Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ไข้หวัดใหญ่

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ไข้หวัดใหญ่
EM of influenza virus.jpg
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขยายประมาณ 100,000 เท่า
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ
อาการ ไข้, น้ำมูกไหล, เจ็บคอ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, ไอ, จาม, รู้สึกล้า
การตั้งต้น 1 ถึง 4 วันหลังได้รับเชื้อ
ระยะดำเนินโรค ~1 สัปดาห์
สาเหตุ ไวรัสไข้หวัดใหญ่
การป้องกัน การล้างมือ, หน้ากากอนามัย, วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ยา ยาต้านไวรัสอย่างโอเซลทามิเวียร์
ความชุก 3–5 ล้านครั้งต่อปี
การเสียชีวิต จากการหายใจอาจสูงถึง 650,000 คนต่อปี

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาการอาจมีได้ตั้งแต่เบาถึงรุนแรงอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ จามและรู้สึกเหนื่อย ตรงแบบอาการเหล่านี้เริ่มสองวันหลังสัมผัสไวรัสและส่วนใหญ่กินเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ทว่า อาการไออาจกินเวลานานเกินสองสัปดาห์ได้ ในเด็ก อาจมีอาการท้องร่วงและอาเจียนด้วย แต่พบน้อยในผู้ใหญ่ อาการท้องร่วงและอาเจียนจะพบได้ไม่บ่อยเท่าที่พบในโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ซึ่งบางครั้งถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่า "หวัดลงกระเพาะ" หรือ "หวัด 24 ชั่วโมง" แต่ที่จริงแล้วเป็นคนละโรคกันกับไข้หวัดใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจได้แก่ ปอดบวมไวรัส, ปอดบวมแบคทีเรียทุติยภูมิ, โพรงอากาศติดเชื้อ, และการทรุดของปัญหาสุขภาพเดิมอย่างโรคหืดหรือภาวะหัวใจวาย

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีผลต่อมนุษย์มีสามชนิด ได้แก่ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดใหญ่ชนิดดี ซึ่งยังไม่ทราบว่าทำให้เกิดติดเชื้อในมนุษย์หรือไม่ แต่เชื่อกันว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ปกติ ไวรัสมีการแพร่ทางอากาศระหว่างการไอหรือจาม เชื่อกันว่าส่วนใหญ่เกิดในระยะห่างค่อนข้างใกล้ นอกจากนี้ยังสามารถแพร่ได้โดยการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนไวรัสแล้วนำมาสัมผัสปากหรือตา บุคคลอาจติดต่อโรคแก่ผู้อื่นได้ทั้งก่อนและระหว่างที่แสดงอาการ สามารถยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้โดยการทดสอบลำคอ เสมหะ หรือจมูกเพื่อหาเชื้อไวรัส มีการทดสอบให้ผลเร็วหลายชนิด แต่บุคคลยังอาจมีโรคอยู่ได้แม้ผลออกมาเป็นลบ ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลีเมอเรสชนิดตรวจจับอาร์เอ็นเอของไวรัสมีความแม่นยำกว่า

การล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัส การสวมผ้าปิดจมูกก็มีประโยชน์องค์การอนามัยโลกแนะนำการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง ปกติวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันไข้หวัดใหญ่สามหรือสี่ชนิด ปกติผู้ได้รับวัคซีนไม่ค่อยมีผลเสีย วัคซีนเพื่อผลิตขึ้นสำหรับหนึ่งปีอาจไม่มีประโยชน์ในปีถัดไป เพราะไวรัสวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วยาต้านไวรัสอย่างตัวยับยั้งนิวรามินิเดส โอเซลทามิเวียร์ เป็นต้น มีการใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ดูแล้วยาต้านไวรัสในผู้สุขภาพดีมีประโยชน์ไม่มากกว่าความเสี่ยง ไม่พบประโยชน์ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น

ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกในการระบาดทั่วประจำปี ส่งผลให้มีผู้ป่วยรุนแรง 3 ถึง 5 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตประมาณ 290,000 ถึง 650,000 คน เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 20% และผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน 10% มีการติดเชื้อทุกปี ในซีกโลกเหนือและใต้ของโลก เกิดการระบาดส่วนใหญ่ในฤดูหนาว ส่วนรอบเส้นศูนย์สูตรอาจเกิดการระบาดได้ตลอดปี ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตได้แก่ เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่นการระบาดใหญ่ที่เรียกโรคระบาดทั่วนั้นพบน้อยกว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สามครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 (ผู้เสียชีวิต ~50 ล้านคน), ไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 1957 (ผู้เสียชีวิต 2 ล้านคน), และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงในปี 1968 (ผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน) องค์การอนามัยโลกประกาศการระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ/เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ใหม่เป็นโรคระบาดทั่วในเดือนมิถุนายน 2009 ไข้หวัดใหญ่ยังอาจติดในสัตว์อื่น ได้แก่ หมู ม้าและนกได้

อาการและอาการแสดง

อาการที่ไวสำหรับการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่
อาการ: ความไว ความจำเพาะ
ไข้ 68–86% 25–73%
ไอ 84–98% 7–29%
คัดจมูก 68–91% 19–41%
* สิ่งตรวจพบทั้งสามอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้ มีความไวน้อยกว่าในผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป
อาการของไข้หวัดใหญ่ ไข้และไอเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 33% ไม่มีอาการ

อาการของไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มได้เฉียบพลันหนึ่งถึงสองวันหลังติดเชื้อ ปกติอาการแรก ได้แก่ หนาวสั่นและปวดตามตัว แต่ไข้ก็พบได้บ่อยในช่วงแรก โดยมีอุณหภูมิกายในช่วงตั้งแต่ 38 to 39 °ซ หลายคนป่วยจนนอนซมหลายวัน โดยมีอาการเจ็บปวดทั่วกาย ซึ่งปวดที่หลังและขามากกว่าที่อื่น

อาการของไข้หวัดใหญ่

การแยกระหว่างโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ในระยะแรกของการติดเชื้อทั้งสองทำได้ยาก อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอาการของโรคหวัด รวมกับปอดบวม ปวดตามตัว ปวดศีรษะ และล้า ปกติท้องร่วงไม่ใช่อาการของไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ แต่พบในผู้ป่วย "ไข้หวัดนก" เอช5เอ็น1 ได้บ้าง และอาจเป็นอาการในเด็ก อาการซึ่งพบในไข้หวัดใหญ่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดแสดงในตารางด้านขวามือ

อาการไข้และไอร่วมกันพบว่าเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีที่สุด ความแม่นยำของการวินิจฉัยเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิกายเกิน 38°ซ การศึกษาวิเคราะห์การตัดสินใจสองการศึกษา เสนอว่าระหว่างการระบาดท้องถิ่น ความชุกของโรคจะมีเกิน 70% แม้ไม่มีการระบาดในท้องถิ่น การวินิจฉัยอาจสมเหตุผลในผู้สูงอายุระหว่างฤดูไข้หวัดใหญ่ เพราะมีความชุกเกิน 15%

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) มีบทสรุปการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยอยู่ ข้อมูลของ CDC ระบุว่า การทดสอบวินิจฉัยอย่างรวดเร็วมีความไว 50–75% และความจำเพาะ 90–95% เมื่อเทียบกับการเพาะเชื้อไวรัส

บางทีไข้หวัดใหญ่สามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงรวมทั้งปอดบวมไวรัสปฐมภูมิหรือปอดบวมแบคทีเรียทุติยภูมิได้ อาการเด่นชัดได้แก่ หายใจลำบาก นอกจากนี้ หากเด็ก (และผู้ใหญ่บางคน) ดูเหมือนดีขึ้นแล้วกลับมามีไข้สูงใหม่ เป็นสัญญาณอันตรายเพราะการเกิดโรคกลับนี้อาจเป็นปอดบวมแบคทีเรีย

ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการไม่ปกติได้ อย่างสับสนในผู้สูงอายุและกลุ่มอาการคล้ายภาวะพิษเหตุติดเชื้อในเยาวชน สมองอักเสบเนื่องจากไข้หวัดใหญ่หาได้ยากแต่ใช่ว่าไม่เคยมีรายงาน

อาการแสดงเตือนฉุกเฉิน

  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • เวียนศีรษะ
  • สับสน
  • อาเจียนรุนแรง
  • อาการไข้หวัดใหญ่ที่ดีขึ้นแล้วแต่โรคกลับพร้อมมีไข้สูงและไอรุนแรง (อาจเป็นปอดบวมแบคทีเรีย)
  • เขียวคล้ำ
  • ไข้สูงออกผื่น
  • ดื่มของเหลวไม่ได้

อาการแสดงของภาวะขาดน้ำ

  • (ในทารก) ผ้าอ้อมเปียกน้อยกว่าปกติมาก
  • กลั้นอาเจียนไม่อยู่
  • (ในทารก) ร้องไห้ไม่มีน้ำตาหยด

วิทยาไวรัส

ชนิดของไวรัส

โครงสร้างของวิริออนไข้หวัดใหญ่ โปรตีนฮีแม็กกลูตินิน (HA) และนิวรามินิเดส(NA) แสดงอยู่บนผิวอนุภาค อาร์เอ็นเอของไวรัสซึ่งประกอบขึ้นเป็นจีโนมแสดงเป็นขดสีแดงในอนุภาคและเกาะกับไรโบนิวเคลียร์โปรตีน (RNP)

ในการจำแนกไวรัส ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส ซึ่งประกอบด้วยสี่ในเจ็ดสกุลของวงศ์ Orthomyxoviridae

  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส เอ
  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส บี
  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซี
  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส ดี

ไวรัสเหล่านี้เกี่ยวข้องห่าง ๆ กับฮิวแมนพาราอินฟลูเอ็นซาไวรัส ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสในวงศ์ paramyxovirus ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก อย่างกล่องเสียงอักเสบอุดกั้น แต่ยังสามารถก่อโรคที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ได้

ไวรัสไข้หวัดใหญ่วงศ์ที่สี่มีการระบุในปี 2016 คือ ไข้หวัดใหญ่ ดี สปีชีส์ชนิดสำหรับวงศ์นี้ได้แก่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดี ซึ่งมีการแยกครั้งแรกในปี 2011

อินฟลูเอ็นซาไวรัส เอ

สกุลนี้มีหนึ่งชนิด คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ นกน้ำตามธรรมชาติเป็นตัวถูกเบียนตามธรรมชาติสำหรับไข้หวัดใหญ่เอหลายสายพันธุ์ บางโอกาส มีการแพร่เชื้อไวรัสสู่สัตว์ชนิดอื่นแล้วอาจทำให้เกิดการระบาดที่สูญเสียใหญ่หลวงในสัตว์ปีกเลี้ยง หรือทำให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไวรัสชนิดเอเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ที่มีศักยภาพก่อโรคสูงสุด และก่อให้เกิดโรครุนแรงที่สุด ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอสามารถแบ่งย่อยเป็นซีไรไทป์โดยยึดการตอบสนองของแอนติบอดีต่อไวรัสเหล่านี้ ซีไรไทป์ที่มีการยืนยันในมนุษย์ เรียงลำดับตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดทั่วที่ทราบ ได้แก่

  • เอช1เอ็น1 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 และไข้หวัดใหญ่หมูในปี 2009
  • เอช2เอ็น2 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 1957
  • เอช3เอ็น2 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงในปี 1968
  • เอช5เอ็น1 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่นกในปี 2004
  • เอช7เอ็น7 ซึ่งมีศักยภาพรับจากสัตว์ผิดธรรมดา
  • เอช1เอ็น2 พบประจำในมนุษย์ หมูและนก
  • เอช9เอ็น2
  • เอช7เอ็น2
  • เอช7เอ็น3
  • เอช10เอ็น7
  • เอช7เอ็น9 ในปี 2018 จัดว่ามีศักยภาพเกิดการระบาดทั่วสูงสุดในหมู่ชนิดย่อยเอ
  • เอช6เอ็น1 ซึ่งติดเชื้อในมนุษย์คนเดียวเท่านั้น และรักษาหาย

อินฟลูเอ็นซาไวรัส บี

การตั้งชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (สำหรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ฝูเจี้ยน)

สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่บี ไข้หวัดใหญ่บีติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เกือบทั้งหมด และพบน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เอ สัตว์อื่นที่ทราบว่าไวต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่บี ได้แก่ แมวน้ำ และเฟอร์เร็ต ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้กลายพันธุ์ช้ากว่าชนิดเอ 2–3 เท่า ฉะนั้นจึงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่ และซีโรไทป์เดียวเท่านั้น ผลจากการขาดความหลากหลายของแอนติเจนนี้ ทำให้ปกติมีการได้รับภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่บีระดับหนึ่งตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ดี ไข้หวัดใหญ่บียังกลายพันธุ์มากพอทำให้ภูมิคุ้มกันที่อยู่นานยังเกิดขึ้นไม่ได้ อัตราการเปลี่ยนแอนติเจนที่ดลลงนี้ กอปรกับตัวถูกเบียนที่จำกัดกว่า (ซึ่งขัดขวางการเลื่อนแอนติเจนข้ามชนิด) ทำให้ไม่เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่บี

อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซี

สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ซี ซึ่งติดเชื้อมนุษย์ หมาและหมู บางครั้งก่อการเจ็บป่วยรุนแรงและการระบาดท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ซีพบน้อยกว่าชนิดอื่นและปกติก่อโรคไม่รุนแรงในเด็กเท่านั้น

อินฟลูเอ็นซาไวรัส ดี

สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดี ซึ่งติดเชื้อหมูและปศุสัตว์ ไวรัสมีศักยภาพติดเชื้อในมนุษย์ แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในขณะนี้ ไม่พบว่าไวรัสนี้เป็นตัวการของการระบาดใหญ่ครั้งใด

โครงสร้าง คุณสมบัติและการตั้งชื่อชนิดย่อย

อินฟลูเอ็นซาไวรัสเอ บี ซีและดีมีโครงสร้างโดยรวมคล้ายกันมาก อนุภาคไวรัส (หรือเรียก วิริออน) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80–120 นาโนเมตรซึ่งวิริออนเล็กสุดมีรูปทรงเป็นวงรี ความยาวของแต่ละอนุภาคแปรผันกันมาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีหลายรูป และสามารถใหญ่กว่านี้ได้หลายสิบไมโครเมตร ทำให้เกิดวิริออนเส้นใย อย่างไรก็ตาม แม้มีรูปทรงหลากหลาย แต่อนุภาคไวรัสของไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งหมดมีไกลโคโปรตีนสองชนิดหลัก ทั้งหมดนี้ประกอบด้วยเปลือกหุ้มไวรัส (envelope) ประกอบด้วยไกลโคโปรตีนสองชนิดหลัก ห่อรอบแก่นกลาง แก่นกลางบรรจุจีโนม อาร์เอ็นเอของไวรัส และโปรตีนของไวรัสชนิดอื่นที่ห่อหุ้มและปกป้องอาร์เอ็นเอนี้ อาร์เอ็นเอมีแนวโน้มเป็นเกลียวเดี่ยว แต่ในกรณีพิเศษจะเพิ่มเป็นเกลียวคู่ จีโนมของอินฟลูเอ็นซาไวรัสไม่ใช้กรดนิวคลินิกชิ้นเดียว แต่มีอาร์เอ็นเอชนิดขั้วลบเป็นท่อนเจ็ดหรือแปดชิ้น อาร์เอ็นเอแต่ละชิ้นที่บรรจุยีนหนึ่งหรือสองยีน ซึ่งมีรหัสสำหรับผลิตภัณฑ์ยีน (โปรตีน) ตัวอย่างเช่น จีโนมไข้หวัดใหญ่เอมี 11 ยีนบนอาร์เอ็นเอ 8 ชิ้น, ซึ่งเข้ารหัสโปรตีน 11 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (HA), นิวรามินิเดส (NA), นิวคลีโอโปรตีน (NP), เอ็ม1 (โปรตีนเมทริกซ์ 1), เอ็ม2, เอ็นเอส1 (โปรตีน 1 ที่ไม่ใช่โครงสร้าง), เอ็นเอส2 (อีกชื่อหนึ่งคือ โปรตีนส่งออกนิวเคลียส (nuclear export protein)), พีเอ, พีบี1 (โพลีเมอเรสพื้นฐาน 1), พีบี1-เอฟ2 และพีบี2

ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin, HA) และนิวรามินิเดส (neuraminidase, NA) เป็นไกลโคโปรตีนขนาดใหญ่สองชนิดที่อยู่นอกอนุภาคไวรัส HA เป็นเล็กตินที่อำนวยการยึดของไวรัสกับเซลล์เป้าหมายและการส่งจีโนมไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ขณะที่ NA เกี่ยวข้องกับการปล่อยไวรัสลูกหลานจากเซลล์ที่ติดเชื้อ โดยการตัดน้ำตาลที่ยึดอนุภาคไวรัสที่เจริญเต็มที่ ฉะนั้นโปรตีนสองชนิดนี้จึงเป็นเป้าหมายสำหรับยาต้านไวรัส ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแอนติเจนซึ่งสามารถผลิตแอนติบอดีได้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอมีการจำแนกเป็นชนิดย่อยตามการตอบสนองของแอนติบอดีต่อ HA และ NA ซึ่ง HA และ NA ต่างชนิดก่อเป็นรากฐานเลข H และ N ที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น เอช5เอ็น1 มีชนิดย่อยเอช 18 ชนิด และเอ็น 11 ชนิดเท่าที่ทราบ แต่มีเฉพาะเอช 1, 2 และ 3 และเอ็น 1 และ 2 เท่านั้นที่พบในมนุษย์โดยทั่วไป

การถ่ายแบบ

การบุกรุกเซลล์ตัวถูกเบียนและการถ่ายแบบโดยไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขั้นตอนในกระบวนการนี้มีอภิปรายในเนื้อหา

ไวรัสสามารถถ่ายแบบเฉพาะในเซลล์มีชีวิตเท่านั้น การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และการถ่ายแบบเป็นกระบวนการหลายขั้นตอน ขั้นแรก ไวรัสต้องผูกยึดกับและเข้าสู่เซลล์ เมื่อส่งจีโนมไปยังจุดที่มันสามารถผลิตสำเนาใหม่ของโปรตีนไวรัสและอาร์เอ็นเอ การประกอบองค์ประกอบเหล่านี้เป็นอนุภาคไวรัสใหม่ และขั้นสุดท้าย ออกจากเซลล์ตัวถูกเบียน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยึดผ่านฮีแม็กกลูตินินเข้าสู่น้ำตาลกรดไซอะลิกบนผิวเซลล์เยื่อบุ ตรงแบบในจมูก ลำคอและปอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และลำไส้ของนก (ขั้นที่ 1 ในภาพการติดเชื้อ) หลังฮีแม็กกลูตินินถูกโปรตีเอสตัด เซลล์นำไวรัสเข้ามาโดยวิธีเอ็นโดไซโทซิส

รายละเอียดในเซลล์กำลังหาคำอธิบายอยู่ ทราบกันว่าวิริออนเบนเข้าสู่ศูนย์กลางการจัดระเบียบไมโครทิวบูล มีอันตรกิริยากับเอ็นโดโซมที่เป็นกรด และสุดท้ายเข้าสู่เอ็นโดดซมเป้าหมายเพื่อการปลดปล่อยจีโนม

เมื่ออยู่ในเซลล์ ภาวะเป็นกรดในเอนโดโซมทำให้เกิดเหตุการณ์สองอย่าง หนึ่ง ส่วนของโปรตีนฮีแม็กกลูตินินผสมกับเปลือกหุ้มไวรัสกับเยื่อของแวคิวโอล แล้วช่องไอออนเอ็ม2 ทำให้โปรตอนเคลื่อนผ่านเปลือกหุ้มไวรัสแล้วทำให้แก่นของไวรัสเป็นกรด ซึ่งทำให้แก่นแยกส่วนและปล่อยอาร์เอ็นเอของไวรัสและโปรตีนแก่น โมเลกุลอาร์เอ็นเอของไวรัส โปรตีนส่วนประกอบ แล้วจะมีการปล่อยอาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase) เข้าสู่ไซโตพลาสซึม (ระยะที่ 2) ยาอะแมนตาดีนขัดขวางช่องไอออนเอ็ม2 ซึ่งป้องกันการติดเชื้อ

โปรตีนแก่นและอาร์เอ็นเอของไวรัสก่อคอมเพล็กซ์ซึ่งมีการขนส่งเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ โดยอาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสเริ่มถอดรหัสอาร์เอ็นเอคู่สมชนิดขั้วบวก (ระยะที่ 3เอ และ 3บี) อาร์เอ็นเอของไวรัสมีการส่งออกสู่ไซโทพลาสซึมและแปลรหัส (ระยะที่ 4) หรือยังอยู่ในนิวเคลียสต่อไป โปรตีนของไวรัสที่สังเคราะห์ใหม่มีการหลั่งผ่านกอลไจแอปพาราตัสสู่ผิวเซลล์ (ในกรณีของนิวรามินิเดสและฮีแม็กกลูตินิน คือ ระยะที่ 5บี) หรือขนส่งกลับเข้าสู่นิวเคลียสเพื่อยึดอาร์เอ็นเอของไวรัสและก่ออนุภาคจีโนมของไวรัสใหม่ รวมทั้งสลายอาร์เอ็นเอนำรหัสของเซลล์ และใช้นิวคลีโอไทด์ที่ปล่อยออกมาเพื่อการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอของไวรัส และยังยับยั้งการแปลรหัสอาร์เอ็นเอนำสารของเซลล์ตัวถูกเบียน

อาร์เอ็นเอของไวรัสชนิดขั้วลบซึ่งก่อเป็นจีโนมของไวรัสในอนาคต อาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส และโปรตีนอื่นของไวรัสประกอบเข้าเป็นวิริออน โมเลกุลฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสกระจุกเข้าสู่รอยโป่งในเยื่อหุ้มเซลล์ อาร์เอ็นเอของไวรัสและโปรตีนแก่นไวรัสออกจากนิวเคลียสแล้วเข้าสู่รอยโป่งของเยื่อนี้ (ระยะที่ 6) ไวรัสที่เจริญเต็มที่ผุดออกจากเซลล์ในเยื่อฟอสโฟลิพิดทรงกลมของตัวถูกเบียน ทำให้ได้ฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสในโค้ดเยื่อนี้ (ระยะที่ 7) เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ไวรัสยึดกับเซลล์ผ่านฮีแม็กกลูตินิน ไวรัสที่เจริญเต็มที่แล้วแยกออกเมื่อนิวรามินิเดสตัดส่วนตกค้างกรดไซอะลิกออกจากเซลล์ตัวถูกเบียน หลังปล่อยไวรัสไข้หวัดใหญ่ใหม่แล้ว เซลล์ตัวถูกเบียนจะตาย

เนื่องจากไม่มีเอ็นไซม์ตรวจอาร์เอ็นเอ อาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสซึ่งคัดลอกจีโนมของไวรัสจึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดเกือบทุก ๆ 10,000 นิวคลีโอไทด์ ซึ่งประมาณความยาวของอาร์เอ็นเอของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งผลิตใหม่ส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนแอนติเจน (antigenic drift) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงช้า ๆ ในแอนติเจนบนผิวไวรัสตามเวลา การแบ่งจีโนมออกเป็นอาร์เอ็นเอของไวรัสส่วนต่าง ๆ แปดส่วนทำให้มีการผสมหรือการรวมกันใหม่ของอาร์เอ็นเอไวรัสหากมีไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อในเซลล์มากกว่าหนึ่งชนิด การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสอย่างรวดเร็วอันเป็นผลลัพธ์นี้ทำให้เกิดการเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลันขนาดใหญ่ทำให้ไวรัสติดเชื้อชนิดตัวถูกเบียนใหม่ และเอาชนะภูมิคุ้มกันคุ้มครองอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการเกิดการระบาดทั่ว ดังที่อภิปรายด้านล่างในส่วนวิทยาการระบาด

กลไก

การแพร่เชื้อ

เมื่อผู้ติดเชื้อจามหรือไอ อนุภาคไวรัสกว่าครึ่งล้านอนุภาคสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อยู่ใกล้ ในผู้ใหญ่สุขภาพดี การกระจายไวรัส (shedding) ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในช่วงนี้บุคคลสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เพิ่มขึ้นอย่างมากครึ่งถึงหนึ่งวันหลังติดเชื้อ โดยสูงสุดในวันที่ 2 และคงอยู่เป็นระยะเวลารวมเฉลี่ย 5 วัน แต่สามารถอยู่ได้นานสุด 9 วัน ในผู้ที่เกิดอาการจากการติดเชื้อทดลอง (เฉพาะ 67% ของบุคคลที่ติดเชื้อในการทดลองสุขภาพดี) อาการและการกระจายไวรัสมีรูปแบบคล้ายกัน แต่การกระจายไวรัสเกิดก่อนการป่วยหนึ่งวัน เด็กติดต่อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มากและกระจายไวรัสตั้งแต่ก่อนเกิดอาการจนถึงสองสัปดาห์หลังติดเชื้อ ในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การกระจายไวรัสสามารถเกิดต่อเนื่องได้นานกว่าสองสัปดาห์

ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้สามวิธีหลัก ได้แก่ 1) ด้วยการสัมผัสโดยตรง คือ บุคคลที่มีเชื่อจามเอามูกเข้าสู่ตา จมูกหรือปากของอีกบุคคลหนึ่งโดยตรง 2) ทางจากอากาศ คือ บุคคลสูดดมละอองฝอยที่เกิดจากบุคคลที่ติดเชื้อไอ จามหรือถ่มน้ำลาย และ 3) ผ่านการแพร่เชื้อมือสู่ตา มือสู่จมูกหรือมือสู่ปาก ไม่ว่าจากผิวที่ปนเปื้อนหรือจากการสัมผัสระหว่างบุคคลโดยตรง เช่น การสัมผัสมือ ความสำคัญโดยสัมพัทธ์ของการแพร่เชื้อสามวิธีนี้ไม่ชัดเจน และทั้งหมดมีส่วนทำให้ไวรัสแพร่ ในทางจากอากาศ ละอองเสมหะที่เล็กพอให้บุคคลสูดเข้าไปได้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ถึง 5 ไมโครเมตร และการสูดดมละอองเสมหะเดียวก็อาจเพียงพอทำให้ติดเชื้อได้ แม้การจามครั้งเดียวอาจปล่อยละอองเสมหะได้ถึง 40,000 ละออง แต่ส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และถูกพัดพาไปจากอากาศ ระยะเวลาที่ไข้หวัดใหญ่อยู่รอดในละอองเสมหะจากอากาศได้รับอิทธิพลจากระดับความชื้นและรังสียูวี โดยความชื้นต่ำและการขาดแสงอาทิตย์ในฤดูหนาวช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น

ขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่นอกร่างกาย มันสามารถแพร่เชื้อผ่านผิวปนเปื้อนได้ เช่น ธนบัตร ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ และสิ่งของในครัวเรือนอื่น ระยะเวลาที่ไวรัสคงอยู่บนผิวแปรผันได้ โดยไวรัสจะอยู่รอดหนึ่งถึงสองวันบนพื้นผิวแข็งไม่พรุน เช่น พลาสติกหรือโลหะ, ประมาณสิบห้านาทีบนกระดาษทิชชูแห้ง และเพียงห้านาทีบนผิวหนัง อย่างไรก็ดี หากไวรัสอยู่ในมูก จะสามารถป้องกันไวรัสได้นานขึ้น (นานถึง 17 วันบนธนบัตร) ไข้หวัดใหญ่นกสามารถมีชีวิตได้ไม่มีกำหนดเมื่อถูกแช่แข็ง ไวรัสจะถูกลดฤทธิ์เมื่อได้รับความร้อนถึง 56 °ซ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 นาที เช่นเดียวกับกรด (ที่ pH <2)

พยาธิสรีรวิทยา

ตำแหน่งการติดเชื้อ (แสดงด้วยสีแดง) ของ เอช1เอ็น1 ตามฤดูกาล กับ เอช5เอ็น1 "ไข้หวัดนก" ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อโอกาสถึงตายและความสามารถในการลุกลาม

กลไกที่ทำให้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่ออาการในมนุษย์นั้นมีการศึกษาอย่างเข้มข้น กลไกหนึ่งเชื่อว่าเป็นการยับยั้งฮอร์โมนแอดรีโนคอร์ติโคโทรปิก (ACTH) ส่งผลให้ระดับคอร์ติซอล (cortisol) ลดลง หากทราบว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งมียีนใดจะสามารถช่วยทำนายได้ว่าเชื้อติดมนุษย์ได้ดีเพียงใด และการติดเชื้อจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด (กล่าวคือ พยากรณ์พยาธิสรีรวิทยาของสายพันธุ์นั้น)

ตัวอย่างเช่น ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่บุกรุกเซลล์ คือ การแยกโปรตีนฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin) ของไวรัสโดยโปรตีเอส (protease) ของมนุษย์ที่มีอยู่หลายตัว ในไวรัสที่ไม่รุนแรง โครงสร้างของฮีแม็กกลูตินินทำให้โปรตีเอสเฉพาะที่พบในลำคอและปอดเท่านั้นที่สามารถแยกมันได้ ฉะนั้นไวรัสจึงไม่สามารถติดเชื้อในเนื้อเยื่ออื่น ทว่าในสายพันธุ์ที่รุนแรง อย่างเอช5เอ็น1 โปรตีเอสหลายชนิดสามารถแยกฮีแม็กกลูตินินได้ ทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วร่าง

โปรตีนฮีแม็กกลูตินินของไวรัสเป็นตัวตัดสินว่าสายพันธุ์นั้นสามารถติดในสัตว์ชนิดใดได้บ้าง และสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่นั้นจะติดทางเดินหายใจของมนุษย์ที่ใดบ้าง สายพันธุ์ที่แพร่เชื้อง่ายระหว่างบุคคลมีโปรตีนฮีแม็กกลูตินินซึ่งยึดกับทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ในจมูก ลำคอและปาก ในทางตรงข้าม สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ที่มีอัตราเสียชีวิตสูง ยึดกับตัวรับที่ส่วนใหญ่พบในปอด ตำแหน่งติดเชื้อที่แตกต่างกันนี้เป็นสาเหตุที่สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ก่อให้เกิดปอดบวมไวรัสรุนแรง แต่ติดต่อระหว่างบุคคลที่ไอและจามได้ยาก

อาการทั่วไปของไข้หวัดใหญ่อย่างไข้ ปวดศีรษะ และล้าเป็นผลของไซโตไคน์ (cytokine) และคีโมไคน์ (chemokine) ที่กระตุ้นการอักเสบ (อย่างอินเตอร์เฟอร์รอน (interferon) และทิวเมอร์เนโครซิสแฟกเตอร์ (tumor necrosis factor)) ปริมาณมากที่ผลิตจากเซลล์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ในทางตรงข้ามกับไรโนไวรัสซึ่งก่อโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ก่อความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ ฉะนั้นอาการจะไม่ได้เกิดจากการตอบสนองของการอักเสบ การตอบสนองภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่นี้อาจก่อให้เกิดพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) ที่ถึงแก่ชีวิตได้ มีการเสนอว่าผลดังกล่าวเป็นสาเหตุของยอดผู้เสียชีวิตสูงผิดปกติของทั้งไข้หวัดใหญ่นกเอช5เอ็น1 และสายพันธุ์โรคระบาดทั่วปี 1918 ทว่า อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือไซโตไคน์ปริมาณมากนี้เป็นเพียงผลของระดับการถ่ายแบบของไวรัสระดับมหาศาลที่ผลิตจากสายพันธุ์เหล่านี้ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ได้ส่งผลต่อโรคด้วยตัวมันเอง ดูเหมือนว่าไข้หวัดใหญ่กระตุ้นกระบวนการตายของเซลล์ที่มีคำสั่ง (อะพอพโทซิส)

การป้องกัน

การควบคุมการติดเชื้อ

การลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพสมเหตุสมผล ได้แก่ นิสัยสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคลดี เช่น ไม่สัมผัสตา จมูกหรือปากตัวเอง, ล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำกับสบู่ หรือด้วยเจลถูมือที่มีแอลกอฮอล), เลี่ยงการสัมผัสหรือการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย, แม้การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยอาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อลงบ้าง แต่ประสิทธิภาพการลดการติดเชื้ออาจไม่เท่าการสวมหน้ากากโดยตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งสามารถทำควบคู่กันไปได้, ลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงในการสัมผัสไข้หวัดใหญ่และเป็นความเสี่ยงของอาการที่รุนแรงกว่า

การลดการแพร่เชื้อเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรค ผู้ป่วยควรหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ, แนะนำไม่ให้ถ่มน้ำลาย, ล้างมือเป็นประจำเพื่อลดการแพร่เชื้อผ่านพื้นผิวของสิ่งของสาธารณะเช่นลูกบิดประตู, สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่อยู่ในน้ำมูกและน้ำลาย หากจำเป็นต้องออกมาพื้นที่ชุมชนหรือต้องการลดการแพร่เชื้อภายในบ้าน

เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ทางการสัมผัสผิวที่ปนเปื้อน การทำความสะอาดผิวจึงอาจช่วยลดการติดเชื้อลงบ้าง แอลกอฮอลเป็นสารชำระล้างที่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนสารประกอบควอเตอนารีแอมโมเนียมสามารถใช้ร่วมกับแอลกอฮอลเพื่อให้ฤทธิ์ชำระล้างอยู่นานขึ้น ในโรงพยาบาล สารประกอบควอเตอนารีแอมโมเนียมและสารฟอกใช้เพื่อชำระล้างห้องหรืออุปกรณ์ที่ผู้มีอาการไข้หวัดใหญ่ใช้ ที่บ้าน สามารถชำระล้างอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยสารฟอกคลอรีนเจือจาง

ยุทธศาสตร์การรักษาระยะห่างทางสังคมที่ใช้ระหว่างการระบาดทั่วในอดีต เช่น การปิดโรงเรียน โบสภ์และโรงละคร ชะลอการแพร่ของไวรัส แต่มีผลไม่มากนักต่ออัตราตายโดยรวม ยังไม่แน่ชัดว่าหากลดการประชุมในที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ปิดโรงเรียนและที่ทำงาน จะลดการแพร่เชื้อเพราะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจเพียงย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง มาตรการดังนี้ยังบังคับใช้ได้ยากและอาจไม่ได้รับความนิยมด้วย เมื่อคนจำนวนน้อยติดเชื้อ การแยกผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ

การฉีดวัคซีน

ขณะกำลังให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างโรคหืด เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ในผู้ใหญ่สุขภาพดี วัคซีนมีประสิทธิภาพพอประมาณในการลดปริมาณอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในประชากร ในเด็กสุขภาพดีอายุเกิน 2 ปี วัคซีนลดโอกาสได้รับไข้หวัดใหญ่ลงสองในสาม แต่ยังไม่มีการศึกษาดีนักในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การฉีดวัคซีนลดการกำเริบในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าช่วยลดการกำเริบของโรคหืดด้วยหรือไม่ หลักฐานสนับสนุนอัตราป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ต่ำกว่าในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหลายกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ มะเร็ง และผู้หลังปลูกถ่ายอวัยวะ ในผู้ป่วยฉีดวัคซีนความเสี่ยงสูงอาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลต่อผลการรักษาผู้ป่วยหรือไม่นั้นยังเป็นที่พิพาทอยู่ โดยบทปฏิทรรศน์บ้างไม่พบหลักฐานเพียงพอ และบ้างพบหลักฐานเบื้องต้น

เนื่องจากอัตรากลายพันธุ์ของไวรัสมีสูง วัคซีนไข้หวัดใหญ่เฉพาะปกติจึงให้การป้องกันโรคได้ไม่กี่ปีเท่านั้น ทุกปีองค์การอนามัยโลกพยากรณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใดน่าจะไหลเวียนในปีหน้ามากที่สุด ทำให้บริษัทเภสัชภัณฑ์พัฒนาวัคซีนที่จะให้ภูมิคุ้มกันดีที่สุดต่อสายพันธุ์เหล่านี้ มีการเปลี่ยนสูตรวัคซีนแต่ละฤดูสำหรับสายพันธุ์จำเพาะบางสายพันธุ์ แต่ไม่รวมสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในโลกระหว่างฤดูนั้น ผู้ผลิตใช้เวลาหกเดือนสร้างสูตรและผลิตวัคซีนหลายล้านขนาดที่จำเป็นในการรับมือกับสายพันธุ์ที่โดดเด่นอยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้การติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีนและการเจ็บป่วยจากสายพันธุ์ที่วัคซีนควรป้องกันก็เป็นไปได้ เพราะวัคซีนใช้เวลาออกฤทธิ์สองสัปดาห์

วัคซีนสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองราวกับว่าร่างกายกำลังมีการติดเชื้อจริง และอาจมีอาการติดเชื้อทั่วไปได้ (ซึ่งอาการหลายอย่างของโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ก็เป็นอาการติดเชื้อทั่วไป) แม้อาการเหล่านี้ปกติไม่รุนแรงหรือไม่กินเวลานานเท่าไข้หวัดใหญ่ ผลไม่พึงประสงค์ที่อันตรายที่สุด ได้แก่ ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงต่อสารไวรัสเอง หรือส่วนตกค้างของไข่ไก่ที่ใช้เพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ปฏิกิริยานี้พบยากยิ่ง

บทปฏิทรรศน์ปี 2018 ของคอคแครนว่าด้วยเด็กที่มีสุขภาพโดยรวมดีพบว่าการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นดูเหมือนลดความเสี่ยงการติดไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลนั้นจาก 18% เหลือ 4% วัคซีนชนิดเชื้อตายดูเหมือนลดอัตราการติดไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลนั้นจาก 30% เหลือ 11% ไม่มีข้อมูลเพียงพอดึงข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างปอดบวมหรือการให้เข้าโรงพยาบาล

สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี บทปฏิทรรศน์คอคแครนปี 2018 แสดงว่าวัคซีนลดอุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ห้องปฏิบัติการยืนยันจาก 2.3% เหลือ 0.9% ซึ่งคิดเป็นการลดความเสี่ยงประมาณ 60% อย่างไรกฌดี สำหรับการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งนิยามว่ามีอาการเดียวกันคือ ไอ ไข้ ปวดศีรษะ คัดจมูกและเจ็บปวดตามตัว วัคซีนลดความเสี่ยงจาก 21.5% เหลือ 18.1% ซึ่งคิดเป็นการลดความเสี่ยงลงเล็กน้อย 16% ข้อแตกต่างอาจอธิบายได้ดีที่สุดจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่ก่ออาการเดียวกันหรือคล้ายกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่

ต้นทุน-ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีการประเมินอย่างกว้างขวางสำหรับกลุ่มและกรณีต่าง ๆ โดยทั่วไปพบว่าเป็นการรักษาที่คุ้มทุน โดยเฉพาะในเด็ก และผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ผลของการประเมินการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทางเศรษฐกิจพบว่าขึ้นอยู่กับข้อสันนิษฐานสำคัญ

การวินิจฉัย

ภาพรังสีเอ็กซ์ของผู้ป่วยเอข1เอ็น1 ยืนยันแล้ว อายุ 29 ปี

มีการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับไข้หวัดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่ง วิธีหนึ่งเรียกว่า การสอบปริมาณโมเลกุลอย่างเร็ว (Rapid Molecular Assay) ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่าง (มูก) โดยใช้สิ่งป้ายกวาดจมูกหรือสิ่งป้ายกวาดคอหอยส่วนจมูก ควรทดสอบภายใน 3–4 วันหลังเริ่มมีอาการ เพราะการกระจายของไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนจะยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นหลังจากนั้น

การรักษา

แนะนำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เลี่ยงการใช้แอลกอฮอลและยาสูบ และถ้าจำเป็น ใช้ยาอย่างอะเซตามีโนเฟน (พาราเซตามอล) เพื่อลดไข้และบรรเทาปวดกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ป่วยเลี่งยการสัมผัสใกล้ชิดบุคคลอื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เด็กและวัยรุ่นที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้) ควรเลี่ยงการใช้แอสไพรินระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้หวัดใหญ่ชนิดบี) เพราะอาจนำไปสู่กลุ่มอาการเรย์ เป็นโรคของตับที่หายากแต่อาจถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุที่ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัส ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผลต่อการติดเชื้อ ยกเว้นจ่ายให้สำหรับการติดเชื้อขั้นตามอ่ยางปอดบวมแบคทีเรีย ยาต้านไวรัสอาจมีประโยชน์หากให้เร็ว (ภายใน 48 ชั่วโมงหลังอาการแรก) แต่ไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์มีการดื้อยาต้านไวรัสมาตรฐาน และมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของการวิจัย ปัจเจกบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรพบแพทย์เพื่อขอรับยาต้านไวรัส ผู้มีอาการเตือนฉุกเฉินควรติดต่อห้องฉุกเฉินทันที

ยาต้านไวรัส

มีการใช้ยาต้านไวรัสสองประเภทกับไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ สารยับยั้งนิวรามินิเดส (โอเซลทามิเวียร์, ซานามิเวียร์, ลานินามิเวียร์ และ เปรามิเวียร์ ) และตัวยับยั้งโปรตีนเอ็ม2 (อนุพันธ์ของอะดาแมนเทน)

สารยับยั้งนิวรามินิเดส

ประโยชน์โดยรวมของสารยับยั้งนิวรามินิเดสในผู้มีสุขภาพดีดูแล้วไม่มากกว่าความเสี่ยง และดูแล้วไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ ในผู้มีปัญหาสุขภาพอื่น ในผู้ที่เชื่อว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ยาดังกล่าวลดระยะเวลาที่มีอาการน้อยกว่าหนึ่งวันเล็กน้อย แต่ดูไม่มีผลต่อความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน อย่างความจำเป็นต้องรับรักษาในโรงพยาบาลหรือโรคปอดบวม การดื้อสารยับยั้งนิวรามินิเดสที่พบมากขึ้นทุกทีทำให้นักวิจัยแสวงยาต้านไวรัสทางเลือกที่มีกลไกการออกฤทธิ์อื่น

สารยับยั้งเอ็ม2

ยาต้านไวรัสอะแมนตาดีนและไรแมนตาดีนยับยั้งการสร้างช่องไอออนของไวรัส (โปรตีนเอ็ม2) จึงยับยั้งการถ่ายแบบของไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ ยาเหล่านี้บางครั้งมีผลต่อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ หากได้รับตั้งแต่การติดเชื้อระยะแรก แต่ไม่เป็นผลกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ซึ่งไม่มีเป้าหมายของยาเอ็ม2 การดื้อยาอะแมนตาดีนและไรแมนตาดีนที่วัดได้ในบุคคลแยกชาวอเมริกันซึ่งเป็นเอช3เอ็น2 เพิ่มเป็น 91% ในปี 2005 การดื้อยาระดับสูงนี้อาจเนื่องจากอะแมนตาดีนหาซื้อเป็นยาบรรเทาหวัดซื้อเองได้และหาได้ง่ายในประเทศอย่างจีนและรัสเซีย และการใช้เพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกฟาร์ม ซีดีซีไม่แนะนำให้ใช้สารยับยั้งเอ็ม2 ระหว่างฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ 2005–06 เนื่องจากมีการดื้อยาในระดับสูง

พยากรณ์โรค

ผลของไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าและอยู่ได้นานกว่าโรคหวัด คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แต่บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ (เช่น ปอดบวม) ฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่อาจถึงตายได้ในผู้อ่อนแอ เด็กและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีขั้นรุนแรงหรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (ซึ่งทางการแพทย์ให้กดระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย) ผู้ประสบโรครุนแรงบางอย่าง หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูงเช่นกัน

ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้ปัญหาสุขภาพทรุดลงได้ ผู้ประสบภาวะมีอากาศในเนื้อเยื่อ, หลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือโรคหืดอาจมีอาการหายใจลำบากระหว่างป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหัวใจล้มเหลว การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงมากขึ้นและเพิ่มอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลกมีข้อมูลว่า "ทุกฤดูหนาวมีบุคคลติดไข้หวัดใหญ่หลายสิบล้านคน ส่วนใหญ่ป่วยและหยุดทำงานหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย เราทราบว่ายอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ในหลักแสนคนต่อปี แต่กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้ว จำนวนดังกล่าวยังไม่แน่นอนเนื่องจากทางการแพทย์ปกติไม่ได้ยืนยันว่าแท้จริงแล้วเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ หรือเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่" แม้แต่บุคคลสุขภาพดีก็สามารถป่วยได้ และปัญหารุนแรงจากไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดได้ทุกวัย บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ เด็กอ่อนและคนทุกวัยที่มีภาวะทางการแพทย์เรื้อรังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการไข้หวัดใหญ่มากกว่า เช่น ปอดบวม, โรคหลอดลมอักเสบ, การติดเชื้อไซนัส และที่หู

ในบางกรณี การตอบสนองภูมิต้านตนเองเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีผลต่อการพัฒนากลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร อย่างไรก็ดี เนื่องจากการติดเชื้ออีกหลายอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ ไข้หวัดใหญ่จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญเฉพาะระหว่างการระบาดเท่านั้น กลุ่มอาการนี้เชื่อว่าเป็นผลข้างเคียงพบได้น้อยของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บทปฏิทรรศน์หนึ่งระบุว่าอุบัติการณ์มีประมาณหนึ่งต่อวัคซีนหนึ่งล้านขนาด การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เองเพิ่มทั้งความเสี่ยงเสียชีวิต (ถึง 1 ใน 10,000) และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรถึงระดับสูงกว่าระดับความเกี่ยวข้องของวัคซีนที่สงสัยสูงสุดมาก (ประมาณ 10 เท่าของการประมาณล่าสุด)

ข้อมูลของ cdc.gov ระบุว่า "เด็กทุกวัยที่มีภาวะทางประสาทวิทยามีโอกาสป่วยมากเทียบกับเด็กอื่นถ้าได้รับไข้หวัดใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจแตกต่างกันและสำหรับเด็กบางคนอาจรวมปอดบวมและถึงเสียชีวิตได้"

เอ็มอาร์ไอแสดงสมองอักเสบจากไข้หวัดใหญ่

ภาวะทางประสาทวิทยารวมถึง

  • ความผิดปกติของสมองและไขสันหลัง
  • อัมพาตสมองใหญ่
  • โรคลมชัก
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ความพิการทางปัญญา
  • พัฒนาการล่าช้าระดับปานกลางถึงรุนแรง
  • โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน
  • การบาดเจ็บของไขสันหลัง

ภาวะเหล่านี้สามารถขัดขวางการไอ การกลืน การทำให้ทางเดินหายใจโล่ง และในกรณีเลวร้ายที่สุด การหายใจ ฉะนั้นจึงทำให้อาการของไข้หวัดใหญ่เลวลง

ระบาดวิทยา

การผันแปรตามฤดูกาล

พื้นที่เสี่ยงตามฤดูกาลสำหรับไข้หวัดใหญ่: พฤศจิกายน–เมษายน (สีน้ำเงิน), เมษายน–พฤศจิกายน (แดง) และตลอดปี (สีเหลือง)

ไข้หวัดใหญ่มีความชุกสูงสุดในฤดูหนาว และเนื่องจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ตรงกับฤดูหนาวต่างเวลากัน ปีหนึ่งจึงมีฤดูไข้หวัดใหญ่สองฤดู เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลก (ซึ่งมีศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติสนับสนุน) ออกคำแนะนำสำหรับสูตรวัคซีนสองคำแนะนำแยกกันทุกปี คือให้ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้

ปริศนาที่มีมานานมีอยู่ว่าเหตุใดการระบาดของไข้หวัดใหญ่จึงเกิดตามฤดูกาลไม่ใช่เกิดเท่ากันตลอดปี มีคำอธิบายทีเป็นไปได้อย่างหนึ่งว่าบุคคลอยู่ในอาคารมากขึ้นระหว่างฤดูหนาว จึงอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นบ่อยครั้งขึ้น และส่งเสริมการแพร่เชื้อจากบุคคลสู่บุคคล การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูวันหยุดฤดูหนาวในซีกโลกเหนือก็อาจมีบทบาท อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่อุณหภูมิเย็นนำไปสู่อากาศแห้ง ซึ่งอาจทำให้อนุภาคเมือกเสียน้ำ อนุภาคแห้งเบากว่าและสามารถอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานขึ้น ไวรัสยังอยู่รอดนานกว่าบนพื้นผิวที่อุณหภูมิเย็นกว่าและการแพร่เชื้อด้วยละอองฝอยของไวรัสเกิดสูงสุดในสิ่งแวดล้อมเย็น (ต่ำกว่า 5 °ซ) ซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ความชื้นในอากาศต่ำกว่าในฤดูหนาวดูเป็นสาเหตุหลักของการแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในเขตอบอุ่น

การเปลี่ยนแปลงอัตราการติดเชื้อตามฤดูกาลยังพบในเขตร้อนด้วย และในบางประเทศมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดระหว่างฤดูฝนเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในอัตราการสัมผัสจากภาคเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในโรควัยเด็กอย่างอื่น เช่น โรคหัดและโรคไอกรน อาจมีบทบาทในโรคไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ผลตามฤดูกาลเล็กน้อยเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วอาจมีการเสริมจากการพ้องแบบพลวัตกับวัฏจักรโรคจากภายใน เอช5เอ็น1 ก็แสดงความผันแปรตามฤดูกาลทั้งในมนุษย์และสัตว์ปีก

สมมติฐานอีกอย่างหนึ่งเพื่ออธิบายความผันแปรตามฤดูกาลในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือผลของระดับวิตามินดีที่มีต่อภูมิคุ้มกันต่อไวรัส โรเจอร์ เอ็ดการ์ โฮป-ซิมป์สันเป็นผู้เสนอความคิดนี้ครั้งแรกในปี 1965 เขาเสนอว่าสาเหตุของการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ระหว่างฤดูหนาวอาจเชื่อมโยงกับการขึ้นลงตามฤดูกาลของวิตามินดี ซึ่งมีการผลิตในผิวหนังภายใต้อิทธิพลของการแผ่รังสียูวี ซึ่งสามารถอธิบายว่าเหตุใดไข้หวัดใหญ่เกิดในฤดูหนาวเป็นหลัก และระหว่างฤดูฝนในเขตร้อน เมื่อบุคคลอยู่ในอาคาร ไม่ได้รับแสงอาทิตย์และทำให้ระดับวิตามินดีลดลง

การระบาดและการแพร่กระจายของโรคระบาดทั่ว

ด้วยเหตุว่าไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสหลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ในปีหนึ่ง ๆ บางสายพันธุ์จึงอาจตายไป ส่วนบางสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดการระบาด และบางสายพันธุ์ยังสามารถก่อให้เกิดการระบาดทั่ว ตรงแบบ ในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่สองฤดูกาลตามปกติในหนึ่งปี มีผู้ป่วยรุนแรงระหว่าง 3 ถึง 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 คนทั่วโลก ซึ่งบางบทนิยามเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี แม้อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่สามารถผันแปรได้มากระหว่างปี แต่มีผู้เสียชีวิตประมาณ 36,000 คนและการรับเข้าโรงพยาบาลกว่า 200,000 ครั้งที่สัมพันธ์โดยตรงกับไข้หวัดใหญ่ทุกปีในสหรัฐ วิธีการหนึ่งในการคำนวณอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ได้ผลว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อปี 41,400 คนในสหรัฐระหว่างปี 1979 ถึง 2001 การคำนวณอีกวิธีหนึ่งที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ใช้ในปี 2010 รายงานพิสัยตั้งแต่ประมาณ 3,300 คนถึง 49,000 คนต่อปี

เกิดการระบาดทั่วประมาณสามครั้งต่อศตวรรษ ซึ่งติดต่อประชากรของโลกเป็นจำนวนมาก และฆ่ามนุษย์หลายสิบล้านคน การศึกษาหนึ่งประมาณว่าถ้าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีศักยภาพก่อโรคคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ 1918 ปรากฏในปัจจุบัน จะทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึง 80 ล้านคน

การเลื่อนหรือการรวมกันใหม่ของแอนติเจนสามารถส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ใหม่และก่อโรคอย่างสูงของไข้หวัดใหญ่มนุษย์

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ใหม่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยการกลายพันธุ์หรือการเข้าชุดยีนใหม่ (reassortment) การกลายพันธุ์สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแอนติเจนฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสบนผิวของไวรัส สิ่งนี้เรียกการเบี่ยงเบนแอนติเจน (antigenic drift) ซึ่งสร้างสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนสายพันธุหนึ่งวิวัฒนาการจนติดเชื้อบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม สายพันธุ์ใหม่นี้จะแทนที่สายพันธุ์เก่าเมื่อสายพันธุ์นั้นกวาดผ่านประชากรมนุษย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดการระบาด อย่างไรก็ดี เนื่องจากสายพันธุ์ที่ผลิตจากการเลื่อนจะยังคล้ายกับสายพันธุ์เก่ากว่าอย่างสมเหตุผล บางคนจึงมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น ในทางตรงข้าม เมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการรวมกันใหม่ จะได้แอนติเจนใหม่ทั้งหมด ตัวอย่างเช่นเมื่อมีการรวมกันใหม่ระหว่างสายพันธุ์นกและสายพันธุ์มนุษย์ สิ่งนี้เรียก การเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) หากไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ผลิตแอนติเจนใหม่ทั้งหมด ทุกคนจะไวรับ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อให้เกิดการระบาดทั่ว ในทางตรงข้ามกับแบบจำลองการระบาดทั่วที่อาศัยการเบี่ยงเบนและการเลื่อนแอนติเจน มีการเสนออีกแนวทางหนึ่งซึ่งการระบาดทั่วเป็นคาบนั้นเกิดจากอันตรกิริยาระหว่างสายพันธุ์ไวรัสบางชุดที่ประชากรมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงชุดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

เวลาชั่วรุ่นสำหรับไข้หวัดใหญ่ (เวลาตั้งแต่การติดเชื้อสองครั้ง)สั้นมาก (2 วัน) จึงอธิบายว่าเหตุใดการระบาดของไข้หวัดใหญ่จึงเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลาสั้น ๆ ไม่กี่เดือน

จากมุมมองของสาธารณสุข การระบาดของไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและควบคุมยากมาก สายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดเชื้อมาก และปัจเจกบุคคลที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อให้แก่ปัจเจกบุคคลอีกหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น (จำนวนการสืบพันธุ์พื้นฐานสำหรับไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1.4) อย่างไรก็ดี เวลาชั่วรุ่นสำหรับไข้หวัดใหญ่สั้นมาก หรือเวลาตั้งแต่บุคคลติดเชื้อจนถึงเมื่อเขาแพร่เชื้อให้แก่บุคคลถัดไป กินเวลาเพียง 2 วัน เวลาชั่วรุ่นที่สั้นนี้หมายความว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปกติสูงสุดที่เวลา 2 เดือนและหมดไปหลัง 3 เดือน จึงต้องรีบตัดสินใจแทรกแซงในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้น และฉะนั้นการตัดสินใจจึงมักตั้งอยู่บนข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ อีกปัญหาหนึ่งคือปัจเจกบุคคลสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ ซึ่งหมายความว่าการกักกันบุคคลหลังมีอาการป่วยไม่ใช่การแทรกแซงทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ สำหรับบุคคลทั่วไป การกระจายไวรัสมักสูงสุดในวันที่ 2 แต่อาการจะสูงสุดในวันที่ 3

ประวัติศาสตร์

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า ไข้หวัดใหญ่ (influenza) มาจากภาษาอิตาลีหมายถึง "อิทธิพล" (influence) และหมายถึงสาเหตุของโรค ซึ่งเดิมทีเชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลทางโหราศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย มีการนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในกลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระหว่างการระบาดทั่วทวีปยุโรป คำโบราณสำหรับไข้หวัดใหญ่เช่น epidemic catarrh, la grippeการป่วยเหงื่อออก (sweating sickness) และ ไข้สเปน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสายพันธุ์การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918)

การระบาดทั่ว

กราฟแสดงการเสียชีวิตต่อ 100,000 ประชากรในแต่ละกลุ่มอายุในสหรัฐระหว่างปี 1911–1917 (เส้นประ) และปีระบาดทั่ว 1918 (เส้นทึบ) แสดงข้อแตกต่างระหว่างการกระจายของอายุเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ระหว่างการระบาดปี 1918 และการระบาดปกติ
กล้องและจอถ่ายภาพความร้อน ซึ่งถ่ายจากอาคารสนามบินในประเทศกรีซระหว่างการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 2009 การถ่ายภาพความร้อนตรวจจับอุณหภูมิกายที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นอาการแสดงหนึ่งของไข้หวัดใหญ่หมู

ฮิปพอคราทีสอธิบายอาการของไข้หวัดใหญ่มนุษย์อย่างชัดเจนเมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน แม้ว่าไวรัสดังกล่าวดูเหมือนก่อให้เกิดการระบาดตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่ตีความได้ยาก เพราะอาการสามารถคล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่นได้ โรคนี้อาจแพร่กระจายจากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาตั้งแต่การทำให้ทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของยุโรป เนื่องจากประชากรพื้นเมืองเกือบทั้งหมดของแอนทิลลิสเสียชีวิตจากการระบาดที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี 1493 หลังคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางถึง

บันทึกที่น่าเชื่อครั้งแรกของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วคือการระบาดในปี 1580 ซึ่งเริ่มต้นในประเทศรัสเซียแล้วกระจายไปทวีปยุโรปผ่านทวีปแอฟริกา ในกรุงโรม มีผู้เสียชีวิตกว่า 8,000 คน และประชากรในนครของสเปนหลายแห่งเสียชีวิตเกือบทั้งหมด การระบาดทั่วดำเนินไปเป็นระยะตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยมีการระบาดทั่วปี 1830–1833 ที่กว้างขวางเป็นพิเศษ ซึ่งติดเชื้อประชากรที่สัมผัสประมาณหนึ่งในสี่

การระบาดครั้งที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 (ไข้หวัดใหญ่สเปน) (ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ประเภทย่อยเอช1เอ็น1) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1918 ถึง 1919 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามียอดผู้เสียชีวิตเท่าใด แต่ค่าประมาณอยู่ระหว่าง 50 ถึง 100 ล้านคน มีการอธิบายการระบาดทั่วนี้ว่าเป็น "ภัยพิบัติทางการแพทย์ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์" และอาจฆ่าคนได้มากเท่าแบล็กเดท ยอดผู้เสียชีวิตสูงขนาดนี้เกิดจากอัตราการติดเชื้อที่สูงอย่างยิ่งมากถึง 50% และอาการรุนแรงสุดขั้ว ที่ไวรับต่อพายุไซโทไคน์ อาการในปี 1918 ผิดปกติเสียจนทีแรกไข้หวัดใหญ่วินิจฉัยผิดเป็นไข้เด็งกี อหิวาตกโรคหรือไทฟอยด์ ผู้สังเกตคนหนึ่งเขียนว่า "ภาวะแทรกซ้อนที่เตะตาที่สุดอย่างหนึ่งคือเลือดออกจากเยื่อเมือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจมูก กระเพาะอาหารและลำไส้ เลือดออกจากหูและจุดเลือดออกในผิวหนังก็พบได้" การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากปอดบวมแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการติดเชื้อทุติยภูมิที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ แต่ไวรัสยังฆ่ามนุษย์โดยตรงได้ โดยทำให้เกิดเลือดออกปริมาณมากและอาการบวมน้ำในปอด

การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 เป็นการระบาดทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยแพร่กระจายไปถึงอาร์กติกและหมู่เกาะแปซิฟิกอันห่างไกล ครั้งนั้นโรคทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตระหว่าง 2 ถึง 20% ตรงข้ามกับอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ระบาดตามปกติ 0.1% ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของการระบาดนี้คือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยการเสียชีวิตจากการะบาดของไข้หวัดใหญ่ 99% เกิดในบุคคลอายุต่ำกว่า 65 ปี และกว่าครึ่งเป็นผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี นับเป็นสิ่งผิดปกติเพราะปกติไข้หวัดใหญ่มีอัตราตายสูงสุดในเด็กอ่อน (อายุต่ำกว่า 2 ปี) และผู้สูงอายุมาก (อายุเกิน 70 ปี) ไม่ทราบอัตราตายของการระบาดปี 1918–1919 แน่ชัด แต่ประเมินว่ามีประชากรโลกเสียชีวิตะระหว่าง 2.5% ถึง 5% ของประชากรโลก ใน 25 สัปดาห์แรก มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม เอชไอวี/เอดส์มีผู้เสียชีวิต 25 ล้านใน 25 ปีแรก

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเวลาต่อมาไม่มีผลทำลายล้างขนาดนั้นแล้ว ซึ่งรวมไข้หวัดใหญ่เอเชียปี 1957 (ชนิดเอ สายพันธุ์เอช2เอ็น2) และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปี 1968 (ชนิดเอ สายพันธุ์เอช3เอ็น2) แต่แม้การระบาดขนาดย่อมกว่านี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนได้ ในการระบาดทั่วต่อมา มียาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อทุติยภูมิ และอาจช่วยลดอัตราตายเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดหลักในมนุษย์ สี่เหลี่ยมทับแสดงการปรากฏสายพันธุ์ใหม่ ทำให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ซ้ำ ๆ เส้นประแสดงการระบุสายพันธุ์ที่ไม่แน่ชัด

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดแรกที่แยกได้มาจากสัตว์ปีก เมื่อในปี 1901 เชื้อก่อโรคชื่อ "กาฬโรคสัตว์ปีก" ผ่านตัวกรองเชมเบอร์แลน ซึ่งมีรูเล็กจนแบคทีเรียผ่านไม่ได้ มีการค้นพบสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ คือไวรัสวงศ์ Orthomyxoviridae ครั้งแรกในหมูโดยริชาร์ด โชปในปี 1931 ไม่นานมีการแยกไวรัสจากมนุษย์โดยกลุ่มที่มีแพทริก เลดลอว์เป็นหัวห้นา ณ สภาวิจัยการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรในปี 1933 อย่างไรก็ตาม กว่าจะเข้าใจสภาพไม่ใช่เซลล์ของไวรัสก็ล่วงมาจนเวนเดล สแตนลีย์ทำให้ไวรัสโมเซกยาสูบเป็นผลึกในปี 1935

ก้าวสำคัญก้าวแรกในการป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนาวัคซีนชนิดไวรัสตายในปี 1944 โดยทอมัส ฟรานซิส จูเนียร์ ซึ่งต่อยอดจากงานของแฟรงก์ แม็กฟาร์ลีน เบอร์เน็ตชาวออสเตรเลีย ผู้แสดงว่าไวรัสเสียศักยภาพก่อโรคเมื่อเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ที่ปฏิสนธิแล้ว การประยุกต์ใช้การสังเกตนี้โดยฟรานซิสทำให้กลุ่มนักวิจัยของเขาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรกด้วยการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐ กองทัพเข้าร่วมการวิจัยนี้เพราะประสบการณ์ไข้หวัดใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกำลังพลหลายพันนายเสียชีวิตจากไวรัสในเวลาไม่กี่เดือน เมื่อเทียบกับวัคซีนแล้ว การพัฒนายาต้านไข้หวัดใหญ่ช้ากว่า โดยมีการจดสิทธิบัตรอะแมนตาดีนในปี 1966 และอีกเกือบสามสิบปีต่อมา กำลังมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ (ตัวยับยั้งนิวรามินิเดส)

ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วที่สำคัญ ๆ ยุคปัจจุบัน
ชื่อ ปี ประชากรโลก ชนิดย่อย Reproduction number คนติด (คนโดยประมาณ) คนตายทั่วโลก (คน) อัตราป่วยตาย ระดับความรุนแรง
ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว
ค.ศ. 1889-1890
1889-1890 1,530 ล้าน น่าจะ H3N8 หรือ H2N2 2.10 (IQR, 1.9-2.4) 20-60% (300-900 ล้าน) 1 ล้าน 0.10-0.28% 2
ไข้หวัดใหญ่สเปน 1918-20 1,800 ล้าน H1N1 1.80 (IQR, 1.47-2.27) 33% (500 ล้าน) หรือ >56% (>1 พันล้าน) 17 - 100 ล้าน 2-3%, หรือ ~4% หรือ ~10% 5
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย 1957-58 2,900 ล้าน H2N2 1.65 (IQR, 1.53-1.70) >17% (>500 ล้าน) 1-4 ล้าน <0.2% 2
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง 1968-69 3,530 ล้าน H3N2 1.80 (IQR, 1.56-1.85) >14% (>500 ล้าน) 1-4 ล้าน <0.2% 2
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 2009-10 6,850 ล้าน H1N1/09 1.46 (IQR, 1.30-1.70) 11-21% (700-1,400 ล้าน) 151,700 - 575,400 0.03% 1
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ทุกปี 7,750 ล้าน A/H3N2, A/H1N1, B, ... 1.28 (IQR, 1.19-1.37) 5-15% (340-1,000 ล้าน)3-11% หรือ 5-20%(240-1,600 ล้าน) 290,000 - 650,000/ปี <0.1% 1
หมายเหตุ

สังคมและวัฒนธรรม

ไข้หวัดใหญ่มีราคาโดยตรงเนื่องจากการเสียผลิตภาพและการรักษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนราคาโดยอ้อมของมาตรการป้องกัน ในสหรัฐ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีประเมินว่าส่งผลให้มีราคาทางเศรษฐกิจต่อปีเฉลี่ยกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาทางการแพทย์ดดยตรงกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีการประเมินว่าการระบาดทั่วในอนาคตอาจทำให้ราคาโดยตรงและโดยอ้อมสูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดทั่วในอดีตอย่างเข้มข้น และผู้ประพันธ์บางคนเสนอว่าไข้หวัดใหญ่สเปนอาจมีผลกระทบระยะยาวเป็นบวกต่อการเติบโตของรายได้ต่อหัว แม้มีการลดลงของประชากรทำงานและผลภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงระยะสั้น การศึกษาอื่นพยายามทำนายราคาของการระบาดทั่วที่รุนแรงเท่ากับไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งคนงาน 30% ป่วย และเสียชีวิต 2.5% อัตราป่วย 30% และการเจ็บป่วยนานสามสัปดาห์จะลดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 5% ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอาจมาจากการรักษษทางการแพทย์ประชากร 18 ถึง 45 ล้านคน จะคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นประมาณ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าป้องกันยังสูงด้วย รัฐบาลทั่วโลกใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเตรียมการและวางแผนการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่นกเอช5เอ็น1 โดยค่าใช้จ่ายที่สัมพันธ์กับการซื้อยาและวัคซีนตลอดจนการพัฒนาการฝึกภัยพิบัติและยุทธศาสตร์สำหรับการควบคุมชายแดนปรับปรุง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2005 ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เปิดยุทธศาสตร์แห่งชาติสำหรับพิทักษ์อันตรายของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว ซึ่งสนับสนุนโดยคำร้องต่อรัฐสภาเป็นเงิน 7.1 พันล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มต้นนำแผนไปปฏิบัติ ในระดับสากล วันที่ 18 มกราคม 2006 ชาติผู้บริจาคให้คำมั่นว่าจะใช้เงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่นกในการประชุมจำนำระหว่างประเทศว่าด้วยไข้หวัดใหญ่นกและมนุษย์ที่จัดในประเทศจีน

ในการประเมินผลการระบาดทั่วของเอช1เอ็น1 ปี 2009 ในบางประเทศซีกโลกใต้ ข้อมูลชี้ว่าทุกประเทศมีผลจำกัดด้วยเวลา และ/หรือ การแยกทางภูมิศาสตร์ ผลทางสังคมและเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวลดลงชั่วคราวอันเนื่องจากความกลัวโรคเอช1เอ็น1 ปี 2009 ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการระบาดทั่วของเอช1เอ็น1 ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว

การวิจัย

นักวิจัยกำลังตรวจสอบการสร้างใหม่ของไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ที่เพาะในห้องปฏิบัติการในสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยชีวภาพระดับ 3

การวิจัยเรื่องไข้หวัดใหญ่รวมการศึกษาวิทยาไวรัสโมเลกุล พยาธิกำเนิด การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของตัวถูกเบียน จีโนมิกส์ไวรัส และวิทยาการระบาด การศึกษาเหล่านี้ช่วยพัฒนามาตรการตอบโต้ไข้หวัดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ดีขึ้นช่วยพัฒนาวัคซีน และภาพรายละเอียดวิธีที่ไข้หวัดใหญ่บุกรุกเซลล์ช่วยพัฒนายาต้านไวรัส โครงการวิจัยพื้นฐานหนึ่ง ได้แก่ โครงการเรียงลำดับจีโนมไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสร้างคลังลำดับไข้หวัดใหญ่ คลังนี้ช่วยทำให้ปัจจัยที่ทำให้สายพันธุ์ไวรัสหนึ่งมีอัตราตายมากกว่าสายพันธุ์อื่นกระจ่างมากขึ้น ยีนใดมีผลต่อการก่อกำเนิดภูมิคุ้มกันมากที่สุด และไวรัสวิวัฒนาการอย่างไรตามเวลา

การวิจัยวัคซีนใหม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะวัคซีนปัจจุบันผลิตได้ช้ามากและมีราคาแพง และจำเป็นต้องมีการปรับสูตรใหม่ทุกปี การเรียงลำดับจีโนมไข้หวัดใหญ่และเทคโนโลยีดีเอ็นเอสายผสมอาจเร่งการก่อกำเนิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทดแทนแอนติเจนใหม่เข้าสู่สายพันธุ์วัคซีนที่พัฒนาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพาะไวรัสในการเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งจะให้ผลมากกว่า ราคาถูกกว่า มีคุณภาพดีกว่า และมีสมรรถนะมากขึ้น การวิจัยเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่เอสากล ซึ่งมุ่งเป้าโดเมนภายนอกของโปรตีนเอ็ม2 ข้ามเยื่อของไวรัส (M2e) อยู่ระหว่างดำเนินการที่มหาวิทยาลัยเกนต์โดยวัลเทอร์ เฟียส์, ซาเวียร์ เซเลนส์และคณะ และปัจจุบันสิ้นสุดการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว มีความสำเร็จในการวิจัยบ้างต่อ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่สากล" ซึ่งผลิตแอนติบอดีต่อโปรตีนที่อยู่บนโค้ตไวรัสซึ่งกลายพันธุ์ช้ากว่า ฉะนั้นวัคซีนเข็มเดียวสามารถให้การป้องกันที่อยู่นานขึ้น

ปัจจุบันกำลังมีการสอบสวนยาชีวภาพ (biologic) วัคซีนรักษาและยาชีวภาพภูมิคุ้มกัน (immunobiologic) สำหรับรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจำนวนหนึ่ง ชีววิทยาการรักษาออกแบบมาให้ปลุกฤทธิ์การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือแอนติเจน ตรงแบบยาชีวภาพไม่มุ่งเป้าวิถีเมแทบอลิซึมอย่างยาต้านไวรัส แต่กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันอย่างเม็ดเลือดขาว แมโครเฟจและ/หรือ เซลล์นำเสนอแอนติเจน (antigen presenting cell) ในความพยายามผลักดันการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อผลมีพิษต่อเซลล์ต่อไวรัส แบบจำลองไข้หวัดใหญ่ อย่างไข้หวัดใหญ่หนู เป็นแบบจำลองที่สะดวกเพื่อทดสอบผลของยาชีวภาพเพื่อป้องกันและรักษาโรค ตัวอย่างเช่น ยาปรับภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวที-เซลล์ (Lymphocyte T-Cell Immune Modulator) ยับยั้งการเจริญของไวรัสในแบบจำลองหนูของไข้หวัดใหญ่

สัตว์อื่น

ไข้หวัดใหญ่ยังมีการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด และการถ่ายโอนสายพันธุ์ไวรัสระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เชื่อว่านกเป็นสัตว์เก็บเชื้อหลักของไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการระบุฮีม็กกลูตินินสิบหกแบบ และนิวรามินิเดสเก้าแบบ พบทุกชนิดย่อย (เอช_เอ็น_) ในนก แต่หลายชนิดย่อยพบประจำในมนุษย์ หมา ม้าและหมู อูฐบางส่วน เฟอร์เร็ต แมว แมวน้ำ มิงก์และวาฬยังแสดงหลักฐานของการติดเชื้อหรือการสัมผัสไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านี้ด้วย ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่าง ๆ บางทีได้ชื่อตามชนิดของสัตว์ที่พบประจำหรือมีการปรับตัว ชนิดหลักที่ได้ชื่อตามธรรมเนียมนี้ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่นก ไข้หวัดใหญ่มนุษย์ ไข้หวัดใหญ่หมู ไข้หวัดใหญ่ม้าและไข้หวัดใหญ่หมา (ปกติไข้หวัดใหญ่แมวหมายถึงเยื่อจมูกและท่อลมอักเสบจากไวรัสในแมว หรือคาลิซิไวรัสแมว และไม่ใช่การติดเชื้อจากไวรัสไข้หวัดใหญ่) ในหมู ม้าและหมา อาการของไข้หวัดใหญ่คล้ายกับมนุษย์ คือมีไอ ไข้และเบื่ออาหาร ความถี่ของโรคสัตว์ยังมีการศึกษาไม่ดีเท่าการติดเชื้อในมนุษย์ แต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในแมวน้ำตามท่าเรือทำให้มีแมวน้ำตายประมาณ 500 ตัวนอกชายฝั่งนิวอิงแลนด์ในปี 1979–1980 อย่างไรก็ดี การระบาดในหมูพบทั่วไปและไม่ก่อให้เกิดการตายรุนแรง ยังมีการวัคซีนเพื่อป้องกันสัตว์ปีกจากไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก วัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิภาพต่อไวรัสหลายสายพันธุ์ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ป้องกัน หรือรวมกับการฆ่าสัตว์ (culling) เพื่อพยายามกำจัดการระบาด

ไข้หวัดใหญ่นก

อาการไข้หวัดใหญ่ในนกมีหลากหลายและอาจไม่จำเพาะ อาการตามหลังการติดเชื้อด้วยไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกที่มีความสามารถก่อโรคต่ำอาจไม่รุนแรงอย่างขนฟู ผลิตไข่ลดลงเล็กน้อย หรือน้ำหนักลดร่วมกับโรคทางเดินหายใจเล็กน้อย เนื่องจากอาการเบา ๆ เหล่านี้อาจทำให้การวินิจฉัยในสนามทำได้ยาก การติดตามการระบาดของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกจึงต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการซึ่งตัวอย่างจากนกที่ติดเชื้อ บางสายพันธุ์อย่างเอช9เอ็น2 ในเอเชียมีศักยภาพก่อโรคสูงต่อสัตว์ปีก และอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงและการตายสูง ในรูปที่ก่อโรคสูงสุด ไข้หวัดใหญ่ในไก่และไก่งวงทำให้มีอาการรุนแรงที่ปรากฏเฉียบพลันและอัตราตายเกือบ 100% ภายในสองวัน เมื่อไวรัสแพร่อย่างรวดเร็วในภาวะแออัดที่พบในการทำฟาร์มไก่และไก่งวงแบบเข้มข้น การระบาดเหล่านี้ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อเกษตรกรสัตว์ปีก

สายพันธุ์ก่อโรคสูงและปรับตัวในสัตว์ปีกเอช5เอ็น1 (เรียก HPAI A(H5N1) ย่อมาจาก "ไวรัสไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกก่อโรคสูงชนิดเอ ชนิดย่อยเอช5เอ็น1") ก่อโรคไข้หวัดใหญ่เอช5เอ็น1 หรือเรียกทั่วไปว่า "ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก" หรือลำลองว่า "ไข้หวัดนก" พบประจำถิ่นในประชากรนกหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์ HPAI A(H5N1) เชื้อสายเอเชียนี้กระจายไปทั่วโลก เป็นโรคระบาดในสัตว์และโรคระบาดทั่วในสัตว์ ทำให้มีนกตายหลายสิบล้านตัว และทำให้เกิดการฆ่านกอื่นหลายร้อยล้านตัวเพื่อพยายามควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส การพาดพิงในสื่อถึง "ไข้หวัดนก" ส่วนมากและการพาดพิงส่วนใหญ่ถึงเอช5เอ็น1 ก็เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ

ปัจจุบัน HPAI A(H5N1) เป็นโรคสัตว์ปีกและไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ของ HPAI A(H5N1) อย่างมีประสิทธิภาพ ในผู้ป่วยเกือบทั้งหมดล้วนมีการสัมผัสทางกายอย่างมากต่อนกที่ป่วย ในอนาคต เอช5เอ็น1 อาจกลายพันธุ์หรือรวมกันใหม่เป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ การเปลี่ยนแปลงแน่ชัดที่จำเป็นต่อการเกิดเหตุการณ์ดังนี้ยังไม่เข้าใจดีนัก อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราตายสูงและศักยภาพก่อโรคของเอช5เอ็น1 การมีการระบาด และตัวถูกเบียนเก็บเชื้อชีวภาพที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไวรัสเอช5เอ็น1 จึงเป็นภัยคุกคามโรคระบาดทั่วระหว่างฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ปี 2006–07 และมีการระดมเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐและใช้จ่ายเพื่อวิจัยเอช5เอ็น1 และการเตรียมการสำหรับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น

ผู้ตรวจชาวจีนบนเครื่องบินกำลังตรวจสอบผู้โดยสารหาไข้ ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของไข้หวัดใหญ่หมู

ในเดือนมีนาคม 2013 รัฐบาลจีนรายงานการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เอช7เอ็น9 ในมนุษย์ 3 ราย ในจำนวนนี้สองคนเสียชีวิตและคนที่สามป่วยวิกฤต แม้ไม่เชื่อว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่กระจายอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เมื่อถึงกลางเดือนเมษายน มีบุคคลอย่างน้อย 82 คนป่วยจากเอช7เอ็น9 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 17 คน ผู้ป่วยเหล่านี้ได้แก่กลุ่มครอบครัวขนาดเล็กสามกลุ่มในเซี่ยงไฮ้และหนึ่งกลุ่มระหว่างเด็กหญิงและชายที่เป็นเพื่อนบ้านกันในกรุงปักกิ่ง ทำให้มีข้อสงสัยความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ องค์การอนามัยโลกชี้ว่ากลุ่มหนึ่งมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยืนยันทางห้องปฏิบัติการสองคน และชี้ว่าไวรัสบางชนิดสามารถก่อให้เกิดการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ภายใต้ภาวะการสัมผัสใกล้ชิด แต่ไม่แพร่เชื้อมากพอก่อให้เกิดการระบาดในชุมชนขนาดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่หมู

ในหมู ไข้หวัดใหญ่หมูก่ออาการไข้ เซื่องซึม จาม ไอ หายใจลำบากและเบื่ออาหาร ในบางกรณีการติดเชื้อสามารถทำให้แท้งได้ แม้อัตราตายตามปกติต่ำ แต่ไวรัสสามารถทำให้น้ำหนักลดและเติบโตไม่ดีได้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกร หมูที่ติดเชื้ออาจมีน้ำหนักตัวลดลงมากถึง 12 ปอนด์ในระยะเวลา 3 ถึง 4 สัปดาห์ การแพร่เชื้อโดยตรงของไวรัสไข้หวัดใหญ่จากหมูสู่มนุษย์เป็นไปได้บางครั้ง (เรียกว่าไข้หวัดใหญ่หมูรับจากสัตว์) ทั้งหมดแล้ว ทราบกันว่าเกิดผู้ป่วยมนุษย์ 50 คนนับแต่มีการระบุไวรัสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 6 คน

ในปี 2009 สายพันธุ์ไวรัสเอช1เอ็น1 ที่มีกำเนิดจากหมูที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ไข้หวัดใหญ่หมู" นั้นก่อให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ไม่มีหลักฐานว่าไวรัสพบเฉพาะในหมู หรือเป็นการแพร่เชื้อจากหมูสู่มนุษย์ แต่ไวรัสนั้นแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ สายพันธุนี้เป็นการรวมกันใหม่ของเอช1เอ็น1 ที่ปกติพบแยกกัน ในมนุษย์ นกและหมู

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение