Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ยาระบายอย่างอ่อน
ยาระบายอย่างอ่อน (อังกฤษ: laxative) หรือ ยาระบาย เป็นยาเพื่อลดความแน่นตัวของอุจจาระ และช่วยให้ถ่าย โดยสามารถใช้รักษาหรือป้องกันอาการท้องผูก ยาระบายต่าง ๆ ทำงานต่างกันและมีผลข้างเคียงต่างกัน ยาระบายแบบกระตุ้น (stimulant) แบบหล่อลื่น (lubricant) และแบบน้ำเกลืออาจใช้ชำระลำไส้ใหญ่ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ โดยอาจใช้ร่วมกับการสวนทวารในบางกรณี การทานยาระบายเป็นจำนวนมากอาจทำให้ท้องร่วง ยาบางอย่างอาจมีสารออกฤทธิ์มากกว่าตัวเดียว อาจใช้ทานหรือใช้เหน็บ
ประเภท
เพิ่มปริมาณอุจจาระ (Bulk-forming agents)
ยาระบายชนิดสร้างเนื้ออุจจาระมีองค์ประกอบที่เพิ่มเนื้อและน้ำในอุจจาระ เพื่อให้สามารถผ่านลำไส้ไปได้ง่ายขึ้น องค์ประกอบรวมทั้งใยอาหารและสารดูดน้ำ (hydrophilic agent)
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 12–72 ชม.
- ตัวอย่าง: ใยอาหาร, ซิลเลียม (psyllium) เช่นยี่ห้อ Metamucil, methylcellulose เช่นยี่ห้อ Citrucel, polycarbophil เช่นยี่ห้อ FiberCon
ยาเพิ่มเนื้อจะดูดน้ำ ดังนั้นจึงควรทานพร้อมกับน้ำมาก ๆ เป็นยาเบาที่สุดในบรรดายาระบาย และสามารถใช้ป้องกันรักษาการขับถ่ายในระยะยาว
ใยอาหาร
อาหารที่ช่วยระบายก็คือที่มีใยอาหารสูง ทั้งแบบละลายน้ำไม่ได้และละลายได้ เช่น
- ผลไม้ เช่น กล้วย (ขึ้นอยู่กับความสุกห่ามด้วย) ผลกีวี ลูกพรุน (prune)แอปเปิล (พร้อมเปลือก) ลูกสาลี่ (พร้อมเปลือก) และลูกแรสเบอร์รี
- ผัก เช่น บรอกโคลี ถั่วฝักยาว ผักคะน้า และผักปวยเล้งสควอช ถั่วลันเตา และมันฝรั่ง (พร้อมเปลือก)
- ข้าวกล้อง
- ผลิตภัณฑ์รำข้าว
- เมล็ดถั่วต่าง ๆ
- พืชวงศ์ถั่ว เช่น ถั่ว ถั่วลันเตา
ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (emollient agents, stool softeners)
ยาระบายแบบทำอุจจาระให้นุ่มและชุ่มชื้น เป็นสารลดแรงตึงผิวแบบแอนไออน (anionic surfactant) ซึ่งช่วยให้น้ำและไขมันรวมเข้าในอุจจาระมากขึ้น แล้วทำให้ผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 12–72 ชม.
- ตัวอย่าง: docusate (ยี่ห้อ Colace, Diocto)
ยาระบายแบบทำให้นุ่มและชุ่มชื้นควรทานพร้อมกับน้ำมาก ๆ เป็นยาที่ช่วยป้องกันท้องผูกมากกว่าเป็นยารักษาท้องผูกในระยะยาว
หล่อลื่น (Lubricant agents)
ยาระบายแบบหล่อลื่นช่วยเคลือบอุจจาระด้วยลิพิดลื่น ๆ และหน่วงการดูดซึมน้ำจากอุจจาระของลำไส้ใหญ่ จึงทำให้มันผ่านไปได้ง่ายกว่า อนึ่ง มันยังช่วยเพิ่มน้ำหนักและลดระยะเวลาที่ดำเนินผ่านลำไส้
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 6–8 ชม.
- ตัวอย่าง: น้ำมันแร่ (mineral oil)
น้ำมันแร่เป็นสารหล่อลื่นอย่างเดียวที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่ก็อาจลดการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (เช่น เอ ดี อี และเค) และแร่ธาตุบางอย่างเข้าร่างกาย และอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ได้
Hyperosmotic agents
ยาระบายแบบ hyperosmotic หมายถึงสารที่ทำให้ลำไส้เก็บน้ำไว้ภายในมากกว่าแล้วสร้างภาวะออสโมซิสที่ช่วยกระตุ้นให้ถ่าย
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 12–72 ชม. (ทาน) 0.25–1 ชม. (เหน็บทางทวารหนัก)
- ตัวอย่าง: ยาเหน็บแบบ glycerin ยี่ห้อ Hallens, ซอร์บิทอล, แล็กทูโลส, และ macrogol/polyethylene glycol (PEG) ยี่ห้อ Colyte, MiraLax
แล็กทูโลสออกฤทธิ์โดยกระบวนการออสโมซิส ซึ่งเก็บน้ำไว้ในลำไส้ใหญ่ เพิ่มความเป็นกรดโดยผ่านกระบวนการหมักกลายเป็นกรดแล็กติก กรดฟอร์มิก และกรดน้ำส้ม แล้วเพิ่มการบีบตัว (peristalsis) ของลำไส้ใหญ่ ยาเหน็บคือ glycerin ออกฤทธิ์แบบ hyperosmotic คือเพิ่มปริมาณน้ำแล้วเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ โดยยา sodium stearate ที่ผสมอยู่ด้วยกันก็จะระคายลำไส้ใหญ่ด้วย
สารละลายที่ประกอบด้วย polyethylene glycol และอิเล็กโทรไลต์ต่าง ๆ (รวมทั้งโซเดียมคลอไรด์ โซเดียมไบคาร์บอเนต โพแทสเซียมคลอไรด์ และบางครั้ง โซเดียมซัลเฟต) สามารถให้ทางปากหรือหลอดอาหาร (ที่สอดลงทางจมูกไปถึงกระเพาะ) เพื่อใช้ล้างทางเดินอาหารทั้งหมด เป็นวิธีการที่สร้างขึ้นเพื่อเตรียมผ่าตัดลำไส้ หรือเพื่อเตรียมส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) และเพื่อรักษาการได้รับพิษบางชนิด ตราสินค้าของสารละลายเหล่านี้รวมถึง GoLytely, GlycoLax, CoLyte, Miralax, Movicol, NuLytely, Suprep, และ Fortrans สารละลายของซอร์บิทอล (ยี่ห้อ SoftLax) ก็มีผลเช่นเดียวกัน
ยาระบายแบบน้ำเกลือ
ยาระบายแบบน้ำเกลือเป็นสารออสโมซิสที่ดูดซึมไม่ได้แต่สามารถดูดและเก็บน้ำให้อยู่ในช่องลำไส้ ซึ่งเพิ่มแรงดันในช่องและกระตุ้นให้ถ่าย สารที่ประกอบด้วยแมกนีเซียมยังเป็นเหตุให้หลั่งฮอร์โมนเพปไทด์ คือ cholecystokinin ซึ่งเพิ่มการบีบตัวของลำไส้และการหลั่งน้ำ แต่ยาระบายชนิดนี้อาจเปลี่ยนความสมดุลเกี่ยวกับน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายของผู้ใช้
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 0.5–3 ชม. (ทาน) 2–15 นาที (เหน็บ)
- ตัวอย่าง: sodium phosphate (ในแบบต่าง ๆ), magnesium citrate, แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์, แมกนีเซียมซัลเฟต
ยาชนิดนี้ควรทานกับน้ำมาก ๆ
ยาระบายแบบกระตุ้น (stimulant laxative)
ยาระบายแบบกระตุ้นเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่เยื่อเมือกหรือข่ายประสาท (nerve plexus) ของลำไส้ เปลี่ยนแปลงการหลั่งน้ำและอิเล็กโทรไลต์ และยังกระตุ้นการบีบตัว (peristaltic) ของลำไส้ แต่อาจเป็นอันตรายภายใต้สถานการณ์บางอย่าง เช่นใช้เป็นระยะยาวซึ่งทำให้ปล้องลำไส้ (haustra) เปลี่ยนแปลงไปโดยคาดว่า เกิดความเสียหายต่อเซลล์ประสาทหรือกล้ามเนื้อ
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 6–10 ชม.
- ตัวอย่าง: senna, bisacodyl
นี่เป็นยาระบายที่มีฤทธิ์มากที่สุดและควรใช้อย่างระมัดระวัง การใช้ยาระบายแบบกระตุ้นนาน ๆ อาจทำให้ติดยาเพราะทำปล้องลำไส้ใหญ่ (haustral fold) ให้เสียหาย ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนอุจจาระไปโดยไม่ใช้ยา งานศึกษาหนึ่งในคนไข้ที่ท้องผูกเรื้อรังพบว่า ผู้ใช้ยาระบายแบบกระตุ้น 28% จะเสียปล้องลำไส้ไปในระยะเวลา 1 ปี ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่เสีย
อื่น ๆ
น้ำมันละหุ่งเป็น glyceride ที่เอนไซม์จากตับอ่อนคือ pancreatic lipase จะสลายด้วยน้ำ (hydrolysis) ให้เป็นกรด ricinoleic ซึ่งมีฤทธิ์ระบายโดยยังไม่ทราบกลไก
คุณสมบัติ
- ตำแหน่งออกฤทธิ์: ลำไส้ใหญ่
- เวลาเริ่มออกฤทธิ์: 2–6 ชม.
- ตัวอย่าง: น้ำมันละหุ่ง
การใช้น้ำมันละหุ่งในระยะยาวอาจทำให้เสียน้ำ อิเล็กโทรไลต์ และสารอาหาร
ตัวทำการต่อหน่วยรับเซโรโทนิน (serotonin agonist)
มีสารกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้โดยก่อสภาพกัมมันต์ของหน่วยรับเซโรโทนิน (5-HT4 receptor) ของระบบประสาทลำไส้ (enteric nervous system) ภายในทางเดินอาหาร แต่บางชนิดก็ได้เลิกใช้หรือจำกัดการใช้ เพราะโอกาสทำอันตรายต่อหัวใจหลอดเลือดโดยเป็นผลข้างเคียง tegaserod (ชื่อการค้า Zelnorm) ได้เลิกวางขายในตลาดทั่วไปในสหรัฐและแคนาดาในปี 2007 เนื่องจากมีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายและเส้นเลือดอุดตันในสมอง แต่ก็ยังมีให้แพทย์ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือจำเป็นต้องใช้ในโรงพยาบาล
prucalopride (ยี่ห้อ Resolor) เป็นยาที่ปัจจุบันอนุมัติให้ใช้ในสหภาพยุโรปปลายปี ค.ศ. 2009 และในแคนาดา (ยี่ห้อ Resotran) ปลายปี ค.ศ. 2011 แต่ก็ยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา โดยยังอยู่ใต้การพัฒนาของบริษัท Shire plc
สารก่อกัมมันต์ช่องคลอไรด์ (chloride channel activators)
lubiprostone เป็นยาที่ใช้รักษาท้องผูกเรื้อรังซึ่งไม่ทราบสาเหตุ (CIC) และกลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (IBS) โดยมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้หลั่งน้ำที่สมบูรณ์ด้วยคลอไรด์ซึ่งทำอุจจาระให้นิ่ม เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ และโปรโหมตการขับถ่ายอุจจาระแบบเกิดเอง (SBM)
การเปรียบเทียบยาต่าง ๆ
ยา/สูตร | กลุ่ม | ตำแหน่งออกฤทธิ์ | เวลาเริ่มออกฤทธิ์ |
---|---|---|---|
สมุนไพร Rhamnus purshiana (cascara) (ตัวยา casanthranol) | Anthraquinone | ลำไส้ใหญ่ | 6–8 ชม. |
สมุนไพรสกุล Rhamnus (Buckthorn) | Anthraquinone | ลำไส้ใหญ่ | 6–8 ชม. |
สมุนไพรสกุลขี้เหล็ก Senna (ตัวยา senna glycoside) | Anthraquinone | ลำไส้ใหญ่ | 6–8 ชม. |
สมุนไพรว่านหางจระเข้ (ตัวยา aloin) | Anthraquinone | ลำไส้เล็ก | 8–10 ชม. |
phenolphthalein | Triphenylmethane | ลำไส้เล็ก | 8 ชม. |
bisacodyl (ยาทาน) | Triphenylmethane | ลำไส้เล็ก | 6–12 ชม. |
bisacodyl (ยาเหน็บ) | Triphenylmethane | ลำไส้เล็ก | 60 นาที |
น้ำมันละหุ่ง | กรด ricinoleic | ลำไส้เล็ก | 2–6 ชม. |
ประสิทธิผล
สำหรับผู้ใหญ่ งานทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมหนึ่งพบว่า polyethylene glycol (PEG) ยี่ห้อ MiraLax หรือ GlycoLax 17 กรัมวันละครั้งมีผลดีกว่า tegaserod 6 มก. 2 ครั้งต่อวัน อีกงานหนึ่งพบว่า PEG สองถุง (26 กรัม) มีผลดีกว่าแล็กทูโลสสองถุง (20 กรัม) การใช้ PEG วันละ 17 กรัมพบว่ามีประสิทธิผลและปลอดภัยในการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเป็นเวลา 6 เดือน อีกงานหนึ่งพบว่า ซอร์บิทอลไม่มีผลต่างกับแล็กทูโลส
สำหรับเด็ก PEG พบว่ามีประสิทธิผลดีกว่าแล็กทูโลส
ปัญหาการใช้
การใช้ในทางที่ผิด
การใช้ยาระบายในทางที่ผิดมีผลลบต่าง ๆ ผลแบบเบารวมทั้งภาวะขาดน้ำ ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะในบางอิริยาบถ (postural dizziness) และหมดสติชั่วคราว ผลแบบหนักที่อาจทำให้ถึงเสียชีวิตรวมทั้งการเสียดุลของความเป็นกรดด่างและของอิเล็กโทรไลต์ ยกตัวอย่างเช่น มีการสัมพันธ์ภาวะโพแทสเซียมต่ำในเลือดอย่างรุนแรงกับ distal renal tubular acidosis (ภาวะกระเดียดกรดเหตุหลอดไตฝอยส่วนปลาย) ที่เนื่องกับการใช้ยาระบายในทางที่ผิด โดยภาวะแอลคาโลซิสเนื่องกับเมแทบอลิซึม (metabolic alkalosis) เป็นภาวะไม่สมดุลของกรด-ด่างที่พบมากที่สุด ผลไม่พึงประสงค์ที่สำคัญอื่น ๆ รวมทั้ง rhabdomyolysis (ภาวะกล้ามเนื้อโครงร่างที่เสียหายสลายตัวเร็วเกิน) ภาวะไขมันเกินในอุจจาระ (steatorrhoea) เยื่อเมือกลำไส้ใหญ่อักเสบหรือเกิดแผลตับอ่อนอักเสบ, ไตวาย, คนไข้แกล้งมีท้องร่วง (factitious diarrhea) และปัญหาอื่น ๆ
แม้คนไข้ที่มีความผิดปกติในการรับประทาน เช่น โรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) และโรคทานแล้วขับออก (bulimia nervosa) บ่อยครั้งจะใช้ยาระบายในทางที่ผิดเพื่อพยายามลดน้ำหนัก แต่ยาระบายก็เพียงแต่เพิ่มความเร็วที่อุจจาระดำเนินผ่านลำไส้ใหญ่ ซึ่งเกิดหลังการดูดซึมอาหารในลำไส้เล็ก ดังนั้น งานศึกษาต่าง ๆ จึงได้แสดงว่า น้ำหนักที่ลดลงเพราะใช้ยาในทางที่ผิด โดยหลักมาจากการเสียน้ำจากร่างกายเพียงชั่วคราว ไม่ได้ลดพลังงานที่ดูดซึมเข้าร่างกายจริง ๆ
การชินต่อยาระบาย
แพทย์เตือนไม่ให้ใช้ยาระบายแบบกระตุ้นเป็นประจำ เนื่องจากปัญหาว่า อาจเป็นเหตุให้เนื้อเยื่อในลำไส้ใหญ่ทรุดโทรม แล้วทำให้ไม่สามารถขับอุจจาระได้เองเนื่องจากถูกกระตุ้นเป็นเวลานาน สิ่งสามัญที่พบในคนไข้ที่ใช้ยาระบายแบบกระตุ้นก็คือ ตะกอนสีน้ำตาลซึ่งสะสมที่เนื้อเยื้อลำไส้ ซึ่งเรียกว่า melanosis coli
การใช้ในประวัติศาสตร์เป็นต้น
ยาระบาย ซึ่งเคยเรียกในภาษาอังกฤษว่า physicks หรือ purgatives เป็นยาที่ใช้อย่างกว้างขวางก่อนการแพทย์ปัจจุบันเพื่อรักษาภาวะต่าง ๆ ภาวะซึ่งในปัจจุบันพิจารณาว่าเป็นยาที่ไม่ได้ผลตามเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน ในนัยเดียวกัน ยาระบาย (โดยบางครั้งเรียกว่า การล้างลำไส้) ก็ยังได้การโปรโหมตจากแพทย์ทางเลือกในการรักษาภาวะต่าง ๆ รวมทั้งที่การแพทย์ปัจจุบันไม่ยอมรับ เช่น เพื่อกำจัดคราบ/ตะกอนอุจจาระในลำไส้ (mucoid plaque)
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
แหล่งข้อมูลอื่น
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ยาระบายอย่างอ่อน |
ทางเดินอาหาร/ เมแทบอลิซึม (A) |
กรดกระเพาะ (ยาลดกรด, สารต้านตัวรับ H2 , ยายับยั้งการหลั่งกรด) • ยาแก้อาเจียน • ยาระบาย • ยาแก้ท้องร่วง • ยาลดความอ้วน • ยาต้านเบาหวาน • วิตามิน • เกลือแร่
|
---|---|
เลือดและอวัยวะ สร้างเลือด (B) |
|
ระบบหัวใจ และหลอดเลือด (C) |
ยารักษาโรคหัวใจ/ยาแก้อาการปวดเค้นหัวใจ (คาร์ดิแอคไกลโคไซด์ , ยาต้านภาวะหัวใจเสียจังหวะ , ยากระตุ้นหัวใจ) • ยาลดความดัน • ยาขับปัสสาวะ • สารขยายหลอดเลือด • เบต้า บล็อกเกอร์ • แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ • ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน (เอซีอีอินฮิบิเตอร์ , แองกิโอเทนซินรีเซพเตอร์บล๊อคเกอร์ , เรนินอินฮิบิเตอร์) • ยาลดไขมันในเส้นเลือด (สแตติน , ไฟเบรต , ไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์) |
ผิวหนัง (D) | |
ระบบสืบพันธุ์ (G) | |
ระบบต่อมไร้ท่อ (H) | |
การติดเชื้อและ การติดเชื้อปรสิต (J, P, QI) |
|
มะเร็ง (L01-L02) | |
โรคทางระบบ ภูมิคุ้มกัน (L03-L04) |
|
กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ (M) | |
สมองและระบบประสาท (N) | |
ระบบทางเดินหายใจ (R) | |
อวัยวะรับความรู้สึก (S) | |
อื่น ๆ (V) |