดยประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของยาทั้งสองชนิดจะลดลงประมาณร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารยาทั้งสองแยกจากกัน

อนุพันธ์ของอีริโธรมัยซิน

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение