Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ไคโรแพรกติก

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ไคโรแพรกติก
การแพทย์ทางเลือก
นักไคโรแพรกติกกำลังจัดกระดูกสันหลัง
นักไคโรแพรกติกกำลังจัดกระดูกสันหลัง
ข้อกล่าวอ้าง ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน,
การจัดกระดูกสันหลัง,
เชาวน์ปัญญาโดยกำเนิด
ความเสี่ยง การฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงเวอร์ทีบรอล (สโตรก),
กระดูกสันหลังหักเหตุอัด (vertebral compression fracture),
ความตาย
สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ออสทีโอพาธี, ชีวิตนิยม
ผู้สนับสนุนดั้งเดิม แดเนียล เดวิด พาลเมอร์ (Daniel David Palmer)
ผู้สนับสนุนต่อมา บี. เจ. พาลเมอร์ (B. J. Palmer)
MeSH D002684

ไคโรแพรกติก หรืออาจเรียกว่า การนวดจัดกระดูก หรือ การจัดกระดูก เป็นการแพทย์ทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสนใจถึงการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันความผิดปกติเชิงกล (physical disorder) ในระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกมนุษย์ (Human musculoskeletal system) โดยเฉพาะในกระดูกสันหลัง การแพทย์ทางเลือกนี้มีต้นกำเนิดแบบคุยหลัทธิตะวันตก (Western esotericism) และมีรากฐานอยู่บนหลายแนวคิดที่เป็นแนววิทยาศาสตร์เทียม

นักไคโรแพรกติก หลายคนโดยเฉพาะในประวัติศาสตร์เริ่มแรกของการแพทย์ทางเลือกสาขานี้ เสนอว่าความผิดปกติเชิงกลของข้อต่อโดยเฉพาะที่อยู่ในกระดูกสันหลังสามารถส่งผลต่อสุขภาพทั่วไป และการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังทั่วไป (Spinal manipulation) (การจัดกระดูกสันหลัง (spinal adjustment)) สามารถส่งเสริมสุขภาพทั่วไปได้ กลวิธีการรักษาแบบไคโรแพรกติก (Chiropractic treatment techniques) หลัก ๆ แล้วประกอบด้วยการบำบัดด้วยมือ (manual therapy) โดยเฉพาะการจัดดัดดึงกระดูดสันหลัง ข้อต่ออื่น ๆ และเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue) แต่ก็อาจรวมถึงการออกกำลังกายและการให้คำปรึกษาเรื่องวิถีชีวิตและสุขภาพด้วย นักไคโรแพรกติกอาจถือใบปริญญาดอกเตอร์อ็อฟไคโรแพรกติก (D.C.) และอาจถูกเรียกว่า "แพทย์" แต่มิใช่แพทยศาสตรบัณฑิต (M.D.) ในขณะที่นักไคโรแพรกติกหลายคนมองตนเองเป็นผู้ให้บริการปฐมภูมิ (primary care) การฝึกทักษะทางคลินิกสำหรับไคโรแพรกติกไม่สนองกับข้อกำหนดสำหรับตำแหน่งนั้น

การปริทัศน์เป็นระบบของงานศึกษาทางคลินิกแบบมีกลุ่มควบคุมถึงวิธีการรักษาที่นักไคโรแพรกติกใช้ไม่พบหลักฐานว่าการจัดกระดูกสันหลังแบบไคโรแพรกติกมีประสิทธิศักย์ (efficacy) โดยอาจมีข้อยกเว้นสำหรับการรักษาอาการปวดหลัง การประเมินเชิงวิพากษ์ของการปริทัศน์เป็นระบบจำนวน 45 ฉบับใน ค.ศ. 2011 พบว่าการจัดกระดูกสันหลังไม่มีประสิทธิผลในการรักษาอาการใด ๆ การจัดกระดูกสันหลังอาจมีประสิทธิผลต่อต้นทุน (Cost-effectiveness analysis) สำหรับอาการปวดหลังเรื้อรังหรือกึ่งเฉียบพลัน แต่ผลลัพธ์สำหรับอาการปวดหลังเฉียบพลันมีไม่เพียงพอ ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ชี้ว่าการดูแลแบบไคโรแพรกติกเพื่อบำรุงรักษาสามารถป้องกันอาการหรือโรคใด ๆ ได้อย่างเพียงพอ

ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินความปลอดภัยของการจัดดัดดึงแบบไคโรแพรกติกได้ มักมีความสัมพันธ์กับอาการไม่พึงประสงค์ (adverse effect) ระดับอ่อนถึงปานกลาง และในกรณีหายากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือถึงตาย ระดับความเสี่ยงของการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงเวอร์ทีบรอล (Vertebral artery dissection) ที่เกิดจากการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอ (neck manipulation) ซึ่งอาจนำไปสู่สโตรกและความตายยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ ความตายหลายกรณีมีความเกี่ยวโยงกับเทคนิคนี้ และมีผู้เสนอว่ามีความสัมพันธ์แบบก่อเหตุ (causative) อยู่ ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่นักไคโรแพรกติกหลายคนไม่เห็นด้วย

ไคโรแพรกติกมีรากฐานดีแล้วในสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย มีความทับซ้อนกับวิชาชีพการบำบัดด้วยมือสาขาอื่น ๆ เช่นออสทีโอพาธี (Osteopathy) และกายภาพบำบัด ผู้คนส่วนใหญ่ที่หาการดูแลแบบไคโรแพรกติกเป็นเพราะอาการปวดหลังส่วนล่าง อาการปวดหลังและคอถือว่าเป็นความชำนาญของไคโรแพรกติก แต่นักไคโรแพรกติกหลายคนให้การรักษาอาการอื่นนอกเหนือจากด้านกล้ามเนื้อและโครงกระดูกด้วย ไคโรแพรกติกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ กล่าวคือกลุ่ม "straights" (โดยตรง) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนน้อย ซึ่งให้ความสำคัญกับชีวิตนิยม (vitalism) "เชาวน์ปัญญาโดยกำเนิด" (innate intelligence) และถือว่าภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน (Vertebral subluxation) เป็นเหตุของโรคทั้งมวล กับกลุ่ม "mixers" (ผสม) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเปิดรับกับมุมมองกระแสหลักและกลวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า เช่นการออกกำลังกาย การนวด และการบำบัดด้วยน้ำแข็ง (ice pack therapy)

ดี. ดี. พาลเมอร์ (Daniel David Palmer) ก่อตั้งไคโรแพรกติกในคริสต์ทศวรรษ 1890 หลังจากกล่าวว่าเขาได้รับมันมาจาก "ต่างโลก" พาลเมอร์ยืนยันว่าเขาได้รับหลักความเชื่อของไคโรแพรกติกมากจากหมอคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปแล้วห้าสิบปีก่อนหน้า บุตรชายของเขาบี. เจ. พาลเมอร์ (B. J. Palmer) ช่วยขยายไคโรแพรกติกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ของไคโรแพรกติกมีข้อถกเถียงอยู่เสมอ (Chiropractic controversy and criticism) รากฐานของการแพทย์ทางเลือกสาขานี้ขัดแย้งกับเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน และถูกค้ำจุนด้วยแนวคิดวิทยาศาสตร์เทียมอย่างเช่นภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนและเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิด แม้มีหลักฐานล้นหลามว่าการให้วัคซีนเป็นการแทรกแซงทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิผล แต่มีความไม่เห็นพ้องกันอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางหมู่นักไคโรแพรกติกในประเด็นนี้ ซึ่งนำไปสู่ผลเชิงลบทั้งต่อการให้วัคซีนสู่สาธารณะและความยอมรับในไคโรแพรกติกในกระแสหลักสมาคมการแพทย์อเมริกันเรียกไคโรแพรกติกว่าเป็น "ลัทธิไม่เป็นวิทยาศาสตร์" ใน ค.ศ. 1966 และคว่ำบาตรมันจนกระทั่งแพ้คดีต่อต้านการผูกขาดเมื่อ ค.ศ. 1987 (Wilk v. American Medical Association) ไคโรแพรกติกมีฐานการเมืองที่เข้มแข็งและความต้องการบริการของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้รับความชอบธรรมและความยอมรับมากยิ่งขึ้นจากแพทย์แผนปัจจุบันและประกันสุขภาพในสหรัฐ (Health insurance in the United States) ในช่วงของการระบาดทั่วของโควิด-19 หลายสมาคมวิชาชีพไคโรแพรกติกแนะนำให้นักไคโรแพรกติกยึดตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานอนามัยท้องถิ่น แต่แม้จะมีคำแนะนำเหล่านี้ นักไคโรแพรกติกจำนวนน้อยแต่มีปากเสียงและมีอิทธิพลได้แพร่กระจายข้อมูลผิดเกี่ยวกับวัคซีน (vaccine misinformation)

พื้นฐานแนวคิด

ปรัชญา

ไคโรแพรกติกมักถูกจัดประเภทเป็นการแพทย์ทางเลือกและผสมผสาน ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดดัดดึงระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกมนุษย์โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ผู้ก่อตั้งดี. ดี. พาลเมอร์ เรียกมันว่าเป็น "ศาสตร์ของการรักษาโดยไม่ใช้ยา"

ต้นกำเนิดของไคโรแพรกติกอยู่ในการจัดกระดูก (Traditional bone-setting) แบบการแพทย์ดั้งเดิม (traditional medicine) และเมื่อมันวิวัฒนาการต่อมาก็รวมเข้ากับชีวิตนิยม การดลใจจากจิตวิญญาณ (spirituality) และเหตุผลนิยม ปรัชญาแรกเริ่มมีรากฐานเป็นการนิรนัยจากลัทธิที่หักล้างไม่ได้ (dogma) ซึ่งอำนวยให้สามารถแยกแยะไคโรแพรกติกออกจากการแพทย์ได้ ซึ่งให้ข้อแก้ตัวทางกฎหมายและทางการเมืองสำหรับการปฏิบัติทางการแพทย์แบบไม่มีใบอนุญาตได้ และทำให้นักไคโรแพรกติกสามารถสถาปนาพวกตนเป็นวิชาชีพอิสระได้ ปรัชญา "straight" (โดยตรง) นี้ซึ่งถูกสอนให้แก่นักไคโรแพรกติกหลายรุ่นปฏิเสธการให้เหตุผลแบบอนุมานของระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ และพึ่งพาการนิรนัยจากหลักการแรกเชิงชีวิตนิยมแทนวัตถุนิยมของวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นักไคโรแพรกติกส่วนใหญ่มักนำเอาการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์มาใช้ในไคโรแพรกติก และนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นแบบ "mixers" (ผสม) ซึ่งพยายามผสมผสานคตินิยมลดทอน (reductionism) แบบวัตถุนิยมของวิทยาศาสตร์เข้ากับอภิปรัชญาของบรรพบุรุษของพวกเขาและกระบวนทัศน์แบบองค์รวมเกี่ยวกับสุขภาวะ (Holistic medicine) บทวิจารณ์จาก ค.ศ. 2008 เสนอให้ไคโรแพรกติกแยกตัวออกห่างจากปรัชญาโดยตรงอย่างเชิงรุกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อขจัดทิ้งสิทธันต์ที่ทดสอบไม่ได้ (testability) และเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์และการวิจัยอิงหลักฐาน

แม้ว่าท่ามกลางนักไคโรแพรกติกจะมีความคิดที่หลากหลาย แต่พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่ากระดูกสันหลังและสุขภาพนั้นมีความสัมพันธ์กันโดยพื้นฐาน และความสัมพันธ์นี้มีสื่อกลางเป็นระบบประสาท นักไคโรแพรกติกบางคนอ้างว่าการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังสามารถส่งผลต่อความเจ็บป่วยได้หลากหลาย ซึ่งรวมถึงกลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้นและโรคหืด

ปรัชญาไคโรแพรกติกประกอบไปด้วยมุมมองดังต่อไปนี้:

ระบบความเชื่อของไคโรแพรกติกทั้งสองแบบจะสร้าง
หลักการที่ทดสอบได้ อุปลักษณ์ที่ทดสอบไม่ได้
การจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก

การฟื้นฟูบูรณภาพเชิงโครงสร้าง

การปรับปรุงสถานะของสุขภาพ

เชาวน์ปัญญาสากล

เชาวน์ปัญญาโดยกำเนิด

สรีรวิทยาของร่างกาย

วัตถุนิยม: ชีวิตนิยม:
  • สามารถให้นิยามการปฏิบัติการได้
  • เหมาะสมสำหรับการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์
  • ต้นกำเนิดของคติองค์รวมในไคโรแพรกติก
  • ไม่สามารถพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จได้
นำมาจาก Mootz & Phillips 1997

คติองค์รวม (Holism) สมมุติว่าสุขภาพนั้นได้รับผลกระทบจากทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัวคน ๆ หนึ่ง บางแหล่งอาจรวมถึงภพของวิญญาณหรือภพของอัตถิภาวะด้วย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับคติลดทอน ซึ่งในไคโรแพรกติกคือการลดทอนให้ต้นเหตุและการรักษาปัญหาทางสุขภาพกลายเป็นปัจจัยอันหนึ่งอันเดียว กล่าวคือภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนภาวะธำรงดุลจะเป็นการเน้นถึงความสามารถในการรักษาตนเองที่มีอยู่แล้วภายในร่างกาย เราสามารถมองแนวคิดว่าด้วยเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิดแบบแรก ๆ ของไคโรแพรกติกได้ว่าเป็นอุปลักษณ์ของภาวะธำรงดุล

นักไคโรแพรกติกหลายคนกังวลว่าหากพวกเขาไม่แยกตัวออกห่างจากมโนทัศน์เชิงชีวิตนิยมตามดั้งเดิมเรื่องเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิดแล้ว ไคโรแพรกติกจะยังคงถูกมองเป็นวิชาชีพชายขอบต่อไป ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีไคโรแพรกติกอีกชนิดหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่เมืองชิคาโกนามว่าแนแปรพาธี (naprapathy) ซึ่งเชื่อว่าการจัดดัดดึงเนื้อเยื่ออ่อนด้วยมือจะสามารถลด "ความรบกวน" ภายในร่างกายและจึงสามารถทำให้สุขภาพดีขึ้นได้

แบบโดยตรงและผสม

นักไคโรแพรกติกแบบ Straight (โดยตรง) ยึดหลักปรัชญาที่ ดี. ดี. และ บี. เจ. พาลเมอร์กล่าวไว้ และสงวนนิยามเชิงอภิปรัชญาและคุณลักษณะแบบชีวิตนิยมไว้ นักไคโรแพรกติกแบบโดยตรงเชื่อว่าภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนทำให้เกิดการรบกวน "เชาวน์ปัญญาโดยกำเนิด" ซึ่งสำแดงออกมาผ่านระบบประสาทมนุษย์ และเป็นปัจจัยเสี่ยงเบื้องหลังหลักของโรคหลายชนิด กลุ่มโดยตรงมองว่าการวินิจฉัยทางการแพทย์ถึงอาการของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการรักษาแบบไคโรแพรกติก พวกเขาถือว่าพวกมันเป็น "ผลลัพธ์ขั้นทุติยภูมิ" ของภาวะข้อเคลื่อนต่าง ๆ นักไคโรแพรกติกแบบโดยตรงจึงสนใจกับการตรวจพบและการแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนด้วยการจัดกระดูกเป็นหลัก และจะไม่ "ผสม" การบำบัดชนิดอื่นเข้าในวิถีปฏิบัติของพวกเขา ปรัชญาและคำอธิบายของพวกเขาจะมีธรรมชาติเป็นอภิปรัชญา และพวกเขานิยมใช้ศัพท์ไคโรแพรกติกแบบดั้งเดิมมากกว่า อาทิ "การวิเคราะห์กระดูกสันหลัง" "การตรวจหาข้อเคลื่อน" "การแก้ไขด้วยการจัด" พวกเขาต้องการคงความปลีกแยกและความแตกต่างจากการดูแลสุขภาพกระแสหลักต่อไป แม้จะถูกถือว่าเป็นกลุ่มส่วนน้อย "พวกเขาสามารถแปลงสถานะของตัวเองในฐานะที่เป็นสายบริสุทธิ์และทายาทของเชื้อสายให้กลายเป็นอิทธิพลซึ่งมากเกินสัดส่วนจำนวนของพวกเขาไปอย่างมาก"

นักไคโรแพรกติกแบบ Mixer (ผสม) "ผสม" แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาจากมุมมองแบบไคโรแพรกติก การแพทย์ และออสทีโอพาธี และเป็นส่วนใหญ่ของนักไคโรแพรกติก กลุ่มผสมเชื่อต่างจากนักไคโรแพรกติกแบบโดยตรง โดยเชื่อว่าข้อเคลื่อนนั้นเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุของโรคต่าง ๆ และจึงเปิดกว้างต่อการแพทย์กระแสหลักมากกว่า หลายคนรวมเอาการวินิจฉัยทางการแพทย์กระแสหลักมาใช้และใช้การรักษาแผนปัจจุบัน เช่นกลวิธีของกายภาพบำบัดไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การยืดกล้ามเนื้อ (stretching) การนวด ไอซ์แพ็ก (ice pack) การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (electrical muscle stimulation) อัลตราซาวด์บำบัด (therapeutic ultrasound) และความร้อนชื้น (moist heat) กลุ่มผสมบางส่วนใช้กลวิธีจากการแพทย์ทางเลือกด้วย เช่นอาหารเสริม การฝังเข็ม โฮมีโอพาธี ยาสมุนไพร และการตอบสนองทางชีวภาพ (biofeedback)

พิสัยของมุมมองความเชื่อในไคโรแพรกติก
คุณลักษณะของมุมมอง ปลายทางความเชื่อที่เป็นไปได้
ขอบเขตการปฏิบัติ: แคบ ("straight") ← → กว้าง ("mixer")
แนวทางการตรวจวินิจฉัย: ด้วยอัชฌัตติกญาณ → ด้วยการวิเคราะห์
แนวปรัชญา: แบบชีวิตนิยม ← → แบบวัตถุนิยม
แนววิทยาศาสตร์: เชิงพรรณนา ← → เชิงทดลอง
แนวกระบวนการ: โดยปริยาย ← → แบบชัดแจ้ง
เจตคติการปฏิบัติ: แพทย์/ตัวแบบเป็นศูนย์กลาง ← → ผู้ป่วย/สถานการณ์เป็นศูนย์กลาง
บูรณาการทางวิชาชีพ: แยกกันและแตกต่างกัน ← → บูรณาการเข้ากับกระแสหลัก
นำมาจาก Mootz & Phillips 1997

แม้ว่ากลุ่มผสมจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่พวกเขาหลายคนยังคงเชื่อในภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ดังที่การสำรวจจากนักไคโรแพรกติก 1,100 คนในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อ ค.ศ. 2003 แสดง โดยพบว่าร้อยละ 88 ต้องการเก็บคำศัพท์ "vertebral subluxation complex" (ปมภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน) ไว้ และเมื่อถามให้ประมาณการณ์ร้อยละของความผิดปกติของอวัยวะภายในซึ่งมีส่วนมาจากภาวะข้อเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ คำตอบโดยเฉลี่ยตอบว่าร้อยละ 62 การสำรวจนักไคโรแพรกติกชาวอเมริกัน 6,000 คนเมื่อ ค.ศ. 2008 แสดงให้เห็นว่านักไคโรแพรกติกส่วนใหญ่ดูจะเชื่อว่าแนวทางทางคลินิกที่อิงภาวะข้อเคลื่อนอาจใช้งานได้จำกัดในการจัดการกับความเจ็บปวดจากอวัยวะภายใน (visceral pain) และนิยมแนวทางทางคลินิกที่ไม่ได้อิงภาวะข้อเคลื่อนสำหรับอาการดังกล่าวอย่างมาก การสำรวจเดียวกันแสดงให้เห็นว่านักไคโรแพรกติกโดยทั่วไปเชื่อว่าแนวทางทางคลินิกของพวกเขาส่วนใหญ่สำหรับการจัดการกับความผิดปกติทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูก/ชีวกล อาทิอาการปวดหลัง จะอิงภาวะข้อเคลื่อน นักไคโรแพรกติกมักให้การบำบัดแผนปัจจุบันด้วย เช่นกายภาพบำบัดและการให้คำปรึกษาด้านวิถีชีวิต และสำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะแยกแยะสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์กับที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ออกจากกันได้อย่างยากลำบาก

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

ดูบทความหลักที่: ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน
ระวังสับสนกับ ภาวะทางการแพทย์ ข้อเคลื่อน

ในการแพทย์ที่อิงวิทยาศาสตร์ คำว่า "subluxation" (ข้อเคลื่อน) หมายถึงอาการที่ข้อต่อหลุด (Joint dislocation) ออกมาบางส่วนหรือไม่สมบูรณ์ จากภาษาละติน luxare แปลว่า 'หลุด/เคลื่อน' (dislocate) ในขณะที่แพทย์ใช้คำนั้นเพื่อหมายถึงข้อที่หลุดแบบกายภาพเท่านั้น แต่ผู้ก่อตั้งไคโรแพรกติกดี. ดี. พาลเมอร์ ผสมความหมายเชิงอภิปรัชญาและปรัชญาเข้าไปในคำว่าข้อเคลื่อนด้วยจากประเพณีวิทยาศาสตร์เทียม อาทิชีวิตนิยม

พาลเมอร์อ้างว่าภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนรบกวนการทำงานของร่างกายและความสามารถรักษาตนเองที่มีแต่กำเนิด ดี. ดี. พาลเมอร์ ทิ้งทฤษฎีเก่าของเขาไปซึ่งกล่าวว่าภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนทำให้เส้นประสาทถูกกดอยู่ในช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง แล้วแทนที่ด้วยทฤษฎีที่กล่าวว่าภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนทำให้จังหวะการสั่นของเส้นประสาทเปลี่ยนไป ทำให้ตึงหรือหย่อนเกินไป และส่งผลต่อระดับเสียง (สุขภาพ) ของอวัยวะปลายทาง เขายืนยันทฤษฎีนี้ด้วยการชี้ว่าไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิดก็สามารถปฏิบัติไคโรแพรกติกให้ชำนาญได้ ในภายหลังบุตรของเขาบี. เจ. พาลเมอร์ พัฒนาแนวคิดนี้ต่อมา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่กลายเป็นรากฐานทางกฎหมายสำหรับการแยกแยะไคโรแพรกติกออกจากการแพทย์แผนปัจจุบัน

ใน ค.ศ. 1910 ดี. ดี. พาลเมอร์ตั้งทฤษฎีซึ่งกล่าวว่าระบบประสาทเป็นสิ่งที่ควบคุมสุขภาพไว้ว่า:

"นักสรีรวิทยาแบ่งเส้นใยประสาทซึ่งประกอบขึ้นเป็นเส้นประสาทไว้สองประเภท นำเข้าและนำออก เมื่อมีการกดทับลงบนปลายเส้นใยนำเข้านอกส่วนกลาง จะทำให้เกิดความรู้สึกซึ่งถูกส่งไปยังส่วนกลางของระบบประสาท เส้นใยประสาทนำออกส่งสัญญาณจากส่วนกลางไปยังปลายของมัน ส่วนใหญ่แล้วพวกนี้จะไปยังกล้ามเนื้อและจึงเรียกว่าสัญญาณสั่งการ บางส่วนเป็นสัญญาณคัดหลั่งและส่งไปยังต่อมต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเป็นสัญญาณยับยั้ง หน้าที่ของมันคือการยับยั้งการคัดหลั่ง ดังนั้นแล้ว เส้นประสาทส่งสัญญาณไปภายนอกและความรู้สึกมาภายใน กิจกรรมของเส้นประสาทเหล่านี้ หรือของเส้นใยของมัน อาจถูกกระตุ้นหรือระงับได้จากการกดเบียด ผลคือการทำงานของมันถูกดัดแปลง – มีกิจกรรมที่มากเกินหรือไม่พอ – ซึ่งคือโรค"

นักไคโรแพรกติกใช้การถ่ายภาพรังสีเพื่อพิจารณาโครงสร้างกระดูกของผู้ป่วย

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนซึ่งเป็นแก่นมโนทัศน์ของไคโรแพรกติกดั้งเดิมยังคงไม่มีน้ำหนักและไม่ถูกทดสอบโดยส่วนมาก และมีการโต้เถียงว่าควรเก็บมันไว้ในการปฏิบัติไคโรแพรกติกหรือไม่ซึ่งดำเนินมามากกว่าหลายทศวรรษ โดยทั่วไปผู้วิจารณ์ไคโรแพรกติกดั้งเดิมที่อิงภาวะข้อเคลื่อน (ซึ่งรวมนักไคโรแพรกติกด้วย) เคลือบแคลงในประโยชน์ทางคลินิก ความเชื่อแบบสิทธันต์ และแนวทางเชิงอภิปรัชญาของมัน ในขณะที่นักไคโรแพรกติกแบบโดยตรงยังคงรักษากระบวนทัศน์แบบชีวิตนิยมดั้งเดิมซึ่งผู้ก่อตั้งสนับสนุนอยู่ ไคโรแพรกติกแบบอิงหลักฐานเสนอว่ามุมมองแบบเชิงกลจะทำให้การดูแลด้วยไคโรแพรกติกสามารถบูรณาการเข้ากับประชาคมบริการสุขภาพที่กว้างกว่าได้ นี่ยังคงเป็นข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องภายในวิชาชีพไคโรแพรกติกเช่นกัน โรงเรียนไคโรแพรกติกบางที่ยังสอนไคโรแพรกติกอิงภาวะข้อเคลื่อนแบบดั้งเดิม/โดยตรงอยู่ ในขณะที่ที่อื่นกำลังขยับย้ายไปหาไคโรแพรกติกแบบอิงหลังฐานที่ปฏิเสธพื้นฐานเชิงอภิปรัชญาและจำกัดตัวเองไว้กับภาวะทางประสาท กล้ามเนื้อ และโครงกระดูกเป็นหลัก

ใน ค.ศ. 2005 องค์การอนามัยโลกให้นิยามภาวะข้อเคลื่อนแบบไคโรแพรกติกไว้ว่าเป็น "รอยโรคหรือความผิดปกติในข้อต่อหรือหน่วยการเคลื่อนไหวที่ตำแหน่ง ความสมบูรณ์ของการเคลื่อนไหว และ/หรือการใช้งานทางสรีรวิทยาเปลี่ยนไป แม้ว่าผิวข้อต่อจะยังสัมผัสกันอยู่ครบถ้วน เป็นองคภาวะเชิงหน้าที่ซึ่งอาจส่งอิทธิพลต่อบูรณภาพทางชีวกลและทางประสาท" นี่ต่างจากนิยามของภาวะข้อเคลื่อนในทางการแพทย์ซึ่งเป็นการกระจัดเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญซึ่งมองเห็นได้ผ่านวิธีการถ่ายภาพนิ่ง เช่นด้วยรังสีเอกซ์ การใช้รังสีเอกซ์ถ่ายภาพอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีก่อไอออนที่เป็นอันตรายโดยไม่มีเหตุผลที่มีหลักฐานสนับสนุน หนังสือจาก ค.ศ. 2008 Trick or Treatment ("หลอกหรือรักษา") กล่าวว่า "รังสีเอกซ์ไม่สามารถเปิดเผยให้เห็นทั้งภาวะข้อเคลื่อนหรือเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิดที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาไคโรแพรกติกได้เพราะพวกมันไม่มีอยู่จริง" เลขาธิการสหพันธ์ไคโรแพรกติกโลก (World Federation of Chiropractic) ทนายความเดวิด แชปแมน-สมิธ (David Chapman-Smith) กล่าวว่า "นักวิจารณ์ทางการแพทย์ถามมาว่าจะมีการเคลื่อนได้อย่างไรหากใช้รังสีเอกซ์แล้วมองไม่เห็น คำตอบคือความจริงแล้วภาวะเคลื่อนแบบไคโรแพรกติกนั้นเป็นองคภาวะเชิงหน้าที่ ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง และจึงฉายรังสีเอกซ์มองเห็นได้ไม่มากไปกว่าอาการเดินกะเผลก (limp) หรือปวดหัวหรือปัญหาเชิงหน้าที่อื่นใดก็ตาม"สภาไคโรแพรกติกทั่วไป (General Chiropractic Council) ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมนักไคโรแพรกติกตามกฎหมายในสหราชอาณาจักรกล่าวว่าปมภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนแบบไคโรแพรกติกนั้น "ไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกใดรับรองที่จะให้สามารถอ้างได้ว่ามันเป็นต้นเหตุของโรค"

เมื่อ ค.ศ. 2014 คณะกรรมการผู้ตรวจการไคโรแพรกติกแห่งชาติ (National Board of Chiropractic Examiners) กล่าวว่า "จุดเน้นเฉพาะของการปฏิบัติไคโรแพรกติกเป็นที่รู้จักว่าคือภาวะข้อเคลื่อนแบบไคโรแพรกติกหรือการทำงานผิดปกติของข้อต่อ ภาวะข้อเคลื่อนเป็นข้อกังวลทางสุขภาพที่ปรากฏอยู่ในข้อต่อของกระดูก และส่งผลต่อระบบประสาทผ่านความสัมพันธ์ทางสรีรวิทยาและกายวิภาคที่ซับซ้อนและอาจนำไปสู่การทำงานที่ลดลง ความพิการ หรือความเจ็บป่วย"

วิทยาศาสตร์เทียมหรือการบำบัดจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง

แม้ว่านักไคโรแพรกติกบางส่วนจำกัดการปฏิบัติของตนไว้รักษาเฉพาะภาวะทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูกระยะสั้นเท่านั้น หลายคนอ้างอย่างผิด ๆ ว่าสามารถรักษาภาวะอื่น ๆ อีกมากมายได้ บางส่วนห้ามปรามไม่ให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการทางแพทย์ และบางส่วนเสแสร้งว่ามีคุณสมบัติทำหน้าที่เป็นแพทย์ครอบครัวได้

แคว็กวอตช์ (Quackwatch) องค์กรตรวจสอบการแพทย์ทางเลือกเตือนว่าอย่าพบนักไคโรแพรกติกที่:

  • รับรักษาเด็กเล็ก
  • โน้มน้าวไม่ให้สร้างภูมิคุ้มกัน
  • เสแสร้งทำเป็นแพทย์ครอบครัว
  • ฉายรังสีเอกซ์กระดูกสันหลังทั้งหมด
  • สนับสนุนอาหารเสริมที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
  • ต่อต้านการแพทย์วิทยาศาสตร์
  • อ้างว่ารักษาปัญหาที่ไม่ใช่ทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูกได้

แพทย์คนหนึ่งเขียนลงในนิตยสารสเก็ปติคอลอินไควร์เรอร์ (Skeptical Inquirer) เตือนว่าอย่าพบแม้กระทั่งนักไคโรแพรกติกคนใดที่เพียงแค่อ้างว่าสามารถรักษาภาวะทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูกได้:

"ฉันคิดว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง (SMT) เป็นตัวเลือกที่มีเหตุผลให้ผู้ป่วยทดลองได้ ... แต่ฉันไม่สามารถแนะนำผู้ป่วยให้พบนักไคโรแพรกติกได้ด้วยจิตสำนึกสุจริต ... เมื่อไคโรแพรกติกมีประสิทธิผล สิ่งที่มีประสิทธิผลไม่ใช่ 'ไคโรแพรกติก' แต่มันคือ SMT นักกายภาพบำบัด นักออสทีโอพาธี หรือคนอื่น ๆ ก็ให้บริการ SMT ด้วย คนพวกนี้เป็นผู้ให้บริการที่อิงวิทยาศาสตร์ ... หากฉันคิดว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการจัดดัดดึง ฉันก็จะแนะนำให้เขาไปหาผู้ให้บริการที่อิงวิทยาศาสตร์แทน"

ขอบเขตการปฏิบัติ

เตียงรักษาในสถานไคโรแพรกติก

นักไคโรแพรกติกเน้นการจัดการกับระบบประสาท กล้ามเนื้อ และโครงกระดูกในเชิงอนุรักษ์โดยไม่ใช้ยาหรือการผ่าตัด และเน้นกระดูกสันหลังเป็นพิเศษ อาการปวดหลังและคอเป็นชำนาญการของไคโรแพรกติก แต่นักไคโรแพรกติกหลายคนรับรักษาอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ นอกจากปัญหาทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูกด้วย นักไคโรแพรกติกมีความคิดเห็นที่หลากหลาย บางคนเชื่อว่าการรักษาต้องจำกัดบริเวณอยู่ในกระดูกสันหลังหรืออาการปวดหลังและคอเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มอื่นไม่เห็นด้วย ตัวอย่างเช่น แม้ว่าในงานสำรวจนักไคโรแพรกติกชาวอเมริกัน ค.ศ. 2009 จะพบว่าร้อยละ 73 นับว่าตนเองเป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวดหลัง/ด้านกล้ามเนื้อและโครงกระดูก" แต่ร้อยละ 47 ถือว่าป้ายชื่อ "ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวดหลังและคอ" เป็นคำอธิบายถึงพวกเขาที่น่าพึงประสงค์น้อยที่สุดในงานสำรวจนานาชาติ ค.ศ. 2005 ไคโรแพรกติกรวมแง่มุมต่าง ๆ จากการแพทย์กระแสหลักและทางเลือก และไม่มีฉันทมติว่าควรนิยามวิชาชีพนี้ว่าอย่างไร และแม้ว่านักไคโรแพรกติกมีลักษะเป็นผู้ให้บริการปฐมภูมิหลายประการ แต่นักไคโรแพรกติกมีลักษณะคล้ายการแพทย์เฉพาะทางอย่างทันตแพทยศาสตร์หรือบาทาเวชศาสตร์ (podiatry) มากกว่า เคยมีการเสนอให้นักไคโรแพรกติกเฉพาะทางในการรักษากระดูกสันหลังโดยไม่ผ่าตัดแทนที่จะพยายามรักษาปัญหาอื่น ๆ ด้วย แต่มุมมองไคโรแพรกติกแบบเปิดกว้างกว่ายังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย

บริการสุขภาพกระแสหลักและองค์กรรัฐอย่างองค์การอนามัยโลกมองว่าไคโรแพรกติกเป็นการแพทย์ทางเลือกและผสมผสาน งานศึกษา ค.ศ. 2008 รายงานว่าร้อยละ 31 ของนักไคโรแพรกติกที่สำรวจจัดประเภทให้ไคโรแพรกติกเป็นการแพทย์ทางเลือกและผสมผสาน ร้อยละ 27 ให้เป็นการแพทย์บูรณาการ และร้อยละ 12 ให้เป็นการแพทย์กระแสหลัก นักไคโรแพรกติกหลายคนเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ให้บริการปฐมภูมิ ซึ่งรวมนักไคโรแพรกติกจากสหรัฐ และสหราชอาณาจักร แต่ระยะเวลา ความครอบคลุม และความเข้มข้นของการฝึกทักษะทางคลินิกของไคโรแพรกติกไม่สนองต่อข้อกำหนดในการพิจารณาเป็นผู้ให้บริการปฐมภูมิ บทบาทของพวกเขาในการให้บริการขั้นปฐมภูมิจึงจำกัดและเป็นข้อพิพาท

ไคโรแพรกติกมีส่วนซ้อนทับกับการบำบัดด้วยมือรูปแบบอื่นหลายรูปแบบ เช่นการนวดบำบัด ออสทีโอพาธี กายภาพบำบัด และเวชศาสตร์การกีฬา ไคโรแพรกติกเป็นอิสระจากและแข่งขันกับการแพทย์กระแสหลัก ออสทีโอพาธีภายนอกสหรัฐหลัก ๆ แล้วยังคงเป็นระบบการแพทย์ด้วยมือ นักกายภาพบำบัดทำงานด้วยกันและร่วมมือกับการแพทย์กระแสหลัก ส่วนออสทีโอพาธีในสหรัฐผสานเข้ากับวิชาชีพการแพทย์แล้ว นักปฏิบัติไคโรแพรกติกอาจแยกแยะตนเองออกจากแนวทางคู่แข่งเหล่านี้ด้วยการอ้างว่านักไคโรแพรกติกนั้น เมื่อเทียบกับนักบำบัดแขนงอื่น ๆ จะให้ความสนใจกับการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเป็นหลัก มักใช้กลวิธีการจัดดัดดึงที่กระชับกว่า และส่งเสริมการดูแลแบบบำรุงรักษา แต่นักออสทีโอพาธีจะใช้ขั้นตอนการรักษาที่หลากหลายกว่า และนักกายภาพบำบัดจะเน้นการใช้เครื่องจักรกลและการออกกำลังกาย

การวินิจฉัยแบบไคโรแพรกติกอาจประกอบด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการถ่ายภาพโครงกระดูก การประเมินด้วยการสังเกตและสัมผัส และการวัดผลทางออร์โธปิดิกส์และประสาทวิทยา นักไคโรแพรกติกอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง หรือทำงานร่วมกับผู้ให้บริการสุขภาพอีกราย การจัดการกับผู้ป่วยที่พบได้บ่อยเช่นการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง (spinal manipulation) และการบำบัดข้อต่อและเนื้อเยื่ออ่อนด้วยมือแบบอื่น ๆ การออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมสุขภาพ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ขั้นตอนแบบผสมผสาน และการให้คำปรึกษาด้านการใช้ชีวิต

นักไคโรแพรกติกในสหรัฐโดยปกติจะไม่มีใบอนุญาตให้เขียนใบสั่งยาหรือผ่าตัดใหญ่ได้ แต่รัฐนิวเม็กซิโกอนุญาตให้นักไคโรแพรกติกที่ผ่านการฝึกอบรม "ปฏิบัติการขั้นสูง" (advanced practice) สามารถเขียนใบสั่งยาบางชนิดได้ ขอบเขตการปฏิบัติของนักไคโรแพรกติกในสหรัฐแตกต่างไปตามแต่ละรัฐ โดยขึ้นอยู่กับมุมมองต่อการดูแลแบบไคโรแพรกติกที่ไม่สอดคล้องกัน บางรัฐอย่างรัฐไอโอวาอนุญาตให้รักษา "ความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์" อย่างกว้าง ๆ ได้ หรืออย่างรัฐเดลาแวร์จะใช้คำศัพท์ที่คลุมเครือเช่น "การส่งผ่านพลังงานเส้นประสาท" ("transition of nerve energy") ในการให้นิยามขอบเขตของการปฏิบัติ ที่อื่นอย่างรัฐนิวเจอร์ซีย์จะระบุขอบเขตไว้แคบมาก นักไคโรแพรกติกในสหรัฐอาจสามารถทำการทดสอบหรือขั้นตอนการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ จ่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือใช้การบำบัดรูปแบบอื่นอย่างโฮมีโอพาธีและการฝังเข็มได้หรือไม่ขึ้นกับข้อกำหนดในแต่ละรัฐ พวกเขาสามารถขอใบรับรองสำหรับการผ่าตัดเล็กและการทำคลอดธรรมชาติได้ในรัฐออริกอน งานสำรวจนักไคโรแพรกติกในทวีปอเมริกาเหนือใน ค.ศ. 2003 พบว่าส่วนใหญ่ปริ่มน้ำเห็นด้วยกับการอนุญาตให้พวกเขาเขียนใบสั่งยาสำหรับยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ได้ งานสำรวจใน ค.ศ. 2010 พบว่าร้อยละ 72 ของนักไคโรแพรกติกชาวสวิสมองว่าการที่พวกเขาสามารถเขียนใบสั่งยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งได้เป็นข้อได้เปรียบของการรักษาแบบไคโรแพรกติก

นักไคโรแพรกติกกำลังนวดจัดกระดูกม้า

ไคโรแพรกติกสัตว์ (veterinary chiropractic) เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องซึ่งประยุกต์ใช้การบำบัดด้วยมือกับสัตว์และเป็นที่ยอมรับในหลายรัฐในสหรัฐ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นไคโรแพรกติกโดยสมาคมไคโรแพรกติกอเมริกัน (American Chiropractic Association) มันยังคงเป็นข้อพิพาทในแต่ละภาคส่วนของสาขาวิชาชีพสัตวแพทย์และไคโรแพรกติก

ไม่มีวิชาชีพใด "เป็นเจ้าของ" การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังแต่เพียงผู้เดียว และยังไม่มีฉันทมติมากพอว่าวิชาชีพใดบ้างควรให้บริการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง ซึ่งทำให้นักไคโรแพรกติกกังวลว่าแพทย์ชนิดอื่น ๆ อาจ "ขโมย" ขั้นตอนจัดดัดดึงกระดูกสันหลังไปจากนักไคโรแพรกติก การเน้นในงานวิจัยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังแบบอิงหลักฐานทำให้มีความกังวลว่าแนวทางการปฏิบัติอันเป็นผลนั้นจะจำกัดขอบเขตของการปฏิบัติไคโรแพรกติกไว้เฉพาะสำหรับการรักษาบริเวณหลังและคอ รัฐวอชิงตันและรัฐอาร์คันซอในสหรัฐห้ามไม่ให้นักกายภาพบำบัดทำการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง บางรัฐอนุญาตให้ทำก็ต่อเมื่อพวกเขาสำเร็จการฝึกอบรมการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังขั้นสูงแล้วเท่านั้น และบางรัฐอนุญาตให้เฉพาะนักไคโรแพรกติกหรือเฉพาะนักไคโรแพรกติกและแพทย์เท่านั้นที่สามารถทำการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังได้ กฎหมายซึ่งห้ามไม่ให้นักปฏิบัติที่ไม่ใช่นักไคโรแพรกติกทำการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังซึ่งถูกผลักดันเข้าสภานิติบัญญัติของรัฐอยู่เสมอ และหลายองค์กรของนักกายภาพบำบัดต่อต้านกฎหมายเหล่านั้น

การรักษา

นักไคโรแพรกติกกำลังจัดกระดูกผู้ป่วย

การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังที่นักไคโรแพรกติกเรียกกว่า "การจัดกระดูกสันหลัง" หรือ "การจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก" เป็นการรักษาที่ใช้แพร่หลายที่สุดในการให้บริการไคโรแพรกติก การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเป็นการเคลื่อนที่ปมสามข้อต่อ (three-joint complex) ด้วยมือเชิงรับ ให้เลยเกินพิสัยของการเคลื่อนไหวปกติแต่ไม่เลยจนข้อต่อหลุดหรือเสียหาย ปัจจัยที่สำคัญคือแรงผลักแบบพลวัต ซึ่งเป็นแรงฉับพลันที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยที่ยินเสียงได้ และพยายามขยายพิสัยของการเคลื่อนไหวของข้อต่อ การผลักในการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังด้วยความเร็วสูงและความแรงต่ำ (High-velocity, low-amplitude spinal manipulation; HVLA-SM) ส่งผลทางสรีรวิทยาซึ่งส่งสัญญาณประสาทจากเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลัง (paraspinal muscle) โดยระยะเวลาและความแรงของแรงผลักนั้นเป็นปัจจัยว่ากระสวยกล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลังจะถูกกระตุ้นในระดับใด ทักษะการปฏิบัติใช้การผลักแบบ HVLA-SM ทางคลินิกขึ้นอยู่กับความสามารถของนักปฏิบัติในการควบคุมระยะเวลาและความแรงของแรงผลัก โดยทั่วไปคำว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง (SMT) หมายถึงกลวิธีต่าง ๆ ซึ่งใช้มือในการจัดดัดดึง นวด ขยับ จัด กระตุ้น ลากดึง หรือส่งผลใด ๆ ต่อกระดูกสันหลังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กลวิธีการจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติกมีอยู่หลายสำนัก แต่นักไคโรแพรกติกมักผสมกลวิธีกันจากหลายสำนัก ต่อไปนี้เป็นรายนามขั้นตอนการจัดกระดูกซึ่งผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 10 เคยได้รับบริการจากนักไคโรแพรกติกที่มีใบอนุญาตในสหรัฐจากงานสำรวจ ค.ศ. 2003:กลวิธีหลากหลาย (Diversified technique) (การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเต็ม โดยใช้กลวิธีที่หลากหลาย), การจัดกระดูกรยางค์, กลวิธีแอกทิเวเตอร์ (Activator technique) (การใช้อุปกรณ์กำลังสปริงเพื่อจัดกระดูกสันหลังด้วยความแม่นยำ), กลวิธีทอมป์สัน (Thompson Technique) (ใช้เตียงรักษาแบบ drop table และมาตรการขั้นตอนที่ลงรายละเอียด), กลวิธีกอนสเตด (Gonstead technique) (ให้ความสำคัญกับการประเมินและการจัดกระดูกสันหลังในแบบที่หลีกเลี่ยงการขยับในแกนหมุน), กลวิธีค็อกซ์ (Cox technique)/การบำบัดงอ-ยืดถ่าง (flexion-distraction therapy) (ใช้ขั้นตอนการจัดกระดูกสันหลังแบบอ่อนโยนและแรงต่ำ โดยผสมหลักการไคโรแพรกติกเข้ากับออสทีโอพาธี และใช้เตียงจัดกระดูกแบบพิเศษ), อุปกรณ์จัดกระดูก, กลวิธีกระเบนเหน็บ-ท้ายทอย (Sacro-Occipital Technique) (ซึ่งจำลองกระดูกสันหลังเสมือนแท่งบิด), กลวิธีตัวรับ-ความตึงตัวของนิมโม (Nimmo Receptor-Tonus Technique), วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ (applied kinesiology) (ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ "การทดสอบกล้ามเนื้อ" เป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัย) และกลวิธีกะโหลก กลวิธีชีวฟิสิกส์แบบไคโรแพรกติกใช้ฟังก์ชันผกผันของการหมุนในการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง กลวิธีจำเพาะของคอเริน (Koren Specific Technique; KST) ใช้มือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชื่อว่า "ArthroStim" ในการประเมินและการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง ประกันสุขภาพในสหรัฐและสหราชอาณาจักรที่ครอบคลุมกลวิธีไคโรแพรกติกอื่น ๆ ไม่ครอบคลุม KST เพราะพวกเขาถือว่ามันเป็นกลวิธี "เชิงทดลองและสอบสวน" การจัดดัดดึงโดยใช้ยาช่วย เช่นการจัดดัดดึงภายใต้การดมยาสลบ (manipulation under anesthesia) ใช้ยาระงับประสาทหรือยาชาเฉพาะที่และกระทำโดยกลุ่มผู้รักษาที่มีวิสัญญีแพทย์ร่วมด้วย การปริทัศน์เป็นระบบจาก ค.ศ. 2008 ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำการใช้ประโยชน์กลวิธีนี้สำหรับอาการปวดหลังส่วนล่าง

การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar) ส่วนคอ (cervical) และส่วนอก (thoracic) แบบไคโรแพรกติก

นักไคโรแพรกติกยังใช้กระบวนการอื่น ๆ หลากหลายแบบในการรักษากระดูกสันหลัง ข้อต่ออื่น ๆ และเนื้อเยื่อ และปัญหาด้านสุขภาพทั่วไป ต่อไปนี้เป็นรายนามกระบวนการต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยกว่าหนึ่งในสามเคยได้รับบริการจากนักไคโรแพรกติกที่มีใบอนุญาตในสหรัฐจากงานสำรวจ ค.ศ. 2003: กลวิธีหลากหลาย, การส่งเสริมสมรรถภาพทางกาย/การออกกำลังกาย, การออกกำลังกายบำบัดหรือแก้ไข, คำแนะนำด้านการยศาสตร์ (ergonomics)/การวางท่าทาง (spinal posture), ยุทธศาสตร์การดูแลตนเอง, กิจวัตรประจำวัน (activities of daily living), การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ/มีความเสี่ยง, คำแนะนำด้านอาหาร (Diet (nutrition))/โภชนาการ, คำแนะนำด้านเทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation technique)/การจัดการความเครียด, ไอซ์แพ็ก/การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy), การจัดกระดูกรยางค์, การบำบัดจุดกดเจ็บ (Myofascial trigger point) และคำแนะนำด้านการป้องกันโรค/การคัดกรองโรคแต่แรกเริ่ม (Screening (medicine))

งานศึกษา ค.ศ. 2010 เกี่ยวกับนักไคโรแพรกติกชาวเบลเยียมและผู้ป่วยพบว่านักไคโรแพรกติกในประเทศเบลเยียมส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับอาการทางประสาท กล้ามเนื้อ และโครงกระดูกของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง กลวิธีหลากหลายเป็นกลวิธีที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดที่ร้อยละ 93 ตามมาด้วยกลวิธีที่ใช้กลไกแอกทิเวเตอร์ที่ร้อยละ 41 งานศึกษา ค.ศ. 2009 เกี่ยวกับนักเรียนไคโรแพรกติดที่กำลังให้บริการหรือรับบริการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังอยู่ระหว่างการเข้าศึกษาในวิทยาลัยไคโรแพรกติกในประเทศสหรัฐพบว่าวิธีการรักษาที่ถูกนำมาใช้บ่อยมีแบบหลากหลาย แบบกอนสเตด และการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอส่วนบน

แนวปฏิบัติ

หลายปริทัศน์งานศึกษาวิจัยภายในประชาคมไคโรแพรกติกถูกนำมาสร้างแนวปฏิบัติซึ่งวางมาตรฐานที่จะระบุว่าการรักษาแบบไคโรแพรกติกแบบใดถูกต้อง (กล่าวคือ มีหลักฐานสนับสนุน) และสามารถชดเชยค่าใช้จ่ายได้ภายใต้ระบบการชำระค่าการบริการจัดการ (managed care) สุขกาพ แนวปฏิบัติอิงหลักฐานได้รับการสนับสนุนจากนักไคโรแพรกติกฝั่งหนึ่งของแนวต่อเนื่องเชิงอุดมการณ์ อีกฝั่งหนึ่งใช้การให้เหตุผลแบบต่อต้านวิทยาศาสตร์ (Antiscience) และใช้ข้อกล่าวอ้างที่ไร้น้ำหนัก ไคโรแพรกตักยังคงเป็นทางสองแพร่ง โดยที่จะต้องยอมรับวิทยาศาสตร์เพื่อเดินไปข้างหน้า คนบางกลุ่มที่เสนอมันเป็นยาสารพัดโรคนั้น "หลงทางและไม่มีเหตุผล" งานสำรวจนักไคโรแพรกติกในรัฐแอลเบอร์ตาใน ค.ศ. 2007 พบว่าพวกเขาไม่มีความสม่ำเสมอในการนำงานวิจัยมาใช้ในทางปฏิบัติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการขาดการศึกษาและทักษะเกี่ยวกับการทำวิจัย แนวปฏิบัติว่าด้วยการรักษาอาการปวดหลังแบบไม่จำเพาะ (กล่าวคือ ไม่รู้สาเหตุ) ไม่มีความสอดคล้องกันระหว่างแต่ละประเทศ

ประสิทธิผล

มีการทำงานศึกษาทางคลินิกแบบมีกลุ่มควบคุมถึงวิธีการรักษาที่นักไคโรแพรกติกใช้หลายชิ้นและมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ไม่มีหลักฐานสรุปได้ว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงแบบไคโรแพรกติกมีประสิทธิผลในการรักษาอาการทางแพทย์ใด ๆ ยกเว้นอาการปวดหลังบางชนิดเท่านั้น

โดยทั่วไป งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของไคโรแพรกติกมักมีคุณภาพต่ำ งานวิจัยที่นักไคโรแพรกติกเผยแพร่มีความลำเอียงอย่างเห็นได้ชัด งานปริทัศน์ถึงการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังมักพบข้อสรุปที่เป็นบวกเมื่อผู้เขียนเป็นนักไคโรแพรกติก ในขณะที่งานปริทัศน์ที่มีผู้เขียนกระแสหลักไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มีวิธีการวัดผลลัพธ์ของการรักษาหลากหลายวิธี การดูแลรักษาแบบไคโรแพรกติกได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ยาหลอก แต่การสร้างยาหลอกที่น่าเชื่อถือขึ้นสำหรับทำการทดลองทางคลินิกของการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเป็นเรื่องยาก ประสิทธิผลของไคโรแพรกติกในฐานะการดูแลแบบบำรุงรักษายังไม่เป็นที่ทราบ

หลักฐานที่มีอยู่ครอบคลุมถึงอาการดังต่อไปนี้:

  • อาการปวดหลังส่วนล่าง งานปริทัศน์คอเครน ค.ศ. 2013 พบหลักฐานระดับต่ำถึงปานกลางว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังไม่ได้มีประสิทธิผลมากไปกว่าการรักษาซึ่งไม่มีฤทธิ์ การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังแบบปลอม หรือในฐานะเป็นการบำบัดเสริมสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลัน งานปริทัศน์ชิ้นเดียวกันพบว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังไม่ปรากฏว่าดีไปกว่าการบำบัดที่แนะนำชนิดอื่น ๆ งานสรุปของงานปริทัศน์เป็นระบบหลายชิ้น ค.ศ. 2012 พบว่าโดยรวมแล้ว ไม่ปรากฏว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับอาการปวด งานปริทัศน์คอเครน ค.ศ. 2011 พบหลักฐานแน่นหนาซึ่งเสนอว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกระหว่างการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังและการรักษารูปแบบอื่นในการลดอาการปวดและฟื้นฟูการทำงานสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง งานปริทัศน์คอเครน ค.ศ. 2010 ไม่พบความแตกต่างระหว่างผลลัพธ์ของการรักษาแบบไคโรแพรกติกแบบผสมกับการรักษารูปแบบอื่นสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังหรือระยะเวลาผสม งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2010 พบว่างานศึกษาส่วนใหญ่เสนอว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังบรรลุผลการฟื้นฟูอาการปวดและการทำงานเท่ากับหรือมากกว่าการรักษารูปแบบอื่น ๆ ซึ่งมักถูกใช้ในการติดตามผลระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
  • โรครากประสาท (Radiculopathy) งานปริทัศน์เป็นระบบและงานวิเคราะห์อภิมาน ค.ศ. 2013 พบพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญโดยรวมในการฟื้นฟูจากอาการปวดหลังร้าวไปขา (sciatica) หลังจากการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเมื่อเทียบกับการรักษาโดยปกติ และเสนอว่าอาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังได้ มีหลักฐานคุณภาพปานกลางที่สนับสนุนการใช้การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังในการรักษากระดูกสันหลังส่วนเอวกดทับเส้นประสาท (lumbar radiculopathy) เฉียบพลัน และหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน (lumbar disc herniation) เฉียบพลันที่มีโรครากประสาทร่วมด้วย มีหลักฐานน้อยหรือน้อยมากที่สนับสนุนการจัดดัดดึงกระดูกสันสำหรับอาการส่วนรยางค์เรื้อรังที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกสันหลังส่วนเอวและส่วนคอระยะเวลาใด ๆ และไม่มีหลักฐานสำหรับการรักษากระดูกสันหลังส่วนอกกดทับเส้นประสาท (thoracic radiculopathy)
  • คอสะบัด (Whiplash (medicine)) และอาการปวดคอ (neck pain) ไม่มีฉันทมติถึงประสิทธิผลของการบำบัดด้วยมือสำหรับอาการปวดคอ งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2013 พบว่าข้อมูลแสดงนัยว่ามีความแตกต่างในการรักษาอาการปวดคอระยะสั้นและระยะยาวที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการจัดดัดดึงหรือการขยับกระดูกสันหลังส่วนคอกับกายภาพบำบัดหรือการออกกำลังกาย งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2013 พบว่าแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนอกจะมีประสิทธิผลมากกว่าการรักษารูปแบบอื่น แต่ก็เป็นการแทรกแซงที่เหมาะสมสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยบางรายซึ่งมีอาการปวดคอแบบไม่จำเพาะ งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2011 พบว่าการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนอกอาจช่วยส่งเสริมการรักษาอาการปวดคอเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันที่เกิดจากโครงสร้าง (mechanical) ในระยะสั้นได้ แต่วรรณกรรมส่วนใหญ่ยังไม่หนักแน่นมากพอ งานปริทัศน์คอเครน ค.ศ. 2010 พบว่ามีหลักฐานคุณภาพต่ำซึ่งเสนอว่าการจัดดัดดึงส่วนคออาจให้การบรรเทาอาการปวดระยะสั้นได้ดีกว่าการควบคุมอาการปวดคอ และมีหลักฐานปานกลางว่าการจัดดัดดึงและการขยับส่วนคอให้ผลลัพธ์กับอาการปวด การทำงาน และความพึงพอใจของผู้ป่วยในทางคล้ายกัน งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2010 พบหลักฐานระดับต่ำซึ่งเสนอว่าการดูแลรักษาแบบไคโรแพรกติกช่วยฟื้นฟูพิสัยการเคลื่อนไหวและอาการปวดส่วนคอได้ในการจัดการอาการคอสะบัดหรือวิพแลช (whiplash)
  • อาการปวดศีรษะ หลักฐานเกี่ยวกับการใช้งานการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังสำหรับการรักษาและป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนมีความขัดแย้งกัน งานปริทัศน์ ค.ศ. 2006 ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดซึ่งสนับสนุนการใช้งานการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังหรือการบำบัดด้วยมือชนิดอื่น ๆ สำหรับอาการปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) งานปริทัศน์ ค.ศ. 2005 พบว่าหลักฐานถึงประสิทธิผลของการจัดดัดดึงแบบไคโรแพรกติกสำหรับอาการปวดศีรษะจากความเครียดนั้นอ่อนแอ และอาจมีประสิทธิผลสำหรับอาการปวดศีรษะจากความเครียดมากกว่าสำหรับไมเกรน
  • อาการรยางค์ งานปริทัศน์เป็นระบบและงานวิเคราะห์อภิมาน ค.ศ. 2011 สรุปว่าการเสริมกำหนดการออกกำลังกายด้วยการขยับด้วยมือสำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อมให้ผลลัพธ์บรรเทาอาการปวดได้ดีกว่าการใช้กำหนดการออกกำลังกายแบบมีผู้ให้คำแนะนำแต่เพียงอย่างเดียว และเสนอให้นักบำบัดด้วยมือพิจารณาเพิ่มการขยับด้วยมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกำหนดการออกกำลังกายด้วยตนเองแบบมีผู้ให้คำแนะนำ มีหลักฐานระดับ "silver" ว่าการบำบัดด้วยมือมีประสิทธิผลมากกว่าการออกกำลังกายสำหรับการรักษาข้อสะโพกเสื่อม ทว่าหลักฐานชิ้นนี้อาจถือได้ว่าไม่สามารถสรุปผลได้ มีงานวิจัยจำนวนน้อยถึงประสิทธิศักย์ของการรักษาแบบไคโรแพรกติกสำหรับรยางค์บน ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะหลักฐานระดับต่ำที่สนับสนุนการใช้ไคโรแพรกติกในการจัดการอาการปวดไหล่ (shoulder pain) และมีหลักฐานจำกัดและพอใช้ได้ที่สนับสนุนการใช้ไคโรแพรกติกในการจัดการอาการบริเวณขา

ความปลอดภัย

เด็กกำลังได้รับจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก

องค์การอนามัยโลกพบว่าการดูแลรักษาแบบไคโรแพรกติกโดยทั่วไปมีความปลอดภัยเมื่อปฏิบัติใช้อย่างมีทักษะและถูกต้องเหมาะสม ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปถึงความปลอดภัยของการจัดดัดดึงแบบไคโรแพรกติกได้ การจัดดัดดึงถูกนับว่าปลอดภัยพอสมควรแต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยมีผลร้าย ความเสี่ยง และข้อห้ามใช้ที่ทราบกันอยู่ข้อห้ามใช้การบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังโดยเด็ดขาด (Absolute contraindications) หมายถึงอาการต่าง ๆ ที่มิควรใช้การจัดดัดดึง ข้อห้ามใช้ตัวอย่างเช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์และอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบว่าส่งผลให้เกิดข้อต่อที่ไม่มั่นคง ข้อห้ามใช้สัมพัทธ์ (Relative contraindications) หมายถึงอาการที่ในบางสถานการณ์ความเสี่ยงที่มากขึ้นเป็นที่ยอมรับได้ และเมื่อเทคนิคสำหรับเนื้อเยื่ออ่อนที่ใช้แรงต่ำเป็นวิธีการรักษาที่ต้องการ ข้อห้ามใช้ชนิดนี้เช่นโรคกระดูกพรุน แม้ว่าข้อห้ามส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้กับการจัดดัดดึงในบริเวณที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น สัญญาณทางประสาทบางประเภทบ่งถึงการส่งต่อให้กับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เช่นอาการปวดหลังหรือปวดคอที่เฉียบพลันและรุนแรงต่างไปจากที่เคยประสบพบเจอ ความเสี่ยงทางอ้อมของไคโรแพรกติกประกอบด้วยการวินิจฉัยโรคที่ช้าหรือพลาดไปโดยเกิดจากการปรึกษากับนักไคโรแพรกติก

การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังสัมพันธ์กับอาการไม่พึงประสงค์ที่ชั่วคราว เบา และเกิดบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดอันใหม่หรือที่แย่ลง หรืออาการตึงในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เหล่านี้ถูกประมาณว่าเกิดขึ้นในผู้ป่วยร้อยละ 33 ถึง 61 และเกิดขึ้นบ่อยครั้งภายในหนึ่งชั่วโมงหลังการรักษาและหายไปภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง อาการไม่พึงประสงค์ปรากฎขึ้นบ่อยหลังการจัดดัดดึงมากกว่าหลังการขยับข้อต่อ อาการไม่พึงประสงค์ซึ่งถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งที่สุดประกอบด้วยอาการปวดหัวเล็กน้อย อาการปวดระบม อาการปวดที่เพิ่มขึ้นชั่วครู่ และอาการล้า ไคโรแพรกติกมีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ที่มากของอาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อย และน้อยครั้ง การจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนบน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สามารถนำไปสู่ความพิการถาวรหรือความตายได้ นี่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ใหญ่ และในเด็ก ประมาณการของอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มีความแตกต่างอย่างมาก และอุบัติการณ์จริงของมันไม่เป็นที่ทราบ เนื่องจากอัตราการรายงานที่ต่ำมากและความยากลำบากในการเชื่อมโยงอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เข้ากับการจัดดัดดึง อาทิสโตรก ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักประการหนึ่ง อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ มีการรายงานต่ำในงานศึกษาที่สอบสวนเกี่ยวกับการจัดดัดดึงแบบไคโรแพรกติก งานปริทัศน์ ค.ศ. 2016 สรุปว่าระดับของการรายงานนั้นไม่มากพอและไม่สามารถยอมรับได้ เคยมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงซึ่งเกิดจากการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังในส่วนเอวและเชิงกราน ประมาณการของอุบัติการณ์ของอาการข้างเคียงร้ายแรงมีตั้งแต่สโตรก 5 กรณีต่อการจัดดัดดึง 100,000 ครั้ง ไปจนถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 1.46 กรณีต่อการจัดดัดดึง 10 ล้านครั้ง และความตาย 2.68 กรณีต่อการจัดดัดดึง 10 ล้านครั้ง ทว่าได้รับพิจารณาว่าข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปผลได้ หลายกรณีแสดงถึงความสัมพันธ์ต่อเวลาระหว่างการรักษากับภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เป็นไปได้ วรรณกรรมแพทย์ที่ถูกเผยแพร่ออกมาประกอบด้วยรายงานความตาย 26 กรณีภายหลังจากการจัดดัดดึงแบบไคโรแพรกติกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1934 และมีอีกหลายกรณีซึ่งยังไม่ถูกเผยแพร่

สโตรกหลอดเลือดแดงเวอร์ทีโบรเบซิลาร์ (Vertebrobasilar artery stroke; VAS) มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับการให้บริการไคโรแพรกติกแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 45 ปี แต่เป็นความสัมพันธ์ที่คล้ายกับการให้บริการของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แสดงนัยว่าความสัมพันธ์นี้อาจอธิบายได้จากสภาวะที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว มีหลักฐานตั้งแต่อย่างอ่อนถึงปานกลางที่สนับสนุนว่ามีเหตุภาพ (ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางสถิติ) ระหว่างการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical manipulative therapy; CMT) และภาวะ VAS มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนว่าการจัดดัดดึงส่วนคอมีความสัมพันธ์อย่างเข้มหรือว่าไม่มีเลยกับสโตรก แม้จะไม่มีหลักฐานทางชีวกลมากพอที่จะสามารถสนับสนุนได้ว่า CMT ก่อให้เกิดการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอ (Cervical artery dissection; CD) แต่รายงานทางคลินิกเสนอว่าแรงเชิงกลมีส่วนในการเกิด CD ปริมาณที่มากพอสมควร และงานศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมของประชากรส่วนใหญ่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการทำ CMT กับภาวะ VAS ในกลุ่มคนอายุน้อย เป็นการแนะนำอย่างยิ่งที่นักปฏิบัติจะพิจารณาถึง CD ว่าเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ และที่ผู้คนจะสามารถได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเกิด CD และการทำ CMT ก่อนการให้บริการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอ มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับของความเสี่ยงของการเป็นสโตรกจากการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคออยู่ นักไคโรแพรกติกหลายคนกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างการบำบัดแบบไคโรแพรกติกกับการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงเวอร์ทีบรอลนั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ อย่างไรก็ตามก็มีการเสนอว่าอาจเป็นไปได้ หรืออาจเป็นได้อย่างแน่นอน ว่ามีความสัมพันธ์แบบก่อเหตุอยู่ระหว่างการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอแบบไคโรแพรกติกซึ่งไปไกลเกินกว่าพิสัยของการเคลื่อนไหวปกติกับอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับหลอดเลือด มีหลักฐานต่ำที่สนับสนุนว่ามีความสัมพันธ์เล็กน้อยระหว่าง การฉีกเซาะของของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นัลคาโรติด (carotid artery dissection) กับการจัดดัดดึงส่วนคอแบบไคโรแพรกติก อุบัติการณ์ของการฉีกเซาะของของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นัลคาโรติดภายหลังการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอไม่เป็นที่ทราบ วรรณกรรมรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอ การฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอ กับสโตรก ให้ดียิ่งขึ้นอย่างไม่บ่อยมากนัก หลักฐานจำกัดไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังแบบไคโรแพรกติกไม่ได้เป็นเหตุอย่างหนึ่งของภาวะความดันในกะโหลกศีรษะต่ำ (intracranial hypotension)หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนในเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Cervical intradural disc herniation) พบเจอได้ยากภายหลังการบำบัดด้วยการจัดดัดดึงกระดูกสันหลัง

นักไคโรแพรกติกบางโอกาสใช้กลวิธีถ่ายภาพเพื่อตรวจวินิจฉัยเหมือนผู้ให้บริการปฐมภูมิอื่น ๆ เช่นด้วยการฉายรังสีเอกซ์และการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้รังสีก่อไอออน แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนแนวปฏิบัตินี้ แต่นักไคโรแพรกติกบางคนอาจยังคงฉายรังสีเอกซ์ใส่ผู้ป่วยหลายครั้งต่อปี แนวปฏิบัติมุ่งลดการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งที่แปรโดยตรงกับปริมาณรังสีที่ได้รับ งานวิจัยแสดงนัยว่าโรงเรียนไคโรแพรกติกทั่วโลกให้การสั่งสอนเรื่องรังสีสิทยาแบบอิงหลักฐาน ทว่าปรากฏว่ามีความแตกต่างกันในบางสถานศึกษาและในหลักฐานที่เกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของการใช้การถ่ายภาพรังสีสำหรับผู้ป่วยอาการปวดหลังส่วนล่างที่ไม่มีสัญญาณของโรคร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นส่วนให้เกิดการใช้การถ่ายภาพรังสีเยอะเกินไปสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่าง

ความเสี่ยงต่อคุณประโยชน์

งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2012 สรุปว่าไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่อคุณประโยชน์ของการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอที่แม่นยำอยู่ งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2010 กล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่ดีพอที่จะกล่าวว่าการจัดดัดดึงคอเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลของอาการทางแพทย์ใด ๆ และเสนอให้บริการสุขภาพใช้หลักระวังไว้ก่อนสำหรับการรักษาแบบไคโรแพรกติก แม้เพียงถ้าหากการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงเวอร์ทีบรอลมีความน่าจะเป็นแม้แต่น้อยที่จะมีต้นเหตุมาจากการจัดดัดดึงคอก็ตาม งานปริทัศน์ชิ้นเดียวกันสรุปว่าความเสี่ยงเสียชีวิตจากการจัดดัดดึงคอไม่คุ้มค่าแลกกับคุณประโยชน์ของมัน นักไคโรแพรกติกวิจารณ์ข้อสรุปนี้ โดยอ้างว่าผู้เขียนมิได้ประเมินคุณประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้ซึ่งแฝงอยู่ในการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังเอ็ทซาร์ท แอ็นสท์ (Edzard Ernst) กล่าวว่า "ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นหัวข้อของงานปริทัศน์ของผม อย่างไรก็ตามผมกล่าวถึงการประเมินเหล่านั้นแล้ว และสมควรที่จะเสริมว่ารายงานที่สภาไคโรแพรกติกทั่วไปเพิ่งมอบหมายไปก็ไม่ได้สนับสนุนข้อกล่าวอ้างแปลกพิลึกหลายประการของนักไคโรแพรกติกหลายคนจากทั่วทั้งโลก" งานปริทัศน์ ค.ศ. 1999 ว่าด้วยรายงานการบาดเจ็บ 177 กรณีระหว่าง ค.ศ. 1925 และ 1997 ซึ่งถูกระบุว่าเกิดจากการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอ (MCS) ได้สรุปว่า "วรรณกรรมไม่แสดงว่าคุณประโยชน์ของ MCS คุ้มค่าต่อความเสี่ยง" วิชาชีพซึ่งถูกสัมพันธ์กับอาการบาดเจ็บต่าง ๆ ถูกประเมิน นักกายภาพบำบัดมีส่วนในการบาดเจ็บน้อยกว่าร้อยละ 2 จากกรณีทั้งหมดโดยไม่มีความตายเหตุจากนักกายภาพบำบัดเลย นักไคโรแพรกติกมีส่วนในกว่าร้อยละ 60 ของกรณีทั้งหมด ซึ่งรวมถึงความตาย 32 กรณี

งานปริทัศน์ ค.ศ. 2009 ประเมินการให้บริการบำรุงรักษาแบบไคโรแพรกติกและพบว่าการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังมีความสัมพันธ์กับอาการบาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ชี้ว่ามันสามารถป้องกันอาการหรือโรคต่าง ๆ ได้โดยสมควร ฉะนั้นคุณประโยชน์ต่อความเสี่ยงจึงไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ

ประสิทธิผลต่อต้นทุน

งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2012 เสนอว่าการใช้การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังอย่างเดียวหรือร่วมกับแนวทางการรักษาแบบอื่นในการปฏิบัติทางคลินิกเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลต่อต้นทุน (Cost-effectiveness analysis) งานปริทัศน์ ค.ศ. 2011 พบหลักฐานซึ่งสนับสนุนว่าการใช้การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังสำหรับการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังหรือกึ่งเฉียบพลันมีประสิทธิผลต่อต้นทุน ผลลัพธ์สำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันมีไม่เพียงพอ

งานปริทัศน์เป็นระบบ ค.ศ. 2006 เกี่ยวกับต้นทุน-ประสิทธิผลพบว่าต้นทุน-ประสิทธิผลของการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังที่ถูกรายงานในสหราชอาณาจักรมีความน่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับการรักษาอาการปวดหลังรูปแบบอื่น แต่ว่ารายงานเหล่านั้นมาจากข้อมูลการทดลองทางคลินิกที่ไม่ใช้กลุ่มควบคุมด้วยยาหลอก และต้นทุน-ประสิทธิผลจำเพาะของการรักษานั้น (ต่างจากผลลัพธ์ที่ไม่จำเพาะ) ยังคงไม่แน่นอน งานปริทัศน์เป็นระบบจากอเมริกา ค.ศ. 2005 เกี่ยวกับการประเมินทางเศรษฐกิจของการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเชิงอนุรักษ์พบว่างานศึกษาที่มีอยู่มีปัญหาด้านคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญและจึงไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลต่อต้นทุนมากที่สุดได้อย่างแน่นอนได้. ต้นทุน-ประสิทธิผลของการดูแลบำรุงรักษาแบบไคโรแพรกติกไม่เป็นที่ทราบ

งานวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานทางคลินิกและต้นทุนจาก ค.ศ. 2003 ถึง 2005 โดยสมาคมเวชปฏิบัติอิสระ (independent physician association) แพทย์บูรณาการซึ่งตรวจสอบการใช้งานบริการไคโรแพรกติกพบว่า การใช้งานทางคลินิกและต้นทุนของบริการไคโรแพรกติกอิงจากสมาชิก 70,274 คน-เดือน ตลอดระยะเวลา 7 ปีทำให้ต้นทุนของผู้ป่วยซึ่งสัมพันธ์กับการเข้าใช้บริการครั้งต่อไปลดลงร้อยละ 60 สำหรับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ร้อยละ 59 สำหรับจำนวนวันในโรงพยาบาล ร้อยละ 62 สำหรับการผ่าตัดและหัตถการของผู้ป่วยนอก และร้อยละ 85 สำหรับค่าเภสัชกรรม เมื่อเทียบกับสมาคมเวชปฏิบัติอิสระแพทย์แผนปัจจุบัน สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพขององค์กรบำรุงรักษาสุขภาพ (Health maintenance organization) แผนเดียวกัน ในภูมิภาคและช่วงเวลาเดียวกัน

การศึกษา ใบอนุญาต และระเบียบข้อบังคับ

ดูบทความหลักที่: การศึกษาไคโรแพรกติก

แต่ละประเทศมีข้อกำหนดที่ต่างกัน ในประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลทําการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยศาสตร์ไคโรแพรกติก พ.ศ. 2557 คุณสมบัติของบุคคลที่จะขอหนังสืออนุญาตทําการประกอบโรคศิลปะไคโรแพรกติกโดยสรุปแล้วประกอบด้วย ต้องได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาไคโรแพรกติกจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะรับรอง และต้องผ่านการสอบความรู้จากคณะกรรมการฯ และหากเป็นบุคคลสัญชาติอื่นจะต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีติดต่อกัน

ในสหรัฐ นักไคโรแพรกติกได้รับใบอนุปริญญาที่ได้รับการรับรองในสาขาของไคโรแพรกติกซึ่งมิใช่แพทยศาสตร์ การศึกษาไคโรแพรกติกในสหรัฐถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวในการบรรลุมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วไปของเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน เนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (clinical science) ระหว่างวิทยาลัยแพทย์กับวิทยาลัยไคโรแพรกติกในทวีปอเมริกาเหนือไม่ค่อยมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งด้านประเภทของวิชาที่มีและจำนวนเวลาที่กำหนดต่อแต่ละวิชา แผนการเรียนสาขาไคโรแพรกติกที่ได้รับการรับรองคุณภาพในสหรัฐกำหนดว่าผู้เข้าศึกษาต้องได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 90 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาและมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0 ในระบบตัวเลข 4.0 แผนการเรียนหลายแผนกำหนดว่าต้องได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างน้อยสามปี และหลายแผนกำหนดให้มีวุฒิระดับปริญญาตรี

ประเทศแคนาดากำหนดให้ผู้สมัครต้องได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างน้อยสามปี และอย่างน้อยต้องได้เข้ารับจำนวนชั่วโมงการฝึกสอนไคโรแพรกติกเต็มเวลา 4200 ชั่วโมง (หรือเทียบเท่า) เพื่อที่จะสามารถเข้ารับการศึกษาในแผนการเรียนไคโรแพรกติกที่ได้รับการรับรองได้ บัณฑิตของ Canadian Memorial Chiropractic College (CMCC) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 7-8 ปีเป็นอย่างน้อย แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกเสนอให้เป็นการศึกษาแบบเต็มเวลาจำนวนสามแนวทางระดับปริญญาดอกเตอร์อ็อฟไคโรแพรกติก (DC) ปริญญาเอกสาขาเวชศาสตร์คลินิก (DCM) วิทยาศาสตรบัณฑิต (BSc) หรือวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (MSc) นอกจากแบบเต็มเวลาแล้ว ก็เสนอให้มีหลักสูตรข้ามสายสำหรับผู้ที่มีการศึกษาการบริการสุขภาพสาขาอื่น ๆ และหลักสูตรอบรมแบบจำกัดสำหรับภูมิภาคซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติควบคุมไคโรแพรกติก

เมื่อจบการศึกษา อาจมีข้อกำหนดให้ผ่านการสอบความรู้จากคณะกรรมการระดับจังหวัด รัฐ หรือระดับชาติก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตในการปฏิบัติในแต่ละเขตอำนาจ อาจต้องเข้ารับการศึกษาต่อเนื่อง (continuing education) เพื่อต่ออายุใบอนุญาตใหม่โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ อาจมีการฝึกอบรมเฉพาะทางผ่านหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษานอกเวลาเช่นออร์โทพีดิกส์ไคโรแพรกติกและไคโรแพรกติกการกีฬา หรือผ่านหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านเต็มเวลาเช่นรังสีวิทยาหรือออร์โทพีดิกส์

ในสหรัฐ โรงเรียนไคโรแพรกติกได้รับการรับรองจาก Council on Chiropractic Education (CCE) ในขณะที่ General Chiropractic Council (GCC) เป็นองค์กรรัฐที่รับผิดชอบควบคุมไคโรแพรกติกตามกฎหมายในสหราชอาณาจักร สภา CCE ในสหรัฐกำหนดหลักสูตรแบบผสม ซึ่งหมายความว่านักไคโรแพรกติกที่ได้รับการศึกษาแบบโดยตรงจะไม่สามารถขอใบอนุญาตในรัฐที่กำหนดให้ได้รับการรับรองจาก CCE ได้ CCE ในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และทวีปยุโรปได้รวมกันก่อตั้งองค์กรนานาชาติ CCE-International (CCE-I) เพื่อเป็นตัวแบบของมาตรฐานการให้การรับรอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ใบรับรองสามารถใช้ได้ในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีหลักสูตรดอกเตอร์อ็อฟไคโรแพรกติกที่ได้รับการรับรอง 18 หลักสูตรในสหรัฐ 2 หลักสูตรในแคนาดา 6 หลักสูตรในแถบออสตราเลเชีย และ 5 หลักสูตรในทวีปยุโรป วิทยาลัยไคโรแพรกติกเกือบทุกแห่งในสหรัฐเป็นของเอกชนยกเว้นแห่งเดียว แต่ในประเทศอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยที่สนับสนุนโดยรัฐ จากสองวิทยาลัยไคโรแพรกติกในแคนาดามีหนึ่งแห่งเป็นของรัฐ (Université du Québec à Trois-Rivières; UQTR) และอีกแห่งเป็นของเอกชน (Canadian Memorial Chiropractic College; CMCC) ใน ค.ศ. 2005 CMCC ได้รับสิทธิในการมอบปริญญาบัตรสาขาบริการสุขภาพวิชาชีพภายใต้พระราชบัญญัติ Post-secondary Education Choice and Excellence ซึ่งกำหนดให้หลักสูตรนั้นอยู่ในลำดับชั้นระดับการศึกษาในแคนาดาระดับที่เทียบได้กับของวิชาชีพบริการสุขภาพลำดับปฐมภูมิ อาทิแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และทัศนมาตรศาสตร์

คณะกรรมการควบคุมวิทยาลัยและไคโรแพรกติกในสหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก และออสเตรเลีย มีหน้าที่รับผิดชอบการปกป้องสาธารณชน มาตรฐานการปฏิบัติ ปัญหาทางวินัย การประกันคุณภาพ และการทำนุบำรุงความสามารถ นักไคโรแพรกติกในสหรัฐมีอยู่ประมาณ 49,000 คน (ค.ศ. 2008) 6,500 คนในแคนาดา (ค.ศ. 2010) 2,500 คนในออสเตรเลีย (2000) 1,500 คนในสหราชอาณาจักร (ค.ศ. 2000) และอย่างน้อย 36 คนในประเทศไทย อ้างอิงตามสมาคมการแพทย์ทางเลือกไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย

นักไคโรแพรกติกมักอ้างว่าการศึกษาแบบนี้ดีเท่ากับหรือดีกว่าของแพทย์ แต่การฝึกอบรมไคโรแพรกติกส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในห้องเรียนและใช้เวลาส่วนมากไปกับการเรียนทฤษฎี การจัดกระดูก และการตลาด ปีที่สี่ของการศึกษาไคโรแพรกติกแสดงระดับความเครียดที่สูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาทุกคน ไม่ว่าอยู่ในปีใด ประสบกับความเครียดระดับต่าง ๆ ระหว่างการศึกษา ผู้นำไคโรแพรกติกกับวิทยาลัยไคโรแพรกติกเคยมีความขัดแย้งภายในอยู่ และมีการต่อสู้กันเองระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ มากกว่าการร่วมมือกัน

จรรยาบรรณ

คำปฏิญาณไคโรแพรกติกเป็นฉบับสมัยใหม่ของคำปฏิญาณของฮิปพอคราทีส (Hippocratic Oath) แบบดั้งเดิมที่แพทย์และผู้ประกอบอาชีพบริการสุขภาพอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์สาบานว่าจะปฏิบัติวิชาชีพอย่างมีจรรยาบรรณ สมาคมไคโรแพรกติกอเมริกัน (ACA) มีประมวลจรรยาบรรณที่ "อยู่บนฐานของการรับรู้ว่าสัญญาประชาคมเป็นสิ่งที่กำหนดความรับผิดชอบที่วิชาชีพมีต่อผู้ป่วย สาธารณะ และวิชาชีพเอง และค้ำจุนหลักการขั้นพื้นฐานว่าความมุ่งหมายอันสูงสุดของบริการวิชาชีพแพทย์ไคโรแพรกติกคือการเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วย" สมาคม International Chiropractors Association (ICA) ก็มีประมวลจรรยาบรรณชุดหนึ่ง

บทวิจารณ์ ค.ศ. 2008 เสนอให้วิชาชีพไคโรแพรกติกคอยควบคุมบังคับตนเองเพื่อต่อกรกับกลฉ้อฉล การต้มตุ๋น (quackery) และการใช้ในทางที่ผิด ซึ่งแพร่หลายในไคโรแพรกติกมากกว่าในวิชาชีพบริการสุขภาพชนิดอื่น ๆ และเป็นการละเมิดสัญญาประชาคมที่มีอยู่ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ อ้างอิงตามผลโพลผู้ใหญ่ในสหรัฐ ค.ศ. 2015 ของบริษัทแกลลัพ ภาพพจน์ของนักไคโรแพรกติกโดยทั่วไปเป็นที่น่าพึงพอใจ ผู้ใหญ่อเมริกันสองในสามส่วนเห็นด้วยว่านักไคโรแพรกติกยึดมั่นในผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ป่วย และกว่าครึ่งเห็นด้วยว่านักไคโรแพรกติกส่วนใหญ่มีความน่าเชื่อถือ ผู้ใหญ่ในสหรัฐน้อยกว่าร้อยละ 10 ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่านักไคโรแพรกติกมีความน่าเชื่อถือ

องค์กรการกุศล Sense about Science ปล่อยตัวการรณรงค์เรียกร้องความสนใจแก่คดีระหว่างสมาคมไคโรแพรกติกสหราชอาณาจักรกับนักเขียนวิทยาศาสตร์ไซมอน สิงห์ ใน ค.ศ. 2009 หลายองค์กรและบุคคลสาธารณะได้ลงนามในแถลงการณ์จั่วหัวว่า "กฎหมายไม่ควรยุ่งกับข้อพิพาททางวิทยาศาสตร์"

นักไคโรแพรกติก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงในด้านการรักษาผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ในหลายโอกาส มักมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐศาสตร์มากกว่าเรื่องการให้บริการสุขภาพ การดูแลแบบไคโรแพรกติกอย่างต่อเนื่องถูกส่งเสริมว่าเป็นเครื่องมือป้องกัน แต่การจัดดัดดึงโดยไม่จำเป็นอาจเป็นการทำให้ผู้ป่วยเผชิญกับความเสี่ยง นักไคโรแพรกติกบางคนเป็นกังวลต่อคำกล่าวอ้างซึ่งไร้เหตุผลที่นักไคโรแพรกติกทำเป็นกิจวัตร งานวิเคราะห์เว็บไซต์ไคโรแพรกติกใน ค.ศ. 2010 พบว่านักไคโรแพรกติกและสมาคมของพวกเขาส่วนใหญ่อ้างถึงประสิทธิผลซึ่งไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ในขณะที่เว็บไซต์ไคโรแพรกติกร้อยละ 28 สนับสนุนการดูแลรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งมีหลักฐานที่สมบูรณ์อยู่บ้าง

สำนักงานผู้ตรวจการสหรัฐ (Office of Inspector General (United States)) ประมาณการณ์ว่าในปีปฏิทิน ค.ศ. 2013 การจ่ายค่ารักษาให้นักไคโรแพรกติกผ่านประกันสุขภาพเมดิแคร์ส่วน B (Medicare (United States)) ร้อยละ 82 จากทั้งหมด 359 ล้านดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดของเมดิแคร์ สำนักงานผู้ตรวจการได้ทำรายงานความผิดปรกติในการเรียกเก็บค่าบริการไคโรแพรกติกมาอย่างน้อย 15 ฉบับนับตั้งแต่ ค.ศ. 1986

ใน ค.ศ. 2009 กระแสโต้กลับ (Backlash (sociology)) ต่อคดีหมิ่นประมาทที่สมาคมไคโรแพรกติกสหราชอาณาจักรฟ้องร้อง (British Chiropractic Association v Singh) นักเขียนวิทยาศาสตร์ไซมอน สิงห์ (Simon Singh) นำพาให้มีการร้องทุกข์การโฆษณาหลอกลวงของนักไคโรแพรกติกมากกว่า 500 คนภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และกระตุ้นให้สมาคมไคโรแพรกติกแม็คทิโมนี (McTimoney Chiropractic Association) เขียนแนะนำไปยังสมาชิกให้เอาใบปลิวต่าง ๆ ซึ่งอ้างถึงอาการคอสะบัด (วิปแลช) และปวดบิดในทารก (โคลิค) จากการปฏิบัติของพวกเขาออก ให้ระวังผู้ป่วยรายใหม่ ๆ และสายโทรสอบถาม และกล่าวต่อสมาชิกว่า "ถ้าคุณมีเว็บไซต์ ปิดมันลงเดี๋ยวนี้" และ "สุดท้าย เราขอเตือนคุณว่าอย่าพูดคุยเรื่องนี้กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วย" บทบรรณาธิการใน เนเจอร์ เสนอว่าสมาคมไคโรแพรกติกสหราชอาณาจักรอาจกำลังพยายามห้ามไม่ให้มีการโต้เถียง และการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอังกฤษครั้งนี้เป็นอุปสรรคต่อสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) คดีหมิ่นประมาทจบลงด้วยการที่สมาคมฯ ถอนฟ้องไปใน ค.ศ. 2010

การตอบรับ

ไคโรแพรกติกมีรากฐานดีแล้วในสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย และมีอยู่ในประเทศอื่น ๆ ในระดับลดหลั่นลงมา โดยถูกมองว่าเป็นความพยายามชายขอบของการแพทย์ทางเลือกและผสมผสานที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ทางคลินิก และไม่ได้บูรณาการเข้ากับการแพทย์กระแสหลัก เงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐถูกใช้จ่ายไปสำหรับบริการไคโรแพรกติกในสหรัฐ

ออสเตรเลีย

ในประเทศออสเตรเลีย มีนักไคโรแพรกติกประมาณ 2488 คน หรือมีนักไคโรแพรกติกหนึ่งคนต่อประชากร 7980 คน ประกันสุขภาพส่วนใหญ่ในออสเตรเลียครอบคลุมถึงการดูแลรักษาแบบไคโรแพรกติก และรัฐบาลกลางจ่ายค่าการดูแลรักษาไคโรแพรกติกให้เมื่อแพทย์เวชปฏิบัติเป็นผู้ส่งต่อผู้ป่วย ใน ค.ศ. 2014 กำลังแรงงานนักปฏิบัติวิชาชีพไคโรแพรกติกที่ลงทะเบียนอยู่มี 4,684 รายในประเทศออสเตรเลีย โดยมีตัวแทนเป็นองค์กรหลักสองแห่ง สมาคมนักไคโรแพรกติกแห่งประเทศออสเตรเลีย (Chiropractors' Association of Australia; CAA) และวิทยาลัยไคโรแพรกติกและออสทีโอพาธีแห่งออสตราเลเชีย (Chiropractic and Osteopathic College of Australasia; COCA) ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลรักษาแบบไคโรแพรกติกต่อปี (อย่างเดียวหรือร่วมกับออสทีโอพาธี) ในออสเตรเลียถูกประมาณไว้ว่าอยู่ระหว่าง 750-988 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยการให้คำปรึกษาส่วนมากเกี่ยวกับอาการทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูกเช่นอาการปวดหลังและคอ และสัดส่วนของการใช้จ่ายนั้นคล้ายกับที่พบเจอในประเทศอื่น ๆ ในขณะที่เมดิแคร์ (ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐในประเทศออสเตรเลีย) จำกัดความครอบคลุมการบริการไคโรแพรกติกไว้เฉพาะพวกที่ทำผ่านการส่งต่อจากแพทย์เพื่อเอื้ออำนวยการจัดการโรคเรื้อรังเท่านั้น บริษัทประกันสุขภาพเอกชนส่วนใหญ่ในออสเตรเลียให้บริการเบิกจ่ายบางส่วนของค่าบริการไคโรแพรกติกโดยครอบคลุมอย่างกว้างขวางนอกเหนือจากบริการตัวกลางชำระเงินแบบจำกัดสำหรับเงินทดแทนคนงานและอุบัติเหตุยานยนต์

จากนักไคโรแพรกติก 2,005 คนซึ่งมีส่วนร่วมในงานสำรวจ ค.ศ. 2015 ร้อยละ 62.4 เป็นผู้ชายและอายุโดยเฉลี่ยเท่ากับ 42.1 (SD = 12.1) ปี นักไคโรแพริกติกเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 97.1) มีวุฒิปริญญาตรีหรือสูงกว่า โดยส่วนใหญ่วุฒิวิชาชีพระดับสูงสุดของนักไคโรแพรกติกเป็นปริญญาตรีหรือปริญญาตรีคู่ (ร้อยละ 34.6) ตามมาด้วยปริญญาโท (ร้อยละ 32.7) ปริญญาดอกเตอร์อ็อฟไคโรแพรกติก (ร้อยละ 28.9) และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ร้อยละ 0.9) นักไคโรแพรกติกส่วนน้อยมีวุฒิสูงสุดเป็นอนุปริญญา (ร้อยละ 2.1) และอนุปริญญาขั้นสูง (ร้อยละ 0.8)

สหราชอาณาจักร

ในสหราชอาณาจักร มีนักไคโรแพรกติกกว่า 2000 คน หรือมีนักไคโรแพรกติกหนึ่งคนต่อประชากร 29,206 คน ไคโรแพรกติกมีอยู่ในบริการสุขภาพแห่งชาติในบางพื้นที่ เช่นคอร์นวอลล์ โดยให้การรักษาเฉพาะอาการปวดคอหรือหลัง

งานศึกษา ค.ศ. 2010 ผ่านแบบสอบถามนักไคโรแพรกติกในสหราชอาณาจักรชี้ว่านักไคโรแพรกติกเพียงร้อยละ 45 เท่านั้นที่เปิดเผยถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่การจัดดัดดึงกระดูกสันหลังส่วนคอมีให้กับผู้ป่วย และร้อยละ 46 เชื่อว่าผู้ป่วยอาจปฏิเสธไม่รับการรักษาหากอธิบายความเสี่ยงให้อย่างถูกต้อง ทว่าร้อยละ 80 ยอมรับว่าการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงต่อผู้ป่วยนั้นเป็นความรับผิดชอบทางจรรยาบรรณและจริยธรรม

สหรัฐและแคนาดา

อัตราร้อยละของประชากรซึ่งรับบริการไคโณแพรกติก ณ ช่วงเวลาใด ๆ โดยทั่วไปตกอยู่ระหว่างร้อยละ 6 ถึง 12 ในสหรัฐและประเทศแคนาดา โดยมีค่าสูงสุดร้อยละ 20 ในรัฐแอลเบอร์ตาเมื่อ ค.ศ. 2006 ใน ค.ศ. 2008 มีรายงานว่านักไคโรแพรกติกเป็นผู้ให้บริการการแพทย์ทางเลือกและผสมผสานแก่เด็กและวัยรุ่นจำนวนมากที่สุด โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 14 ของผู้เข้ารับการรักษากับนักไคโรแพรกติกทั้งหมด

มีนักไคโรแพรกติกทำการปฏิบัติในทวีปอเมริกาเหนือ 50,330 คนใน ค.ศ. 2000 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เป็น 60,000 คนใน ค.ศ. 2008 ระหว่าง ค.ศ. 2002–2003 ผู้ที่แสวงหารับบริการไคโรแพรกติกส่วนใหญ่ไปเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังและคอ และอาการทางกล้ามเนื้อและโครงกระดูกอื่น ๆ และส่วนใหญ่นั้นไปสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างโดยเฉพาะ นักไคโรแพรกติกส่วนใหญ่ในสหรัฐเข้าร่วมในแผนการบริการจัดการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แม้ว่านักไคโรแพรกติกส่วนใหญ่ในสหรัฐมองว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะทางระบบประสาท กล้ามเนื้อ และโครงกระดูก แต่หลายคนก็นับว่าไคโรแพรกติกเป็นการดูแลขั้นปฐมภูมิชนิดหนึ่ง ในกรณีส่วนใหญ่ ตลาดการบริการของนักไคโรแพรกติกกับแพทย์จะแยกจากกัน ทว่าในบางกรณีก็ให้บริการผสมผสานกัน

การรักษาแบบจัดดัดดึงในสหรัฐกว่าร้อยละ 90 จากทั้งหมดกระทำโดยนักไคโรแพรกติก อัตราความพึงพอใจสำหรับการบริการไคโรแพรกติกโดยทั่วไปจะสูงกว่าของการบริการทางการแพทย์ โดยงานสำรวจใน ค.ศ. 1998 ในสหรัฐรายงานว่าผู้ตอบสนองร้อยละ 83 ได้รับความพึงพอใจหรือความพึงพอใจอย่างยิ่งจากการบริการที่พวกเขาได้รับ คุณภาพของการสื่อสารดูจะเป็นตัวคาดการณ์ความพึงพอใจที่ผู้ป่วยมีต่อนักไคโรแพรกติกได้อย่างสม่ำเสมอ

อัตราการใช้สอยการบริการไคโรแพรกติกตอบสนองกับต้นทุนที่เกิดจากการร่วมจ่าย (copayment) ของผู้ป่วย การใช้บริการไคโรแพรกติกในกลุ่มผู้ใหญ่ในสหรัฐลดลงจากร้อยละ 9.9 ใน ค.ศ. 1997 เหลือร้อยละ 7.4 ใน ค.ศ. 2002 การลดต่ำลงครั้งนี้เยอะที่สุดโดยสัมพัทธ์ในกลุ่มวิชาชีพการแพทย์ทางเลือกและผสมผสาน ที่โดยรวมแล้วมีอัตราการใช้บริการที่เสถียร ใน ค.ศ. 2007 ไคโรแพรกติกเข้าถึงประชากรสหรัฐร้อยละ 7 ใน ค.ศ. 2002 ไคโรแพรกติกเป็นวิชาชีพการแพทย์ขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามในสหรัฐ ตามหลังแพทย์และทันตแพทย์ มีการคาดการณ์การเติบโตของอัตราจ้างงานนักไคโรแพรกติกในสหรัฐระหว่าง ค.ศ. 2006 และ 2016 ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพทุกอาชีพ

ในสหรัฐ รัฐส่วนใหญ่กำหนดบริษัทประกันสุขภาพครอบกลุ่มการดูแลรักษาแบบไคโรแพรกติก และองค์กรบำรุงรักษาสุขภาพส่วนใหญ่ครอบคลุมบริการเหล่านี้

ประวัติ

ดูบทความหลักที่: ประวัติไคโรแพรกติก
แดเนียล เดวิด (ดี. ดี.) พาลเมอร์ ผู้ก่อตั้งไคโรแพรกติก

ไคโรแพรกติกมีต้นกำเนิดเป็นการจัดกระดูกของการแพทย์ดั้งเดิม ที่นักปฏิบัติที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมกระทำการจัดดัดดึงข้อต่อหรือจัดกระดูกที่แตกหักใหม่ ไคโรแพรกติกถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1895 โดยแดเนียล เดวิด (ดี. ดี.) พาลเมอร์ ในแดเวนพอร์ต รัฐไอโอวา พาลเมอร์ผู้เป็นนักบำบัดแม่เหล็ก (Magnet therapy) สันนิษฐานว่าการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังด้วยมือสามารถรักษาโรคได้ ผู้รับการรักษาแบบไคโรแพรกติกคนแรกของ ดี. ดี. พาลเมอร์ คือฮาร์วีย์ ลิลลาร์ด (William Harvey Lillard) คนงานในอาคารเดียวกันกับสำนักงานของพาลเมอร์ เขากล่าวว่าเขาสูญเสียการได้ยินมานาน 17 ปี ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากที่เกิด "pop" ในกระดูกสันหลังของเขา ภายหลังจากการจัดกระดูกไม่กี่วัน ลิลลาร์ดกล่าวว่าเขากลับมาได้ยินเกือบสมบูรณ์ ผู้ป่วยอีกคนของพาลเมอร์ ซามูเอล วีด (Samuel Weed) บัญญัติคำว่า chiropractic ขึ้นมาจากคำว่า chiro- ไคโร จากศัพท์ภาษากรีก χειρο- ชีโร- ที่แปลว่า 'มือ' (จากศัพท์ภาษากรีกโบราณ χείρ เคร์ ที่แปลว่า 'มือ' อีกที) และคำว่า πρακτικός praktikos ปรักติโกส ที่แปลว่า 'ปฏิบัติ' ไคโรแพรกติกถูกจัดประเภทเป็นสาขาวิชาการแพทย์เทียมด้วยเหตุว่ามีต้นกำเนิดแบบคุยหลัทธิตะวันตก

ไคโรแพรกติกแข่งขันกับออสทีโอพาธีที่เกิดมาก่อน ซึ่งเป็นระบบการแพทย์อีกแผนซึ่งวางอยู่บนฐานของแม่เหล็กบำบัด ทั้งสองระบบถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวสหรัฐภาคตะวันตกกลาง (Midwestern United States) ที่มีสเน่ห์ ซึ่งต่างไปจากการแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยนั้น และทั้งสองสันนิษฐานว่าการจัดดัดดึงช่วยส่งเสริมสุขภาพ แม้ในช่วงแรกไคโรแพรกติกถูกเก็บไว้เป็นความลับของครอบครัว แต่ใน ค.ศ. 1898 พาลเมอร์ได้เริ่มสอนมันให้กับศิษย์น้อยคนที่โรงเรียนไคโรแพรกติกพาลเมอร์ (Palmer College of Chiropractic) แห่งใหม่ของเขาเอง นักเรียนคนหนึ่ง ลูกชายของเขา บาร์ตเลตต์ โจชัว (บี. เจ.) พาลเมอร์ ได้อุทิศตนต่อการส่งเสริมไคโรแพรกติก รับช่วงต่อดำเนินการโรงเรียนพาลเมอร์ไปใน ค.ศ. 1906 และขยับขยายจำนวนการรับสมัครเข้าเรียนอย่างรวดเร็ว

นักไคโรแพรกติกสมัยแรกเชื่อว่าสารพัดโรคล้วนเกิดจากอุปสรรคที่ขัดขวางกระแสการไหลเวียนของเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิด กล่าวคือ พลังงานทางประสาทแบบชีวิตนิยมหรือพลังชีวิตรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งแสดงแทนของการดำรงอยู่ของพระเจ้าในมนุษย์ ผู้นำไคโรแพรกติกมักอัญเชิญจินตภาพทางศาสนาและจารีตประเพณีทางจรรยามาใช้ ดี. ดี. พาลเมอร์ เคยกล่าวว่าเขาได้รับไคโรแพรกติกมาจาก "ต่างโลก" ทั้ง ดี. ดี. และ บี. เจ. เคยพิจารณาประกาศให้ไคโรแพรกติกเป็นศาสนาอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจทำให้สามารถรับการคุ้มครองทางกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐได้ (Free Exercise Clause) แต่ตัดสินใจไม่ทำเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงการสับสนกับวิทยาศาสตร์คริสเตียน (Christian Science) นักไคโรแพรกติกสมัยแรกยังได้ใช้ประโยชน์จากขบวนการประชานิยม โดยเน้นเรื่องหัตถกรรม การทำงานหนัก การแข่งขัน และการโฆษณา ซึ่งได้ปรับแนวตนเองเข้ากับสามัญชนต่อต้านปัญญาชนและการผูกขาด (Trust (business)) ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงสมาคมการแพทย์อเมริกัน (AMA) ด้วย

บี. เจ. พาลเมอร์ ผู้พัฒนาไคโรแพรกติกช่วงเริ่มแรก

มีข้อถกเถียงและข้อวิจารณ์เกี่ยวกับไคโรแพรกติกอยู่อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่า ดี. ดี. และ บี. เจ. เป็นพวก "โดยตรง" และดูถูกการใช้อุปกรณ์ แต่นักไคโรแพรกติกสมัยแรกที่ บี. เจ. เรียกสบประมาทว่าเป็น "พวกผสม" สนับสนุนการใช้อุปกรณ์ ใน ค.ศ. 1910 บี. เจ. เปลี่ยนใจมาสนับสนุนให้รังสีเอกซ์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการวินิจฉัย นี่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และนักเรียนจำนวนมากซึ่งอนุรักษ์นิยมกว่าออกจากโรงเรียนพาลเมอร์ ฝั่งของแบบผสมเติบโตขึ้นจนกระทั่งใน ค.ศ. 1924 บี. เจ. ประมาณว่ามีนักไคโรแพรกติกแบบโดยตรงหลงเหลืออยู่เพียง 3,000 คนเท่านั้นจากนักไคโรแพรกติกในสหรัฐทั้งหมด 25,000 คน ในปีนั้นเอง สิ่งประดิษฐ์ของ บี. เจ. neurocalometer อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ และการส่งเสริมมันโดยเขากลายเป็นข้อถกเถียงท่ามกลางเพื่อนนักไคโรแพรกติกแบบโดยตรงของเขา และในคริสต์ทศวรรษ 1930 ไคโรแพรกติกได้กลายเป็นวิชาชีพการแพทย์ทางเลือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ

ฮาร์วีย์ ลิลลาร์ด ผู้รับการรักษาแบบไคโรแพรกติกรายแรก

ไคโรแพรกติกถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากสถาบันการแพทย์ ดี. ดี. พาลเมอร์ถูกจำคุกใน ค.ศ. 1907 เพราะให้บริการทางการแพทย์โดยไม่มีใบอนุญาต นักไคโรแพรกติกหลายพันคนถูกดำเนินคดีเพราะให้บริการสุขภาพโดยไม่มีใบอนุญาต (Health care provider) และหลายคนถูกจำคุกไปเช่นกันกับ ดี. ดี. เพื่อเป็นการป้องกันจากกฎหมายเกี่ยวกับการแพทย์ บี. เจ. อ้างว่าไคโรแพรกติกเป็นสิ่งที่แยกจากและแตกต่างจากการแพทย์ โดยอ้างว่านักไคโรแพรกติก "วิเคราะห์" แทนที่จะ "วินิจฉัย" และ "ปรับ" ภาวะข้อเคลื่อนแทนที่จะ "รักษา" โรค บี. เจ. ได้ร่วมก่อตั้งสมาคม Universal Chiropractors' Association (UCA) เพื่อให้บริการด้านกฎหมายแก่นักไคโรแพรกติกซึ่งถูกจับกุม แม้ว่าสมาคม UCA จะชนะคดีทดสอบตัวบทกฎหมายเป็นครั้งแรกในรัฐวิสคอนซินใน ค.ศ. 1907 แต่คณะกรรมการการแพทย์ของรัฐก็ยังคงดำเนินคดีบ่อยยิ่งขึ้นและในหลายกรณีก็เป็นผลสำเร็จ นักไคโรแพรกติกจึงได้รณรงค์ทางการเมืองตอบโต้เพื่อให้มีกฎหมายออกใบอนุญาตแยกออกมาเป็นของตัวเอง ซึ่งในที่สุดประสบความสำเร็จในทุก 50 รัฐ ตั้งแต่รัฐแคนซัสใน ค.ศ. 1913 จนกระทั่งรัฐลุยเซียนาใน ค.ศ. 1974 ความบาดหมางระหว่างนักไคโรแพรกติกกับแพทย์ยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ สมาคมการแพทย์อเมริกันเรียกไคโรแพรกติกว่าเป็น "ลัทธิไม่เป็นวิทยาศาสตร์" ใน ค.ศ. 1966 และจนถึง ค.ศ. 1980 ก็ได้แนะนำแพทย์สมาชิกว่าการคบค้าสมาคมกับ "นักปฏิบัติที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์" เป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณแพทย์ นี่ถึงจุดสูงสุดในคำพิพากษาครั้งสำคัญในคดีระหว่างวิลก์กับสมาคมการแพทย์อเมริกันใน ค.ศ. 1987 โดยศาลวินิจฉัยว่าสมาคมฯ นั้นได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยเหตุผลในการจำกัดการแข่งขันทางการค้าและการสบคบคิด ซึ่งได้ทำให้การคว่ำบาตรไคโรแพรกติกโดยพฤตินัยของสมาคมฯ ต้องสิ้นสุดลง

กว่าจะเริ่มมีการวิจัยอย่างจริงจังเพื่อทดสอบทฤษฎีของไคโรแพรกติกก็ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และยังคงถูกขัดขวางโดยแนวคิดต่อต้านวิทยาศาสตร์และแบบวิทยาศาสตร์เทียมซึ่งได้ยังชีพของวิชาชีพนี้ไว้ในช่วงของการต่อสู้เป็นเวลายาวนานกับสถาบันการแพทย แต่ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ก็เริ่มมีความสนใจทางวิชาการในไคโรแพรกติกซึ่งเอื้อต่อความพยายามในการพัฒนาคุณภาพการบริการและการสถาปนาแนวปฏิบัติทางคลินิกที่แนะนำการใช้การบำบัดด้วยมือสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลัน ในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ไคโรแพรกติกได้รับความชอบธรรมและการยอมรับยิ่งขึ้นจากแพทย์และประกันสุขภาพ และยังมีฐานการเมืองที่เข้มแข็งและความต้องการบริการของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ทว่าอนาคตของมันกลับดูไม่แน่นอน เมื่อจำนวนนักปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น การแพทย์อิงหลักฐานยึดในการรักษาที่มีคุณค่าซึ่งพิสูจน์แล้ว การบริการจัดการจำกัดการชำระเงิน และการแข่งขันจากนักนวดบำบัดและวิชาชีพสาขาสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น วิชาชีพนี้ตอบสนองด้วยการทำการตลาดผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ธรรมชาติที่เข้มข้นขึ้น และการหยั่งลึกลงไปในการแพทย์ทางเลือกและการบริการขั้นปฐมภูมิยิ่งขึ้น

สาธารณสุข

นักไคโรแพรกติกบางรายต่อต้านการให้วัคซีนและน้ำผสมฟลูออไรด์ (water fluoridation) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของสาธารณสุขที่พบได้ทั่วไป มีความไม่ลงรอยกันอย่างมีนัยสำคัญภายในประชาคมไคโรแพรกติกเกี่ยวกับการให้วัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในการแทรกแซงทางสาธารณสุขซึ่งมีประสิทธิผลต่อต้นทุนสูงที่สุดเท่าที่มีอยู่ งานเขียนไคโรแพรกติกส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแง่มุมเชิงลบของวัคซีน โดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ไร้ประสิทธิผล และไม่จำเป็น นักไคโรแพรกติกบางคนยอมรับการให้วัคซีน แต่ส่วนมากของวิชาชีพก็ยังคงปฏิเสธมัน เพราะปรัชญาไคโรแพรกติกต้นตำรับตามรอยโรคภัยไข้เจ็บว่าถือกำเนิดขึ้นในกระดูกสันหลัง และกล่าวว่าวัคซีนจะขัดขวางการรักษา มุมมองต่อต้านการให้วัคซีนนั้นเป็นสิ่งที่ส่งแรงหนุนวิชาชีพไคโรแพรกติกในปัจจุบันในระดับใดนั้นไม่เป็นที่แน่นอน สมาคมไคโรแพรกติกอเมริกันและสมาคมนักไคโรแพรกติกนานาชาติ (ICA) สนับสนุนการละเว้นเป็นรายบุคคลของกฎหมายบังคับรับวัคซีน และงานสำรวจนักไคโรแพรกติกในสหรับ ค.ศ. 1995 พบว่าหนึ่งในสามเชื่อว่าไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันโรคได้ สมาคมไคโรแพรกติกแคนาดาสนับสนุนการให้วัคซีน และงานวิจัยในรัฐแอลเบอร์ตาใน ค.ศ. 2002 พบว่านักไคโรแพรกติกร้อยละ 25 แนะนำให้ผู้ป่วยและลูกหลานของเขารับวัคซีน และอีกร้อยละ 27 ต่อต้านการให้วัคซีน

การต่อต้านการผสมฟลูออไรด์ลงในน้ำช่วงแรก ๆ มีนักไคโรแพรกติกด้วย ซึ่งบางรายยังคงต่อต้านต่อไปด้วยเหตุผลว่าเข้ากันไม่ได้กับปรัชญาไคโรแพรกติกและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล นักไคโรแพรกติกคนอื่น ๆ สนับสนุนการผสมฟลูออไรด์อย่างแข็งขัน และหลายองค์กรไคโรแพรกติกสนับสนุนหลักการทางวิทยาศาสตร์ของสาธารณสุข นอกเหนือจากการต่อต้านน้ำผสมฟลูออไรด์ของไคโรแพรกติกแบบดั้งเดิมแล้ว ชื่อเสียงของนักไคโรแพรกติกที่แนะนำการรักษาไคโรแพรกติกตลอดชีพอย่างซ้ำ ๆ ก็ได้ทำให้ความพยายามในการสถาปนาชื่อเสียงเชิงบวกของบทบาทของตนในสาธารณสุขต้องล้มเหลวไป

ข้อถกเถียง

ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ของไคโรแพรกติกมีข้อถกเถียงและข้อวิจารณ์ทั้งจากภายในและภายนอกอยู่เสมอ หากอ้างอิงตามแดเนียล เดวิด พาลเมอร์ ผู้ก่อตั้งไคโรแพรกติก ภาวะข้อเคลื่อนเป็นสาเหตุหนึ่งเดียวของโรคภัยไข้เจ็บ และการจัดดัดดึงเป็นยารักษาสารพัดโรคของมนุษย์ งานสำรวจทั่ววงการวิชาชีพใน ค.ศ. 2003 พบว่า "นักไคโรแพรกติกส่วนใหญ่ (ไม่ว่า 'โดยตรง' หรือ 'แบบผสม') ยังคงยึดถือมุมมองเรื่องเชาวน์ปัญญาโดยกำเนิดและเรื่องสาเหตุและการรักษาโรค (ไม่ใช่เฉพาะอาการปวดหลัง) ที่สอดคล้องกับของครอบครัวพาลเมอร์" งานประเมินเชิงวิพากษ์ชิ้นหนึ่งกล่าวว่า "ไคโรแพรกติกมีรากฐานอยู่ในมโนทัศน์เชิงรหัสยะ นี่นำไปสู่ความขัดแย้งภายในวิชาชีพไคโรแพรกติกเอง ซึ่งยังคงดำเนินมาเรื่อยจนวันนี้" นักไคโรแพรกติกหลายคน ซึ่งรวมถึงตัว ดี. ดี. พาลเมอร์ ด้วย เคยต้องถูกจำคุกด้วยข้อหาให้บริการสุขภาพโดยไม่มีใบอนุญาต ตั้งแต่กำเนิด ไคโรแพรกติกใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการต่อสู้กับการแพทย์กระแสหลัก และคงยังชีพอยู่ได้ด้วยแนวคิดต่อต้านวิทยาศาสตร์และแบบวิทยาศาสตร์เทียม เช่นภาวะข้อเคลื่อน งานปริทัศน์เป็นระบบโดยรวมยังไม่บ่งชี้ว่าการจัดดัดดึงกระดูกสันหลังซึ่งเป็นกลวิธีการรักษาหลักที่นักไคโรแพรกติกใช้มีประสิทธิศักย์กับอาการทางแพทย์ใด ๆ โดยมีข้อยกเว้นที่เป็นไปได้สำหรับการรักษาอาการปวดหลัง ไคโรแพรกติกยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ แม้ว่าจะลดระดับน้อยลงกว่าในหลายปีก่อน ๆ

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение