Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ความผิดปรกติในความคิด

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ความผิดปรกติในความคิด
(Thought disorder)
ชื่ออื่น Formal thought disorder (FTD)
Cloth embroidered by a schizophrenia sufferer.jpg
ผ้าที่ปักโดยคนไข้โรคจิตเภท แสดงการสัมพันธ์คำและแนวคิดต่าง ๆ อย่างไร้ความหมายที่เป็นอาการของความผิดปกติทางความคิด
สาขาวิชา จิตเวช

ความผิดปรกติในความคิด หรือ ความผิดปกติทางความคิด (อังกฤษ: thought disorder ตัวย่อ TD) หมายถึงความคิดสับสนดังที่เห็นจากการพูดสับสน ความปกติทางความคิดโดยเฉพาะ ๆ รวมการพูดนอกเรื่อง (derailment) พูดน้อย (poverty of speech) ตอบเฉียด (tangentiality คือพูดไม่เข้าเรื่อง) พูดไร้เหตุผล พูดหรือทำท่าทางซ้ำ ๆ (perseveration) และความคิดชะงัก (thought blocking) TD เป็นอาการเด่นอย่างหนึ่งของโรคจิตเภท แต่ก็สัมพันธ์กับภาวะอื่น ๆ อีกด้วยรวมทั้งความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะสมองเสื่อม อาการฟุ้งพล่าน และโรคทางประสาท (neurological disease)

จิตแพทย์จัดความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ (formal thought disorder) ว่าเป็นความคิดที่ผิดปกติอย่างหนึ่ง ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความผิดปกติทางความคิดโดยเนื้อหาซึ่งรวมอาการหลงผิด (delusion) อย่างหลังเป็นความผิดปกติในเรื่องที่คิด อย่างแรกเป็นความผิดปกติในความคิดโดยรูปแบบที่แสดงออก แม้คำภาษาอังกฤษว่า thought disorder อาจหมายถึงอาการทั้งสองแบบ แต่หนังสือจิตเวชบางเล่มและบทความนี้ใช้คำนี้โดยหมายถึงความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ

แม้จิตแพทย์ชาวสวิส อ็อยเกน บล็อยเลอร์ ผู้ตั้งชื่อโรค schizophrenia (โรคจิตเภท) จัดความผิดปกตินี้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของโรคจิตเภท แต่ความผิดปกตินี้ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะในโรคจิตเภทหรืออาการโรคจิตเท่านั้น มันมักเป็นอาการหนึ่งของอาการฟุ้งพล่าน และอาจพบในความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า การพูดสัมผัสเสียง (clanging) หรือการพูดเลียน (echolalia) ก็อาจพบด้วยใน Tourette syndrome คนไข้ที่สำนึกถึงสิ่งแวดล้อมลดลง ไม่มีสมาธิ และสับสน ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า clouding of consciousness (เหมือนมีหมอกในหัว) ดังที่พบในอาการเพ้อก็มีความผิดปกตินี้ด้วย

แต่ก็มีความแตกต่างในการตรวจรักษาคนไข้สองกลุ่มนี้ คนไข้โรคจิตเภทหรือมีอาการโรคจิตไม่ค่อยสำนึกถึงหรือเป็นห่วงเรื่องความสับสนของตน เทียบกับคนไข้ที่เหมือนมีหมอกในหัว ที่จัดว่าเป็นคนไข้โรคทางกาย ปกติจะสำนึกถึงและเป็นห่วง โดยบ่นว่าสับสน คิดได้ไม่ดี

รูปแบบและกระบวนการทางความคิดเทียบกับสิ่งที่คิด

คำภาษาอังกฤษว่า thought disorder ทำความสับสนให้กับทั้งนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาแพทย์ระยะเวชปฏิบัติ และแพทย์ที่มีประสบการณ์แล้ว มันไม่มีนิยามที่ยอมรับอย่างทั่วไป แม้จะเริ่มมีความเห็นพ้องภายในทศวรรษที่ผ่านมา (2016) แพทย์บางพวกใช้มันหมายถึงความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ (formal thought disorder) และการพูดที่สับสน บางพวกใช้อย่างกว้าง ๆ โดยหมายถึงการพูดที่สับสน ความสับสน อาการหลงผิด (delusion) รวมแม้กระทั่งประสาทหลอน (hallucination) พวกอื่นใช้มันหลวม ๆ ยิ่งกว่านั้นโดยหมายถึงความผิดปกติทางประชาน (cognitive disorder) ในปี 1962 จิตแพทย์ชาวอังกฤษ (Frank Fish) เสนอว่า ความผิดปกติทางประชานสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ความผิดปกติทางการรับรู้ (perceptual disorder) ความผิดปกติในสิ่งที่คิด (thought content disorder) ความผิดปกติของกระบวนการความคิด (thought process disorder) และความผิดปกติของรูปแบบความคิด (thought form disorder)

ในสถานรักษาพยาบาลทางจิตเวช ความผิดทางการรับรู้ที่สามัญสุดคือประสาทหลอนแบบต่าง ๆ ความผิดปกติในสิ่งที่คิด ซึ่งก็คือความผิดปกติของความเชื่อและการตีความประสบการณ์ ก็คืออาการหลงผิด (delusion) ความผิดปกติของกระบวนการความคิด ซึ่งเป็นความผิดปกติทางไอเดียและการสร้างคำพูดก่อนที่จะแสดงออก รวมการพูดเร็ว (pressured speech) และความคิดชะงัก (thought blocking) ความผิดปกติของรูปแบบความคิด ซึ่งก็คือความผิดปกติในความคิดโดยรูปแบบตรง ๆ ก็คือความผิดปกติของการแสดงออกทางภาษาทั้งในการพูดการเขียน รวมการพูดไม่ปะติดปะต่อ (incoherence) การตอบเฉียด (tangentiality) หรือการพูดออกนอกเรื่อง (derailment) อาการที่คนไข้แสดงในสถานการณ์แต่ละครั้ง ๆ อาจไม่สามารถจัดเข้าหมวดหมู่เหล่านี้โดยเดี่ยว ๆ ได้ คนไข้อาจมีความผิดปกติในหมวดหมู่หนึ่ง ๆ มากกว่านั้น หรือทั้งหมด เมื่อกันความผิดปกติทางการรับรู้และความผิดปกติในสิ่งที่คิด คำว่า ความผิดปกติทางความคิด (thought disorder) หรือความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ (formal thought disorder) ในหนังสือทางจิตเวชบางครั้ง (หรือควรหมายความอย่างนี้) หมายถึงความผิดปกติของรูปแบบและกระบวนการความคิด บทความนี้โดยมากเพ่งความสนใจไปที่ความหมายนี้โดยเฉพาะในส่วนเรื่องรูปแบบย่อยต่าง ๆ

รูปแบบย่อยและอาการ

ความผิดปกติในความคิด (thought disorder) อาจต่อเนื่องจากพฤติกรรมปกติ คือ คนปกติอาจมีอาการเป็นบางครั้งบางคราวเช่นเมื่อเหนื่อยหรือเมื่อเสียความยับยั้งชั่งใจ เมื่อนักเขียนใช้ภาษาแบบสร้างสรรค์ หรือเมื่อคนในอาชีพบางอย่าง เช่น นักการเมือง ผู้บริหาร นักปรัชญา รัฐมนตรี หรือนักวิทยาศาสตร์ ใช้ภาษาแบบเป็นวิชาการ/แบบเป็นทางการมากเกิน หรือเมื่อคนที่ไม่ค่อยฉลาดหรือไม่มีการศึกษาใช้ภาษาคล้ายกับคนไข้ที่มีอาการโรคทางจิตอย่างรุนแรง

เพื่อพิจารณาว่าคนไข้มีอาการนี้หรือไม่ แพทย์พยาบาลจะสังเกตดูการพูดอย่างละเอียด แม้การมีอาการต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไปจะเป็นเรื่องปกติในบางครั้ง แต่ระดับความผิดปกติ ความถี่ และผลต่อการใช้ชีวิตก็จะเป็นตัวให้สรุปว่าคนไข้มีอาการนี้หรือไม่ คนไข้ควรจะประเมินภายในบริบท เช่น คนไข้ควบคุมอาการนี้ได้หรือไม่ สามารถลดลงเมื่อขอให้กล่าวอย่างเจาะจงหรือย่างกระชับขึ้นได้หรือไม่ พูดดีขึ้นไหมเมื่อกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่ง มีอาการที่สำคัญอย่างอื่น ๆ อีกหรือไม่ คนไข้มีพื้นเพอย่างไร (เช่น การศึกษาและระดับเชาวน์ปัญญา) อนึ่ง ความใส่ใจที่พิการ ความจำไม่ดี และปัญหาการเข้าใจความคิดทางนามธรรมอาจแสดงว่ามีความผิดปกตินี้ ซึ่งสามารถเฝ้าสังเกตหรือประเมินด้วยแบบประเมินสถานะทางจิตใจ เช่น serial sevens หรือการตรวจสอบความจำ

มีรูปแบบย่อยที่ได้ตั้งชื่อหลายอย่างและอาจสับสนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงโดยไม่ระบุว่าเป็นรูปแบบย่อยของความผิดปกติทางความคิด รูปแบบย่อยต่าง ๆ ที่อาจพบในวรรณกรรมแพทย์รวมทั้ง

  • อาการพูดน้อย (alogia หรือ poverty of speech) คือพูดน้อยไม่ว่าจะโดยปริมาณหรือโดยเนื้อความ ในการจัดอาการของโรคจิตเภทเป็นอาการเชิงบวกหรืออาการเชิงลบ มันเป็นอาการเชิงลบ แต่เมื่อจัดลงในหมวดหมู่ที่มากกว่านั้น การพูดน้อยโดยเนื้อความ (poverty of speech content) คือพูดสื่อความได้น้อยแม้ปริมาณคำพูดจะปกติ เป็นอาการสับสน (disorganization symptom) อย่างหนึ่ง เทียบกับการพูดน้อยโดยปริมาณ (poverty of speech) ที่เป็นอาการเชิงลบอย่างหนึ่ง ในแบบการวัดเพื่อประเมินอาการบกพร่องสำหรับโรคจิตเภท (SANS) ซึ่งใช้ในงานวิจัยทางคลินิก อาการความคิดชะงัก (thought blocking) และการเพิ่มความล่าช้าในการตอบ (increased latency in response) ก็จัดเป็นส่วนของอาการพูดน้อยด้วย
  • อาการความคิดชะงัก (thought blocking) คือการคิดชะงักไปโดยยังไม่จบเรื่อง คนไข้อาจหรือไม่อาจดำเนินความคิดต่อไปได้ นี่เป็นความผิดปกติทางความคิดอย่างหนึ่งที่เห็นในโรคจิตเภท
  • อาการคิดอ้อมค้อม (circumstantiality, circumstantial thinking, circumstantial speech) คือบอกรายละเอียดที่ไม่จำเป็นโดยมักไม่เข้าประเด็นคำถามแต่ก็ยังไม่เสียประเด็นหลัก ไม่สามารถตอบคำถามโดยไม่ให้รายละเอียดเกินควรและไม่จำเป็น ต่างกับอาการตอบเฉียด (tangentiality) เพราะคนไข้ยังกลับไปยังประเด็นหลักได้ ตัวอย่างเช่น คนไข้ตอบคำถามคือ "ตอนนี้นอนหลับดีไหม" ว่า "ผมนอนตั้งแต่เช้าจะได้นอนพอ ผมชอบฟังเพลงหรืออ่านหนังสือก่อนนอน ผมกำลังอ่านนิยายปริศนาอยู่ บางทีผมอาจจะเขียนนิยายปริศนาในอนาคต แต่มันไม่ได้ช่วยหรอก หมายถึงการอ่านหนังสือน่ะ ผมนอนได้เพียง 2-3 ชม. ตอนกลางคืน"
  • อาการคิดสัมผัสเสียง (clanging, clang association) เป็นอาการความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas) ที่รุนแรง ที่ไอเดียต่าง ๆ จะสัมพันธ์กันตามสัมผัสเสียงหรือสัมผัสอักษร ไม่ได้ตามความหมาย ในภาษาอังกฤษ คนไข้อาจกล่าว่า "Many moldy mushrooms merge out of the mildewy mud on Mondays." (ตามสัมผัสอักษร) หรือ "I heard the bell. Well, hell, then I fell." (ตามสัมผัสเสียง) ปกติมักเห็นในคนไข้โรคอารมณ์สองขั้วในระยะฟุ้งพล่าน แต่ก็เห็นด้วยในอาการโรคจิตที่มีเหตุจากโรคทางจิตเวช คือ โรคจิตเภท และ schizoaffective disorder
  • อาการคิดนอกเรื่อง (derailment, loose association, knight's move thinking) ความคิดเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกันนิด ๆ หน่อย ๆ หรือไม่เกี่ยวเลย มักจะเห็นในคำพูดแต่ก็เห็นในการเขียนด้วย เช่น "พรุ่งนี้ฉันจะออกจากบ้านนะ ฉันเข้าไปจัดการ เออ ฉันใส่ยาฟอกสีในผมของฉันในรัฐแคลิฟอร์เนีย"
  • อาการพูดวอกแวก (distractible speech) คือเมื่อพูดอยู่ยังไม่จบ คนไข้เปลี่ยนประเด็นไปอีกเรื่องหนึ่งเพราะสิ่งเร้าภายนอกใกล้ ๆ เช่น "ต่อจากนั้น ฉันก็ย้ายที่อยู่จากซานฟรานซิสโกไปยัง... คุณได้เน็คไทนั้นมาจากที่ไหน"
  • อาการพูดเลียน (echolalia) คืออาการเลียนคำหรือวลีของผู้อื่นที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่รู้ตัว อาจทำครั้งเดียว หรือทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาจเลียนแค่คำสุดท้าย ๆ ที่คนอื่นพูด อาจเป็นอาการอย่างหนึ่งของ Tourette's Syndrome ตัวอย่างเช่น (ถาม) "จะกินข้าวเย็นไหม" (ตอบ) "จะกินข้าวเย็นไหม [หยุดไปครู่หนึ่ง] กิน มีอะไรกิน"
  • อาการพูดเลี่ยงความคิดต่อไป (evasion) คือเปลี่ยนความคิดต่อไปตามเหตุผลในลำดับความคิด ด้วยความคิดอื่นที่ใกล้ ๆ กันแต่ไม่สมควรหรือไม่ถูกต้อง เรียกด้วยว่า paralogia หรือ perverted logic ตัวอย่างภาษาอังกฤษเช่น "I... er ah... you are uh... I think you have... uh-- acceptable erm... uh... hair."
  • อาการความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas) คือกระโดดจากประเด็นหนึ่งไปยังอีกประเด็นหนึ่ง แม้จะอาจจะสัมพันธ์กันบ้าง อาจเป็นเพราะความคล้ายกันของประเด็น หรือในกรณีที่รุนแรงขึ้น เพราะสัมผัสเสียง เพราะคำที่มีความหมายหลายนัย เพราะเล่นคำ หรือเพราะสิ่งเร้าธรรมดา ๆ รอบ ๆ ตัว เช่น เสียงนกร้อง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของคราวฟุ้งพล่านในโรคอารมณ์สองขั้ว
  • ความไม่สมเหตุผล (illogicality) คือสรุปเรื่องโดยไม่สมเหตุผล (โดย non-sequitur หรือการอนุมานที่ผิดพลาด) เช่น "คุณคิดว่านี่จะใส่ในกล่องได้ไหม" ตอบเช่นว่า "พูดเล่นหรือไง มันเป็นสีน้ำตาลไม่ใช่หรือ"
  • พูดไม่ปะติดปะต่อ (incoherence, word salad) พูดเข้าใจไม่ได้เพราะแม้จะใช้คำที่มีจริง ๆ แต่วิธีประกอบคำเข้าด้วยกันทำให้ไร้ความหมาย ปะติดปะต่อไม่ได้ เช่น ถามว่า "ทำไมคนถึงหวีผม" ตอบว่า "เพราะมันทำให้เป็นวงในชีวิต กล่องของฉันเสีย ช่วยฉันด้วย ช้างสีน้ำเงิน ผักกาดช่างกล้าหาญจริง ๆ เนอะ ฉันชอบอิเล็กตรอน ฮัลโหล ขอที!"
  • การเสียจุดมุ่งหมาย (loss of goal) การไม่ตามกระแสความคิดไปให้ถึงข้อยุติตามปกติได้ เช่น ถามว่า "ทำไมคอมพ์ของฉันถึงล้มอยู่เรื่อย" ตอบว่า "คือ คุณอยู่ในบ้านปูนฉาบ ดังนั้น กรรไกรจึงต้องอยู่ในลิ้นชักอีกอันหนึ่ง"
  • การสร้างคำใหม่ (neologism) เมื่อใช้ในบริบททางประสาทวิทยาหรือจิตพยาธิวิทยา หมายถึงการสร้างคำ วลี หรือสำนวนใหม่ ที่ปกติคนอื่นเข้าใจความหมายและที่มาไม่ได้ ตัวอย่างในภาษาอังกฤษก็คือ การใช้คำว่า klipno เพื่อเรียกนาฬิกา (watch) แม้คำภาษาอังกฤษว่า neologism อาจใช้หมายถึงคำที่สร้างขึ้นอย่างไม่ถูกต้องแต่สามารถเข้าใจที่มาได้ (เช่น "headshoe"-รองเท้าศีรษะ แทน hat-หมวก) แต่จะชัดเจนกว่าถ้าเรียกว่า word approximation (การสร้างคำเลียน)
  • การรวมรายละเอียดเกิน (overinclusion) คือรวมรายละเอียดที่ไร้ประโยชน์ ไม่สมควร ไม่ตรงประเด็น เกินความต้องการเกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง ๆ
  • การคงใช้คำพูดซ้ำ ๆ (perseveration) คือคงยืนใช้เสียง คำหรือวลีซ้ำ ๆ แม้เมื่อคนอื่นพยายามเปลี่ยนประเด็นการพูด เช่น "ดีใจมากเลยที่ได้มาอยู่ที่เนวาดา เนวาดา เนวาดา เนวาดา" หรืออาจตอบคำถามแบบเดิม ๆ แม้จะเปลี่ยนคำถามไปแล้ว เช่น "คุณชื่อแมรี่ใช่ไหม" "ใช่" "คุณอยู่ใน รพ. หรือเปล่า" "ใช่" "คุณเป็นโต๊ะใช่ใหม่" "ใช่" อาการอาจรวมอาการพูดซ้ำเร็ว (palilalia) และการพูดซ้ำพยางค์สุดท้ายของคำ (logoclonia) อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีโรคสมองที่เป็นโรคกายเช่น โรคพาร์คินสัน
  • การพูดเร็ว (pressure of speech) คือพูดไม่หยุด เร็ว ไม่หยุดแม้ชั่วครู่ ขัดจังหวะได้ยาก อาจพูดต่อไปแม้เมื่อถามคำถามอื่นตรง ๆ เป็นการพูดมากผิดปกติ
  • การพูดมีเนื้อความน้อย (Poverty of content of speech) คือปริมาณคำพูดที่ใช้ตอบคำถามอาจจะปกติแต่คำพูดมักคลุมเครือ ตรงไปตรงมาเกิน เป็นนามธรรมเกิน ซ้ำ ๆ เกิน พูดเป็นพิมพ์เดียว และสื่อความหมายได้น้อย เช่น คนไข้ตอบคำถาม "ทำไมถึงได้เข้า รพ." ว่า “ผมมักจะใคร่ครวญ มันเป็นเรื่องทั่วไปของโลก มันเป็นแนวโน้มที่ต่างกันไปบ้างเป็นครั้งเป็นคราว มันระบุเรื่องต่าง ๆ มากกว่าสิ่งอื่น ๆ มันอยู่ในลักษณะนิสัย นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะกล่าวเพื่ออธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง”
  • พูดวางท่า (stilted speech) คือพูดเป็นรูปแบบ/ตามภาษาเขียน/ตามภาษาทางการ มีพิธีรีตอง วางท่า สุภาพ ไม่คุ้นเคย ล้าสมัย เป็นภาษาดอกไม้ ตามกฎเกณฑ์/ระเบียบวิธี เป็นปรัชญา อย่างเลยเถิด ตัวอย่างภาษาอังกฤษเช่น "The attorney comported himself indecorously." (ทนายวางท่าอย่างไม่เหมาะ)
  • อาการตอบเฉียด (tangentiality) คือพูดโดยมักออกนอกประเด็น ไม่กล่าวถึงประเด็นหลัก มักตอบคำถามอย่างอ้อม ๆ เช่น สำหรับคำถาม "คุณมาจากไหน" ตอบว่า "สุนัขของผมมาจากประเทศอังกฤษ ปลาและแผ่นมันฝรั่งทอดที่นั่นอร่อย ปลาหายใจด้วยเหงือก"
  • อาการพูดหรือเขียนซ้ำ ๆ อย่างไร้ความหมาย (verbigeration) เป็นคำหรือวลีที่พูดหรือเขียนซ้ำ ๆ และไร้ความหมายโดยใช้แทนที่คำพูดที่เข้าใจได้ ดังที่เห็นในโรคจิตเภท
  • การสร้างคำเลียน (word approximations) คือใช้คำเก่าสร้างคำใหม่อย่างไม่ถูกต้อง แต่ที่มาของคำสามารถเข้าใจได้ ตัวอย่างภาษาอังกฤษเช่น เช่น "headshoe"-รองเท้าศีรษะ แทน hat-หมวก

การใช้คำในภาษาอังกฤษ

บทความในส่วนนี้อธิบายการใช้คำในภาษาอังกฤษที่ทำให้สับสนได้ง่ายเมื่ออ่านวรรณกรรมแพทย์ในภาษาอังกฤษ

Thought Disorder

อภิธานทางจิตเวช/จิตวิทยาเร็ว ๆ นี้ (2015, 2017) นิยาม thought disorder ว่าเป็นการคิดหรือปริชานที่เกิดปัญหาโดยมีผลต่อการสื่อสาร ภาษา หรือสิ่งที่คิดซึ่งรวมการมีข้อคิดน้อย (poverty of ideas), การสร้างคำใหม่ (neologisms), การพูดโดยไม่ดำเนินตามตรรกะ (paralogia), การพูดไม่ปะติดปะต่อ (word salad) และอาการหลงผิด (delusion) ซึ่งรวมทั้งปัญหาในสิ่งที่คิดและรูปแบบความคิด แล้วเสนอคำที่เฉพาะเจาะจงกว่าสองคำคือ ความผิดปกติทางความคิดโดยเนื้อหา (content thought disorder) และความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ (formal thought disorder) ความผิดปกติทางความคิดโดยเนื้อหานิยามว่าเป็นปัญหาความคิดที่มีอาการหลงผิดที่ไม่ประสานกันหลายอย่าง ความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบนิยามว่าเป็นปัญหาของรูปแบบหรือโครงสร้างความคิด ยกตัวอย่างเช่น คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5 ปี 2013) ใช้แต่คำว่า formal thought disorder โดยเป็นไวพจน์ของคำว่า disorganized thinking และคำว่า disorganized speech เทียบกับบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD-10) ซึ่งใช้แต่คำว่า thought disorder โดยจะใช้คำว่า delusion (อาการหลงผิด) และ hallucination (ประสาทหลอน) ติดตามแต่ต่างหากเสมอ ๆ และพจนานุกรมแพทย์ทั่วไป (2002) ที่แม้จะนิยามคำว่า thought disorder คล้ายกับอภิธานทางจิตเวช แต่ก็ใช้คำนี้ในการนิยามคำอื่น ๆ ในนัยเดียวกันกับที่ ICD-10 ใช้

หนังสือจิตเวชเร็ว ๆ นี้ (2017) เมื่อกล่าวถึงความผิดปกติทางความคิดว่าอยู่ในกลุ่ม "อาการสับสน" (disorganization syndrome) ในบริบทของโรคจิตเภทว่า

“Thought disorder” ในที่นี้หมายถึงความสับสนของรูปแบบความคิด ไม่ใช่สิ่งที่คิด การใช้คำว่า “thought disorder” ที่คร่ำครึรวมเอาอาการหลงผิดและบางครั้งประสาทหลอน แต่นี่ทำให้สับสนและไม่ใส่ใจความแตกต่างที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างอาการต่าง ๆ ที่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนภายใน 30 ปีที่ผ่านมา อาการหลงผิดและประสาทหลอนควรระบุว่าเป็นอาการโรคจิต และ thought disorder ควรใช้โดยหมายความถึงความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ (formal thought disorder) หรือความผิดปกติของปริชานทางคำพูด (disorder of verbal cognition)

— Phenomenology of Schizophrenia (2017), THE SYMPTOMS OF SCHIZOPHRENIA

หนังสือเล่มเดียวกันยังกล่าวถึงแพทย์ที่ใช้คำว่า formal thought disorder อย่างกว้าง ๆ โดยหมายถึงความผิดปกติของรูปแบบความคิดบวกอาการทางประชานที่เป็นอาการโรคจิต และงานศึกษาต่าง ๆ ที่ตรวจสอบปริชานและอาการย่อยอต่าง ๆ ของโรคจิตเภทอาจเรียก formal thought disorder ว่า conceptual disorganization หรือ disorganization factor อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความเห็นแตกต่างรวมทั้ง

โชคไม่ดีว่า คำว่า “thought disorder” มักใช้หมายถึงทั้งความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบและสิ่งที่คิดแบบหลงผิด เพื่อความชัดเจน การใช้วลีว่า “thought disorder” อย่างไม่มีตัวจำกัดควรเลิกใช้ในการสื่อสารทางจิตเวช แม้คำว่า “formal thought disorder” ก็ยังใช้อย่างกว้าง ๆ เกินไป ควรจะทำให้ชัดเจนเสมอว่า กำลังกล่าวถึงอาการอาการคิดนอกเรื่อง (derailment) อาการความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas) หรืออาการคิดอ้อมค้อม (circumstantiality)

— The Mental Status Examination, The Medical Basis of Psychiatry (2016)

อาการพูดน้อย

อาการพูดน้อย (alogia) ซึ่งรวมทั้งการพูดน้อย (poverty of speech) และการพูดมีเนื้อความน้อย (poverty of content of speech) ได้จัดว่าเป็นอาการบกพร่อง (negative symptom) ของโรคจิตเภท เช่น ที่พบในแบบวัดเพื่อประเมินอาการบกพร่องสำหรับโรคจิตเภท (SANS) จึงจัดว่าเป็นความผิดปกติทางความคิดเชิงบกพร่อง (negative thought disorder) งานศึกษาโดยวิเคราะห์ปัจจัยได้เริ่มจัดอาการเชิงบวกและอาการบกพร่องของโรคจิตเภทลงในมิติเกินกว่า 2 มิติเริ่มจาก 3 โดยปัจจุบัน (2017) ได้ถึง 5 มิติ รวมทั้งอาการโรคจิต อาการบกพร่อง อาการสับสน (รวม TD) ความซึมเศร้าและความวิตกกังวล และความไม่สงบทางกายใจ (agitation) โดยได้ "ความสม่ำเสมอที่น่าทึ่ง" และคาดว่าจะมีมากกว่านี้ในอนาคต เมื่อจัดหมวดหมู่เช่นนี้ การพูดมีเนื้อความน้อย โดยพูดเป็นปริมาณปกติ ก็จัดว่า "เป็นความสับสนทางความคิดและไม่ใช่อาการบกพร่อง และรวมลงในกลุ่มอาการสับสนได้อย่างเหมาะสม" การพูดน้อยเท่านั้นที่จัดว่าเป็นอาการบกพร่อง

วิถีดำเนิน วินิจฉัย และพยากรณ์โรค

ในยุคต้น ๆ เชื่อว่า ความผิดปกติทางความคิดเกิดแต่ในโรคจิตเภท ภายหลังจึงพบว่า มันเกิดในภาวะทางจิตเวชอื่น ๆ รวมทั้งอาการฟุ้งพล่านในโรคอารมณ์สองขั้ว และเกิดแม้ในคนปกติ อนึ่ง คนไข้โรคจิตเภทไม่ได้มีอาการนี้ทุกคน ดังนั้น การไม่ผิดปกติทางความคิดจึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีโรคจิตเภท คือ ภาวะนี้ไม่ได้จำเพาะกับโรคนี้มาก เมื่อใช้นิยามโดยเฉพาะ ๆ ของรูปแบบย่อยของภาวะ และเมื่อจัดหมวดหมู่เป็นอาการเชิงบวกและอาการเชิงลบ จิตแพทย์หญิงชาวอเมริกันผู้ประดิษฐ์แบบประเมินอาการเชิงบวกและอาการเชิงลบของโรคจิตเภท (คือ Nancy Andreasen) ได้พบว่า รูปแบบย่อยต่าง ๆ ของความผิดปกติมักเกิดไม่เท่ากันระหว่างคนไข้อาการฟุ้งพล่าน คนไข้ซึมเศร้า กับคนไข้โรคจิตเภท คนไข้อาการฟุ้งพล่านมีการพูดเร็ว (pressured speech) เป็นอาการเด่นสุด แต่ก็มีอัตราการพูดนอกเรื่อง (derailment) ตอบเฉียด (tangentiality) และพูดไม่ปะติดปะต่อ (incoherence) ที่เด่นพอ ๆ กันกับคนไข้โรคจิตเภท โดยมีโอกาสมีการพูดเร็ว พูดวอกแวก (distractibility) และพูดอ้อมค้อมมากกว่า

ส่วนคนไข้โรคจิตเภทมีความผิดปกติทางความคิดเชิงบกพร่องมากกว่ารวมทั้งการพูดน้อยและการพูดมีเนื้อหาน้อย แต่ก็มีความผิดปกติทางความคิดเชิงบวกบางอย่างในอัตราสูงเหมือนกัน การพูดนอกเรื่อง การพูดเสียจุดหมาย (loss of goal) การพูดมีเนื้อหาน้อย การตอบเฉียด และการพูดไม่สมเหตุผล (illogicality) ค่อนข้างจะเฉพาะกับโรคจิตเภท

ส่วนคนไข้โรคซึมเศร้ามีความผิดปกติทางความคิดน้อยกว่า ที่เด่นสุดก็คือการพูดน้อย การพูดมีเนื้อหาน้อย และการพูดอ้อมค้อม อนึ่ง หมอยังพบประโยชน์ทางการวินิจฉัยในการแบ่งเป็นอาการเชิงบวกและอาการบกพร่อง เช่น การมีความผิดปกติทางความคิดเชิงบกพร่องโดยไม่ผิดปกติทางอารมณ์อย่างเต็มตัวชี้ว่า เป็นโรคจิตเภท

หมอยังพบประโยชน์ทางการพยากรณ์โรคของการแบ่งอาการออกเป็นอาการเชิงบวกและอาการบกพร่อง ในคนไข้อาการฟุ้งพล่าน ความผิดปกติทางความคิดโดยมากจะกลับคืนสู่ระดับปกติ 6 เดือนหลังจากเริ่มตรวจรักษา ซึ่งแสดงว่าความผิดปกติทางความคิดในโรคนี้ แม้จะรุนแรงเท่า ๆ กับที่พบในโรคจิตเภท ก็ยังฟื้นสภาพได้ แต่ในคนไข้โรคจิตเภท ความผิดปกติทางความคิดเชิงบกพร่องยังคงยืนหลังจาก 6 เดือนและบางครั้งยังแย่ลงอีก ส่วนความผิดปกติเชิงบวกจะดีขึ้นบ้าง อนึ่ง ความผิดปกติทางความคิดเชิงบกพร่องเป็นตัวยพยากรณ์ผลบางอย่างที่ดี เช่น คนไข้ที่มีความผิดปกติทางความคิดเชิงบกพร่องที่เด่นจะดำเนินชีวิตทางสังคมได้แย่ลง 6 เดือนต่อมา ดังนั้นโดยทั่วไป การมีอาการเชิงลบที่เด่นกว่าเป็นตัวชี้ว่า จะได้ผลที่แย่กว่า อย่างไรก็ดี คนไข้ก็ยังอาจฟื้นสภาพได้ดี ตอบสนองต่อยา และสมองทำงานปกติ โดยอาการเชิงบวกก็จะคล้าย ๆ กันในทางตรงกันข้าม

เมื่อเริ่มป่วย ความผิดปกติทางความคิดที่เด่นจะชี้พยากรณ์โรคที่แย่กว่า รวมทั้ง

  • โรคจะเกิดเร็วกว่า
  • เพิ่มความเสี่ยงต้องเข้า รพ.
  • ผลต่อการดำเนินชีวิตจะแย่กว่า
  • อัตราความพิการจะสูงกว่า
  • พฤติกรรมทางสังคมจะแย่กว่า

ความผิดปกติทางความคิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษายังพยากรณ์การดำเนินของโรคที่แย่กว่า ในโรคจิตเภท ความรุนแรงของความผิดปกติทางความคิดมักจะเสถียรยิ่งกว่าของประสาทหลอนและอาการหลงผิด ความผิดปกติทางความคิดที่เด่นมีโอกาสลดลงน้อยกว่าเมื่อถึงวัยกลางคนเมื่อเทียบกับอาการเชิงบวกของโรคจิตเภทอื่น ๆ ความผิดปกติทางความคิดที่เบากว่าอาจเกิดในระยะบอกเหตุ (prodromal) และระยะฟื้นสภาพแล้วแต่ยังมีอาการเหลือค้าง (residual) ของโรคจิตเภท

DSM-5 รวมอาการหลงผิด ประสาทหลอน และกระบวนการความคิดสับสน (คือ ความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ) และพฤติกรรมเคลื่อนไหวที่สับสนหรือผิดปกติ (รวมอาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน) เป็นอาการกุญแจสำคัญของโรคจิต (pyschosis) แม้จะไม่เฉพาะเจาะจงต่อโรคใดโรคหนึ่ง แต่ลักษณะของอาการโรคจิตบางอย่างก็ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงต่อโรคบางอย่าง เช่น โรคจิตเภทสเปร็กตัม (schizophrenia spectrum disorders) รวมทั้ง schizoaffective disorder, schizophreniform disorder ปกติจะมีประสาทหลอน และ/หรืออาการหลงผิดที่เด่น รวมทั้งความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ — โดยแสดงเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมที่รุนแรงรวมทั้งพฤติกรรมเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน สับสน และแปลก ส่วนโรคที่มีอาการโรคจิตโดยมีเหตุจากภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ และโรคจิตชักนำโดยสารปกติจะมีอาการหลงผิดและประสาทหลอน ส่วนโรคหลงผิด (delusional disorder) และโรคจิตแบบมีร่วม (shared psychotic disorder) ซึ่งมีน้อยกว่า ปกติจะมีอาการหลงผิดที่คงยืน งานวิจัยพบว่า ความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบโดยมากพบอย่างสามัญในคนไข้โรคจิตเภทและความผิดปกติทางอารมณ์ แต่การพูดมีเนื้อความน้อยจะสามัญกว่าในโรคจิตเภท

แพทย์ผู้มีประสบการณ์อาจแยกแยะอาการโรคจิตจริง ๆ ดังที่พบในโรคจิตเภทและอาการฟุ้งพล่านของโรคอารมณ์สองขั้ว กับการแสร้งป่วยที่บุคคลแสร้งป่วยเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอาการที่ปรากฏ ยกตัวอย่างเช่น คนแสร้งป่วยอาจกล่าวถึงสิ่งที่คิดอันผิดปกติ โดยไม่ผิดปกติทางรูปแบบ เช่น พูดนอกเรื่อง อาการเชิงลบต่าง ๆ รวมทั้งอาการพูดน้อยอาจไม่มี อนึ่ง ความผิดปกติทางความคิดอย่างเรื้อรังปกติจะทำให้เป็นทุกข์

โดยทั่วไปแล้วโรคออทิซึมสเปกตรัม (ASD) ซึ่งจะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อโรคเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ จะต่างกับโรคจิตเภทที่เกิดเร็ว (early-onset schizophrenia) โดยการเริ่มเกิดโรค (เพราะโรคจิตเทภที่เกิดก่อนอายุ 10 ขวบมีน้อยกว่า) และโดยความจริงว่า คนไข้ ASD ไม่ผิดปกติทางความคิด อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาที่เสนอว่า คนไข้ ASD ก็ปรากฏปัญหาทางภาษาดังที่พบในคนไข้โรคจิตเภท งานศึกษาปี 2008 พบว่า เด็กและวัยรุ่นที่มี ASD คิดไม่สมเหตุผล (illogical thinking) และคิดนอกเรื่อง (loose association) ในอัตราสูงกว่ากลุ่มควบคุม โดยความคิดไม่สมเหตุผลสัมพันธ์กับการทำงานทางประชานและทาง executive control ส่วนการคิดนอกเรื่องสัมพันธ์กับปัญหาทางการสื่อสารและกับรายงานของพ่อแม่เกี่ยวกับความเครียดและความวิตกกังวลของเด็ก

ความสัมพันธ์กับความพิการทางประสาทปริชาน

ความผิดปกติทางความคิดเสนอว่า สัมพันธ์กับประสาทปริชาน (neurocognition) ผ่านความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) คือความพิกาารในเครือข่ายประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำอาศัยความหมายในคนไข้โรคจิตเภท ที่วัดโดยความต่างกันของความคล่องในการนึกคำ (จำนวนชื่อสัตว์ที่นึกได้ภายใน 60 วินาที) กับความคล่องอาศัยเสียง (จำนวนคำที่เริ่มด้วยอักษร “F” ซึ่งนึกได้ภายใน 60 วินาที) เป็นตัวพยากรณ์ความรุนแรงของความผิดปกติทางความคิดโดยรูปแบบ ซึ่งแสดงว่าคนไข้อาจไม่มีข้อมูลทางคำพูด (เนื่องกับ semantic priming) เพียงพอ ยังมีสมมติฐานอื่น ๆ รวมทั้งความบกพร่องของความจำใช้งาน (working memory deficit) คือสับสนว่าอะไรได้กล่าวไปแล้วในการสนทนา และปัญหาเกี่ยวกับการใส่ใจ

ข้อวิจารณ์

แนวคิดของความผิดปกติทางความคิดได้ถูกวิจารณ์ว่ามีนิยามที่เวียนเป็นวง หรือไม่สืบเนื่องกัน เช่นการรู้ว่ามีความผิดปกติทางความคิดต้องอนุมานเอาจากคำที่พูด แต่จริง ๆ ความคิดอาจต้องอาศัยระบบการสร้างคำพูด (เพราะเวลาคิด อาจคิดเป็นคำพูด)

ข้อวิจารณ์อีกอย่างเป็นเรื่องการแยกอาการโรคจิตเภทออกเป็นอาการเชิงบวกและอาการบกพร่องรวมทั้งความผิดปกติทางความคิด เพราะมันอธิบายความผิดปกติทางความคิดซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนและความสัมพันธ์ของมันกับอาการเชิงบวกอื่น ๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ เกินไป งานศึกษาโดยวิเคราะห์ปัจจัยภายหลังพบว่า อาการเชิงบกพร่องมักมีสหสัมพันธ์กับกันและกัน ในขณะที่อาการเชิงบวกอาจแบ่งออกกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มสามกลุ่มเช่นนี้ต่อมาจัดอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า เป็นอาการบกพร่อง (negative symptoms) อาการโรคจิต (psychotic symptoms) และอาการสับสน (disorganization symptoms)อาการพูดน้อย (alogia) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางความคิดชนิดหนึ่งที่ดั้งเดิมจัดว่าเป็นอาการเชิงบกพร่อง สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือจัดการพูดมีเนื้อหาน้อย (poverty of speech content) เป็นอาการสับสน และจัดการพูดน้อย (poverty of speech) การตอบช้า (response latency) และความคิดชะงัก (thought blocking) โดยเป็นอาการบกพร่อง อย่างไรก็ดี ผลงานสร้างสรรค์ที่ได้แบ่งอาการออกเป็นเชิงบวก/เชิงบกพร่องเช่นนี้อาจช่วยให้สามารถระบุอาการต่ง ๆ ของโรคจิตเภทได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในงานต่อ ๆ มา

ความผิดปกติทางความคิดโดยเนื้อหา

เมื่อกันประสาทหลอนออกซึ่งสามารถจัดว่าเป็นความผิดปกติในการรับรู้ (perceptual disorder) ความผิดปกติทางความคิดโดยเนื้อหา (content thought disorder) เป็นปัญหาทางความคิดที่บุคคลมีอาการหลงผิดในหลายรูปแบบ ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และแปลก ๆ ปกติมักพบในโรคจิตเภทและความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ รวมทั้งโรคย้ำคิดย้ำทำและอาการฟุ้งพล่าน แต่ความผิดปกติทางความคิดโดยเนื้อหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับอาการหลงผิด ความผิดปกติอย่างอื่น ๆ รวมทั้ง

  • ความหมกมุ่น (preoccupation) คือหมกมุ่นอยู่กับความคิดอย่างหนึ่ง ๆ อย่างมีอารมณ์
  • การย้ำคิด (obsession) เป็นความคิด ไอเดีย หรือมโนภาพที่แทรกซอน (intrusive) หรือไม่สมควรที่สร้างความทุกข์ความเดือนร้อนใจ
  • การย้ำทำ (compulsion) คือจำต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรื่อย ๆ และซ้ำ ๆ โดยอาจจะไม่ได้ความสุข แต่เพื่อลดความทุกข์
  • ความคิดเชิงไสยศาสตร์ (magical thinking) คือเชื่อว่าความคิดของตนอย่างเดียวก็สามารถก่อผลในโลก หรือว่า การคิดถึงสิ่งนั้น ๆ ก็เหมือนกับลงมือกระทำจริง ๆ
  • ความคิดที่ให้น้ำหนักเกิน (overvalued ideas) คือเชื่อผิดหรือเกินจริงโดยยึดไว้อย่างปักใจแต่ยังไม่ถึงอาการหลงผิด
  • ความคิดมุ่งตนเอง (ideas of reference) คือเชื่อว่า เหตุการณ์ธรรมดาหรือบังเอิญที่ประสบมีความหมายต่อตนอย่างสำคัญ
  • ความคิดว่าถูกอิทธิพลภายนอก (ideas of influence) คือเชื่อว่าคนอื่น ๆ หรือสิ่งอื่นภายนอกมีอำนาจบังคับตน
  • ความคิดว่ามีคนตามรังควาน (persecutory idea)
  • โรคกลัว คือกลัววัตถุสิ่งต่าง ๆ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไม่สมเหตุผล
  • ความคิดฆ่าตัวตาย
  • ความคิดทำความรุนแรง
  • ความคิดฆ่าคน

แก่นปัญหาของสิ่งที่คิดก็คือความเชื่อความปักใจที่ผิดปกติ แม้หลังจากกันวัฒนธรรมและพื้นเพของบุคคลนั้น ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ความคิดที่ให้น้ำหนักเกิน (overvalued idea) จนไปถึงอาการหลงผิด โดยปกติแล้วความเชื่อผิดปกติและอาการหลงผิดไม่จำเพาะเจาะจงต่อโรคใดโรคหนึ่ง แม้อาการหลงผิดโดยเฉพาะบางอย่าง ๆ อาจเกิดในโรคหนึ่ง ๆ มากกว่าโรคอื่น ๆ อนึ่ง ความคิดปกติ ซึ่งรวมการสำนึกรู้ ความเป็นห่วง ความเชื่อ ความหมกมุ่น ความหวัง ความเพ้อฝัน จินตนาการ และแนวคิดในเรื่องต่าง ๆ อาจไม่สมเหตุผล อาจประกอบด้วยความเชื่อ ความเดียดฉันท์ และความเอนเอียง/อคติ ที่เห็นได้โต้ง ๆ ว่าขัดแย้งกัน บุคคลต่าง ๆ ก็ยังต่างกัน แม้แต่คนเดียวกันก็ยังคิดไม่เหมือนกันอย่างพอสมควรเป็นครั้งเป็นคราว

ในคนไข้จิตเวช อาการหลงผิดเป็นความผิดปกติในเรื่องที่คิดซึ่งสามัญสุด เป็นความเชื่อที่ตายตัวและยืนหยัดได้โดยไม่มีมูลฐาน ไม่สามารถเปลี่ยนได้ด้วยเหตุผลหรือหลักฐานที่ขัดแย้ง ไม่เข้ากับพื้นเพทางภูมิภาค วัฒนธรรม และการศึกษาของบุคคลนั้น ๆ ตัวอย่างสามัญที่พบเมื่อตรวจสภาวะจิตใจรวมทั้ง

  • หลงผิดว่ามีคนหลงรักตน (erotomanic)
  • หลงผิดคิดตนเขื่อง (grandiose) ว่า ตนเก่งสุด แข็งแรงสุด เร็วสุด รวยสุด หรือฉลาดสุด
  • หลงผิดว่ามีคนตามรังควาน (persecutory) ไม่ว่าจะต่อตนเองหรือต่อคนใกล้ชิด
  • หลงผิดว่า ข้อคิดเห็น เหตุการณ์ หรือวัตถุสิ่งของธรรมดา ๆ รอบ ๆ ตัวมีความหมายพิเศษต่อตน (reference)
  • หลงผิดว่าความคิดถูกป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ (thought broadcasting)
  • หลงผิดว่าคนอื่นเอาความคิดมาใส่ในตน ไม่ใช่ความคิดของตน (thought insertion)
  • หลงผิดว่า มีคนดึงความคิดออกจากใจของตนเองโดยตนไม่สามารถทำอะไรได้ (thought withdrawal)
  • หลงผิดว่า สิ่งภายนอกกำลังควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตน (outside control)
  • หลงผิดว่า คู่ครองของตนมีชู้ (infidelity)
  • หลงผิดว่า ตนมีโรคหรือป่วย (somatic)
  • หลงผิดว่า ร่างกายจิตใจของตน หรือว่าโลกภายนอก หรือส่วนบางส่วนเช่นนั้น ไม่มีอยู่อีกต่อไป (nihilistic)

อาการหลงผิดสามัญในคนที่มีอาการฟุ้งพล่าน, โรคซึมเศร้า, schizoaffective disorder, อาการเพ้อ, ภาวะสมองเสื่อม, โรคใช้สารเสพติด (SUD), โรคจิตเภท และโรคหลงผิด (delusional disorder)

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

อ่านเพิ่มเติม

  • VandenBos GR, บ.ก. (2015). APA dictionary of psychology (2nd ed.). Washington, DC: American Psychological Association. doi:10.1037/14646-000. ISBN 978-1-4338-1944-5.
  • Sadock VA, Sadock BJ, Ruiz P, บ.ก. (2017). Kaplan & Sadock's Comprehensive Textbook of Psychiatry (10th ed.). Wolters Kluwer. ISBN 978-1-4511-0047-1.
  • Sadock BJ, Sadock VA (2008). Kaplan and Sadock's Concise Textbook of Clinical Psychiatry. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9780781787468.
  • Andreasen NC (2016). "25 Thought Disorder". ใน Fatemi SH, Clayton PJ (บ.ก.). The Medical Basis of Psychiatry (4th ed.). New York: Springer Science+Business Media. pp. 497–505. doi:10.1007/978-1-4939-2528-5. ISBN 978-1-4939-2528-5.
  • McKenna PJ, Oh TM (2005). Schizophrenic Speech: Making Sense of Bathroots and Ponds that Fall in Doorways. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-81075-3.

Новое сообщение