Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

โรคไซโคลไทเมีย

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
โรคไซโคลไทเมีย
(Cyclothymia)
ชื่ออื่น Cyclothymic disorder
Bipolar mood shifts.png
กราฟทำให้ง่ายที่แสดงอารมณ์ของคนไข้โรคไซโคลไทเมียเทียบกับโรคอารมณ์สองขั้วและโรคซึมเศร้า เส้นเขียวแสดงอารมณ์ของคนทั่วไป เส้นน้ำเงินของคนไข้โรคซึมเศร้าขั้วเดียว เส้นม่วงอ่อนของโรคอารมณ์สองขั้วประเภท 1 เส้นม่วงกลางของโรคอารมณ์สองขั้วประเภท 2 และเส้นม่วงเข้มของโรคไซโคลไทเมีย แกนนอนแสดงระยะเวลาที่เกิดอารมณ์ แกนตั้งแสดงอารมณ์ บนสุดสีแดงเข้มเป็นอาการฟุ้งพล่านบริบูรณ์ ต่อจากบนสุดสีแดงอ่อนเป็นอาการเกือบฟุ้งพล่าน ล่างสุดสีเขียวเป็นอาการซึมเศร้า คราวเกิดอาการของโรคนี้ไม่สามารถจัดเป็นคราวซึมเศร้า คราวฟุ้งพล่าน และคราวเกือบฟุ้งพล่านที่เกิดในโรค 3 อย่างอื่น ๆ ได้ เช่น เกิดอารมณ์ซึมเศร้าไม่ถึง 2 อาทิตย์ เกิดอาการเกือบฟุ้งพล่านไม่ถึง 4 วันเป็นต้น
สาขาวิชา จิตเวช จิตวิทยาคลินิก
อาการ ระยะที่มีอารมณ์ซึมเศร้าและอารมณ์ครึ้ม
ภาวะแทรกซ้อน ฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
สาเหตุ ไม่ชัดเจน
ปัจจัยเสี่ยง ประวัติในครอบครัว
โรคอื่นที่คล้ายกัน โรคอารมณ์สองขั้ว ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง โรคใช้สารเสพติด (SUD)
การรักษา จิตบำบัด ยา
ความชุก 0.4-1% ตลอดชีวิต

โรคไซโคลไทเมีย (cyclothymia, cyclothymic disorder) หรือแปลตรง ๆ ว่า โรคอารมณ์หมุนเวียน เป็นความผิดปกติทางจิตใจอย่างหนึ่งที่มีระยะอาการซึมเศร้าและระยะอาการฟุ้งพล่านน้อย ๆ (hypomania) เป็นจำนวนมาก แต่อาการไม่ผ่านเกณฑ์เป็นคราวซึมเศร้า (major depressive episode) หรือคราวเกือบฟุ้งพล่าน (hypomanic episode) แบบเต็มตัว อาการต้องมีนานกว่า 2 ปีในผู้ใหญ่และ 1 ปีในเด็กและวัยรุ่น

เหตุของโรคไม่ชัดเจน ปัจจัยเสี่ยงรวมการมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว โรคนี้ต่างกับโรคอารมณ์สองขั้วตรงที่ว่าคราวซึมเศร้า คราวฟุ้งพล่าน หรือคราวเกือบฟุ้งพล่านเต็ม ๆ ยังไม่เคยเกิด

โรคปกติรักษาด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำกับคนไข้ (counselling) และยาปรับอารมณ์ให้เสถียร (mood stabilizer) เช่น ลิเทียม ประเมินว่า คน 0.4-1% มีโรคนี้ช่วงหนึ่งในชีวิต โรคปกติจะเริ่มในปลายวัยเด็กจนถึงต้นวัยผู้ใหญ่หญิงและชายมีโรคเท่า ๆ กัน

อาการ

คนไข้ประสบกับทั้งระยะซึมเศร้าและระยะเกือบฟุ้งพล่าน (ซึ่งรุนแรงน้อยกว่าคราวเกือบฟุ้งพล่านแบบเต็ม ๆ) อาการซึมเศร้าและฟุ้งพล่านในคนไข้จะคงยืนเป็นเวลาต่าง ๆ กันเพราะโรคจะไม่เสถียรและไวปฏิกิริยา ระยะซึมเศร้าจะคล้ายกับที่พบในโรคซึมเศร้า มีอาการเป็นความคิดและความรู้สึกที่ไร้ชีวิตชีวา และไม่ต้องการเข้าสังคมหรือทำอะไร ๆ ที่ต้องคิด คนไข้มักล้า นอนบ่อย และนอนนาน แต่คนไข้คนอื่น ๆ ก็อาจนอนไม่หลับ

อาการอื่น ๆ ในด้านซึมเศร้าอาจรวมความไม่สนใจผู้อื่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยสำคัญมาก ความซึมเศร้ายังทำให้ตัดสินใจได้ยาก อนึ่ง คนไข้มักบ่นและตำหนิ ความคิดฆ่าตัวตายเป็นเรื่องสามัญแม้ในโรครูปแบบอ่อน ๆ เมื่อซึมเศร้า คนไข้อาจบ่นเรื่องปัญหาทางกายอื่น ๆ รวมทั้งปวดหัว แน่นศีรษะและหน้าอก หัวรู้สึกโล่ง ๆ อ่อนล้า น้ำหนักลด และผมร่วง ข้อแตกต่างระหว่างความซึมเศร้าธรรมดากับโรคนี้ก็คือ คนไข้โรคนี้มักมีอาการเกือบฟุ้งพล่านด้วย

คนไข้อาจเปลี่ยนจากภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะฟุ้งพล่านไปเฉย ๆ ทั้งช่วงเวลาและความบ่อยของระยะทั้งสองเอาแน่เอานอนไม่ได้ ในภาวะเกือบฟุ้งพล่าน คนไข้จะคิดได้เร็วกว่า มักเข้าสังคมกว่า และคุยมากกว่า อาจใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง ทำอะไรไม่คิด ภูมิใจในตนเองมากขึ้น หยิ่งยโสมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับภาวะฟุ้งพล่านปกติในโรคอารมณ์สองขั้วประเภทที่ 1 อาการในระยะฟุ้งพล่านของโรคนี้จะรุนแรงน้อยกว่า

โรคที่เกิดร่วม (comorbidities)

โรคนี้เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ อย่างสามัญ คนไข้โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคที่เกี่ยวข้องกันอื่น ๆ ประมาณ 30-50% ก็มีโรคนี้ด้วย เมื่อคนไข้โรคนี้ไปหาแพทย์ มักจะเป็นเพราะอาการของโรคที่เป็นร่วม ไม่ใช่เพราะโรคนี้

ในเด็กและวัยรุ่น โรคเกิดร่วมซึ่งสามัญที่สุดคือโรควิตกกังวล ปัญหาการยับยั้งชั่งใจ โรคการกิน (eating disorder) และโรคซนสมาธิสั้น (ADHD) ในผู้ใหญ่ โรคมักเกิดร่วมกับปัญหาการยับยั้งชั่งใจ พฤติกรรมเที่ยวหาความสุขความตื่นเต้นมักจะเกิดในระยะฟุ้งพล่าน บ่อยครั้งรวมการพนันและการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ยับยั้งชั่งใจในชาย และการซื้อของและการกินไม่ยั้งในหญิง

โรคมักจะสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้านอกแบบ (atypical depression) งานศึกษาหนึ่งพบความสัมพันธ์ระหว่างความไวเรื่องในระหว่างบุคคล (interpersonal sensitivity) กับอารมณ์ที่ดีขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดีหรือที่อาจดี (mood reactivity) และกับอารมณ์สลับกันอันเป็นอาการของโรค ซึ่งล้วนก็เป็นอาการของโรคซึมเศร้านอกแบบ (ปัจจุบัน DSM-5 จัดเป็นโรคซึมเศร้าที่ระบุว่ามีลักษณะนอกแบบ คือ atypical features\) โรคยังมักเกิดพร้อมกับความวิตกกังวลเหตุจากกัน (separation anxiety) เมื่อคนไข้วิตกกังวลเพราะจากกับผู้ดูแล กับเพื่อน หรือกับบุคคลที่รัก ปัญหาอื่น ๆ ที่มักเกิดร่วมรวมทั้งความวิตกกังวลในการเข้าสังคม กลัวคนอื่นไม่ยอมรับ และมักไม่เป็นมิตรกับบุคคลที่ในอดีตทำให้เจ็บหรือไม่ยอมรับ คนไข้โรคนี้มักหาเพื่อนในระยะฟุ้งพล่านและมักปลีกตัวในระยะซึมเศร้า ซึ่งทั่วไปจะทำให้มีความสัมพันธ์แบบสั้น ๆ และอลวน

Causes & Genetic Relationships

เหตุและพันธุกรรม

เหตุของโรคอารมณ์สองขั้วแบบต่าง ๆ รวมทั้งโรคนี้น่าจะต่าง ๆ กันระหว่างบุคคล และกลไกของโรคที่แน่นอนก็ยังไม่ชัดเจนยีนเชื่อว่ามีอิทธิพล 60-80% ต่อความเสี่ยงการเกิดโรคอารมณ์สองขั้วซึ่งแสดงว่ากรรมพันธุ์เป็นองค์ที่สำคัญ ความสืบทอดได้ทางกรรมพันธุ์ของโรคสเปกตรัมอารมณ์สองขั้ว (bipolar spectrum disorder) ประเมินว่าอยู่ที่ 0.71

ญาติสายโลหิตที่ใกล้ชิด (พ่อแม่ลูก) ของคนไข้โรคนี้มีโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้วประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 บ่อยครั้งกว่าคนทั่วไป สมาชิกในครอบครัวยังเสี่ยงมีโรคเกี่ยวกับยาเสพติด (substance-related disorders) สูงกว่า พ่อแม่ลูกของคนไข้โรคอารมณ์สองขั้วประเภทที่ 1 มีโอกาสมีโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัย

คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตรุ่น 5 (DSM-5) จัดโรคนี้เป็นแบบย่อยของโรคอารมณ์สองขั้ว เกณฑ์วินิจฉัยคือ

  1. มีระยะที่มีอารมณ์ครึ้มและระยะที่มีอาการซึมเศร้าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาสำหรับผู้ใหญ่และ 1 ปีสำหรับเด็กและวัยรุ่น
  2. ระยะที่อารมณ์เสถียรคงยืนแค่สองเดือนเป็นอย่างมาก
  3. อาการเป็นปัญหาในชีวิตในด้านหนึ่งหรือยิ่งกว่า
  4. อาการไม่ผ่านเกณฑ์โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า และความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ
  5. อาการไม่มีเหตุจากการใช้ยาเสพติดหรือจากโรคหรืออาการอื่น ๆ

นักวิชาการบางพวกคิดว่า เกณฑ์วินิจฉัยโรคของ DSM-5 จำกัดเกินไป จึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคน้อยเกินไป คนที่มีอาการบางอย่างของโรคอาจไม่ได้การรักษาเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ของ DSM-5 อนึ่ง มันทำให้สนใจโรคซึมเศร้าและโรคสเปกตรัมอารมณ์สองขั้วอื่น ๆ มากขึ้นเพราะเมื่อไม่ผ่านเกณฑ์ของโรคนี้ ก็มักวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์สองขั้วแบบอื่น ๆ การวินิจฉัยไม่ถูกต้องอาจทำให้คนไข้ได้การรักษาของโรคที่เกิดร่วมอื่นแทนที่จะรักษาโรคนี้ด้วย คนไข้และแพทย์พยาบาลบ่อยครั้งไม่สำนึกว่าคนไข้มีโรคนี้เพราะมีอาการอ่อนมาก

อนึ่ง โรคยังระบุและจัดหมวดได้ยาก โรคนี้บ่อยครั้งวินิจฉัยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วแบบ "bipolar not otherwise specified" เพราะความไม่เห็นพ้องต้องกันหรือความเข้าใจผิดของแพทย์พยาบาล โรคมักสับสนกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD) เพราะมีอาการคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะคนไข้ปลายวัยรุ่นและต้นวัยผู้ใหญ่ คนไข้โดยมากมักไปหาหมอเพราะอาการซึมเศร้า โดยไม่สำนึกว่าอาการเกือบฟุ้งพล่านก็ผิดปกติด้วย อาการฟุ้งพล่านเบา ๆ มักตีความว่าเป็นบุคลิกภาพ หรือเป็นแค่อารมณ์ดี อนึ่ง โรคนี้บ่อยครั้งปรากฏตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่น ทำให้แยกแยะเป็นอาการของโรคหรือเป็นบุคลิกภาพได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น บุคคลอาจคิดว่าเป็นทุกข์เพราะอารมณ์แปรปรวนโดยไม่รู้ว่า นี่เป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่ง

การรักษา

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) จัดว่า อาจมีผลดีสำหรับคนไข้โรคนี้ ยังสามารถใช้ยาเพิ่มนอกเหนือจากการบำบัดพฤติกรรม แต่ก็ควรใช้ยาปรับอารมณ์ให้เสถียร (mood stabilizer) ก่อนยาแก้ซึมเศร้า และถ้าใช้ยาแก้ซึมเศร้า ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจชักนำให้เกิดภาวะเกือบฟุ้งพล่านหรืออารมณ์สลับอย่างรวดเร็ว

ประวัติ

ในปี 1883 จิตแพทย์ชาวเยอรมัน Karl Ludwig Kahlbaum ระบุโรคที่มีอาการเป็นอารมณ์หมุนเวียนซึ่งเกิดซ้ำ ๆ โรคมีทั้งระยะซึมเศร้าและระยะฟุ้งพล่านโดยมีอาการอ่อนกว่าที่พบในโรคอารมณ์สองขั้ว หมอและลูกศิษย์ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชาวเยอรมันอีกท่านคือ Ewald Hecker ได้บัญญัติชื่อโรคว่า cyclothymia หมอพัฒนาทฤษฎีโรคจากงานที่ทำกับคนไข้ผู้มีอาการดังกล่าว หมอมีชื่อว่าเป็นนักสะกดจิตบำบัดและนักจิตบำบัดชั้นนำในสมัยนั้น มีความคิดก้าวหน้าในเรื่องสุขภาพจิต โดยเชื่อว่า ความเจ็บป่วยทางจิตใจไม่ควรเป็นมลทินทางสังคมและควรปฏิบัติกับคนไข้ผู้มีปัญหาทางจิตใจอย่างเมตตากรุณา หมอเป็นคนแรกที่เขาใจว่า คนไข้โรคนี้ปกติไม่ไปหาแพทย์เพราะโรคมีอาการอ่อน

โรคมองได้หลายรูปแบบรวมทั้งเป็นรูปแบบย่อยของโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament) เป็นลักษณะทางบุคลิกภาพ (personality trait) และเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ มีการเสนอด้วยว่าควรจัดเป็นความผิดปกติของพัฒนาการทางประสาท (neurodevelopmental disorder) ตาม DSM-5 ลักษณะสองอย่างของโรคนี้ก็คือการมีระยะซึมเศร้าและระยะเกือบฟุ้งพล่าน และยังจัดเป็นรูปแบบย่อยของโรคอารมณ์สองขั้ว แต่นักวิชาการบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยและอ้างว่า มันควรจัดโดยหลักเป็นอารมณ์เกินส่วน (exaggeration of mood) และเป็นอารมณ์ไม่เสถียร (emotional instability) ในอดีต โรคเคยระบุว่ามีอาการอื่น ๆ เช่น อารมณ์ที่ดีขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดีหรืออาจดี (mood reactivity) ความไม่ยับยั้งชั่งใจ (impulsivity) และความวิตกกังวล

วิทยาการระบาด

โรคนี้ซึ่งเรียกใน DSM-5 ว่าเป็น cyclothymic disorder มักจะวินิจฉัยน้อยเกินเพราะอาการไม่รุนแรง อัตราการเกิดโรคยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด งานศึกษาบางงานประเมินว่า คนประมาณ 5-8% จะเกิดโรคในช่วงชีวิตเทียบกับงานศึกษาอื่น ๆ ที่ระบุอัตราระหว่าง 0.4-2.5% ชายเป็นเท่ากับหญิง แต่หญิงมีโอกาสได้การรักษามากกว่า คนไข้ที่มีอาการซึมเศร้าในแผนกผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลทางจิตเวช 50% ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้

รากศัพท์

คำว่า cyclothymia มาจากคำภาษากรีกว่า κυκλοθυμία (จากคำว่า κῦκλος คือ kyklos แปลว่า หมุนรอบ/วน และจากคำว่า θυμός คือ thymos แปลว่า อารมณ์) ดังนั้น จึงหมายความว่า "หมุนเวียนหรือหมุนรอบอารมณ์ต่าง ๆ"

งานวิจัย

ประเด็นว่าแบบย่อย ๆ ของโรคอารมณ์สองขั้วเช่นโรคนี้ เป็นโรคต่างหาก ๆ หรือเป็นสเปกตรัมของโรคอารมณ์สองขั้ว ยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ โรคนี้มักไม่กล่าวถึงในงานวิจัยและไม่ค่อยวินิจฉัย จึงทำให้แพทย์พยาบาลไม่ค่อยเข้าใจโรคนี้ การไม่กล่าวถึงในสถานการณ์ทั้งสองเช่นนี้แสดงว่า คงจะวินิจฉัยโรคเป็นความผิดปกติทางอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง หรือเป็นโรคทางจิตเวชที่ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ (non-affective psychiatric disorder) หรือไม่ก็ไม่ได้รับความสนใจทั้งทางวิทยาศาสตร์และการตรวจรักษา ซึ่งอาจเป็นเพราะเกณฑ์วินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือเพราะลักษณะของโรคยังเป็นเรื่องไม่ลงตัว อนึ่ง เกณฑ์วินิจฉัยปัจจุบันเน้นความคงยืนของอาการ จึงแสดงว่ามันเป็นลักษณะที่คงยืน ไม่ใช่ภาวะทางจิตใจ และดังนั้น จึงอ้างว่า ควรวินิจฉัยเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพแทน เนื่องจากอาการมักจะคาบเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ ความสมเหตุสมผลและความแตกต่างระหว่างหมวดวินิจฉัยสองอย่างนี้จึงยังเป็นเรื่องถกเถียง

ท้ายสุด เพราะโรคมักเกิดร่วมกับความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ จึงทำให้วินิจฉัยได้ยาก ปัญหาเหล่านี้จึงทำให้นักวิชาการและแพทย์ผู้รักษาไม่เห็นพ้องกันในเรื่องนิยามของโรคและความสัมพันธ์ของมันกับความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ ความไม่เห็นพ้องในเรื่องนิยามเชิงปฏิบัติการ (operational definition) และอาการแสดง จะปรากฏเด่นเป็นพิเศษในเด็กและวัยรุ่น เพราะเกณฑ์วินิจฉัยยังไม่ได้ปรับใช้กับระดับพัฒนาการของเด็ก ๆ อย่างเพียงพอ

ดูเพิ่ม

  • American Psychiatric Association (2013), "Cyclothymic Disorder", Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (5th ed.), Arlington: American Psychiatric Publishing, pp. 139–141, ISBN 978-0890425558
  • Sadock, Benjamin; Sadock, Virginia; Ruiz, Pedro, บ.ก. (2017). "13. Mood Disorders". Kaplan and Sadock's Comprehensive Textbook of Psychiatry (10th ed.). New York: Wolters Kluwer.

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค

Новое сообщение