Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่
การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ (อังกฤษ: influenza pandemic) เป็นเหตุการณ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วที่กระจายไปทั่วโลกและทำให้ประชากรโลกส่วนใหญ่ติดโรค เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาล เหตุการณ์ระบาดทั่วเช่นนี้จะเกิดอย่างไม่สม่ำเสมอ โดยได้เกิดขึ้น 5 ครั้งใน 140 ปีที่ผ่านมา การระบาดทั่วอาจเป็นเหตุให้คนเสียชีวิตในอัตราสูง ไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดทั่วในปี 1918 เป็นเหตุให้คนตายมากที่สุด คือประเมินว่าทำให้คนเสียชีวิตถึง 50-100 ล้านคน ล่าสุดคือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้คนเสียชีวิตน้อยกว่า 1 ล้านคนและพิจารณาว่า ค่อนข้างเบา
การระบาดทั่วจะเกิดเมื่อมนุษย์ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากสัตว์สปีชีส์อื่น ๆ ที่สำคัญ ๆ รวมสุกร ไก่ และเป็ด เพราะภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่มีอยู่ก่อนไร้ผลต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ ฉะนั้น โรคจึงระบาดไปได้อย่างรวดเร็วและทำให้คนจำนวนมากติดโรค นกต่าง ๆ อาจติดไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A จากนกป่า ทำให้นกเลี้ยง (เช่นเป็ดไก่) เกิดโรคระบาด แล้วก่อการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ในหมู่มนุษย์ การอพยพของนกเชื่อว่าอำนวยการระบาดโรคไปทั่วโลก แต่การขนส่งนกเป็น ๆ ไปยังที่ต่าง ๆ และรูปแบบการเดินทางของมนุษย์ก็อาจเป็นเหตุได้เหมือนกัน องค์การอนามัยโลกได้จำแนกการระบาดออกเป็น 6 ระยะ เป็นขั้นตอนที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะทำให้มนุษย์ติดโรคเริ่มจากไม่กี่รายจนกลายเป็นโรคระบาดทั่ว คือเริ่มจากไวรัสทำให้สัตว์ติดเชื้อโดยมากและมนุษย์ติดไม่กี่ราย แล้วไปสู่อีกระยะหนึ่งที่ไวรัสเริ่มระบาดจากบุคคลสู่บุคคล ในที่สุดกลายเป็นโรคระบาดทั่วที่ไวรัสใหม่ได้กระจายไปทั่วโลก
สายพันธุ์ไวรัสหนึ่งที่อาจก่อโรคระบาดทั่วในอนาคตก็คือ รูปแบบต่างของไวรัสไข้หวัดใหญ่ A H5N1 ชนิดก่อโรคได้ง่าย ในวันที่ 11 มิถุนายน 2009 องค์การอนามัยโลกได้ระบุสายพันธุ์ใหม่ของไข้หวัดใหญ่ H1N1 ว่าเป็นโรคระบาดทั่ว (ระยะที่ 6) หลังจากได้หลักฐานว่า โรคได้ระบาดไปถึงซีกโลกใต้ ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2009 องค์การได้ให้อัปเดตว่า "จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2009 ประเทศรวมทั้งอาณาเขตต่าง ๆ หรือชุมชน 206 แห่งได้รายงานกรณีคนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว H1N1 2009 ที่ยืนยันโดยห้องปฏิบัติการแล้ว 503,536 รายรวมทั้งผู้เสียชีวิต 6,250 ราย"
ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สมัยโบราณเชื่อว่าเกิดจากดาวหาง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ฝุ่นคอสมิก พระอาทิตย์ขึ้นและตก ไอจากอากาศและพื้นดิน หรือลมระเบิดจากดาวฤกษ์ ปัจจุบันรู้ว่าเกิดจากไวรัสอาร์เอ็นเอ (ไวรัสที่มีอาร์เอนเอเป็นวัสดุยีน) จากกลุ่ม Orthomyxoviridae (กลุ่มไวรัสไข้หวัดใหญ่) ในมนุษย์ อาการสามัญหลังติดโรครวมทั้งเป็นไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัวอย่างรุนแรง ไอ และไม่สบาย ในกรณีรุนแรง โรคทำให้ปอดบวมซึ่งอาจถึงตาย โดยเฉพาะในเด็กและคนชรา โรคบางครั้งสับสนกับหวัดธรรมดา แต่ก็เป็นโรครุนแรงกว่าและเกิดจากไวรัสชนิดต่างกัน แม้บางครั้งจะทำให้คลื่นไส้และอาเจียนโดยเฉพาะในเด็ก แต่อาการเช่นนี้ก็เฉพาะพิเศษมากกว่ากับโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบซึ่งไม่เกี่ยวกัน (ภาษาอังกฤษบางครั้งเรียกว่า "stomach flu" หรือ "24-hour flu" )
ทั่วไปแล้ว โรคจะระบาดไปทางอากาศจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อเพราะการไอหรือการจาม ซึ่งกระจายละอองที่มีไวรัส และจากนกโดยติดเชื้อทางอุจจาระ โรคสามารถติดต่อทางน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และเลือด คนปกติสามารถติดเชื้อถ้าหายใจเอาละอองที่มีไวรัสเข้าไปโดยตรง หรือถ้าแตะตา จมูก หรือปาก หลังจากได้สัมผัสเชื้อโรคตามแหล่งตามที่ว่า หรือตามพื้นผิวต่าง ๆ ที่มีเชื้อโรค ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถคงยืนแพร่เชื้อเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่อุณหภูมิร่างกาย, 30 วันที่อุณหภูมิศูนย์องศาเซลเซียส และไม่จำกัดเวลาถ้าอุณหภูมิต่ำมาก (เช่นในทะเลสาบเขตไซบีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ) สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่โดยมากสามารถทำลายฤทธิ์ง่าย ๆ ด้วยสารฆ่าเชื้อและสารชะล้าง/สารซักฟอก
แม้ไข้หวัดใหญ่จะระบาดไปรอบ ๆ โลกเป็นประจำฤดู แต่ก็มีการระบาดทั่ว 10 ครั้งที่ได้บันทึกไว้ก่อนไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 มีการระบาดทั่ว 3 ครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตเป็นสิบ ๆ ล้านคน แต่ละครั้งเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์ สายพันธุ์ใหม่มักจะเกิดในสัตว์อื่นแล้วระบาดไปยังมนุษย์ ดังนั้น การอยู่ร่วมอย่างใกล้ชิดระหว่างสัตว์กับมนุษย์ช่วยสนับสนุนให้โรคระบาด อนึ่ง ปัจจัยทางวิทยาการระบาดต่าง ๆ เช่น ข้อปฏิบัติในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่นำทหารผู้ป่วยหนักเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ไปรวมอยู่ในโรงพยาบาลสนามและผู้ที่ป่วยน้อยก็คงอยู่ในสนามรบ เป็นตัวกำหนดสำคัญว่า สายพันธุ์ใหม่จะกลายเป็นโรคระบาดทั่วหรือไม่ ในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ข้อปฏิบัติกับทหารป่วยเป็นโรคนี้สนับสนุนให้วิวัฒนาการสายพันธุ์ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น ๆ ในคริสต์ทศวรรษ 1990 สายพันธุ์ใหม่จากนกคือ H5N1 จัดว่าเสี่ยงก่อโรคระบาดทั่วสูงเมื่อโรคทำให้มนุษย์แรก ๆ เสียชีวิตในเอเชีย แต่ไวรัสก็ไม่ได้กลายพันธุ์กลายเป็นเชื้อที่ติดระหว่างบุคคล ๆ ได้ง่าย
ในประเทศพัฒนาแล้ว วัคซีนไข้หวัดใหญ่มักจะให้แก่บุคคลที่เสี่ยงสูง และแก่เป็ดไก่ที่เลี้ยงในฟาร์ม วัคซีนมนุษย์ที่สามัญสุดเป็นประเภท trivalent influenza vaccine ซึ่งมีวัสดุกำจัดฤทธิ์แล้วทำให้บริสุทธิ์จากไวรัสสามสายพันธุ์ ปกติจะเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A 2 ชนิด และกลุ่ม B 1 ชนิด สูตรวัคซีนที่ทำสำหรับปีหนึ่งอาจไม่ได้ผลในปีต่อมา เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และสายพันธุ์อื่น ๆ เกิดกลายเป็นพันธุ์เด่น ยาต้านไวรัสอาจใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ โดยมีสารยับยั้งนูรามินิเดส (neuraminidase inhibitor) ที่ได้ผลดีเป็นพิเศษ
รูปแปรและแบบย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A
รูปแปรต่าง ๆ ของไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A จะระบุและตั้งชื่อตามไวรัสที่คล้าย ๆ กันและดังนั้น จึงสมมุติได้ว่ามีเชื้อสายเดียวกัน (เช่นไวรัสที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ฝูเจี้ยน) หรือตั้งชื่อตามสัตว์ถูกเบียนปกติ (เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์) ตามชนิดย่อย (เช่น H3N8) และตามระดับอันตรายต่อชีวิตของมัน เช่น Low Pathogenic (LP) หรือ Highly Pathogenic (HP) ดังนั้น ไข้หวัดใหญ่ที่คล้ายกับไวรัส A/Fujian/411/2002(H3N2) จึงเรียกได้ว่า ไข้หวัดใหญ่ฝูเจี้ยน ไข้หวัดใหญ่มนุษย์ และไข้หวัดใหญ่ H3N2
รูปแปรบางครั้งตั้งชื่อตามสัตว์ที่สายพันธุ์นั้นเฉพาะเจาะจงหรือได้ปรับตัวให้เข้ากับ ไวรัสที่ตั้งชื่อโดยวิธีนี้รวมทั้ง
- ไข้หวัดนก
- ไข้หวัดใหญ่มนุษย์ (คือไข้หวัดใหญ่)
- ไข้หวัดใหญ่สุกร
- ไข้หวัดใหญ่ม้า (H717 และ H3N8)
- ไข้หวัดใหญ่สุนัข (ที่คล้ายกับ H3N8 และ H3N2)
รูปแบบในสัตว์ปีกบางครั้งตั้งชื่อตามระดับอันตรายต่อชีวิตของเป็ดไก่เลี้ยง โดยเฉพาะไก่
- Low Pathogenic Avian Influenza (LPAI)
- Highly Pathogenic Avian Influenza (HPAI) หรือ deadly flu หรือ death flu
ส่วนชนิดย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ก็จะตั้งชื่อตามเลข H (สำหรับไกลโคโปรตีน hemagglutinin) และเลข N (ตามเอนไซม์นูรามินิเดส คือ neuraminidase) คือชนิดย่อยเป็นไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ก่อโรคลักษณะต่าง ๆ กัน บางอย่างก่อโรคต่อสัตว์สปีชีส์เดียว บางอย่างต่อสัตว์หลายสปีชีส์ สายพันธุ์โดยมากสูญพันธุ์ไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ชนิด H3N2 ที่เกิดทุกปีปัจจุบันไม่มีชนิดย่อยที่ก่อไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงอีกต่อไป
ไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A เป็นไวรัสอาร์เอนเอ (คือมีอาร์เอนเอเป็นมูลฐานการสืบพันธุ์) ที่เป็น negative sense, มีเส้นเดียว (ไม่ใช่ดีเอ็นเอซึ่งมีเส้นคู่) และแบ่งเป็นส่วน ๆ (segmented) "ไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A มีแอนติเจน HA 16 อย่าง (H1-H16) และแอนติเจน NA 9 อย่าง (N1-N9) จนกระทั่งเร็ว ๆ นี้ เรารู้จักไวรัสที่มีแอนติเจน HA เพียงแค่ 15 อย่างแล้วจึงแยกอีกสองอย่างได้ อย่างใหม่อย่างหนึ่ง (H16) ได้จากนกนางนวลหัวดำที่จับได้ในประเทศสวีเดนและเนเธอร์แลนด์ในปี 1999 แล้วรายงานในวรรณกรรมปี 2005" "ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ H17 ได้จากค้างคาวผลไม้ที่จับได้ในประเทศกัวเตมาลาแล้วรายงานในวรรณกรรมปี 2013"
ธรรมชาติของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว
โรคระบาดทั่วบางอย่างไม่ค่อยรุนแรง เช่น ไข้หวัดใหญ่เอเชียปี 1957 (H2N2) ทำให้คนเสียชีวิตระหว่าง 1-4 ล้านคนขึ้นอยู่กับแหล่งอ้างอิง บางอย่างรุนแรงกว่า จนกระทั่งรัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการให้แยกอยู่ห่าง ๆ กัน
ส่วนโรคระบาดทั่วปี 1918 ทำให้คนเสียชีวิตเป็นสิบ ๆ ล้านคนและเป็นโรคเป็นร้อย ๆ ล้านคน คนตายจำนวนมากเช่นนี้อาจได้สร้างความวุ่นวายและปัญหาทางจิตใจแก่คนจำนวนมาก เพราะมีแพทย์ ห้องพักในโรงพยาบาล และเครื่องใช้สอยทางการแพทย์ไม่เพียงพอสำหรับคนที่ติดโรค ศพมักจะทิ้งไม่ฝังเพราะไม่มีกำลังจัดการ อาจเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคมและก่อความหวาดกลัว ความพยายามรับมือกับโรคระบาดทั่วอาจบกพร่องมากเพราะความเห็นแก่ตัว ความไม่เชื่อใจผู้อื่น พฤติกรรมผิดกฎหมาย และความไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น ในการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 "ความแตกต่างระหว่างคำพูดให้ความมั่นใจกับสิ่งที่เกิดจริง ๆ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ ประชาชนรู้สึกว่าไม่สามารถหันหน้าไปหาใครได้ พึ่งใคร ๆ ไม่ได้ เชื่อใจใครไม่ได้"
แพทยที่ค่ายทหารบกสหรัฐในช่วงการระบาดทั่วของโรคปี 1918 เขียนจดหมายว่า
มันเหลืออีกไม่กี่ ชม. เท่านั่นที่ความตายจะมายถึง [...] มันช่างน่ากลัวอะไรเช่นนี้ ใคร ๆ ก็สามารถเห็นคนคนเดียว สองคน หรือ 20 คนตาย แต่การเห็นคนเคราะห์ร้ายเหล่านี้ล้มตายกันอย่างระเนระนาด [...] เรามีคนตายโดยเฉลี่ย 100 รายต่อวัน [...] ปอดบวมในเกือบทุกกรณีหมายถึงตาย [...] เราเสียแพทย์พยาบาลไม่รู้ไปแล้วเท่าไร ต้องมีรถไฟขบวนพิเศษเพื่อนำศพคนตายไป มีช่วงหลายวันที่ไม่มีโลงศพและศพก็กองรวมสูงขึ้นอย่างบ้าคลั่ง [...]
รูปแบบเป็นระลอกคลื่น
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ปกติจะเป็นระลอก ๆ ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทั่วระหว่างปี 1889-1890 และ 1918-1919 แต่ละเหตุการณ์มีคลื่น 3-4 ระลอกที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ ภายในคลื่นเดียวกัน อัตราการตายต้นคลื่นจะสูงสุด
อัตราความตายที่แปรผัน
อัตราการตายในเหตุการณ์โรคระบาดทั่วจะต่าง ๆ กัน ในเหตุการณ์ปี 1918
ในค่ายทหารบกสหรัฐต่าง ๆ ซึ่งเก็บสถิติอย่างเชื่อถือได้พอสมควร อัตราการตายมักเกินร้อยละ 5 และบางกรณีเกินร้อยละ 10 ในกองทัพบกอังกฤษในอินเดีย ทหารคนขาวตายในอัตราร้อยละ 9.6 ทหารชาวอินเดียร้อยละ 21.9 ในกลุ่มประชากรมนุษย์ที่ห่างไกล ไวรัสทำให้เสียชีวิตในอัตราสูงยิ่งกว่านั้น ในเกาะฟีจี ประชากรทั้งหมดเสียชีวิตร้อยละ 14 ภายใน 16 วันเพราะโรค ในเขตแลบราดอร์ (แคนาดา) และรัฐอะแลสกา (สหรัฐ) คนพื้นเมืองอย่างน้อย 1/3 เสียชีวิตเพราะโรค
เหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว
หนังสือปี 1921 ระบุเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว 9 เหตุการณ์ก่อนไข้หวัดใหญ่ปี 1889-90 โดยระบุเหตุการณ์แรกในปี 1510 ส่วนแหล่งอ้างอิงปี 2006 อ้างว่ามี 6 เหตุการณ์
ชื่อ | ปี | ประชากรโลก | ชนิดย่อย | Reproduction number | คนติด (คนโดยประมาณ) | คนตายทั่วโลก (คน) | อัตราป่วยตาย | ระดับความรุนแรง |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว ค.ศ. 1889-1890 |
1889-1890 | 1,530 ล้าน | น่าจะ H3N8 หรือ H2N2 | 2.10 (IQR, 1.9-2.4) | 20-60% (300-900 ล้าน) | 1 ล้าน | 0.10-0.28% | 2 |
ไข้หวัดใหญ่สเปน | 1918-20 | 1,800 ล้าน | H1N1 | 1.80 (IQR, 1.47-2.27) | 33% (500 ล้าน) หรือ >56% (>1 พันล้าน) | 17 - 100 ล้าน | 2-3%, หรือ ~4% หรือ ~10% | 5 |
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย | 1957-58 | 2,900 ล้าน | H2N2 | 1.65 (IQR, 1.53-1.70) | >17% (>500 ล้าน) | 1-4 ล้าน | <0.2% | 2 |
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง | 1968-69 | 3,530 ล้าน | H3N2 | 1.80 (IQR, 1.56-1.85) | >14% (>500 ล้าน) | 1-4 ล้าน | <0.2% | 2 |
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 | 2009-10 | 6,850 ล้าน | H1N1/09 | 1.46 (IQR, 1.30-1.70) | 11-21% (700-1,400 ล้าน) | 151,700 - 575,400 | 0.03% | 1 |
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล | ทุกปี | 7,750 ล้าน | A/H3N2, A/H1N1, B, ... | 1.28 (IQR, 1.19-1.37) | 5-15% (340-1,000 ล้าน)3-11% หรือ 5-20%(240-1,600 ล้าน) | 290,000 - 650,000/ปี | <0.1% | 1 |
หมายเหตุ |
ไข้หวัดใหญ่สเปน (1918-1920)
ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว ค.ศ. 1918 หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน เป็นการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ระดับ 5 (ตาม Pandemic Severity Index ของสหรัฐ) ซึ่งรุนแรงมากสุด มีเหตุจากสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ในกลุ่มย่อย H1N1 ที่รุนแรงและอันตรายผิดปกติ
การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดระหว่างปี 1918-1920 ดั้งเดิมประเมินคนตายระหว่าง 40-50 ล้านคน ค่าประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 50-100 ล้านคนทั่วโลก เหตุการณ์นี้ได้เรียกว่า "เป็นเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ทางการแพทย์ซึ่งหนักที่สุดในประวัติศาสตร์" และอาจทำให้คนเสียชีวิตเท่ากับเหตุการณ์กาฬมรณะ แม้กาฬมรณะจะประเมินว่าได้ทำให้ประชากรโลกเกิน 1/5 เสียชีวิต ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า จำนวนคนมหาศาลที่ตายเพราะไข้หวัดใหญ่สเปนนี้มีเหตุจากอัตราการติดเชื้อที่สูงมากคือร้อยละ 50 และอาการที่รุนแรงมาก ซึ่งน่าจะมาจากภาวะที่เรียกว่าพายุไซโตไคน์ อาการในปี 1918 แปลกมากจนกระทั่งว่า โรคตอนแรกวินิจฉัยผิดว่าเป็นไข้เด็งกี อหิวาตกโรค หรือไข้รากสาดน้อย ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งบันทึกไว้ว่า "ภาวะแทรกซ้อนที่เด่นอย่างหนึ่งก็คือการตกเลือดจากเยื่อเมือกโดยเฉพาะจากจมูก ท้อง และลำไส้ เลือดออกจากหูและจุดเลือดออกในผิวหนังก็เกิดด้วยเหมือนกัน" การตายโดยมากเป็นเพราะปอดบวมเหตุแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการติดเชื้อทุติยภูมิเนื่องกับไข้หวัดใหญ่ แต่ไวรัสก็ทำให้คนเสียชีวิตโดยตรงเหมือนกัน โดยเป็นเหตุของการตกเลือดอย่างรุนแรงและอาการบวมน้ำในปอด
ไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นการระบาดทั่วโลกจริง ๆ เพราะระบาดไปถึงแม้เขตอาร์กติกและเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิก โรคที่รุนแรงผิดปกตินี้ทำให้คนติดเชื้อเสียชีวิตร้อยละ 10-20 เทียบกับไข้หวัดใหญ่ระบาดปกติซึ่งมีอัตราตายร้อยละ 0.1 ลักษณะพิเศษอีกอย่างก็คือโรคโดยมากทำให้ผู้ใหญ่วัยเยาว์เสียชีวิต คือคนตายเพราะโรคร้อยละ 99 เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 65 ปี และเกินครึ่งเป็นผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20-40 ปี นี่ผิดปกติเพราะไข้หวัดใหญ่ทั่วไปเป็นอันตรายที่สุดต่อเด็กอายุน้อยมาก (น้อยกว่า 2 ขวบ) และคนชรามาก (มากกว่า 70 ปี) อัตราตายทั้งหมดของโรคปี 1918-1919 ประเมินอยู่ที่ 50-100 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 3-6 ของประชากรโลก คนเสียชีวิตภายใน 25 สัปดาห์แรกอาจถึง 25 ล้านคน เทีบกับโรคเอชไอวี/เอดส์ที่ทำให้คนเสียชีวิต 25 ล้านคนภายใน 25 ปีแรก
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (1957-1958)
ไข้หวัดใหญ่เอเชียเป็นการระบาดทั่วรุนแรงระดับ 2 ของไข้หวัดนกที่เกิดในประเทศจีนตั้งแต่ต้นปี 1956 จนถึงปี 1958 เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อในเป็ดป่าโดยรวมยีนกับเชื้อสายพันธุ์มนุษย์ที่มีอยู่แล้ว ไวรัสระบุแรกสุดที่มณฑลกุ้ยโจว แล้วระบาดไปยังสิงค์โปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1957 ไปถึงฮ่องกงเดือนเมษายน และสหรัฐเดือนมิถุนายน สหรัฐมีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 116,000 คน คนแก่อ่อนแอต่อโรคที่สุด จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกประเมินต่าง ๆ กันโดยอยู่ที่ระหว่าง 1-4 ล้านคน
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (1968-1969)
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงเป็นการระบาดทั่วรุนแรงระดับ 2 ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ซึ่งเกิดมาจากสายพันธุ์ H2N2 โดยยีนจากชนิดย่อยหลายชนิดได้รวมเข้าชุดใหม่ผ่านกระบวนการเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1968-1969 ทำให้คนเสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคนทั่วโลก ผู้มีอายุเกิน 65 ปีมีอัตราการตายสูงสุด สหรัฐมีผู้เสียชีวิต 1 แสนคน
ไข้หวัดใหญ่ H1N1/09 (2009-2010)
ความเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ทราบสาเหตุได้เกิดระบาดขึ้นในประเทศเม็กซิโกระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2009 ในวันที่ 24 เมษายน 2009 หลังจากได้แยกเชื้อไข้หวัดใหญ่ A/H1N1 จากคนไข้ 7 คนในสหรัฐตะวันตกเฉียงใต้ องค์การอนามัยโลกได้แถลงการณ์ว่า มีรายงานคนไข้ที่ยืนยันว่ามีเชื้อ A/H1N1 ในประเทศเม็กซิโก และมีรายงานยืนยัน 20 กรณีในสหรัฐ วันรุ่งขึ้น จำนวนกรณียืนยันก็เพิ่มขึ้นเป็น 40 รายในสหรัฐ, 26 รายในเม็กซิโก, 6 รายในแคนาดา และ 1 รายในสเปน แล้วโรคก็ได้ระบาดอย่างรวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิที่เหลือ จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ได้มีกรณียืนยันถึง 787 กรณีทั่วโลก วันที่ 11 มิถุนายน องค์การอนามัยโลกได้ประกาศการระบาดของไข้หวัดใหญ่ A/H1N1 ซึ่งมักเรียกอีกอย่างว่าไข้หวัดใหญ่สุกรว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วเหตุการณ์แรกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยได้ระบุสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ชนิดย่อย H1N1 ในเดือนเมษายน 2009 ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกลายพันธุ์ (แบบการเข้าชุดยีนใหม่หรือ reassortment) ของสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ชนิดย่อย H1N1 ที่รู้จักแล้ว 4 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หนึ่งเกิดเฉพาะในมนุษย์ อีกสายพันธุ์หนึ่งเกิดในนก และอีกสองสายพันธุ์ในสุกร การระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสใหม่นี้น่าจะเป็นเพราะสารภูมิต้านทานที่มีอยู่แล้วภายในประชากรมนุษย์ไม่อำนวยให้เกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน
ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2009 องค์การอนามัยโลกได้ให้อัปเดตว่า "เขตต่าง ๆ รวมทั้งประเทศ อาณาเขต และชุมชน 199 แห่งได้รายงานอย่างเป็นทางการว่า มีกรณีการติดไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว H1N1 ที่ยืนยันโดยห้องปฏิบัติการทั้งสิ้น 482,300 กรณี รวมทั้งผู้เสียชีวิต 6,071 ราย" เมื่อเหตุการณ์ได้ยุติลงแล้ว มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเชื้อ H1N1 ที่ยืนยันโดยห้องปฏิบัติการ 18,000 ราย แต่เพราะประเทศหลายประเทศสอดส่องดูแลประชาชนทางสาธารณสุขอย่างไม่เพียงพอ จำนวนกรณีคนไข้และผู้เสียชีวิตน่าจะมากกว่าที่รายงานมาก ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมทั้งองค์การอนามัยโลกเองได้เห็นพ้องกันว่า มีคนเสียชีวิตเพราะโรคประมาณ 284,500 ราย ซึ่งเป็นจำนวน 15 เท่าของผู้เสียชีวิตที่ประเมินในเบื้องต้น
ชนิดย่อยอื่น ๆ ที่เสี่ยงเป็นโรคระบาดทั่ว
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ปกติหมายถึงชนิดต่าง ๆ ที่ระบาดอย่างแพร่หลายในหมู่มนุษย์ ไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ชนิดย่อย ๆ คือ H1N1, H1N2 และ H3N2 เท่านั้นเป็นไวรัสที่รู้จักซึ่งปัจจุบันก็ยังเวียนไปในหมู่มนุษย์อยู่
ความต่างทางพันธุกรรมที่แยกแยะเชื้อออกเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์และไวรัสไข้หวัดใหญ่นกรวมทั้ง
- PB2 (อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส)
- คือต่างโดยกรดอะมิโน (หรือส่วนตกค้าง คือ residue) ที่ตำแหน่ง 627 ของโปรตีนที่เข้ารหัสโดยอาร์เอ็นเอ PB2 โดยก่อนค้นพบไวรัส H5N1 ไวรัสไข้หวัดใหญ่นกทั้งหมดที่รู้จักมีกลูตาเมต (Glu) ที่ตำแหน่ง 627 เทียบกับไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ทั้งหมดที่มีไลซีนในตำแหน่งเดียวกัน
- HA (โปรตีน hemagglutinin)
- คือ HA ของไวรัสไข้หวัดใหญ่นกจะจับกับหน่วยรับ alpha 2-3 sialic acid receptors เทียบกับของมนุษย์ที่จับกับหน่วยรับ alpha 2-6 sialic acid receptor
"การเปลี่ยนแปลงของยีนประมาณ 52 อย่างแยกแยะสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่นกจากสายพันธุ์ที่ระบาดในหมู่มนุษย์ได้ง่าย ๆ ตามนักวิจัยในไต้หวัน ผู้วิเคราะห์ยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A เกินกว่า 400 ชนิด" "การกลายพันธุ์ที่ยีนกี่ตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสนกสามารถติดมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการกลายพันธุ์กี่ตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสายพันธุ์ก่อโรคระบาดทั่ว นี่พยากรณ์ได้ยาก เราได้ตรวจสอบลำดับยีนจากสายพันธุ์ปี 1918 ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ก่อโรคระบาดทั่วชนิดเดียวที่สามารถผันมาจากสายพันธุ์ของไวรัสนกโดยสิ้นเชิง ในบรรดาตำแหน่งยีนที่สัมพันธ์กับสปีชีส์ต่าง ๆ 52 ตำแหน่ง 16 ตำแหน่งมีส่วนเหลือค้าง (residue) ที่เป็นเครื่องหมายของสายพันธุ์มนุษย์ ที่เหลือมีลักษณะของนก ผลนี้สนับสนุนสมมติฐานว่า ไวรัสก่อโรคระบาดทั่วปี 1918 สัมพันธ์กับไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ของนกยิ่งกว่ากับไวรัสไข้หวัดใหญ่ของมนุษย์"
ไข้หวัดใหญ่นก H5N1 ที่รุนแรง (highly pathogenic) ทำให้มนุษย์ผู้ติดครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ในกรณีหนึ่ง เด็กชายที่ติดเชื้อ H5N1 แค่ท้องร่วงแล้วก็เกิดโคม่าอย่างรวดเร็วโดยไม่มีอาการทางระบบหายใจหรืออาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ใด ๆ เลย
ชนิดย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ที่ยืนยันว่ามีในมนุษย์ เรียงตามจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โรคระบาดทั่ว คือ
- H1N1 เป็นเหตุของไข้หวัดใหญ่สเปน และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1 ชนิดใหม่)
- H2N2 เป็นเหตุแห่งไข้หวัดใหญ่เอเชียปี 1956-1958
- H3N2 เป็นเหตุแห่งไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปี 1968-1969
- H5N1 เป็นไข้หวัดใหญ่นก เป็นโรคประจำในนก
- H7N7 มีศักยะภาพการแพร่ไปจากสัตว์สู่มนุษย์ที่พิเศษ คือสามารถติดมนุษย์ นก สุกร แมวน้ำ ม้า และแม้หนูในห้องทดลอง จึงอาจกลายเป็นโรคระบาดทั่ว
- H1N2 ปัจจุบันทำให้เกิดโรคประจำในมนุษย์และสุกร
- H9N2, H7N2, H7N3, H10N7
- H1N1
ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ภาพจุลทรรศน์ของไวรัส H1N1 | |
ภาพจุลทรรศน์ของไวรัส H1N1 |
H1N1 ปัจจุบันเป็นโรคประจำของทั้งมนุษย์และสุกร รูปแปรของ H1N1 อย่างหนึ่งเป็นเหตุของเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดทั่วที่ทำให้มนุษย์ 50-100 ล้านคนเสียชีวิตทั่วโลกในระหว่างปี 1918-1919 มีข้อโต้แย้งที่เกิดในเดือนตุลาคม 2005 หลังจากจีโนมของ H1N1 ได้ตีพิมพ์ในวารสารไซเอินซ์ เพราะบางพวกกลัวว่า ข้อมูลนี้สามารถใช้ในการก่อการร้ายทางชีวภาพ
เมื่อเขาเทียบไวรัสปี 1918 กับไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ทุกวันนี้ ดร. ทอเบ็นเบอร์เกอร์ได้สังเกตว่า มันมีกรดอะมิโน 25-30 อย่างที่เปลี่ยนไปในบรรดากรดอะมิโน 4,400 ชนิดของไวรัส การเปลี่ยนแปลงไม่กี่อย่างเช่นนี้ ได้เปลี่ยนไวรัสนกให้กลายเป็นโรคฆ่ามนุษย์ที่สามารถระบาดจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง
— บทความจากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์
ในกลางเดือนเมษายน 2009 รูปแปรของ H1N1 ได้ปรากฏในประเทศเม็กซิโก โดยศูนย์อยู่ที่กรุงเม็กซิโกซิตี เมื่อถึงวันที่ 26 เชื้อก็ได้ระบาดไปอย่างกว้างขวางแล้ว โดยมีรายงานกรณีในแคนาดา สหรัฐ นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และอิสราเอล วันที่ 29 เมษายน องค์การอนามัยโลกก็ได้ปรับระยะการเกิดโรคระบาดทั่วนี้เป็นระยะ 5 วันที่ 11 มิถุนายน 2009 องค์การอนามัยโลกก็ได้ปรับระยะการเกิดโรคระบาดทั่วนี้ไปเป็นระยะ 6 ซึ่งหมายความว่าโรคได้กลายเป็นโรคระบาดทั่วแล้ว โดยมีกรณีที่ยืนยันเกือบ 3 หมื่นรายทั่วโลก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2009 รายงานอัปเดตทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกแจ้งว่า "ประเทศรวมอาณาเขตหรือชุมชน 206 แห่งได้รายงานอย่างเป็นทางการว่ามีกรณีคนติดไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว H1N1 ที่ยืนยันโดยห้องปฏิบัติการ 503,536 รายรวมผู้เสียชีวิต 6,250 ราย"
- H2N2
ไข้หวัดใหญ่เอเชียเป็นการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่นกชนิด H2N2 ที่เกิดในประเทศจีนปี 1957 โดยระบาดไปทั่วโลกในปีเดียวกันกับที่ได้พัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขึ้น แล้วคงยืนจนถึงปี 1958 เป็นเหตุให้คนเสียชีวิตระหว่าง 1-4 ล้านคน
- H3N2
เชื้อ H3N2 ปัจจุบันเป็นโรคประจำของทั้งมนุษย์และสุกร วิวัฒนาการมาจากเชื้อ H2N2 ผ่านกระบวนการเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) และเป็นเหตุของเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงระบาดทั่วในปี 1968-1969 ที่ทำให้คนเสียชีวิต 750,000 คน "ไข้หวัดใหญ่ A H3N2 แบบรุนแรง เกิดอาการเร็ว (early-onset) ได้ถูกพาดหัวข่าวเมื่อเอาชีวิตของเด็กหลายคนในสหรัฐปลายปี 2003"
ไข้หวัดใหญ่ประจำปีสายเด่นเมื่อเดือนมกราคม 2006 ก็คือสายพันธุ์ H3N2 การดื้อยาต้านไวรัสมาตรฐานคือ amantadine และ rimantadine ของ H3N2 ได้เพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 1994 กลายเป็น 12% ในปี 2003 จนถึง 91% ในปี 2005
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ปัจจุบันสายพันธุ์ H3N2 ได้กลายเป็นโรคประจำในสุกรในจีนใต้และสามารถเข้าชุดยีนใหม่ (reassortment) กับไวรัสนกคือ H5N1 ในสัตว์ถูกเบียนระหว่างกลางนี้
- H7N7
เชื้อ H7N7 มีศักยะภาพการแพร่ไปจากสัตว์สู่มนุษย์ที่พิเศษ คือสามารถติดมนุษย์ นก สุกร แมวน้ำ ม้า และแม้หนูในห้องทดลอง จึงอาจกลายเป็นโรคระบาดทั่ว ในปี 2003 คนเนเธอร์แลนด์ 89 คนได้ยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ H7N7 หลังจากเกิดโรคระบาดในเป็ดไก่ของฟารม์หลายแห่ง มีผู้เสียชีวิต 1 คน
- H1N2
เชื้อ H1N2 ปัจจุบันเป็นโรคประจำของทั้งมนุษย์และสุกร สายพันธุ์ใหม่นี้ดูเหมือนจะเกิดจากกระบวนการเข้าชุดยีนใหม่ (reassortment) ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดย่อย H1N1 และ H3N2 ที่ยังหมุนเวียนเป็นกันอยู่ เพราะโปรตีน hemagglutinin ของไวรัส H1N2 คล้ายกับของ H1N1 และโปรตีน neuraminidase เหมือนกับของ H3N2
การประเมินการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่
ระยะ
ระยะไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วขององค์การอนามัยโลก (2009) | |
---|---|
ระยะ | รายละเอียด |
ระยะ 1 | ไข้หวัดใหญ่ที่สัตว์เป็น ไม่มีรายงานว่าทำให้มนุษย์ติด |
ระยะ 2 | ไข้หวัดใหญ่ที่สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าเป็น รู้แล้วว่าทำให้มนุษย์ติด ดังนั้น จึงพิจารณาว่ามีโอกาสเป็นอันตรายสร้างโรคระบาดทั่ว |
ระยะ 3 | ไวรัสที่ผสมยีนกับไวรัสชนิดอื่น (ผ่านกระบวนการเข้าชุดยีนใหม่คือ reassortment) ไม่ว่าจะเป็นของสัตว์หรือของสัตว์และมนุษย์ ได้ก่อโรคเป็นครั้งคราว หรือก่อโรคในคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ยังไม่ติดต่อระหว่างบุคคลพอให้ระบาดในระดับชุมชน |
ระยะ 4 | มีการติดไวรัสที่ได้เข้าชุดยีนใหม่ของสัตว์หรือของสัตว์และมนุษย์ในระหว่างบุคคล ที่อาจระบาดในระดับชุมชน โดยได้ยืนยันแล้ว |
ระยะ 5 | การระบาดไวรัสจากมนุษย์สู่มนุษย์ในประเทศสองประเทศหรือยิ่งกว่าภายในเขตหนึ่ง ๆ ตามกำหนดขององค์การอนามัยโลก |
ระยะ 6 | นอกจากผ่านเกณฑ์ในระยะ 5 แล้ว ไวรัสได้ระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์อย่างน้อยประเทศหนึ่งภายในเขตอีกเขตหนึ่งตามกำหนดขององค์การอนามัยโลก |
หลังระยะระบาดสูงสุด | ระดับการติดไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วในประเทศโดยมากที่มีการสอดส่องเพียงพอได้ลดลงจากระดับสูงสุด |
หลังการระบาดทั่ว | การติดไข้หวัดใหญ่ได้กลับคืนไปยังระดับที่เห็นเมื่อเกิดตามฤดูกาลในประเทศโดยมากที่มีการสอดส่องเพียงพอ |
องค์การอนามัยโลกได้พัฒนาแผนเตรียมรับมือกับไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งได้ระบุระยะของโรคระบาดทั่ว, แสดงโครงร่างบทบาทขององค์การอนามัยโลก และแนะนำมาตรการสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ควรทำก่อนเกิดและระหว่างเหตุการณ์โรคระบาดทั่ว
ในการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับระยะของโรคปี 2009 องค์การได้เก็บการแบ่งระยะเป็น 6 ระยะไว้เพื่อให้สามารถรวมวิธีและคำแนะนำใหม่ ๆ ตาม 6 ระยะนี้เข้าในแผนการเตรียมตัวและตอบสนองของแต่ละประเทศที่ได้ทำอาศัยการแบ่งระยะเช่นนี้ การจัดกลุ่มและรายละเอียดของระยะการระบาดทั่วได้ปรับปรุงให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แม่นยำขึ้น โดยอาศัยปรากฏการณ์จริง ๆ ระยะ 1-3 เป็นช่วงการเตรียมตัว รวมทั้งการเพิ่มสมรรถภาพและการวางแผนการตอบสนอง ในขณะที่ระยะ 4-6 ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องตอบสนองและบรรเทาเหตุการณ์ อนึ่ง ได้ให้รายละเอียดระยะหลังคลื่นโรคระบาดทั่วระลอกแรกเพื่ออำนวยการทำกิจเพื่อฟื้นสภาพ
แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โฆษกขององค์การอนามัยโลกได้อธิบายว่า องค์การไม่ได้ใช้แบบจำลอง 6 ระยะนี้อีกต่อไป "เพื่อให้ชัดเจน องค์การอนามัยโลกไม่ได้ใช้ระบบมีระยะ 6 ระยะดั้งเดิม ที่เริ่มจากระยะ 1 (ไม่มีรายงานว่าไข้หวัดใหญ่ในสัตว์เป็นเหตุให้คนติดโรค) จนถึงระยะ 6 (การระบาดทั่ว) ที่บางคนอาจจะคุ้นเคยเพราะการติดเชื้อ H1N1 ในปี 2009"
เพื่อเป็นที่อ้างอิง ระยะที่ว่ามีนิยามดังต่อไปนี้ คือ
ตามธรรมชาติแล้ว ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีวนเวียนอยู่ในสัตว์โดยเฉพาะนก แม้ไวรัสดังที่ว่าโดยทฤษฎีอาจพัฒนากลายเป็นไวรัสที่เกิดระบาดทั่ว แต่ในระยะ 1 ไวรัสที่แพร่อยู่ในสัตว์ยังไม่ได้รายงานว่าทำให้มนุษย์ติดเชื้อ
ในระยะ 2 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์ที่แพร่อยู่ในสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าได้ทำให้มนุษย์ติดเชื้อ และดังนั้น จึงพิจารณาว่ามีโอกาสเป็นอันตรายก่อการระบาดทั่ว
ในระยะ 3 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้เข้าชุดยีนใหม่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคประจำในสัตว์หรือเป็นทั้งในสัตว์และในมนุษย์ได้ก่อโรคเป็นครั้งคราว หรือก่อโรคในคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ยังไม่ได้ระบาดจากบุคคลสู่บุคคลเพียงพอให้ระบาดในระดับชุมชน การระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์อาจเกิดในบางกรณี ยกตัวอย่าง เมื่อคนดูแลอยู่ใกล้ชิดกับคนติดโรค แต่การระบาดในสถานการณ์จำกัดดังที่ว่าไม่ได้แสดงว่า ไวรัสได้ระบาดในมนุษย์จนถึงระดับโรคระบาดทั่วแล้ว
ระยะ 4 เป็นระยะที่ได้ยืนยันการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้รวมชุดยีนใหม่ไม่ว่าจะประจำในสัตว์หรือในมนุษย์และสัตว์ที่สามารถเป็นเหตุให้ระบาดในระดับชุมชน เป็นการปรับระยะขึ้นที่สำคัญเนื่องกับความเสี่ยงเกิดโรคระบาดทั่ว ประเทศใด ๆ ที่สงสัยหรือได้ยืนยันเหตุการณ์เช่นนี้แล้วควรรีบปรึกษากับองค์การอนามัยโลกอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถร่วมประเมินสถานการณ์และตัดสินใจถ้าจำเป็นต้องปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมโรคในประเทศนั้น ๆ ระยะ 4 บ่งการเพิ่มความเสี่ยงการระบาดทั่วอย่างสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โรคระบาดทั่วจะเกิดแน่นอน
ระยะ 5 เป็นระยะที่ไวรัสได้ระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์ในประเทศอย่างน้อย 2 ประเทศภายในเขตหนึ่ง ๆ ที่กำหนดโดยองค์การ แม้ประเทศโดยมากจะไม่ได้รับผลอะไรในระยะนี้ แต่การประกาศว่าถึงระยะ 5 เป็นตัวระบุสำคัญว่า การเตรียมตัวตั้งระบบจัดการ การสื่อสาร และการดำเนินมาตรการแผนการบรรเทาโรคที่จะเกิดเหลือเวลาน้อย
ระยะ 6 เป็นระยะโรคระบาดทั่ว คือเกิดการระบาดระดับชุมชนในประเทศอย่างน้อย 1 ประเทศในเขตอีกเขตหนึ่งที่กำหนดโดยองค์การ นอกเหนือจากเกณฑ์ที่ระบุในระยะ 5 ระยะนี้บ่งว่า โรคระบาดทั่วโลกได้เกิดขึ้นแล้ว
ช่วงหลังระยะระบาดสูงสุด (peak period) ระดับการมีโรคระบาดทั่วในประเทศโดยมากที่มีการสอดส่องเพียงพอได้ตกลงต่ำกว่าระดับสูงสุดเท่าที่ผ่านมา ระยะนี้ระบุว่าการระบาดทั่วเริ่มลดลงแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะมีระลอกใหม่ของโรคระบาดอีกหรือไม่ ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงพึงเตรียมตัวรับมือกับคลื่นระลอกที่ 2
โรคระบาดทั่วที่เคยเกิดก่อน ๆ ได้เกิดเป็นระลอกคลื่น แต่ละระลอกห่างกันเป็นเดือน ๆ เมื่อระดับการระบาดของโรคได้ตกลง งานสำคัญก็คือสื่อสารข้อมูลนี้ให้เหมาะสมกับโอกาสการเกิดโรคระลอกต่อไป เพราะคลื่นโรคระบาดอาจห่างกันเป็นเดือน ๆ ดังนั้น การกลับไปวางตัวแบบสบาย ๆ อาจเร็วเกินไป
ช่วงหลังการระบาดทั่ว (post-pandemic period) การติดโรคจะกลับคืนสู่ระดับปกติที่เห็นสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ไวรัสระบาดทั่วจะมีการดำเนินคล้าย ๆ กับไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A ที่เกิดประจำปี ในระยะนี้ การเฝ้าสอดส่อง และการอัปเดตแผนงานเตรียมตัวและตอบสนองตามสมควรเป็นเรื่องสำคัญ ปฏิบัติการฟื้นตัวและประเมินเหตุการณ์อย่างเอาจริงเอาจังอาจจำเป็น
ในปี 2014 ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้เสนอแผนงานคล้ายกับระยะโรคระบาดทั่วขององค์การอนามัยโลกที่เรียกว่า Pandemic Intervals Framework (โครงร่างช่วงโรคระบาดทั่ว) ซึ่งมีช่วงก่อนการระบาดทั่ว 2 ระยะ คือ
- การตรวจสอบ
- การยอมรับ/การรู้จักว่าการระบาดทั่วได้เกิดแล้ว
และช่วงโรคระบาดทั่ว 4 ระยะ คือ
- เริ่มต้น (Initiation)
- เร่งเกิดอย่างรวดเร็ว (Acceleration)
- ชลอเกิด (Deceleration)
- เตรียมตัว (Preparation)
และประกอบกับตารางที่แสดงนิยามของช่วงต่าง ๆ และเทียบมันกับระยะโรคระบาดทั่วขององค์การอนามัยโลก
ความรุนแรง
ในปี 2014 ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้เริ่มใช้แผน Pandemic Severity Assessment Framework (PSAF) เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคระบาดทั่ว PSAF ใช้แทนที่ดัชนีความรุนแรงโรคระบาดทั่ว (PSI) ของสหรัฐซึ่งเป็นแบบจำลองเชิงเส้น, สมมุติว่าโรคระบาดในอัตราร้อยละ 30 และวัดค่าอัตราตายของผู้ป่วยรายโรค (CFR) เพื่อประเมินความรุนแรงและวิถีการดำเนินของโรคระบาดทั่ว
ดั้งเดิมแล้ว ความรุนแรงของโรคระบาดทั่วจะวัดด้วยค่าอัตราตายของผู้ป่วยรายโรค (CFR) ซึ่งอาจไม่ดีพอในช่วงการตอบสนองต่อการระบาดทั่วของโรคเพราะเหตุต่าง ๆ รวมทั้ง
- จำนวนผู้เสียชีวิตอาจล่าช้าหลังเกิดกรณีโรคเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ซึ่งก็จะทำให้ CFR เป็นค่าประเมินน้อยเกิน
- จำนวนกรณีโรคอาจไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้ CFR เป็นค่าประมาณมากเกิน
- ค่า CFR เดียวสำหรับประชากรทั้งหมดอาจอำพรางผลต่อกลุ่มประชากรย่อยที่อ่อนแอ เช่น เด็ก คนชรา ผู้มีโรคเรื้อรัง และกลุ่มเชื้อชาติพันธุ์ต่าง ๆ
- ความตายอาจไม่ได้แสดงผลของโรคระบาดทั่วทั้งหมด เช่น การขาดงาน หรืออุปสงค์ในการไปหาหมอ
เพื่อข้ามข้อจำกัดในการวัดด้วยค่า CFR อย่างเดียว PSAF จึงวัดความรุนแรงของโรคระบาดเป็น 2 มิติ คือความรุนแรงของโรคในคนไข้ และการติดต่อได้ของโรคในกลุ่มประชากร แต่ละมิติสามารถวัดได้ด้วยค่ามากกว่าหนึ่งอย่าง
การจัดการ
การป้องกัน
ส่วนย่อยบทความนี้กล่าวถึงยุทธการป้องกันไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วที่องค์กรผู้เชี่ยวชาญสหรัฐ คือ Council on Foreign Relations เป็นผู้ตีพิมพ์
ถ้าไข้หวัดใหญ่ยังคงเป็นปัญหากับเพียงแค่สัตว์โดยมีการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์จำกัด นี่ก็ไม่ใช่การระบาดทั่ว แต่ยังเป็นอันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามกลายเป็นโรคระบาดทั่ว มีการเสนอยุทธการชั่วคราวเหล่านี้
- การฆ่าหรือการให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยง
- การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ธรรมดาแก่ผู้ทำงานกับเป็ดไก่
- การจำกัดการเดินทางในเขตที่พบไวรัส
เหตุผลที่ให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ธรรมดาแก่ผู้ที่ทำงานกับเป็ดไก่ก็คือ มันลดโอกาสการผสมยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ธรรมดากับไวรัสนกคือ H5N1 จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคระบาดทั่ว ยุทธการระยะยาวสำหรับเขตภูมิภาคที่เกิดเชื้อ H5N1 ที่ติดง่ายเป็นประจำในนกป่ารวม
- เปลี่ยนวิธีการทำฟารม์เพื่อเพิ่มความสะอาดและลดการติดต่อระหว่างสัตว์เลี้ยงกับนกป่า
- เปลี่ยนวิธีการทำฟาร์มในเขตที่สัตว์เลี้ยงอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ และที่อยู่มักไม่สะอาด เปลี่ยนข้อปฏิบัติสำหรับตลาดสดที่ฆ่านกในตลาด ปัญหาการใช้มาตรการเหล่านี้ก็คือความยากจนที่แพร่หลาย บ่อยครั้งในเขตชนบท บวกกับการเลี้ยงนกเพื่อเป็นอาหารของครอบครัว หรือเพื่อรายได้โดยไม่มีมาตรการป้องกันการระบาดของโรค
- เปลี่ยนนิสัยการซื้อของเฉพาะพื้นที่จากการซื้อนกที่ยังเป็น ๆ เป็นซื้อเนื้อนกที่ตายแล้ว
- เพิ่มการมีวัคซีนและลดราคาวัคซีนสำหรับสัตว์
การชลอการระบาด
มาตรการของรัฐ
การรับมือกับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการสื่อสารทางสาธารณสุขที่ดี และมีสมรรถภาพในการติดตามความวิตก ทัศนคติ และพฤติกรรมของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักรได้พัฒนาชุดคำถาม (Flu TElephone Survey Template, FluTEST) เพื่อใช้สำรวจประชากรทั้งประเทศในช่วงการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่
- การเว้นระยะห่างทางสังคม - ถ้าให้เดินทางน้อยลง ทำงานที่บ้าน หรือปิดสถาบันการศึกษา ไวรัสก็จะมีโอกาสระบาดน้อยลง งดการอยู่ในที่แออัดถ้าเป็นไปได้ เว้นระยะห่าง (อย่างน้อย 1 เมตร) จากบุคคลที่มีอาการหวัด เช่น ไอหรือจาม แต่วิธีการนี้ในช่วงโรคระบาดทั่วก็จะมีผลรุนแรงหลายอย่างทางจิตใจ ดังนั้น เกณฑ์การเว้นระยะห่างควรพิจารณาสุขภาพจิตด้วย
- อนามัยเกี่ยวกับการหายใจ - แนะนำให้ประชาชนปิดการไอการจามของตน ถ้าใช้กระดาษทิชชู ควรทิ้งอย่างพิถีพิถันและล้างมือทันทีหลังจากนั้น (ดูอนามัยการล้างมือ) ถ้าไม่มีกระดาษทิชชูตอนนั้น ให้ปิดปากด้วยข้อพับของแขนให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- อนามัยการล้างมือ - การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ (หรือด้วยน้ำยาล้างมือที่ทำด้วยแอลกอฮอล์) เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะหลังจากไอหรือจาม หรือหลังจากเจอหรือสัมผัสกับผู้อื่นหรือกับพื้นผิวที่อาจมีเชื้อ (เช่น ราวบันได เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกันเป็นต้น)
- อนามัยอื่น ๆ - พยายามอย่าแตะตา จมูก และปากให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- หน้ากากอนามัย - ไม่มีหน้ากากที่กันโรคได้ทั้งหมด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้หรือเกินมาตรฐาน N95 ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเชื่อว่า ป้องกันได้ดี องค์การแนะนำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใส่หน้ากากระดับ N95 และให้คนไข้ใส่หน้ากากที่แพทย์พยาบาลใส่ ซึ่งอาจป้องกันสิ่งคัดหลั่งทางลมหายใจไม่ให้กระจายไปในอากาศ หน้ากากทุก ๆ อย่างอาจช่วยเตือนคนใส่ไม่ให้จับหน้าของตนเอง ซึ่งอาจช่วยการติดเชื้อเนื่องด้วยการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อ โดยเฉพาะในที่แออัดซึ่งผู้ที่ไอหรือจามไม่สามารถล้างมือของตนได้ แต่หน้ากากก็อาจติดเชื้อเองและต้องจัดการเหมือนขยะติดเชื้อเมื่อถอดออก
- การสื่อสารความเสี่ยง - เพื่อให้ประชาชนยอมทำตามวิธีการลดการระบาดของโรค การสื่อสารเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในชุมชน (เช่นบังคับให้คนป่วยหยุดงานอยู่บ้าน ปิดสถาบันการศึกษา) สำหรับเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดที่รัฐบาลกลางกำหนดให้ทำ โดยผู้นำชุมชนเป็นผู้กระจายข่าวสารไปไปยังประชาชน ไม่ควรแสดงความมั่นใจหรือความแน่นอนเกินจริงว่า วิธีเหล่านี้มีประสิทธิผลเพียงไร
ยาต้านไวรัส
มียาต้านไวรัสสองกลุ่มที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ 1) สารยับยั้งเอนไซม์นูรามินิเดส (neuraminidase inhibitor) เช่น โอเซลทามิเวียร์ (ชื่อการค้าเช่น Tamiflu) และ Zanamivir (ชื่อการค้า Relenza) และ 2) อะดาแมนเทน (adamantane) เช่น อะแมนตาดีนและ rimantadine แต่เพราะมีผลข้างเคียงในอัตราสูงและเพราะโอกาสดื้อยา การใช้ยากลุ่มอะดาแมนเทนเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่จึงจำกัด
ประเทศหลายประเทศรวมทั้งองค์การอนามัยโลก กำลังเตรียมสะสมยาต้านไวรัสเพื่อเตรียมรับมือกับโรคระบาดทั่วที่อาจเกิด โอเซลทามิเวียร์เป็นยานิยมมากที่สุด เพราะมีขายเป็นเม็ด Zanamivir ก็พิจารณาเหมือนกันแต่เป็นยาใช้สูด ยาต้านไวรัสอื่น ๆ มีโอกาสมีผลรักษาไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทั่วน้อย
ทั้งโอเซลทามิเวียร์และ Zanamivir ค่อนข้างขาดตลาด และสมรรถภาพการผลิตในระยะปานกลางก็จำกัด แพทย์บางส่วนกล่าวว่าการให้ยาโอเซลทามิเวียร์บวกกับ probenecid อาจช่วยเพิ่มยาที่มีเป็นทวีคูณ
มีโอกาสที่ไวรัสจะวิวัฒนาการจนเกิดดื้อยา คือปรากฏว่า คนไข้ที่ติดเชื้อ H5N1 แล้วรักษาด้วยโอเซลทามิเวียร์ได้เกิดสายพันธุ์ไวรัสที่ดื้อยา
วัคซีน
วัคซีนไม่น่าจะมีเมื่อเกิดโรคระบาดในระยะต้น ๆ เพราะไม่สามารถพัฒนาวัคซีนกันไวรัสที่ยังไม่มีจริง ๆ แม้ไวรัสไข้หวัดใหญ่นกสายพันธุ์ H5N1 มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคระบาดทั่ว แต่ไวรัสชนิดอื่น ๆ ก็เช่นกัน หลังจากได้ระบุไวรัสและอนุมัติให้ใช้วัคซีนแล้ว ปกติจะใช้เวลา 5-6 เดือนก่อนจะมีขายในตลาด
สมรรถภาพในการผลิตวัคซีนต่างกันในประเทศต่าง ๆ ตามองค์การอนามัยโลก มีประเทศที่ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ 19 ประเทศเท่านั้น ประเมินว่า สามารถผลิตวัคซีนอย่างมากที่สุด 750 ล้านชุดต่อปี และแต่ละคนน่าจะต้องได้ 2 ชุดเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานไวรัส การจำหน่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศน่าจะเป็นปัญหา มีประเทศหลายประเทศที่มีแผนการดีในการผลิตวัคซีนจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแคนาดากล่าวว่า กำลังสร้างสมรรถภาพการผลิตให้ได้ 32 ล้านชุดภายใน 4 เดือน ซึ่งเกือบพอให้ประชาชนแคนาดาทุกคน (ประมาณ 35 ล้านคนในปี 2016)
ปัญหาอีกอย่างก็คือประเทศที่ไม่ได้ผลิตวัคซีนเอง รวมทั้งที่น่าจะเป็นแหล่งเกิดโรค จะสามารถซื้อวัคซีนป้องกันประชากรของตนหรือไม่ นอกจากราคาวัคซีนแล้ว ยังกลัวว่า ประเทศที่ผลิตวัคซีนได้เองจะกักวัคซีนที่ผลิตเพื่อป้องกันประชากรของตนเองโดยไม่ขายให้ประเทศอื่น ๆ จนกระทั่งสามารถป้องกันตนเองแล้ว เช่น ประเทศอินโดนีเซียได้ปฏิเสธไม่แชร์ตัวอย่างสายพันธุ์ไวรัส H5N1 ที่ได้ทำให้คนในประเทศติดแล้วเสียชีวิตจนกว่าจะได้การประกันว่า จะได้วัคซีนที่ผลิตอาศัยตัวอย่างนั้น ๆ แต่ก็ไม่เคยได้คำรับประกัน ในเดือนกันยายน 2009 สหรัฐและฝรั่งเศสได้ตกลงยอมจำหน่ายวัคซีนต้าน H1N1 ในอัตราร้อยละ 10 ของที่มีให้ประเทศอื่น ๆ ผ่านองค์การอนามัยโลก
มีปัญหาทางเทคนิคในการพัฒานาวัคซีนต้านเชื้อ H5N1 ปัญหาแรกก็คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลเป็นการฉีด haemagluttinin ขนาด 15 ไมโครกรัมให้เข็มหนึ่ง แต่เชื้อกลุ่ม H5 ดูเหมือนจะทำให้ภูมิต้านทานตอบสนองแบบอ่อน ๆ เท่านั้น และงานทดลองขนาดใหญ่ทำที่ศูนย์หลายศูนย์ก็พบว่าการฉีดวัคซีน 2 ครั้งแต่ละครั้งขนาด 90 ไมโครกรัมโดยห่างกัน 28 วันสำหรับเชื้อ H5 ให้ภูมิคุ้มกันแก่คนแค่ร้อยละ 54 แม้ถ้าจัดว่าร้อยละ 54 ก็พอป้องกันโรคแล้ว แต่ตอนนี้โลกผลิตวัคซีนเพียงแค่ 900 ล้านชุดแต่ละชุดขนาด 15 ไมโครกรัม ถ้าเปลี่ยนโรงงานผลิตวัคซีนทั้งหมดให้ผลิตวัคซีน H5 โดยต้องฉีด 2 ครั้งครั้งละ 90 ไมโครกรัม สมรรถภาพการผลิตก็เหลือเพียงแค่ 70 ล้านชุด การทดลองใช้ยาเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เช่น alum, AS03, AS04 หรือ MF59 เพื่อลดขนาดวัคซีนที่ใช้เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก
ปัญหาที่สองก็คือ มีเคลดไวรัสที่แพร่ระบาดอยู่ 2 กลุ่ม เคลด 1 เป็นไวรัสที่ดั้งเดิมแยกได้ในเวียดนาม ส่วนเคลด 2 เป็นไวรัสที่แยกได้ในอินโดนีเซีย งานวิจัยวัคซีนโดยมากมุ่งไปที่ไวรัสเคลด 1 แต่ไวรัสเคลด 2 ก็มีแอนติเจนที่ต่างกัน และวัคซีนสำหรับไวรัสเคลด 1 ก็ไม่น่าจะป้องกันโรคระบาดทั่วที่เกิดจากไวรัสเคลด 2
ตั้งแต่ปี 2009 การพัฒนาวัคซีดโดยมากมุ่งไปที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วคือ H1N1 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2009 มีการทดลองวัคซีนทางคลินิก 70 งานที่ได้ทำเสร็จแล้วหรือกำลังทำอยู่ ในเดือนกันยายน 2009 องค์การอาหารและยาสหรัฐได้ให้อนุมัติวัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 2009 รวม 4 ชนิด และคาดว่า วัคซีนล็อตแรกจะผลิตได้ในเดือนต่อมา
การเตรียมตัวของรัฐสำหรับไข้หวัดใหญ่ H5N1 ที่อาจระบาดทั่ว (2003-2009)
ตามหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ จนถึงเดือนมีนาคม 2006 รัฐบาลทั่วโลกได้ใช้งบประมาณเป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อวางแผนรับมือกับไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วที่อาจเกิด รวมทั้งซื้อยา ฝึกปฏิบัติการฉุกเฉิน และพัฒนายุทธการเพื่อคุมชายแดนให้ดีขึ้นเนื่องกับอันตรายของเชื้อ H5N1 ตามหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID)
สหรัฐกำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรสากล 8 องค์กรรวมทั้งองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์กรโลกเพื่อสุขภาพสัตว์ (OIE) และรัฐบาลต่างประเทศอีก 55 ประเทศเพื่อจัดการสถานการณ์ผ่านการวางแผน การตรวจสอดส่องให้ดีขึ้น และความโปร่งใสอย่างสมบูรณ์ในการรายงานและการตรวจการเกิดไข้หวัดใหญ่นก สหรัฐและหุ้นส่วนนานาชาติเหล่านี้ได้เป็นผู้นำสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มการสอดส่องโรคระบาดในเป็ดไก่และจำนวนการตายที่สำคัญของนกอพยพ และให้สามารถเริ่มมาตรการการควบคุมได้อย่างรวดเร็ว หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ, กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ (HHS) และกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) กำลังประสานมาตรการการตอบสนองสากลในนามของทำเนียบขาวพร้อมกับกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐทั้งหมด
— หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID)
สิ่งที่ทำรวม ๆ กันแล้วก็เพื่อ "ลดความเสี่ยงการระบาดของโรคในสัตว์ให้น้อยสุด" "ลดความเสี่ยงการติดโรคของมนุษย์" และ "สนับสนุนการวางแผนและความพร้อมรับมือกับโรคละบาดทั่วให้ยิ่งขึ้น"
อนึ่ง ศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติสหรัฐ (NWHC) ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป (ECDC) องค์การอนามัยโลก (WHO) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติในประเทศต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ กำลังประสานงาน สอดส่อง วิเคราะห์ และรายงานการเกิดโรคทั้งในมนุษย์และสัตว์ในที่ต่าง ๆ
สหประชาชาติ
ในเดือนกันยายน 2005 ผู้นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหประชาชาติท่านหนึ่งได้เตือนว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่นกอาจเกิดเมื่อไรก็ได้ และมีโอกาสทำให้คนเสียชีวิตได้ถึง 5-150 ล้านคนทั่วโลก
องค์การอนามัยโลก
องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า เหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วใกล้จะเกิดกว่าที่เคยผ่าน ๆ มาทั้งหมดตั้งแต่ปี 1968 เมื่อโรคระบาดทั่ว 3 ครั้งสุดท้ายในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดทั่วโลก จึงได้พัฒนาแนวทางในการเตรียมตัวและตอบสนองต่อเหตุการณ์ แผนงานเดือนมีนาคม 2005 รวมแนวทางเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ในการเตรียมตัวและตอบสนอง, ข้อมูลเกี่ยวกับระยะของโรคระบาดทั่ว และแนะนำสิ่งที่ต้องทำก่อน ระหว่าง และหลังการระบาดทั่ว
เชิงอรรถ
ดูเพิ่ม
-
Poland, G. A. (2006). "Vaccines against Avian Influenza - A Race against Time". N Engl J Med. 354 (13): 1411–13. doi:10.1056/NEJMe068047. PMID 16571885.
{{cite journal}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) -
Treanor, J. J.; Campbell, J. D.; Zangwill, K. M.; Rowe, T.; Wolff, M. (2006). "Safety and Immunogenicity of an Inactivated Subvirion Influenza A (H5N1) Vaccine". N Engl J Med. 354 (13): 1343–51. doi:10.1056/NEJMoa055778. PMID 16571878.
{{cite journal}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help)
แหล่งข้อมูลอื่น
- EU response to influenza - Health - EU portal
- WHO European Region pandemic influenza website
- EU coordination on Pandemic (H1N1) 2009 - European Commission - Public Health
- The Great Pandemic: The United States in 1918
- PandemicFlu.gov
- Pandemic Viruses at the Influenza Research Database
- A Cruel Wind: Pandemic Flu in America, 1918-1920 เก็บถาวร 2009-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, by Dorothy A. Pettit, PhD and Janice Bailie, PhD (Timberlane Books, 2009)
ทั่วไป | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ไวรัสอินฟลูเอนซา | |||||||||
ชนิดย่อยของ ไวรัสอินฟลูเอนซา เอ |
|||||||||
H1N1 |
|
||||||||
H5N1 |
|
||||||||
การรักษา |
|
||||||||
การระบาดและการระบาดทั่ว ของไข้หวัดใหญ่ |
|
||||||||
ไม่ใช่ในมนุษย์ |
|
||||||||
ที่เกี่ยวข้อง | |||||||||
|