Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

เบวาซิซูแมบ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
เบวาซิซูแมบ
โมโนโคลนอล แอนติบอดี
ประเภท Whole antibody
แหล่งที่มา Humanized (from mouse)
เป้าหมาย VEGF-A
ข้อมูลทางคลินิก
การอ่านออกเสียง /bɛvəˈsɪzjmæb/
ชื่อทางการค้า Avastin, อื่น ๆ
AHFS/Drugs.com Bevacizumab
ข้อมูลทะเบียนยา
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
  • AU: D
  • US: N (ยังไมได้จำแนก)
ช่องทางการรับยา ในหลอดเลือดดำ
รหัส ATC
กฏหมาย
สถานะตามกฏหมาย
  • US: ℞-only
  • In general: ℞ (Prescription only)
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์
ชีวประสิทธิผล 100% (ในหลอดเลือดดำ)
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ 20 วัน (ระหว่าง 11-50 วัน)
ตัวบ่งชี้
เลขทะเบียน CAS
DrugBank
UNII
KEGG
ChEMBL
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี
สูตร C6638H10160N1720O2108S44
มวลต่อโมล 149,196.82 g/mol
 X mark.svg 7Yes check.svg 7 (what is this?)  (verify)
Pharmaklog.png สารานุกรมเภสัชกรรม

เบวาซิซูแมบ (อังกฤษ: Bevacizumab, /bɛvəˈsɪzjmæb/) ที่วางตลาดในชื่อการค้า Avastin เป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งบางอย่างและโรคตาอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ สำหรับมะเร็ง ยาจะถูกปล่อยเข้าเส้นเลือดดำอย่างช้า ๆ เพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งปอด, มะเร็งสมอง (glioblastoma), และมะเร็งเซลล์ไต (renal cell carcinoma) สำหรับรักษาจุดภาพชัดเสื่อมเนื่องกับอายุ (AMD) ใช้การฉีดเข้าในตา

ผลข้างเคียงสามัญเมื่อใช้รักษามะเร็งรวมทั้งเลือดกำเดาไหล ปวดหัว ความดันโลหิตสูง และผื่น ผลข้างเคียงรุนแรงรวมทั้งทางเดินอาหารทะลุ (gastrointestinal perforation) เลือดออก แพ้ ลิ่มเลือด และความเสี่ยงติดเชื้อสูงขึ้น เมื่อใช้รักษาตา ผลข้างเคียงรวมทั้งการเสียการเห็นและจอตาลอก เบวาซิซูแมบ อยู่ในหมู่ยายับยั้งกำเนิดหลอดเลือด (angiogenesis inhibitor) และสารภูมิต้านทานโมโนโคลน (monoclonal antibody) มันทำงานโดยชะลอการเกิด/การเติบโตของเส้นเลือด

เบวาซิซูแมบ อนุมัติให้ใช้รักษาในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2547 เป็นยาอย่างหนึ่งในรายการยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก คือเป็นยาที่มีประสิทธิผลและปลอดภัยที่สุดและจำเป็นในระบบสาธารณสุข โดยติดรายการเพราะใช้รักษาโรคตา ในประเทศกำลังพัฒนา ราคาขายส่งของยาอยู่ที่ 638.54 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,741 บาท) ต่อขวดในปี พ.ศ. 2557 โดยขวดขนาดเดียวกัน ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักร (NHS) ต้องจ่าย 242.66 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 12,700 บาท)

การแพทย์

มะเร็งลำไส้ใหญ่

องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้เป็นยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายแล้ว โดยใช้ร่วมกับเคมีบำบัดปกติ ซึ่งเป็นการรักษาลำดับแรก หรือโดยใช้กับยา 5-fluorouracil ซึ่งเป็นการรักษาลำดับสอง

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 องค์กรยายุโรป (EMA) จึงอนุมัติให้ใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ยายังได้ตรวจสอบเพื่อใช้เสริมยาเคมีบำบัดอื่น ๆ ในคนไข้มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ยังไม่แพร่กระจาย แต่งานศึกษาที่ทำแบบสุ่มสองงานแสดงว่า ไม่มีประโยชน์เพื่อป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาและอาจมีโทษสำหรับคนไข้กรณีนี้

มะเร็งปอด

ในปี พ.ศ. 2549 องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้เป็นยารักษามะเร็งปอดแบบ nonsquamous non-small-cell lung carcinoma เป็นลำดับแรกโดยใช้ร่วมกับเคมีบำบัดที่ใช้ยา carboplatin หรือ paclitaxel การอนุมัติอาศัยงานศึกษาสำคัญที่เรียกว่า E4599 (ซึ่งทำโดย Eastern Cooperative Oncology Group) ซึ่งแสดงการรอดชีวิตโดยรวม (overall survival) ได้นานขึ้นสองเดือนสำหรับคนไข้ที่รักษาด้วยยา การวิเคราะห์ทางวิทยาเนื้อเยื่อที่วางแผนล่วงหน้าใน E4599 แสดงการรอดชีวิตได้นานขึ้น 4 เดือนโดยมัธยฐาน สำหรับคนไข้มะเร็งชนิดต่อม ซึ่งเป็นในกรณีคนไข้ 85% ของมะเร็งปอดกลุ่ม non-squamous cell carcinoma

การทดลองทางคลินิกของยุโรป คือ AVAiL ต่อมารายงานในปี พ.ศ. 2552 ยืนยันช่วงการมีชีวิตที่โรคไม่ก้าวหน้านานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหมือนที่พบใน E4599 แต่การรอดชีวิตโดยรวมไม่นานขึ้นเมื่อรักษาด้วยยา ซึ่งอาจเป็นเพราะการใช้ยาที่จำกัดกว่าในการรักษาแบบธำรงสภาพ (maintenance) ใน AVAiL เมื่อเทียบกับ E4599 ผลแตกต่างเช่นนี้ก็พบในคนไข้มะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย ในฐานเป็นยายับยั้งกำเนิดหลอดเลือด ไม่มีเหตุผลเนื่องกับกลไกของยาเพื่อยุติการใช้ยาก่อนโรคจะแย่ลงอีก กล่าวอีกอย่างก็คือ ประโยชน์คือการรอดชีวิตที่ได้จากการใช้ยา จะหวังได้ก็ต่อเมื่อใช้ตามหลักฐานทางคลินิกคือ ให้ใช้ยาจนกระทั่งโรคแย่ลงหรือมีผลข้างเคียงที่ยอมรับไม่ได้

งานทดลองทางคลินิกของยุโรปในการใช้ยารักษามะเร็งปอด คือ AVAPERL ได้รายงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 คนไข้ได้รักษาด้วย เบวาซิซูแมบ ร่วมกับยา cisplatin/pemetrexed 4 รอบ แล้วจัดเข้ากลุ่มต่าง ๆ โดยสุ่มเพื่อรักษาแบบธำรงสภาพ (maintenance) ด้วยยา bevacizumab/pemetrexed หรือด้วย เบวาซิซูแมบ อย่างเดียวจนกระทั่งโรคแย่ลงอีก การรักษาธำรงสภาพด้วย bevacizumab/pemetrexed ลดความเสี่ยงโรคแย่ลงถึง 50% เทียบกับเมื่อใช้ เบวาซิซูแมบ อย่างเดียว (ค่ามัธยฐานของช่วงการมีชีวิตที่โรคคงสภาพ 10.2 เดือนเทียบกับ 6.6 เดือน) แต่ก็ไม่ได้เพิ่มการรอดชีวิตโดยรวมอย่างสำคัญเทียบกับเมื่อใช้ เบวาซิซูแมบ เดี่ยว ๆ เมื่อวิเคราะห์ติดตามผล

เครือข่ายศูนย์มะเร็งแห่งชาติสหรัฐ (National Comprehensive Cancer Network) แนะนำให้ใช้ยา เบวาซิซูแมบ เป็นการรักษาลำดับแรกบวกกับเคมีบำบัดมาตรฐานอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วตามด้วยการรักษาธำรงสภาพด้วยยาจนกว่าอาการจะแย่ลง โดยให้ยาในขนาดสูงกว่าเมื่อใช้เคมีบำบัดที่อาศัยยา carboplatin เทียบกับเมื่อให้เคมีบำบัดที่อาศัยยา cisplatin

ในมะเร็งปอดระยะปลาย คนไข้น้อยกว่าครึ่งจะผ่านเกณฑ์เพื่อรักษา

มะเร็งเต้านม

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 องค์การอาหารและยาสหรัฐได้แจ้งความตั้งใจถอนข้อบ่งใช้ยาในการรักษามะเร็งเต้านม (ซึ่งอนุมัติในปี พ.ศ. 2551) โดยอ้างว่า ไม่ปรากฏว่าปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลสำหรับคนไข้ คือ ข้อมูลรวมกันจากการทดลองทางคลินิกต่าง ๆ กัน 4 งานแสดงว่า ยาไม่ได้ทำให้รอดชีวิตโดยรวมได้นานขึ้น และไม่ได้ชะลออาการพอเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดแก่คนไข้ การถอนอนุมัตินี้มีผลให้บริษัทไม่สามารถโฆษณาขายยาเพื่อรักษามะเร็งเต้านมเท่านั้น และแพทย์ก็ยังสามารถให้ยานอกเหนือจากข้อบ่งใช้ แต่บริษัทประกันสุขภาพก็มีโอกาสน้อยลงในการจ่ายค่ายาที่ใช้นอกข้อบ่งใช้

ต่อมาเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 คณะกรรมการขององค์กรก็ได้ปฏิเสธการอุทธรณ์ของบริษัทเจ้าของยาอย่างเป็นเอกฉันท์ คือ คณะผู้ชำนาญการในเรื่องมะเร็งได้ตัดสินเป็นครั้งที่สองว่า Avastin (เบวาซิซูแมบ) ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งที่ขายดีเป็นอันดับสองของโลก ไม่ควรใช้ต่อไปในคนไข้มะเร็งเต้านม เป็นการกำจัดอุปสรรคให้รัฐบาลสหรัฐถอนอนุมัติของยา การประชุมนี้เป็นการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัทเป็นขั้นสุดท้าย คณะผู้ชำนาญการได้สรุปว่า งานทดลองทางคลินิกของมะเร็งเต้านมที่ให้ยา Avastin แก่คนไข้ไม่แสดงประโยชน์ในอัตราการรอดชีวิต ไม่ทำคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเกิดผลข้างเคียงอย่างสำคัญ อย่างไรก็ดี กลุ่มสนับสนุนคนไข้ต่าง ๆ ก็รู้สึกผิดหวังในการตัดสินใจของคณะ

ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 องค์กรจึงได้ประกาศว่าได้ถอนการอนุมัติการบ่งใช้ในโรคมะเร็งเต้านมของยา โดยสรุปว่าไม่มีหลักฐานว่ายาปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลเพื่อข้อบ่งใช้นี้

มะเร็งไต

ในมะเร็งไตบางอย่าง ยาช่วยทำให้มีช่วงชีวิตที่โรคคงสภาพนานขึ้น แต่ไม่ช่วยให้รอดชีวิตได้นานขึ้น ในปี พ.ศ. 2552 องค์กรอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งเซลล์ไต (renal cell cancer) ที่แพร่กระจายแล้ว หลังจากได้รายงานที่แสดงว่ามีฤทธิ์สหภาพยุโรปก็ให้อนุมัติในปี พ.ศ. 2550

มะเร็งสมอง

ยาชะลอการเติบโตของเนื้องอกแต่ไม่มีผลให้รอดชีวิตได้นานขึ้นในคนไข้มะเร็งแบบ glioblastoma multiforme องค์การอาหารและยาสหรัฐได้ให้อนุมัติเพื่อรักษาโรคนี้แบบกลับเป็นซ้ำในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 แต่งานปริทัศน์แบบคอเครนปี พ.ศ. 2557 ก็อ้างว่า ไม่มีหลักฐานพอเพื่อใช้รักษาการกลับเป็นซ้ำ

โรคตา

โรคตาหลายชนิด เช่น จุดภาพชัดเสื่อมเนื่องกับอายุ (AMD) และโรคจอตาเหตุเบาหวาน ทำจอตาให้เสียหายและเป็นเหตุให้ตาบอด เมื่อเส้นเลือดรอบ ๆ จอตางอกอย่างผิดปกติแล้วปล่อยให้น้ำซึมออก ทำให้ชั้นต่าง ๆ ของจอตาแยกออกจากกัน การงอกผิดปกติเช่นนี้มีเหตุจากแฟกเตอร์โปรโมตการเติบโตของเส้นเลือด คือ vascular endothelial growth factor (VEGF) และแพทย์ได้ใช้ เบวาซิซูแมบ เพื่อยับยั้ง VEGF และชะลอการงอกของเส้นเลือด

จักษุแพทย์ได้ใช้ยานี้แบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label) โดยเป็นยาฉีดเข้าในวุ้นตาเพื่อรักษาโรคตาที่งอกเส้นเลือดใหม่ โดยเฉพาะที่เส้นเลือดงอกในชั้นคอรอยด์ของจอตา (CNV) ใน AMD แม้องค์กรอาหารและยาสหรัฐยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้อย่างนี้ การฉีดยาประมาณ 1.25-2.5 มก. เข้าที่ช่องวุ้นตาก็ไม่ก่อพิษภายในตาอย่างสำคัญ แพทย์เฉพาะทางในเรื่องจอตาได้เห็นผลที่น่าทึ่งในการรักษา CNV, โรคจอตาเหตุเบาหวาน, ต้อหินแบบเส้นเลือดใหม่งอก (neovascular glaucoma), จุดภาพชัดบวมเหตุเบาหวาน (diabetic macular edema), โรคจอตาของทารกคลอดก่อนกำหนด (retinopathy of prematurity) และจุดภาพชัดบวม (macular edema) ซึ่งเป็นอาการทุติยภูมิของการอุดตันของเส้นเลือดดำในจอตา (retinal vein occlusion)

งานทบทวนบางงานได้สรุปว่า ผลที่ได้จากยา เบวาซิซูแมบ และ ranibizumab คล้ายกัน แต่งานอื่น ๆ ก็แสดงผลไม่พึงประสงค์ในอัตราที่สูงกว่า เช่น ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดเมื่อใช้ เบวาซิซูแมบ หรือไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากมีข้อมูลจำกัด

ในเรื่องความปลอดภัยของยานี้ ประเด็นที่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษเมื่อใช้รักษาโรคจุดภาพชัดจอตา ก็คืออาจเกิดการปนเปื้อนหรือติดเชื้อเมื่อแบ่งบรรจุและเก็บยาก่อนที่จะนำไปฉีดให้ผู้ป่วย ผศ.นพ.ธนภัทร รัตนภากร จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อธิบายในส่วนนี้ว่า “ต้องมีการแบ่งยา เบวาซิซูแมบ จากปริมาณบรรจุ 4 ซีซี เพื่อใช้ประมาณ 0.05 ซีซีต่อครั้ง ขั้นตอนหลังจากนั้นจะมีการเก็บยาไว้ เมื่อใดก็ตามที่ต้องมีหลายกระบวนการก่อนที่จะฉีดเข้าตา โอกาสปนเปื้อนในแต่ละจุดจึงเกิดได้ รวมทั้งการเก็บยาไว้นานเกินไป เก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ล้วนแต่อาจจะมีข้อบกพร่องซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อเทียบกับยาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการฉีดเข้าตาโดยไม่ต้องแบ่ง” ทั้งนี้ สำหรับยา ranibizumab เอง ก็ต้องดูดเข้าเข็มฉีดยาก่อนฉีดให้แก่คนไข้เหมือนกัน หากไม่มีระบบฆ่าเชื้อที่ดีก็อาจปนเปื้อนได้เช่นกัน แต่อาจเกิดน้อยกว่าเพราะไม่ต้องแบ่งยา

มะเร็งรังไข่

ในปี พ.ศ. 2561 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ให้การรับรอง เบวาซิซูแมบ ร่วมกับเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งรังไข่ระยะที่สาม หรือสี่ หลังจากการผ่าตัดครั้งแรก ตามด้วยการให้ เบวาซิซูแมบ อย่างเดียว การอนุมัติมีพื้นฐานจากการศึกษาการเพิ่ม เบวาซิซูแมบ ในการให้ยา carboplatin และ paclitaxel การอยู่รอดแบบไม่มีการลุกลามของโรคเพิ่มขึ้นจาก 13 เดือนเป็น 18 เดือน

การให้ยา

เบวาซิซูแมบ ปกติจะให้ทางเส้นเลือดดำทุก ๆ 14 วัน ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด คือ 5-FU (5-fluorouracil), leucovorin, และ oxaliplatin/irinotecan สำหรับโรคตา มันจะฉีดเข้าที่ช่องวุ้นตา (intravitreous)

ผลไม่พึงประสงค์

ยาระงับการงอกของเส้นเลือด ซึ่งเป็นการขัดขวางการบำรุงรักษาร่างกายอย่างหนึ่ง เพราะร่างกายงอกเส้นเลือดใหม่เพื่อสมานแผล และสร้างเส้นเลือดเบี่ยง (collateral circulation) รอบหลอดเลือดที่อุดตันหรือแข็ง ดังนั้น จึงสร้างความเป็นห่วงว่า ยาจะกวนกระบวนการธรรมชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้อาการต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease) หรือโรคหลอดเลือดตีบนอกหัวใจและสมอง (peripheral artery disease) แย่ลง

ผลข้างเคียงหลัก ๆ ของยาก็คือ ความดันโลหิตสูงและความเสี่ยงตกเลือดที่สูงขึ้น มีรายงานเกี่ยวกับลำไส้ทะลุ (bowel perforation)ความล้าและการติดเชื้อก็สามัญด้วย

ผนังกั้นโพรงจมูกทะลุและหลอดเลือดฝอยมีลิ่มเลือด (thrombotic microangiopathy) ก็มีรายงาน ในเดือน 2010 องค์การอาหารและยาสหรัฐประกาศเตือนถึงความเสี่ยงการเกิดช่องทะลุในร่างกาย รวมทั้งจมูก กระเพาะอาหาร และลำไส้

ในปี พ.ศ. 2556 บริษัท Hoffmann-La Roche ประกาศว่า ยาสัมพันธ์กับกรณี necrotizing fasciitis (พังผืดอักเสบตายเฉพาะส่วน) 52 รายระหว่างปี พ.ศ. 2540-2555 โดยคนไข้ 17 คนได้เสียชีวิต โดย 2 ใน 3 เป็นคนไข้ที่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือคนไข้ที่ทางเดินอาหารทะลุ (gastrointestinal perforation) หรือมีช่องทะลุ (fistula)

ผลเหล่านี้ไม่มีเมื่อใช้รักษาตา เนื่องจากยาฉีดเข้าในตาซึ่งทำให้เกิดผลต่อร่างกายส่วนอื่นน้อย

ผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ทางประสาทรวมทั้ง posterior reversible encephalopathy syndrome (PRES) ซึ่งมีอาการปวดหัว, สับสน, ชัก และการเสียการเห็น โรคหลอดเลือดสมองแบบอุดตันหรือแบบตกเลือดก็เป็นไปได้เช่นกัน

กลไกการทำงาน

เบวาซิซูแมบ เป็นสารภูมิต้านทานโมโนโคลน ซึ่งห้ามการเกิดเส้นลือดโดยยับยั้งแฟกเตอร์คือ vascular endothelial growth factor A (VEGF-A) VEGF-A เป็น growth factor ที่กระตุ้นให้เกิดเส้นเลือดในโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็ง ยาเป็นสารยับยั้งการเกิดเส้นเลือด (angiogenesis inhibitor) แรกในสหรัฐอเมริกา

เคมี

เบวาซิซูแมบ ดั้งเดิมได้มาจากสารภูมิต้านทานโมโนโคลน (monoclonal antibody) ของหนูที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อ 165-residue-form of recombinant human vascular endothelial growth factor (rhu VEGF165) แล้วจึงทำเป็นของมนุษย์โดยเก็บส่วน binding region ของสารภูมิต้านทานในขณะที่แทนส่วนที่เหลือด้วยส่วน light chain และ truncated IgG1 heavy chain ของมนุษย์ โดยยังมีการทดแทนด้วยส่วนอื่น ๆ ด้วย พลาสมิดที่เป็นผลผลิตจะใส่เข้าในเซลล์รังไข่ของแฮมสเตอร์จีน (Chinese Hamster Ovary cell) ผ่านกระบวนการ transfection แล้วผลิตโดยใช้ระบบการหมักเชิงอุตสาหกรรม

ประวัติ

ยาเป็นสารภูมิต้านทานลูกผสมจากโคลนของเซลล์เดียวที่ในปี พ.ศ. 2547 ได้ใช้ระงับการเกิดเส้นเลือดเป็นยาแรก พัฒนาการของมันอาศัยการค้นพบแฟกเตอร์ คือ vascular endothelial growth factor (VEGF) ในมนุษย์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่กระตุ้นการงอกของเส้นเลือด เป็นการค้นพบของแพทย์นักชีววิทยาของบริษัท Genentech คือ ศ. นพ. Napoleone Ferrara ซึ่งต่อมาเขาได้แสดงว่า สารภูมิต้านทานต่อต้าน VEGF จะระงับการเจริญเติบโตของเนื้องอกในหนู งานของเขายืนยันสมมติฐานของแพทย์อีกคนหนึ่งที่เสนอในปี พ.ศ. 2514 ว่า การระงับกำเนิดเส้นเลือดอาจมีผลควบคุมการเจริญเติบโตของมะเร็ง

การอนุมัติ

ยาได้รับอนุมัติเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2547 ให้ใช้ร่วมกับเคมีบำบัดมาตรฐานเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายตัวแล้ว ต่อจากนั้นก็ได้รับอนุมัติเพื่อรักษามะเร็งปอดบางชนิด มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ และมะเร็งสมองประเภท glioblastoma multiforme

ในปี พ.ศ. 2551 องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งเต้านม แต่ก็ได้ถอนการอนุมัติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เพราะแม้จะมีหลักฐานว่า ยาชะลอการแย่ลงของมะเร็งเต้านมที่กระจายตัวแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่า ยาทำให้รอดชีวิตได้นานขึ้น หรือเพิ่มคุณภาพชีวิต แต่มีผลไม่พึงประสงค์รวมทั้งความดันโลหิตสูงและการตกเลือด

จากความจริงเช่นนั้น ในปี พ.ศ. 2551 องค์กรได้ให้การอนุมัติแบบมีข้อแม้ คือต้องมีการศึกษาเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นการอนุมัติที่คณะผู้ชำนาญการแนะนำว่า ไม่ควรให้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 หลังจากที่งานศึกษาไม่พบประโยชน์ที่สำคัญ คณะผู้ชำนาญการจึงแนะนำไม่ให้ใช้ยารักษามะเร็งเต้านมขั้นปลาย บริษัทจึงร้องให้มีการฟังคำชี้แจง ซึ่งได้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 แล้วต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 องค์กรจึงได้ถอนอนุมัติเพื่อให้รักษามะเร็งเต้านม เป็นการอนุมัติที่บริษัทต้องมีเพื่อจะวางตลาดขายยาสำหรับข้อบ่งชี้นั้น แม้แพทย์ก็ยังสามารถให้ยานี้สำหรับโรคนี้แก่คนไข้ แต่บริษัทประกันสุขภาพมีโอกาสคุ้มครองจ่ายค่ายาให้น้อยลง

ถึงกระนั้น ยาก็ยังได้อนุมัติให้ใช้ในข้อบ่งชี้นี้ในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งออสเตรเลีย เป็นยาที่กองทุนยามะเร็ง (CDF) ในสหราชอาณาจักรจ่ายให้ แต่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ก็มีการเสนอให้ลบออกจากรายการอนุมัติขององค์กร

สังคมและวัฒนธรรม

ราคา

ในประเทศที่มีประกันสุขภาพแห่งชาติ (เช่น ในสหราชอาณาจักรและแคนาดา) องค์กรมักจะจำกัดการใช้ยานี้ เนื่องกับการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร องค์กรของรัฐคือ National Institute for Health and Care Excellence มีจุดยืนว่า ยาไม่ควรจ่ายโดยประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHS) เพราะมีค่าใช้จ่ายถึง £21,000 ต่อคนไข้ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) แต่มีประโยชน์เพียงแค่เล็กน้อยสำหรับมะเร็งแบบต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2549 องค์กรของรัฐ Scottish Medicines Consortium แนะนำไม่ให้ NHS จ่ายยาสำหรับรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงโดยเป็นการรักษาอันดับแรก เพราะมีค่าใช้จ่ายประเมินระหว่าง £24,000-£93,000 (1.2-4.6 ล้านบาท) ต่อปีโดยปรับด้วยคุณภาพชีวิต (QALY)

การให้ยาเพิ่มบวกกับการรักษามาตรฐานสามารถทำให้คนไข้มะเร็งเต้านมและมะเร็งปอดมีชีวิตนานขึ้นหลายเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายที่ 100,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.8 ล้านบาท) ต่อปีในสหรัฐอเมริกา สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ งานศึกษาเบื้องต้นที่พิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์รายงานว่า เบวาซิซูแมบ ยืดอายุคนไข้ได้ 4.7 เดือน (คือ 20.3 เดือน เทียบกับ 15.6 เดือน) โดยมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 42,800-55,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.8-2.2 ล้านบาท) แต่ค่าใช้จ่ายในประเทศอื่น ๆ ก็ต่างกันไป มีรายงานว่าในแคนาดา มันมีค่าใช้จ่าย 40,000 เหรียญแคนาดา (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) ต่อปี

ยาพิเศษ (สหรัฐอเมริกา)

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557 บริษัท Genentech ได้เปลี่ยนหมวดยาที่อนุญาตตามกฎหมายให้เป็น ยาพิเศษ (specialty drug) ซึ่งขายเฉพาะในร้านเภสัชพิเศษ โดน "ยาพิเศษปกติจะอยู่ใต้การควบคุมของ FDA’s Risk Evaluation and Mitigation Strategy (REMS) program ซึ่งตั้งขึ้นสำหรับสารประกอบต่าง ๆ เช่น เทสโทสเตอโรน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงพิเศษ หรือยาที่แพงเป็นพิเศษ" ซึ่งสร้างปัญหาแก่โรงพยาบาลเพราะราคายาเพิ่มขึ้น ตามบริษัท IMS Health ราคายาโดยเฉลี่ยที่โรงพยาบาลเรียกเก็บจากคนไข้ตกประมาณ 9,000 เหรียญสหรัฐ (308,000 บาท) เทียบกับ 2,300 เหรียญ (79,000 บาท) เมื่อทำในคลินิก โดยเป็นผลของการจัดจำหน่ายที่อนุญาตตามกฎหมายใหม่เช่นนี้ โรงพยาบาลจำนวนมากจึงไม่มีสิทธิ์ได้ส่วนลด 51% จากราคาขายส่งเฉลี่ยที่บังคับด้วยกฎหมาย Affordable Healthcare Act เมื่อจัดจำหน่ายแบบเดิม

จุดภาพชัดเสื่อม

เมื่อใช้ยา bevacizumab รักษาจุดภาพชัดเสื่อมแบบเปียก (wet age-related macular degeneration, wet AMD) ขนาดที่ให้จะน้อยและมีราคาไม่แพง เทียบกับขนาดที่ต้องใช้เพื่อมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งอื่น ๆ มีผู้ตรวจสอบหลายรายได้รายงานในปี พ.ศ. 2553 ว่า ยาที่ราคาราว ๆ 42 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,300 บาท) มีประสิทธิผลเท่ากับยา ranibizumab ซึ่งมีราคา 1,593 เหรียญ (ราว 50,500 บาท) โดยในประเทศไทยมีราคาประมาณ 500-1,000 บาท และ 45,481-50,092 บาทในปี พ.ศ. 2560 ตามลำดับ

โดยเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 มีการถกเถียงอย่างเข้มข้นในสหราชอาณาจักรและประเทศยุโรปอื่น ๆ เกี่ยวกับการเลือกให้ยา เบวาซิซูแมบ (Avastin) หรือ ranibizumab (Lucentis) เพื่อรักษา wet AMD ในสหราชอาณาจักร ปัญหาก็คือ ในฝ่ายหนึ่งคือ องค์กรยายุโรป (European Medicines Agency) และองค์กรควบคุมยาของสหราชอาณาจักร (Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency) ได้อนุมัติให้ใช้ ranibizumab เพื่อรักษา wet AMD แต่ไม่ได้อนุมัติ เบวาซิซูแมบ และองค์กรต้องการให้แพทย์ไม่ใช้ยาที่ไม่ได้อนุมัติเมื่อมียาอื่นที่ได้รับอนุมัติ และในอีกฝ่ายหนึ่ง องค์กรของรัฐคือ National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ซึ่งเป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษา ยังไม่สามารถประเมิน เบวาซิซูแมบ เป็นการรักษาลำดับต้น เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมงบประมาณขององค์กรประกันสุขภาพของรัฐ คือ National Health Service ทั้งบริษัท Novartis และ Roche ซึ่งเป็นบริษัทวางตลาดและบริษัทเจ้าของสำหรับ Avastin ตามลำดับ ยังไม่ได้ทำการทดลองทางคลินิกเพื่อให้ได้อนุมัติใช้ยา Avastin เพื่อรักษา wet AMD และไม่มีแผนเพื่อทำเช่นนั้น อนึ่ง ทั้งสองบริษัทวิ่งเต้นไม่ให้ออกแนวทางการรักษาเพื่อใช้ Avastin เป็นการรักษาลำดับแรก และถ้ามีงานศึกษาโดยทุนจากรัฐบาลที่เปรียบเทียบยาทั้งสองตีพิมพ์รายงาน บริษัทก็จะออกเอกสารเน้นความเสี่ยงเมื่อใช้ Avastin เพื่อรักษา wet AMD

มะเร็งเต้านม

ในปี พ.ศ. 2554 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้ถอน เบวาซิซูแมบ จากข้อบ่งใช้เพื่อรักษามะเร็งเต้านมที่กระจายแล้วหลังจากสรุปว่า ยาไม่ปรากฏกว่าปลอดภัยหรือมีประสิทธิผล ข้อบ่งใช้ที่ตอนแรกอนุมัติก็คือ การใช้ยาพร้อมกับ paclitaxel สำหรับรักษาคนไข้ที่ยังไม่ได้รับเคมีบำบัดและมีมะเร็งเต้ามนมแบบ HER2-negative ที่กระจายแล้ว

ก่อนการประกาศขององค์กรในปีเดียวกัน เครือข่ายศูนย์มะเร็งแห่งชาติสหรัฐ (NCCN) ได้อัปเดตแนวทางการรักษาขององค์กร (NCCN Guidelines) สำหรับโรคมะเร็งเต้านม โดยยืนยันข้อแนะนำให้ใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งเต้านมที่กระจายแล้ว คือในปี พ.ศ. 2551 FDA ได้อนุมัติให้ใช้ยารักษามะเร็งเต้านม แม้คณะผู้ชำนาญการนอกองค์กรจะลงคะแนน 5 ต่อ 4 เพื่อไม่ให้อนุมัติ แต่องค์กรได้ตัดสินฝืนคำแนะนำนี้ คณะผู้ชำนาญการได้แสดงความเห็นว่า ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกไม่ได้แสดงการเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือการทำให้รอดชีวิตได้นานขึ้น ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำคัญสองอย่างสำหรับการรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้าย แม้หลักฐานจะแสดงว่า ยาลดขนาดเนื้องอกและเพิ่มช่วงมีชีวิตที่โรคคงสภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลหลังที่องค์กรเลือกเมื่อตัดสินฝืนความเห็นของผู้ชำนาญการ เป็นการตัดสินใจที่สนับสนุนโดยกลุ่มป้องกันผลประโยชน์ของคนไข้และแพทย์วิทยาเนื้องอกบางส่วน แต่แพทย์วิทยาเนื้องอกอื่น ๆ ก็รู้สึกว่า การให้อนุมัติสำหรับการรักษามะเร็งระยะสุดท้าย ที่ไม่ยืดอายุหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไข้ จะเป็นตัวอย่างให้บริษัทยาไม่ต้องสนใจเกณฑ์มาตรฐานเหล่านั้นเมื่อพัฒนาการรักษามะเร็งระยะสุดท้ายใหม่ ๆ

ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2550 คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุมัติให้ใช้ยาร่วมกับ paclitaxel เป็นการรักษาลำดับแรกสำหรับโรคมะเร็งเต้านมที่กระจายแล้ว

ยาปลอม

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 บริษัท Roche และหน่วยเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐของบริษัทคือ Genentech ประกาศว่า มียา Avastin ปลอมที่ได้กระจายขายในสหรัฐ แม้ยังสืบคดีอยู่ แต่การบรรจุยาที่ต่างกันทำให้การแยกแยะยาปลอมเป็นเรื่องง่าย Roche ได้วิเคราะห์ยาปลอม 3 ขวดแล้วพบว่า มีเกลือ, แป้ง, ไซเตรต, isopropanol, propanediol, t-butanol, benzoic acid, di-fluorinated benzene ring, แอซีโทน, และ phthalate moiety แต่ไม่มียามะเร็ง ตามบริษัท องค์ประกอบทางเคมีของยาปลอมไม่แน่นอน จึงไม่สามารถกำหนดว่าสารเคมีเข้มข้นพอมีโทษหรือไม่ โดยสามารถสืบยาปลอมว่ามาจากอียิปต์ แล้วเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานผ่านยุโรป จนมาถึงสหรัฐ

ยาคล้ายกันทางชีวภาพ

ในเดือน พ.ศ. 2557 บริษัทที่ใช้พันธุวิศวกรรมเปลี่ยนยีนของพืชหรือสัตว์เพื่อผลิตยา (pharming) คือ PlantForm และ PharmaPraxis ประกาศแผนที่จะวางตลาดขายยาคล้ายกันที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิต (biosimilar) โดยผลิตจากการแสดงออกยีนในต้นยาสูบโดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยทางจุลชีววิทยาคือ Fraunhofer Center for Molecular Biology ในสหรัฐอเมริกา ยาคล้ายกันทางชีวภาพเช่นนี้ ปกติจะวางตลาดขายได้เมื่อสิทธิบัตรของยาต้นตำรับหมดอายุแล้ว ต่อมาเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 องค์การอาหารและยาสหรัฐได้อนุมัติยาคล้ายกันทางชีวภาพของบริษัท Amgen โดยมีชื่อสามัญว่า bevacizumab-awwb และชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Mvasi และมีข้อบ่งใช้เพื่อมะเร็ง 6 ชนิด

งานวิจัย

งานศึกษาตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 พบว่า ยาไม่มีประสิทธิผลเพื่อป้องกันการกลับมีอาการโรคอีกของมะเร็งลำไส้ที่ยังไม่กระจายหลังจากผ่าตัด

ยามีผลต่อโรคมะเร็งรังไข่ และมะเร็งสมองแบบ glioblastoma multiforme เมื่อใช้เป็นยาเดี่ยว ๆ

งานทดลองทางคลินิกระยะ 3 สองงานในปี พ.ศ. 2553 แสดงว่า ยาเพิ่มช่วงมีชีวิตที่โรคคงสภาพสำหรับคนไข้มะเร็งรังไข่ 27% และ 54%

มีการตรวจสอบว่ายาสามารถรักษามะเร็งตับอ่อนโดยเสริมเคมีบำบัดได้หรือไม่ แต่งานวิจัยแสดงว่า ไม่ทำให้รอดชีวิตดีขึ้น แต่กลับเพิ่มความดันโลหิต ทำให้เลือดออกในกระเพาะและลำไส้ และลำไส้ทะลุ

ยากำลังทดลองในเบื้องต้นโดยเสริมเคมีบำบัดปกติและการผ่าตัด เพื่อรักษามะเร็งกระดูกในเด็ก รวมทั้งมะเร็งแบบอื่น ๆ เช่น มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ (leiomyosarcoma)

มีงานศึกษาการใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งที่งอกจากส่วนประสาทที่เชื่อมหูกับสมอง (vestibular schwannoma)

โดยปี พ.ศ. 2555 มีการทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบการให้ยาในเส้นเลือดเพื่อรักษามะเร็งสมองโดยตรงคือไม่ผ่านส่วนกั้นระหว่างโลหิตกับสมอง

แหล่งข้อมูลอื่น



Новое сообщение