Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

อาการชอบถูไถอวัยวะเพศ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ป้ายแสดงนอกที่จอดรถจักรยานในประเทศญี่ปุ่นที่เตือนว่า "ระวังถูกคลำ"

คำภาษาอังกฤษว่า Frotteurism (อนาจารโดยการเสียดสี) เป็นกามวิปริตที่บุคคลชอบเสียดสีอวัยวะ โดยปกติแถว ๆ บริเวณท้องน้อยหรือเชิงกราน หรือองคชาต ต่อคนที่ไม่ได้ยินยอมเพื่อสนองความรู้สึกทางเพศ ซึ่งอาจจะรวมการสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายรวมทั้งบริเวณอวัยวะเพศ ส่วนคำว่า Toucherism (อนาจารโดยการจับ) เป็นความตื่นตัวทางเพศที่อาศัยการจับหรือการลูบคลำคนที่ไม่ได้ยินยอม ซึ่งมักจะเป็นการจับหน้าอก ก้น หรือบริเวณอวัยวะเพศ บ่อยครั้งอย่างเร็ว ๆ เมื่อเดินเฉียดกับเหยื่อ นักจิตวิทยาบางท่านพิจารณา Toucherism ว่าเป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของ Frotteurism แต่ท่านอื่นแยกแยะระหว่างอนาจารสองอย่างนี้

รากศัพท์ภาษาอังกฤษและประวัติ

จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส (Valentin Magnan) น่าจะเป็นคนแรกที่จัดอนาจารโดยการเสียดสีว่าเป็นความผิดปกติทางจิต โดยกล่าวถึงเหตุการณ์อนาจารที่เรียกว่า "frottage" 3 เหตุการณ์ในงานศึกษาปี 1890 เป็นคำที่มาจากคำกริยาภาษาฝรั่งเศสว่า frotter ซึ่งหมายความว่า "ถู/เสียดสี" ส่วนคำว่า Frotteur เป็นคำนามที่แปลตามอักษรว่า "บุคคลที่เสียดสี" เป็นคำที่ก่อความนิยมโดยนักเพศวิทยาชาวเยอรมันคนหนึ่ง (Richard von Krafft-Ebing) โดยยืมใช้คำของแพทย์ฝรั่งเศส ต่อมาคำว่า frotteurism จึงบัญญัติขึ้นในปี 1969 ในหนังสือเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางเพศเล่มหนึ่ง

คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต เรียกความผิดปกติทางเพศนี้ว่า frottage จนกระทั่งฉบับที่ 3 (DSM III-R) แล้วจึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า frotteurism ในฉบับที่ 4 แต่ปัจจุบันใช้คำว่า "frotteuristic disorder" ในฉบับที่ 5 อย่างไรก็ดี คำว่า frottage ก็ยังมีใช้ในกฎหมายประเทศตะวันตก ซึ่งใช้เป็นคำไวพจน์กับคำว่า frotteurism

อาการและการจัดหมวดหมู่

คู่มือแพทย์พิมพ์โดยสมาคมจิตเวชอเมริกัน (American Psychiatric Association) คือ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (ตัวย่อ DSM) ฉบับที่ 5 กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยสำหรับ frotteuristic disorder ดังต่อไปนี้

  • การมีอารมณ์ทางเพศ (หรือความตื่นตัวทางเพศ) ที่รุนแรงและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ด้วยการจับหรือเสียดสีกับคนที่ไม่ได้ยินยอม โดยปรากฏเป็นจินตนาการ หรือความอยาก หรือพฤติกรรม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
  • บุคคลนั้นได้ประพฤติตามความอยากทางเพศเช่นนี้กับบุคคลที่ไม่ได้ยินยอม หรือความอยากหรือจินตนาการทางเพศก่อความทุกข์หรือความบกพร่องทางสังคม ทางอาชีพ หรือในเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ ในระดับที่สำคัญทางคลินิก

ดังนั้น ถ้าบุคคลไม่ได้ประพฤติตามความสนใจ และไม่ประสบกับความทุกข์หรือความบกพร่อง บุคคลนั้นพิจารณาว่า มีความสนใจทางเพศแบบชอบเสียดสี แต่ไม่วินิจฉัยว่ามีความผิดปกติแบบ frotteuristic นักเพศวิทยาบางท่านแยกแยะระหว่าง frotteurism (เป็นการเสียดสีบริเวณเชิงกราน) และ toucherism (เป็นการคลำด้วยมือ) แต่ว่า DSM ไม่ได้แยกแยะ ส่วนนักเพศวิทยาผู้หนึ่ง (Kurt Freund) เรียก frotteurism และ toucherism ว่าเป็น courtship disorder (ความผิดปกติในการจีบคู่) ที่เกิดขึ้นในระยะสัมผัส (tactile stage) ของการจีบคู่ในมนุษย์

ความชุกและกฎหมาย

ความชุก (prevalence) ของความผิดปกตินี้ยังไม่มีข้อมูล แต่ว่า DSM ประเมินว่า ชาย 10%-14% ที่พบหมอเกี่ยวกับโรคกามวิปริตหรือ hypersexuality (เซ็กส์เกิน) มีความผิดปกติแบบ frotteuristic ซึ่งก็หมายความว่า ในประชากรทั่วไป ความชุกก็จะต่ำกว่า แต่ว่า ชายทั่วไปในอัตราถึง 30% อาจทำอนาจารโดยการเสียดสี แม้ว่าอาจจะวินิจฉัยไม่ได้ว่ามีความผิดปกติทางจิต คนเสียดสีโดยมากเป็นชาย และเหยื่อโดยมากเป็นหญิง แม้ว่าประเภทหญิงต่อชาย หญิงต่อหญิง และชายต่อชายก็ยังมีด้วย เป็นสิ่งที่บ่อยครั้งทำในสถานการณ์ที่เหยื่อไม่อาจตอบสนองได้ง่าย ๆ เช่นในที่สาธารณะ เช่นในรถไฟหรือในคอนเสิร์ตที่มีคนแน่น

แต่โดยปกติแล้ว ความประพฤติทางเพศที่ไม่ได้ยินยอมจะมองว่าเป็นอาชญากรรมแบบการทำร้ายทางเพศ แต่จะจัดว่าเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง และเมื่อถูกตัดสินว่าผิดอาจจะถูกลงโทษ หรือบังคับให้มีการบำบัดทางจิตเวช โดยประมวลกฎหมายอาญาไทยมาตราที่ 278 กำหนดไว้ว่า

ผู้ใด กระทำอนาจารแก่ “บุคคล” อายุกว่าสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

— ประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ 278

โดยที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสินไหมเป็นค่าตอบแทนอันตรายที่เกิดขึ้นทางร่างกายและจิตใจ

ดูเพิ่ม


Новое сообщение