Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ต่อมลูกหมาก

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ต่อมลูกหมาก
Prostatelead.jpg
กายวิภาคเพศชาย
รายละเอียด
คัพภกรรม การโปนของเอนโดเดิร์มของท่อปัสสาวะ
หลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดงอวัยวะเพศภายนอกใน, หลอดเลือดแดงกระเพาะปัสสาวะล่าง, และหลอดเลือดแดงไส้ตรงกลาง
หลอดเลือดดำ ข่ายหลอดเลือดดำต่อมลูกหมาก, ข่ายหลอดเลือดดำอวัยวะเพศภายนอก, ข่ายหลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะ, หลอดเลือดดำกระดูกปีกสะโพกใน
ประสาท ข่ายประสาทไฮโปแกสทริกล่าง
น้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกใน
ตัวระบุ
ภาษาละติน Prostata
MeSH D011467
TA98 A09.3.08.001
TA2 3637
FMA 9600
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ต่อมลูกหมาก (อังกฤษ: prostate) เป็นต่อมมีท่อของระบบสืบพันธุ์เพศชายในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด ต่อมลูกหมากมีความแตกต่างกันอย่างมากไปตามแต่ละสปีชีส์ ทั้งในทางกายวิภาคศาสตร์ เคมี และสรีรวิทยา ในภาษาอังกฤษคำว่า prostate มาจากภาษากรีกโบราณว่า προστάτης (prostátēs) แปลตรงตัวได้ว่า "สิ่งที่ตั้งอยู่มาก่อน", "ผู้คุ้มครอง", "ผู้ปกครอง" ส่วนในภาษาไทยราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคำว่าลูกหมากในแง่อวัยวะไว้ว่า เป็นต่อมในเพศชายรูปร่างคล้ายเนื้อในของผลหมาก

ในทางกายวิภาคศาสตร์ ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งย่อยได้สองวิธี คือ แบ่งเป็นบริเวณ หรือ แบ่งเป็นกลีบ ต่อมลูกหมากไม่มีปลอกหรือถุงหุ้ม ในทางตรงกันข้ามจะมีแถบเส้นใยกล้ามเนื้อฝังใน (integral fibromuscular band) ล้อมรอบแทน โดยถูกหุ้มห่ออยู่ในกล้ามเนื้อของฐานเชิงกรานอีกที ซึ่งกล้ามเนื้อจะหดตัวในระหว่างที่มีการหลั่งน้ำอสุจิ นอกจากนี้ตัวต่อมลูกหมากเองยังมีกล้ามเนื้อเรียบบางส่วน คอยช่วยในการขับน้ำอสุจิออกมาในระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิด้วย

หน้าที่ของต่อมลูกหมากคือการหลั่งของเหลว ซึ่งเป็นส่วนประกอบในปริมาตรของน้ำอสุจิ น้ำต่อมลูกหมาก (prostatic fluid) นี้มีลักษณะเป็นด่างเล็กน้อย ปรากฏเป็นสีน้ำนมหรือสีขาว และในมนุษย์มักจะมีน้ำต่อมลูกหมากประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของปริมาตรน้ำอสุจิ ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นสเปอร์มาโทซูนและน้ำถุงน้ำอสุจิ โดยความเป็นด่างของน้ำอสุจิช่วยทำให้สภาพกรดของช่องคลอดเป็นกลาง ทำให้อายุของตัวอสุจิยาวนานขึ้น

น้ำต่อมลูกหมากจะถูกขับออกมาในช่วงแรกของการหลั่งน้ำอสุจิ พร้อมกับตัวอสุจิส่วนมาก เมื่อเทียบกับสเปอร์มาโทซูนที่ถูกขับออกมาพร้อมกับน้ำถุงน้ำอสุจิเป็นหลัก จะพบว่า สเปอร์มาโตซูนที่อยู่ในน้ำต่อมลูกหมากจะมีการเคลื่อนไหวเองที่ดีกว่า อยู่รอดได้นานขึ้น และปกป้องสารพันธุกรรมไวัได้ดีกว่า

โรคของต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย ต่อมลูกหมากโต, ต่อมลูกหมากอักเสบ, ต่อมลูกหมากติดเชื้อ และมะเร็งต่อมลูกหมาก

โครงสร้าง

ต่อมลูกหมากซึ่งมีถุงน้ำอสุจิ (seminal vesicle) และท่อน้ำอสุจิ (seminal ducts) มองจากข้างหน้าและข้างบน

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมมีท่อในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ในผู้ใหญ่จะมีขนาดประมาณผลวอลนัต ต่อมลูกหมากตั้งอยู่ในเชิงกราน ภายในต่อมเป็นทางผ่านของท่อปัสสาวะที่มาจากกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า ท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ซึ่งมีท่อฉีดอสุจิอีกสองท่อมารวมเข้าด้วย

ต่อมลูกหมากปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 11 กรัม และมักแปรผันอยู่ระหว่าง 7 ถึง 16 กรัม ส่วนปริมาตรของต่อมลูกหมากสามารถประมาณได้จากสูตร 0.52 × ความยาว × ความกว้าง × ความสูง โดยต่อมลูกหมากที่มีปริมาตรมากกว่า 30 ลบ.ซม. จะถือว่าเป็นต่อมลูกหมากโต (prostatomegaly) การศึกษาระบุว่า ปริมาตรต่อมลูกหมากในบรรดาผู้ป่วยที่ผลการตัดเนื้อออกตรวจเป็นลบ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับน้ำหนักและส่วนสูง (ดัชนีมวลกาย) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการควบคุมน้ำหนัก ต่อมลูกหมากนั้นล้อมรอบท่อปัสสาวะอยู่ทางด้านล่างของกระเพาะปัสสาวะ จึงสามารถสัมผัสได้ผ่านการตรวจทางทวารหนัก

ชั้นเส้นใยโดยรอบต่อมลูกหมากบางครั้งจะเรียกว่า ปลอกหุ้มต่อมลูกหมาก (prostatic capsule) หรือ พังผืดต่อมลูกหมาก (prostatic fascia) และล้อมรอบด้วยแถบเส้นใยกล้ามเนื้อฝังใน

การแบ่งย่อย

ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งย่อยได้สองวิธี คือ แบ่งเป็นบริเวณ หรือ แบ่งเป็นกลีบ เนื่องจากความแปรปรวนในคำอธิบายและคำจำกัดความของกลีบ จึงทำให้การแบ่งเป็นบริเวณนั้นโดดเด่นกว่า

กลีบ

การจัดแบ่งเป็น "กลีบ" (lobe) นั้นพบการใช้ได้บ่อยครั้งในทางกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งต่อมลูกหมากจะถูกแบ่งออกเป็นห้ากลีบอย่างไม่สมบูรณ์ ดังนี้

กลีบหน้า (Anterior lobe) (หรือ isthmus) สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณเชื่อม
กลีบหลัง (Posterior lobe) สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณรอบนอก
กลีบข้างซ้ายและขวา (Right & left Lateral lobes) ครอบคลุมทุกบริเวณ
กลีบใน (Median lobe) หรือกลีบกลาง (or middle lobe) สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณกลาง

บริเวณ

ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งออกได้เป็นสามหรือสี่บริเวณ การจัดแบ่งเป็น "บริเวณ" (zone) นี้พบการใช้ได้บ่อยครั้งในทางพยาธิวิทยา ซึ่งต่อมลูกหมากมีบริเวณต่อม (glandular region) ที่แตกต่างกันอยู่สี่บริเวณ โดยสองจากสี่บริเวณนั้นเกิดมาจากส่วนที่แตกต่างกันของท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ดังนี้

ชื่อ ส่วนของต่อมในผู้ใหญ่ คำอธิบาย
บริเวณรอบนอก (Peripheral zone หรือ PZ) 70% ส่วนกึ่งปลอกหุ้มของมุมด้านหลังของต่อมลูกหมากที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนปลาย มะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 70–80 มีจุดเริ่มต้นมาจากส่วนนี้ของต่อม
บริเวณกลาง (Central zone หรือ CZ) 20% บริเวณนี้ล้อมรอบท่อฉีดอสุจิ บริเวณกลางมีสัดส่วนในมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณร้อยละ 2.5 โดยมะเร็งจากบริเวณนี้มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะลามไปยังถุงน้ำอสุจิ
บริเวณเชื่อม (Transition zone หรือ TZ) 5% บริเวณเชื่อมล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มะเร็งต่อมลูกหมากมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณนี้ประมาณร้อยละ 10–20 บริเวณนี้เป็นบริเวณที่เติบโตได้ตลอดชีวิตของต่อมลูกหมาก อันเป็นที่มาของโรคการเจริญเกินของต่อมลูกหมาก
บริเวณเส้นใยกล้ามเนื้อหน้า (Anterior fibro-muscular zone) (หรือส่วนพยุง) N/A ส่วนนี้ไม่ถือเป็นบริเวณเสมอไป โดยปกติแล้วมักจะปราศจากซึ่งส่วนหรือส่วนประกอบของต่อม อันเป็นที่มาของชื่อ ซึ่งสื่อถึงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

หลอดเลือดและน้ำเหลือง

หลอดเลือดดำของต่อมลูกหมากมาจากข่ายที่เรียกว่า ข่ายหลอดเลือดดำต่อมลูกหมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณรอบพื้นผิวด้านหน้าและด้านนอก ข่ายหลอดเลือดนี้ยังรับเลือดมาจากหลอดเลือดดำลึกด้านบนขององคชาตด้วย และเชื่อมต่อผ่านทางแขนงเข้าสู่ข่ายหลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดดำอวัยวะเพศภายนอกใน โดยหลอดเลือดดำมีการระบายเข้าสู่หลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดดำกระดูกปีกสะโพกใน

การระบายน้ำเหลืองจากต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับต่ำแหน่งของพื้นที่ ซึ่งหลอดน้ำเหลืองที่อยู่โดยรอบหลอดนำอสุจิ บางส่วนของหลอดน้ำเหลืองในถุงน้ำอสุจิ และหลอดน้ำเหลืองจากพื้นผิวด้านหลังของต่อมลูกหมาก จะถูกระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกนอก ขณะที่บางส่วนของหลอดน้ำเหลืองจากถุงน้ำอสุจิ หลอดน้ำเหลืองต่อมลูกหมาก และหลอดน้ำเหลืองจากด้านหน้าของต่อมลูกหมาก จะถูกระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกใน ส่วนหลอดน้ำเหลืองของตัวต่อมลูกหมากเองนั้นยังอาจระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองออบทูเรเตอร์และต่อมน้ำเหลืองกระดูกใต้กระเบนเหน็บได้ด้วย

จุลกายวิภาคศาสตร์

ไมโครกราฟของต่อมลูกหมากที่เจริญเกินกับคอร์ปอรา อะไมเลเซียติดสีย้อมเอชแอนด์อี

เนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากประกอบด้วย ต่อม (glands) และ ส่วนพยุง (stroma) โดยส่วนต่อมบุด้วยเซลล์รูปคอลัมนาร์ (เนื้อเยื่อบุผิว) เนื้อเยื่อบุเหล่านี้มีการวางตัวแบบชั้นเดียวหรือไม่ก็แบบซูโดสแตรติไฟด์ เนื้อเยื่อบุผิวนั้นมีความแปรผันสูงและ และพื้นที่ที่มีเนื้อเยื่อบผิวแบบคิวบอยดัลหรือแบบสวามัสต่ำก็ยังมีให้เห็นได้ เช่นเดียวกับเนื้อเยื่อบุผิวแบบทรานซิชันแนลในส่วนปลายของท่อยาวด้วย ส่วนต่อมจะพบรูพรุนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีการระบายลงสู่คลองยาว (long canal) และท่อหลัก 12–20 ท่อในลำดับถัดมา โดยต่อมาก็จะระบายลงสู่ท่อปัสสาวะที่ทอดตัวผ่านต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีเซลล์เบซัลอยู่จำนวนน้อย ซึ่งวางตัวอยู่ถัดจากเยื่อฐานของต่อม ทำหน้าที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิด

ส่วนพยุงของต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย เนื้อเยื่อเส้นใย และกล้ามเนื้อเรียบ เนื้อเยื่อเส้นใยจะแยกต่อมออกเป็นกลีบ นอกจากนี้ยังวางตัวอยู่ระหว่างต่อมและเป็นส่วนประกอบอย่างสุ่มของมัดกล้ามเนื้อเรียบที่ต่อเนื่องกับกระเพาะปัสสาวะด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป จะมีสิ่งหลั่งที่จับตัวหนาขึ้น เรียกว่า คอร์ปอรา อะไมเลเซีย (corpora amylacea) ค้างอยู่ภายในต่อม

ประเภทของเซลล์ทางมิญชวิทยาที่ปรากฏอยู่ในต่อมลูกหมากนั้นมีอยู่สามชนิด ได้แก่ เซลล์ต่อม (glandular cells), เซลล์ไมโอเอพิทีเลียม (myoepithelial cells) และเซลล์ซับเอพิทีเลียมอินเตอร์สติเชียล (subepithelial interstitial cells)

การแสดงออกของยีนและโปรตีน

ข้อมูลเพิ่มเติม: ชีวสารสนเทศ

ยีนเข้ารหัสโปรตีนประมาณ 20,000 ชนิดแสดงอยู่ในเซลล์ของมนุษย์ และเกือบร้อยละ 75 ของยีนเหล่านี้พบแสดงอยู่ในต่อมลูกหมากปกติ ยีนเหล่านี้ประมาณ 150 ตัวมีการแสดงออกอย่างจำเพาะมากกว่าในต่อมลูกหมาก โดยมียีนประมาณ 20 ตัวที่มีความจำเพาะสูงในต่อมลูกหมาก โปรตีนจำเพาะที่เกี่ยวข้องจะถูกแสดงในเซลล์ต่อมและเซลล์หลั่งของต่อมลูกหมาก และมีหน้าที่สำคัญต่อลักษณะของน้ำอสุจิ โปรตีนจำเพาะของต่อมลูกหมากบางชนิดเป็นเอนไซม์ เช่น สารก่อภูมิต้านทานจำเพาะต่อมลูกหมาก (PSA) และโปรตีน ACPP

การพัฒนา

ส่วนต่อมลูกหมากของท่อปัสสาวะพัฒนาขึ้นจากส่วนกลาง (middle) และส่วนเชิงกรานของโพรงอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ ของเอนโดเดิร์มต้นดำเนิด ประมาณปลายเดือนที่สามของชีวิตของเอ็มบริโอ ปุ่ม (outgrowths) จะเจริญขึ้นมาจากส่วนต่อมลูกหมากของท่อปัสสาวะ และเจริญเติบโตไปสู่เมเซนไคม์โดยรอบ เซลล์ที่บุในส่วนนี้ของท่อปัสสาวะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อบุผิวต่อมของต่อมลูกหมาก ส่วนเมเซนไคม์ที่เกี่ยวข้องจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นส่วนพยุงหนาแน่นและกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก

การรวมตัวกันของเมเซนไคม์ ท่อปัสสาวะ และท่อเมโซเนฟริก ทำให้เกิดต่อมลูกหมากในผู้ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่เป็นต่อมและไม่เป็นต่อม เชื่อมอยู่ด้วยกันอย่างแน่นหนาหลายส่วน

เพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม ต่อมลูกหมากต้องการฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ซึ่งรับผิดชอบคุณลักษณะทางเพศของเพศชาย ส่วนฮอร์โมนหลักของเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน ซึ่งโดยหลักแล้วถูกผลิตขึ้นที่อัณฑะ ส่วนฮอร์โมนที่มีอำนาจเหนือกว่าที่ควบคุมต่อมลูกหมาก คือ ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ซึ่งเป็นเมทาบอไลท์ของเทสโทสเตอโรน

ต่อมลูกหมากจะใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงทศวรรษที่สี่ของชีวิต

หน้าที่

ตอบสนองทางเพศชาย

ดูบทความหลักที่: การนวดต่อมลูกหมาก

ในระหว่างการน้ำอสุจิในผู้ชาย ตัวอสุจิจะถูกส่งต่อมาจากหลอดนำอสุจิเข้าสู่ท่อปัสสาวะผ่านท่อฉีดอสุจิ ซึ่งวางจัวอยู่ภายในต่อมลูกหมาก โดยการหลั่งน้ำอสุจิเป็นการขับน้ำอสุจิออกทางท่อปัสสาวะ ซึ่งน้ำอสุจิจะเข้าสู่ท่อปัสสาวะหลังจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดนำอสุจิและถุงน้ำอสุจิ อันเกิดมาจากการกระตุ้นส่วนมากอยู่ที่หัวองคชาต การกระตุ้นจะส่งสัญญาณผ่านทางประสาทอวัยวะเพศภายนอกในไปยังกระดูกสันหลังส่วนเอวด้านบน และสัญญาณประสาทที่ทำให้เกิดการหดตัวจะผ่านมาทางประสาทไฮโปแกสทริก หลังจากน้ำอสุจิเข้าสู่ท่อปัสสาวะแล้ว น้ำอสุจิจะพุ่งออกมาโดยการหดตัวของกล้ามเนื้อบัลโบคาเวอร์โนซุส

ในผู้ชายบางคนอาจบรรลุความเสียวสุดยอดทางเพศได้จากการกระตุ้นต่อมลูกหมากเพียงอย่างเดียว เช่น การนวดต่อมลูกหมาก หรือ การร่วมเพศทางทวารหนัก

สิ่งคัดหลั่ง

สิ่งคัดหลั่งของต่อมลูกหมากในมนุษย์ มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบน้อยกว่าร้อยละ 1 และมีความเป็นกรดเล็กน้อย สิ่งคัดหลั่งประกอบด้วยเอนไซม์โปรทีเอส เอนไซม์โพรสตาติกแอซิดฟอสเฟเทส เอนไซม์ไฟบริโนซิน และสารก่อภูมิต้านทานจำเพาะต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีสังกะสีอยู่ด้วย โดยมีความเข้มข้น 500–1,000 เท่าของความเข้มข้นสังกะสีในเลือด

ลักษณะสำคัญด้านการรักษา

การอักเสบ

ดูบทความหลักที่: ต่อมลูกหมากอักเสบ
การตรวจทางทวารหนักอาจมีการดำเนินเพื่อตรวจสอบว่าต่อมลูกหมากนั้นมีขนาดใหญ่เพียงใดหรือว่าต่อมลูกหมากนั้นนิ่มหรือไม่ (ซึ่งอาจหมายถึงการอักเสบ)
แผนภาพของมะเร็งต่อมลูกหมากที่กดอยู่บนท่อปัสสาวะ ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการได้
ไมโครกราฟแสดงต่อมลูกหมากอักเสบ ลักษณะร่วมกันทางมิญชวิทยาของ ต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากปกติที่ไม่ติดเชื้ออยู่ทางด้านขวาของภาพ ภาพติดสีย้อมเอชแอนด์อี
ไมโครกราฟแสดงต่อมลูกหมากปกติและต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็ง (prostatic adenocarcinoma) – มุมบนขวาของภาพ ภาพติดสีย้อมเอชพีเอสของการตัดเนื้อออกตรวจของต่อมลูกหมาก

-->


Новое сообщение