Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน
ชื่ออื่น โรคลมปัจจุบัน, โรคลมเหตุหลอดเลือดสมอง
MCA Territory Infarct.svg
ภาพซีทีสแกนของสมองแสดงโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดในซีกขวาซึ่งเกิดจากการอุดกั้นของหลอดเลือดแดง (ศรชี้บริเวณที่สีทึบกว่าปกติ) การเปลี่ยนแปลงในซีทีอาจมองไม่เห็นในช่วงแรก
สาขาวิชา ประสาทวิทยา
อาการ อัมพาตครึ่งซีก, ภาวะเสียการสื่อความเหตุศูนย์รับความรู้สึกหรือภาวะเสียการสื่อความชนิดแสดงออก, เวียนศีรษะ, ตาบอดครึ่งซีกซ้ายหรือขวา
ภาวะแทรกซ้อน สภาพผักเรื้อรัง
สาเหตุ การขาดเลือดเฉพาะที่ (อุดกั้น) และเลือดออก
ปัจจัยเสี่ยง ความดันเลือดสูง, การสูบบุหรี่, โรคอ้วน, คอเลสเตอรอลสูงในเลือด, โรคเบาหวาน, TIA ครั้งก่อน ๆ, หัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว
วิธีวินิจฉัย อาศัยอาการ และตรงแบบการถ่ายภาพทางการแพทย์ใช้เพื่อแยกสาเหตุเลือดออก
โรคอื่นที่คล้ายกัน น้ำตาลต่ำในเลือด
การรักษา ขึ้นกับชนิด
พยากรณ์โรค การคาดหมายคงชีพเฉลี่ย 1 ปี
ความชุก 42.4 ล้านคน (2015)
การเสียชีวิต 6.3 ล้านคน (2015)
ระวังสับสนกับ โรคหลอดเลือดสมอง

โรคอัมพาตฉับพลัน, โรคลมปัจจุบัน, โรคลมเหตุหลอดเลือดสมอง, หรือโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (อังกฤษ: stroke, cerebrovascular accident) เป็นโรคหลอดเลือดสมองประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติโดยเฉียบพลันจนทำให้เซลล์ตาย มีอยู่สองประเภทหลัก ได้แก่ ชนิดขาดเลือด และชนิดเลือดออก ซึ่งมีผลให้สมองบางส่วนทำงานตามปกติต่อไปไม่ได้ อาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อัมพาตครึ่งซีก ภาวะเสียการสื่อความเหตุศูนย์รับความรู้สึกหรือภาวะเสียการสื่อความชนิดแสดงออก เวียนศีรษะหรือตาบอดครึ่งซีกซ้ายหรือขวา อาการและอาการแสดงมักปรากฏขึ้นไม่นานหลังเริ่มเกิดโรค ถ้าอาการนั้นคงอยู่ไม่ถึงหนึ่งถึงสองชั่วโมง โรคหลอดเลือดสมองนั้นเรียก ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกยังอาจสัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะรุนแรง อาการอาจคงอยู่ได้ถาวร ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวอาจรวมถึงปอดบวมและการกลั้นปัสสาวะไม่ได้

ปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับโรคหลอดเลือดสมองคือความดันเลือดสูง ปัจจัยเสี่ยงอื่นเช่น การสูบบุหรี่ โรคอ้วน คอเลสเตอรอลสูงในเลือด โรคเบาหวาน TIA ครั้งก่อน ๆ โรคไตวายระยะสุดท้าย และหัวใจห้องบนเต้นระรัว โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉพาะที่ตรงแบบเกิดจากการอุดกั้นของหลอดเลือด แม้จะมีสาเหตุอื่นที่พบน้อยกว่าด้วย สำหรับโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกเกิดจากเลือดออกเข้าสู่สมองโดยตรง หรือเลือดออกในช่องระหว่างเยื่อหุ้มสมอง สาเหตุของเลือดออกอาจเนื่องจากหลอดเลือดโป่งพองในสมองที่แตก การวินิจฉัยตรงแบบอาศัยการตรวจร่างกาย โดยสนับสนุนจากการถ่ายภาพทางการแพทย์ เช่น ซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ ซีทีสแกนสามารถแยกเลือดออกได้ แต่อาจไม่แยกการขาดเลือดเฉพาะที่ ซึ่งในระยะแรกตามแบบจะไม่ปรากฏในซีทีสแกน การตรวจอื่น เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และการตรวจเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและแยกสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ ทั้งนี้ น้ำตาลต่ำในเลือดก็อาจก่อให้เกิดอาการคล้ายกันได้

