Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

โรคฉี่หนู

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
โรคฉี่หนู
(Leptospirosis)
ชื่ออื่น Field fever, rat catcher's yellows, pretibial fever
Leptospirosis darkfield.jpg
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์แบบดาร์คฟิลด์กำลังขยาย 200 เท่า แสดงให้เห็นเชื้อแบคทีเรีย Leptospira
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ
อาการ ไม่มีอาการ, ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, มีไข้
ภาวะแทรกซ้อน ตกเลือดในปอด, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ไตวาย
สาเหตุ เชื้อ Leptospira มีหนูเป็นพาหะ
วิธีวินิจฉัย ตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อหรือดีเอ็นเอของเชื้อ
โรคอื่นที่คล้ายกัน มาลาเรีย, ไข้รากสาดน้อย, ไข้รากสาดใหญ่, ไข้เลือดออกเดงกี
การรักษา ด็อกซีซัยคลิน, เพนิซิลลิน, เซฟไตรอะโซน
ความชุก ผู้ป่วยประมาณ 8.5 ล้านคนต่อปี
การเสียชีวิต ไม่มีข้อมูล

โรคฉี่หนู, ไข้ฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (อังกฤษ: leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อในเลือดชนิดรับจากสัตว์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Leptospira ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในเนื้อปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น โรคฉี่หนูชนิดเฉียบพลันรุนแรงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่ากลุ่มอาการเวล (อังกฤษ: Weil's syndrome) สามารถทำให้ผู้ป่วยมีตับวาย ตัวเหลือง ไตวาย และเลือดออกในหลายอวัยวะได้ หากทำให้มีเลือดออกในเนื้อปอดจะมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "กลุ่มอาการเลือดออกในปอดรุนแรง" (อังกฤษ: severe pulmonary haemorrhage syndrome)

เชื้อ Leptospira มีอยู่หลายชนิด เฉพาะชนิดที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้มีมากกว่า 10 ชนิด สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิดทั้งที่เป็นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ เป็นต้น แต่พบมากในสัตว์กลุ่มหนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค เชื้อจะถูกปล่อยออกมาจากร่างกายสัตว์พร้อมกับปัสสาวะ มนุษย์อาจรับโรคผ่านการสัมผัสปัสสาวะโดยตรง หรือสัมผัสผ่านน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ เข้ากับเนื้อเยื่อตา ปาก จมูก หรือบาดแผลที่ผิวหนัง ในประเทศที่กำลังพัฒนามักพบโรคนี้ในเกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสุขลักษณะไม่ดี ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วมักพบในช่วงที่มีฝนตกหนัก อาจพบได้ในผู้ที่ทำงานกับน้ำเสียและผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งในที่ร้อนชื้น การวินิจฉัยส่วนใหญ่ทำได้โดยดูจากการตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อนี้หรือพบสารพันธุกรรมของเชื้อนี้ในเลือดของผู้ป่วย

การป้องกันโรคทำได้โดยการใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องทำงานสัมผัสกับสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งเชื้อ ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ และลดปริมาณหนูในที่ที่มีคนอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่นยาปฏิชีวนะอย่างดอกซีซัยคลินสามารถป้องกันโรคได้ วัคซีนมีประโยชน์น้อยในมนุษย์ แต่มีใช้ทั่วไปกับสัตว์ การรักษาทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซีซัยคลิน เพนิซิลลิน หรือเซฟไตรอะโซน ผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 5-10% แต่หากมีอาการทางปอดร่วมด้วยอัตราเสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 50-70%

ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคฉี่หนูแบบรุนแรงประมาณ 1 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 58,900 คน พบได้มากในประเทศเขตร้อนแต่ก็พบในประเทศนอกเขตร้อนได้เช่นกัน หลังเกิดฝนตกหนักอาจเกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งๆ โรคนี้ถูกบรรยายไว้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1886 โดยแพทย์ชาวเยอรมัน Adolf Weil

ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขัง​​

สาเหตุ

โรคเล็ปโตสไปโรซิส มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) ซึ่งมีความหลากหลายทางซีโรวิทยามากกว่า 200 ซีโรวาร์ (serovars) เชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่ในท่อหลอดไตของสัตว์ได้หลายชนิด โดยมีหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญที่สุด บางซีโรวาร์มีความจำเพาะกับสัตว์บางชนิด เชื้อสามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ สัตว์อื่นๆที่เป็นแหล่งรังโรค ได้แก่ สุกร โค กระบือ สุนัข แรคคูณ โดยที่สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์ จากการสำรวจเมื่อปีพ.ศ. 2540 โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พบภูมิคุ้มกันใน ควาย 31% โค 28.25% แพะแกะ 27.35% สุกร 2.15%

การติดต่อ

โรคเล็ปโตสไปโรซิส ติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น

  • การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์* การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือ ของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
  • เข้าผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา และปาก
  • ไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน
  • ไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ

ระยะฟักตัวของโรคใช้เวลา1 วันแต่อาจนานได้ถึง 3วัน แบ่งเป็นระยะมีเชื้อในเลือด (leptospiremic phase) ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการและส่วนใหญ่จะหายไปเองใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีก 1-3 วันจะเข้าสู่ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase) ผู้ป่วยบางส่วนจะแสดงอาการอีกครั้ง ประมาณ80-90% ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการของโรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง

โรคเล็ปโตสไปโรซิสแพร่กระจายและเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงปลายฤดูฝน พบบ่อยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะช่วงนี้พื้นดินแฉะ มีน้ำขัง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและสะสมของเชื้อในธรรมชาติ พบโรคนี้ได้มากตามจังหวัดที่ทำการปลูกข้าว บริเวณที่ต้องย่ำน้ำ หรือแหล่งน้ำขังที่มีพาหะนำโรคชุกชุม อาจรวมถึงบ่อน้ำขนาดใหญ่ด้วย

อาการ

อาการและอาการแสดงของโรคเล็ปโตสไปโรซิสนั้นมีได้ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต กว่า 90% ของผู้มีอาการจะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ส่วนเล็ปโตสไปโรซิสที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ

โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (anicteric leptospirosis) แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะมีเชื้อในเลือด (leptospiremic phase) ระยะนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งในโรคเล็ปโตสไปโรซิสจะมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดบริเวณน่อง หลัง และหน้าท้อง ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือหลังเบ้าตา อาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด อาการแสดงที่อาจตรวจพบ ได้แก่ เยื่อบุตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้เล็กน้อย อาการในระยะนี้จะหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ช่วงที่ไม่มีอาการจะนาน 1-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สอง

ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase) ระยะนี้เป็นผลมาจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการและอาการแสดงมีความจำเพาะและความรุนแรงน้อยกว่าในระยะแรก ลักษณะที่สำคัญของโรคในระยะนี้คือ กว่า 15% ของผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ (aseptic meningitis) ส่วนใหญ่พบในเด็ก ซึ่งอาจหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วันหรืออาจคงอยู่นานเป็นสัปดาห์ สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ มักเกิดตามหลังอาการเริ่มแรกของโรคนานหลายเดือน และคงอยู่ได้นานเป็นปี

โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง (severe leptospirosis)

โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง หรือกลุ่มอาการเวล (Weil's Syndrome) กลุ่มอาการนี้มีอัตราการตายอยู่ที่ประมาณ 5-15% พบได้เป็นพิเศษในการติดเชื้อในซีโรวาร์ อิกเทอโรฮีมอราเจียอี/โคเปนเฮเกไน (icterohaemorrhagiae/copenhageni) อาการในระยะเริ่มแรกไม่ต่างจากโรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง แต่ไม่มีลักษณะที่แบ่งออกเป็นสองระยะชัดเจน มักแสดงอาการรุนแรงใน 4-9 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ประกอบด้วย

  • อาการดีซ่าน ที่พบในกลุ่มอาการเวล จะมีลักษณะเหลืองมากจนแทบเป็นสีส้มเมื่อสังเกตทางผิวหนัง มักพบตับโตร่วมกับกดเจ็บ ประมาณ 20% ของผู้ติดเชื้อมีอาการม้ามโตร่วมด้วย มีไม่มากนักที่เสียชีวิตจากภาวะตับวาย
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • อาการทางปอด เช่น ไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว
  • ความผิดปกติทางระบบการแข็งตัวของเลือด มีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดกำเดา จ้ำเลือดตามผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
  • อาการอื่นๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อลายสลายตัว เม็ดเลือดแดงแตก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอ่อนอักเสบรุนแรง ภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение