Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
เบาหวานชนิดที่ 1
เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Diabetes mellitus type 1, insulin-dependent diabetes, juvenile diabetes |
สัญลักษณ์วงกลมสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์สากลสำหรับโรคเบาหวาน | |
การออกเสียง | |
สาขาวิชา | วิทยาต่อมไร้ท่อ |
อาการ | ปัสสาวะบ่อย, ดื่มน้ำบ่อย, หิวบ่อย, น้ำหนักลด |
ภาวะแทรกซ้อน | ภาวะเลือดเป็นกรดคีโตนจากเบาหวาน(DKA), ภาวะเลือดมีน้ำตาลสูงและความเข้มข้นสูงแบบไม่ใช่คีโตน (HHS), บาดแผลหายช้า, โรคหัวใจ, โรคจอประสาทตา |
การตั้งต้น | เมื่อเป็นแล้วจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว |
ระยะดำเนินโรค | ระยะยาว |
สาเหตุ | ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ |
ปัจจัยเสี่ยง | ประวัติครอบครัว, โรคซีลิแอ็ก |
วิธีวินิจฉัย | ระดับน้ำตาลในเลือด, HbA1C |
การป้องกัน | ไม่มี |
การรักษา | ยาอินซูลิน, อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน, ออกกำลังกาย |
ความชุก | ~7.5% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด |
เบาหวานชนิดที่ 1 หรือ เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ในตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยมากหรือผลิตไม่ได้เลย อินซูลินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ และมีส่วนในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในตอนที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะนี้จะทำให้ในเลือดมีระดับน้ำตาลสูง อาการที่พบได้บ่อยในขณะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วม เช่น ตามัว อ่อนล้า บาดแผลหายช้า โดยทั่วไปแล้วในระยะแรกของการมีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ จนเห็นได้ชัดในระยะเวลาค่อนข้างสั้น คือในระดับไม่กี่สัปดาห์
สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นผลจากหลายๆ ปัจจัยทั้งทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม กลไกที่ทำให้เกิดโรคคือภาวะภูมิต้านตนเองที่ทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลิน มีรายงานการศึกษาวิจัยหลายฉบับที่บ่งชี้ว่าภาวะภูมิต้านตนเองต่อเซลล์เบต้าจนทำให้กลุ่มเซลล์ของแลงเกอร์ฮานส์ถูกทำลายนี้อาจถูกกระตุ้นได้ด้วยการติดเชื้อไวรัสบางชนิดอย่างต่อเนื่อง การวินิจฉัยเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ทำได้โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินที่จับกับน้ำตาล (HbA1C) ในเลือด และสามารถแยกจากกันได้ด้วยการตรวจหาสารภูมิต้านตนเองในเลือด
ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 การรักษาจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลิน โดยทั่วไปจะใช้การให้ยาอินซูลินผ่านการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยอาจเป็นการฉีดตามปกติหรือใช้เครื่องฉีดอัตโนมัติ การออกกำลังกายและการปรับอาหารเพื่อผู้ป่วยเบาหวานเป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นกัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรดคีโตนจากเบาหวาน (DKA) และภาวะเลือดมีน้ำตาลสูงและความเข้มข้นสูงแบบไม่ใช่คีโตน (HHS) ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้แก่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ไตวาย แผลเรื้อรัง และโรคจอประสาทตา นอกจากนี้แล้วการรักษาด้วยอินซูลินหากใช้ไม่เหมาะสมยังทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ด้วย
ในบรรดาผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จะมีอยู่ประมาณ 5-10% เป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่มีข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลกที่แน่ชัด แต่มีข้อมูลประมาณไว้ว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 รายใหม่ที่เป็นเด็กประมาณ 8 หมื่นคน ในสหรัฐมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อยู่ประมาณ 1-3 ล้านคน อัตราการเกิดโรคแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยในเอเชียตะวันออกและละตินอเมริกาพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณปีละ 1 ต่อแสนคน ในขณะที่สแกนดิเนเวียและคูเวตพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณปีละ 30 ต่อแสนคน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนใหญ่จะเริ่มวินิจฉัยได้ตั้งแต่วัยเด็กและผู้ใหญ่ตอนต้น
อาการและอาการแสดง
อาการแรกเริ่มของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มักเป็นขึ้นอย่างเฉียบพลันในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อาการที่สำคัญที่สุดคืออาการที่เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมาก โดยในเด็กมักพบเป็นอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก และน้ำหนักลด ซึ่งแสดงอาการภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยเด็กบางคนอาจมีอาการอยากอาหารมากผิดปกติ สายตาเลือนราง ปัสสาวะรดที่นอน ผิวหนังติดเชื้อซ้ำๆ มีเชื้อราที่ขาหนีบ กระสับกระส่าย และมีปัญหาการเรียนได้ ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มักมีอาการได้หลายรูปแบบ และอาจมีอาการต่อเนื่องมาเป็นหลายเดือนก่อนได้รับการวินิจฉัย แทนที่จะอยู่ในหลักวันหรือหลักสัปดาห์อย่างในผู้ป่วยเด็ก
การขาดอินซูลินต่อเนื่องสามารถทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (DKA) ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ผิวแห้งหรือผิวแดง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน สับสน หายใจเหนื่อยหอบ ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ (จากคีโตนในเลือดสูง) การตรวจเลือดและปัสสาวะจะพบระดับน้ำตาลและคีโตนสูง หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติ โคม่า และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวนมาก ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ครั้งแรกในชีวิตก็ตอนที่เกิด DKA นี้ โดยมีสัดส่วนแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยในยุโรปและอเมริกาเหนือคิดเป็นประมาณ 15% ในขณะที่ผู้ป่วยเด็กในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแสดงอาการครั้งแรกเป็น DKA สูงถึง 80%
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ประมาณ 12% มีภาวะซึมเศร้า ประมาณ 6% มีโรคร่วมคือโรคซีลิแอ็ก แต่ส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการทางระบบย่อยอาหาร หรือมีอาการแต่ได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นอาการที่เกิดจากการควบคุมอาหารได้ไม่ดี, กระเพราะอาหารเป็นอัมพาต, หรือโรคเซลล์ประสาทเสื่อมเหตุเบาหวาน ผู้ป่วยเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการวินิจฉัยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ก่อน แล้วจึงได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซีลิแอกในภายหลัง ผู้ป่วยที่เป็นทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคซีลิแอก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคของจอตา และเพิ่มโอกาสเสียชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างโรคทั้งสองนี้อธิบายได้จากการมีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกัน การอักเสบ และการขาดสารอาหารที่เกิดจากโรคซีลิแอกที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาจเป็นมาก่อนโดยไม่ได้รับการวินิจฉัย
Works cited
- American Diabetes Association (January 2021). "6. Glycemic Targets: Standards of Medical Care in Diabetes-2021". Diabetes Care. 44 (Suppl 1): S73–S84. doi:10.2337/dc21-S006. PMID 33298417. S2CID 228087604.
- Atkinson MA, Mcgill DE, Dassau E, Laffel L (2020). "Type 1 diabetes mellitus". Williams Textbook of Endocrinology. Elsevier. pp. 1403–1437.
- Boughton CK, Hovorka R (August 2020). "The artificial pancreas". Curr Opin Organ Transplant. 25 (4): 336–342. doi:10.1097/MOT.0000000000000786. PMID 32618719. S2CID 220326946.
- Butler AE, Misselbrook D (August 2020). "Distinguishing between type 1 and type 2 diabetes". BMJ. 370: m2998. doi:10.1136/bmj.m2998. PMID 32784223. S2CID 221097632.
- Dayan CM, Korah M, Tatovic D, Bundy BN, Herold KC (October 2019). "Changing the landscape for type 1 diabetes: the first step to prevention". Lancet. 394 (10205): 1286–1296. doi:10.1016/S0140-6736(19)32127-0. PMID 31533907. S2CID 202575545.
- Dean PG, Kukla A, Stegall MD, Kudva YC (April 2017). "Pancreas transplantation". BMJ. 357: j1321. doi:10.1136/bmj.j1321. PMID 28373161. S2CID 11374615.
- Delli AJ, Lernmark A (2016). "Type 1 (insulin-dependent) diabetes mellitus: etiology, pathogenesis, prediction, and prevention". ใน Jameson JL (บ.ก.). Endocrinology: Adult and Pediatric (7 ed.). Saunders. pp. 672–690. ISBN 978-0-323-18907-1.
- DiMeglio LA, Evans-Molina C, Oram RA (June 2018). "Type 1 diabetes". Lancet. 391 (10138): 2449–2462. doi:10.1016/S0140-6736(18)31320-5. PMC 6661119. PMID 29916386.
- Katsarou A, Gudbjörnsdottir S, Rawshani A, Dabelea D, Bonifacio E, Anderson BJ, และคณะ (March 2017). "Type 1 diabetes mellitus". Nature Reviews. Disease Primers. 3: 17016. doi:10.1038/nrdp.2017.16. PMID 28358037. S2CID 23127616.
- Norris JM, Johnson RK, Stene LC (March 2020). "Type 1 diabetes-early life origins and changing epidemiology". The Lancet. Diabetes & Endocrinology. 8 (3): 226–238. doi:10.1016/S2213-8587(19)30412-7. PMC 7332108. PMID 31999944.
- Redondo MJ, Steck AK, Pugliese A (May 2018). "Genetics of type 1 diabetes". Pediatric Diabetes. 19 (3): 346–353. doi:10.1111/pedi.12597. PMC 5918237. PMID 29094512.
- Repaske DR (September 2016). "Medication-induced diabetes mellitus". Pediatr Diabetes. 17 (6): 392–7. doi:10.1111/pedi.12406. PMID 27492964.
- Rickels MR, Robertson RP (April 2019). "Pancreatic Islet Transplantation in Humans: Recent Progress and Future Directions". Endocr Rev. 40 (2): 631–668. doi:10.1210/er.2018-00154. PMC 6424003. PMID 30541144.
- Shapiro AM, Pokrywczynska M, Ricordi C (May 2017). "Clinical pancreatic islet transplantation". Nat Rev Endocrinol. 13 (5): 268–277. doi:10.1038/nrendo.2016.178. PMID 27834384. S2CID 28784928.
- Smith A, Harris C (August 2018). "Type 1 diabetes: Management strategies". American Family Physician. 98 (3): 154–156. PMID 30215903. สืบค้นเมื่อ 12 January 2022.
- Wolsdorf JI, Garvey KC (2016). "Management of Diabetes in Children". ใน Jameson JL (บ.ก.). Endocrinology: Adult and Pediatric (7 ed.). Saunders. pp. 854–882. ISBN 978-0-323-18907-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
- สื่อเผยแพร่ โรคเบาหวาน กองโรคไม่ติดต่อ
- National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases (NIDDK) เก็บถาวร 2011-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – Diabetes in America Textbook (PDFs)
- IDF Diabetes Atlas
- Type 1 Diabetes เก็บถาวร 30 ตุลาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the American Diabetes Association
- ADA's Standards of Medical Care in Diabetes 2019
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
|
Disease of the pancreas and glucose metabolism
| |
---|---|
Diabetes |
|
Abnormal blood glucose levels | |
Insulin disorders | |
Other pancreatic disorders |
Type I/allergy/atopy (IgE) |
|
||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
Type II/ADCC (IgM, IgG) |
|
||||||||
Type III (Immune complex) |
|
||||||||
Type IV/cell-mediated (T-cells) |
|
||||||||
Unknown/ multiple |
|
||||||||
|