การป้องกันประกอบด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง การผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดแดงสู่สมองในผู้ที่มีหลอดเลือดคะโรติดตีบ และยาวาร์ฟารินในผู้ป่วยหัวใจห้องบนเต้นระรัว แพทย์อาจแนะนำยาแอสไพรินหรือสแตตินเพื่อป้องกัน โรคหลอดเลือดสมองมักต้องอาศัยการบริบาลฉุกเฉิน สำหรับโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉพาะที่ ถ้าตรวจพบได้ทันภายในสามถึงสี่ชั่วโมงครึ่ง อาจรักษาได้ด้วยยาที่สามารถสลายลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกบางรายอาจได้รับประโยชน์จากการผ่าตัด การรักษาเพื่อพยายามกู้คืนหน้าที่ของสมองที่เสียไป เรียก การฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกยังเข้าไม่ถึง

ใน ค.ศ. 2013 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉพาะที่ประมาณ 6.9 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออก 3.4 ล้านคน ใน ค.ศ. 2015 มีผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 42.4 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ระหว่าง ค.ศ. 1990 ถึง 2010 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองลดลงประมาณร้อยละ 10 ในประเทศพัฒนาแล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในประเทศกำลังพัฒนา ใน ค.ศ. 2015 โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดอันดับสองรองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 6.3 ล้านคน (ร้อยละ 11) มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลอดสมองชนิดขาดเลือดเฉพาะที่ 3.0 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออก 3.3 ล้านคน ผู้ป่วยประมาณกึ่งหนึ่งมีชีวิตต่อไปอีกไม่ถึงหนึ่งปี โดยรวมแล้ว ผู้ป่วยสองในสามเป็นบุคคลอายุเกิน 65 ปี

อาการแสดง

ในสหรัฐอเมริกา มีสัญญาณบอกโรคที่สำคัญอยู่ 5 อย่าง คือ

  • การชาและอ่อนแรงตามใบหน้า แขน-ขา อย่างฉับพลัน
  • สับสนหรือมีปัญหาในการพูดหรือเข้าใจภาษาอย่างฉับพลัน
  • สายตามีปัญหาอย่างฉับพลัน
  • การทรงตัว การเดินมีปัญหา หรือรู้สึกมึนงงอย่างฉับพลัน
  • ปวดหัวอย่างรุนแรงและฉับพลัน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการดังกล่าว มิควรมองข้ามอาการเหล่านี้ โดเมื่อมีอาการรุนแรงหรือมีอาการหลายๆอย่างประกอบกันในคราวเดียว ทั้งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงด้วยแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือให้ผู้ที่ใกล้ชิดพาส่งโรงพยาบาลทันที เพราะหากปล่อยไว้นานเท่าไร โอกาสที่จะเกิดความเจ็บป่วย พิการและตาย ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันประกอบด้วยการเก็บข้อมูลหลายส่วน ทั้งจากการตรวจร่างกายทางระบบประสาท (เช่นการตรวจด้วย NIHSS) การตรวจด้วยซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ

อ่านเพิ่ม

  • Mohr JP, Choi D, Grotta J, Wolf P (2004). Stroke: Pathophysiology, Diagnosis, and Management. New York: Churchill Livingstone. ISBN 978-0-443-06600-9. OCLC 50477349.
  • Warlow CP, van Gijn J, Dennis MS, Wardlaw JM, Bamford JM, Hankey GJ, Sandercock PA, Rinkel G, Langhorne P, Sudlow C, Rothwell P (2008). Stroke: Practical Management (3rd ed.). Wiley-Blackwell. ISBN 978-1-4051-2766-0.

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение