Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ฟูกูชิมะ 50

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ฟูกูชิมะ 50 เป็นชื่อที่สื่อตั้งให้แก่กลุ่มของลูกจ้างของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง ซึ่งยังคงทำงานต่อไปหลังจากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งส่งผลให้มีการอพยพพนักงาน 750 คน จากทั้งหมด 800 คน

ต่อมา กลุ่มฟูกูชิมะ 50 ได้รับการสมทบโดยคนงานเพิ่มเติมในหลายวันต่อมา แต่ชื่อ "ฟูกูชิมะ 50" ยังคงถูกใช้โดยสื่อเพื่อหมายถึงกลุ่มคนงานที่ทำงานอยู่ที่ฟูกูชิมะ จำนวนคนงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นเป็น 580 คนในตอนเช้าของวันที่ 18 มีนาคม โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ และคนงานซึ่งติตตั้งสายไฟฟ้าเข้ามาร่วมด้วย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม จำนวนของคนงาน พนักงานดับเพลิง และทหารที่ยังคงทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวเพิ่มคนเป็นมากกว่า 1,000 คน ฟูกูชิมะ 50 เป็นกลุ่มที่ถูกนำตัวมาจากโตชิบา ฮิตาชิ บริษัทท้องถิ่นขนาดเล็กถึงปานกลางในฟูกูชิมะ คาจิมะ คันเด็นโกะ พนักงานดับเพลิงจากโตเกียว โอซากะ โยโกฮามะ คาวาซากิ และนาโงยะ ตลอดจนบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวและบริษัทลูก

มีคนงานมากกว่า 20 คนได้รับบาดเจ็บจนถึงวันที่ 18 มีนาคม รวมไปถึงคนงานที่ได้รับกัมมันตภาพรังสีเมื่อคนงานพยายามที่จะระบายไอน้ำจากวาล์วของอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์ ส่วนคนงานอีก 3 คนได้รับปริมาณรังสีสูงกว่า 100 มิลลิซีเวิร์ต 2 คนในจำนวนนี้ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเนื่องจากรังสีบีตาทำให้ผิวไหม้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม

คนงานและอาสาสมัครถูกจัดให้ทำภารกิจเพื่อรักษาเครื่องปฏิกรณ์ให้เสถียร กิจกรรมของพวกเขารวมไปถึงการประเมินความเสียหายและระดับกัมมันตรังสีซึ่งเกิดจากแรงระเบิด การทำให้เครื่องปฏิกรณ์ที่ติดขัดมีอุณหภูมิเย็นลงด้วยน้ำทะเลและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ คนงานเหล่านี้ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการถูกพิษกัมมันตรังสี ระดับของกัมมันตรังสีในพื้นที่สูงกว่าในพื้นที่กีดกัน 20 กิโลเมตร และสื่อได้รายงานว่าความร้ายแรงของเหตุการณ์นี้อาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพในอนาคตของพวกเขา รวมทั้งผลกระทบที่อาจถึงตายของคนงานเหล่านี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง กล่าวว่าคนงานเหล่านี้ "พร้อมที่จะตาย"

สภาพกัมมันตรังสี

ขีดจำกัดของปริมาณรังสีของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ระหว่างประเทศอยู่ที่ 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี โดยเฉลี่ยมากกว่าห้าปี โดยมีขีดจำกัดอยู่ที่ 50 มิลลิซีเวิร์ตในปีใดปีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับคนงานซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ฉุกเฉินตามแนวปฏิบัติของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) นั้นมีขีดจำกัดอยู่ที่ 100 มิลลิซีเวิร์ตเมื่อ "กำลังปกป้องทรัพย์สินที่มีค่า" และ 250 มิลลิซีเวิร์ตเมื่อกิจกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับ "การช่วยชีวิตหรือการปกป้องประชากรขนาดใหญ่"

ก่อนหน้าที่จะเกิดอุบัติเหตุ ปริมาณจำกัดที่ได้รับอนุญาตสำหรับคนงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่นอยู่ที่ 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี แต่หลังจากวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554 กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานญี่ปุ่นได้อนุญาตขีดจำกัดที่ 250 มิลลิซีเวิร์ต จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง

ตามข้อมูลของเดอะการ์เดียน คนงานฟูกูชิมะจำเป็นจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นเฉียบพลันของกัมมันตรังสี ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ อันตรายนี้ทำให้ต้องมีการอพยพคนงานเป็นการชั่วคราวเมื่อเช้าวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554 เมื่อปริมาณกัมมันตรังสีซึ่งตรวจวัดได้ที่ฟุกุชิมะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1000 มิลลิซีเวิร์ต/ชั่วโมง ซึ่งเป็นกัมมันตรังสีระดับสูงสุดที่ตรวจวัดได้หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น

คนงานสวมชุดและหน้ากากป้องกันสารเคมี ถือเครื่องวัดสารกัมมันตรังสีซึ่งจะเตือนที่ 80 มิลลิซีเวิร์ต คนงานแต่ละคนจะต้องหยุดทำงานเมื่อเครื่องวัดดังกล่าวเตือน ตามข้อมูลของบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว มีคนงาน 7 คนที่ได้รับปริมาณรังสีเกินขีดจำกัด 100 มิลลิซีเวิร์ตในช่วงเช้าของวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งทั้งหมดเป็นคนงานของบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว

การระเบิด

กลุ่มคนงานฟูกูชิมะ 50 ปรากฏตัวขึ้นเมื่อเกิดระเบิดและเพลิงไหม้ที่เครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 4 มีข้อสงสัยเกิดขึ้นเกี่ยวกับขอบเขตกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างที่จะปิดปากเงียบเกี่ยวกับสถานการณ์ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะก่อให้เกิดความตกใจกลัว ขณะที่บางคนเสนอว่ารัฐบาลอาจไม่เปิดเผยความจริงทั้งหมด

จำนวนคนงานที่แท้จริง

แต่เดิมมีคนงานอย่างน้อย 800 คนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม คนงานที่ถูกมองว่าไม่สำคัญถูกอพยพออกจากพื้นที่โดยบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว รวม 750 คน เนื่องจากความเสี่ยงที่มีมากขึ้น และเหลือคนงานอยู่ประมาณ 50 คน ในวันนี้เอง สื่อได้เริ่มเรียกคนงานที่เหลือนี้ว่า "ฟูกูชิมะ 50"

อย่างไรก็ตาม เช้าของวันที่ 16 มีนาคม คนงานที่เหลือจำเป็นต้องอพยพชั่วคราวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นเฉียบพลันของกัมมันตรังสีซึ่งสามารถตรวจวัดได้ว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนงาน มีการรายงานว่าเมื่อพวกเขากลับเข้าทำงานยังเครื่องปฏิกรณ์ มีคนงานอีก 130 คนเข้าร่วมด้วย รวมเป็น 180 คน เพื่อรักษาเครื่องปฏิกรณ์ให้เสถียร จำนวนคนงานเพิ่มขึ้นเป็น 580 คนในช่วงเช้าของวันที่ 18 มีนาคม

ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554 โตชิบาได้ส่งเจ้าหน้าที่ 700 คนไปยังเครื่องปฏิกรณ์สองเครื่องเพื่อขจัดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ และฮิตาชิได้ส่งเจ้าหน้าที่ 120 คนมายังฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่งและก่อตั้งเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจจำนวน 1000 คน

นักวิจัยนิวเคลียร์ ดร.อีริก ฮอลล์ แสดงความคิดเห็นว่าคนงานเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเป็นคนงานสูงอายุ และคาดว่าไม่น่าจะมีบุตรอีกในอนาคต ดังนั้นผลกระทบระยะยาวของการได้รับกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงจึงมีโอกาสที่จะปรากฏน้อยกว่าการเสียชีวิตตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวหลายสำนักบ่งชี้ว่ามีคนงานอายุน้อยจำนวนมากยังทำงานอยู่ในพื้นที่ อย่างเช่น คนงานที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งมีอายุอยู่ในวัย 20-30 และพนักงานดับเพลิงที่เข้าไปในหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้าก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกของหัวหน้าของพวกเขา

การบาดเจ็บ

มีคนงานมากกว่า 20 คนได้รับบาดเจ็บจนถึงวันที่ 18 มีนาคม คนงาน 3 คนได้รับปริมาณรังสีเข้าไปในปริมาณมาก และอีก 2 คนถูกเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลหลังได้รับปริมาณรังสีสูงถึง 180 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งน้อยกว่าปริมาณสูงสุด 250 มิลลิซีเวิร์ตที่รัฐบาลกำหนดไว้สำหรับคนงานที่ทำงานอยู่ที่นั่น คนงานทั้งสองคน ซึ่งคนหนึ่งอยู่ในวัยยี่สิบ และอีกคนหนึ่งอยู่ในวัยสามสิบ เป็นคนงานประจำของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่สอง ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นคนงานจากบริษัทว่าจ้างของคันเด็นโกะ


Новое сообщение