Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ริชาร์ด อีแวนส์ ชูลทีส นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านทำการศึกษาในป่าดิบชื้นแอมะซอน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940

พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นพฤกษศาสตร์และมานุษยวิทยาแขนงหนึ่งที่ศึกษาพืชในภูมิภาคและการใช้ประโยชน์เชิงปฏิบัติผ่านภูมิปัญญาดั้งเดิมของวัฒนธรรมและผู้คนท้องถิ่น นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านพยายามรวบรวมองค์ความรู้ของการใช้พืชโดยคนพื้นเมืองในหลายด้าน เช่น อาหาร ยารักษาโรค สารออกฤทธิ์ และเครื่องนุ่งห่มริชาร์ด อีแวนส์ ชูลทีส นักชีววิทยาชาวอเมริกันผู้ได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่งพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน" บรรยายสาขาวิชานี้ว่า

พฤกษศาสตร์พื้นบ้านหมายถึง การสำรวจพืชที่สังคมใช้ในส่วนต่าง ๆ ของโลก

นับตั้งแต่ชูลทีส พฤกษศาสตร์พื้นบ้านได้พัฒนาจากการแสวงหาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การประยุกต์ใช้ในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในทางเภสัชศาสตร์ คำว่าพฤกษศาสตร์พื้นบ้านตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ ethnobotany ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณสองคำคือ ἔθνος (éthnos, “กลุ่มชน”) และ βοτάνη (botánē, “พืช”)

ประวัติ

แนวคิดของพฤกษศาสตร์พื้นบ้านริเริ่มโดยจอห์น วิลเลียม ฮาร์ชเบอร์เกอร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกันผู้คิดค้นคำว่า "ethnobotany" ในค.ศ. 1895 แม้ฮาร์ชเบอร์เกอร์จะทำการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านอย่างกว้างขวางในแอฟริกาเหนือ เม็กซิโก สแกนดิเนเวีย และเพนซิลเวเนีย แต่พฤกษศาสตร์พื้นบ้านกลายเป็นสาขาวิชาที่เป็นที่รู้จักเมื่อริชาร์ด อีแวนส์ ชูลทีสเริ่มเดินทางไปยังป่าดิบชื้นแอมะซอนช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 กระนั้นเชื่อว่าการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 เมื่อพีดาเนียส ไดออสคอริดีส แพทย์ชาวกรีกแต่งตำรา De Materia Medica ("ว่าด้วยเภสัชวัตถุ") ที่บรรยายถึงสรรพคุณทางยาและอาหารของพืชเมดิเตอร์เรเนียนกว่า 600 ชนิด การค้นพบโลกใหม่มีส่วนในการเพิ่มพูนความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ของยุโรปเนื่องจากมีการนำเข้าพืชชนิดใหม่จากทวีปอเมริกา เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่วลิสง และอาโวคาโด

พัฒนาการ

เลออปอล กลุค แพทย์ชาวเยอรมันเป็นบุคคลแรกที่ศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านด้วยมุมมองแบบคนใน (emic) การศึกษาของเขาเกี่ยวกับการใช้พืชทางการแพทย์พื้นบ้านของคนชนบทในบอสเนียที่ตีพิมพ์ในค.ศ. 1896 ถือเป็นผลงานด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านสมัยใหม่ชิ้นแรก หลังจากนั้นมีการศึกษาการใช้พืชในมุมมองคนพื้นเมืองจำนวนมาก เช่น มาทิลดา ค็อกซ์ สตีเวนสันศึกษาพืชที่ใช้โดยชาวซูนี (ค.ศ. 1915), คณะนำโดยวิลเฟรด ร็อบบินส์ศึกษาพืชที่ใช้โดยชาวเตวาปูเอโบ (ค.ศ. 1916) และแฟรงก์ แฮมิลตัน คุชิงศึกษาอาหารของชาวซูนี (ค.ศ. 1920)

ในช่วงแรกการศึกษาและการเก็บตัวอย่างทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านยังไม่มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากนักพฤกษศาสตร์และนักมานุษยวิทยาไม่มีเป้าหมายเดียวกัน นักพฤกษศาสตร์นั้นมุ่งเน้นการระบุชนิดพืชและการใช้งาน แต่ไม่ได้สนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับชีวิตผู้คน ขณะที่นักมานุษยวิทยาสนใจบทบาททางวัฒนธรรมของพืช แต่ศึกษาแง่มุมทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เพียงผิวเผิน ต่อมาช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักพฤกษศาสตร์และนักมานุษยวิทยาร่วมมือกันมากขึ้น จึงมีข้อมูลข้ามสาขาวิชาที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านเริ่มเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มข้อมูลดิบสู่การปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีให้เป็นวิชาการมากขึ้น ปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านต้องการทักษะที่หลากหลาย เช่น ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ในการระบุจำแนกและเก็บตัวอย่างพืช ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อเข้าใจแนวคิดทางวัฒนธรรมที่มีต่อพืช และความรู้ทางภาษาศาสตร์ในการถอดความศัพท์ท้องถิ่น และเข้าใจองค์ประกอบของภาษาท้องถิ่น


Новое сообщение