Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ดอกซีไซคลีน
ข้อมูลทางคลินิก | |
---|---|
การอ่านออกเสียง |
/ˌdɒksiˈsaɪklin/ dox-i-sye-kleen |
ชื่อทางการค้า | Doryx, Doxyhexal, Doxylin และอื่น ๆ |
AHFS/Drugs.com | Doxycycline |
MedlinePlus | a682063 |
ข้อมูลทะเบียนยา |
|
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ | |
ช่องทางการรับยา | รับประทาน, ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ |
รหัส ATC | |
กฏหมาย | |
สถานะตามกฏหมาย | |
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์ | |
ชีวประสิทธิผล | 100% |
การจับกับโปรตีน | 90% |
การเปลี่ยนแปลงยา | Liver |
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ | 15–25 ชั่วโมง |
การขับออก | ปัสสาวะ (40%) |
ตัวบ่งชี้ | |
| |
เลขทะเบียน CAS | |
PubChem CID | |
DrugBank |
|
ChemSpider |
|
UNII | |
KEGG |
|
ChEBI | |
ChEMBL | |
ECHA InfoCard | 100.008.429 |
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี | |
สูตร | C22H24N2O8 |
มวลต่อโมล | 444.43 g/mol |
แบบจำลอง 3D (JSmol) | |
| |
7 7 (what is this?) (verify) | |
ดอกซีไซคลีน (อังกฤษ: Doxycycline) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อหลายชนิดที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียและโปรโตซัว ยานี้มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย, สิว, การติดเชื้อคลามัยเดีย, ระยะเริ่มต้นของโรคไลม์, อหิวาตกโรค และซิฟิลิส นอกจากนี้ยังมีการใช้ดอกซีไซคลีนในการรักษามาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจำพวกโปรโตซัว โดยให้ยานี้ร่วมกับควินิน และอาจใช้ดอกซีไซคลีนเพื่อเป็นการป้องกันมาลาเรียสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคได้ ดอกซีไซคลีนเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากมีราคาถูกและสามารถบริหารยาโดยการรับประทานได้ ในรายที่มีอาการของโรครุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการบริหารยาโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ดอกซีไซคลีนเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่มีขอบเขตการออกฤทธิ์กว้าง (Broad-spectrum antibiotic) โดยยานี้จะฆ่าแบคทีเรียและโปรโตซัวที่ไวต่อยานี้ด้วยการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการขยายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้เซลล์จุลชีพเป้าหมายตายไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม การใช้ดอกซีไซคลีนในการรักษานี้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้เช่นเดียวกันกับยาชนิดอื่น ๆ โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยจากการใช้ยานี้ ได้แก่ ท้องเสีย, คลื่นไส้, อาเจียน, ผื่นแดง, และผิวไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผิวไหม้จากแสงแดด (sunburn) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้ดอกซีไซคลีนในหญิงตั้งครรภ์หรือในเด็กอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของฟันทารกหรือเด็กเป็นสีเทาหรือน้ำตาลอย่างถาวรได้ ส่วนการใช้ยานี้ในหญิงที่กำลังให้นมบุตรนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัย เนื่องจากดอกซีไซคลีนถูกขับออกทางน้ำนมได้น้อยมาก
ดอกซีไซคลีนได้รับการจดสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1957 และมีการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ. 1967 และถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในยาสำคัญของรายการยาที่จำเป็นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization's List of Essential Medicines) ซึ่งเป็นรายการยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงและมีความสำคัญเป็นลำดับแรกของระบบสุขภาพพื้นฐานของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน มีการผลิตดอกซีไซคลีนออกสู่ท้องตลาดยาเป็นจำนวนมากด้วยชื่อการค้าที่แตกต่างกันออกไป ทั่วไปแล้วมักมีราคาที่ค่อนข้างถูก โดยราคาสำหรับการขายส่งในประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่าประมาณ 0.01 ถึง 0.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อแคปซูล สำหรับในสหรัฐอเมริกา ราคาเฉพาะค่ายาสำหรับการรักษาด้วยดอกซีไซคลีนเป็นระยะเวลา 10 วันนั้นมีค่าประมาณ 14 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 2014 พบว่ามีบางแหล่งที่มีการขายดอกซีไซคลีนเป็นราคาสูงมากถึง 3.00–10.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อแคปซูล
ประวัติและการค้นพบ
หลังจากมีการค้นพบเพนิซิลลิน ยาดังกล่าวได้เข้ามามีส่วนในการปฏิวัติการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอย่างมาก ในห้วงเวลานั้นบริษัทยาหลายบริษัทได้มุ่งเป้ามายังการคิดค้นพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่โดยใช้กระบวนการการสำรวจทางชีวภาพ (Bioprospecting) เพื่อค้นหาโครงสร้างต้นแบบของยาปฏิชีวนะกันอย่างแพร่หลาย อเมริกันไซยานามิดถือเป็นหนึ่งบริษัทในจำนวนนี้ โดยในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1940 นักเคมีของบริษัทดังกล่าวได้ค้นพบคลอร์เตตราไซคลีน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดแรกของกลุ่มเตตราซัยคลีนที่ถูกค้นพบ หลังจากนั้นไม่นานนัก นักวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ได้ค้นพบยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งในกลุ่มเดียวกันและถูกให้ชื่อว่าออกซิเตตราไซคลีน และต่อมาได้มีการผลิตยาดังกล่าวเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อการค้า Terramycin ยาปฏิชีวนะทั้งสองชนิดที่ถูกค้นพบนี้ล้วนเป็นผลผลิตที่ได้จากธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับเพนิซิลลินที่นักวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นล้วนเชื่อว่า ยาปฏิชีวนะที่เป็นผลิตผลที่ได้จากธรรมชาตินี้ล้วนมีประสิทธิภาพในการรักษาที่สมบูรณ์แบบกว่ายาที่ได้จากแหล่งอื่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของยาเหล่านี้อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงจากเดิมก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ภายใต้การนำของลอยด์ คอนโอเวอร์ (Lloyd Conover) ได้ทำการดัดแปลงโครงสร้างของยาปฏิชีวนะสองชนิดดังข้างต้น ซึ่งนำไปสู่การค้นพบเตตราซัยคลีน ซึ่งถือเป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ตัวแรกของกลุ่มนี้ ต่อมาในช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษ 1960 ทีมวิจัยของชาร์ลี สตีเฟน (Charlie Stephens) ได้ทำการศึกษาดัดแปลงโครงสร้างของยาดังกล่าวจนได้อนุพันธุ์ของเตตราซัยคลีนที่มีความคงตัวและมีประสิทธิภาพเชิงเภสัชวิทยามากขึ้น โดยยาที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยข้างต้นก็คือ ดอกซีไซคลีน โดยดอกซีไซคลีนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1967
ในขณะที่สิทธิบัตรของดอกซีไซคลีนใกล้ที่จะหมดอายุลงในช่วงต้นทศวรรษ 1970 สิทธิบัตรของยานี้ได้เป็นคดีความฟ้องร้องกันระหว่างไฟเซอร์กับอินเตอร์เนชันแนล เรคติไฟเออร์ (International Rectifier) ซึ่งคดีความดังกล่าวนั้นไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงปี ค.ศ. 1983 จึงถือได้ว่าคดีการฟ้องร้องดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิบัตรที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในขณะนั้น โดยศาลตัดสินให้ไฟเซอร์ชนะคดีในครั้งนี้ และอินเตอร์เนชันแนล เรคติไฟเออร์จำเป็นต้องจ่ายค่าปรับสำหรับการละเมิดสิทธิบัตรยานี้ อย่างไรก็ตาม แทนที่ไฟเซอร์จะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินค่าปรับ กลับประสงค์ที่จะเข้าไปควบคุมกิจการด้านสัตวแพทย์และวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ของราเชลล์แลบอราทอรีส์ (Rachelle Laboratories) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทคู่ความแทน และอินเตอร์เนชันแนล เรคติไฟเออร์ก็ให้ความยินยอมในประเด็นนี้
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกรายงานการขาดแคลนดอกซีไซคลีนในรูปแบบยาฉีดและยาเม็ด เนื่องมาจากความต้องการในการใช้ดอกซีไซคลีนในรูปแบบดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้นและเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นในโรงงานที่ผลิตยานี้ บริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างไมลาน (Mylan), แอคตาวิส (Actavis) และฮิกมะฮ์ ฟาร์มาซูติคอลส์ (Hikma Pharmaceuticals) รวมถึงผู้ผลิตหลักหลายรายที่ไม่ระบุชื่อได้หยุดการผลิตยาดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 รวมไปถึงเทวา (Teva Pharmaceutical Industries) ที่หยุดผลิตไปในเดือนพฤษภาคม 2013 การขาดแคลนดอกซีไซคลีนในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีเท่าใดนัก เนื่องจากในขณะนั้นก็มีปัญหาการขาดแคลนยาปฏิชีวนะในกลุ่มเดียวกันอย่างเตตราไซคลีนด้วยเช่นกัน เป็นผลให้ราคาดอกซีไซคลีนในตลาดยาสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 2013 และตอนต้นของ ค.ศ. 2014 เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก (จาก $20 เป็น มากกว่า $1,800 ต่อกระปุกที่มีขนาดบรรจุ 500 เม็ด) ก่อนจะลดลงมากลับเข้าสู่ภาวะปกติในภายหลัง
เภสัชวิทยา
ดอกซีไซคลีนเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย (Bacteriostatic agent) เช่นเดียวกับยาปฏิชีวนะอื่นในกลุ่มเดียวกัน โดยยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งหรือขัดขวางการสังเคราะห์โปรตีนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย ทั้งนี้ ดอกซีไซคลีนจัดเป็นยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างเป็นสารประกอบเชิงซ้อนของไอออนโลหะที่ไม่มีความคงตัวในสภาวะกรดหรือในสภาวะที่มีค่าพีเอช (pH) สูง ถึงแม้ว่าดอกซีไซคลีนจะมีสัดส่วนของตัวยาที่ผ่านเข้าสู่ดูโอดีนัมและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากกว่ายาปฏิชีวนะกลุ่มเตรตราไซคลีนชนิดอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบก่อนหน้าก็ตาม นอกจากนี้ การดูดซึมดอกซีไซคลีนของดูโอดีนัมยังถูกรบกวนจากอาหารได้น้อยกว่ายาปฏิชีวนะอื่นในกลุ่มเตรตราไซคลีนที่ถูกค้นพบก่อนหน้า โดยความเข้มข้นของดอกซีไซคลีนจะลดลงประมาณร้อยละ 20 เมื่อรับประทานยาร่วมกับอาหาร ในขณะที่เตตราไซคลีนนั้นจะลดลงมากถึงร้อยละ 50
ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีนที่หมดอายุหรือที่อยู่ในสภาวะที่มีค่าพีเอชน้อยกว่า 2 นั้นมีรายงานว่าพบการเกิดพิษต่อไตจากแอนไฮโดร-4-อีพิเตเตราไซคลีน (anhydro-4-epitetracycline) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเสื่อมสลายของยาดังกล่าว และเป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มอาการแฟนโคนิ (Fanconi syndrome) ได้ ในกรณีของดอกซีไซคลีนซึ่งไม่มีหมู่ไฮดรอกซิลที่ตำแหน่งที่ 6 ทำให้การเสื่อมสลายของยานี้ไม่ก่อให้เกิดสารประกอบที่เป็นพิษต่อไตเช่นที่พบในยาปฏิชีวนะอื่นในกลุ่มเตตราไซคลีนที่ถูกค้นพบก่อนหน้า อย่างไรก็ตามควรใช้ ยาปฏิชีวนะในเตตราไซคลีน ซึ่งรวมไปถึงดอกซีไซคลีนด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเนื่องจากอาจทำให้ภาวะอะโซทีเมีย (azotemia) ของผู้ป่วยแย่ลงจากพิษของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเสื่อมสลายของยาดังกล่าว
การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ทั่วไปสำหรับยาปฏิชีวนะทุกชนิดในกลุ่มเตตราไซคลีนแล้ว ดอกซีไซคลีนมักถูกใช้เพื่อรักษาโรคไลม์, ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง, โพรงอากาศอักเสบ, ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกรานสิวที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย, โรคโรซาเชีย (Rosacea), และการติดเชื้อแบคทีเรียสกุลริคเค็ทเซีย
เมื่อปี ค.ศ. 2004 ในแคนาดา ดอกซีไซคลีนได้ถูกกำหนดให้เป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกแรกสำหรับการรักษาท่อปัสสาวะอักเสบที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่ไม่ใช่สกุลโกโนคอคคอลและสกุลคลาไมเดีย โดยใช้ร่วมกับเซฟิกซิมในการรักษาหนองในที่ไม่ซับซ้อน
การใช้เพื่อต้านโปรโตซัว
ดอกซีไซคลีนถูกนำมาใช้เป็นยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียในผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยานี้สำหรับการรักษาโรคดังกล่าวได้ด้วย แต่ไม่ควรใช้ดอกซีไซคลีนเดี่ยว ๆ ในการรักษามาลาเรียในระยะแรกของการรักษา ถึงแม้ว่าเชื้อก่อโรคนั้น ๆ จะยังคงมีความไวต่อดอกซีไซคลีนก็ตาม เนื่องจากฤทธิ์ในการต้านมาลาเรียของดอกซีไซคลีนนั้นไม่อาจมีผลได้ในทันที ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของดอกซีไซคลีนที่ต้องใช้เวลาสักระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเหนี่ยวนำให้การแบ่งเซลล์ของเชื้อสาเหตุเกิดความผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของโปรตีนสังเคราะห์ได้ยีนอะพิโคพลาสต์ ด้วยเหตุนี้ทำให้การรักษามาลาเรียด้วยดอกซีไซคลีนจึงมักให้ร่วมกับยาต้านมาลาเรียชนิดอื่น เช่น ควินีน เป็นต้น
การใช้เพื่อต้านแบคทีเรีย
โดยส่วนใหญ่แล้ว Moraxella catarrhalis, Brucella melitensis, Chlamydia pneumoniae, และ Mycoplasma pneumoniae นั้นเป็นแบคทีเรียที่มีความไวต่อดอกซีไซคลีน ในขณะที่ Haemophilus spp., Mycoplasma hominis, และ Pseudomonas aeruginosa บางสเตรนได้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดื้อต่อดอกซีไซคลีน ซึ่งมีความรุนแรงของการดื้อยาในระดับที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ดอกซีไซคลีนยังเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณาใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรคแอนแทรกซ์และโรคฉี่หนู และยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนีย เพสทิส (แบคทีเรียที่ทำให้เกิดการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ที่เรียกว่า กาฬมรณะ), โรคไลม์,โรคเออร์ลิชิโอสิส (Ehrlichiosis) และโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain spotted fever)
ในปัจจุบัน ดอกซีไซคลีนมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียต่อไปนี้:
- โรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี, ไข้รากสาดใหญ่ และไข้ไทฟัสชนิดอื่น ๆ, โรคไข้คิว,โรคฝีริคเค็ทเซีย, และโรคไข้เห็บที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียสกุลริคเค็ทเซีย
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจาก Mycoplasma pneumoniae
- กามโรคต่อมน้ำเหลือง หรือฝีมะม่วง, โรคริดสีดวงตา ซึ่งรวมไปเยื่อตาอักเสบจากแบคทีเรีย, และการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis ในท่อปัสสาวะ, มดลูก หรือไส้ตรง ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ที่มีพยากรณ์ของโรคไม่ซับซ้อน
- โรคนกแก้ว (Psittacosis)
- ท่อปัสสาวะอักเสบจากแบคทีเรียที่ไม่ใช่โกโนคอคคอล เช่น Ureaplasma urealyticum
- ไข้กลับซ้ำ ที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Borrelia recurrentis
- แผลริมอ่อน ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus ducreyi
- กาฬโรค จากการติดเชื้อ Yersinia pestis
- โรคทูลาริเมีย (Tularemia)
- อหิวาตกโรค
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter fetus
- โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล Brucella (โดยให้การรักษาร่วมกับสเตรปโตมัยซิน)
- โรคบาร์โตเนลโลสิส (Bartonellosis) หรือโรคไข้แมวข่วน (Cat scratch fever)
- แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ (Granuloma inguinale) (จากการติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล Klebsiella)
- โรคไลม์
ในกรณีเชื้อก่อโรคเป็นแบคทีเรียแกรมลบ เมื่อการทดสอบถึงความไวของเชื้อก่อโรคแล้วพบว่ายังมีความไวต่อดอกซีไซคลีน อาจพิจารณาใช้ดอกซีไซคลีนในการรักษาโรคติดเชื้อเหล่านี้ได้:
- การติดเชื้อ Escherichia coli
- การติดเชื้อ Enterobacter aerogenes (เดิมชื่อ Aerobacter aerogenes)
- การติดเชื้อแบคทีเรียในสกุลชิเกลลา
- การติดเชื้อแบคทีเรียในสกุลอซีเนโตแบคเตอร์ (เดิมชื่อสกุล Mima และ Herellea)
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Haemophilus influenzae
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียสกุลเคลบซิลลา
อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียแกรมบวกบางสายพันธุ์ได้มีการปรับตัวให้ดื้อต่อดอกซีไซคลีน ตัวอย่างเช่น เชื้อตัวอย่างราวร้อยละ 44 ของสายพันธุ์ Streptococcus pyogenes และมากกว่าร้อยละ 74 ของสายพันธุ์ S. faecalis นั้นได้มีการพัฒนาตนให้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตราไซคลีน ดังนั้น หากจะพิจารณาใช้ดอกซีไซคลีนในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกต่อไปนี้ ควรมีการทดสอบถึงความไวของเชื้อก่อโรคดังกล่าวต่อดอกซีไซคลีนก่อนเสมอ:
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae (เดิมชื่อ Diplococcus pneumoniae)
- การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย methicillin-resistant Staphylococcus aureus ด้วย
- แอนแทรกซ์ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis
ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อห้ามใช้ต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน อาจพิจารณาใช้ดอกซีไซคลีนเป็นยาทางเลือกรองได้ สำหรับข้อบ่งใช้ต่อไปนี้:
- ซิฟิลิส จากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum
- โรคคุดทะราด ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Treponema pertenue
- โรคติดเชื้อลิสเทอเรีย จากแบคทีเรียสายพันธุ์ Listeria monocytogenes
- โรคติดเชื้อวินเซนต์ (Vincent's infection) ที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Fusobacterium fusiforme
- โรคแอคติโนมัยโคสิส จากการติดเชื้อแบคทีเรีย Actinomyces israelii
- โรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียในสกุลคลอสทริเดียม
นอกจากนี้ ดอกซีไซคลีนยังได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ใช้เป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกรองที่ใช้สำหรับการรักษาสิวอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในบางข้อบ่งใช้นั้นไม่อาจใช้ดอกซีไซคลีนเดี่ยว ๆ ในการรักษาได้ เนื่องจากจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาไม่ดีเท่าที่ควรและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการดื้อยาของเชื้อสาเหตุได้มากขึ้น จึงมักมีการใช้ดอกซีไซคลีนร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่นในข้อบ่งใช้นั้น ๆ อาทิ โรคแท้งติดต่อ ซึ่งดอกซีไซคลีนจัดเป็นยาทางเลือกแรกแต่ต้องใช้การรักษาร่วมกับสเตรปโตมัยซิน และเป็นทางเลือกรองเมื่อให้การรักษาร่วมกับไรแฟมพิซิน (ไรแฟมพิน)
การใช้เพื่อต้านปรสิต
ดอกซีไซคลีนมีประสิทธิภาพดีในการฆ่าแบคทีเรียวอลบาเคียที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน (Symbiosis) อยู่ในระบบสืบพันธุ์ของปรสิตจำพวกนีมาโทดาอย่างพยาธิฟิลาเรีย (Filariasis) ทำให้ระบบสืบพันธุ์ของพวกนีมาโทดาปราศจากแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของนีมาโทดนั้น ๆ จากการออกฤทธิ์ของดอกซีไซคลีนต่อแบคทีเรียในระบบสืบพันธุ์ของนีมาโทดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้สามารถลดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อบางชนิดที่เกิดจากปรสิตเหล่านั้นลงได้ อาทิ โรคพยาธิตาบอด และ โรคเท้าช้าง เป็นต้น การศึกษาทางคลินิกในปี ค.ศ. 2005 พบว่า การรักษาด้วยดอกซีไซคลีนเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 8 สัปดาห์สามารถกำจัดตัวอ่อนไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) ของหนอนพยาธิฟิลาเรียออกไปได้เกือบทั้งหมด
ความไวของจุลชีพต่อยา
ดอกซีไซคลีนถือเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพดีอย่างยิ่งในการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงการติดเชื้อในตา ที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียสกุลChlamydia, Streptococcus, Ureaplasma, Mycoplasma และอื่น ๆ การวัดค่าความเข้มข้นยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ (MIC susceptibility test) ของดอกซีไซคลีนต่อแบคทีเรียบางชนิด ดังแสดงต่อไปนี้
- Chlamydia psittaci : 0.03 μg/mL
- Mycoplasma pneumoniae : 0.016 μg/mL – 2 μg/mL
- Streptococcus pneumoniae : 0.06 μg/mL – 32 μg/mL
อาการไม่พึงประสงค์
อาการไม่พึงประสงค์และข้อควรระวังจากดอกซีไซคลีนนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่อยู่ในกลุ่มเตตราไซคลีน โดยการเกิดผื่นแบบอีริธีมาหลังจากผิวหนังได้รับการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงนั้นพบการเกิดในผู้ที่ใช้ดอกซีไซคลีนในการป้องกันมาลาเรียได้มากถึงร้อยละ 7.3–21.2 ทั้งนี้มีการศึกษาทางคลินิกซึ่งได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันมาลาเรียของยาต้านมาลาเรียหลายชนิด การติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้ในการศึกษานี้พบว่า ดอกซีไซคลีนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางผิวหนังมากกว่ายาอื่นที่ใช้ในการศึกษาจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (ไม่มีการจำแนกชนิดของอาการข้างเคียงทางผิวหนัง) ผื่นที่เกิดขึ้นจากการได้รับดอกซีไซคลีนนั้นสามารถหายเป็นปกติได้เองหลังจากที่มีการหยุดใช้ยาดังกล่าวไประยะหนึ่ง นอกจากนี้แล้ว ดอกซีไซคลีนยังมีข้อดีกว่ายาปฏิชีวนะอื่นในกลุ่มเดียวกันคือ ไม่ก่อให้การทำงานของไตบกพร่องจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเสื่อมสลายของตัวยา
อาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงต่อไปนี้เป็นเพียงอาการไม่พึงประสงค์ที่มีอุบัติการณ์การเกิดสูงกว่า 0.1% (> 1/1,000) ซึ่งอาจมีการเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาดอกซีไซคลีนขึ้นได้ แต่มีอุบัติการณ์การเกิดค่อนข้างต่ำ (<1/1,000; น้อยกว่า 0.1%) แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการรุนแรง
อวัยวะที่ได้รับผลกระทบ | ความถี่ตามเกณฑ์ CIOMS | ชนิดของอาการไม่พึงประสงค์ |
การทดสอบในห้องปฏิบัติการ | พบได้ไม่มาก | การเพิ่มขึ้นของระดับยูเรียในเลือด |
ความผิดปกติของเลือด | พบได้ไม่มาก | โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก, เกล็ดเลือดต่ำ, นิวโตรฟิลในเลือดต่ำ และอีโอสิโนฟิลในเลือดสูง |
ความผิดปกติของระบบประสาท | พบได้ไม่มาก | ปวดศีรษะ |
ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร | พบได้ไม่มาก |
ไม่รุนแรง:อาการแสบร้อนช่องปาก, คลื่นไส้, อาเจียน, คอหอยอักเสบ |
ความผิดปกติของผิวหนัง | พบได้ไม่มาก | ผื่นนูนแบนและผื่นอีริธีมา, ผิวหนังไวต่อแสง |
อื่น ๆ | บ่อยมาก | ฟันมีความไวต่อความร้อนมากผิดปกติ |
อันตรกิริยา
การรับประทานยาดอกซีไซคลีนร่วมกับอาหาร, ยาลดกรด, อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของแคลเซียม, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก, ยาระบายที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม อาจส่งผลลดประสิทธิภาพในการรักษาของดอกซีไซคลิน เนื่องจากอาหาร, ยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังข้างต้นจะทำให้ดอกซีไซคลีนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง
...อาหารสามารถลดการดูดซึมดอกซีไซคลินลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการดูดซึมยากลุ่มเตตราไซคลีนนั้นจะเกิดขึ้นในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนบน มีรายงานว่าผลิตภัณฑ์จากนม, อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์, โซเดียมไบคาร์บอเนต, เกลือแคลเซียมและแมกนีเซียม, ยาระบายที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมและธาตุเหล็ก มีกลไกที่มีผลต่อการดูดซึมของยากลุ่มนี้ ผ่านการเกิดคีเลชันและเพิ่มพีเอชในกระเพาะอาหาร ... จากเหตุผลดังกล่าว จึงควรแนะนำให้แนะนำผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยดอกซีไซคลีนควรรับประทานในขณะท้องว่าง...
ในอดีตเป็นที่เชื่อกันว่าดอกซีไซคลีนทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของฮอร์โมนคุมกำเนิดลดลง เนื่องจากการกระตุ้น CYP450 แต่การศึกษาวิจัยล่าสุดกลับพบว่า ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตราไซคลีนส่วนใหญ่ (รวมถึงดอกซีไซคลีน) นั้นไม่ได้มีผลรบกวนประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของฮอร์โมนดังกล่าวให้ลดต่ำลงจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แพทย์หลายคนยังคงแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยสำหรับคนมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยดอกซีไซคลีนในขณะที่กำลังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์
การใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ดอกซีไซคลีนได้รับการจัดระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ D เช่นเดียวกันกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ ในกลุ่มเตตราไซคลีน เนื่องจากยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวมีผลในการขัดขวางการพัฒนาของกระดูกและฟันของตัวอ่อนในครรภ์ รวมไปถึงทารกแรกเกิดและเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี ดังนั้น ดอกซีไซคลีนจึงมีข้อห้ามใช้ในกลุ่มประชากรดังกล่าว ยกเว้น ในกรณีใช้สำหรับการรักษาโรคแอนแทรกซ์ หรือมีข้อห้ามใช้ที่รุนแรงต่อยาปฏิชีวนะอื่น หรือรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอื่นแล้วไม่ได้ผล
ดอกซีไซคลีนเป็นยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกขับออกทางน้ำนมหรือถูกขับออกได้น้อยมาก ทั้งนี้ แม้จะพบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์กับฟันและกระดูกของเด็กที่ได้รับการบริหารยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีนโดยตรง แต่ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้รับการบันทึกไว้ในทารกที่อาจได้รับยาดังกล่าวผ่านนมแม่ แม้ว่าปริมาณยากลุ่มดังกล่าวที่ถูกขับออกมาในน้ำนมจะมีปริมาณที่น้อยมาก แต่ในทางทฤษฎีแล้ว ทารกที่รับประทานนมแม่ในขณะที่แม่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มดังกล่าวก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ถึงแม้จะอยู่ในระดับที่เล็กน้อยก็ตาม
การศึกษาวิจัย
เมื่อใช้ดอกซีไซคลีนในขนาดต่ำว่าขนาดที่มีผลในการต้านจุลชีพ ยานี้จะมีคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรติเอส (martrix metalloproteinases: MMPs) ทำให้มีการนำดอกซีไซคลีนมาใช้ในระบบการทดลองต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังผลการยับยั้งดังกล่าว เช่น การใช้เพื่อยับยั้งการเกิดกระจกตาถลอกซ้ำซ้อน (Recurrent corneal erosion; CRE) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงความสำเร็จในการใช้ดอกซีไซคลีนในการรักษาผู้ป่วยโรค LAM (lymphangioleiomyomatosis) รายหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคที่มีพยากรณ์โรครุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย และการศึกษาในหนูทดลองอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าดอกซีไซคลีนสามารถบรรเทาอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นผลเสียจากการที่มีความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น บางการศึกษาพบว่าการใช้ดอกซีไซคลีนในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการคงที่แล้ว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของปอดได้
นอกจากที่กล่าวมาดังข้างต้น ดอกซีไซคลีนยังถูกนำมาใช้ในการศึกษา "tet-on" (การแสดงออกของยีนที่ถูกกระตุ้นโดยดอกซีไซคลีน) และ "tet-off" (การแสดงออกของยีนที่ถูกยับยั้งไว้โดยดอกซีไซคลีน) ซึ่งเป็นการศึกษาการถอดรหัสพันธุกรรมที่ถูกควบคุมโดยเตตราไซคลีน (Tetracycline-controlled transcriptional activation) เพื่อควบคุมการแสดงออกของยีนทรานส์ในจุลชีพและเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งการใช้ดอกซีไซคลีนในการศึกษาทดลองดังกล่าวจะมีความคงตัวมากกว่าการใช้เตตราไซคลีน
การศึกษาทดลองอื่น ๆ ที่มีการใช้ดอกซีไซคลีน ได้แก่:
- การรักษาโรคจอตาเสื่อม (Macular degeneration)
- การรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเอนเทอโรคอคคัสที่ดื้อต่อแวนโคมัยซิน
- การรักษาแผลติดเชื้อที่เกิดจากการกัดของสัตว์ (แผลติดเชื้อแบคทีเรีย Pasteurella multocida และ Pasteurella pneumotropica)
- การรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วยดอกซีไซคลีนแทนมิโนไซคลีน (ยาทั้งสองแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้อย่างพอประมาณ)
- การอักเสบเรื้อรังของโรคปอด (หลอดลมฝอยอักเสบ, หอบหืด, ซิสติก ไฟโบรซิส, หลอดลมอักเสบ) ซึ่งทั้งดอกซีไซคลีนและมิโนไซคลีนมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหอบหืด อันเนื่องมาจากภูมิต้านทานในระบบภูมิคุ้มกัน
- การรักษาซาร์คอยโดซิส (sarcoidosis)
- การรักษาพังผืดที่ปอดที่ไม่ทราบสาเหตุการเกิด (Idiopathic pulmonary fibrosis; IPF)
การใช้ดอกซีไซคลีนเป็นตัวทำปฏิกิริยา
ดอกซีไซคลีนและยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ ในกลุ่มเตตราไซคลีนมักถูกนำมาใช้เป็นมักถูกนำมาใชเป็นตัวทำปฏิกิริยาทั้งการศึกษาวิจัยด้านชีวการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับแบคทีเรียทั้งนอก (in vitro) และในร่างกายมนุษย์ (in vivo) รวมไปถึงการศึกษาในจุลชีพและเซลล์ยูคาริโอตอื่น ๆ ที่สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการแสดงออกของโปรตีนโดยการใช้วิธีการการควบคุมการถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเตตราไซคลีน (Tetracycline-controlled transcriptional activation) กลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของยากลุ่มเตตราไซคลีนอาศัยการรบกวนการแปรรหัสพันธุกรรมของโปรตีนในแบคทีเรีย ซึ่งจะทำลายความสามารถในการเจริญและซ่อมแซมตัวเองจุลินทรีย์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การยับยั้งการแปรรหัสพันธุกรรมโปรตีนในไมโทคอนเดรียของเซลล์ยูคาริโอตที่ใช้ในการทดลองจะส่งผลให้ระบบเมแทบอลิซึมทำงานผิดพลาด และนำไปสู่ผลกระทบที่อาจสร้างความเสียหายกับผลการทดลองได้ นอกจากนี้ บางการศึกษายังพบว่า ดอกซีไซคลีนอาจมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งบางชนิดได้
สังคมและวัฒนธรรม
หลังจากสิทธิบัตรยาดอกซีไซคลินของไฟเซอร์สิ้นสุดลง บริษัทยาและเคมีภัณฑ์หลายบริษัทได้ทำการผลิตดอกซีไซคลีนภายใต้ชื่อการค้าที่แตกต่างกันออกสู่ตลาดยาเป็นจำนวนมาก และมีการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดนี้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในปัจจุบัน ดอกซีไซคลีนถูกจัดให้เป็นหนึ่งในยาสำคัญของรายการยาที่จำเป็นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization's List of Essential Medicines) ซึ่งเป็นรายการยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงและมีความสำคัญเป็นลำดับแรกของระบบสุขภาพพื้นฐานของประชาชนในประเทศต่าง ๆ และมีราคาถูก โดยราคาสำหรับการขายส่งในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีมูลค่าประมาณ 0.01–0.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อแคปซูล
แหล่งข้อมูลอื่น
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ดอกซีไซคลีน |
- เอกสารกำกับยา
- "Doxycycline". Drug Information Portal. U.S. National Library of Medicine.
- Research webpage of Mark Taylor who has pioneered the use of doxycycline as an antihelmintic
- The Anti-Wolbachia Consortium uses drugs like doxycycline to treat parasitic diseases
ยาต้านจุลชีพ − ประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม
| |
---|---|
ประเภทของยาต้านจุลชีพ | |
ประเด็นด้านสังคม | |
เภสัชวิทยา |
30S |
|
||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
50S |
|
||||||||||||||||
EF-G |
|
||||||||||||||||
สารป้องกันฟันผุ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
สารต้านการติดเชื้อและสารระงับเชื้อ |
แอมโฟเทอริซินบี • เบนโซโซเนียมคลอไรด์ • คลอเฮกซิดีน • โดมิเฟน โบรไมด์ • ดอกซีไซคลีน • ยูจินอล • เฮเซทิดีน • ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ • เมพาร์ทริซิน • เมโทรนิดาโซล • มิโคนาโซล • มิโนไซคลีน • นาตาไมซิน • นีโอไมซิน • ออกซีควิโนลีน • พอลินอกซิลิน • โซเดียมเปอร์บอเรต • เตตราไซคลีน • ไทเบโซเนียมไอโอไดด์ • โคลไตรมาโซล • คลอร์เตตราไซคลีน
|
||||||||
คอร์ติโคสเตอรอยด์ (กลูโคคอร์ติคอยด์) | |||||||||
อื่นๆ | |||||||||
|