Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
โรคไวรัสมาร์บวร์ค

โรคไวรัสมาร์บวร์ค

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
โรคไวรัสมาร์บวร์ค
ชื่ออื่น ไข้เลือดออกมาร์บวร์ค
Marburg virus.jpg
ภาพไวรัสมาร์บวร์คจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ (การแพทย์เฉพาะทาง)
อาการ ไข้, อ่อนแรง, ปวดกล้ามเนื้อ
การตั้งต้น 2–21 วันหลังติดเชื้อ
สาเหตุ มาร์บวร์คไวรัส
ปัจจัยเสี่ยง สัมผัสโดยตรงกับสารน้ำของผู้ติดเชื้อ
วิธีวินิจฉัย ตรวจเลือด
โรคอื่นที่คล้ายกัน โรคไวรัสอีโบลา
การรักษา การรักษาตามอาการ
ความชุก พบได้ยาก
การเสียชีวิต อัตราป่วยตาย 24%–88%

โรคไวรัสมาร์บวร์ค (อังกฤษ: Marburg virus disease, MVD) หรือเดิมเรียก ไข้เลือดออกมาร์บวร์ค (Marburg hemorrhagic fever) เป็นโรคร้ายแรงในมนุษย์และไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ค หรือไวรัสแรเวิน (Ravn virus) โรคไวรัสมาร์บวร์คเป็นไข้เลือดออกจากไวรัสที่มีลักษณะคล้ายโรคไวรัสอีโบลา

โรคไวรัสมาร์บวร์คมีบันทึกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 เมื่อเกิดการระบาดในเมืองมาร์บวร์คและแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีตะวันตก และเมืองเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย การระบาดนี้เกิดจากการติดเชื้อจากลิงกรีเวต (Chlorocebus aethiops) ที่ถูกส่งมาจากประเทศยูกันดาเพื่อใช้ในการพัฒนาวัคซีนโปลิโอ การติดเชื้อหลักเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเมื่อเจ้าหน้าที่ทำงานกับเนื้อเยื่อของลิงโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ การติดเชื้อครั้งต่อมาเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสเลือดของผู้ป่วย จากการระบาดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน

การพยากรณ์โรคไวรัสมาร์บวร์คนั้นยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นมีทั้งฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หรือมีโรคตาม เช่น อัณฑะอักเสบ ตับอักเสบ หรือม่านตาอักเสบ นอกจากนี้พบว่าไวรัสสามารถคงอยู่ในร่างกายผู้ป่วยที่หายดีและอาจก่อโรคในภายหลัง ทั้งยังสามารถติดต่อผ่านทางตัวอสุจิ เมื่อเกิดการระบาดในประเทศแองโกลาระหว่าง ค.ศ. 2004–2005 มีผู้ติดเชื้อ 252 คน ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 227 คน คิดเป็นอัตราป่วยตาย 90% แม้ทุกกลุ่มอายุมีโอกาสติดเชื้อ แต่การติดเชื้อในเด็กพบได้ยาก การระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกระหว่าง ค.ศ. 1998–2000 มีเพียง 8% ที่เป็นผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี

อาการ

โรคไวรัสมาร์บวร์คมีระยะฟักตัว 2–21 วัน โดยเฉลี่ย 5–9 วัน ช่วงวันที่ 1–5 หลังเริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง คอหอยอักเสบ ผื่นนูนแบน ปวดท้อง เยื่อตาอักเสบ และละเหี่ย ช่วงวันที่ 5–13 ผู้ป่วยจะมีภาวะสิ้นกำลัง หายใจลำบาก บวมน้ำ ไข้ออกผื่น และอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองอักเสบ สับสน เพ้อ ปลายช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการตกเลือดซึ่งจะนำไปสู่ช่วงฟื้นตัวหรือทรุดหนัก หลังจากนั้นช่วงวันที่ 13–21 อาการผู้ป่วยสามารถแบ่งเป็นสองประเภท หากฟื้นตัวผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไฟโบรไมอัลเจีย ตับอักเสบ และอ่อนแรง ส่วนผู้ป่วยที่อาการทรุดจะมีไข้ต่อเนื่อง ภาวะตื้อ โคม่า ชัก การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และช็อก ผู้ป่วยมักเสียชีวิต 8–16 วันหลังเริ่มแสดงอาการ

สาเหตุ

โรคไวรัสมาร์บวร์คเกิดจากไวรัสสองชนิดคือไวรัสมาร์บวร์คและไวรัสแรเวินที่อยู่ในสกุล Marburgvirus วงศ์ Filoviridae เป็นไวรัสเฉพาะถิ่นที่พบในป่าแห้งแล้งแถบเส้นศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา การติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์คส่วนใหญ่มาจากการไปเยือนถ้ำหรือทำงานในเหมือง ในปี ค.ศ. 2009 มีการแยกไวรัสสองชนิดนี้จากค้างคาวผลไม้อียิปต์ (Rousettus aegyptiacus) ที่แข็งแรงที่ถูกจับจากถ้ำ การแยกไวรัสนี้ชี้ว่าค้างคาวผลไม้โลกเก่ามีส่วนเป็นตัวเก็บเชื้อในธรรมชาติ และการเยือนถ้ำที่ค้างคาวอาศัยอยู่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าค้างคาวผลไม้อียิปต์เป็นพาหะที่แท้จริง หรือรับเชื้อมาจากสัตว์อื่น ปัจจัยเสี่ยงอื่นคือการสัมผัสกับไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดของโรคนี้เพียงครั้งเดียวในปี ค.ศ. 1967 ที่เกิดจากการสัมผัสกับลิงที่ติดเชื้อ

การวินิจฉัย

โรคไวรัสมาร์บวร์คมีลักษณะคล้ายโรคไวรัสอีโบลา และมักสับสนกับหลายโรคที่พบในแถบเส้นศูนย์สูตรของแอฟริกา เช่น มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย และโรคบิดจากเชื้อชิเกลลา เมื่อวินิจฉัยแยกโรคยังพบว่าโรคนี้มีอาการคล้ายโรคฉี่หนู ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ และกาฬโรค รวมถึงโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดโปรไมอิโลไซต์ กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก-ยูรีเมีย และได้รับพิษงู สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้คือการซักประวัติผู้ป่วย โดยเฉพาะประวัติการเดินทาง การทำงาน และการสัมผัสสัตว์ป่า การยืนยันโรคไวรัสมาร์บวร์คทำได้ด้วยการแยกไวรัส หรือตรวจหาแอนติเจนหรืออาร์เอ็นเอของไวรัสในตัวอย่างเลือดผู้ป่วย

การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคไวรัสมาร์บวร์คที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ มีการพัฒนาวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนดีเอ็นเอ วัคซีนที่ใช้เรพลิคอนไวรัสสมองอักเสบม้าเวเนซุเอลา (Venezuelan equine encephalitis virus)ไวรัสปากอักเสบพุพองอินเดียนา (vesicular stomatitis Indiana virus) หรืออนุภาคคล้ายไฟโลไวรัส เนื่องจากมาร์บวร์คไวรัสไม่แพร่กระจายทางละอองลอย การป้องกันหลักจึงเป็นการแยกผู้ป่วยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง ของเสีย หรือของใช้ผู้ป่วย

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคไวรัสมาร์บวร์คที่จำเพาะและมีประสิทธิภาพ การรักษามุ่งเน้นที่การรักษาตามอาการ ปรับสมดุลสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้สารกันเลือดเป็นลิ่มในช่วงต้นเพื่อป้องกันภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย ให้สารจับลิ่มของเลือดในช่วงปลายเพื่อป้องกันการตกเลือด รักษาระดับออกซิเจน บรรเทาอาการปวด และให้ยาปฏิชีวนะหรือสารต้านเชื้อราเพื่อรักษาการติดเชื้อทุติยภูมิ

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение