Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ความจริงวิปลาส
ความจริงวิปลาส (อังกฤษ: derealization มักย่อว่า DR) เป็นความผันแปรทางการรับรู้ที่ประสบการณ์กับโลกภายนอกดูเหมือนไม่จริง อาการอื่น ๆ รวมทั้งรู้สึกว่าโลกรอบ ๆ ตัวเหมือนความฝัน อยู่ห่างไกล หรือบิดเบือน) มันเป็นอาการแยกตัวออกจากความจริง (dissociation) ที่เกิดในภาวะต่าง ๆ รวมทั้งความเครียดรุนแรง การบาดเจ็บทางกายใจ ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล
ความจริงวิปลาสเป็นประสบการณ์ที่เป็นอัตวิสัยเกี่ยวกับความไม่จริงของโลกภายนอก เทียบกับบุคลิกวิปลาส (depersonalization) ที่รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นจริง แต่นักวิชาการปัจจุบันโดยมากก็ไม่คิดว่าความจริงวิปลาส (สิ่งแวดล้อม) และบุคลิกวิปลาส (ตนเอง) เป็นภาวะที่แยกจากกัน ความจริงวิปลาสเรื้อรังอาจมาจากการทำหน้าที่ผิดปกติของสมองกลีบท้ายทอยและกลีบขมับ ภาวะนี้สามัญในประชากรทั่วไปโดยมีความชุกตลอดชีวิตถึง 5% และ 31-66% เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เจ็บกายหรือใจ
ลักษณะ
ในภาวะนี้ อาจเรียกได้ว่ามีสิ่งที่จับต้องไม่ได้/ไม่มีตัวตนที่แยกบุคคลจากโลกภายนอก อาจเป็นเหมือนหมอกคลุมประสาทสัมผัส แผ่นกระจกฝ้า หรือม่านบาง ๆ บุคคลอาจบอกว่า สิ่งที่ตนเห็นรู้สึกไม่มีชีวิตชีวาและไร้อารมณ์ การเห็นบุคคลที่รักอาจมีการตอบสนองทางอารมณ์ลดลงอย่างสำคัญ ความรู้สึกว่าเคยเห็นแล้วทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็น (เดฌา-วูว์) หรือว่าไม่เคยเห็นทั้ง ๆ ที่เคยเห็น (jamais vu) เป็นเรื่องสามัญ สถานที่ที่คุ้นเคยอาจรู้สึกแปลก ไม่คุ้นเคย ไม่เป็นจริง อาจไม่สามารถปลงใจถึงสิ่งที่รับรู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ อาจรู้สึกเหมือนอยู่ในภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคซูมกล้อง (dolly zoom) ที่ทำให้ขนาดและทัศนมิติของสิ่งที่เห็นผิดเพี้ยนไป การรับรู้ที่บิดเบือนเช่นนี้อาจกระจายไปยังประสาทสัมผัสอื่น ๆ รวมทั้งการได้ยิน การรู้รส และการได้กลิ่น
ความจริงวิปลาสมักเกิดในสถานการณ์ที่วิตกกังวลมาก หรือมีความคิดแทรกซอนที่ไม่สามารถหยุดคิดได้ ในกรณีเช่นนี้ ภาวะอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามความวิตกกังวลที่เป็นมูลฐานโดยประกอบกับความคิดที่ก่อทุกข์ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงจุดวิกฤติโดยมักปรากฏเป็นความตื่นตระหนก (panic attack) ความวิตกกังวลจึงปรากฏอย่างชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งอาจขัดการดำเนินชีวิตและสร้างพฤติกรรมหลีกเลี่ยง (avoidant behavior) บุคคลที่ประสบกับภาวะความจริงวิปลาสอาจกังวลว่าอะไรเป็นเหตุ โดยยอมรับได้ยากว่า อาการน่าเป็นห่วงเช่นนี้เป็นผลของความวิตกกังวล เพราะมักคิดว่าต้องเป็นเหตุหนักกว่านั้น ซึ่งก็จะทำให้วิตกกังวลมากขึ้นและอาการความจริงวิปลาสแย่ลง ความจริงวิปลาสยังพบว่า ขัดการเรียนรู้ โดยปัญหาทางประชานจะปรากฏเมื่อพยายามระลึกถึงสิ่งที่เรียน และปรากฏเป็นความบกพร่องในการจินตนาการรูปในมิติต่าง ๆ (visuospatial deficit) นี่อาจเข้าใจได้ในฐานะที่บุคคลรู้สึกเหมือนกับประสบเหตุการณ์เป็นบุคคลที่สาม ดังนั้นจึงไม่สามารถรับแล้วประมวลข้อมูลได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะทางการเห็น ผู้ประสบกับภาวะนี้อธิบายความรู้สึกว่าเหมือนกับเห็นโลกผ่านจอโทรทัศน์
สถานรักษาพยาบาลทั่วไปมักจะรู้จักและวินิจฉัยโรคบุคลิกภาพ-ความจริงวิปลาส (Depersonalization-derealization disorder) ค่อนข้างน้อย แม้ในกลุ่มประชากรทั่วไปโรคอาจชุกถึง 5% และในบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บทางกายใจอาจสูงถึง 37% อาการอาจรวมบุคลิกวิปลาส (depersonalization) ความรู้สึกเหมือนกับเป็นคนคอยเฝ้าสังเกต เหมือนกับกลายเป็นตัวตนต่างหากอีกอย่างในโลก โดยทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ที่กำลังประสบ ที่กำลังรับรู้ ผ่านการรู้การเห็นของบุคคลอื่นเหมือนกับมองโลกโดยใช้ตาของบุคคลที่หนึ่งภายในเกม (เช่น ในวิดีโอเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง)
เหตุ
ภาวะนี้อาจเป็นไปตามภาวะทางประสาทเช่น โรคลมชัก (โดยเฉพาะโรคลมชักเหตุสมองกลีบขมับ) ไมเกรน และการบาดเจ็บที่ศีรษะแบบเบา ๆ การไร้อารมณ์ทางตาและการตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นทางอารมณ์น้อยลงคล้ายกับภาวะความจริงวิปลาส ซึ่งแสดงว่ามีปัญหากับกระบวนการที่อารมณ์มาประกอบการรับรู้ การรับรู้ที่เปลี่ยนไปอาจทำให้เห็นโดยรู้สึกว่าไม่จริงหรือว่าเฉย ๆ/ไร้อารมณ์ งานศึกษาทางประสาทสรีรภาพบางงานพบปัญหาที่เกิดจากสมองกลีบหน้า-กลีบขมับ ซึ่งมีสหสัมพันธ์อย่างสูงกับโรคที่สมองกลีบขมับเช่นโรคลมชัก
ความจริงวิปลาสอาจปรากฏเป็นผลโดยอ้อมของโรคระบบการทรงตัว (ในหูชั้นใน) บางอย่างเช่น หูชั้นในอักเสบ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความวิตกกังวลเหตุเวียนศีรษะ คำอธิบายอีกอย่างก็คือ การทำหน้าที่ผิดปกติของระบบการทรงตัวมีผลต่าง ๆ รวมทั้งการปรับการทำงานของระบบประสาท noradrenergic (ที่ใช้สารสื่อประสาท norepinephrine) และ serotonergic (ที่ใช้สารสื่อประสาทเซโรโทนิน) เพราะไปโทษอาการที่เกิดจากระบบการทรงตัวอย่างผิด ๆ ว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายแล้วมีผลให้วิตกกังวลหรือตื่นตระหนก แล้วก่อภาวะความจริงวิปลาส อนึ่ง ภาวะนี้ยังสามัญในอาการทางกายเหตุจิต (psychosomatic symptom) ที่เห็นในโรควิตกกังวลประเภทต่าง ๆ รวมทั้งโรคคิดว่าตนป่วย (hypochondriasis) อย่างไรก็ดี ภาวะนี้ปัจจุบันจัดว่าเป็นปัญหาทางจิตต่างหากอย่างหนึ่งเพราะมันเกิดกับโรคหลายอย่างและก็เกิดเองต่างหากด้วย
งานศึกษาบางงานได้สัมพันธ์ความจริงวิปลาสและอาการดิสโซสิเอทีฟกับความแตกต่างทางสรีรภาพและทางจิตของบุคคลและสิ่งแวดล้อมของบุคคล มีข้อสังเกตว่า การตื่นนอนง่ายบวกกับภาวะบางอย่างเกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะเหมือนฝันเมื่อตื่น ประสาทหลอนช่วงก่อนหลับหรือหลังตื่น ภาวะกลัวจัดในการหลับระยะ (NREM) และความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนอื่น ๆ อาจเป็นเหตุ หรืออาจทำให้ภาวะนี้ดีขึ้นโดยส่วนหนึ่ง ความจริงวิปลาสยังอาจเป็นอาการของความผิดปกติในการนอน (sleep disorder) และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคบุคลิกวิปลาส (DPD), ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD), โรคอารมณ์สองขั้ว, โรคจิตเภท, dissociative identity disorder และโรคทางจิตใจอื่น ๆ
สารต่าง ๆ รวมทั้งกัญชา สารก่ออาการโรคจิต (psychedelics) สารดิสโซสิเอทีฟ ยาแก้ซึมเศร้า กาเฟอีน ไนตรัสออกไซด์ อัลบูเทอรอล และนิโคตินล้วนสามารถก่อภาวะความจริงวิปลาส โดยเฉพาะเมื่อใช้มากเกิน มันยังสามารถเกิดเพราะการเลิกแอลกฮอล์/เหล้า หรือหยุดยาเบ็นโซไดอาเซพีน การหยุดใช้โอปิแอตยังอาจก่อภาวะความจริงวิปลาส ซึ่งอาจกลายเป็นอาการเรื้อรัง หรืออาจเกิดทีหลัง ซึ่งแสดงความต่าง ๆ ระดับสูงของปรากฏการณ์นี้ในระหว่างบุคคล
วิธีรักษาโรคตื่นตระหนกที่ไม่ใช้ยาแบบ interoceptive exposure อาจใช้ก่อภาวะความจริงวิปลาสและบุคลิกวิปลาสที่สัมพันธ์กันได้
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
- American Psychiatry Association (2013). "Dissociative Disorders". Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (5th ed.). Arlington: American Psychiatric Publishing. pp. 291–307. ISBN 978-0-89042-555-8.