Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ไข้ซิกา

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ไข้ซิกา
(Zika fever)
ชื่ออื่น โรคไวรัสซิกา, ซิกา, การติดเชื้อไวรัสซิกา
Alexius Salvador Zika-Virus.jpg
ผื่นที่พบในผู้ป่วยไข้ซิกา
การออกเสียง
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ
อาการ ไข้, ตาแดง, ปวดข้อ, ปวดศีรษะ, ผื่น
ภาวะแทรกซ้อน ภาวะหัวเล็กเกินในทารก (หากมารดาติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์, กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร
ระยะดำเนินโรค น้อยกว่า 1 สัปดาห์
สาเหตุ เชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่ติดผ่านพาหะคือยุง
วิธีวินิจฉัย การตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำลายเพื่อหาอาร์เอ็นเอของไวรัส หรือตรวจหาแอนติบอดีในเลือด
โรคอื่นที่คล้ายกัน ชิคุนกุนยา, มาลาเรีย, ไข้เลือดออกเดงกี, โรคฉี่หนู, โรคหัด
การป้องกัน การป้องกันไม่ให้ยุงกัด, ถุงยางอนามัย
การรักษา การรักษาประคับประคอง
การเสียชีวิต การติดเชื้อเฉียบพลันไม่ทำให้เสียชีวิต

ไข้ซิกา หรือโรคไวรัสซิกา เป็นโรคติดเชื้ออย่างหนึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยคล้ายกับไข้เดงกี อาการมักคงอยู่ไม่เกินเจ็ดวัน โดยอาการเหล่านี้เช่น ไข้ ตาแดง ปวดข้อ ปวดหัว ผื่นแดง เป็นต้น ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ ภาวะนี้สัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เรอีกด้วย

ไข้ซิกาติดต่อผ่านทางการถูกยุง Aedes เช่น ยุงลาย กัด เป็นส่วนใหญ่ และยังอาจติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์และการถ่ายเลือดได้ด้วย เชื้ออาจติดต่อผ่านทางมารดาไปยังทารกและทำให้ทารกมีศีรษะเล็กได้ การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจหา RNA ของไวรัสในเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำลายจากผู้ป่วย

การป้องกันทำได้โดยการลดโอกาสการถูกยุงกัดในพื้นที่ที่มีการระบาด ทำได้โดยการใช้สารไล่แมลง การปกคลุมร่างกาย การใช้มุ้ง และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเช่นในน้ำนิ่ง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผลดี บุคลากรทางสาธารณสุขเริ่มให้คำแนะนำแก่คู่สามีภรรยาในพื้นที่ระบาดว่าให้ชะลอการมีบุตรออกไปก่อน และแนะนำให้สตรีมีครรภ์งดการเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด การรักษาทำได้ด้วยวิธีรักษาประคับประคอง ยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่ใช้ยาแก้ปวดลดไข้เข่นพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการ ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

ไวรัสนี้ถูกแยกได้สำเร็จครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1947 การระบาดในมนุษย์มีบันทึกไว้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2007 ในสหพันธรัฐไมโครนีเซีย จนถึงมกราคม ค.ศ. 2016 มีการพบโรคนี้ในกว่า 20 พื้นที่ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังพบได้ในแอฟริกา เอเชีย และในเขตแปซิฟิกองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคนี้เป็นหัวข้อฉุกเฉินนานาชาติทางสุขภาพเมื่อกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 หลังจากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศบราซิลเมื่อ ค.ศ. 2015

อาการและอาการแสดง

ผื่นที่แขนของผู้ป่วย

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาการเหล่านี้ได้แก่ ไข้ ผื่น เยื่อบุตาอักเสบ (ตาแดง) ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการของไข้เดงกีหรือไข้ชิคุนกุนยา ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลของระยะฟักตัวที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอยู่ที่ประมาณ 2-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ประมาณ 5-7 วัน อาการเหล่านี้มักไม่เป็นมากถึงขั้นที่ทำให้ผู้ป่วยเดินทางไปโรงพยาบาล

เนื่องจากโรคนี้มีอาการคล้ายกับไข้เดงกี จึงมีความกังวลว่าผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติในลักษณะเดียวกันได้ อย่างไรก็ดีมีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการเช่นนี้เพียง 1 ราย โดยมีเลือดออกมากับน้ำอสุจิ

กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร

พบว่าการติดเชื้อซิกามีความสัมพันธ์อย่างมากกับการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ซึ่งเป็นอาการอ่อนแรงเฉียบพลันที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันตนเองไปทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย จึงเกิดเป็นอาการอ่อนแรง แม้จะมีการพบว่ามีผู้ป่วยบางรายป่วยจากกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรและติดเชื้อซิกาไปพร้อม ๆ กัน แต่ก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าการติดไวรัสซิกาเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร หลายประเทศที่มีการระบาดของไวรัสซิการายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นในการระบาดของไวรัสซิกาในเฟรนช์โปลินีเซียเมื่อ ค.ศ. 2013-2014 มีรายงานผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร 42 ราย ในระยะเวลา 3 เดือน สูงกว่าที่พบในภาวะปกติ โดยพบเพียง 3-10 รายต่อปี

ระหว่างการตั้งครรภ์

เชื่อกันว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดจากมารดาไปยังทารกในครรภ์ได้ และทำให้ทารกมีศีรษะเล็ก อย่างไรก็ดีกรณีเช่นนี้ยังมีรายงานตีพิมพ์ไม่มากนัก

พฤศจิกายน 2558 กระทรวงสาธารณสุขบราซิลรายงานว่าตรวจพบความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสซิกากับการเกิดภาวะศีรษะเล็กในทารกแรกเกิดในตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล อ้างอิงจากกรณีผู้ป่วยทารกสองรายที่มีภาวะศีรษะเล็กรุนแรง และผลการตรวจเจาะน้ำคร่ำพบมีไวรัสซิกาในน้ำคร่ำ รายงานเมื่อ 5 มกราคม 2559 ระบุว่าผลการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกสองรายนี้พบว่ามีศีรษะเล็กจากการที่เนื้อสมองบางส่วนถูกทำลาย ในจำนวนนี้หนึ่งรายพบมีแคลเซียมจับในตาและมีตาเล็กด้วย กระทรวงฯ ของบราซิลได้รายงานยืนยันในเวลาต่อมาว่ากรณีที่เคยมีข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อซิกาและการเกิดทารกมีศีรษะเล็กนั้นมีความสัมพันธ์กันจริง โดยตรวจพบผู้ป่วยทารกแรกเกิดมีศีรษะเล็ก 2,400 รายในประเทศใน พ.ศ. 2558 นับจนถึง 12 ธันวาคม และเสียชีวิต 29 ราย

สาเหตุ

แหล่งสะสมเชื้อ

ไวรัสซิกาเป็นไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัสซึ่งติดต่อโดยมียุงเป็นพาหะ มีความใกล้เคียงกับไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก เชื้อนี้มียุงเป็นพาหะ แต่สัตว์ที่เป็นแหล่งกักเก็บเชื้อนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่ามีการค้นพบหลักฐานทางวิทยาอิมมูนในลิงและสัตว์ฟันแทะในแอฟริกาตะวันตก

การติดต่อ

โรคนี้ติดต่อผ่านการถูกยุงในจีนัส Aedes (เช่น ยุงลายบ้าน Aedes aegypti) ที่มีเชื้อกัด นอกจากนี้ยังพบเชื้อนี้ในยุงอื่นๆ เช่น Aedes africanus, Aedes apicoargenteus, Aedes luteocephalus, Aedes albopictus, Aedes vittatus, และ Aedes furcifer การระบาดที่เกาะแยพเมื่อ ค.ศ. 2007 เกิดโดยมียุง Aedes hensilli เป็นพาหะ ในขณะที่การระบาดในเฟรนช์โพลินิเซียเมื่อ ค.ศ. 2013 เกิดโดยมียุง Aedes polynesiensis เป็นพาหะ

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение