Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

คาร์ล เซแกน

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
คาร์ล เซแกน
Carl Sagan Planetary Society.JPG
เกิด 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1934(1934-11-09)
บรุกลิน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต 20 ธันวาคม ค.ศ. 1996(1996-12-20) (62 ปี)
ซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
สัญชาติ อเมริกัน
อาชีพ นักดาราศาสตร์
มีชื่อเสียงจาก โครงการเซติ
Cosmos: A Personal Voyage
แผ่นจานทองคำในยานวอยเอจเจอร์
แผ่นจานทองคำในยานไพโอเนียร์
Contact
เพลบลูดอต

คาร์ล เซแกน (อังกฤษ: Carl Sagan; 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1934 – 20 ธันวาคม ค.ศ. 1996) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่าง ๆ เซแกนได้ศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการบนโลกอย่างไร สนใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอื่นเป็นพิเศษ เซแกนเป็นคนริเริ่มความคิดที่จะติดตั้งแผ่นป้ายบนยานสำรวจอวกาศไพโอเนียร์ 10 ที่เป็นเหมือนจดหมายจากโลก ยานไพโอเนียร์ 10 ผ่านเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีใน ค.ศ. 1973 ก่อนที่จะออกไปยังขอบนอกของระบบสุริยะแล้วออกสู่อวกาศ แผ่นป้ายแบบเดียวกันติดไปกับยานสำรวจอวกาศไพโอเนียร์ 11 ในปีต่อมา

นอกจากงานด้านดาราศาสตร์แล้ว เซแกนยังมีชื่อเสียงจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Contact ซึ่งเกี่ยวกับความพยายามของมนุษย์ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก นิยายเรื่องนี้ ภายหลังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน (ชื่อภาษาไทยคือ "คอนแทค อุบัติการณ์สัมผัสห้วงจักรวาล") นำแสดงโดย โจดี้ ฟอสเตอร์

ประวัติ

คาร์ล เซแกน เกิดที่บรุกลิน นครนิวยอร์ก ในครอบครัวชาวยิวรัสเซีย พ่อของเขาคือ แซม เซแกน พนักงานโรงงานทอผ้าที่อพยพมาจากรัสเซีย แม่ของเขาคือ ราเชล มอลลี กรูเบอร์ เป็นแม่บ้าน ชื่อ คาร์ล มาจากชื่อแม่ของราเชล คือ คลารา เซแกนจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมราห์เวย์ ในเมืองราห์เวย์ นิวเจอร์ซีย์ ใน ค.ศ. 1951 และได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่นี่เขาได้เข้าร่วมสมาคมดาราศาสตร์รายร์สัน ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมใน ค.ศ. 1954 วิทยาศาสตร์บัณฑิตใน ค.ศ. 1955 วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ใน ค.ศ. 1956 จากนั้นจึงได้รับดุษฎีบัณฑิตในปี ค.ศ. 1960 ในสาขาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เมื่ออายุได้ 26 ปี ระหว่างที่ศึกษาปริญญาตรี เซแกนใช้เวลาว่างทำงานในห้องทดลองของนักพันธุวิทยา H. J. Muller ต่อมาในปี 1960-1962 เขาได้รับทุนวิจัย Miller Fellow ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ปี 1962-1968 ได้เข้าทำงานที่หอดูดาวฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมิธโซเนียน ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์

เซแกนเป็นผู้บรรยายและทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทุกปีจนถึง ค.ศ. 1968 จึงได้ย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยคอร์เนลในนิวยอร์ก เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่คอร์เนลใน ค.ศ. 1971 และได้เป็นผู้อำนวยการห้องทดลองวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ที่นี่ ช่วง ค.ศ. 1972-1981 เซแกนได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิทยุสำหรับฟิสิกส์และอวกาศ ที่คอร์เนล

เซแกนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับโครงการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกานับแต่แรกเริ่ม นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การนาซา หน้าที่หนึ่งขณะที่เขาทำงานให้กับองค์การอวกาศแห่งนี้คือการบรรยายแก่นักบินอวกาศในโครงการอพอลโลก่อนที่พวกเขาจะไปสู่ดวงจันทร์ เซแกนให้การสนับสนุนต่อโครงการยานอวกาศแบบขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์หลายโครงการที่ออกไปสำรวจระบบสุริยะตลอดช่วงชีวิตของเขา

เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการนำข้อมูลข่าวสารอันเป็นสากลให้ติดไปบนยานอวกาศที่ตั้งเป้าเดินทางออกนอกระบบสุริยะ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อาจมาพบมันเข้าจะได้เข้าใจได้ เซแกนเป็นผู้เรียบเรียงข้อมูลชุดแรกที่ส่งออกไปสู่อวกาศในรูปของแผ่นจานทองคำ ที่ติดไปกับยานสำรวจอวกาศ ไพโอเนียร์ 10 ส่งขึ้นสู่อวกาศใน ค.ศ. 1972 ต่อมายานไพโอเนียร์ 11 ก็ได้นำแผ่นจานลักษณะเดียวกันนี้อีกแผ่นหนึ่งไปด้วยเมื่อขึ้นสู่อวกาศในปีถัดไป เซแกนยังคงปรับแต่งแผ่นจานข้อมูลนี้อยู่ตลอดชีวิตของเขา ชุดที่บรรจงสร้างอย่างประณีตที่สุด คือ แผ่นจานทองคำของวอยเอจเจอร์ ที่เขาพัฒนาและติดตั้งไว้บนยานวอยเอจเจอร์ ที่ถูกส่งออกไปใน ค.ศ. 1977 นอกจากนี้เซแกนยังมักยื่นข้อเสนอกับเงินทุนสนับสนุนโครงการกระสวยอวกาศและสถานีอวกาศ ให้นำไปพัฒนาโครงการสำรวจอวกาศด้วยหุ่นยนต์แทน

เซแกนสอนวิชาการคิดเชิงวิพากษ์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลจนถึง ค.ศ. 1996 ซึ่งเขาเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อในโพรงกระดูกอันพบได้ค่อนข้างยาก วิชาที่เซแกนสอนนั้นจำกัดจำนวนที่นั่งเพียงภาคเรียนละ 20 ที่นั่ง แต่ในแต่ละปี มีนักศึกษาหลายร้อยคนที่ขอลงทะเบียนเรียนกับเขา หลังจากเซแกนเสียชีวิต หลักสูตรนี้ก็ปิดตัวลง จนกระทั่งถึง ค.ศ. 2000 จึงได้เปิดสอนอีกครั้งโดย Dr. Yervant Terzian

ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์

เซแกนให้ความสนใจกับการสำรวจพื้นผิวอุณหภูมิสูงของดาวศุกร์ ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ยังไม่มีใครทราบถึงสภาวะที่แท้จริงของพื้นผิวดาวดวงนั้น เซแกนได้จัดทำรายการความเป็นไปได้ในรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้เผยแพร่ในหนังสือของ Time-Life ชื่อ Planets และมีชื่อเสียงมาก มุมมองของเซแกนคือ พื้นผิวดาวศุกร์แห้งผากอย่างยิ่งและร้อนมาก ตรงกันข้ามกับภาพของสรวงสวรรค์ที่เคยจินตนาการกันมาแต่ก่อน เขาได้ตรวจสอบการแผ่รังสีคลื่นวิทยุจากดาวศุกร์และสรุปว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดาวศุกร์สูงถึง 500 °C (900 °F) เมื่อครั้งที่เป็นนักวิทยาศาสตร์รับเชิญไปยังห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่นของนาซ่า เขาได้ช่วยเหลือโครงการมาริเนอร์อันเป็นภารกิจสู่ดาวศุกร์ โดยทำหน้าที่ออกแบบยานและบริหารโครงการ ผลสำรวจจากยานมาริเนอร์ 2 ในปี ค.ศ. 1962 ช่วยยืนยันข้อสรุปของเซแกนเกี่ยวกับพื้นผิวของดาว

เซแกนเป็นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มแรกๆ ที่ทำนายว่า ไททัน ดวงจันทร์ของดาวเสาร์น่าจะมีพื้นผิวห่อหุ้มด้วยมหาสมุทร และ ยูโรปา ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีน่าจะมีชั้นใต้พื้นผิวเต็มไปด้วยน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ยูโรปาเป็นดาวที่มีความเป็นไปได้สำหรับอยู่อาศัย ในเวลาต่อมา ยานอวกาศกาลิเลโอได้ยืนยันการมีอยู่ของชั้นผิวมหาสมุทรของยูโรปา เซแกนยังมีส่วนช่วยไขปัญหาความลึกลับของหมอกแดงที่เห็นอยู่บนไททัน เขาเห็นว่ามันคือโมเลกุลอินทรีย์อันซับซ้อนที่ตกลงเหมือนฝนสู่พื้นผิวของดวงจันทร์

เขายังให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องกับชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลบนดาวอังคาร เซแกนเป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีว่าชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นร้อนจัดมาก และมีความหนาแน่นสูงมากโดยมีแรงดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลงไปใกล้ถึงระดับพื้นผิว เขายังคาดการณ์ถึงสภาวะโลกร้อน อันเป็นอันตรายที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จากฝีมือมนุษย์ โดยโยงปรากฏการณ์นี้เข้ากับการพัฒนาการของดาวศุกร์อันมีลักษณะคล้ายปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนและไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เซแกนกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เอ็ดวิน เออร์เนสต์ ซัลปีเตอร์ ได้ทำนายถึงชีวิตที่มีอยู่ในกลุ่มเมฆของดาวพฤหัสบดี เนื่องจากชั้นบรรยากาศอันหนาแน่นของดาวนั้นอุดมไปด้วยโมเลกุลอินทรีย์ เซแกนเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีของพื้นผิวดาวอังคาร และสรุปว่าไม่มีฤดูกาลหรือปรากฏการณ์ใดๆ อันเนื่องมาจากพืชพันธุ์ไม้บนดาวดวงนั้นดังที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันในเวลานั้น เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของสีบนพื้นผิวเป็นผลจากฝุ่นผงที่ถูกพายุพัดเท่านั้น

ผลงานของเซแกนที่สร้างชื่อเสียงแก่เขามากที่สุด คืองานวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว รวมถึงการทดลองสร้างกรดอมิโนขึ้นจากองค์ประกอบเคมีพื้นฐานโดยอาศัยรังสี

ใน ค.ศ. 1994 เซแกนได้รับเหรียญรางวัล Public Welfare Medal ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดขององค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Academy of Sciences) ในฐานะ "ผู้อุทิศตนในการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ"

รางวัลและเกียรติยศ

เหรียญรางวัลนาซา ผู้อุทิศตนแก่สาธารณประโยชน์
  • รางวัลประจำปีสำหรับรายการโทรทัศน์ยอดเยี่ยม - 1981 - มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ - PBS series Cosmos
  • Apollo Achievement Award - องค์การนาซา
  • เหรียญรางวัลนาซา ผู้อุทิศตนแก่สาธารณประโยชน์ - องค์การนาซา (ได้รับ 2 ครั้ง)
  • รางวัลเอ็มมี - Outstanding Individual Achievement - 1981 - PBS series Cosmos
  • รางวัลเอ็มมี - Outstanding Informational Series - 1981 - PBS series Cosmos
  • Exceptional Scientific Achievement Medal - องค์การนาซา
  • Helen Caldicott Leadership Award - Women's Action for Nuclear Disarmament
  • รางวัลฮิวโก - 1981 - Cosmos
  • Humanist of the Year - 1981 - Awarded by the American Humanist Association
  • In Praise of Reason Award - 1987 - คณะกรรมการการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกล่าวอ้างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ (Committee for the Scientific Investigation of Claims of the Paranormal)
  • รางวัลไอแซก อสิมอฟ - 1994 - คณะกรรมการการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกล่าวอ้างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ
  • รางวัล John F. Kennedy Astronautics - สมาคมนักบินอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา
  • รางวัล จอห์น ดับเบิลยู. แคมป์เบล อนุสรณ์ - 1974 - Cosmic Connection: An Extraterrestrial Perspective
  • รางวัล Joseph Priestley - "สำหรับการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ"
  • Klumpke-Roberts Award จาก สมาคมดาราศาสตร์แห่งแปซิฟิก - 1974
  • เหรียญรางวัล Konstantin Tsiolkovsky - มอบให้โดยสมาพันธ์นักบินอวกาศโซเวียต
  • รางวัลโลกัส 1986 - Contact
  • รางวัลโลเวลล์ โทมัส - ชมรมนักสำรวจ - โอกาสครบรอบ 75 ปี
  • Masursky Award - สมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน
  • ทุนวิจัยมิลเลอร์ - สถาบันมิลเลอร์ (1960–1962)
  • หอเกียรติยศนิวเจอร์ซีย์ - 2009 inductee
  • Oersted Medal - 1990 - สมาคมครูฟิสิกส์แห่งอเมริกัน
  • Peabody Award - 1980 - PBS series Cosmos
  • Prix Galbert - The international prize of Astronautics
  • เหรียญรางวัล Public Welfare Medal - 1994 - องค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
  • รางวัลพูลิตเซอร์ ประเภทวรรณกรรมทั่วไป - 1978 - The Dragons of Eden
  • SF Chronicle Award - 1998 - Contact
  • ได้รับยกย่องเป็น "99th Greatest American" (ชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ คนที่ 99) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2005 จากรายการ Greatest American ทางช่อง Discovery Channel

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение