Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก

ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก (อังกฤษ: Global Health Security Index ตัวย่อ GHSI) เป็นการประเมินความมั่นคงทางสุขภาพ/อนามัยของประเทศ 195 ประเทศ ที่ศูนย์ความมั่นคงสุขภาพจอนส์ฮอปกินส์ (มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์), Nuclear Threat Initiative (NTI) และ Economist Intelligence Unit (ซึ่งเป็นส่วนของบริษัทอังกฤษคือ The Economist Group) เป็นผู้จัดทำ

ประวัติ

ดัชนี้นี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 2019 และได้กล่าวไว้อย่างหนึ่งว่า "ไม่มีประเทศใดที่เตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์เพื่อรับโรคระบาดหรือโรคระบาดทั่ว และประเทศทุกประเทศมีจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไข" ประเทศที่อยู่ในหมู่ "เตรียมพร้อมสุด" ตามลำดับคือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ไทย สวีเดน เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส สโลวีเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอยู่ในอันดับแรกโดยมีค่าดัชนี 83.5 จาก 100 และไทยอยู่ในอันดับที่ 6 โดยมีค่าดัชนี 73.2 ประเทศที่อยู่ในหมู่ "เตรียมพร้อมน้อยสุด" โดยมากเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตกและกลาง

ดัชนีนี้กลายเป็นเรื่องดังในช่วงการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2562-2563 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้แผนที่ดัชนีนี้เป็นข้ออ้างว่า สหรัฐเป็นประเทศซึ่งเตรียมพร้อมที่สุดในโลกเพื่อรับมือกับโรคระบาดทั่ว แต่ที่ปรึกษาของโปรเจ็กต์นี้ได้ให้สัมภาษณ์ตอบว่า จริงอยู่ว่า สหรัฐจัดอยู่ในลำดับสูงสุดในดัชนี แต่ก็ยังมีข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไข วันที่ 26 มีนาคม 2020 บทความในวารสารแพทย์เดอะแลนซิตชื่อเรื่องว่า "โควิด-19 บ่งความเชี่ยวชาญทางสุขภาพโลกว่าเป็นเรื่องเท็จ (COVID-19 gives the lie to global health expertise)" ได้โจมตีรายงานนี้ว่า ในเหตุการณ์โรคระบาดทั่ว ประเทศที่จัดลำดับว่าเตรียมพร้อมสุด เช่นสหรัฐและสหราชอาณาจักร กลับแย่กว่าประเทศในเอเชียและแอฟริกาซึ่งจัดลำดับว่าต่ำกว่า วันที่ 27 เมษายน 2020 กลุ่มดัชนีจึงได้ตอบว่า ลำดับของสหรัฐในดัชนีไม่สะท้อนถึงความพร้อมของประเทศเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดต่อซึ่งอาจก่อความหายนะ คือ

...คะแนนและลำดับของประเทศไม่ได้แสดงว่า ประเทศมีความพร้อมเพียงพอเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดต่อที่อาจก่อความหายนะ จุดอ่อนของความเตรียมพร้อมที่สำคัญก็ยังมี และจุดอ่อนเหล่านั้นบางอย่างก็กำลังแฉปรากฏในวิกฤติการณ์นี้ การตอบสนองของสหรัฐต่อการระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันแสดงว่า สมรรถภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอถ้าไม่งัดสมรรถภาพนั้นออกมาใช้อย่างเต็มที่ ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งจำเป็นต้องมีเพื่อรับใช้ประชากรทุกหมู่เหล่า และความเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพและที่สร้างความเชื่อมั่นในการตอบสนองของรัฐก็สำคัญมาก

— The U.S. and COVID-19: Leading the World by GHS Index Score, not by Response (2020-04-27)

ในวันที่ 28 เมษายนต่อมา แพทย์สำนักงานของกระทรวงบริการทางสุขภาพและสังคมแห่งสหราชอาณาจักรจึงตีพิมพ์คำตอบสนองในเดอะบีเอ็มเจวิจารณ์ความสมเหตุสมผลของตัวชี้บอกต่าง ๆ ที่มีผลต่อค่าดัชนี แล้วตั้งความสงสัยว่า ดัชนีมีประโยชน์อะไรต่อการประเมินสุขภาพโลก และแนะนำให้ไม่ใช้ดัชนี

วิธีการ

รายงานอาศัยแบบสอบถามมีคำถาม 140 คำถาม จัดเป็น 6 หมู่ มีตัวบ่งชี้ 34 ตัว และตัวบ่งชี้ย่อย 85 ตัว หมวดหมู่ทั้ง 6 หมู่รวม

  • การป้องกัน - การป้องกันการเกิดหรือการหลุดออกของจุลชีพก่อโรค
  • การตรวจจับและรายงาน - การตรวจจับโรคระบาดที่อาจเป็นปัญหาต่อนานาชาติแล้วรายงานตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • การตอบสนองอย่างรวดเร็ว คือตอบสนองและบรรเทาการระบาดของโรคได้อย่างเร็ว
  • ระบบสาธารณสุข คือมีระบบสาธารณสุขที่เพียงพอและแข็งแกร่งเพื่อรักษาคนไข้และป้องกันแพทย์พยาบาล
  • การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล คือมุ่งมั่นในการปรับปรุงสมรรถภาพของชาติ การวางแผนงบประมาณเพื่อแก้จุดอ่อน และการปฏิบัติตามมาตรฐานโลก
  • ความเสี่ยง คือความเสี่ยงและความอ่อนแอของประเทศต่ออันตรายทางชีวภาพ

ดัชนี้นี้อาศัยข้อมูลแบบเปิดล้วน ๆ นักวิจัยทำงานร่วมกับคณะปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ 21 คนจากประเทศ 13 ประเทศ

ประเทศไทย

ในดัชนีนี้ ประเทศไทยจัดในอยู่กลุ่มประเทศ "เตรียมพร้อมสุด" เป็นอันดับที่ 6 มีค่าดัชนี 73.2 ได้รับยกย่องเป็นตัวอย่างว่า เป็นประเทศเดียวที่ไม่มีรายได้สูงแต่อยู่ในกลุ่มเตรียมพร้อมสุด ดัชนียกการระงับการระบาดของโรคเมอร์สปี 2015 ของประเทศว่าเป็นตัวชี้การสร้างสมรรถภาพความมั่นคงทางสุขภาพและการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ดัชนียกเหตุผลต่อไปนี้ที่ทำให้ไทยได้ค่าสูงในดัชนี รวมทั้ง

  • มีสมรรถภาพทางสาธารณสุขที่ดี คือประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยจัดเป็นอันดับสองในบรรดาประเทศทั้งหมดที่สำรวจ
  • มีระบบเฝ้าสังเกตและติดตามโรคติดเชื้อเช่นเมอร์สได้ดี
  • เป็นประเทศหนึ่งในเพียง 5 ประเทศที่รัฐให้ความสำคัญแก่การรักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขผู้เกิดป่วยเมื่อทำหน้าที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข
  • มีการฝึกการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาการระบาดที่ดี
  • มีระบบห้องปฏิบัติการประจำชาติที่ดี
  • มีระบบสอดส่องรายงานโรคระบาดทางอิเล็กทรอนิกที่ดี
  • มีการป้องกันโรคติดต่อและการตอบสนองต่อโรคติดต่อที่ดี

ดัชนีสรุปในหน้าที่ยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างว่า "ดัชนี GHS แสดงว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำนานาชาติในเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย"

ทุน

ดัชนีพัฒนาอาศัยทุนจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้ง Open Philanthropy Project, มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ และมูลนิธิรอเบอร์ตสัน

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение