Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

เสียงในหู

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
เสียงในหู
(Tinnitus)
2010-07-20 Black windup alarm clock face.jpg
เสียงในหูบ่อยครั้งมีอาการได้ยินเสียงดังกริ๊ง ๆ ของนาฬิกาปลุก/โทรศัพท์
การออกเสียง
สาขาวิชา โสตศอนาสิกวิทยา, โสตวิทยา
อาการ ได้ยินเสียงทั้ง ๆ ที่ไม่มีเสียงภายนอกร่างกายจริง ๆ
ภาวะแทรกซ้อน ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ
การตั้งต้น ค่อย ๆ เกิด
สาเหตุ การเสียการได้ยินเหตุเสียงดัง การติดเชื้อในหู โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคเมนิแยร์ เนื้องอกในสมอง เครียด
วิธีวินิจฉัย ขึ้นอยู่กับอาการ การตรวจการได้ยิน การตรวจประสาท
การรักษา ให้คำแนะนำ/ปรึกษา ใช้เครื่องสร้างเสียง ใช้เครื่องช่วยฟัง
ความชุก ~12.5%

เสียงในหู (อังกฤษ: Tinnitus) เป็นเสียงที่ได้ยินแต่ไม่มีจริง ๆ นอกร่างกาย โดยสามารถแบ่งเป็นแบบที่มีเสียงจริงหรือแบบไม่มี แม้บ่อยครั้งจะอธิบายว่า หูอื้อหรือเสียงดังเหมือนโทรศัพท์/กระดิ่ง/นาฬิกาปลุก แต่ก็อาจเป็นเสียงกรอบแกรบ เสียงฟ่อ หรือเสียงกระหึ่ม/ดังลั่น โดยน้อยครั้งมากที่เป็นเสียงคนหรือเสียงดนตรี เสียงอาจค่อยหรือดัง ต่ำหรือสูง อาจมาจากเพียงหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ดังเป็นบางครั้งบางคราวหรือดังตลอด โดยปกติแล้ว อาการจะค่อย ๆ เกิด ในคนไข้บางคน เสียงจะทำให้ซึมเศร้าหรือกังวล และสามารถกวนสมาธิ

การมีเสียงในหูไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการที่อาจมีเหตุได้หลายอย่าง เหตุสามัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการเสียการได้ยินเหตุเสียงดัง เหตุอื่น ๆ รวมทั้งการติดเชื้อในหู โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเมนิแยร์ เนื้องอกในสมอง เครียด การได้รับยาบางอย่าง การบาดเจ็บที่ศีรษะในอดีต และขี้หู เป็นอาการที่สามัญมากกว่าในผู้ที่ซึมเศร้า

การวินิจฉัยอาการนี้มักจะขึ้นอยู่กับคำบอกของคนไข้ แม้ก็มีแบบคำถามหลายแบบที่ประเมินว่าการได้ยินเสียงในหูรบกวนในชีวิตประจำวันแค่ไหนด้วย และก็มีวิธีการตรวจการได้ยิน (audiogram) ตลอดถึงการตรวจทางประสาท ถ้าพบปัญหาอะไร แพทย์อาจตรวจโดยดูภาพเช่นที่ทำโดยเอ็มอาร์ไอ การตรวจสอบอื่น ๆ อาจช่วย เช่น ในกรณีที่เสียงในหูเกิดตามจังหวะการเต้นหัวใจ ในบางครั้งบางคราว แพทย์ที่ใช้หูฟังตรวจอาจได้ยินเสียงจริง ๆ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะเป็นแบบที่มีเสียงจริง

วิธีการป้องกันก็คือเลี่ยงเสียงดัง ถ้ามีเหตุที่เป็นมูลฐาน การรักษาเหตุนั้นอาจทำให้อาการนี้ดีขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว การรักษาปกติจะเป็นการปรึกษากับจิตแพทย์/คุยกับนักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีลดการใส่ใจ/การสำนึกถึงเสียงในหู แม้การเล่นดนตรีเพื่อกลบเสียง หรืออุปกรณ์สร้างเสียงกลบ หรือเครื่องช่วยฟัง ก็อาจช่วยบางกรณี จนถึงปี 2013 ยังไม่มียาที่มีประสิทธิผล เป็นอาการที่สามัญ คือเกิดกับประชากรประมาณ 10-15% แต่คนส่วนมากจะทนรับได้และเป็นปัญหาสำคัญแก่บุคคลเพียงแค่ 1-2%

คำภาษาอังกฤษว่า tinnitus มาจากภาษาละติน คือ tinnīre ซึ่งหมายความว่า ตีระฆัง/ทำเสียง

อาการ

เสียงในหูอาจได้ยินจากหูข้างเดียว ทั้งสองข้าง หรือว่าจากภายในศีรษะ คำภาษาอังกฤษว่า tinnitus เป็นคำบ่งลักษณะของเสียงภายในศีรษะของบุคคลเมื่อไม่มีตัวกระตุ้นทางหูจริง ๆ ซึ่งเป็นเสียงหลายอย่างแต่ที่คนไข้บอกมากที่สุดก็คือเป็นเสียงสูงต่ำเสียงเดียว แม้ปกติคนไข้จะบอกว่าเป็นเสียงเหมือนตีระฆัง/เสียงโทรศัพท์ แต่ในคนไข้อื่น ๆ จะเป็นเสียงสูงหงิง ๆ เสียงหึ่ง ๆ เหมือนในสายไฟ เสียงฟู่ เสียงฮัม เสียงเหมือนลูบแก้วคริสตัล เสียงผิวปาก เสียงนาฬิกา เสียงแก๊ก ๆ เสียงดังกระหึ่ม เสียงจิ้งหรีด เสียงกบต้นไม้ เสียงตั๊กแตน เสียงจักจั่น ทำนองเพลง เสียงบี๊ป ๆ เสียงแฉ่ ๆ เหมือนกระทะร้อน เสียงคล้าย ๆ เสียงคน เสียงสูงต่ำเดียวยาว ๆ เช่นดังที่ใช้เพื่อทดสอบการได้ยิน ยังมีคนไข้บอกด้วยว่าเป็นเสียงลมหรือเสียงคลื่น

เสียงในหูอาจจะได้ยินเป็นครั้งเป็นคราวหรืออาจจะได้ยินอย่างต่อเนื่อง ในกรณีหลัง นี่อาจทำให้เป็นทุกข์มาก ในคนไข้บางคน ความดังของเสียงอาจเปลี่ยนตามการเคลื่อนไหวของไหล่ ศีรษะ ลิ้น ขากรรไกร และตา

คนไข้โดยมากที่ได้ยินเสียงในหูจะเสียการได้ยินไปแล้วเป็นบางส่วน คือบ่อยครั้งจะไม่สามารถได้ยินอย่างชัดเจนซึ่งเสียงจริง ๆ ภายนอกร่างกายที่อยู่ในพิสัยความถี่เดี่ยวกันกับเสียงที่ได้ยินในหู ซึ่งทำให้มีการเสนอว่า เหตุอย่างหนึ่งของเสียงในหูอาจจะเป็นการตอบสนองเพื่อธำรงดุลของเซลล์ประสาทการได้ยินใน dorsal cochlear nucleus ซึ่งทำให้มันทำงานมากเกินเพื่อชดเชยเสียงที่ขาดหายไปเพราะไม่ได้ยิน

เสียงอาจดังเป็นเพียงเสียงพื้นหลังค่อย ๆ จนกระทั่งเป็นเสียงที่ยังได้ยินแม้เมื่อเสียงภายนอกดังมาก เสียงในหูแบบหนึ่งที่เรียกว่าเสียงในหูเต้นเป็นจังหวะ (pulsatile tinnitus) เป็นการได้ยินเสียงชีพจรหรือการหดเกร็งกล้ามเนื้อของตนเอง ซึ่งปกติเป็นเสียงจากการขยับกล้ามเนื้อใกล้ ๆ หู หรือการเปลี่ยนแปลงภายในช่องหู หรือเสียงเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดภายในคอหรือใบหน้า

การดำเนินของโรค

เนื่องจากความต่าง ๆ ในการออกแบบงานศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินของโรคจึงไม่ค่อยคงเส้นคงวา โดยทั่วไป ความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุในผู้ใหญ่ ส่วนความรำคาญต่อเสียงทั่วไปจะลดไปเอง

จิตใจ

เสียงในหูแบบคงยืนอาจทำให้วิตกกังวลและซึมเศร้า สภาพจิตใจเป็นปัจจัยให้รำคาญเสียงยิ่งกว่าความดังและความถี่เสียงที่ได้ยิน ผู้ที่รู้สึกรำคาญเสียงในหูมากกว่าจะมีปัญหาทางจิตใจอย่างสามัญรวมทั้งความซึมเศร้า ความวิตกกังวล ปัญหาการนอน และการไม่มีสมาธิ 45% ของคนไข้ที่มีเสียงในหู จะมีโรควิตกกังวลในช่วงหนึ่งของชีวิต

งานทางจิตวิทยาได้ตรวจดูปฏิกิริยาโดยความเป็นทุกข์ต่อเสียงในหู (TDR) เพื่ออธิบายว่า ทำไมคนไข้จึงมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน งานแสดงว่า เมื่อได้ยินเสียงในหูเป็นครั้งแรก การสร้างภาวะของเสียงเนื่องกับสิ่งเร้าที่ไม่น่ายินดีในเวลานั้น จะเชื่อมเสียงในหูกับอารมณ์เชิงลบ เช่น ความกลัวและความวิตกกังวล งานแสดงว่า เมื่อได้ยินเสียงในหูในช่วงแรก ๆ มีการปรับภาวะเชื่อมเสียงกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี เช่นความกลัวและความวิตกกังวลที่เกิดตอบสนองต่อสิ่งเร้าในเวลานั้น ซึ่งเพิ่มการทำงานของระบบลิมบิกและระบบประสาทอิสระ แล้วจึงเพิ่มความสำนึกและความรำคาญต่อเสียงในหู

เหตุ

มีเสียงในหูสองแบบคือแบบไม่มีเสียงจริง (คือเป็นอัตวิสัย) และแบบมีเสียงจริง (คือที่เป็นปรวิสัย) แต่โดยปกติจะเป็นแบบไม่มีเสียงจริง (subjective tinnitus) คือคนอื่นไม่สามารถได้ยินได้ แบบไม่มีเสียงจริงอาจเรียกเป็นคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ รวมทั้ง tinnitus aurium, nonauditory tinnitus, และ nonvibratory tinnitus

อย่างไรก็ดี ในบางกรณีซึ่งน้อยมาก คนอื่นอาจจะได้ยินเสียงในหูของผู้มีอาการโดยใช้อุปกรณ์ เช่น หูฟังแพทย์เป็นต้น และในบางกรณีซึ่งไม่น้อยถึงขนาดนั้น แต่ก็ยังไม่สามัญ เสียงที่ว่าสามารถวัดด้วยไมค์นอกหูโดยเป็นเสียงจากหู (SOAE) นี่ก็จะเป็นแบบมีเสียงจริง (objective tinnitus) ซึ่งเรียกเป็นคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ รวมทั้ง pseudo-tinnitus และ vibratory tinnitus

แบบไม่มีเสียงจริง (subjective)

เสียงในหูแบบไม่มีเสียงจริงเกิดบ่อยสุด ซึ่งมีเหตุหลายอย่าง แต่ที่สามัญที่สุดก็เพราะเสียการได้ยิน เมื่อเกิดจากโรคในหูชั้นในหรือประสาทหู (auditory nerve) นี่จะเรียกว่า otic tinnitus (โดยคำว่า otic มาจากคำภาษากรีกแปลว่า หู) ซึ่งเป็นภาวะทางโสตวิทยาหรือทางประสาทวิทยาที่อาจจุดชนวนโดยการติดเชื้อหรือยา แต่เหตุเสียการได้ยินที่เกิดบ่อยสุดก็คือ การได้รับเสียงดังเกินซึ่งทำลายเซลล์ขนในหูชั้นใน แล้วก่อเสียงในหู

เมื่อปรากฏว่า เสียงในหูไม่เกี่ยวกับโรคในหูชั้นในหรือประสาทหู อาการก็จะเรียกว่า nonotic tinnitus ในคนไข้ 30% อาการจะได้รับอิทธิพลจากระบบรับความรู้สึกทางกาย ยกตัวอย่างเช่น สามารถเพิ่มหรือลดเสียงโดยขยับใบหน้า ศีรษะ หรือคอ โดยแบบนี้ก็จะสามารถเรียกได้ด้วยว่า somatic tinnitus หรือ craniocervical tinnitus เพราะการขยับศีรษะและคอเท่านั้นที่มีผล

มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงนัยว่า เสียงในหูเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงแบบพลาสติกของระบบประสาทกลางเกี่ยวกับการได้ยิน ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการเสียการได้ยิน คือ การเสียการได้ยินจะเปลี่ยนการตอบสนองเพื่อธำรงดุล (homeostatic response) ภายในระบบประสาทกลาง แล้วก่อเสียงในหู

การเสียการได้ยิน

เหตุสามัญที่สุดของเสียงในหูก็คือการเสียการได้ยินเพราะได้รับเสียงดังมากเกินไป แต่การเสียการได้ยินก็อาจอยู่ในรูปแบบที่อำพรางไว้ เช่น ในคนที่ทดสอบว่าได้ยินเป็นปกติ การเสียการได้ยินยังมีเหตุต่าง ๆ กันด้วย ในบรรดาคนไข้ที่มีเสียงในหู เหตุหลักก็คือความเสียหายที่คอเคลีย

ยาที่เป็นพิษต่อหูสามารถเป็นเหตุให้เกิดเสียงในหูที่ไม่มีจริง เพราะมันสามารถทำให้เสียการได้ยิน หรือเพิ่มความเสียหายที่มีอยู่แล้วเนื่องจากการได้รับเสียงดัง และอาจเกิดแม้เมื่อใช้ยาในขนาดที่พิจารณาว่าไม่เป็นพิษต่อหู ยากว่า 260 ชนิดมีรายงานว่า มีผลข้างเคียงเป็นเสียงในหู

เสียงในหูยังอาจเกิดเมื่อหยุดใช้ยาเบ็นโซไดอาเซพีนแม้ในขนาดที่ใช้รักษาโรค ซึ่งบางครั้งเป็นอาการยืดเยื้อของการขาดยาโดยอาจคงยืนเป็นเวลาหลายเดือน

อย่างไรก็ดี เสียงในหูในกรณีจำนวนมากก็หาสาเหตุไม่ได้

ปัจจัย

ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีส่วนให้เกิดเสียงในหูรวมทั้ง

  • ปัญหาหูและการเสียการได้ยิน
    • การเสียการได้ยินเนื่องจากสื่อนำเสียง
      • acoustic shock เป็นอาการที่เกิดเมื่อได้ยินเสียงดังแบบไม่คาดหวัง
      • เสียงดัง
      • หูชั้นกลางอักเสบ
      • หูอักเสบ (otitis)
      • otosclerosis/otospongiosis เป็นการเจริญผิดปกติของกระดูกใกล้หูชั้นกลาง
      • การทำงานผิดปกติของท่อหู
  • sensorineural hearing loss เป็นการเสียการได้ยินเนื่องกับอวัยวะหรือโครงสร้างในหูชั้นใน หรือเส้นประสาทสมองเส้นที่ 8 หรือระบบประสาทส่วนอื่น ๆ
    • เสียงดัง
    • หูตึงเหตุสูงอายุ
    • โรคเมนิแยร์
    • การบวมน้ำเอ็นโดลิมฟ์ (endolymphatic hydrops)
    • superior canal dehiscence เป็นอาการมีน้อยที่มีผลต่อการได้ยินและการทรงตัว เกิดจากการกร่อนหรือการไม่มีกระดูกขมับเหนือหลอดกึ่งวงกลมส่วนบนของระบบการทรงตัว
    • เนื้องอกไม่ร้ายของเซลล์ปลอกไมอีลินที่เส้นประสาทสมองเส้นที่ 8 (Vestibular schwannoma) ซึ่งทำให้เสียการได้ยิน เกิดอาการนี้ ทรงตัวได้ไม่ดี มีปัญหาความดันในหู อัมพฤกษ์อัมพาตที่ใบหน้า
    • ปรอทหรือตะกั่วเป็นพิษ
    • ยาที่เป็นพิษต่อหู
  • ปัญหาทางประสาท
    • Arnold-Chiari malformation เป็นความผิดปกติทางโครงสร้างของสมองน้อย
    • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
    • การบาดเจ็บที่ศีรษะ
    • temporomandibular joint dysfunction เป็นการเจ็บและการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวและของข้อต่อขากรรไกร
    • giant cell arteritis เป็นการอักเสบของเส้นเลือดขนาดใหญ่และขนาดกลางในศีรษะ โดยเฉพาะที่สาขา external carotid artery
  • โรคทางเมแทบอลิซึม
  • ความผิดปกติทางจิตเวช
  • ปัจจัยอื่น ๆ
  • แบบมีเสียงจริง ๆ (objective)

    เสียงในหูแบบมีเสียงจริง ๆ คนอื่นก็สามารถได้ยิน และบางครั้งจะมีเหตุจากกล้ามเนื้อกระตุกรัวหรือเหตุทางหลอดเลือดต่าง ๆ บางกรณีอาจเกิดจากกล้ามเนื้อกระตุกรอบ ๆ หูชั้นกลาง มีกลไกลธำรงดุลที่ช่วยแก้ปัญหานี้ภายในหนึ่งนาทีหลังเกิดขึ้น โดยปกติจะเกิดพร้อมกับการลดความไวเสียงและหูอื้อ

    เสียงจากหู (SOAE) ซึ่งเป็นเสียงความถี่สูงเบา ๆ ที่สร้างในหูชั้นใน และสามารถวัดที่ช่องหูด้วยไมค์ไวเสียง ก็สามารถทำให้เกิดเสียงในหูได้ด้วย ประเมินว่า จำนวนของผู้มีเสียงในหูที่เนื่องกับ SOAE อยู่ที่ 4%

    แบบเป็นจังหวะ (pulsatile)

    บางคนได้ยินเสียงเต้นเป็นจังหวะคู่กับชีพจรของตน จึงเรียกว่า pulsatile tinnitus หรือ vascular tinnitus เป็นเสียงในหูที่มีจริง ๆ เป็นผลของการไหลเวียนของเลือดที่เปลี่ยนไป คือเกิดความปั่นป่วนใกล้ ๆ หู โดยมีเหตุเช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็งและเสียงฮัมในเส้นเลือดดำ (venous hum) แต่ก็อาจเป็นเสียงที่ไม่มีจริง ๆ ซึ่งเกิดจากการสำนึกเพิ่มขึ้นถึงการไหลเวียนของเลือดในหู

    น้อยครั้งมากที่เสียงในหูแบบเป็นจังหวะจะเป็นอาการของสภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น หลอดเลือดแดงแครอทิดโป่งพอง หรือผนังหลอดเลือดแดงแครอทิดลอก (carotid artery dissection)

    เสียงในหูแบบเป็นจังหวะอาจเป็นตัวบ่งชี้ภาวะหลอดเลือดอักเสบโดยเฉพาะ giant cell arteritis อาจเป็นตัวบ่งชี้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (IIH) หรืออาจเป็นอาการของความผิดปกติทางเส้นเลือดในกะโหลกศีรษะ เช่น สภาวะวิรูปของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ (AVM) และดังนั้นจึงควรตรวจหาเสียงผิดปกติในเส้นเลือด (bruit) ด้วย

    กลไกของอาการ

    กลไกที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งของอาการก็คือ เสียงจากหู คือ หูชั้นในมีเซลล์ขนเป็นพัน ๆ โดยเซลล์ขนชั้นใน (IHC) จะเป็นตัวตรวจจับเสียง และเซลล์ขนชั้นนอก (OHC) จะเปลี่ยนแรงสั่นที่ได้รับบวกกับสัญญาณจากระบบประสาทกลาง ให้ไปเป็นแรงดึงทำให้เยื่อคลุมที่ฐานเกิดความแข็งอ่อนไม่เท่ากัน โดยอาจเป็นกระบวนการขยายเสียง โดยเฉพาะเมื่อเสียงเบา การตรวจจับเสียงจะเชื่อมกับกลไกที่เพิ่มหรือลดการสั่นของเยื่อเป็นกระบวนการป้อนกลับผ่านระบบประสาทกลาง ซึ่งการป้อนกลับนี้ปกติจะปรับให้น้อยกว่าจุดที่จะทำให้เยื่อสั่นเองเพียงเล็กน้อย จึงทำให้สามารถรับเสียงได้ไวและเฉพาะเจาะจงอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถ้ามีอะไรเปลี่ยนไป ก็อาจทำให้ค่าป้อนกลับข้ามจุดที่ทำให้เกิดการสั่นเองได้ง่าย ดังนั้น จึงเกิดเสียงในหูขึ้น

    กลไกที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งก็คือความเสียหายต่อเซลล์รับเสียง เซลล์นี้แม้จะสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จาก Deiters cells ซึ่งเป็นเซลล์สนับสนุนที่อยู่ข้าง ๆ ถ้าเสียหายในสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แต่ก็เชื่อว่า ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะเกิดขึ้นในช่วงการเกิดเอ็มบริโอเท่านั้น คือแม้ Deiters cell ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะสามารถสร้างเซลล์ขึ้นใหม่และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะ แต่ก็ยังไม่เคยพบว่ามันเปลี่ยนกลายเป็นเซลล์รับเสียงยกเว้นในการทดลองที่เพาะเนื้อเยื่อ ดังนั้น ถ้าเซลล์ขนเกิดเสียหาย เช่น เพราะได้รับเสียงดังเกิน หูอาจจะตึงต่อเสียงความถี่บางช่วง แต่เมื่อเกิดอาการเสียงในหู เซลล์อาจจะส่งข้อมูลว่ามีเสียงภายนอกที่ความถี่หนึ่ง ๆ ซึ่งความจริงไม่มี

    อย่างไรก็ดี กลไกของเสียงในหูแบบไม่มีเสียงจริงบ่อยครั้งไม่ชัดเจน แม้จะไม่น่าแปลกใจว่า การบาดเจ็บที่หูชั้นในโดยตรงจะก่ออาการนี้ แต่เหตุอื่น ๆ ที่ปรากฏ (เช่น temporomandibular joint dysfunction และโรคฟันอื่น ๆ) ก็อธิบายได้ยาก

    งานวิจัยได้เสนอให้แบ่งเสียงในหูแบบไม่มีเสียงจริงเป็นสองหมวด คือ otic tinnitus (เสียงในหูเหตุหู) ซึ่งเกิดจากภาวะ/โรคต่าง ๆ ในหูชั้นในหรือเส้นประสาทหู และ somatic tinnitus (เสียงในหูเหตุกาย) ซึ่งเกิดจากภาวะ/โรคนอกหูและประสาทหูโดยยังเกิดภายในศีรษะหรือคอ และได้ให้สมมติฐานเพิ่มขึ้นด้วยว่า เสียงในหูเหตุกาย อาจเกิดจากสัญญาณแทรกข้ามวงจรประสาทภายในสมอง เพราะเส้นประสาทศีรษะและคอวิ่งเข้าไปในสมองใกล้บริเวณที่มีบทบาทในการได้ยิน

    อาการอาจมีเหตุจากการทำงานทางประสาทซึ่งเพิ่มขึ้นในก้านสมองส่วนที่ประมวลสัญญาณเสียง แล้วทำให้เซลล์ประสาทการได้ยินบางส่วนทำงานมากเกิน มูลฐานของทฤษฎีนี้ก็คือ คนโดยมากที่มีอาการนี้ได้เสียการได้ยินไปโดยบางส่วน และความถี่เสียงที่พวกเขาไม่ได้ยิน จะใกล้กับความถี่ของเสียงในหูที่ไม่มีจริง ๆ แบบจำลองของการเสียการได้ยินและสมอง สนับสนุนไอเดียว่า การตอบสนองแบบธำรงดุลของนิวเคลียสประสาท dorsal cochlear nucleus จะเป็นเหตุให้พวกมันทำงานเกินเพื่อชดเชยข้อมูลเสียงที่ไม่มีอีกต่อไป

    อย่างไรก็ดี งานทบทวนวรรณกรรมปี 2016 สามงามเน้นว่า มีโรคเป็นจำนวนมากแม้ที่เกิดร่วมกันซึ่งอาจมีบทบาทกับเสียงในหู และที่ต้องปรับการบำบัดให้เข้ากับอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะ ๆ

    การวินิจฉัย

    แม้เสียงในหูอาจจะเป็นอาการหลักที่คนไข้บอก แพทย์หูคอจมูกก็มักจะตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่รักษาได้ เช่น การติดเชื้อในหูชั้นกลาง เนื้องอกที่ประสาทหู (Vestibular schwannoma) การกระแทกกระเทือน กระดูกงอกใกล้หูชั้นกลาง เป็นต้น ก่อนทดสอบการได้ยินของคนไข้ เสียงในหูจะประเมินด้วยการตรวจลักษณะการได้ยิน (audiogram) เช่น ความทุ้มแหลมและความดังเป็นต้น บวกกับการประเมินปัญหาทางจิตที่เกิดร่วมกันเช่น ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียดที่สัมพันธ์กับความรุนแรงของเสียงในหู

    ข้อกำหนดว่าอะไรเป็นเสียงในหูแบบเรื้อรัง เทียบกับประสบการณ์ที่มีตามธรรมชาติ ก็คือการมีเสียงในหูอย่างน้อย 5 นาทีอย่างน้อย 2 ครั้งต่ออาทิตย์ แต่ผู้ที่มีเสียงในหูเรื้อรังบ่อยครั้งก็ประสบปัญหาบ่อยกว่านี้ โดยอาจมีอย่างต่อเนื่องหรืออย่างเป็นปกติ เช่น ในเวลากลางคืนซึ่งเสียงในสิ่งแวดล้อมมีน้อยเกินที่จะกลบเสียงในหู

    โสตวิทยา

    เพราะผู้มีเสียงในหูโดยมากก็เสียการได้ยินด้วย การทดสอบด้วยเสียงสูงต่ำเดี่ยว ๆ (pure tone audiometry) แสดงเป็นกราฟการได้ยิน (audiogram) ก็อาจช่วยวินิจฉัยเหตุ ถึงแม้ก็มีผู้ที่ไม่เสียการได้ยินด้วยเหมือนกันที่มีเสียงในหู กราฟการได้ยินอาจช่วยให้ปรับเครื่องช่วยฟังสำหรับคนที่เสียการได้ยินอย่างสำคัญ โดยความทุ้มแหลมของเสียงในหูบ่อยครั้งจะอยู่ในพิสัยเดียวกับการได้ยินที่เสียไป

    จิตสวนศาสตร์

    ระดับความดังที่รู้สึกไม่สบาย (LDL) ของกลุ่มคนไข้ภาวะหูไวเกินที่ไม่เสียการได้ยิน (เส้นบน) ขีดเริ่มเปลี่ยนการได้ยินปกติ (เส้นล่างยาว) LDL ของคนไข้กลุ่มนี้ (เส้นล่างสั้น) LDL ของคนปกติ

    การวัดลักษณะต่าง ๆ ของเสียงในหูรวมความทุ้มแหลมหรือความถี่ถ้าเป็นเสียงในหูที่เป็นเสียงเดียว หรือเป็นพิสัยความถี่ในกรณีเป็นเสียงที่กระจายเป็นแถบความถี่, ความดังของเสียงเหนือขีดเริ่มได้ยินที่ความถี่นั้น ๆ (เป็นเดซิเบล), และระดับเสียงต่ำสุดที่จะกลบเสียงในหูนั้นได้เป็นต้น ในกรณีโดยมาก พิสัยความถี่ของเสียงในหูจะอยู่ในระหว่าง 5,000-10,000 เฮิรตซ์ และดังระหว่าง 5-15 เดซิเบลเหนือขีดเริ่มได้ยิน

    ตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างก็คือ residual inhibition ซึ่งเป็นการระงับหรือการหายไปอย่างชั่วคราวของเสียงในหูหลังจากใช้เสียงกลบ (masking) ระยะหนึ่ง เพราะค่าวัดนี้อาจบ่งชี้ว่า อุปกรณ์สร้างเสียงกลบจะมีประสิทธิภาพในการรักษาแค่ไหน

    แพทย์อาจจะประเมินว่ามีสภาวะไวเสียงเกิน (hyperacusis) ซึ่งบ่อย ๆ เกิดพร้อมกับเสียงในหูด้วยหรือไม่ สิ่งที่วัดก็คือ ระดับความดังที่รู้สึกไม่สบาย (LDL) โดยมีหน่วยเป็นเดซิเบล และเป็นระดับความดังเหนือขีดเริ่มเปลี่ยนของความถี่ต่าง ๆ ที่มนุษย์สามารถได้ยิน เป็นพิสัยความต่างระหว่างขีดเริ่มได้ยินที่ความถี่นั้น ๆ กับความดังที่ทำให้ไม่สบาย

    พิสัยความต่างที่แคบลงในพิสัยความถี่หนึ่ง ๆ เช่นนี้ สัมพันธ์กับสภาวะไวเสียงเกินที่เป็นอัตวิสัย ขีดเริ่มได้ยินปกติ โดยทั่วไปจะกำหนดเป็น 0–20 เดซิเบล ส่วนระดับความดังที่ทำให้รู้สึกไม่สบายปกติจะอยู่ที่ 85–90+ เดซิเบลโดยมีนักวิชาการที่อ้างค่าถึง 100 เดซิเบล พิสัยความต่างระหว่างระดับความดังที่ไม่สบายกับขีดเริ่มได้ยินที่ 55 เดซิเบลหรือน้อยกว่านั้นจัดว่า เป็นสภาวะไวเสียงเกิน

    ความรุนแรง

    ภาวะนี้บ่อยครั้งจัดระดับความรุนแรงเริ่มตั้งแต่ "เล็กน้อย" (slight) จนถึง "รุนแรงมาก" (catastrophic) ตามผลที่มันมี เช่น กวนการนอน กวนการพักผ่อน หรือกวนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ในกรณีสุด ๆ กรณีหนึ่ง ชายผู้หนึ่งฆ่าตัวตายหลังจากหมอบอกว่า รักษาให้หายไม่ได้

    การประเมินทางจิตวิทยารวมทั้งการวัดความรุนแรงของอาการและความทุกข์ที่เกิด (เช่น ลักษณะและความมากน้อยของปัญหาเนื่องกับเสียงในหู) ที่วัดโดยแบบคำถามซึ่งได้ประเมินความสมเหตุสมผลแล้ว แบบคำถามเหล่านี้วัดความทุกข์ทางใจและความพิการที่เกิดเนื่องจากเสียงในหู รวมทั้งผลต่อการได้ยิน วิถีชีวิต และจิตใจ อนึ่ง การประเมินการใช้ชีวิตทั่วไปรวมทั้งระดับความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ความเครียด สิ่งที่ทำให้เครียด และปัญหาการนอน ก็สำคัญในการประเมินอาการนี้ด้วย เพราะเสียงในหูอาจมีผลต่อปัญหาเหล่านี้ หรือปัญหาเหล่านี้อาจทำให้เสียงในหูแย่ลง

    โดยทั่วไปแล้ว การประเมินทั้งหมดก็เพื่อกำหนดระดับความทุกข์และการรบกวนชีวิตต่อบุคคล กำหนดการตอบสนองและการรับรู้/ความสำนึกต่อเสียงในหู เพื่อปรับวิธีการรักษาและการเฝ้าสังเกตผล อย่างไรก็ดี เพราะวิธีการประเมินผลที่ใช้ต่าง ๆ กัน บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกัน และไม่มีมติร่วมกัน ดังที่พบในวรรณกรรมการแพทย์ต่าง ๆ จึงทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิผลชอ วิธีการรักษาต่าง ๆ ได้

    แบบเป็นจังหวะ

    ถ้าแพทย์ตรวจพบเสียงที่เกิดจากเลือดที่ไหลอย่างปั่นป่วน (bruit) การตรวจโดยทำภาพเช่น transcranial doppler (TCD) หรือ magnetic resonance angiography (MRA) อาจจำเป็น

    การวินิจฉัยแยกโรค

    แหล่งเสียงอื่น ๆ ที่ฟังคล้ายกับเสียงในหูจะต้องกันออก แหล่งเสียงความถี่สูงที่รู้จักกันดีรวมทั้งสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดเนื่องกับสายไฟ ตลอดจนวิธีการส่งสัญญาณเสียงต่าง ๆ เรื่องที่มักวินิจฉัยผิดเพราะคล้ายเสียงในหูอย่างหนึ่งก็คือ เสียงคลื่นวิทยุ คือมีคนไข้ซึ่งตรวจพบว่าสามารถได้ยินคลื่นความถี่วิทยุที่มีเสียงแหลมและฟังคล้ายกับเสียงในหู

    การป้องกัน

    ป้ายเตือนให้ป้องกันหูตามกฎหมายของสหราชอาณาจักร

    การได้รับเสียงดังนาน ๆ อาจก่อเสียงในหู ดังนั้น การใช้อุปกรณ์อุดหูเป็นต้น ก็อาจช่วย

    ยาหลายอย่างมีพิษต่อหู โดยอาจเพิ่มความเสียหายที่เกิดจากเสียงดัง เมื่อใช้ยาที่เป็นพิษต่อหู ถ้าแพทย์ใส่ใจระมัดระวังการใช้ยา เช่น ขนาดและระยะระหว่างการได้ยา ก็จะสามารถลดความเสียหายได้

    การรักษา

    ถ้ามีเหตุที่เป็นมูลฐาน การรักษาเหตุอาจทำให้อาการดีขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว วิธีรักษาหลักจะเป็นการปรึกษาจิตแพทย์หรือคุยกับนักจิตวิทยา และการบำบัดด้วยเสียง (sound therapy) เพราะยังไม่มียาที่ได้ผล

    จิตวิทยา

    การรักษาที่มีหลักฐานดีสุดสำหรับเสียงในหูก็คือการบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งอาจทำได้ทางอินเทอร์เน็ตหรือตัวต่อตัว ซึ่งช่วยลดความเครียดเนื่องกับเสียงในหู โดยประโยชน์ที่ได้ดูเหมือนจะเป็นอิสระต่างหากกับผลการรักษาความซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล

    การรักษาด้วยการยอมรับและการให้สัญญา (ACT) ก็ดูเหมือนจะมีอนาคตในการรักษาอาการนี้ด้วย และเทคนิคการผ่อนคลายก็อาจมีประโยชน์

    กระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐ (VA) ได้พัฒนาระเบียบการรักษาอาการเสียงในหูที่เรียกว่า Progressive Tinnitus Management

    ยา

    จนถึงปี 2014 ยังไม่มียาที่ได้ผลต่อเสียงในหูที่ไม่ทราบสาเหตุ ประโยชน์ของยาแก้ซึมเศร้าก็ยังไม่มีหลักฐานพอ หรือของ acamprosate (ซึ่งปกติใช้รักษาการติดเหล้า) แม้จะมีหลักฐานบ้างสำหรับยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน แต่ก็ยังไม่พอเพื่อให้ใช้ยากันชักไม่ปรากฏว่ามีประโยชน์ การฉีดสเตอรอยด์เข้าในหูชั้นกลางก็ดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิผลด้วย

    การลองฉีดชีวพิษโบทูลินัมดูเหมือนจะประสบความสำเร็จบ้างในกรณีที่มีเสียงในหูแบบมีเสียงจริงโดยมีเหตุจากเพดานปากสั่นซึ่งเกิดน้อยมาก

    ยา caroverine ก็ใช้ด้วยในประเทศไม่กี่ประเทศเพื่อรักษาอาการนี้ แต่หลักฐานแสดงประสิทธิผลของยาก็อ่อนมาก

    การรักษาวิธีอื่น ๆ

    เครื่องช่วยฟังหรืออุปกรณ์สร้างเสียงกลบ ช่วยให้ไม่สนใจเสียงในหูที่ความถี่โดยเฉพาะ ๆ แม้จะเป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีหลักฐาน แต่ก็ไม่มีผลเสีย

    มีหลักฐานเบื้องต้นสนับสนุนการรักษาโดย tinnitus retraining therapy บ้าง ส่วนการกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกด้วยแม่เหล็ก มีหลักฐานสนับสนุนน้อยมาก ดังนั้น จึงไม่แนะนำ

    โดยปี 2017 neurofeedback ยังมีหลักฐานจำกัดว่ามีผลดีหรือไม่

    ยาสมุนไพร

    แปะก๊วย (Ginkgo biloba) ดูจะไม่มีผลวิทยาลัยแพทย์หูคอจมูกอเมริกัน แนะนำไม่ให้ใช้อาหารเสริมคือเมลาโทนินหรือสังกะสีเพื่อบรรเทาอาการ อนึ่ง งานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเคลนปี 2016 สรุปว่า หลักฐานไม่พอให้ทานอาหารเสริมคือสังกะสีเพื่อบรรเทาอาการที่เนื่องกับเสียงในหู

    พยากรณ์โรค

    แม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้ ผู้ที่มีเสียงในหูปกติจะชินไปเอง คนไข้ส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

    ความระบาด

    ผู้ใหญ่

    เสียงในหูเกิดในประชากรร้อยละ 10–15% คนอเมริกาเหนือ 1/3 ประสบกับอาการนี้ อาการจะเกิดกับผู้ใหญ่ 1/3 ในช่วงชีวิต โดยเทียบกับ 10-15% ในบรรดาคนเหล่านี้ผู้มีปัญหาพอเพื่อไปหาหมอ

    เด็ก

    เสียงในหูเชื่อว่า เป็นอาการในผู้ใหญ่ ดังนั้น บ่อยครั้งจึงมองข้ามในเด็ก เด็กที่เสียการได้ยินบ่อยครั้งจะมีเสียงในหู แม้จะไม่สามารถบอกว่ามี หรือว่ามีผลอย่างไรต่อชีวิต เด็กโดยทั่วไปจะไม่บอกอาการนี้เอง ดังนั้นถ้าบอกเอง ผู้ใหญ่อาจจะไม่ค่อยฟัง

    เด็กที่บอกว่ามีเสียงในหู จะมีโอกาสสูงขึ้นในการมีโรคทางหูหรือทางประสาทที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ไมเกรน โรคเมนิแยร์วัยเด็ก และหูชั้นกลางอักเสบแบบมีหนองเรื้อรัง เด็กที่มีขีดเริ่มได้ยินปกติมีความชุกโรคระหว่าง 12-36% และในเด็กที่เสียการได้ยิน 66% โดยเด็ก 3–10% จะบอกว่าเสียงรบกวนชีวิต

    ดูเพิ่ม

    • Snow, JB Jr. (2008). Dallos, Peter; Oertel, Donata (บ.ก.). 3.18 Tinnitus. The Senses: A Comprehensive Reference. Vol. 3: Audition. Elsevier. pp. 301–308.

    แหล่งข้อมูลอื่น

    การจำแนกโรค
    ทรัพยากรภายนอก

    Новое сообщение